| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
            พิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ  ความเชื่อเกี่ยวกับคาถาอาคม ของขลัง มนต์ดำ มีอยู่มากในหมู่กลุ่มชนที่พูดภาษาเขมรถิ่นไทย แต่ปัจจุบันได้เสื่อมคลายลงไปมากในชนรุ่นใหม่ คงมีอยู่ในกลุ่มชนที่สูงวัยเท่านั้น

           ไงแซนโฎนตา (วันบูชาปู่ย่าตายาย)  เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำบุญบูชาบรรพบุรุษ มีขึ้นในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ของทุกปี ชาวสุรินทร์ที่พูดภาษาเขมรถิ่นไทย มีความเชื่อว่าในวันดังกล่าว วิญญาณของบรรพบุรุษ ผู้ที่ถึงกาละไปก่อนแล้วจะพากันเดินทางมาเยี่ยมลูกหลาน หรือญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อกินข้าวปลาอาหารหวานคาว เครื่องดื่มต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษเคยชอบเมื่อยังมีชีวิตอยู่
                เมื่อเครื่องเซ่นทุกอย่างพร้อมแล้ว ผู้อาวุโสในพิธีจะถามถึงลูกหลานคนนั้นคนนี้เรียงตามเสียงตอบดังอึงคนึง เมื่อพร้อมหน้าเป็นที่พอใจแล้ว ก็จะเริ่มเซ่น โดยจุดธูปเทียนยกขันห้าไหว้ และเชิญวิญญาณบรรพชนให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ แล้วรินน้ำ ให้ล้างมือ รินเครื่องดื่ม ชี้บอกให้วิญญาณรู้ว่ามีเครื่องเซ่นอะไรบ้าง เสียงเรียกวิญญาณของบรรพชนเซ็งแซ่ต้องพยายามออกชื่อให้มากที่สุด รินเครื่องดื่มให้ครบสามครั้ง พิธีเซ่นใช้เวลาประมาณ ๒๐ - ๓๐ นาที  จากนั้นก็จะรินน้ำให้ล้างมือ ล้างปาก เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งได้จัดไว้ในพิธีแล้ว บอกวิญญาณให้ไปวัด เพื่อฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์รับบุญกุศลต่อไป ผู้อาวุโสในพิธีกล่าวอวยชัย ให้พรลูกหลานที่มาร่วมงาน โดยสมมติเป็นตัวแทนบรรพชน  จากนั้นลูกหลานก็กินเครื่องเซ่นไหว้เป็นที่สนุกสนานร่วมกัน

                จวมกรู  หมายถึง ตัวแทนของผีบรรพบุรุษ ตั้งแต่ทารกแรกเกิด เพื่อมีหน้าที่ดูแลทารกไม่ให้เจ็บป่วย จวมกรูของทารกแต่ละคนจะแตกต่างกัน และใช้วัสดุทำหม่เหมือนกัน นำไปวางบนหิ้งบนหัวนอนถวายบูชาทุกวันพระ หรือเวลาลูกหลานไม่สบาย

                แซนขมอด  เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการเซ่นสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังนึกว่าท่านยังอยู่ คือ เป็นผีอยู่ในบ้านเรือน คอยดูแลให้ลูกหลานมีความสุขความเจริญ
                ก่อนประกอบพิธี จะต้องบอกนัดญาติพี่น้องทางบิดามารดา และเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาร่วมทำพิธีล่วงหน้า ๑ - ๒ วัน นิยมจัดพิธีในเวลาเช้าไม่เกินเก้านาฬิกา ใช้เวลาบวงสรวงไม่เกินห้านาที จากนั้นญาติที่มาร่วมพิธี จะนำด้ายผูกแขนผูกมัดข้อมือของผู้ที่จะประกอบพิธีดังกล่าว แบ่งเครื่องเซ่นอย่างละนิดเอาไปทิ้งหรือฝากให้ผีนำกลับไปกิน แล้วญาติร่วมกินอาหารเป็นเสร็จพิธี
                แซนเนียกตา  คือ การประกอบพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษประจำหมู่บ้านซึ่งทุกหมู่บ้านจะสร้างศาลให้สิงสถิตในบริเวณใกล้ ๆ กับหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ใช้ท่อนไม้หรือปั้นดินเป็นรูปปู่ตาย่ายายแทนตัวท่าน มีพิธีเซ่นสรวงในเดือนสาม เป็นประจำทุกปีโดยทำพิธีในตอนเย็น แต่ละครอบครัวจะนำเครื่องเซ่น ใส่ถาดมารวมกันบริเวณศาลพระภูมิ เสร็จแล้วแบ่งเครื่องเซ่นอย่างละเล็กน้อยไว้บนภาชนะรองรับ เช่น ใบไม้ ใบตอง หรือกระดาษทิ้งไว้ให้ท่าน นำด้ายผูกแขนที่นำมาเรียกขวัญผูกข้อมือ ให้กับลูกหลานที่บ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นเสร็จพิธี
                จับเดิมปูจ  หมายถึง พิธีการลงแรกนาขวัญในการทำนาปักดำ เป็นพิธีกรรมบวงสรวงเจ้าที่เจ้านาหรือผีไร่ผีนา  เป็นการบอกให้ท่านทราบว่าจะเริ่มปักดำ ให้ช่วยดูแลรักษาให้ข้าวเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ ให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล
                บริเวณที่ใช้สร้างร้านแบ่งข้าวพันธุ์บนสี่แยกคันนา และบริเวณที่มุมนาจะต้องมีน้ำขังพอประมาณ ที่จะปักดำข้าวพันธุ์ลักษณะร้านมีเสาหกต้น เสาสูงสี่ต้น เสาเตี้ยสองต้น  นำดินปั้นเป็นรูปทรงคล้ายไข่ไก่ใหญ่พอประมาณวางตั้งบนร้านชั้นบนคู่กับข้าวกล้าสองมัด ด้านข้างของร้านนำจรวย (อุปกรณ์สำหรับเครื่องเซ่น ทำจากไม้ไผ่ลักษณะเหมือนกรวย) และปะกาเซเรา (จักไม้ไผ่เป็นรวงเหมือนรวงข้าวสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร) มาปัก  จัดกล้วย ข้าวต้มมัดใส่ในจรวม  จัดหมากพลู บุหรี่ใส่พาน  ไก่ต้ม ข้าวสวย แกง จัดใส่ถาด วางบนร้านชั้นล่าง จุดธูปเทียน รินน้ำ รินเหล้า รินน้ำส้ม พร้อมบอกกล่าวเชื้อเชิญเจ้าที่เจ้าทุ่ง ผีปู่ตามาชุมนุม จากนั้นนำกล้าบนร้านที่เตรียมไว้ลงปักดำเพื่อเอาฤกษ์
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
            ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ แยกถือปฏิบัติตามความเชื่อและประเพณีประจำกลุ่มชาติพันธุ์ได้แก่เขมร ลาว ส่วย (กุย) ฯลฯ
            ขนบธรรมเนียมประเพณีโดยทั่วไปถือเป็นประเพณีกลาง ๆ ที่ทุกคนทุกกลุ่มร่วมปฏิบัติได้แก่ประเพณีการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
            การเกษตร  ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชีพในการทำนาเป็นงานหลัก จึงมีภูมิปัญญาในการปลูกข้าว และการทำข้าวฟ่าง ในโอกาสที่เกิดภาวะวิกฤต ฝนไม่ตกติดต่อกันหลายปี ทำให้การทำนาไม่ได้ผล จึงได้นำเมล็ดข้าวฟ่างมาหว่านเพื่อเก็บเกี่ยวแทนข้าว
            วิธีการของชาวบ้านในอดีตคือจะถางป่าเป็นบริเวณที่จะหว่านข้าวฟ่าง แล้วใช้ไฟเผาเศษไม้ใบหญ้าจนเตียน จากนั้นนำเมล็ดข้าวฟ่างมาหว่านไว้  พอถึงเดือนหก เดือนสิบ จะไปเกี่ยว นำเมล็ดข้าวฟ่างไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาตำในครกใบใหญ่ แล้วตักใส่กระด้งเพื่อฝัดเอาแกลบและรำออกจากเมล็ดข้าวฟ่าง แล้วนำเมล็ดข้าวฟ่างไปหุงผสมกับข้าวสารเพื่อให้ได้ปริมาณที่มากขึ้น
            ในช่วงประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีการห่อข้าวต้ม ชาวบ้านจะนำเมล็ดข้าวฟ่างคลุกเนื้อมะพร้าว แล้วใช้ใบมะพร้าวอ่อนห่อ จากนั้นนำไปต้มจนสุก ก็จะได้ข้าวต้มที่ทำจากข้าวฟ่างมาบริโภค
            การกินอยู่  มีการทำอาหารจากหัวกลอยหรือเปรียง โดยนำหัวกลอยที่ขุด ได้นำมาปอกเปลือกแล้วฝานเนื้อกลอยเป็นชิ้นบาง ๆ ใส่ไหหมักเกลือไว้หนึ่งคืน แล้วนำเนื้อกลอยที่หมักไว้นั้นออกมาใส่กระบุงไปแช่ในน้ำ แล้วนำมาเหยียบย่ำให้ยางกลอยซึมออกมาให้หมด เพราะยางกลอยกินไปแล้วจะเมา  ทำอยู่เช่นนี้สามวัน เนื้อกลอยจึงจะนุ่ม แล้วนำไปนึ่งจนสุกนำไปบริโภคได้
                การทำขนมจากเศษข้าวที่เหลือ  ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดคุณค่าในการทำอาหาร โดยนำข้าวที่เหลือไปตากแดดให้แห้ง นำไปคั่วในกระทะให้ร้อน แล้วนำมาใส่ครกใหญ่ตำให้ละเอียด จากนั้นนำมะพร้าว น้ำอ้อย หรือน้ำตาล โรยเกลือเล็กน้อย ตำผสมคลุกให้เข้ากัน แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน ๆ เพื่อสะดวกในการบริโภค
                การทำข้าวเม่า  เมื่อข้าวเหนียวออกรวงใหม่ ๆ เลือกข้าวที่ยังไม่แก่จัดมาขูดให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง แล้วนำไปฝัดด้วยกระด้งให้เมล็ดลีบปลิวออกไป แล้วนำไปคั่วในกระทะให้สุก จากนั้นนำไปเทในครกใหญ่สำหรับตำข้าวเปลือก แล้วตำให้ละเอียดพอประมาณ แล้วตักมาฝัดด้วยกระด้งเพื่อให้แกลบและรำปลิวออกไป
                นำข้าวเม่าที่ฝัดแล้วมาตำอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำไปฝัดอีกครั้ง ในช่วงนี้จะได้ข้าวเม่าที่มีกลิ่นหอม  ผู้ที่ชอบรสหวานก็จะคลุกเนื้อมะพร้าว หรือคั้นเอาแต่กระทิใส่ลงไปในข้าวเม่า ผสมด้วยน้ำอ้อย หรือน้ำตาล แล้วโรยเกลือเล็กน้อย ก็จะได้อาหารที่มีรสอร่อย
            กลวิธีพื้นบ้าน  มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน พอประมวลได้ดังนี้
                การทำปูนขาวเคี้ยวกับหมากและพลู   เตรียมเปลือกหอยล้างให้สะอาด ขุดหลุมกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ลึก ๒๕ เซนติเมตร เจาะรูข้างปากหลุมเพื่อเติมลม ใช้เสื่อวางปิดใช้ดินโรยปิดไม่ให้มีช่องลมออกด้านบน ให้ลมเข้าไปในปากรูที่เจาะเอาไว้เท่านั้น บนปากหลุมใช้ฟืนจากก้านมะพร้าวสด หรือจากต้นสบู่ดำสด ก่อกองไฟบนพื้นที่วางไว้บนปากหลุม แล้วใส่แกลบเข้าไปในกองไฟ นำเปลือกหอยที่เตรียมไว้มาวางบนแกลบ ที่ก่อไฟเอาไว้ นำแกลบกลบเปลือกหอยอีกชี้นหนึ่ง ใช้เวลาในการเผาประมาณ ๑ ชั่วโมง เมื่อแกลบไหม้จนเป็นสีขาว จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเก็บเปลือกหอยที่ไหม้ออกมาวางบนใบตอง หยดน้ำสะอาดใส่แล้วใช้ไม้คน หรือบดให้เปลือกหอยเหลวเข้ากับน้ำที่หยดใส่ ทิ้งไว้ประมาณ ๕ นาที ก็จะกลายเป็นปูนขาว ให้เคี้ยวกับหมากและพลู
                การต้มเหล้าป่า  มีวิธีทำคือ นึ่งข้าวเหนียวให้สุก ตักใส่กระด้งให้เต็ม บดแป้งเหล้าให้เป็นผงละเอียด แล้วโรยบนข้าวเหนียวให้ทั่ว แล้วคลุกให้เข้ากัน นำไปใส่ไหแช่น้ำสะอาด หมักเอาไว้ให้ครบเจ็ดวัน จึงเทน้ำออก แล้วเก็บน้ำหมักไว้อีกสามวัน จึงนำไปต้มได้
                ใส่ข้าวเหนียวที่หมักกับผงแป้งเหล้าในปิ๊บสองใบที่ต่อกันไว้ แล้วนำไปต้ม นำกระทะใส่น้ำสะอาดตั้งบนปากปิ๊บ ระหว่างก้นกระทะปับปากปิ๊บใช้ดินเหนียวพอกปิดไว้ ใต้ก้นกระทะข้างในปิ๊บ จะมีรางรองที่ทำจากปิ๊บเป็นรูปปากกรวยแบน ๆ ต่อใส่รูลำไม้ไผ่ เจาะทะลุออกจากปิ๊บด้วยลำไม้ไผ่ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สำหรับให้น้ำเหล้าที่กลั่นได้หยดออกมา
                ขณะต้มเมื่อน้ำในกระทะร้อน ก้นกระทะจะกลั่นหยดน้ำผสมกับไอร้อนของข้าวเหนียว หมักแป้งเหล้าที่ต้มอยู่กับปิ๊บ หยดลงในรางก้นกระทะเกิดเป็นน้ำเหล้าป่า นำขวดมารองใส่ใต้ปากลำไม้ไผ่ เมื่อเต็มขวดแล้วใช้หญ้าคาม้วนเป็นก้อนกลม อุดปากขวดไม่ให้เหล้าระเหยหรือหก น้ำในกระทะถ้าร้อนจัดต้องตักออกเปลี่ยนเป็นน้ำเย็นเรื่อย ๆ หรือเปลี่ยนทุก ๆ ครั้งที่กลั่นน้ำเหล้าได้สองขวด
                การทำข้าวหมาก  แป้งที่ใช้ทำข้าวหมาก เป็นแป้งที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ มีรสหวาน สูตรการทำแป้งข้าวหมากจะใช้สูตรเดียวกันกับการทำแป้งเหล้า  แต่สูตรการทำข้าวหมากจะใช้สมุนไพรประเภทต้นชะเอม มากกว่าอย่างอื่น เนื่องจากต้นชะเอมมีรสหวาน
                วิธีทำ   นึ่งข้าวเหนียวให้สุก ยกลงให้เย็นสักครู่แล้วใช้น้ำสะอาดล้างข้าวเหนียวให้ยางข้าวออกจนหมด จากนั้นตักใส่กระบุงเพื่อให้น้ำไหลออกให้หมด แล้วนำข้าวเหนียวที่ล้าวแล้วมาใส่หม้อ บดแป้งข้าวหมากให้ละเอียดจนเป็นผง นำมาโรยใส่ข้าวเหนียวในหม้อจนทั่วในสัดส่วน แป้งข้าวหมาก ๑ เม็ด ต่อข้าวเหนียว ๑๐ ถ้วย  แล้วเก็บไว้สามคืน เมื่อครบกำหนดแล้วก็นำมาบริโภคได้
                การทำเหล้าสาโท  วิธีทำ ให้นึ่งข้าวเหนียวให้สุก เทข้าวเหนียวใส่บนกระด้งทิ้งไว้ให้เย็น ใช้น้ำพรมข้าวเหนียวแล้วคลุกแป้งเหล้ากับข้าวเหนียวเข้าด้วยกัน แล้วนำข้าวหนียวใส่ไหในสัดส่วน ข้าวเหนียว ๑ จาน ต่อ ๑ ไห  แป้งเหล้า ๒๕ เม็ด ต่อ ๑ ไห  หมักไว้เจ็ดวัน  เมื่อครบกำหนดแล้วเติมน้ำสะอาด ๑ ครุ ต่อเหล้า ๑ ไห  ในตอนเช้าพอตอนเย็นก็สามารถนำเหล้าสาโทไปดื่มได้
                ถ้าต้องการให้เหล้าสาโทมีรสหวาน ให้เก็บหมักไว้เพียงสองวัน แล้วเติมน้ำ รสชาติเหล้าสาโทจะมีรสหวานชวนดื่ม
                การทำขี้ไต้จุดไฟ  วิธีทำ ขี้ไต้หรือตะบอง  ชาวบ้านจะเลือกต้นเหียงแล้วเจาะให้เป็นรูลึกบริเวณโคนต้น  ปากรูกว้างพอประมาณที่จะตักเอาน้ำยางได้ จากนั้นจะสุมไฟในรู เพื่อให้ความร้อนลนให้น้ำยางไหลออกมา ทิ้งไว้ประมาณสามวัน ชาวบ้านจะหาบครุไปตักน้ำยาง ในช่วงเวลาก่อนเที่ยงวัน เมื่อได้น้ำยางมาแล้วจะใช้ไม้ผุประเภทต้นพอก เอามาตำหรือทุบให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปคลุกกับน้ำยางที่ตักมาได้ ใช้ใบมะพร้าวสดเย็บต่อกัน เป็นแนวยาวจำนวนสิบใบ  ใช้ไม้ไผ่เหลาเล็ก ๆ เสียบกลัดไว้ระหว่างใบ นำขี้ไต้ที่คลุกน้ำยางไว้มาใส่ในใบมะพร้าวที่เตรียมไว้ เมื่อใส่เต็มแล้วก็ห่อให้คลุมทุกด้าน ใช้ตอกที่ทำจากไม้ไผ่มัดขมวดเป็นช่วง ๆ ตามลำของขี้ไต้ความยาวจนสุดใบมะพร้าว ระหว่างปลายของขี้ไต้ทั้งสองข้าง ชาวบ้านจะขยุ้มใบมะพร้าวเข้าหากัน แล้วมัดด้วยตอกไม้ไผ่ให้แน่นที่สุด
                การทำผงขมิ้น  ผงขมิ้นสกัดจากสมุนไพร เป็นเครื่องหอมแทนแป้งหอม นำมาทาตัวให้หอมและยังเป็นยาแก้ผดผื่นคันได้ดี
                วิธีทำผงขมิ้น  นำหัวขมิ้นมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาฝานให้เป็นชิ้นบาง ๆ ตามจำนวนที่ต้องการ นำไปตากแดดให้แห้ง เมื่อแห้งดีแล้วนำมาตำใส่เครื่องหอม เช่น ดอกอ้ม ใบกะซัล ตำให้ละเอียดที่สุดแล้วกรองเอาแต่ผงละเอียด ก็จะได้ผงขมิ้นหอมตามที่ต้องการ
                ชาวบ้านจะเก็บผงขมิ้นหอม โดยใส่ในกระปุกไม้ไผ่มีฝาไม้ไผ่ครอบ เพราะจะเก็บไว้ได้นาน และสะดวกต่อการนำออกมาใช้
                การทำผ้าจากต้นฝ้าย  ต้นฝ้ายจะผลิดอกออกผลในช่วงเดือนหก ชาวบ้านจะเก็บใยฝ้ายที่หุ้มเมล็ดอยู่ เก็บใส่กระบุง แล้วนำไปใส่ไว้ในกระด้ง เพื่อตากแดดให้แห้ง เมื่อแห้งดีแล้วใยฝ้ายจะบานออกจากเมล็ด ดึงใยฝ้ายออกจากเมล็ด นำมาม้วนเป็นก้อนกลม ๆ เท่ากำมือ แล้วเก็บใส่กระบุง จากนั้นจึงนำใยฝ้ายไปปั่นเป็นเส้นด้าย ด้ายที่ปั่นออกมาจะมีสีขาวตามสีของใยฝ้าย
                เมื่อได้เส้นด้ายแล้ว จะนำไปมัดใส่กี่เพื่อทอเป็นผ้า ซึ่งจะออกมาเป็นผ้าสีขาว เมื่อต้องการให้เป็นผ้าสีต่าง ๆ ก็จะนำไปย้อมสีที่ต้องการ เช่น สีกรมท่า  จะใช้เปลือกต้นคัล หรือครม มาย้อม ถ้าต้องการสีเหลืองจะใช้แก่นของต้นแค หรือแคล มาย้อม
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |