| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

การละเล่นพื้นบ้าน นาฎศิลป์และดนตรี
            การละเล่นของเด็ก  ส่วนใหญ่เป็นการเล่นของไทย ในภาคอีสาน และภาคอื่น ๆ ของไทย พอประมวลได้คือ การเล่นใบคุม (บายคม)  การเล่นกระโดดเชือกคนเดียว การเล่นซ่อนหา แบบโป้งแปะ การเล่นซ่อนหาแบบมีเมฆ การเล่นดีดลูกแต้ การเล่นโยนกอด การเล่นจักกะสาร หรือรีรีข้าวสาร การเล่นว่าว การเล่นดีดเม็ดมะขาม การเล่นแม่เจ้าเมือง การเล่นปืนกาบกล้วย การเล่นปืนไม้ไผ่ (กำพล็อฮ)
            การละเล่นของผู้ใหญ่  การละเล่นของผู้ใหญ่ของชาวจังหวัดสุรินทร์ สามารถจำแนกออกเป็นการละเล่นประเภทดนตรี และการแสดง ประกอบด้วย
                การละเล่นรื่นเริงในงานมงคล  เช่น งานฉลองบุญ งานกฐินผ้าป่า งานเทศกาล ได้แก่ กันตรึม เรือนอันเร กะโนบติงตองนอรแกวปางนา ลิเกเขมร หนังตะลุง มโหรีปี่พาทย์ รำมะนา เจรียง ชันดุจ อันซอง สะแนวนบ และหมอลำ เป็นต้น

                    กันตรึม  เป็นการละเล่นที่มีมานาน แรกเริ่มนิยมเล่นประกอบพิธีกรรม เรียกว่า เล่นเพลงอารักษ์ รักษาคนไข้ โดยมีความเชื่อว่าผู้ป่วยประพฤติผิด เป็นเหตุให้เทวดาอารักษ์ลงโทษ การรักษาโดยการใช้เครื่องดนตรีกันตรึมประกอบในพิธีกรรมดังกล่าวยังนิยมมาถึงทุกวันนี้
                    เครื่องดนตรีประกอบด้วยปี่อ้อ ๑ เลา ซอกลาง ๑ คัน กลองโทน ๑ ใบ ฉิ่ง ฉาบ กรับ อย่างละคู่ และการร้องประกอบเพลงในทำนองต่าง ๆ ร่วม ๒๐๐ ทำนองเพลง
                    ต่อมาได้นำมาบรรเลงในพิธีแต่งงาน เป็นเพลงกล่อมหอของคู่บ่าวสาว และได้พัฒนาเป็นกันตรึมประยุกต์ตามสมัยนิยม
                    คำว่า เจรียง หรือ จำเรียง เป็นภาษาเขมร แปลว่า ร้อง  เป็นการขับร้องเป็นกลอนสด ผู้ร้องใช้ปฏิภาณไหวพริบของตน ในการบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีเป่า ประกอบการเจรียง เรียกว่า เจรียงเบริน ถ้าใช้ซอบรรเลงประกอบ เรียกว่า เจรียงตรัว ถ้าใช้แป็ย หรือ กระจับปี่ บรรเลงประกอบ เรียกว่า เจรียงจแป็ย
                   มโหรี  เป็นวงดนตรีพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ ใช้บรรเลงในขบวนแห่ในงานต่าง ๆ  เครื่องดนตรีประกอบด้วยซออู้ ซอกลางหรือซอกันตรึม ซอด้วง ปี่ไฉน กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ใช้บรรเลงโหมโรง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา และงานทั่วไป มีเพลงเบ็ดเตล็ดสนุกสนาน จะมีการร้องประกอบด้วยก็ได้
                การละเล่นในงานอวมงคล  งานศพของชาวสุรินทร์สำหรับผู้ที่มีฐานะดีมักจะนำดนตรีมาบรรเลงในงาน เรียกว่า ตุ้ม - โมง ตกกลางคืน หนุ่มสาวจะมารวมกันเล่นกาก์ ผู้ที่แพ้การเสี่ยงทาย จะถูกลงโทษ โดยการเขกแล้วแต่จะตกลงกัน นอกจากนี้ยังมีวงปี่พาทย์ และมโหรีบรรเลงด้วย
                การละเล่นเกมการแข่งขัน  มีอยู่มากอย่างด้วยกัน ได้แก่ สะบ้า บายคม ว่าว ชนไก่หรือตีไก่ โซง กาก์ การละเล่นดังกล่าวปัจจุบันไม่นิยมเล่นกัน
                    อังกญจ์ (สะบ้า)  นิยมเล่นในที่ร่ม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ไม่จำกัดตัวผู้เล่นแล้วแต่จะตกลงกัน ก่อนการแข่งขัน จะมีการเสี่ยงทายว่าฝ่ายใดจะเริ่มโยนก่อน ทีมที่ชนะคือ ฝ่ายที่เหลือลูกสะบ้าในแถวที่คู่แข่ง ไม่สามารถทำลูกสะบ้าให้ล้มได้หมด
                    โซง  เป็นการละเล่นของหนุ่มสาวในเทศกาลสงกรานต์ ผู้เล่นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น การเล่นจะใช้ผ้าขาวม้ามัดเป็นก้อนให้แน่น สำหรับใช้โยน เรียกว่า ลูกโซง ให้ฝ่ายตรงข้ามรับ ถ้ารับไม่ได้จะถูกปรับให้มาอยู่ในฝ่ายโยน และต้องพยายามแย่งรับลูกโซงให้ได้ เพื่อจะได้กลับไปอยู่ฝ่ายเดิมของตน  ถ้ารับไม่ได้ เมื่อจบการแข่งขันแล้ว จะถูกลงโทษด้วยการปรับตามแต่ตกลงกัน หลังจากนั้นจะนำจัตุปัจจัยไปถวายวัด
            นาฏศิลป์และดนตรี  เพลง - ดนตรี และการละเล่นพื้นบ้านของชาวจังหวัดสุรินทร์มีแบบอย่างของตนเองโดยเฉพาะ มีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนว่า ชาวจังหวัดสุรินทร์เคยมีอารยธรรมสูงส่งมาก่อนนับพันปี
                เพลง  นอกจากแสดงอัจฉริยะรวมทั้งการใช้ภาษาเขมรชั้นสูงเป็นบทวรรณคดีแบบในราชสำนักแล้ว สาระในเนื้อเพลงเป็นสิ่งสำคัญ แสดงอัจริยะที่โดดเด่นกว่าใครในภูมิภาคนี้ กล่าวคือ แบ่งประเภทเพลงให้สอดคล้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ  ปลูกฝังค่านิยมการดำรงชีวิตแก่ชนรุ่นหลัง

                ดนตรี  ชาวสุรินทร์มีดนตรีที่หลากหลาย เช่น กันตรึม มโหรีพื้นบ้าน ปี่พาทย์ วงตุ้มโมง
                ความรุ่งเรืองในอดีตก่อนสมัยขอมรุ่งเรืองของคนถิ่นสุรินทร์น่าจะเป็นความจริงเพราะ ชาวสุรินทร์เป็นที่รวมของสังคีตศิลป์ เช่น เจรียงการอังตรุษ เพลงนอรแกว เพลงกันครึม เพลงตกเบ็ด และปร๊อบกาย ฯลฯ
                นาฏศิลป์ได้แก่ เรือมอันเร (รำสาก)  ระบำจะตะล็อก (กรับ) ฯลฯ
                ดุริยางคศิลป์ เช่น การเป่าใบไม้ การเป่าเขาสัตว์ และที่สำคัญคือ พิณน้ำเต้าสายเดียวที่มีวิธีการผลิตเสียงแบบต่าง ๆ  นอกจากนี้ยังมีอังกุ๊ยจ์ (จ๊องหน่อง) และโหวด ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโบราณ ที่เด็กเลี้ยงควายชาวสุรินทร์ประดิษฐ์เอง และเป่าเป็นเพลงเล่นกันทั่วไปคล้ายเครื่องดนตรีของกรีกโบราณ
                เจรียงหรือจำเรียง หมายถึง การขับร้องหรือการออกเสียงเป็นทำนองเสนาะโดยใช้กลอนสดเป็นส่วนใหญ่ ขับร้องเป็นเรื่องราวการเจรียงมีชื่อเรียกต่างกันออกไป ตามเครื่องดนตรีหลักที่ใช้บรรเลงประกอบ เช่น เจรียงจรวง ใช้ปี่เป็นเครื่องดนตรีหลัก เจรียงตรัว ใช้ซอเป็นเครื่องดนตรีหลัก เจรียงเบริน ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีหลัก เจรียงนอรแกว ใช้ตบมือแทนเครื่องดนตรี และร้องรับว่า แกวเอยเอ๊ยนอรแกว เป็นต้น

                    เจรียงนอรแกว  เป็นการเล่นกลอนโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง แต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงร้องนำมีลูกคู่ ร้องตาม ต่อจากนั้นชายหญิงแต่ละฝ่ายจึงร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ คำร้องส่วนใหญ่เป็นคำสุภาพ
                        - วิธีการเล่น  ผู้เล่น ชาย - หญิง  จะเข้าแถวหันหน้าเข้าหากัน เมื่อเริ่มเล่นลูกคู่จะร้องสร้อยเพลงก่อน หนึ่งหรือสองเที่ยวว่า  "แกวเอย เอ๊ย นอรแกว แกวขันเอย "   จากนั้นพ่อเพลงหรือแม่เพลงจึงขึ้นต้นบทร้องโต้ตอบกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งร้องจบ ลูกคู่จะร้องสร้อยเพลงรับเที่ยวหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งจึงร้องตอบ
                        - การแต่งกาย  ฝ่ายหญิงนุ่งผ้าไหมพื้นบ้าน สวมเสื้อแขนยาวหรือแขนสั้น พาดผ้าสไบ คล้องไหล่ทิ้งชายมาด้านหน้า ฝ่ายชายนุ่งโสร่ง สวมเสื้อแขนสั้น หรือแขนยาว มีผ้าขาวม้าคาดเอว

                   เจรียงเบริน  เป็นการร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิง เป็นทำนองลำ โดยใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบการเล่น มีบทร้องแบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ บทร้องสั้นที่ร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย - หญิง  ในแต่ละครั้งซึ่งมีความยาวไม่เกินหกวรรค แล้วเปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่งร้องโต้ตอบเพื่อแก้กลอนกัน ส่วนบทร้องยาวจะเป็นบทร้องที่มีความหมายยาวหลายบท  ในการร้องโต้ตอบแต่ละครั้งไม่จำกัดความยาว ผู้เล่นประกอบด้วยฝ่ายชาย  ๑ คน หญิง ๑ คน หมอแคน ๑ คน  เนื้อร้องทุกบทเป็นคำสอนที่นำมาจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา
                        - การแต่งกาย  ฝ่ายหญิงนุ่งผ้าถุงพื้นบ้านสุรินทร์ สวมเสื้อแขนสั้น หรือแขนยาว มีสไบพาด ชายนุ่งโสร่งมีผ้าคาดเอว สวมเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาว
                        - วิธีการเล่น  ก่อนเริ่มเล่นต้องไหว้ครู เมื่อไหว้ครูเสร็จ หมอแคนจะเป่าแคนนำก่อน แม่เพลงจะฟ้อนประกอบเสียงแคนแล้ว เริ่มโอ โดยเอามือป้องหู (เป็นการฟังเสียงร้องกับเสียงแคนว่า เข้ากันหรือไม่) แล้วเริ่มเจรียงด้วยบทไหว้ครู  ปฎิสัณฐานกับผู้ฟัง และเจรียงเป็นการบอกกล่าวถึงความสำคัญของงานนั้น ๆ ว่ามีการบำเพ็ญกุศล มีอานิสงฆ์อย่างไร มีการยกนิทานอุทาหรณ์ประกอบการเจรียง โดยเจรียงเป็นเชิงกระทู้ ถาม - ตอบ ให้ทำนอง ปุจฉา วิสัชนา
หลังจากนั้นจึงเจรียงทั่ว ๆ ไป

                    เรือม อายัย  เป็นการละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีมานานแล้ว เป็นการโต้กลอนเกี้ยวพาราสี ระหว่างหนุ่มสาวนิยมเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ
                    ผู้เล่นแต่งกายตามสบาย  ถ้าแต่งตามประเพณีพื้นบ้านต้องแต่งกายเหมือนเรือมอันเร ผู้แสดงประกอบด้วยฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ร้องโต้ตอบกันอาจะมี ๔- ๕ คู่ หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับสถานที่แสดง
                    เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบมี กลอง (สก็วล)  ๑ คู่ ปี่อ้อ ๑ เลา ซอด้วง ๑ คัน ฉิ่งฉาบ กรับ ทำนองและจังหวะที่นำมาใช้ประกอบเป็นทำนองเร่งเร้า สนุกสนาน ใช้แสดงในงานเทศกาลต่าง ๆ  ท่ารำไม่มีแบบแผนตายตัว เป็นการฟ้อนรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี และขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้รำ ท่ารำส่วนใหญ่เป็นท่าจีบและแบมือ จึงนิยมเรียกว่า อายัย ลำแบ ในท่าฟ้อนเกี้ยวท่ารำของฝ่ายหญิง จะเป็นท่าคอยปัดป้อง ระวังการถูกเนื้อต้องตัวของฝ่ายชาย ในการตีบทรำ จะตีบทตามเนื้อหาของเพลง
                    วิธีการแสดง ผู้แสดงจะรำไหว้ครูพร้อมกัน หลังจากนั้นจึงเป็นการโต้กลอน ระหว่างชาย - หญิง เป็นคู่ ๆ และมีลูกคู่รองรับ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องจบแต่ละวรรค ดนตรีจะบรรเลงรับ ผู้แสดงทั้งหญิงชายจะรำเกี้ยวกัน ลูกคู่ทั้งหลายจะคอยสนับสนุนให้กำลังใจ ฝ่ายของตน เมื่อดนตรีจบจึงเปลี่ยนคู่ใหม่ออกมาร้องโต้กันใหม่ ในบทและท่ารำที่ตนเองถนัดจนครบทุกคู่ เมื่อจบสุดท้ายร้องบทลาแล้วผู้แสดงจะรำเข้าไปข้างใน

                   วงมโหรีพื้นบ้าน  คือการนำเอาเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย และเครื่องปี่พาทย์บางชิ้นขึ้นมาประสมกัน มีซอเป็นเครื่องดนตรีหลัก  ใช้บรรเลงในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
                    เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบด้วย ซออู้ เสียงกลาง ปี่ใน (ซรัย)  ซออู้ ซอด้วง กลองสองหน้า ฉิ่ง ฉาบ  เพลงที่ใช้ประกอบมีทั้งเพลงขับร้องและเพลงบรรเลง  เพลงขับร้องส่วนมากเป็นบทร้องโดยไม่มีท่ารำประกอบ เช่น บทเพลงกันตบ บทเพลงเขมรเป่าใบไม้ บทเพลงก็อทครู ฯลฯ  ส่วนบทเพลงที่มีท่ารำประกอบเช่น เพลงอมตูก (พายเรือ)  เพลงมลปโดง (ร่มมะพร้าว)  เพลงอายัยโบราณ เพลงซองซาร เป็นต้น  เนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน

                   กะโน้บ ติงต็อง ...กันตรึม..อันเร  แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว เป็นการละเล่นที่เลียนลีลา ท่าทางการเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว มีจังหวะลีลาที่สนุกสนาน เร้าใจ แต่เดิมมีผู้แสดงเพียงสองคน ต่อมามีการเพิ่มเป็นไม่จำกัดจำนวน ขึ้นอยู่กับสถานที่แสดง
                    การแต่งกายเลียนแบบลักษณะสีของตั๊กแตนตำข้าว   ดนตรีที่ใช้ประกอบมี กลองโทน ๒ ใบ ปี่ใน ๑ เลา ซอด้วง ๑ ตัว ซออู้ ๑ ตัว ฉิ่ง ๑ อัน ระยะแรกเนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ต่อมามีทั้งภาษาเขมรและภาษาไทย  แบ่งผู้แสดงออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง สมมติเป็นตั๊กแตนตัวผู้ และตั๊กแตนตัวเมีย
                    ท่ารำเริ่มแรกเป็นบทไหว้ครู  ท่าต่อมาเป็นท่าตั๊กแตนเช็ดปาก หลังกินอาหาร ท่าที่สามเป็นท่าป้องตาดูเหยื่อ ท่าที่สี่เป็นท่าหยอกล้อกัน  ท่าที่ห้าเป็นท่าสะกิดกัน ท่าที่หกเป็นท่าหยอกล้อกัน แล้วเดินเข้าหากัน

                   กันตรึม  เป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมกันมากของชาวจังหวัดสุรินทร์ ใช้ภาษาเขมรขัยร้องถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้าน และการละเล่นพื้นบ้านอื่น ๆ
                    ลักษณะของเพลงกันตรึม เป็นเพลงปฎิภาคคล้ายกับเพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัด ของภาคกลาง มีเครื่องดนตรีหลักคือ กลอง และซอ นอกจากนั้นก็มี ปี่อ้อ ขลุ่ย ฉิ่ง กรับ และฉาบ
                    ปัจจุบันใช้เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงโดยทั่ว ๆ ไป มีการสืบทอดตามแบบการละเล่นพื้นบ้าน การเล่นจะมีผู้ร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ขณะร้องจะรำไปด้วย การรำไม่มีแบบแผนที่แน่นอน คงรำให้เข้ากับจังหวะดนตรีเท่านั้น ใช้ผู้เล่นประมาณ ๖ - ๘ คน  การแต่งกายไม่มีแบบแผน บทเพลงไม่นิยมร้องเป็นเรื่องราว  มักคิดคำกลอนให้เหมาะกับงานที่เล่น เนื้อร้องเป็นภาษาเขมร  เพลงบทหนึ่งมีสี่วรรค แต่ละบทไม่จำกัดความยาว
                    ก่อนเริ่มการแสดงจะต้องมีพิธีไหว้ครู  แล้วเริ่มบรรเลงบทเพลงเป็นการโหมโรง จากนั้นเป็นการขับร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง มีการรำประกอบการร้องไม่ต้องมีลูกคู่ช่วยร้องรับเพลง เนื้อร้องส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตแบบชาวบ้าน และยังแฝงข้อคิดต่าง ๆ ไว้หลายประการที่เป็นสาระประโยชน์
 

                    เรือมอันเร หรือลูดอันเร  เป็นการละเล่นของชาวไทยเขมรในจังหวัดสุรินทร์ นิยมเล่นกันในเดือนห้า ซึ่งถือเป็นวันพักผ่อนประจำปี  เป็นการรำเล่นในวันหยุดสงกรานต์ ชาบ้านจะหยุดทำงานสองช่วง ช่วงแรกหยุดสามวัน ตั้งแต่วันขึ้น หนึ่งค่ำ เดือนห้า ถึงวันขึ้นสามค่ำ เดือนห้า  ช่วงที่สองหยุดเจ็ดวัน ตั้งแต่วันแรม หนึ่งค่ำ ถึงวันแรมเจ็ดค่ำ เดือนห้า
                    ลูดอันเร  เป็นการเรียกชื่อการเล่นเรือมอันเร อีกอย่างหนึ่ง มีท่ากระโดดเต้นเข้ากับจังหวะของสากที่กระทบกัน เรือมแปลว่า รำ ลูด แปลว่ากระโดด หรือเต้น  อันเร แปลว่า สาก  ดังนั้นจึงแปลว่า รำสาก หรือเต้นสาก
                    ผู้แสดงไม่จำกัดจำนวน การฟ้อนรำแต่เดิมฝ่ายหญิง จะรำรอบสากที่กระทบกัน ฝ่ายชายที่ยืนอยู่รอบ ๆ ถ้าใครอยากรำคู่กับฝ่ายหญิงคนไหน ที่พอใจก็เข้าไปโค้งและขอรำคู่ด้วย
                    เครื่องดนตรีทีใช้คือ โทน ๑ คู่ ปี่ใน ๑ เลา ซออู้ ๑ คัน ตะโพน ๑ ใบ  ฉิ่ง ๑ คู่ กรับ ๑ คู่  นอกจากนั้นยังมีสากสองอัน ความยาวประมาณ ๒-๓ เมตร  ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีไม้หมอนสองอัน วางรองหัวท้ายสาก ความยาวประมาณ ๑.๕๐ เมตร สูงประมาณ ๓ - ๔ นิ้ว  บทร้องจะเป็นภาษาพื้นบ้านของแต่ละภาค  ท่ารำส่วนมากเป็นอิสระเป็นท่ารำเกี้ยวพาราสี ฝ่ายชายจะเดินไล่ฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายหญิงจะคอยรำถอย ระวังไม่ให้ฝ่ายชายถูกเนื้อต้องตัว
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |