| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย

           วัดช้างล้อม ฯ  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ซึ่งตัวอุทยานอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย
           วัดช้างล้อมตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเกือบกึ่งกลางตัวเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบทางฝั่งตะวันออกของภูเขาพนมเพลิง โบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจตุรัส มีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ ประตูด้านหน้า และด้านหลังเป็นประตูเข้าออก ส่วนประตูด้านข้างเป็นประตูหลอก ยอดทำคล้ายปรางค์
           เจดีย์ประธานตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีรูปช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับอยู่ รอบฐานทั้งสี่ด้าน ๆ ละเก้าเชือก เว้นด้านบันไดทางขึ้นมีเพียงแปดเชือก และที่มุมอีกสี่เชือก รวมเป็น ๓๙ เชือก ช้างที่ประดับตรงมุมจะมีขนาดใหญ่และมีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขาและข้อเท้า  ระหว่างรูปช้างจะมีเสาประทีปสลับอยู่ ด้านหน้าช้างตแต่ละเชือก จะมีพุ่มดอกบัวตูมปูนปั้นวางอยู่
           ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ ที่ข้างบันไดสองข้างมีโกลนลำตัวพญานาคเหลืออยู่ หลังจากที่ปูนปั้นกะเทาะหลุดหายไป เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ ๒๐ ซุ้ม หลังผนังซุ้มมีรูปประติมากรรมรูปต้นไม้อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่บรรดาพระพุทธรูปได้ถูกทำลายไปหมด คงเหลืออยู่เพียงองค์เดียวทางด้านทิศเหนือ บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร ซึ่งประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้น ในอิริยาบถลีลาแบบนูนต่ำ จำนวน ๑๗ รูป
           วัดช้างล้อมเมืองศรีสัชนาลัย รูปช้างปูนปั้นมีลักษณะเด่นกว่ารูปช้างปูนปั้นที่วัดอื่น ๆ คือ ช้างจะยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง และมีขนาดใหญ่เท่ากับช้างจริง และด้านหน้ามีพุ่มดอกบัวปูนปั้นประดับไว้ สันนิษฐานว่าวัดช้างล้อมนี้ น่าจะเป็นวัดเดียวกันกับที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวไว้ในปี พ.ศ.๑๘๒๙ ว่า พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดอัญเชิญพระธาตุขึ้นมาทำบูชา และเฉลิมฉลอง หลังจากนั้นจึงฝังลงในกลางเมืองศรีสัชนาลัย และก่อพระเจดีย์ทับไว้
           โบราณสถานอื่น ๆ ภายในวัดที่ยังมีหลักฐานคือ วิหารซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระเจดีย์ประธาน นอกจากนั้นก็เป็นวิหารขนาดเล็กอีกสองหลัง และเจดีย์รายอีกสององค์
    วัดเจดีย์เจ็ดแถว

           วัดเจดีย์เจ็ดแถว  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ภายในกำแพงเมือง ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โบราณสถานที่สำคัญคือ พระเจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร และเจดีย์ราย รวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ ๓๓ แห่ง มีกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ เดิมมีคูน้ำล้อมรอบ
           เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆ หลายแห่ง  เช่น ลังกา พุกาม และศรีวิชัย
           ด้านหลังเจดีย์ประธาน มีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่นคือ ฐานเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถงสามารถเข้าไปได้ และมีซุ้มเล็กประกอบซุ้มโถงอยู่ทั้งสองข้าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ส่วนซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น และมีภาพจิตรกรรมใช้สีแบบเอกรงค์ เป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากับกษัตริย์ที่มาแวดล้อม ถวายดอกไม้ ส่วนซุ้มจรนำด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกอย่างสวยงาม ต่อจากเรือนธาตุเป็นเจดีย์ทรงกลมห้าองค์ โดยมีองค์ใหญ่เป็นประธาน และมีเจดีย์ประจำมุมสี่องค์ ประดับด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาในซุ้มเรือนธาตุ
           ชื่อเจดีย์เจ็ดแถว  เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลังโดยชาวบ้านในท้องถิ่น เนื่องจากพบเจดีย์เป็นจำนวนมากมากหลายแถวในวัด สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่บรรจุอัฐิของราชวงศ์สุโขทัย
    วัดสวนแก้วอุยานใหญ่


           วัดสวนแก้ว ฯ  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ในส่วนที่เป็นองค์ระฆังหักพังไปหมด ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารไปยังเรือนธาตุ เพื่อใช้ในการขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปในคูหา ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีวิหารมุขด้านหน้า และด้านหลัง มีบันไดขึ้นห้าทาง เสาวิหารทำด้วยศิลาแลง คงเหลือปรากฏอยู่สิบเสา กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีทางเข้าด้านหน้าด้านเดียว
    วัดนางพญา

           วัดนางพญา  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองใกล้กับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ในแนวเดียวกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
           โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วยเจดีย์ประธาน ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับสลับกับเสาประทีปปูนปั้น เช่นเดียวกับวัดช้างล้อม ที่ชั้นมาลัยเถา ก่อซุ้มยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ ซุ้มด้านหน้าบันไดทางขึ้นจนถึงภายในโถงเจดีย์ และสามารถเดินได้รอบโถง กลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน แต่ชำรุดไปหมด
           วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้า และมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านทิศใต้มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง แต่ชำรุดไปบางส่วน นอกจากนั้นยังทำเป็นรูปลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพนม เป็นรูปแบบศิลปะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น
    วัดสวนแก้วอุทยานน้อย
           วัดสวนแก้ว  อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดช้างล้อมห่างออกมา ๒๐๐ เมตร หน้าวัดหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มโบราณสถานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าสองทางคือ ทางหน้าวัด และหลังวัด
           โบราณสถานประกอบด้วยเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วมีทางเข้าอยู่ด้านหน้า รอบเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายแบบต่าง ๆ ล้อมรอบอยู่ ๑๓ องค์
           วิหารมีซุ้มพระตั้งอยู่ด้านหลัง ลักษณะเป็นมณฑป หลังคามณฑปเป็นรูปโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ยังปรากฏเห็นเป็นรอยโกลน และแกนไม้สัก ที่ใช้เป็นแกนยึดพระกรแล้วฉาบปูน
    วัดเขาพนมเพลิง

           วัดเขาพนมเพลิง  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง บนยอดเขาพนมเพลิง โบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งแต่ก้านฉัตรขึ้นไปหักพังลงมาหมด มณฑปก่อด้วยศิลาแลง ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสยกพื้นสูง หลังคาโค้งแหลม มีบันไดทางขึ้นสู่มณฑป ชาวบ้านเรียกมณฑปนี้ว่าศาลเจ้าแม่ละอองสำลี
           เขาพนมเพลิงมีปรากฏอยู่ในพงศาวดารเหนือ ตอนที่เกี่ยวกับการสร้างเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) โดยเลือกทำเลให้เขาพนมเพลิงอยู่กลางเมือง และสร้างวัดไว้บนเขาพนมเพลิงด้วย
           ทางขึ้นวัดขึ้นได้สองทาง คือจากด้านหน้าวัดทางแก่งหลวง และจากข้างวัดซึ่งทางขึ้นทำเป็นบันได้ศิลาแลง ระหว่างทางขึ้นทั้งสองด้านมีศาลาที่พักด้วย
    วัดเขาสุวรรณคีรี

           วัดสุวรรณคีรี  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในกำแพงเมือง ถัดจากเขาพนมเพลิงไปทางด้านทิศตะวันตก กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ประธานทรงกลม องค์ระฆังขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ฐานเขียงใหญ่มีห้าชั้น ใช้สำหรับลานประทักษิณ มีซุ้มพระทั้งสี่ด้าน ตรงด้านฉัตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาเดินจงกรมรอบฉัตร เช่นเดียวกับวัดช้างล้อม ฐานวิหารก่อด้วยศิลาแลง เจดีย์รายก่อด้วยศิลาแลง ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบ
    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง

           วัดพระศรี ฯ  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตรงช่วงแหลมโค้งข้อศอกของแม่น้ำยม หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก
           วัดพระศรี ฯ เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร มีโบราณสถานที่สำคัญดังนี้
           ปรางค์ประธาน  ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนเสร็จแล้วลงสีชาดทับ ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมอยู่ในสมัยอยุธยา ภายในซุ้มโถงมีสถูปรูปดอกบัวตูมขนาดเล็ก โผล่ขึ้นมาคล้ายกับถูกสร้างครอบทับ ตามฝาผนังภายในองค์ปรางค์พบว่า มีร่องรอยที่คาดว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนัง แต่ลบเลือนไปมาก บริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์ได้
           ฐานปรางค์มีลักษณะเป็นวิหารสามชั้น ผนังก่อทึบเจาะช่องแสงเมื่อดูจากฐานปรางค์แผ่ขยายออกไปทั้งสามด้าน ด้านหน้าเป็นวิหาร จึงดูคล้ายกับสร้างคร่อมสถูป หรือเจดีย์ที่สำคัญไว้ภายใน มีอายุอยู่ในช่วงก่อนสมัยสุโขทัยตอนต้น เนื่องจากได้ขุดค้นพบฐานโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐอยู่ใต้ฐานพระวิหารหลวง นอกจากนี้ยังพบกระเบื้องเชิงชายรูปนางอัปสรและเทวดา ซึ่งมีลักษณะร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบายน เช่นเดียวกับลายปูนปั้นบนยอดซุ้มประตูกำแพงวัด ซึ่งทำเป็นรูปพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวรอยู่ด้านบนทั้งสี่ทิศ ด้านล่างเป็นรูปเทพธิดานั่งในกรอบซุ้ม ด้านล่างเป็นรูปนางอัปสรร่ายรำ
           ฐานพระวิหารหลวงพ่อโต  อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัยประทับอยู่ตรงกลาง มีพระพุทธรูปประทับยืนขนาดเล็กขนาบอยู่ทั้งสองข้าง ถัดมาทางด้านขวามีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม
           กำแพงวัด  ทำด้วยศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันขอบเขตแนวกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๙๐ เมตร มีคานทับหลังกำแพง มีทางเข้าออกด้านหลัง เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคายอด เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปูนปั้น
           พระธาตุมุเตา  ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วทางด้านหลังปรางค์ประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงที่ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมบาง ซึ่งน่าจะเป็นคนละสมัยกับกำแพงศิลาแลงฐานเป็นเหลี่ยมซ้อนกันสี่ชั้น ต่อจากนั้นเป็นบัวถลาสามชั้น ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปหักพังหมดแล้ว ลักษณะของพระธาตุมุเตาเป็นเจดีย์ทรงมอญ จากการขุดแต่งได้พบทองจังโกประดับส่วนยอดของเจดีย์
           มณฑปพระอัฏฐารศ  อยู่ด้านหลังพระธาตุมุเตา เดิมน่าจะเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ ต่อมาได้ซ่อมแซมดัดแปลง ภายในซุ้มคูหายังมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืนอยู่ เดิมมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา

           พระวิหารสองพี่น้อง  อยู่ทางซ้ายพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลง มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสององค์อยู่บนแท่นพระ จากการขุดค้นพบว่าฐานวิหารสองพี่น้องได้ก่อทับอยู่บนโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐ ข้างขวาของวิหารสองพี่น้อง พบรอยพระพุทธบาทอยู่ด้วย
           พระอุโบสถ  ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะใหม่ทั้งหลัง โดยสร้างทับพระอุโบสถหลังเดิม
           กุฏิพระร่วงพระลือ  ชาวบ้านเรียกว่า ศาลพระร่วงพระลือ ได้รับการบูรณะพร้อมกันกับพระอุโบสถ ลักษณะเป็นมณฑปฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้าง หลังคาคล้ายรูปชามคว่ำซ้อนกันสี่ชั้น ภายในมณฑปประดิษฐานรูปหล่อพระร่วงพระลือ (จำลอง)
           ความสำคัญของวัดพระศรี ฯ  เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียง ตั้งแต่สมัยพ่อขุนนาวนำถม (ประมาณ พ.ศ.๑๗๘๐) มาแล้ว โดยมีหลักฐานยอดซุ้มปูนปั้นที่ประตูทางเข้าวัด ซึ่งมีรูปแบบศิลปะบายน และจากการขุดค้นพบซากศาสนสถานก่ออิฐอยู่ใต้พระวิหารหลวง และพระวิหารสองพี่น้อง โดยมีศิลปวัตถุสำคัญคือกระเบื้องเชิงชายทำเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และทำเป็นรูปเทวดา เทพธิดา หลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวแสดงว่าวัดพระศรี ฯ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘
    วัดชมชื่น

           วัดชมชื่น  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองริมฝั่งแม่น้ำยมห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาทางด้านทิศตะวันออกประมาณ ๔๐๐ เมตร
           โบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง วิหารตั้งอยู่ทางด้านหน้าเจดีย์ประธานก่อด้วยศิลาแลงขนาดหกห้อง มีมุขยื่นออกมาหน้าห้อง ด้านหลังวิหารเชื่อมต่อกับมณฑป มณฑปมีลักษณะย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาเป็นศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปโค้งแหลม ด้านหน้าเป็นทางเข้าในมณฑป มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ด้านหน้าทั้งสองข้างมณฑปทำเป็นซุ้มจรนำสองซุ้ม ด้านหลังมีซุ้มจรนำ ซึ่งเดิมประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันหลังคาด้านหลังมณฑป
           รูปแบบของวัดชมชื่นในปัจจุบันเป็นลักษณะศิลปะสมัยสุโขทัย แต่จากการขุดแต่งบริเวณวิหารพบฐานอาคารเดิมก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งต่อมาถูกสร้างทับด้วยวิหารศิลาแลง จากการศึกษารูปแบบของเจดีย์ประธาน มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นปรางค์แบบขอมมาก่อน เนื่องจากพบอาคารสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายปรางค์แบบขอมอยู่ภายในองค์เจดีย์

           จากการขุดค้นบริเวณหน้าวิหาร พบโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน ๑๕ โครง ในระดับความลึก ๗ - ๘ เมตร กำหนดอายุได้ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๙ เป็นต้นมา และได้พัฒนามาจนถึงสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖) พบกลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐที่มีขนาดใหญ่สองกลุ่ม และพบเครื่องถ้วยชามเชลียงเป็นจำนวนมาก ซึ่งกำหนดอายุได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมาจนเข้าสู่สมัยสุโขทัย
    วัดเจ้าจันทร์
           วัดเจ้าจันทร  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ด้านหลังวัดชมชื่น เป็นกลุ่มโบราณสถานที่เชื่อว่ามีมาก่อนสมัยสุโขทัย โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย ปรางค์ประธาน มณฑปพระอัฏฐารศ และวิหาร
           ปรางค์ประธาน  ก่อด้วยศิลาแลง รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบขอมที่พบในประเทศไทย ที่เรือนธาตุมีซุ้มประกอบทั้งสี่ด้าน เป็นซุ้มทางเข้าสู่องค์ปรางค์เฉพาะทางด้านทิศตะวันออก จากการขุดค้นที่ใกล้กับฐานปรางค์ เป็นฐานหน้ากระดานบัวคว่ำบัวหงาย และพบว่ามีการบดอัดลูกรังกลุ่มอิฐ ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะมีศาสนสถานก่ออิฐอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อมีการสร้างปรางค์จึงรื้อออก นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ทำด้วยชิน (ดีบุกผสมตะกั่ว) ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ เมื่อขุดค้นลงไปในระดับลึก พบหลักฐานโบราณวัตถุสมัยทวาราวดี เครื่องถ้วยหริภุญชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘) ลูกปัดแก้วและชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ดังนั้น ก่อนที่จะสร้างปรางค์ศิลาแลงองค์นี้ จะต้องมีศาสนสถานก่อด้วยอิฐ จึงมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘
           มณฑปพระอัฏฐารศ  ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายขององค์พระปรางค์
           วิหาร  ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระปรางค์ จากการขุดทดสอบพบว่าฐานวิหารได้มาสร้างภายหลัง โดยการถมอัดลูกรังรอบ ๆ องค์ปรางค์ แล้วจึงก่อสร้างวิหาร
    วัดน้อยจำปี
           วัดน้อยจำปี  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ใกล้กับวัดเจ้าจันทร โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย เจดีย์ประธาน และวิหาร
           เจดีย์ประธาน  เป็นเจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ต่อด้วยฐานบัวคว่ำ และฐานสี่เหลี่ยมสามชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ต่อด้วยฐานบัว และมีห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งอาจจะเป็นซุ้มพระแต่หักพังไปหมดแล้ว
           วิหาร  ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังวิหารเจาะช่องแสง พื้นวิหารปูด้วยกระเบื้องเคลือบจากเตาเกาะน้อย นับว่าพบอยู่แห่งเดียวในเมืองศรีสัชนาลัย ที่ปูด้วยกระเบื้องเคลือบสังคโลก
    วัดโคกสิงคาราม
           วัดโคกสิงคาราม  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออกของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ติดกับกำแพงเมืองเชลียง ช่วงที่ต่อตัวเมืองเก่าศรีสัชนาลัย อยู่ห่างจากตัวเมืองเก่าออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑ กิโลเมตร วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
           โบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเช่นเดียวกับวัดศรีสรรเพชญ์ ที่อยุธยา วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารมีช่องแสง โบสถ์อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหาร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นภายในโบสถ์ปูด้วยศิลาแลง ภายในโบสถ์มีเจดีย์ทรงกลม ซึ่งมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป รอบ ๆ เจดีย์มีเจดีย์รายตั้งอยู่โดยรอบสี่องค์ กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงมีอยู่สามด้าน กำแพงด้านทิศใต้ใช้ร่วมกับแนวกำแพงเมืองเชลียง
           ในพงศาวดารเหนือมีเรื่องราวเกี่ยวกับวัดนี้คือ เมื่อพระร่วงลบศักราชพระพุทธเจ้าจึงให้นิมนต์พระอธิตเถร พระอุปคตเถร และพระมหาเถรไล (ไหล่) ลาย และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ทั้งพระพุทธโฆษาจารย์วัดรังแร้ง และชุมนุมพระสังฆเจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคาราม กลางเมืองศรีสัชนาลัย
    วัดพญาดำ
           วัดพญาดำ  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง เดิมไม่ใช่ชื่อนี้ แต่คงถูกเรียกเมื่อภายหลัง เนื่องจากมีการลักลอบขุดค้นหาพระพิมพ์ และได้พบพระพิมพ์นางพญาเนื้อสีดำเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า วัดพญาดำ โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย
           มณฑปประธาน  ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ด้านหลังมณฑปยังคงมีหลังคาคล้ายรูปประทุนเรือ โดยใช้ก้อนศิลาแลงก่อเรียงเหลื่อมเข้าหากันทำเป็นรูป หลังคาซ้อนกันสองชั้น ภายในมณฑปแบ่งเป็นคูหา คูหาด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยแต่ชำรุดไปมากแล้ว คูหาด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปสอง หรือสามองค์ ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับยืน ทางด้านทิศใต้มณฑป จากภาพถ่ายเก่าเมื่อประมาณเกือบร้อยปีมาแล้วพบว่ามี เจดีย์รายทรงดอกบัวตูมอยู่องค์หนึ่ง ปัจจุบันหักพังไปหมดแล้ว
           วิหาร  ตั้งอยู่ด้านหน้ามณฑป ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง
           มณฑปพระอัฏฐารศ  ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านขวาของมณฑปประธาน ภายในคูหาของมณฑปมีร่องรอยว่าเคยประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะสูงถึง ๑๘ ศอก ที่เรียกว่าพระอัฏฐารศ
           ซุ้มพระ  สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน แท่นพระนอนอยู่ด้านหลังวัดติดกับกำแพงแก้ว และตรงกลางแท่นพระ ซึ่งตรงกับกำแพงวัดมีช่องประตูไปยังวัดสระปทุม
           เจดีย์ราย  มีอยู่หลายองค์และหลายขนาด หลังจากการขุดแต่งแล้วนับได้ ๓๘ องค์
           เขตสังฆาวาส  เป็นพื้นที่นอกกำแพงทางด้านทิศใต้ของวิหาร มีอาคารเล็ก ๆ อยู่สองหลัง และพบชิ้นส่วนศิลาแลงเป็นแท่งกลมสลัก สำหรับใส่เดือยไม้ เมื่อประกอบเป็นซุ้มประตูทางเข้าทั้งทางด้านทิศใต้ และทางด้านทิศตะวันออก
           สระน้ำ  ที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของวิหาร เป็นสระที่กรุด้วยศิลาแลง ทางด้านทิศเหนือของวัดมีบ่อน้ำกรุด้วยศิลาแลงมีน้ำขังอยู่ตลอดปี
           กำแพงวัด  ทำด้วยศิลาแลงเป็นแท่ง ปักลายรอบวัดทั้งสี่ด้าน
    วัดเขาพระบาท
           วัดเขาพระบาท  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก บนยอดเขาพระบาท  ใกล้แม่น้ำยม หน้าวัดหันไปทางทิศเหนือ
           โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง สภาพยังคงเหลือถึงองค์ระฆัง  ส่วนยอดหักพังลงมาหมด
           ฐานวิหารอยู่ทางด้านหลังเจดีย์ประธาน  ก่อด้วยศิลาแลง ตอนบนมีเนินดินทับถม  พบเศษกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาตกกระจายอยู่ทั่วไป
           มณฑป  ตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์ประธาน  ด้านหน้ามีซุ้มประตูเข้าไปภายในได้  นอกจากนี้ยังพบฐานอาคารและเจดีย์รายขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาแลง
           วัดเขาพระบาท  เป็นวัดที่มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่  มีเรื่องปรากฎในศิลาจารึกหลักที่สาม (จารึกนครชุม) ซึ่งได้จารึก เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ได้สร้างรอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ในเมืองศรีสัชนาลัย ปัจจุบันพระพุทธบาทได้ย้ายไปอยู่ที่วัดเชิงคีรี
    วัดเขาอินทร์
           วัดเขาอินทร ์อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยม  หน้าวัดหันไปทางทิศตะวันออก
           โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วยเจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง  วิหารก่อด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อกับองค์เจดีย์ประธาน ผนังวิหารมีช่องลูกกรงหน้าต่างหรือช่องแสง  ผนังด้านหน้าวิหารมีลายปูนปั้น  ฐานโบสถ์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก่อด้วยศิลาแลง บ่อน้ำโบราณมีอยู่สองบ่อเรียกว่าบ่อแก้วกับบ่อทอง
           ในพงศาวดารเหนือมีเรื่องเกี่ยวกับวัดเขาอินทร์ว่า "ที่ไร่แลนาสัดขึ้นวัดเขาอินทร์อรัญวาสีกับต้นพระบรมไตรโลก แต่โพธิเฒ่าวัดป่าแก้วมาถึงถนนหลวงได้ไร่แลนา ๕๐๐ ไร่  แต่เชิงพนมน้อยมาถึงบ่อแก้วได้ไร่แลนา ๔๐ ไร่ ตำบลนามะกอกปมได้ไร่แลนา ๕๖๐ ไร่  ตำบลตาลต้นเดียวทุ้งยั้งได้ไร่แลนา ๒๕๐ ไร่  อันนี้ขึ้นวัดเขาอินทร์...."
    วัดกุฎีราย

           วัดกุฎีราย  อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ  อยู่ห่างจากประตูเตาหม้อประมาณ ๕๐ เมตร
           โบราณสถานที่สำคัญคือมณฑปประกอบอาคาร (มณฑปวิหาร) ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นทรงจั่วเลียนแบบเครือไม้  หน้าจั่วมีรอยบาก เพื่อเชื่อมหลังคาเครื่องไม้ของอาคาร ด้านหน้เามณฑปมีซุ้มประตูรูปโค้งกลีบบัวเป็นทางเข้าสู่ภายใน ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง  มณฑปประกอบอาคารหลังเล็ก ตั่งอยู่ทางด้านขวาของมณฑปประกอบอาคารหลังใหญ่  นอกจากนั้นมีกลุ่มเจดีรายอยู่หกองค์

| ย้อนกลับ | บน |