| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดสุรินทร์

            จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ทางตอนล่างของภาคอีสาน อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ โดยทางรถยนต์ ประมาณ ๔๕๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๘,๑๒๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕,๐๗๘,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๔.๘ ของพื้นที่ภาคอีสาน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
            ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดมหาสารคาม
            ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ
            ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา
            ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์
ลักษณะภูมิประเทศ

            จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูง มีลักษณะพื้นที่คือ
                ทางตอนใต้ของจังหวัด  เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก มีป่าทึบสลับป่าเบญจพรรณตามบริเวณแนวเขตชายแดน (อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง และกิ่งอำเภอพนมดงรัก) ที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา  ต่อจากบริเวณภูเขาลงมาเป็นที่ราบสูงลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีลักษณะเป็นลูกคลื่น ค่อย ๆ ลาดเทไปทางตอนกลาง และตอนเหนือของจังหวัด
                ทางตอนกลางของจังหวัด  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม  แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอนสลับที่ลุ่มลอนลาดเช่นเดียวกัน แต่ไม่มากเท่าทางตอนใต้ของจังหวัด (อำเภอเมือง ฯ  กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอลำดวน และกิ่งอำเภอศรีณรงค์)
                ทางตอนเหนือของจังหวัด  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ (อำเภอจอมพระ อำเภอสนม) และที่ราบลุ่ม (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี และกิ่งอำเภอโนนนารายณ์) โดยเฉพาะอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลในเขตของทุ่งกุลาร้องไห้
            ลักษณะของดินในจังหวัดสุรินทร์เป็นดินร่วนปนทราย มีบางพื้นที่ เช่น กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นดินเหนียวปนทราย  ดังนั้น ดินในจังหวัดสุรินทร์จึงอุ้มน้ำได้น้อย
ภูเขาและแหล่งน้ำ
            จังหวัดสุรินทร์มีเทือกเขาพนมดงรักทอดยาวตามแนวเขตแดนไทย - กัมพูชา ทางด้านใต้ของจังหวัดมีเขาสวาย หรือพนมสวาย ในตำบลนาบัว อำเภอเมือง ฯ  เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว มียอดเตี้ย ๆ สามยอด ยอดที่ ๑ ชื่อยอดเขาชาย (พนมเปราะ) เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย  ยอดที่ ๒ ชื่อยอดเขาหญิง (พนมซเรีย)  ยอดที่ ๓ ชื่อยอดเขาคอก (พนมกรอล)  ปัจจุบันเขาสวายได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานพนมสวาย
            แหล่งน้ำ  มีแหล่งน้ำที่สำคัญอันประกอบด้วยลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ ดังนี้

                แม่น้ำมูล  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาดงพญาเย็น ในเขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี ไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดอุบล ฯ  เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การคมนาคม  อุดมไปด้วยสัตว์น้ำต่าง ๆ  เป็นแหล่งอาหารสำคัญของราษฎร ปกติจะมีน้ำตลอดทั้งปี
                แม่น้ำชี  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก เป็นลำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ มีความยาวประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมือง ฯ อำเภอจอมพระ และไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพอำเภอเมือง ฯ  เป็นลำน้ำที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์ กับจังหวัดบุรีรัมย์
                ลำห้วยพลับพลา  ต้นน้ำเกิดในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ไหลผ่านทุ่งกุลาร้องไห้ ไปบรรจบแม่น้ำมูลในเขตอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ  เป็นลำน้ำที่แบ่งอาณาเขตจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด
                ลำห้วยทับทัน  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรักไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ กิ่งอำเภอศรีณรงค์ อำเภอสำโรงทาบ กิ่งอำเภอโนนนารายณ์ อำเภอรัตนบุรี แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำมูล
                ลำห้วยระวี  ไหลผ่านเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอจอมพระและอำเภอท่าตูม ได้มีการขุดลอกและสร้างฝายน้ำล้นกั้นลำห้วยเป็นช่วง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และการอุปโภคบริโภค
                ลำห้วยแสน  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอสังขะ กิ่งอำเภอศรีณรงค์ เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ ในฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นบางช่วง
                ลำห้วยละหาร  ไหลผ่านเขตอำเภอเมือง ฯ ในฤดูฝนน้ำจะหลากท่วม แต่ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้
                ลำห้วยแก้ว  ไหลผ่านเขตอำเภอรัตนบุรี แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำมูล ในฤดูแล้งบางช่วงของลำห้วยน้ำจะตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้
                ลำห้วยสำราญ  ต้นน้ำเกิดจากเขาพนมดัจ (เขาขาด) และพนมซเรียซวะน็อฮ (เขานางโศก) ไหลผ่านเขตอำเภอบัวเชด และอำเภอสังขะ เป็นลำห้วยที่แบ่งเขตจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดศรีสะเกษ

                ลำห้วยจริง ไหลผ่านเขตอำเภอศีขรภูมิ กิ่งอำเภอโนนนารายณ์ และอำเภอสำโรงทาบ มีโครงการชลประทานห้วยเสนง (ซะเนง - เขาสัตว์) อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นโครงการทดน้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการทำนา ในพื้นที่ประมาณ ๔๖,๐๐๐ ไร่
                นอกจากลำน้ำดังกล่าวแล้ว ยังมีแหล่งน้ำอื่น ๆ ในเขตอำเภอต่าง ๆ คือ
                อำเภอเมือง ฯ  มีอ่างเก็บน้ำอำบีล อยู่ในตำบลเทนมีย์ และอ่างเก็บน้ำหนองศาลา ในตำบลนอกเมือง
                อำเภอปราสาท  มีอ่างเก็บน้ำสุวรรณาภา ในตำบลกังแอน และอ่างเก็บน้ำลุมพุก ในตำบลตาเดียว
                อำเภอชุมพลบุรี  มีอ่างเก็บน้ำหนองกระทุ่ม ในตำบลชุมพลบุรี
                อำเภอท่าตูม  มีอ่างเก็บน้ำปุง ในตำบลท่าตูม
                อำเภอรัตนบุรี  มีอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว ในตำบลรัตนบุรี อ่างเก็บน้ำหนองกาในตำบลน้ำเขียว และอ่างเก็บน้ำหนองน้ำใส ในตำบลดอนแรด
                อำเภอจอมพระ  มีอ่างเก็บน้ำห้วยระหาร ในตำบลบุแกรง
                อำเภอศรีขรภูมิ  มีอ่างเก็บน้ำลำพอก ในตำบลยาง
                อำเภอกาบเชิง  มีอ่างเก็บน้ำบ้านสกล ในตำบลคูตับ อ่างเก็บน้ำตะเกาว์ ในตำบลกาบเชิง อ่างเก็บน้ำห้วยด่าน และอ่างเก็บน้ำห้วยเชิง ในตำบลด่าน
ประชากร

            ประชากรร้อยละ ๙๒ อาศัยอยู่ในเขตชนบท ภาษาพื้นเมืองที่ใช้ในการสื่อสารมีสามภาษาคือ ภาษาเขมร ภาษาส่วย และภาษาพื้นเมืองอีสาน (ลาว)
            จากภาษาที่แตกต่างกันทำให้มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ลัทธิความเชื่อก็แตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วลัทธิความเชื่อได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศาสนาพราหมณ์
            ประชากรร้อยละ ๙๗ นับถือพระพุทธศาสนา รองลงไปได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศานาอิสลาม ลัทธิพราหมณ์ฮินดูและซิกซ์ ประชากรยังคงยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง
            อาชีพของประชากรส่วนใหญ่ได้แก่ การทำนาซึ่งมีอยู่มากถึงร้อยละ ๙๕ รองลงไปได้แก่การทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ตามลำดับ
| บน | หน้าต่อไป |