| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถาน
            จังหวัดสุรินทร์ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา บริเวณนี้เคยได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอม หรือเขมรโบราณ ซึ่งยังคงมีร่องรอยเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ สถาปัตยกรรมแบบศิลปะขอม ทีเรียกว่า ปราสาทหิน หรือปรางค์  มีลักษณะเป็นอาคารที่ก่อด้วยอิฐ หินทราย หรือศิลาแลง มีหลังคา บันไดและประตูทางขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ทางทิศตะวันออก ภายในห้องประดิษฐานรูปเคารพตามลัทธิความเชื่อของผู้สร้าง และชุมชนโดยรอบ ภายนอกตัวอาคารประดับตกแต่งด้วยลวดลายต่าง ๆ ใกล้ปราสาท หรือปรางค์ มักมีบาราย คือ สระน้ำ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม และสำหรับอุปโภคบริโภคในชุมชน บารายเหล่านี้มักกรุด้วยอิฐ หรือศิลาแลงก่อลดหลั่นลงไปจนถึงก้นสระ
            ปราสาทสำคัญในจังหวัดสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์มีโบราณสถานที่เป็นปราสาท หรือปรางค์ อยู่ตามอำเภอต่าง ๆ มากกว่า ๓๐ แห่ง มีทั้งสร้างด้วยอิฐ หินทราย และศิลาแลง แยกตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมได้ดังนี้
                แบบปราสาทหลังเดียว  ตั้งอยู่บนฐานยกสูงเหนือพื้นดิน
                แบบปราสาทสามหลัง  ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
                แบบปราสาทห้าหลัง  ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

                ปราสาทภูมิโปน  อยู่ในตำบลคม อำเภอสังขะ  ชื่อปราสาทมีความหมายว่า ที่หลบซ่อน มีเรื่องเล่าว่า พระธิดาของกษัตริย์ ถูกนำมาพักอาศัย ณ เมืองนี้เพื่อหลบหนีภัยสงคราม
                ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยปราสาทอิฐสามหลัง และฐานปราสาทศิลาแลงอีกหนึ่งหลัง ตั้งเรียงกันจากเหนือไปใต้ดังนี้
                    ปราสาทอิฐหลังที่ ๑  อยู่ทางด้านเหนือสุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม เหลือเพียงฐาน กรอบประตูทางเข้า และผนังบางส่วน  ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทรายสลักลวดลาย ลักษณะเทียบได้กับศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร แบบไพรเกมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓
                    ปราสาทหินหลังที่ ๒  อยู่ต่อจากปราสาทหินหลังแรกมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและกรอบประตูหินทราย
                    ปราสาทหินหลังที่ ๓ หรือปรางค์ประธาน เป็นปราสาทหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสไม่ย่อมุม มีบันได และประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก  เสาประดับ กรอบประตู และทับหลังทำด้วยหินทราย ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปเป็นลายรูปใบไม้ม้วน รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้าง เทียบได้กับปราสาทขอมสมัยก่อนพระนคร ร่วมสมัยกับปราสาทหลังที่ ๑ ได้พบจารึกเป็นภาษาสันสกฤตด้วยอักษรปัลลวะ ซึ่งเคยใช้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ซึ่งสอดคล้องกับอายุของรูปแบบศิลปะของปราสาท
                    ฐานปราสาทศิลาแลง  อยู่ต่อจากปราสาทประธานมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานเท่านั้น
                    ปราสาทหลังนี้และปราสาทหลังที่สองคงสร้างในสมัยต่อมาซึ่งไม่อาจกำหนดอายุได้ชัดเจน จากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น เสาประดับ กรอบประตูที่เหลืออยู่เป็นเสาแปดเหลี่ยมอันวิวัฒนาการมาจากเสากลมในสมัยก่อนเมืองนคร ตลอดจนการก่อฐานปราสาทด้วยศิลาแลง ทำให้สามารถกำหนดได้ว่า ปราสาททั้งสองหลังนี้คงจะสร้างขึ้นหลังจากปราสาทประธาน และปราสาทหลังที่หนึ่ง

                ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย  อยู่ที่บ้านถนุ ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ มีลักษณะเป็นปราสาทองค์เดียวค่อนข้างใหญ่ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานสูง ปัจจุบันหักพัง เหลืออยู่เพียงบางส่วนและกรอบประตูด้านทิศตะวันออก สิ่งสำคัญคือ ทับหลังที่พบบริเวณด้านหน้า มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยพบทั่วไป คือ ยาว ๒.๗๐ เมตร สูง ๑.๑๐ เมตร หนา ๐.๘๕ เมตร สลักเป็นลายพวงมาลัย ประกอบด้วยลายใบไม้ม้วนและเทพนม ตรงกลางสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แนวทับหลังตอนบน เป็นภาพเทพนมในซุ้มเรือนแก้วสิบซุ้มเรียงกัน จัดเป็นทับหลังที่สวยงามอีกชิ้นหนึ่ง ทับหลังชิ้นนี้แสดงลักษณะอิทธิพลศิลปะเขมร
แบบพะโค (ประมาณ พ.ศ.๑๔๒๐ - ๑๔๔๐) จึงกำหนดอายุได้ว่าอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕  นอกจากนี้ยังพบเสากรอบประตูแปดเหลี่ยม โคนเสาสลักรูปฤาษีนั่งอยู่ภายในซุ้ม
                ปราสาทมีชัย หรือ หมื่นชัย  อยู่ที่บ้านถนน ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มคือ
                    ปราสาทมีชัยหรือหมื่นชัย  เป็นปราสาทหลังเดียว ก่อด้วยอิฐ มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก กรอบประตู และทับหลังทำด้วยหินทราย มีสระน้ำล้อมสามด้าน ยกเว้นทางด้านทิศตะวันออก  ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงผนังบางส่วนและฐาน
                    ปราสาทบ้านปราสาทหรือปราสาทถังแอน  อยู่ต่อขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ ประกอบด้วยปราสาทประธานสร้างด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ตรงกลาง มีบรรณาลัยหรือวิหารซึ่งสร้างด้วยศิลาแลงอยู่ด้านหน้า มีกำแพงศิลาแลงที่มีโคปุระหรือซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกล้อมรอบอีกทีหนึ่ง นอกกำแพงด้านทิศตะวันออก มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม กรุผนังด้วยศิลาแลง รูปแบบการก่อสร้างดังกล่าวใกล้เคียงกับปราสาท พบศิลาจารึกระบุว่า สถานที่นี้เป็นอโรคยาศาลที่สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงกล่าวได้ว่าปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ปัจจุบันปราสาทแห่งนี้ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

                ปราสาทบ้านพลวง  อยู่ที่บ้านพลวง ตำบลถังแอน อำเภอปราสาท เป็นปราสาทศิลาแลงย่อมุม ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางด้านทิศตะวันออก มีประตูทางเข้า กรอบประตูทำด้วยหินทราย ทับหลังสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ยืนบนแท่นเหนือหน้ากาล ที่กำลังคายท่อนพวงมาลัยออกจากปาก แขนทั้งสองข้างยึดท่อนพวงมาลัย หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไป สลักเป็นภาพพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ผนังด้านหน้าสลักเป็นรูปทวารบาล ยืนถือกระบองอยู่ข้างละหนึ่งตน ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอกทำด้วยหินทรายโดยเฉพาะทางด้านทิศเหนือ ทับหลังประตูสลักเป็นภาพพระกฤษณะ กำลังต่อสู้กับนาคกาลิยะ ส่วนหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ นอกจากนี้ช่างยังสลักรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง กระรอก หมู ลิงและวัว ฯลฯ เรียงไว้ตามแนวกรอบนอกของทับหลัง
                บริเวณปราสาทมีสระน้ำสามสระคือ สระหนึ่งมีลักษณะยาวล้อมปราสาทสามด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออก  ส่วนอีกสองสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือสระหนึ่ง และทิศตะวันออกเฉียงใต้อีกสระหนึ่ง
                จากการศึกษาลักษณะปราสาทและลวดลายเครื่องประดับของปราสาทแห่งนี้ สันนิษฐานว่า คงจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ เนื่องจากคล้ายกับปรางค์น้อยที่ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเป็นศิลปะขอมแบบบาปวน
                ได้มีการขุดแต่งปราสาทแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ด้วยวิธีรื้อของเดิมลงแล้วนำไปประกอบใหม่โดยใช้วิธีการสมัยใหม่เสริมความมั่นคงให้กับตัวโบราณสถาน
                ปราสาทโอรงา  อยู่ที่บ้านโคกสะอาด ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง ฯ  ตัวปราสาทสร้างด้วยอิฐขัดเรียบ มีกรอบประตูหินทรายสร้างเลียนแบบเครื่องไม้ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง
                มีคันคูดินอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ และพบประติมากรรมหินทรายด้วย สันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖  ปัจจุบันตัวปราสาทถูกดินทับถมเป็นเนินสูง
                ปราสาทบ้านอนันต์หรือปราสาทอานาร์  อยู่ในวัดโพธิญาณ ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ เป็นปราสาทหลังเดียวขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมสูง ตัวปราสาทสร้างด้วยอิฐเรียบไม่ฉาบปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กรอบและเสาประดับประตูทำด้วยหินทราย มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอก
                บริเวณปราสาทพบทับหลังหินทราย ๑ ชิ้น ตรงกลางสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อยู่ในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล ซึ่งกำลังคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง และใช้มือยึดท่อนพวงมาลัยไว้ ด้านบนและด้านล่าง พวงมาลัยมีลายใบไม้ม้วน ลักษณะของทับหลังนี้ ตรงกับศิลปะขอมสมัยบาปวน จึงอาจสันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗

                ปราสาทบ้านไพลหรือวัดโคกปราสาท  อยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท เป็นปราสาทสามหลัง สร้างด้วยอิฐขัดเรียบอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน เรียงจากเหนือไปใต้ ผังของปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ปราสาททุกหลังมีประตูเข้าทางด้านทิศตะวันออก กรอบและทับหลังประตูทำด้วยหินทราย
                ปราสาทด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังยติดอยู่ในตำแหน่งเดิม ทับหลังสลักเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าอยู่ในซุ้มเหนือหน้ากาล และมีทับหลังอีกสองชิ้นวางอยู่ที่วพื้น สันนิษฐานว่าเป็นทับหลังของปราสาทหลังกลางและหลังทางทิศใต้ ชื้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ช้างเอราวัณ
                พบคันดินรูปหักมุมฉากความยาวสองแนวไม่เท่ากัน อยู่ทางวด้านเหนือและด้านใต้ด้วย ส่วนสระน้ำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นอกแนวคันดิน
                จากการศึกษาภาพสลักบนทับหลังของปราสาท สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นประมาณ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗
                ปราสาททนง  อยู่ที่บ้านปราสาททนง ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท มีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ สร้างด้วยอิฐปนหินทรายและศิลาแลงจำนวนสองกลุ่ม ตั้งเรียงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามลำดับ คือพลับพลา และปราสาทประธาน
                พลับพลา ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทประธาน อยู่ในสภาพชำรุดหเหลือเพียงฐานบัวก่อด้วยศิลาแลง เป็นรูปกำแพงหนา ล้อมพื้นที่ว่างไว้ตรงกลาง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๒๓  ๓๑ เมตร มีบันได สิบบันได
                ปราสาทประธาน ตั้งอยู่บนฐานปีกกา ก่อด้วยศิลาแลง ทำให้ปราสาทประธานอยู่สูงกว่าพลับพลา สภาพของปราสาทชำรุดมาก ประกอบด้วยอาคารสำคัญสามหลังคือ ปราสาทประธาน สำหรับประดิษฐานเทวรูป และมีบรรณาลัยหรือวิหารอีกสองหลัง ตั้งอยู่เยื้องมาทางด้านหน้าของปราสาทประธาน พบทับหลังหินทรายศิลปะเขมรแบบบาปวน จำนวนหลายชิ้น สลักเป็นรูปเทวดานั่งเหนือหน้ากาล
                นอกจากนี้ใต้ฐานปราสาทยังขุดพบโครงกระดูกมหนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคเหล็ก มีอายุอยู่ประมาณ ๒๕๐๐ - ๑๕๐๐ ปี ร่วมกับแหล่งเตาถลุงเหล็ก ที่มีขี้ตะกรันแร่เหล็กสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอาจกล่าวได้ว่าบริเวณบ้านปราสาทแห่งนี้ได้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลายยุคเหล็ก ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ จึงได้มีชุมชนวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่นับถือศาสนาฮินดูเข้ามาตั้งชุมชน พร้อมกับสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้น เป็นศาสนสถานประจำชุมชน
                ปราสาทเขาพนมสวาย  อยู่ที่วัดพนมศิลา ตำบลนาบัว อำเภอเมือง ฯ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนไหล่เขาพนมเปราะแปลว่ายอดเขาชาย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาม ของยอดเขาในเทือกเขาพนมสวาย ปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นวปราสาทสามหลังอยู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันตัวปราสาทหักพังเหลือเพียงฐานศิลาแลง
                พบสระใหญ่สองสระและพบบารายขนาดใหญ่ ซึ่งได้ปรับปรุงเป็นอ่างเก็บน้ำ
                ชาวบ้านเรียกปราสาทนี้ว่าปราสาทสนชัย เคยมีผู้ขุดพบพระคเณศหินทรายหนึ่งองค์ นอกจากนั้นยังมีผู้พบโบราณวัตถุศิลปะขอมจำนวนมากเช่น ชามสำริด กระพรวนสำริด ครุฑสำริด ไหเคลือบสีน้ำตาล ตลอดจนศิลปวัตถุที่ใช้ประดับตัวอาคาร ซึ่งโบราณวัตถุที่พบเหล่านี้คล้ายศิลปะขอม เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ จึงสันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้คงมีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียววกัน
                ปราสาทอังกัญโพธิ์  อยู่ที่บ้านอังกัญโพธิ์ ตำบลโคกยาง อำเภอปราสาท บริเวณที่ตั้งปราสาท เดิมเป็นที่รกร้าง ชาวบ้านเรียกว่าโคกปราสาท เนื่องจากเป็นที่ตั้งของปราสาทขนาดเล็กสามหลัง ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานที่ก่อด้วยศิลาแลง
                ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ มีผู้ลักลอบขุดหาของโบราณ ได้ขุดรื้อเอาฐานปราสาทบางส่วนออกลึกลงไปประมาณ ๒ เมตร ได้พบฐานปราสาทถมด้วยทรายหยาบสีเหลืองอัดแน่น บริเวณโดยรอบปราสาทชาวบ้านที่ไถพรวนดิน หรือขุดสระได้พบโบราณวัตถุแบบขอมจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องถ้วย ซึ่งมักเรียกว่า เครื่องถ้วยเขมรจากกลุ่มริตาบ้านกรวด ซึ่งมีช่วงการผลิตอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗ เช่นเศษเครื่องถ้วยแบบไหเท้าช้าง เคลือบสีน้ำตาลดำ เศษเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวอ่อน และหินบดยา เป็นต้น
                ตัวปราสาทตั้งอยู่บนเนินดินขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๒๕  ๓๐ เมตร เป็นรูปวงกลมรี ตัวปราสาทตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเนินดิน อยู่ในสภาพชำรุดหักพังเห็นเพียงแนวศิลาแลง และส่วนยอดปราสาทหินทรายเท่านั้น รอบ ๆ เนินดินด้านทิศเหนือ - ใต้ มีแนวคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบ
                โนนแท่น  อยู่ที่บ้านโพนครก ตำบลโพนครก อำเภอท่าตูม ห่างจากบ้านห้วยอารีย์มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นเนินดินสองเนิน มีคูน้ำล้อมเกือบรอบ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและด้านทิศวตะวันออกเฉียงใต้ คูน้ำตื้นเขินกลายเป็นท้องนาเกือบหมดแล้ว ตัวโบราณสถานอยู่ในสวภาพชำรุดหักพังมาก พบซากปราสาทพังทลายบนเนินดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ยังพอเป็นฐานศิลาแลงอยู่บ้าง พบเศษกระเบื้องดินเผา ซึ่งมีทั้งชนิดเคลือบสีน้ำตาลดำแบบเขมร และไม่เคลือบกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ สันนิษฐานว่าคงเป็นชุมชนโบราณแห่งหนึ่.

                ปราสาทนางบัวตูม  อยู่ที่บ้านสระถลา ตำบลท่าตูม เป็นปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลงสามหลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดียวกัน เรียงกันในแนวเหนือใต้ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก และมีประตูหลอกอีกสามด้าน ทำด้วยหินทราย เสาประดับกรอบประตูไม่มีลวดลาย ส่วนที่ประตูทางเข้า สลักรูปดอกบัว อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส เสาประดับกรอบประตูทางเข้าสลักลวดลาย พื้นธรณีประตูมีลวดลาย นอกจากนี้ยังมีทับหลังศิลาทรายสลักอีกสามชิ้น และแท่นประติมากรรมหินทราย

                ปราสาทศีขรภูมิ หรือปราสาทบ้านระแงง  อยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนเนินดิน ประกอบด้วยปราสาทอิฐจำนวนห้าหลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีคูน้ำรูปเกือกม้าหันไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทางเข้า มีบันไดทำด้วยฐานศิลาแลง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๒๕ เะมตร สูง ๑ เมตร ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง มีปราสาทขนาดเล็กอยู่ประจำทั้งสี่มุม ปราสาททุกหลังมีประตูเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ลักษณะการก่อสร้าง และรูปแบบสถาปัตยกรรมเหมือนกันทุกหลังคือ ไม่มีมุขด้านหน้า ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นหินทราย หน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น

                ทับหลังของปรางค์ประธานตรงกลางจำหลักเป็นรูปศิวนาฏราชยืนอยู่บนแท่นมีหงส์แบกสามตัวซึ่งหมายถึงสวรรค์ และหงส์ทั้งสามตัวอยู่เหนือเศียรหน้ากาล มือทั้งสองของหน้ากาลจับเท้าสิงห์ที่ยืนด้วยสองเท้าหลังข้างละตัว อุ้งเท้าของสิงห์ทั้งสองข้างถือดอกบัวบาน มีเกสรเป็นท่อนพวงมาลัยโค้ง ริมซ้ายขวาของรูปเทวดาร่ายรำ ภายใต้วงโค้งของพวงมาลัยจำหลักเป็นรูปพระคเณศ พระพรหม พระนารายณ์ และพระลักษ มีหรือนางปราพตี มีรูปโยคีสลักอยู่ทั้งบหัวและท้ายแถว รูปเหล่านี้นั่งอยู่เหนือฐานบัว หรือปทุมอาสน์ ด้านล่างเป็นรูปเทวดาทรงสิงห์อยู่ภายในวงก้านขด สองข้างประตูทางเข้า สลักเป็นรูปนางอัปสรยืนถือดอกบัว ทางด้านข้างจำหลักลายก้ามปู และรูปทวารบาลยืนถือกระบอง ปัจจุบันส่วนยอดพังทลายเหลือตั้งแต่บัวเชิงบาตรลงมา

                ปราสาทบริวาร พบทับหลังสองแผ่น เป็นเรื่องกฤษณาวตาร แผ่นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้าง และคชสีห์ อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะ ประลองกำลังกับคชสีห์ รอบ ๆ บริเวณมีสระน้ำสามสระ สระหนึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือ ยาวอ้อมไปถึงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอีกสองสระอยู่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงใต้
                จากการศึกษาลวดลายบนทับหลังและเสาที่ประดับกรอบประตูของปราสาทประธานและปราสาทบริวาร มีลักษณะใกล้เคียงกับศิลปะขอมแบบบาปวน และแบบนครวัด มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗  จึงสันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้คงสร้างในสมัยห้วงเวลาเดียวกัน และเดิมคงเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ต่อมาได้ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ เนื่องจากพบศิลาจารึกอักษรธรรมอีสานภาษาไทย - ภาษาบาลี ที่ผนังประตูปราสาทบริวารหลังตะวันตก เล่าถึงการบูรณะปราสาทแห่งนี้

                ปราสาทยายเหงา  อยู่ที่บ้านสังขะ อำเภอสังขะ เป็นปราสาทก่อด้วยอิฐคู่กันสองหลัง มีฐานแยกจากกัน กรอบประตูทำด้วยหินทราย หลังหนึ่งสภาพค่อนข้างดี มีลวดลายสลักบนอิฐ ที่กรอบหน้าบันเป็นรูปมกรคายนาคห้าเศียร ส่วนอีกหลังหนึ่งชำรุดเหลือเพียงผนัง และกรอบประตู
                ลักษณะของปราสาทคล้ายกับพระปรางค์ในภาคกลางคือ ส่วนที่เป็นพุ่มยอด และการย่อเก็จลึกมาก ลักษณะทาง สถาปัตยกรรม และเทคนิคคล้ายการเข้ากรอบประตูหินทราย ที่ปราสาทศีขรภูมิ และปราสาทนครวัด จึงกำหนดอายุไว้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗

                ปราสาทตาเมืองธม  อยู่ในตำบลตาเมือน กิ่งอำเภอพนมดงรัก อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊จไปทางใต้ประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นปราสาทใหญ่ที่สุด ในกลุ่มปราสาทตาเมือน จึงเรียกว่าตาเมืองธม (ธม ในภาษาเขมรแปลว่าใหญ่) ประกอบด้วยปราสาทหินทรายสามหลัง มีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ส่วนอีกสองหลังอยู่เยื้องไปทางด้านหลัง ขนาบซ้ายขวาปราสาทประธาน ปราสาททั้งสามหลังหันหน้าไปทางทิศใต้ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกลุ่มปราสาท มีบรรณาลัยหรือวิหารศิลาแลงสองหลัง อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด มีประตูทางเข้าและซุ้มประตู (โคปุระ) ทั้งสี่ด้าน  ลักษณะของปราสาท และอาคารต่าง ๆ มีดังนี้
                         ปราสาทประธาน  เป็นปราสาทหลังใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ตรงกลาง ผนังอาคารและซุ้มประตูสลักลวดลายงดงาม ฐานปราสาทสลักเป็นเทวรูปยืน มุขหน้ายื่นต่อกับซุ้มทางด้านทิศใต้ หลังคาเป็นหินทราย แบ่งออกเป็นสามคูหา คูหาแรกเชื่อมต่อกับ ซุ้มประตูที่ผนังด้านทิศตะวันออก และตะวันตก มีหน้าต่างติดลูกมะหวด (ลูกกรง) หินทรายด้านละหนึ่งช่อง  คูหาส่วนที่อยู่ตรงกลางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกทำเป็นซุ้มประตูด้านละหนึ่งประตู ริมซุ้มประตูมีหน้าต่าง ติดลูกมะหวดด้านละสองช่อง คูหาส่วนที่สามลักษณะเหมือนคูหาแรก
                         ที่ประสาทประธานด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก พบทับหลังหินทรายสลักเป็นรูปเทวดานั่งชันเข่าอยู่บนแท่นภายในซุ้มเหนือหน้ากาล
                         ปราสาทบริวารหินทรายสองหลัง  มีประตูเข้าด้านทิศใต้ ส่วนด้านหน้าเป็นวิหารหรือบรรณาลัยศิลาแลง มีประตูทางเข้าทางด้านทิศใต้สองหลัง หลังหนึ่งตั้งด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อีกหลังหนึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปรางค์ประธาน
                         กลุ่มโบราณสถานดังกล่าว ล้อมรอบด้วยระเบียงคดหินทราย ภายในมีช่องทางเดินทะลุถึงกันโดยตลอด มีซุ้มประตู (โคปุระ) ทั้งสี่ด้าน ที่สำคัญคือด้านทิศใต้ ลักษณะซุ้มประตูทำเป็นสามคูหา คูหากลางสร้างเป็นรูปกากบาท มีหน้าต่างติดลูกกรงหินกลึง หรือที่เรียกว่า ลูกมะหวด ข้างละสองช่อง ประตูด้านละหนึ่งช่อง หน้าประตูด้านนอกมีบันได ที่ลานระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พบศิลาจารึกภาษาขอมกล่าวถึงพระกัลปกฤษณะ นอกระเบียงคดออกไปด้านทิศเหนือ มีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงหนึ่งสระ
            จากลักษณะและองค์ประกอบด้านสถาปัตยกรรม ตลอดจนชื่อพระกัลปกฤษณะที่พบในศิลาจารึกที่ระเบียงคด ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ประสาทแห่งนี้คงสร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗

                ปราสาทตาเมือนโต๊จ  อยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนไปทางทิศใต้ ประมาณ ๑๐๐ เมตร ประกอบด้วยปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง ส่วนยอดเป็นหินทรายจำหลักเป็นรูปดอกบัว และทางด้านทิศตะวันออกมีมุข มีประตูเข้าอีกสามด้านเป็นประตูหลอก  ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานเป็นวิหารก่อด้วยศิลาแลง มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันตก กรอบและเสาประตูทำด้วยหินทราย มีกำแพงก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ
                ถึงกลางกำแพงด้านทิศตะวันออก มีซุ้มประตูทางเข้าก่อด้วยศิลาแลง ภายในซุ้มประตูแบ่งเป็นสามคูหา ที่ผนังมีหน้าต่างข้างละช่อง ห้องกลางเป็นคูหาขนาดใหญ่ ตรงกลางคูหาพบศิลาจารึกอักษรขอม เป็นภาษาสันสกฤตหนึ่งหลัก มีข้อความกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า  พระไภยษัชคุรุไวฑูรยะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรคแก่ประชาชน ผู้นับถือพระองค์ และกล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำอโรคยาศาล ฯลฯ  เหมือนกับจารึกที่พบตามอโรคยาศาลที่อื่น  นอกจากกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำหนึ่งสระ ขอบสระกรุด้วยศิลาแลง
            จากลักษณะองค์ประกอบของแผนผังปราสาท ประกอบกับจารึกแสดงว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล ที่สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ระหว่างปี พ.ศ.๑๗๒๐ - ๑๗๘๐

                ปราสาทตาเมือน  ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก อยู่ห่างจากชายแดนประเทศกัมพูชาประมาณ ๒ กิโลเมตร ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก เป็นปราสาทหลังเดียว ก่อด้วยศิลาแลง มีมุขยื่นไปทางทิศตะวันออก ฐานปราสาทมีขนาด ๗ x ๗ เมตร มุขกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ยอดหักพังเหลือเพียงองค์ปราสาทสูง ประมาณ ๑๓ เมตร มีประตูทางเข้าสองทาง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
                รูปแบบของปราสาทเป็นลักษณะของธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง เป็น ๑ ใน ๑๘ แห่ง ที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด จากเมืองยโสธรปุระไปยังเมืองพิมาย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๒๐ - ๑๗๘๐
                ปราสาทหมื่นศรีน้อย อยู่ที่บ้านหมื่นศรีกลาง ตำบลหมื่นศรี อำเภอสำโรงทาบ ประกอบด้วยซากอาคารของวิหารและเจดีย์ธาตุก่อด้วยอิฐฉาบปูน และมีเครื่องไม้ประกอบบางส่วน เดิมตัวอาคารชำรุดหักพังเป็นส่วนใหญ่เหลือเพียงฐาน
                ห่างออกไปจากตัววิหารทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีซากเจดีย์ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ สภาพของเจดีย์หักพังลงเป็นส่วนมาก จนอยู่ในสภาพคล้ายกองดินขนาดใหญ่ ได้มีการขุดแต่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ทำให้เห็นรากฐานเดิม ที่ประกอบด้วยส่วนฐาน บันไดทางขึ้น ผนังและประตูทางด้านทิศตะวันตก โดยเฉพาะส่วนยอดหรือหน้าบันของผนังด้านทิศตะวันตก  กรอบประตูก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้คานไม้สอดแทรกเข้าไปในระหว่างก้อนอิฐ ทำเป็นคานของประตู เหนือคานประตูขึ้นไปก่ออิฐจรดกรอบซุ้มรูปโค้งของประตูที่ยื่นออกมา เหนือกรอบซุ้มโค้งของประตูขึ้นไปเป็นส่วนยอดของปราสาท ซึ่งส่วนใหญ่คงสภาพเดิมให้เห็นอยู่มาก ส่วนยอดของผนังด้านนี้ ก่ออิฐเป็นรูปจำลองรูปทรงของอาคารขนาดเล็กซึ่งคงได้รับอิทธิพลของศิลปะขอม ที่ใจกลางของกรอบประตูมีไม้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นไม้ที่มีมาแต่เดิม ตรึงเพดานประตูลงมาจนจรดพื้น
                เมื่อพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้คงได้รับการซ่อมแซมและดัดแปลงในสมัยอยุธยาตอนปลาย
                ปราสาทจอมพระ อยู่ที่บ้านศรีดงบัง ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ เป็นปราสาทที่สร้างด้วยศิลาทราย มีกำแพงศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีซุ้มประตูอยู่ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก มุมกำแพงด้านในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบรรณาลัยที่เหลือเพียงส่วนฐานศิลาแลง
                นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกมีสระน้ำที่ยังขุดไม่เสร็จ ต่อไปทางด้านทิศตะวันออกมีสระน้ำอีกหนึ่งสระ
                จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมเทียบได้กับลักษณะของปราสาทตาเมือน หรืออโรคยาศาลที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด เมื่อปีการขุดแต่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ พบเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหนึ่งเศียร และพระวัชรสัตว์หนึ่งองค์ เช่นเดียวกับที่พบที่ปรางค์วัดกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นศิลปะในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อันเจริญรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงสันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘
                ปราสาทช่างปี่ อยู่ที่บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ เป็นปราสาทแบบเขมรที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะนอกจากไม่พบประติมากรรมภายใน ปราสาทประธานแล้ว หน้าบันและทับหลังที่มีอยู่ก็ยังสลักไม่เสร็จ
                อาจกล่าวได้ว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาลที่สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด
                ปราสาทช่างปี่มีปราสาทเพียงหลังเดียวอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยศิลาแลง มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทางเข้าส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอก ที่มุมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบรรณาลัย หรือวิหารขนาดเล็กหันหน้าไปทางทิศตะวันตก อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง ทำเป็นซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก
                ภายนอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมกรุด้วยหินแลงหนึ่งสระ
                ปราสาทบ้านตะเปรียงเตีย (ระเบียงเตีย)  อยู่ที่บ้านหนองเกาะ ตำบลลำดวน เป็นปราสาทก่ออิฐขนาดเล็ก มีฐานเตี้ย แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนกัน ๔ ชั้น ยอดทำเป็นรูปดอกบัวตูม มีช่องประตูหนึ่งช่องด้านทิศตะวันออก ใต้ช่องซุ้มทิศอื่น ๆ ทำเป็นรูปช้างสามเศียร สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์
                ปราสาทตามอย (ตามอญ)  อยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลบัวเชด อำเภอศีขรภูมิ เป็นปราสาทก่ออิฐหลังเดียวโดด ๆ  มีประตูเข้าทางทิศตะวันออกด้านเดียว ผนังอีกสามด้านก่อทึบ ส่วนยอดของปราสาทชำรุดหักพัง
                ลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีเรือนธาตุสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น เป็นแบบผสมผสานกันระหว่างศิลปะขอมและลาว สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ปลายสมัยอยุธยาหรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์
                เจดีย์บ้านลำดวน  อยู่ที่บ้านลำดวน ตำบลลำดวน อำเภอลำดวน ปัจจุบันเรียกว่าปราสาทยายแกรม เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓  องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐสอดิน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ ๑.๒๐ เมตร สูงประมาณ ๒.๐๐ เมตร

                - ปราสาทเมืองที  อยู่ที่บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมือง ฯ  เป็นปราสาทรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีอยู่ห้าหลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาทหลังกลางมีขนาดใหญ่และสูงกว่าหลังอื่น ๆ โดยมีเรือนธาตุสามชั้น และมีบันไดยื่นออกจากเรือนธาตุทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันปราสาทบริวารเหลืออยู่เพียงสองหลัง
                เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางสถาปัตยกรรม ไม่สามารถกำหนดอายุการก่อสร้างได้ สันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้ได้รับการซ่อมแซมใหม่ ประมาณสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือต้นสมัยธนบุรี
                ปราสาททอง  อยู่ในวัดปราสาททอง บ้านแสรออ ตำบลตากูก กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นปราสาทก่ออิฐขนาดเล็ก เลียนแบบการก่อสร้างปราสาทเขมรในยุครุ่งเรือง เป็นปราสาทรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมเพียงหลังเดียวโดด ๆ มีลักษณะคล้ายปราสาทเมืองที  ก่อด้วยอิฐถือปูน มีเรือนธาตุสามชั้น ช่องประตูเป็นประตูหลอกทั้งสี่ด้าน ไม่สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมภายในได้
ตัวปรางค์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสใหญ่และสูง ก่อด้วยอิฐ  สันนิษฐานว่า ก่อสร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ร่วมสมัยกับปราสาทเมืองที
                ปราสาทแก้ว  อยู่ที่บ้านพระปืด ตำบลแร่ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ในวัดปราสาทแก้ว ซึ่งอยู่ภายในเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ด้านทิศตะวันออกมีกำแพงดินสามชั้น และคูน้ำสองชั้นล้อมรอบ
                ปราสาทแก้วเป็นวิหารเก่าแก่ สร้างด้วยอิฐสอดิน มีศิลาแลงประกอบ ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนบนเป็นปรางค์หรือมณฑป รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม เรือนธาตุคล้ายปราสาทเมืองที แต่มีผนังเรือนธาตุ ด้านทิศตะวันออกเจาะเป็นซุ้ม เพื่อประดิษฐานพระปืด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทรายแดง ปางสมาธิ (เพชร) พระเศียรเดิมหายไป ได้สร้างพระเศียรต่อขึ้นใหม่
                ภายในวิหารมีพระพุทธรูปชื่อพระเสี่ยงทาย ปางสมาธิ (ราบ) พระเศียรทรงเทริด มีรัศมีเป็นรูปกลีบบัวหงาย ทางทิศตะวันออกของปราสาทมีธาตุ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่ออิฐสอดินที่ส่วนล่าง แล้วใช้ก้อนศิลาแลงก่อทับที่ส่วนบน สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔
                นอกจากปราสาทที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปราสาทอยู่อีกจำนวนมากที่ชำรุดหักพัง และถูกรื้อถอน ไม่เห็นสภาพเดิมอีก เช่น ปราสาทบ้านเป็ง ปราสาทบ้านจารย์ ปราสาทบ้านเฉนียน ปราสาทบ้านสนม ปรางค์วัดโพธิ์ศรีธาตุ ปรางค์วัดหนองหิน ปราสาทบ้านกระดูด และปราสาทหมอนเจริญ ฯลฯ
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |