| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

รูปปั้น อนุสาวรีย์

                อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม)  สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก ตั้งอยู่ที่ทางเข้าตัวเมืองด้านทิศใต้ สูงขนาดเท่าครึ่งของคนปกติ คือสูง ๒.๒๐ เมตร ยืนหันหน้าไปทางทิศใต้ มือขวาถือของ้าว สะพายดาบคู่บนหลัง แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายของเจ้าเมือง ชั้นพระยาในชุดออกศึก หล่อด้วยทองเหลืองรมดำ ฐานอนุสาวรีย์มีภาพนูนสูงปูนปั้นเกี่ยวกับเรื่องช้างเผือกที่หายมาจากกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ภาพปูนปั้นด้านหน้าเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ท่านได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบเป็นหลวงสุรินทรภักดี หลังจากที่ได้ช่วยจับช้างเผือกแล้วนำส่งกลับกรุงศรีอยุธยาแล้วื ท่านได้นำทหารชาวสุรินทร์ร่วมรบกับกองทัพหลวงในการสงครามกับเขมรหลายครั้ง จึงมีความดีความชอบจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น
พระสุรินทรภักดี ฯ และพระยาสุรินทรภักดี ตามลำดับ
                บริเวณด้านทิศตะวันออกของอนุสาวรีย์ มีกลุ่มประติมากรรมรูปช้างและรูปควาญช้างหัวหน้าหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้นำทางไปจับช้างเผือกที่หนีมา สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ช้าง และควาญช้างเหล่านั้น มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการสร้างเมืองสุรินทร์ขึ้น ได้ทำพิธีเปิด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑  ส่วนอนุสาวรีย์ทำพิธีเปิด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘

                อนุสาวรีย์ช้าง  ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐  อนุสาวรีย์แห่งนี้มีศาลปะกำ ซึ่งใช้เป็นที่ทำพิธีเซ่นผีปะกำ  และในวันแรกของงานแสดงช้างของจังหวัดสุรินทร์ หมอช้างจะทำพิธีเซ่นผีปะกำ ณ ที่แห่งนี้เป็นประจำทุกปี
สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

                ศาลหลักเมืองสุรินทร์  ตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง เดิมเป็นศาลที่ยังไม่มีเสาหลักเมือง เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั่วไป เป็นเวลานานกว่า ๑๐๐ ปี  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๑ จึงได้มีการสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ ส่วนเสาหลักเมืองทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ที่ได้จากตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี  สูง ๓ เมตร วัดรอบวงได้ ๑ เมตร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเจิมเสาหลักเมือง ณ พระตำหนักจิตรลดา ฯ และพระราชดำริว่า
                "การสร้างเสาหลักเมืองนี้ดี เป็นหลักแหล่งความสามัคคี  ขอให้ชาวสุรินทร์จงมีความสามัคคีกัน สร้างความเจริญให้ก้าวหน้า แบะขอให้ชาวสุรินทร์จงมีความร่มเย็นเป็นสุข"
                ได้มีการประกอบพิธียกเสาหลักเมืองและมีพิธีฉลองสมโภช เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗

                หลวงพ่อพระชิ้ว (ประจี)  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างแปดศอก ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ ใกล้กับศาลากลางจังหวัด เป็นปูชนียวัตถุที่ประชาชนชาวสุรินทร์เคารพสักการะและนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดของจังหวัดสุรินทร์

                พระพุทธสุรินทรมงคล เขาพนมสวาย  อยู่ในตำบลนาบัว อำเภอเมือง ฯ บนเขาพนมสวาย ซึ่งเป็นภูเขาเตี้ย ๆ มีสามยอด ยอดแรก สูง ๒๐๐ เมตร เรียกว่า พนมสรัย อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของวัดเขาพนมสวาย
                ยอดที่สองมีความสูง ๒๑๐ เมตร ชื่อพนมเปราะ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางประทานพร หน้าตักกว้าง ๑๕ เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก องค์พระประดิษฐานอยู่บนฐานสูงทำให้สามารถเห็นองค์พระพุทธรูปเด่นชัดได้ทุกทิศทาง พระพุทธรูปองค์นี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒  สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธสุรินทรมงคล ถือเป็นพุทธสถานอันเป็นที่เคารพสักการะบูชาและเป็นที่รวมจิตใจของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง
                ยอดที่สาม สูง ๒๒๓ เมตร ชื่อ พนมกรอล หรือเขาคอก  มีศาลาอัฎฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งชาวสุรินทร์ได้ร่วมกันสร้างขึ้นไว้ที่ยอดพนมเปราะ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๑
                หมู่เขาพนมสวายนี้ ชาวสุรินทร์ถือว่าเป็นสถานที่แสวงบุญที่สำคัญ ก่อนเทศกาลสงกรานต์คือ วันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ซึ่งเป็นวันหยุดงานตามประเพณีของจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณกาล ชาวสุรินทร์ถือเป็นประเพณีว่า ต้องขึ้นไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาพนมสวาย
ศิลปวัฒนธรรมและงานช่างท้องถิ่น
            ศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นของจังหวัดสุรินทร์ ที่จัดได้ว่าเป็นงานหัตถกรรมชั้นสูง หรือประณีตศิลป์ ได้สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถัน ทั้งรูปแบบและวัสดุที่มีคุณค่าหายาก มีกรรมวิธีสลับซับซ้อน เช่นการทำเครื่องเงินเป็นเครื่องประดับ เพื่อความสวยงาม ความเชื่อถือ และความศรัทธา ทำให้ช่างได้สร้างงานเพื่อสนองความเชื่อและศรัทธาของศาสนิกชน ศิลปหัตถกรรมที่เนื่องในศาสนามักมีรูปแบบ และความประณีตแตกต่างกันตามฐานะของผู้สร้าง
            ประติมากรรม  หมายถึง งานปั้น งานแกะสลัก
                ประติมากรรมรูปคน  ได้แก่ การสร้างเทวรูปตามคติศาสนาฮินดู พระพุทธรูป เทวดา นางอัปสร ยักษ์มาร ฯลฯ  งานประติมากรรมประเภทนี้มักสร้างด้วย สำริด สลักหินทราย ปูนปั้น ดินเผา ไม้จำหลัก ฯลฯ
                ประติมากรรมตกแต่ง  เป็นศิลปะภายนอก เป็นการแสดงออกซึ่งศิลปะภายใน ที่บรรพบุรุษได้มีสร้างสมไว้ ทำให้เราได้เห็นลวดลายที่แกะสลักบนแผ่นศิลาทับหลัง เสาโคปุระ กรอบหน้าต่าง บานประตู หน้าบัน เครื่องบน บานประตูหลอก ชั้นบนเชิงบาตรของเครื่องบนปราสาทประธาน กลีบขนุนปราสาทรูปสามเหลี่ยม บนชั้นเชิงปราสาทประธานนาคมุข การแกะสลักรูปเทพทรงภูษาสมพต จีบเป็นริ้วขอบตกแต่งด้วยลายลูกประคำ มีอุบะห้อยประดับ ฯลฯ
                ภาพแกะสลักบนหน้ามุขปราสาท หรือทับหลังที่ปรากฎในปราสาทบ้านพลวง อำเภอปราสาท ทั้งสี่ด้าน  ปราสทาตาเมือน ปราสาทบ้านระแงง อำเภอศีขรภูมิ ปราสาทที่อื่น ๆ
                ตำแหน่งทวยเทพต่าง ๆ  ที่เป็นองค์ประกอบมีความหมายเป็นเรื่องราวในวรรณคดี บรรดาลายที่ตกแต่งเหล่านี้ มีความสลับซับซ้อน ช่องไฟของลายมีระยะห่าง สมดุลซ้ายขวาเท่ากัน ซึ่งเป็นต้นแบบของลวดลายไทย ได้แก่ หน้าขบ หรือนาคขบ กนกใบเทศ กนกสามตัว กนกเปลว ด้านแย่ง เฟื่องอุบะ ประจำยาม ลายก้ามปูกระจังพนม ซึ่งปรากฎอยู่ตามปูชนียสถานทั่วไป
            หัตถกรรม  ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับและผ้า ที่มีลักษณะเด่นของจังหวัด
                เครื่องปั้นดินเผา ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือบ้านน้ำคำ อำเภอท่าตูม
                เครื่องประดับ  ชาวสุรินทร์เป็นช่างทำเครื่องประดับที่สืบสกุลมาแต่บรรพบุรุษ งานมือที่เป็นเครื่องประดับต่าง ๆ ทั้งที่ทำด้วยทอง หรือเงินได้รับการถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน
                งานหัตถกรรมเครื่องประดับที่ขึ้นชื่อ และมีเพียงแห่งเดียว ถึงจะทำเทียมหรือเลียนแบบอย่างไรก็ไม่เหมือนหัตถกรรมประเกือบของสุรินทร์ ศิลปหัตถกรรมที่เรียกว่า ประเกือบหมายถึง ลูกทองหรือลูกเงิน ที่นำมาร้อยเป็นเครื่องประดับเป็นได้ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ เข็มขตัด ต่างหูและอื่น ๆ หมู่บ้านที่สืบสานศิลปะประเกือบสุรินทร์ที่ขึ้นชื่อคือบ้านโชค ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเมือง ฯ ซึ่งเป็นชุมชนทำหัตถกรรมเครื่องประดับประเภทประเกือบสืบสกุลมากกว่า ๕๐๐ ปี
                ผ้า  เป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงอย่างหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ ผ้าที่ขึ้นชื่อที่สุดคือผ้าไหมเป็นที่นิยมและใช้ในชีวิตประจำวันของคนพื้นเมืองทุกกลุ่ม จนมีคำกล่าวของคนสุรินทร์ว่า "นุ่งผ้าไหมใส่ประเกือบ"
ภาษาและวรรณกรรม
            ภาษา  ประชากรในจังหวัดสุรินทร์ยังใช้ภาษท้องถิ่นเขมร ส่วย และลาว เป็นภาษาที่ ๑ ควบคู่กับภาษาไทย ประชากรจังหวัดสุรินทร์ ใช้ภาษาเขมรเหนือเป็นภาษาที่หนึ่งมากที่สุดคือ ประมาณร้อยละ ๕๐ ของประชากร ภาษาส่วยหรือกูย ร้อยละ ๓๐ ภาษาลาวร้อยละ ๑๒ ภาษาจีนและอื่น ๆ ร้อยละ ๘
                ภาษาเขมร  เป็นภาษาที่พูดที่กระจายอยู่ทุกอำเภอในจังหวัดสุรินทร์ แต่หนาแน่นที่สุดที่อำเภอเมือง ฯ อำเภอท่าตูม อำเภอลำดวน อำเภอปราสาท อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ กิ่งอำเภอพนมดงรัก กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศีขรภูมิ และอำเภอจอมพระ
                ภาษาส่วยหรือภาษากูย  นับเป็นภาษาพูดของกลุ่มชนเก่าแก่กลุ่มหนึ่ง แต่ไม่มีภาษาเขียน ใช้กันมากที่อำเภอสำโรงทาบ อำเภอท่าตูม กิ่งอำเภอศรีณรงค์ อำเภอจอมพระ และอำเภอศีขรภูมิ
                ภาษาลาว  ใช้มากในอำเภอสนม อำเภอรัตนบุรี อำเภอชุมพลบุรี และกิ่งอำเภอโนนนารายณ์
                ภาษาผีปะกำ  เป็นภาษาพิเศษของชนชาวส่วยช้าง ใช้สื่อสารกันเฉพาะระหว่างกำลวงพืด หมอช้างและมะข่างกับเทพเจ้า ผีปะกำ และบริวารของผีปะกำ ในช่วงเวลาของการเดินทางไปกูบเทวะค้า (คล้องช้าง) แต่เมื่อกลุ่มผู้จับช้างอยู่บ้านตามปกติจะใช้ภาษาส่วยโดยทั่วไป
                จากการรวบรวมภาษาผีปะกำของจังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๓๖๕ คำ พบว่าตรงกับภาษาบาลี สันสกฤต ประมาณร้อยละ ๒๐ ต่างกันเฉพาะสำเนียง เป็นภาษาเขมรโบราณร้อยละ ๔๐ - ๕๐ ที่ยังหาไม่ได้ว่าเป็นภาษาใดอีกร้อยละ ๓๐
            จารึก  จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่พบศิลาจารึกอยู่ตามโบราณสถานหลายแห่ง และเป็นจังหวัดที่พบศิลาจารึก อักษรปัลลวะ - สันสกฤต ซึ่งถือเป็นจารึกรุ่นแรก ๆ ที่มีใช้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ เช่น ศิลาจารึกปราสาทภูมิโปน
                จารึกปราสาทภูมิโปน  พบที่ปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ
                จารึกปราสาทตาเมือนธม  พบที่ปราสาทตาเมือนธม ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จารึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย จารึกตอนต้นเป็นภาษาสันสกฤต สรรเสริญพระศิวะ ตอนท้ายเป็นภาษาเขมร บอกรายนามทาส และเจ้าหน้าที่ดูแลเทวสถาน
                จารึกวัดจุมพล  สถานที่พบไม่แน่ชัด ได้มีผู้นำมาไว้ที่วัดจุมพลสุทธาวาส ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๕๙ - ๒๔๗๖ กล่าวถึงพระบาทมเหนทรวรมัน เดิมชื่อจิตรเสน มีชัยชนะต่อเมืองนี้ จึงสร้างศิวลึงค์ และโคหินไว้ตัวหนึ่ง

                จารึกสุรินทร์  พบที่ปราสาทหินจอมพระ กิ่งอำเภอจอมพระ เป็นพระราชโองการเกี่ยวกับการสร้างศาสนสถาน
                จารึกสร้างเทววรูป  เป็นพระราชโองการให้สร้างศาสนสถานและเทวรูป พร้อมทั้งอุทิศทาสชายหญิงและสิ่งของต่าง ๆ ถวายแด่เทวสถาน

                จารึกปราสาท  พบที่อำเภอปราสาท กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมัน
                จารึกโคสามขาวัดนาสาม  พบที่วัดนาสาม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง ฯ

                จารึกปราสาทศีขรภูมิ (ปราสาทระแงง)  พบที่ปราสาทศีขรภูมิ (บ้านระแงง) อำเภอศีขรภูมิ กล่าวถึงพระชั้นผู้ใหญ่และเจ้าพระยาร่วมกันบูรณศาสนสถานแห่งนี้
            วรรณกรรมพื้นบ้าน  มีทั้งวรรณกรรมมุขปาระและวรรณกรรมลายลักษณ์
                วรรณกรรมมุขปาระ  มักเล่าด้วยภาษาพื้นบ้าน ต่อมามีผู้รวบรวมจดบันทึกไว้ และแปลเป็นภาษาไทย โดยได้รวบรวมทั้งจากภาษาลาว ภาษาส่วย และภาษาเขมร ได้ ๒๗ เรื่อง มีการบันทึกแปลเป็นภาษาอิสานใต้
                ววรรณกรรมลายลักษณ์  มีทั้งที่เป็นความเรียงและบทร้อยกรอง เช่น เรื่องหงส์หิน ของหลายจังหวัดภาคเหนือ เป็นต้น
                วรรณกรรมที่เป็นภาษาพื้นบ้าน ส่วนมากเขียนด้วยตัวอักษรตัวมูลหรือตัวธรรม เป็นภาษาขอมหรือภาษาเขมร ระบบการสะกดในแต่ละยุคสมัย และแต่ละยุคไม่เหมือนกัน ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และบางส่วนเป็นสุภาษิต คำสอน รวม ๒๒ เรื่อง ไม่ได้แปลทั้งหมดแต่ใช้วิธีจับใจความเนื้อหา ตัวอย่างวรรณกรรมลายลักษณ์ได้แก่
                    คนสุรินทร์สอนลูก  เขียนด้วยอักษรเขมร เป็นบทร้อยกรองกลอนสี่หรือกากคติ ยาว ๑๗ หน้า พบที่วัดในเมืองสุรินทร์ พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ สรุปใจความสำคัญดังนี้
                    พ่อแม่มีความลำบยากปานใดก็ตาม ไม่เคยคิดย่อท้อ อดทนทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้ศึกษาหาความรู้ มีอาชีพมั่นคง และเป็นคนนดีของสังคม ลูกจึงต้องยำเกรง มีความเมตตาสงสารดูแลรับใช้พยาบาล กตัญญูกตเวทีต่อท่าน ไม่ดูหมิ่นดูแคลน หมั่นมาเยี่ยมเยียน ประพฤติตัวดีมีศีลธรรม เมื่อได้บวชเรียนก็ให้รักษาศีล เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครู อาจารย์ และตั้งใจปฏิบัติตาม ไม่โกรธแม้ดุด่าบ้าง หมั่นทำบุญให้ทาน ทำอะไรให้ยึดแบบแผน รู้ว่าอะไรควรไม่ควร รู้ที่ต่ำที่สูง มีบทแล้วให้จำ ผิดแล้วรู้จักแก้ไขกลับเนื้อกลับตัว อย่าเรียนรู้เรื่องไม่ดี เพราะจะทำให้เดือดร้อน ให้มีความประหยัดไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นพนัน ใส่ใจทำมาหากิน อย่าลืมตนและดูถูกดูแคลนผู้อื่น อย่าทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิม มีจิตใจสุขุมมั่นคง คิดให้ดีก่อนทำคบเพื่อนที่ดี จะไม่นำความเดือดร้อนมาสู่ตน มีความรักใคร่ปรองดองกัน อย่าทะเลาะกันเรื่องแบ่งทรัพย์สมบัติ รู้จักแบ่งกันพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง มีความเมตตาปราณี ถนอมน้ำใจกันไว้ จะได้ช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อน ใครจำคำสั่งสอนของพ่อแม่แล้วนำไปปฎิบัติ ก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ประสบผลสำเร็จในชีวิต พบแต่ความสุข เป็นที่รักใคร่ชอบพอของบุคคลทั่วไป เทวดาฟ้าดินก็จะปกปักรักษาคุ้มครอง หากใครไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน และไม่นำไปปฎิบัติก็จะพบภัยพิบัติ เดือดร้อน มีความทุกข์ยาก จนพ่อแม่เดือดร้อน เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อเกียรติยศวงศ์ตระกูล  ดังนั้นเมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ต้องทำให้ท่านสบายกายสบายใจ และเลี้ยงดูท่านเป็นอย่างดี เมื่อท่านเสียชีวิตลงไป ไม่ใช่แต่นำอาหารเซ่นไหว้บูชาดวงวิญญาณ และพากันร้องไห้เสียใจ แต่ต้องปฎิบัติตนเป็นคนดี รักษาศีลภาวนาและทำบุญให้ทาน เพื่อช่วยส่งดวงวิญญาณของท่านไปสู่สรวงสวรรค์
                    ตำนานเนียง ด็อฮ ทบ ราชธิดาขอมผู้ปกครองเมืองภูมิโปนองค์สุดท้าย  มีเรื่องเล่าว่า
                    ที่สระเจียก  ห่างจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๒๐๐ เมตร มีกลุ่มต้นลำเจียกขึ้นเป็นพุ่ม ต้นลำเจียกเหล่านี้ ไม่เคยมีดอกเลย จึงเป็นที่มาของตำนานเรื่องนี้ มีความว่า
                    กษัตริย์ขอมได้สร้างเมืองไว้กลางป่าใหญ่ เป็นเมืองลับสำหรับเป็นที่หลบซ่อนลี้ภัยของราชวงศ์มานานแล้ว ต่อมาอาณาจักรขอมโบราณที่เมืองหลวง เกิดความไม่สงบขึ้น มีศึกสงครามมาประชิดเมือง กษัติรย์จึงส่งราชธิดาพร้อมไพร่พล มาหลบซ่อนอยู่ที่ปราสาทภูมิโปน ที่ได้สร้างไว้นานแล้ว พร้อมไพร่พล ๑๐๑ คน พระนางชื่อศรีจันทร แต่คนทั่วไปเรียกว่า เนียงด็อฮ ทบ หรือพระนางนมใหญ่
                    มีอีกเมืองหนึ่ง อยู่ห่างจากปราสาทภูมิโปน ไม่ทราบชัดว่าเท่าใด เจ้าเมืองได้ส่งพราน ๗ คน พร้อมช้าง ๑ เชือก รอนแรมมาจับสัตว์ป่า และนกนำเอาไปเลี้ยง พรานทั้งเจ็ดได้รอนแรมมาถึงวหนองน้ำของพราน อยู่ทางทิศใต้ของบ้านตาพราม ในปัจจุบัน วันหนึ่งพรานออกล่าสัตว์ไปพบร่องรอยทางคนเดิน จึงคิดตามไปก็พบปราสาท อยู่กลางป่ามีทหารเฝ้าเวรยามอยู่โดยรอบ จึงเข้าไปถามความก็ทราบว่า เป็นที่หลบซ่อนของพระนางศรีจันทร
                    เมื่อพรานได้แอบเห็นพระนางแล้ว ก็พบว่าพระนางมีความงามมาก จึงได้นำความไปกราบทูลเจ้าเมืองของตน เจ้าเมืองทราบเรื่องก็พอใจ สั่งให้เตรียมกองทัพเพื่อเดินทางไปรับพระนางมาเป็นชายา
                    ฝ่ายพระนางศรีจันทร ไม่ทราบว่าพรานได้แอบมาดู คืนนั้นได้ฝันว่าหากต้องการความปลอดภัยก็ขอให้มีคู่ครองเสีย โดยให้ทำกระทงเสี่ยงทายลอยไปตามน้ำ แล้วให้ช่างวาดรูปพระนางใส่ลงไป พร้อมกับเขียนสาส์นแจ้งความไปว่า ใครที่พบกระทงแล้วนำกระทงมายืนยัน พระนางก็จะยอมเป็นภรรยา นอกจากนั้นให้พระนางเอาเส้นผมเจ็ดเส้น ใส่ผอบเครื่องหอมลงไปในกระทงด้วย เมื่อพระนางตื่นขึ้นได้เล่าวความฝันให้พี่เลี้ยง และอำมาตย์ผู้ใหญ่ฟัง ซึ่งต่างก็จัดเตรียมทำตามที่ฝันทุกประการ โดยนำไปลอยที่สระลำเจียกด้านหน้าปราสาท อธิษฐานขอให้พบเนื้อคู่ กระทงก็หมุนไปรอบ ๆ แล้วหายวับไป
                    กล่าวถึงอีกเมืองหนึ่ง เจ้าเมืองชื่อ โฮลมาน มีอานุภาพมาก มีโอรสองค์หนึ่งมีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนทั่วไปของเมืองนี้ คือ รูปร่างใหญ่โต ผิวกายค่อนข้างคล้ำ ริมฝีปากหนา ผมหยิก แต่มีคุณธรรมรักษาสัจจะวาจายิ่งชีวิต วันหนึ่งโอรสลงเล่นน้ำเห็นกระทงในสระน้ำ อยู่คนเดียวก็เอากระทงมาดู เห็นรูปวาดนางในกระทงก็หลงรักในรูปนางทันที ยิ่งเห็นหนังสือเสี่ยงทายก็ยิ่งยินดี และเมื่อเปิดผอบพบเส้นผมของนางก็ยิ่งหลงไหลยิ่งขึ้น เจ้าชายจึงได้เสี่ยงทายเพื่อเดินทางไปยังทิศทางที่ได้มา แล้วก็เหาะไปพร้อมบริวาร จนถึงทิศตะวันตกของบ้านภูมิโปน ก็ได้เห็นหญิงงามเลิศนางหนึ่งอยู่ที่ปราสาท แล้วก็เหาะกลับเมือง
                    เมื่อถึงเมืองแล้วก็กราบทูลให้พระบิดาทราบ แล้วเดินทางไปสู่ขอนางตามประเพณี โดยการดำดินไปเมื่อไปถึงก็ขอให้พระนางเปิดประตูปราสาท แต่พระนางกลัวไม่ยอมเปิด จึงได้ขอร้องให้พระนางแย้มประตู เพื่อมอบสิ่งที่พระนางเสี่ยงทายให้ดู เมื่อพระนางเห็นว่าเป็นกระทงที่เสี่ยงทายจริง จึงยอมเปิดประตูมาพบเจ้าชาย พบว่าเจ้าชายรูปไม่งามก็แอบร้องไห้ เจ้าชายรู้ใจจึงบอกว่า ถ้าพระนางไม่เต็มใจเป็นคู่ครองก็ไม่บังคับ และหากพระนางต้องการสิ่งใดก็จะสร้างให้
                    หลังจากนั้น เจ้าชายก็สร้างหลายสิ่งหลายอย่างให้พระนาง เช่น สร้างรมณียสถานด้านทิศตะวันออกของปราสาท ที่มีสระสลับซับซ้อนใหญ่โตกินพื้นที่หลายร้อยไร่ มีสระน้ำขนาดเล็กใหญ่ เรียงรายกันถึงห้าสระ สระน้ำบางสระสร้างภายในสระน้ำอีกสระหนึ่ง เช่น สระกนาล อยู่ภายในสระตา สระตราว สร้างต่อจากสระตา ไปทางทิศเหนือใช้คันดินร่วมกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่าสองเท่า ต่อจากสระตราว ไปทางทิศเหนือ มีสระขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนสระทั้งหมด มีความยาวเกือบ ๑ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๓๕๐ เมตร  สระลูกนี้อยู่ในซีกตะวันออก มีป่าอยู่กลางสระน้ำ ในหน้าฝนจะมีน้ำล้อมรอบป่ากลางสระดูสวยงามร่มรื่น เจ้าชายได้ช่วยเสริมสร้างกำแพงเมืองให้มั่นคง และช่วยสร้างระบบชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ประชาชนได้ใช้สอย และทำเกษตร
                    เมื่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เสร็จแล้วก่อนอำลาจากพระนาง เจ้าชายก็ได้สร้างกลองชัย เป็นกลองขนาดใหญ่ ทำขาหยั่งตั้งไว้ข้างปราสาท โดยบอกพระนางว่า กลองใบนี้จะตีก็ด้วยเหตุ เมื่อเกิดศึกสงคราม เมื่อพระนางตี เจ้าชายจะมาช่วยทันที หรือเมื่อพระนางไม่สบายก็เช่นกัน และห้ามตีกลองโดยไม่เหตุเป็นอันขาด
                    กล่าวถึงบุญจันทร  นายทหารคนสนิทที่ติดตามพระนางมา ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพระนาง ตามที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าเมือง ได้แอบหลงรักพระนาง เขาได้สร้างทางทิศเหนือเพื่อบูชาแด่พระศิวะ หลังจากที่ช่วยสร้างปราสาทองค์ประธาน สำหรับพระนางเสร็จ
                    วันหนึ่งบุญจันทร  อยากได้ยินเสียงกลองที่เจ้าชายโฮลมานสร้างไว้ และเมื่อตีกลองแล้ว เจ้าชายจะมาช่วยได้หรือไม่ จึงขอร้องให้พระนางลองตีดู แต่พระนางก็บ่ายเบี่ยงมาตลอด แต่ในที่สุดพระนางก็ยอมให้บุญจันทรตีกลองตามที่ต้องการเป็นการประชด ทันใดที่เสียงกลองดังขึ้น เจ้าชายโฮลมาน และไพร่พลจำนวนมากก็มาปรากฎตัวหน้าปราสาท และถามพระนางถึงสาเหตุ พระนางก็เล่าให้ทราบตามความเป็นจริง เจ้าชายก็บอกว่าการตีกลองครั้งนี้เป็นการทำลายกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ฉะนั้นพันธสัญญาใด ๆ ที่มีไว้ต่อกันถือว่าสิ้นสุดลง แล้วก็ลาพระนางกลับไป
                    กล่าวถึงเมืองที่ส่งพรานไปล่าสัตว์ เมื่อเจ้าเมืองทราบข่าวจากพรานถึงการพบหญิงงามกลางป่า ก็สนพระทัยจึงให้จัดทัพเพื่อไปรับนางมาเป็นชายา โดยทัพหน้าเข้ามาล้อมภูมิโปนทางทิศตะวันตก ทัพหลวงตีเข้าเมืองได้ ทัพหลังเฝ้าระวังอยู่ที่บ้านตาแตรทับดัด พระนางและไพร่พลได้หนีไปซ่อนตัวอยู่ในปราสาท เจ้าเมืองจึงให้ยิงประตูปราสาท แต่ออกอุบายไม่ให้ถูกพระนาง แต่พระนางแอบรู้อุบายนั้น จึงเอาตัวพระนางมาอยู่ยังจุดที่เจ้าเมืองให้ยิงเข้าไป ประตูปราสาทพังลง
พร้อมทับหลัง  เศษหินและลูกกระสุนถูกแขนซ้ายของพระนางหักและสลบไป เจ้าเมืองนำพระนางออกมาให้หมอหลวงรักษาจนปลอดภัย แล้วจัดให้มีงานฉลองเรียกขวัญ แล้วนำพระนางไปยังเมืองของพระองค์
                    พระนางจำต้องจากภูมิโปนไปด้วยความจำใจ จึงขอไปสรงน้ำที่สระลำเจียก และได้ปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่ง อธิษฐานว่า ขอให้ออกดอกหากพระนาง ได้กลับมาภูมิโปนอีก แต่หากไม่ได้กลับก็ขออย่าให้มีดอกอีกเลย
                    ในการเดินทัพกลับไปเมือง ได้เดินทัพกลับทางบ้านศรีจรูด (ซีจรูด แปลว่า กินหมู)  ได้พักทัพที่นั่น และฆ่าหมูกินกัน ทัพหลังตามมาทันที่บ้านทัพทัน แล้วเดินทางต่อถึงบ้านลำดวน พักนอนที่นั่น มีการเลี้ยงฉลอง รำไปล้มไปเป็นที่ครื้นเครง รำล้ม คือเรือนดุล อันเป็นชื่ออำเภอลำดวนในปัจจุบัน
                    ตำนานปราสาทสังข์ศิลป์ชัย  มีเรื่องเล่าว่า ณ เมืองหมื่นชัย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของปราสาทหมื่นชัย ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ เมื่อก่อนมีกษัตริย์ทรงพระนามว่า กษัตริย์หมื่นชัย น้องของมเหสีถูกยักษ์จากเมืองกุสินารามาลักตัวไป โดยปลอมเป็นหนุ่มรูปงามลักพานางข้ามภูเขาพนมดงรักไปฝั่งเขมร  ฝ่ายมเหสีประสูติโอรส พร้อมกับถือคันธนูออกมาเป็นที่อัศจรรย์ โหรจึงตั้งชื่อให้ว่า สังข์ศิลป์ชัยส่วนมเหสีอีกองค์หนึ่งประสูติโอรสเป็นหอยสังข์ มีความอับอายจึงเอาไปซ่อนไว้ที่กอกล้วย
                    วันหนึ่ง สังข์ศิลป์ชัยออกไปวิ่งเล่น ได้ยิงธนูออกไปเป็นไฟ โอรสที่อยู่ในหอยสังข์เห็นพี่ชายยิงธนูออกไปเป็นไฟ ก็ออกมาจากหอยสังข์ แล้วพ่นน้ำไปบนท้องฟ้า ทำให้ไฟจากธนูดับหมด  สังข์ศิลป์ชัยก็ยิงธนูให้เป็นฝนห่าใหญ่ น้องชายก็เป่าเป็นลมพายุพัดเอาห่าฝนไปตกที่อื่น ทั้งสองเล่นแสดงฤทธิ์กันเป็นที่สนุกสนาน ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ
                    กษัตริย์หมื่นชัยได้เห็นฤทธิ์ของลูกทั้งสองแล้วจึงเรียกไปพบแล้วบอกให้ไปตามน้าสาวที่ถูกยักษ์ลักพาตัวไป ถ้าน้าสาวไม่กลับมา ก็ให้เอาหัวกลับมาให้ได้
                    สองพี่น้องเดินทางไปถึงเมืองกุสินารา และนำน้าสาวกลับมาได้  พอข้ามภูเขาพนมดงรัก ยักษ์ก็ตามมาทัน ได้สู้กันด้วยฤทธิ์เกือบทั้งวันไม่มีใตรแพ้ใครชนะ น้าสาวซึ่งรู้ความลับของยักษ์จึงบอกว่าขจัดยักษ์โดยให้ยิงธนูไปยังต้นตอที่ทำให้ยักษ์เพิ่มจำนวนคือ ที่ใต้บาดาลซึ่งมีพิธีคุ้มกระทะกวนวิญญาณยักษ์ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น  หากยิงกระทะแตก ยักษ์ก็เพิ่มจำนวนไม่ได้ ด้วยวิธีดังกล่าวจึงปราบยักษ์ได้ จากนั้นก็เดินทางมาพักที่บ้านโคกโพน พบเด็กเลี้ยงวัวสองคน ซึ่งที่จริงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ไม่รู้จักกัน ทั้งสี่คนเล่นตีคลีพนันกัน โดยเอาห่อข้าวเป็นเดิมพัน สังข์ศิลป์ชัยเล่นคลีชนะทุกครั้ง ต่อจากนั้นก็พาน้าสาวไปที่ปราสาทหมื่นชัย พบพระบิดา และพระมารดา
                    อยู่มาวันหนึ่งมีข่าวว่ายักษ์จะตามมาเอาน้าสาวคืน สังข์ศิลป์ชัยและหอยสังข์จึงดำดินไปโผล่ที่บ้านมะโน แล้วเดินทางต่อไปที่บ้านโคกเมือง เพื่อขับไล่ยักษ์  เมื่อยักษ์หนีข้ามเขาดงรักกลับไปแล้ว ทั้งสองได้ไปเล่นน้ำที่ห้วยสิงห์ ช่วยกันปั้นรูปสิงห์เล่น  หลังจากนั้น ทั้งสองก็ได้มาสร้างปราสาทขึ้นใหม่ที่บ้านจารย์ เรียกว่า ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย มาจนปัจจุบัน
                    ตำนานปราสาทนางบัวตูม  ปราสาทนางบัวตูมเป็นที่อาศัยของฤาษีตนหนึ่ง วันหนึ่ง ฤาษีไปสรงน้ำในสระน้ำที่อยู่ทางทิศใต้ของปราสาท และได้เก็บดอกบัวมาบูชาพระ ได้พบทารกคนหนึ่งนอนอยู่ในดอกบัว จึงนำมาเลี้ยงไว้ ให้ชื่อว่า บัวตูม  เมื่อทารกเจริญวัยเป็นสาว ต้องการมีคู่ครอง จึงได้เก็บดอกลำดวนมาเสี่ยงทายที่ริมแม่น้ำมูล ดอกลำดวนได้ลอยทวนน้ำไปทางเมืองพิมาย ซึ่งมีท้าวโสวัฒน์เป็นเจ้าเมือง ท้าวโสวัฒน์เห็นดอกลำดวนลอยน้ำมาจึงเก็บมาดู เกิดเป็นนิมิต และต้องการพบคู่ครองที่เสี่ยงทายมา จึงขี่ม้าตามหาคู่ครองมาจนถึงบ้านปราสาท ได้พบนางบัวตูมกำลังลงไปตักน้ำ นางบัวตูมเห็นเข้าก็ตกใจ วิ่งหนีเข้าไปในปราสาท ท้าวโสวัฒน์ก็ตามนางไป เมื่อฤาษีกลับมา ทั้งสองก็แจ้งเรื่องให้ทราบและขอขมาจากฤาษี
                    หลังจากนั้นท้าวโสวัฒน์ก็พานางบัวตูมไปเยี่ยมเมืองพิมาย จึงขอฤาษีเดินทางกลับ  ระหว่างทางได้พบพรานเจตบุตร พรานเห็นนางบัวตูมสวยงามก็เกิดความรัก จึงฆ่าท้าวโสวัฒน์และได้นางบัวตูมมาเป็นภรรยา จากนั้นได้พานางไปที่บ้านบัลลังก์ อำเภอท่าตูม แล้วพักนอน ณ ที่นั้น ขณะที่พรานเผลอ นางก็ได้ฆ่าพราน แล้วแอบหนีไปอยู่บนต้นไม้ริมฝั่งแม่น้ำมูล ขณะนั้นมีพ่อค้าเรือมาจอดเรือพักอยู่ ลูกเรือขึ้นฝั่งพบนางบัวตูมจึงพานางไปให้นายเรือ แต่นางบอกว่าตนกำลังตั้งครรภ์ เมื่อคลอดบุตรแล้วจึงจะอยู่ด้วย บรรดาลูกเรือพากันดีใจดื่มเหล้าเลี้ยงฉลองจนเมาหลับไป นางบัวตูมจึงแอบหนีไป
                    ฝ่ายฤาษีเกิดสังหรณ์ใจจึงออกเดินทางติดตามนางบัวตูม และท้าวโสวัฒน์มา พบท้าวโสวัฒน์นอนสิ้นพระชนม์อยู่จึงชุบชีวิตให้ฟื้นคืนมา จากนั้นได้ติดตามหานางบัวตูมไปถึงบ้านกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ที่เมืองนี้มียักษ์อาศัยอยู่ ท้าวโสวัฒน์ได้พบม้าของพระองค์ที่ยักษ์นำมาขังไว้ จึงให้นางศุภลักษณ์ลูกสาวยักษ์ช่วยนำม้าออกมาแล้วเหาะหนีไป พบยักษ์ระหว่างทางได้ต่อสู้กันท้าวโสวัฒน์ขี่ม้าหนีไป นางศุภลักษณ์วิ่งตามท้าวโสวัฒน์มาถึงแม่น้ำ แต่ข้ามไม่ได้จึงเกาะขอนไม้ที่ลอยผ่านมา จนนางบัวตูมพายเรือมาเห็นเข้า จึงช่วยนางศุภลักษณ์ไว้ เมื่อได้ไต่ถามความกันแล้ว จึงรู้ว่ามีสามีคนเดียวกัน จึงช่วยกันออกตามหาท้าวโสวัฒน์
                    ขณะนั้นนางบัวตุมเจ็บครรภ์ และคลอดลูกเป็นชาย แต่ด้วยเหตุที่นางได้ฆ่าพรานเจตบุตรตาย พรานเจตบุตรจึงกลายเป็นงู ตามฆ่านางบัวตูมตาย หลังจากคลอดบุตรได้สามวัน นางศุภลักษณ์จึงได้เลี้ยงดูบุตรของนางบัวตูมแทน ต่อมานางศุภลักษณ์ก็ได้คลอดบุตรเป็นชายเช่นกัน นางจึงได้พาบุตรทั้งสองออกตามหาท้าวโสวัฒน์ พร้อมกับนำกระดูกของนางบัวตูมไปด้วย
                    วันหนึ่งขณะที่เด็กทั้งสองเล่นกันอยู่ ก็ไปพบม้าของท้าวโสวัฒน์จึงพากันไปขี่เล่น ท้าวโสวัฒน์ก็ออกตามหาม้า พบว่าอยู่กับเด็กทั้งสอง เกิดการโต้เถียงกันและต่อสู้กัน เด็กทั้งสองใช้ธนูยิงใส่ท้าวโสวัฒน์ แต่ปรากฎว่าลูกธนูที่ยิงออกไปกลายเป็นธนูเทียน และเมื่อท้าวโสวัฒน์ยิงธนูออกไปบ้าง ลูกธนูก็กลายเป็นขนมเด็กทั้งสองจึงเอาไปกิน ท้าวโสวัฒน์เห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงไต่ถามความ จึงทราบว่าเด็กทั้งสองเป็นลูกของตนก็ดีใจ แล้วพากันไปหาแม่ เมื่อพบแล้วจึงพากันไปหาฤาษีที่ปราสาท ฤาษีได้ชุบชีวิตนางบัวตูมขึ้นมาใหม่ แล้วทั้งหมดก็อาศัยอยู่ที่ปราสาทหลังนั้นอย่างมีความสุข
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |