| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

แหล่งประวัติศาสตร์
            ชุมชนโบราณในเขตจังหวัดสุรินทร์ในระยะแรก จะอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม ผังเมืองมักเป็นรูปวงรี เป็นชุมชนสมัยทวารวดี ต่อมาจะมีการสร้างชุมชนเนินดินสูง หรือที่ลาดเชิงเขา โดยสร้างแหล่งเก็บกักน้ำแทนแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นอ่างเก็บน้ำรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เรียกว่า บาราย พร้อมทั้งสร้างศาสนสถาน และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ แหล่งชุมชนตั้งอยู่บริเวณรอบ ๆ สระน้ำหรือศาสนสถาน ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชุมชนดังกล่าวนี้มีอายุอยู่ในสมัยอาณาจักรขอม
            จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ แหล่งโบราณคดีในเขตจังหวัดสุรินทร์มีอยู่ ๙๒ แห่ง
            แหล่งชุมชนโบราณ  มีกระจายอยู่ในเขตอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
                ชุมชนโบราณทางตอนเหนือของจังหวัด  อยู่ในพื้นที่สามอำเภอคืออำเภอพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี ที่อำเภอชุมพลบุรี มีชุมชนโบราณหนาแน่นที่สุดถึง ๒๓ แห่ง อำเภอท่าตูมมี ๕ แห่ง อำเภอรัตนบุรีมี ๒ แห่ง บริเวณที่ตั้งจะอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ และมีความสูงระหว่าง ๑๒๐ - ๑๔๐ เมตร ซึ่งต่ำกว่าบริเวณอื่น ๆ
                ชุมชนโบราณตอนกลางของจังหวัด  อยู่ในพื้นที่ห้าอำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ มีหนาแน่นที่สุดถึง ๒๘ แห่ง อำเภอศีขรภูมิมี ๑๒ แห่ง อำเภอสำโรงทาบมี ๒ แห่ง อำเภอจอมพระและอำเภอลำดวนปี อำเภอละ ๑ แห่ง บริเวณที่ตั้งจะอยู่บนที่สูงกว่าชุมชน ฯ ตอนเหนือ สูง ๑๔๐ - ๑๖๐ เมตร ชุมชน ฯ ที่อยู่บนพื้นที่สูงสุดของจังหวัดคือ ชุมชน ฯ บ้านภูมิโปน ตำบลดุม อำเภอสังขะ อยู่สูง ๑๘๐ - ๒๐๐ เมตร
                ชุมชนโบราณทางตอนใต้ของจังหวัด  อยู่ในพื้นที่สามอำเภอคืออำเภอสังขะ มีชุมชน ฯ หนาแน่นที่สุดคือ ๑๐ แห่ง อำเภอปราสาทมี ๗ แห่ง อำเภอกาบเชิงมี ๑ แห่ง บริเวณชุมชน ฯ จะตั้งอยู่บนพื้นที่สูงขึ้นจากตอนกลาง มีความสูงตั้งแต่ ๑๖๐ เมตรขึ้นไป ชุมชน ฯ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงสุดของจังหวัดคือ ชุมชน ฯ บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ ความสูงมากกว่า ๑๘๐ - ๒๐๐ เมตร
                การตั้งชุมชนโบราณแต่ละแห่ง มักจะอยู่ห่างจากแหล่งน้ำประมาณ ๑ กิโลเมตร ชุมชน ฯที่อยู่ไกลแหล่งน้ำมากที่สุดประมาณ ๑๙ กิโลเมตร คนในชุมชน ฯ จะตั้งถิ่นฐานโดยสัมพันธ์กับปัจจัยทางธรรมชาติเช่นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
           ชุมชนโบราณที่สำคัญ มีอยู่ ๘ แห่งด้วยกันคือ

                ชุมชนโบราณบ้านสลักได  อยู่ในตำบลสลักได อำเภอเมือง ฯ เป็นชุมชน ฯ ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ขนาด ๗๒๐ x ๙๙๐ เมตร คูน้ำคันดินชั้นในเป็นรูปวงรี มีคันดินหลายชั้น คูน้ำคันดินชั้นนอก พบเฉพาะด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมหักมุม
               จากการสำรวจพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน มีทั้งแบบผิวเรียบ และตกแต่งผิวภาชนะด้วยลายเชือกทาบ เคลือบน้ำดินสีแดง เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาล ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก และพระพุทธรูปสำริด ฯลฯ

                ชุมชนโบราณบ้านแสลงพัน  อยู่ในตำบลแกใหญ่ อำเภอเมือง ฯ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ เป็นรูปวงรี มีคูน้ำล้อมสองชั้น และคันดินสามชั้น มีขนาด ๓๐๐  ๔๕๐ เมตร
                จากการสำรวจพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน ตกแต่งโดยเขียนลายเชือกทาบ และเขียนสีเศษภาชนะดินเผา เนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาลและเขียว
                จากการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนบ้านสลักได ชุมชนบ้าน ฯ บ้านแสลงพันกับเมืองสุรินทร์ พบว่าชุมชน ฯ บ้านสลักไดรับน้ำจากห้วยสะพานลาวเข้ามาเก็บไว้ในคูเมือง แล้วขุดคลองระบายน้ำจากคูเมืองไปยังคูเมืองสุรินทร์ ซึ่งอยู่ห่างกัน ๕ กิโลเมตร ได้พบคลองลักษณะเดียวกันนี้จากบ้านแสลงพันไปยังเมืองสุรินทร์
                ชุมชนโบราณบ้านตรีม  อยู่ในตำบลตรีม อำเภอศีขรภูมิ มีคูน้ำล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า หนองลิม ภายในวัดตรีม มีเนินดินขนาดเล็ก บนเนินดินมีใบเสมาปักอยู่เป็นกลุ่ม โผล่พ้นดิน จำนวน ๑๖ ใบ มีลักษณะเป็นรูปกลีบบัว ทำด้วยศิลาแลง ใบเสมาทุกใบมีลักษณะของการตกแต่งที่เหมือนกัน คือ สลักเป็นรูปหม้อน้ำ หรือรูปสถูปอยู่ตรงกลางใบทั้งสองด้าน ยอดสถูปบรรจบกับส่วนบนของใบเสมาพอดี ที่ขอบของใบเสมาเป็นเส้นตรงโค้งไปตามขอบ ทำให้ดูเหมือนว่าผิวหน้าทั้งสองด้านของใบเสมายื่นออกมา

                ใบเสมานับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนทวารวดีในภาคอีสาน ในขณะที่ชุมชนทวารวดีในภาคกลางหรือภาคอื่น ๆ ไม่ค่อยมีการสร้างใบเสมามากนัก ใบเสมาเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับจุดประสงค์ในการใช้งานหลาย ๆ ลักษณะ
                ใบเสมาที่บ้านตรีม  ลักษณะปักแบบรวมกลุ่มกันแสดงว่าไม่ใช่ปัก เพื่อกำหนดเขตที่พระสงฆ์ ใช้ทำสังฆกรรมและจากลักษณะของใบเสมาทุกใบที่แกะสลักเป็นรูปสถูปอยู่กลางใบ แสดงให้เห็นว่าใบเสมาเหล่านี้แต่ละใบน่าจะมีความสำคัญในตัวเอง อาจจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญญลักษณ์แทนสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้น เพื่อถวายให้กับศาสนาหรือจุดประสงค์อื่น ๆ แล้วนำมาปักไว้ในบริเวณที่กำหนดขึ้นภายในชุมชน
                นอกจากนี้ที่บริเวณกลางหมู่บ้านมีเนินดินสูง บนเนินดินพบซากโบราณสถาน ปัจจุบันเหลือเพียงฐานเป็นแนวศิลาแลง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ ๔๕  ๔๖ เมตร บนเนินดินพบในเสมาทำด้วยศิลาแลงจำนวนสองใบ ใบหนึ่งเป็นแผ่นเรียบไม่มีการตกแต่งใด ๆ ส่วนอีกใบสลักเป็นเส้นนูนขึ้นมากลางใบ บนผิวดินและหน้าตัดเนินดินที่ถูกไถออกพบเศษอิฐและเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินอยู่ทั่วไป ตัวโบราณสถานปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลปู่ตา ประจำหมู่บ้าน
                ชุมชนโบราณเนินตาเทิน  อยู่ที่บ้านโนนดู่  ตำบลคำผง อำเภอรัตนบุรี ลักษณะเป็นเนินดินอยู่สูงจากที่นาโดยรอบ ประมาณ ๑๐ เมตร มีลำน้ำธรรมชาติคือ ห้วยกู่ ไหลผ่านทางทิศตะวันตกห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร  พบเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบมีเคลือบและไม่มีเคลือบ แบบที่มีเคลือบเป็นภาชนะเนื้อแกร่ง เคลือบสีน้ำตาลตกแต่งด้วยลวดลายเส้นคลื่น และลายหวีติดต่อกัน ซึ่งเป็นลักษณะของภาชนะในวัฒนธรรมเขมร ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณเขตอีสานตอนล่าง ส่วนแบบไม่เคลือบเป็นเศษภาชนะเนื้อดินเผาธรรมดา ตกแต่งด้วยลายขูดเป็นเส้นรอบภาชนะ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุประเภทโลหะ ได้แก่ ขวานเหล็ก แบบมีบ้อง มีด เหล็ก แท่งเหล็ก และห่วงเหล็กจำนวนหนึ่ง รวมทั้งก้อนตะกั่วที่อาจเป็นวัตถุดิบ สำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการหล่อหลอมเครื่องมือเครื่องใช้
                แหล่งโบราณคดีแห่งนี้คงเป็นชุมชนโบราณ ในวัฒนธรรมเขมรแห่งหนึ่ง มีอายุอยู่ประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๙  ชุมชนแห่งนี้เลือกตั้งถิ่นฐานบนเนินดิน อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นลักษณะของการตั้งชุมชนโบราณ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

                ชุมชนโบราณเมืองสุรินทร์  ตั้งอยู่บริเวณเขตเทศลบาลเมืองสุรินทร์เป็นส่วนใหญ่ เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าน่าจะมีคนอาศัยอยู่มานานนับพันปี ทั้งนี้ดูจากลักษณะของรูปแบบของคูน้ำคันดิน ซึ่งประกอบเขตชุมชนโบราณสองชั้นคือ ชุมชน ฯ ชั้นใน และชุมชน ฯ ชั้นนอก  มีกำแพงดินและคูน้ำชั้นในกั้นพื้นที่สองบริเวณ  สันนิษฐานว่าบริเวณชุมชนชั้นในน่าจะมีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดี เนื่องจากมีผังเป็นรูปวงรี แนวเส้นไม่สม่ำเสมอ ส่วนบริเวณชุมชน ฯ ชั้นนอก จะมีกำแพงดินและคูน้ำที่มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นระเบียบ ซึ่งลักษณะของชุมชน ฯ สมัยลพบุรี
                ชุมชน ฯ ดังกล่าวจะมีผู้คนอาศัยอย่างต่อเนื่อง เพราะมีชื่อปรากฎในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า หัวเมืองเขมรป่าดง
                จังหวัดสุรินทร์ มีความสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินทัพไปยังอาณาจักรกัมพูชา ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความสำคัญในฐาะนเมืองหน้าด่าน ในบริเวณชายแดนระหว่างอาณาจักรสยามกับอาณาจักรกัมพูชา และเป็นแหล่งเก็บส่วยที่เป็นของป่าให้เมืองหลวง

                    กำแพงชั้นใน  มีพื้นที่เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ท้งหมด เป็นกำแพงดิน มีคูน้ำด้านนอกขนานไปกับกำแพง เรียกว่า คูนอกของกำแพงชั้นใน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันและขนานเป็นคูโดยรอบ โดยมีพื้นที่เป็นรูปวงรีไม่สม่ำเสมอ มีกำแพงดินโดยรอบ ปัจจุบัน คูเมือง กำแพงเมือง เป็นที่ดินที่กรมธนารักษ์ดูแล ต่อมาได้รื้อกำแพงดินถมคูเมือง เพื่อทำสถานที่ราชการ และอาคารพาณิชย์ กำแพงและคูเมืองส่วนที่เหลือคือ คูน้ำสี่แยกต้นโพธิ สายสุรินทร - บุรีรัมย์  และคูน้ำหน้าวัดจุมพลสุทธาวาส

                    กำแพงชั้นนอก  เป็นกำแพงดินมีคูน้ำขนานทั้งสองด้าน เรียกว่า คูในและคูนอก  ลักษณะกำแพงชั้นนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยขอมที่เรียกว่า สมัยลพบุรี กำแพงชั้นนอกถูกรื้อลงเป็นถนนบ้าง สร้างอาคารพาณิชย์ที่เป็นตึกแถว และที่พักอาศัยบ้าง คงเหลือสภาพเดิมเป็นช่วง ๆ คูน้ำที่เหลือให้เห็นอยู่ทางทิศตะวันตกของสำนักงานป่าไม้จังหวัด เรียกว่า สระถลา  ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกำแพงเมือง คูเมืองสุรินทร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑  กำหนดพื้นที่ ๑๑ บริเวณ มีพื้นที่รวมประมาณ ๔๑๑ ไร่
                ชุมชนโบราณบ้านยะวึก  อยู่ในตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี  มีลักษณะเป็นเนินดิน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบชั้นเดียว รูปร่างทรงกลมรี กว้างประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร  มีพื้นที่ประมาณ ๓ ตารางกิโลเมตร พบศาสนสถาน และมีหนองน้ำโดยรอบ ได้แก่ หนองอ้ายมนต์ หนองคู หนองกกใหญ่ และหนองโบสถ์  พบโบราณวัตถุเช่น พระพุทธรูป ใบเสมาหิน โครงกระดูก และเศษภาชนะดินเผา กระจายอยู่จำนวนมาก สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี และคงจะมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
                ชุมชนโบราณบ้านช่างปี่  อยู่ที่บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ ลักษณะเป็นเนินดิน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบชั้นเดียว ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร พบศาสนสถานเป็นปราสาทศิลาแลงหนึ่งหลัก มีสระน้ำขนาดใหญ่ (บาราย)  อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาท พบวัตถุโบราณ เช่น เทวรูปหิน เครื่องประดับ เศษภาชนะดินเผา สันนิษฐานว่ามีอายุในสมัยลพบุรี อาจเป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน
                - ชุมชนโบราณบ้านภูมิโปน  อยู่ในตำบลดม อำเภอสังขะ  มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีศาสนสถานที่สร้างด้วยอิฐคือ ปราสาทภูมิโปน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓  นับเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุด ในประเทศไทยตั้งอยู่กึ่งกลางเมือง
                ชุมชน ฯ แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณเนินสูง  ทางฝั่งขวาของลำห้วยเสนง ห่างจากทิวเขาพนมดงรักไปทางทิศเหนือ ไม่ถึง ๒๐ กิโลเมตร ลักษณะกำแพงดินด้านทิศตะวันตก ยังคงสภาพเดิมไว้อย่างชัดเจน กำแพงดินนี้จะตีโค้งไปทางทิศใต้ และวกมาทางด้านหน้าปราสาท ทางทิศตะวันตก จรดกับคันดินของสระตา ซึ่งเป็นกลุ่มสระน้ำที่อยู่ทางทิศตะวันออกของปราสาท
                ชุมชน ฯ แห่งนี้น่าจะมีความเจริญขนาดเป็นนครรัฐ  เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก ปรากฎกลวิธีขุดสระน้ำหลายขนาด และกลวิธีสร้างความสวยงามของผังสระน้ำ เช่น ขุดสระซ้อนสระ ได้แก่ สระเล็กอยู่กลางสระใหญ่ เรียกว่า สระกนาล (สระกลาง)  สำหรับกลวิธีสร้างความสวยงามให้สระคล้ายอุทยาน ได้แก่ สระปรือ เป็นสระน้ำใหญ่มากยาวเกือบ ๑ กิโลเมตร  มีต้นไม้เป็นป่าอยู่กลางสระ
                ในพื้นที่ชมุชน ฯ ชั้นใน พบสระน้ำขนาดกว้างประมาณ ๔๐ เมตร ไม่ต่ำกว่า ๑๐ สระ กระจายอยู่ตามพื้นที่ทั่วไป การขุดคูเมืองด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีแนวคันดินขนาดใหญ่ทอดตัวยาวเป็นเส้นตรง ไปยังลำห้วยเสน เป็นการบังคับให้ลำน้ำเปลี่ยนทิศทางเดิน  เพื่อให้น้ำไหลเข้าไปในพื้นที่ของชมุชน นอกจากนี้ยังมีการสร้างทำนบดินยาวเหยียดขวางทางเดินของน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า หน็อกคัลย์ (ถนนขาด)  ส่วนในพื้นที่บริเวณที่ติดต่อกับชมุชนอื่น พบการออกแบบคูน้ำคันดิน เพื่อใช้น้ำร่วมกับชุมชนใกล้เคียง เช่น สระคลวก สระปรือ สระปรือเล็ก และสระหนองดม
                จากการพิจารณาลักษณะของชมุชน ฯ แห่งนี้ พบว่าผังเมืองมีลักษณะคล้ายเลขแปดอารบิค ด้านตะวันตกเป็นที่อยู่อาศัยของชมุชน ด้านทิศตะวันออกเป็นกลุ่มสระที่มีการใช้คูน้ำคันดินร่วมกัน นับว่าเป็นความฉลาดของคนในชุมชน ฯ  ที่คิดระบบชลประทานได้อย่างน่าพิศวง
                โบราณวัตถุที่พบได้แก่ศิลาจารึกอักษรปัลลวะและอักษรขอมโบราณ เศษภาชนะ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหินขัด และเครื่องประดับที่ทำด้วยแก้ว
                ความเจริญของชุมชน ฯ แห่งนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรฟูนัน ซึ่งสันนิษฐานว่า อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง บริเวณปราสาทเมืองภู ในประเทศลาว
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |