| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    วัดศรีสวาย

           วัดศรีสวาย  ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทางด้านทิศใต้ของวัดมหาธาตุ ระยะทางประมาณ ๓๕๐ เมตร สร้างก่อนสมัยสุโขทัย โบราณสถานประกอบด้วยปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงสามองค์
    ช่วงบนก่อด้วยอิฐประดับปูนปั้น หันหน้าไปทางทิศใต้ วิหารสองตอน ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือทิศใต้ของปรางค์สามองค์ กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง ล้อมรอบสี่ด้าน
           ลักษณะโบราณสถานเดิมน่าจะเป็นเทวสถาน ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นวัดในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรวัดศรีสวาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ทรงพบเทวรูปพระอิศวร และได้มีพระราชวินิจฉัยว่า เดิมคงเป็นโบสถ์พราหมณ์ใช้ในพิธีโล้ชิงช้า ส่วนสระน้ำภายในวัดชาวบ้านเรียกว่า สระลอยบาป และจากการขุดแต่งบูรณะ ได้พบศิลาแลงจำหลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และพระพุทธรูปสมัยลพบุรี
    วัดสระศรี

           วัดสระศรี  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยภายในกำแพงเมือง เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลาง ตั้งอยู่บนเกาะกลางตระพังตะกวน อยู่ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส วิหารอยู่ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน มีเจดีย์มีลักษณะเด่นอยู่หนึ่งองค์ เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก รูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมศรีวิชัยผสมลังกา วิหารมีขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย โบสถ์ตั้งอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๗๐ ไร่
    วัดสรศักดิ์
           วัดสรศักดิ์  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ภายในกำแพงเมือง เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดซ่อนข้าว เยื้องกับศาลผาแดงไปทางด้านทิศตะวันตก เจดีย์ประธานเป็นรูปทรงกลมแบบลังกา ที่ฐานประดับด้วยรูปช้างล้อมรอบเจดีย์ โดยทำเป็นรูปหัวช้างและขาหน้าสองขา รวม ๒๕ เชือกโผล่ออกมาโดยรอบฐานเจดีย์ ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ด้านหน้าเป็นวิหารขนาดห้าห้องก่อด้วยอิฐ เสาวิหารทำด้วยหินทรายทั้งต้นเป็นท่อน ๆ ซึ่งลักษณะเช่นนี้แตกต่างออกไป จากวัดอื่นที่นิยมใช้ศิลาแลงเป็นพื้น
           จากศิลาจารึกหลักที่ ๙ ก มีข้อความกล่าวถึงวัดสรศักดิ์ว่า นายอินทร  สรศักดิ์ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัดนี้ จึงมีชื่อว่าวัดสรศักดิ์
    วัดตระพังทอง
           (ภาพและเรื่องจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
    วัดชนะสงคราม
           (เรื่องและภาพจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
    วัดศรีชุม

           วัดศรีชุม  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นกลุ่มโบราณขนาดใหญ่ในสมัยสุโขทัย ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีขนาดใหญ่คือ พระอจนะ ชื่อนี้มีปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ ๑ พ.ศ.๑๘๓๕ หลังคามณฑปมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ตรงประตูทางเข้าด้านซ้ายมือมีช่องคูหาเล็ก ๆ กว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สามารถเดินเข้าไปได้ ผนังด้านบนมีภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินชนวน ประมาณ ๕๐ ภาพ แสดงเกี่ยวกับเรื่องชาดกต่าง ๆ ทุกภาพมีคำบรรยายด้วยอักษรไทยสมัยสุโขทัย ดังข้อความปรากฏในจารึกวัดศรีชุม มีอายุอยู่ประมาณ ปี พ.ศ.๑๘๘๔ - ๑๙๑๐ ดังนี้
           "พระเจดีย์สูงใหญ่ รอบนั้นฉลักหินห้าร้อยชาติ ติรเทศงามพิจิตรหนักหนาแก่กมตรกมล้างเอาทองตรธาน สมเด็จพระมหาสามี จากแต่สิงหลมา เอาฝูง... แบกอิฐแต่ต่ำขึ้นไปกระทำพระเก้าท่านคืนบริบวรณด้วยศรัทธา"
           มุมด้านขวาขององค์พระมีรอยพระพุทธบาทสลักไว้สวยงาม ส่วนอุโมงค์ช่องขวาได้ถูกปิดทับไปแล้ว
           ในพงศาวดารอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จมาแวะพักขบวนทัพ และกระทำพิธีบวงสรวง ก่อนเสด็จไปปราบเจ้าเมืองสวรรคโลก และเมืองพิชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๘
  วัดพระพายหลวง

           วัดพระพายหลวง  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองสุโขทัย เป็นกลุ่มโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง สร้างก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี อยู่กลางแนวคูน้ำล้อมรอบสองชั้น คูน้ำชั้นนอกเป็นคูน้ำขนาดใหญ่ คูน้ำชั้นในเป็นคูน้ำขนาดเล็ก เดิมเป็นเทวสถานของขอมเนื่องจากพบชิ้นส่วนเทวรูปและฐานศิวลึงค์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เนื่องจากพบพระพุทธรูปหินสลักปางนาคปรก และตรงด้านหน้าพระวิหารพบพระพุทธรูปหินสลักองค์ใหญ่ปางสมาธิ พบเฉพาะส่วนล่างขององค์พระลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างขึ้นแล้วนำไปประดิษฐานตามเมืองต่าง ๆ ต่อมาวัดพระพายหลวงได้เปลี่ยนแปลงเป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เมื่อได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์
           วัดพระพายหลวง เป็นวัดใหญ่และสำคัญรองลงมาจากวัดมหาธาตุ เจดีย์ประธานเป็นปรางค์สามองค์ก่อด้วยศิลาแลง และฉาบด้วยปูนปั้น ลักษณะศิลปสถาปัตยกรรม เทียบได้กับ ศิลปะเขมรแบบบายน (พ.ศ.๑๗๒๐ - ๑๗๘๐) โบราณสถานที่สำคัญคือ วิหารห้าห้อง อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ เจดีย์ทรงเหลี่ยมแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปประทับนั่งลดหลั่นอยู่ภายในทั้งสี่ซุ้ม รอบเจดีย์มีระเบียงคด และมีรอยตั้งพระพุทธรูปปูนปั้น ถัดจากเจดีย์เหลี่ยมมีมณฑปก่ออิฐ มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาอยู่ติดกับด้านหน้ามณฑปมีห้าองค์ ถัดจากมณฑปมีวิหารพระนอน และมีวิหารเจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบวัดทั้งสี่ด้าน
  วัดอโศการาม (วัดสลัดได)
           วัดอโศการาม  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ห่างจากประตูนโมประมาณ ๑ กิโลเมตร
           โบราณสถาน ประกอบด้วยเจดีย์ทรงดอกบัวตูมก่อด้วยอิฐ ฐานวิหารเจ็ดห้อง ก่ออิฐเสาทำด้วยศิลาแลงกลม ฐานมณฑปย่อเก็จ เจดีย์รายเจ็ดองค์ มีคูน้ำล้อมรอบโบราณสถานเหล่านี้
           ศิลาจารึกหลักที่ ๙๓ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๒ จารึกไว้สองด้าน ด้านหนึ่งจารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย เป็นภาษาไทย อีกด้านหนึ่งจารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาบาลี ข้อความในจารึกเป็นเรื่องการสร้างวัดแห่งนี้โดยสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์
  วัดพระเชตุพน

           อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกกำแพงเมือง มีกำแพงอิฐและคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ยกเว้นโบสถ์เพียงหลังเดียวที่อยู่นอกแนวคูน้ำโดยตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด กลุ่มโบราณสถานประกอบด้วยมณฑปพระสี่อิริยาบถ เจดีย์ทรงมณฑป วิหาร เจดีย์ราย กำแพง และคูน้ำ
           มณฑปพระสี่อิริยาบถ  เป็นโบราณสถานหลักของวัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลา อยู่ทางด้านทิศตะวันออก พระพุทธรูปประทับยืนอยู่ทางด้านทิศตะวันตก พระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ทางด้านทิศเหนือ และพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่ทางด้านทิศใต้ ผนังมณฑปทำจากหินชนวน เจดีย์ทรงมณฑปก่อด้วยอิฐ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป
           ฐานวิหารก่ออิฐ เจดีย์ราบสิบเอ็ดองค์ ช่องประตูทางเข้าทำด้วยหินชนวนแท่งใหญ่หนาเจาะเป็นเดือยสลักไว้เข้าปากไม้ ชื่อวัดเชตุพนปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๐
  วัดเจดีย์สี่ห้อง

           วัดเจดีย์สี่ห้อง  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ของกำแพงเมือง มีคูน้ำล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน ฐานวิหารใหญ่ก่อด้วยอิฐ เสาศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่
           เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงลังกา ลวดลายปูนปั้นที่ฐานเจดีย์เป็นรูปเทวดายืนถือภาชนะ คล้ายรูปหม้อศักดิ์สิทธิ์ปูนปั้นรูปสิงห์ขี่ช้างโผล่ออกมาจากผนังครึ่งตัว เป็นรูปแบบศิลปกรรมที่สำคัญ แสดงถึงความเชื่อและเครื่องประดับในสมัยสุโขทัย
  วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม (วัดตาเถรขึงหนัง)
           วัดศรีพิจิตร ฯ  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ มีคูน้ำล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน ประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงลังกาก่อด้วยอิฐอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ วิหาร และเจดีย์ราย
           จากศิลาจารึกวัดตาเถรขึงหนัง (ชื่อเดิมของวัดนี้) มีข้อความกล่าวถึงสมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา นิมนต์พระสังฆราชจากเมืองกำแพงเพชร มาสร้างวัดศรีพิจิตร ฯ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๓ และต่อมาได้ปลูกต้นศรีมหาโพธิ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๖ นอกจากนั้นยังพบปูนปั้นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก คล้ายกับที่พบกันทั่วไปในเมืองอนุราชปุระ ประเทศศรีลังกา
  วัดช้างล้อมสุโขทัย

           วัดช้างล้อม  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก ห่างจากคลองแม่ลำพันไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่อยู่นอกเมืองด้านทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมประดับด้วยช้างปูนปั้นโผล่มาครึ่งตัว จำนวน ๓๖ เชือก ล้อมรอบเจดีย์ มีระเบียงล้อมรอบฐาน วิหารอยู่ทางด้านทิศตะวันออกนอกระเบียงเจดีย์ประธานนอกนั้นมีฐานเจดีย์ราย และมีแนวกำแพงก่ออิฐล้อมรอบ
  วัดตระพังทองหลาง

           วัดตระพังทองหลาง  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออก โบราณสถานที่สำคัญคือ มณฑปก่ออิฐผนังทึบสามด้าน มีทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก ภายในมณฑปมีแท่นพระพุทธรูปปูนปั้น แต่องค์พระชำรุดเหลือเพียงฐาน ผนังมณฑปภายนอกทำเป็นซุ้มคูหาทั้งสามด้าน ด้านทิศใต้มีพระพุทธรูปปูนปั้นตอนพรพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ด้านทิศตะวันตกมีพระพุทธรูปปูนปั้นตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับพวกกษัตริย์ศากยราช ด้านทิศเหนือเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นตอนเสด็จไปโปรดพระนางพิมพา ภาพปูนปั้นบนผนังมณฑปทั้งสามด้านดังกล่าวถือว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกสมัยสุโขทัย
  วัดสะพานหิน

           วัดสะพานหิน  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตก บนยอดภูเขาลูกเตี้ยสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร บริเวณอรัญญิก ทางเดินขึ้นโบราณสถาน ปูด้วยหินขึ้นจากทางด้านทิศตะวันออกไปจนถึงลานวัด
           โบราณสถานที่สำคัญคือ พระวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัยสูง ๑๒.๕๐ เมตร ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ (พ.ศ.๑๘๓๕) ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ด้วย
   วัดอรัญญิก


           วัดอรัญญิก อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออก อยู่เชิงเขาในป่ากลางอรัญญิก ห่างจากประตูอ้อ ๒ - ๓ กิโลเมตร โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วยกลุ่มฐานกุฏิสงฆ์ใช้สำหรับพระสงฆ์นั่งวิปัสสนา กุฏมีขนาดเล็ก สำหรับพระภิกษุสงฆ์เพียงรูปเดียวใช้นั่งวิปัสสนา ทางเดินปูด้วยหินเชื่อมกันระหว่างโบสถ์กับวิหาร มีบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมขุดลงไปในพื้นศิลาแลงมีน้ำขังอยู่ตลอดปี
    วัดป่ามะม่วง

           วัดป่ามะม่วง อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตก ห่างจากประตูอ้อไปทางทิศตะวันตก ๘๐๐ เมตร วัดป่ามะม่วงเป็นวัดที่สำคัญมากในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๔
           หลักฐานเกี่ยวกับการสร้างวัด ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง มีทั้งจารึกทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาเขมร ข้อความที่จารึกกล่าวถึงประวัติศาสตร์เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไทย เช่น การปราบดาภิเษกและการขึ้นครองราชย์ที่สุโขทัย การต้อนรับสมเด็จพระมหาสามีสังฆราชผู้ไปเล่าเรียนจากลังกา โดยได้พำนักอยู่ที่นครพันใกล้กับอ่าวเมาะตะมะ
    วัดเขาพระบาทน้อย
           วัดเขาพระบาทน้อย อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตก บนเนินเขาเตี้ย ๆ ห่างจากประตูอ้อประมาณ ๒.๗ กิโลเมตร โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงจอมแห มีคูหาพระพุทธรูปสี่ทิศ องค์ระฆังมีรอยเป็นริ้ว ๆ ลักษณะเหมือนการตากแห มีพบอยู่เพียงแห่งเดียวในเมืองสุโขทัย
           ด้านหน้าเจดีย์ทรงจอมแห มีวิหารประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย ซึ่งในปัจจุบันจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง นอกจากนี้ยังมีกุฎีสงฆ์สำหรับปฏิบัติวิปัสสนา และฐานเจดีย์ศิลาแลงขนาดใหญ่

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |