| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางโบราณคดี | มรดกทางวัฒนธรรม | |
มรดกทางธรรมชาติ
จังหวัดสตูลมีมรดกทางธรรมชาติที่หลากหลาย สวยงาม เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
ได้แก่เกาะตะรุเตา ทะเลบัน และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน ในเขตจังหวัดสตูล
เกาะตะรุเตา
เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดสตูล จากจำนวนที่มีอยู่ทั้งสิ้น ๑๐๕
เกาะด้วยกัน มีพื้นที่ประมาณ ๑๕๑ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๙๔,๕๐๐ ไร่ ส่วนกว้างจากตะวันออกไปตะวันตก
ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ส่วนยาวจากเหนือจดใต้ ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร อยู่ห่างจากท่าเรือปากบารา
อำเภอละงู ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร อยู่ห่างจากเกาะลังกาวีของมาเลเซีย ประมาณ ๕
กิโลเมตร ส่วนสูงสุด ประมาณ ๗๑๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ในเขตตำบลเกาะสาหร่าย
อำเภอเมือง ฯ
ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันหลายแนวสลับซับซ้อนกัน ส่วนที่เป็นเขาสูงเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำจืดบนเกาะ
ได้แก่คลองพันเตมะละกา คลองพันเตสอหราด และคลองหินงาม บริเวณที่เป็นภูเขาหินปูน
เมื่อถูกน้ำทะเลชะล้างละลายหินปูนออกไป ทำให้เกิดลักษณะเป็นหลุม เป็นบ่อ หรือหลุมยุบ
เป็นถ้ำ มีธารน้ำใต้ดิน หินงอกหินย้อย หน้าผาชัน สวยงามแปลกตามธรรมชาติ ส่วนที่ราบบริเวณชายฝั่งรอบ
ๆ เกาะจะเป็นที่ราบแคบ ๆ มีอ่าวอยู่หลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ อ่าวเมาะ อ่าวสน
อ่าวตาโละอุดัง อ่าวตาโละวาว แต่ละอ่าวมีหาดทรายละเอียด และขาวสะอาด พื้นที่บางส่วนเป็นดินเลนป่า
ป่าชายเลนขึ้นปกคลุม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำ
พืชพันธุ์บนเกาะตะรุเตาประกอบด้วยป่า ๕ ประเภท ได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง
ป่าเบญจพรรณ ป่าชายเลน และป่าชายหาด นอกจากนี้ยังมีป่าพรุในพื้นที่ที่มีน้ำจืดขังตลอดปี
เกาะตะรุเตา ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย
และของทวีปเอเซีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ต่อมาองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้เกาะตะรุเตาเป็นมรดกอาเซียน
เป็นสมบัติที่ชาวโลกจะต้องร่วมกันรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป
อุทยานแห่งชาติตะรุเตาครอบคลุมพื้นที่ ๕๑ เกาะ แบ่งออกเป็น ๒ หมู่เกาะคือ
หมู่เกาะตะรุเตา มี ๒๘ เกาะ เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะกลาง และเกาะไข่
หมู่เกาะอาดัง - ราวี อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไป ประมาณ ๔๕ กิโลเมตร มีอยู่
๒๓ เกาะ เกาะที่สำคัญคือ เกาะไข่ เกาะอาดัง เกาะลิเป๊ะ เกาะยาว และเกาะดง
อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา มีพื้นที่ประมาณ ๑,๔๙๐ ตารางกิโลเมตร นับว่าเป็นอุทยานทางทะเลที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทย
สถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะตะรุเตา มีหลายรูปแบบคือ เกาะ อ่าว ถ้ำ หน้าผา น้ำตก
พอประมวลได้ดังนี้
อ่าวพันเตมะละกา อยู่ฝั่งตะวันตกตอนเหนือของเกาะ
เป็นที่ตั้งสำนักงานอุทยาน ฯ ตัวอ่าวมีหาดทรายขาวสะอาด ทอดยาวไปทางทิศใต้ของปากอ่าว
มีความยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร บนฝั่งบริเวณอ่าวมีที่ราบใกล้เชิงเขา สภาพที่ราบเป็นป่าละเมาะ
บริเวณภูเขาเป็นป่าเบญจพรรณ สภาพสมบูรณ์ เป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด
อ่าวพันเตมะละกาเหมาะแก่การเล่นน้ำทะเล พักแรม ชมความงามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามอาทิตย์อัสดง
อ่าวตะโกวาว
ตั้งอยู่บริเวณกลางเกาะด้านทิศตะวันออก มีทัศนียภาพที่สวยงาม ที่ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีรูปร่างแปลกตา
อ่าวตะโละอุดัง เป็นอ่าวที่อยู่ตอนใต้สุดของเกาะตะรุเตา
มีหาดทรายสีขาวยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร โอบล้อมด้วยขุนเขาที่สูงชัน และปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่หนาทึบ
มีลำธารเล็ก ๆ อยู่สองสามสาย ไหลซอกซอนไปตามโขดหิน แล้วมารวมเป็นลำคลองใหญ่ไหลลงสู่ทะเล
ธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์สวยงาม และเงียบสงบ
อ่าวสน
มีหาดทรายขาวละเอียด ทอดตัวยาวสุดสายตา มีทิวสนที่ขึ้นเรียงรายสวยงามยามต้องลม
และเห็นน้ำทะเลสีคราม กับน้ำจืดที่เกิดจากน้ำตกลูดู ไหลมาบรรจบเหมาะในการเล่นน้ำทะเล
มีเต่าทะเล ทั้งเต่ากระ เตาตนุ และเต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่ในเดือน พฤศจิกายน
ถึงเดือนมีนาคม
อ่าวดาน
มีหาดที่เป็นหินกรวด ยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร ประกอบด้วยกรวดขนาดต่าง ๆ ที่ถูกน้ำทะเลซัดสาดอยู่เป็นเวลาช้านาน
จนผิวเกลี้ยงเกลางดงาม เรียงรายอยู่เป็นกลุ่มเป็นแนวจากก้อนเล็ก ก้อนกลาง
และก้อนใหญ่ ดูแปลกตาน่าอัศจรรย์ กรวดแต่ละก้อนมีสีสรรแตกต่างกัน
ถ้ำจรเข้
อยู่ริมฝั่งคลองมะละกา บริเวณปากถ้ำมีธารน้ำมีปลาอยู่ชุกชุม น้ำจะไหลเข้า
- ออก ภายในถ้ำตามระยะเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ตามธรรมชาติ ภายในถ้ำมืดสนิท มีหินงอกหินย้อย
รูปร่างและสีสรรค์สวยงาม ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่ และมีสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดที่ตาบอดอาศัยอยู่
ผาโต๊ะบู ตั้งอยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยาน
ฯ บริเวณอ่าวพันเตมะละกา สูงประมาณ ๖๐ เมตร ใช้เป็นจุดชมวิวจะมองเห็นท้องทะเลที่กว้างไกลจนจบขอบฟ้า
เห็นเกาะหลายเกาะ เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะ อาดัง ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง ๔๕
กิโลเมตร ถัดลงมาเป็นเกาะไข่ เกาะกลาง และเกาะบุโหลน มองลงมาจะเห็นอ่าวพันเตมะละกาที่สวยงาม
น้ำตกลูดู
เป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญ มีธารน้ำไหลลัดเลาะผ่านป่าที่สมบูรณ์เป็นระยะทาง
ประมาณ ๓ กิโลเมตร
เกาะไข่ อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไป ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ทุกปีจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมาก ทางด้านตะวันตกของเกาะมีหาดทรายสีขาวนวล และละเอียด น้ำทะเลใสเห็นผืนทรายใต้น้ำได้ชัดเจน ปลายเกาะด้านหนึ่งมีซุ้มประตูหินโค้งอันเป็นปฏิมากรรมของธรรมชาติที่งดงาม ลงตัวอย่างน่าพิศวง ซุ้มประตูหินโค้งแห่งนี้ได้รับเลือกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล
เกาะหินงาม มีหาดที่เป็นก้อนหินล้วน ที่มีความเกลี้ยงเกลา มีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กเท่านิ้วก้อยไปจนถึงขนาดใหญ่จนคนยกไม่ไหว ก้อนหินดังกล่าวกองทับกันเป็นเนินสูง แล้วค่อย ๆ ลาดลงสู่ใต้พื้นน้ำที่ใสจนมองเห็นก้อนหินใต้น้ำได้ชัดเจน หินแต่ละก้อนมีสีสรรแตกต่างกันออกไป เมื่อคลื่นซัดสาดเข้ามาน้ำที่เกาะบนก้อนหินเมื่อกระทบแสงแดด จะเห็นผิวก้อนหินมันวาวแววเป็นประกายสวยงามมาก
เกาะ อาดัง และเกาะลิเป๊ะ
เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเล ที่มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และเป็นที่ประทับใจของผู้ที่มาเยือน
น้ำทะเลที่เกาะอาดัง และลิเป๊ะใสดังกระจก มองลงไปใต้น้ำจะเห็นริ้วทราย แนวหิน
และแนวประการัง มีฝูงปลาหลากสี หลากพันธุ์ ว่ายอยู่ไปมา มีหอยเม่นอยู่มาก
ในตอนเช้าที่ผาชะโดบนเกาะอาดัง ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะลิเป๊ะ ประมาณ ๔๐๐ เมตร
จะได้เห็นแสงเงินแสงทอง ยามดวงอาทิตย์โผล่พ้นน้ำสวยงามมาก
เกาะยาง
เป็นเกาะที่มีปะการังอยู่อย่างแน่นหนา และมีอยู่หลากหลายพรรณ เช่นปะการังอ่อนเจ็ดสี
ปะการังเขากวาง ปะการังจาน ปะการังรองเท้าแตะ ปะการังดอกเห็ด ปะการังสมอง
ปะการังไฟ ปะการังดาว ฯลฯ แนวปะการัง และโขดหินที่อยู่สูงต่ำลดหลั่นกันไปเหมือนภูเขาที่มีกัลปังหาอยู่
และดอกไม้ทะเลแซมอยู่ดุจพรรณไม้ ความงามของปะการังที่เกาะยาง อยู่ในระดับ
๑ ใน ๑๐ ของโลก บรรดาสัตว์น้ำ เช่น ปลาการ์ตูน ปลาสิงห์โต ปลาสินสมุทร ปลาปากแตร
ปลาโนรี ปลาผีเสื้อ ปลานกแก้ว หอยมือเสือ หอยเม่น มีกระจายอยู่ทั่วไปตามแนวปะการัง
แนวปะการังดังกล่าว ใช้เวลาในการเจริญเติบโตนับพันปี
เกาะดง
ด้านทิศตะวันออกของเกาะดง นอกจากจะเป็นแหล่งดอกไม้ทะเลและปะการัง ยังมีกัลปังหาอยู่เป็นจำนวนมากเช่น
กัลปังหาพัด และกัลปังหาหวาย ที่มีความงามเฉพาะตัวที่สวยงามมาก
ทะเลบัน
ทะเลบัน เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือแผ่นดินเกิดยุบตัวลงไป กลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่
มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๕ ไร่ นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า พื้นที่ที่เป็นหนองน้ำในปัจจุบัน
แต่เดิมด้านล่างอาจจะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ เมื่อโพรงถ้ำพังลงมาพื้นที่บริเวณดังกล่าวจึงยุบตัวลงไปด้วย
ข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาของคนไทยในท้องถิ่นที่เล่าว่า
เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณที่เป็นทะเลบันเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์
ชาวบ้านได้อาศัยทำไร่ทำสวน อยู่ต่อมาวันหนึ่ง แผ่นดินเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงเป็นอยู่นานนับเดือน
ก่อนที่แผ่นดินจะยุบจมหายไป และน้ำได้ไหลทะลักมาท่วมบริเวณนั้น คำว่าทะเลบัน
คงจะมาจากภาษามลายูว่าเลิดเรอบัน มีความหมายว่าทะเลยุบ ในบริเวณหนองน้ำยังมีซากต้นไม้ใหญ่อยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ผุพังคงหลงเหลืออยู่ในหนองน้ำ
ทางราชการได้ประกาศให้ทะเลบัน เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ โดยรวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
๒ แห่งเข้าด้วยกัน คือป่าสงวนแห่งชาติหัวกาหมิง และป่าสงวนแห่งชาติกุบังปะโหลด
ทะเลบันเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ ๒ ของจังหวัดสตูล มีพื้นที่ ๑๙๖ ตารางกิโลเมตร
มีบรรยากาศที่เงียบสงบ ร่มรื่น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนจำนวน
๑๗ ลูก ยอดสูงสุดอยู่ในเทือกเขาจีน สูงประมาณ ๗๖๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล จัดเป็นยอดเขาสูงสุด
ในเทือกเขานครศรีธรรมราช และสูงที่สุดในจังหวัดสตูล เป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตแดนไทย
- มาเลเซีย เทือกเขาทางด้านตะวันตก เป็นหินปูนเมื่อเกิดการกัดเซาะตามธรรมชาติ
จึงเกิดเป็นถ้ำขนาดใหญ่หลายถ้ำด้วยกัน เช่น ถ้ำโตนดิน ถ้ำผาเดียว และถ้ำลอดบูยู
เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติทะเลบันมีสถานที่น่าเที่ยวหลายแห่งด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ บึงทะเลบัน
น้ำตกยาโรย น้ำตกรานี น้ำตกโตนปลิว ถ้ำโตนดิน ถ้ำลอดบูยู และทุ่งวังประ
บึงทะเลบัน เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยภูเขาสูง เป็นที่อยู่อาศัย ของบรรดาสัตว์น้ำสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
และพืชน้ำ ส่วนสัตว์บกและบรรดานกก็ได้อาศัยน้ำในบึงนี้ได้อย่างดี บริเวณอุทยานมีพันธุ์ไม้ต่าง
ๆ รวม ๔๐๖ ชนิด สัตว์สงวน ๓ ชนิดคือ แมวลายหินอ่อน สมเสร็จและเลียงผา นอกจากนั้นยังมี
เก้ง กระจงควาย หมูป่า เสือโคร่ง ฯลฯ ส่วนนกมีอยู่ ๒๘๙ ชนิด ที่สำคัญคือ นกเงือก
ซึ่งมีอยู่ถึง ๘ ชนิด จาก ๑๒ ชนิด ที่มีอยู่ในประเทศไทย
บริเวณเทือกเขาในเขตอุทยาน ฯ ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของเงาะป่าเผ่าซาไก ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่รักสงบ
และมีนิสัยเร่ร่อน ชำนาญในการดำรงชีวิตในป่า มีวิถีชีวิตที่น่าสนใจ
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |