| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


จังหวัดตาก

            จังหวัดตาก อยู่ในภาคเหนือค่อนไปทางทิศตะวันตกของประเทศไทย  อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ตามทางหลวงหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) ประมาณ ๔๒๐ กิโลเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๑๖ เมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ เก้าจังหวัด และประเทศพม่า ดังนี้
            ทิศเหนือ  ติดต่อกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
            ทิศตะวันออก  ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย
            ทิศใต้   ติดต่อกับจังหวัดกำแพงเพชร อุทัยธานี นครสวรรค์ และกาญจนบุรี
            ทิศตะวันตก  ติดต่อกับประเทศพม่า โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้นพรมแดน
            จังหวัดตาก มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๔,๐๖๕  ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ ๑๐,๐๕๔,๐๐๐ ไร่
เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของภาคเหนือ รองลงมาจากจังหวัดเชียงใหม่
ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และธรณีวิทยา

            สภาพพื้นที่โดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสูง ที่มีป่าไม้ปกคลุม มีพื้นที่ราบสำหรับการเกษตรน้อย ทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำปิงเป็นทิวเขาถนนธงชัยที่สูง และสลับซับซ้อน จังหวัดตากสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ
                ด้านตะวันตก  ประกอบด้วยห้าอำเภอคือ อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ และอำเภออุ้มผางมีพื้นที่ประมาณ ๑๐,๗๑๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖,๖๙๗,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๖๓ ของพื้นที่จังหวัด ประกอบด้วยภูเขาประมาณร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ ป่าโปร่ง และป่าสน
                ด้านตะวันออก  ประกอบด้วยสามอำเภอ และหนึ่งกิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอบ้านตาก และอำเภอสามเงา และกิ่งอำเภอวังเจ้า มีพื้นที่ประมาณ ๕,๖๙๕ ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ ๓,๕๗๑,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ๓๕ ของพื้นที่จังหวัด ประกอบด้วยภูเขาสูงประมาณร้อยละ ๕๖ ของพื้นที่
            ภูเขาและเทือกเขาสำคัญ  มีอยู่หนึ่งเทือกเขาและสองภูเขา คือ

                เทือกเขาถนนธงชัย  แบ่งภูมิประเทศของจังหวัดตากออกเป็นสองภาคด้วยกันคือ ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก
                เขาหลวง  อยู่ทางด้านตะวันตกของพื้นที่จังหวัด เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยแม่ท้อ
                เขาพะเนิน  เป็นภูเขาเตี้ย ๆ อยู่ในตำบลน้ำงึม อำเภอเมือง ฯ ทางด้านตะวันออกของพื้นที่จังหวัด
            ภูมิอากาศ  เนื่องจากจังหวัดตาก มีสภาพภูมิประเทศแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ตะวันออกและตะวันตก โดยมีเทือกเขาถนนธงชัยแบ่งกลาง ทำให้ลักษณะภูมิอากาศของทั้งสองส่วนนี้แตกต่างกันออกไป เนื่องจากเทือกเขาถนนธงชัยจะเป็นตัวปะทะและกันลมมรสุมตะวัตตกเฉียงใต้ ที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน ทำให้พื้นที่ทางส่วนตะวันออกได้รับความชื้นจากอิทธิพลลมมรสุมดังกล่าวไม่เต็มที่
ในขณะที่ทางส่วนตะวันตกได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมมากกว่า ทำให้ปริมาณน้ำฝนในส่วนตะวันตกมากกว่าส่วนตะวันออก
            ลักษณะทางธรณีวิทยา  บริเวณพื้นที่จังหวัดตาก ประกอบด้วยหินชนิดต่าง ๆ หลายชนิด ดังนี้
                    หินอัคคี  ที่พบมากได้แก่ หินแกรนิต และหินแกรโนไดโอเรต์ พบเป็นบริเวณกว้างทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ตั้งแต่เหนือจรดใต้
                    หินตะกอน  พบส่วนใหญ่บริเวณทิวเขาสูง ทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ ประกอบด้วย หินปูน หินทราย หินดินดาน หินทรายแป้ง หินกรวดมน ส่วนใหญ่จะพบสลับหรือปะปนกันไป และวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ทางด้านทิศใต้ของพื้นที่บริเวณอำเภอแม่ระมาด และอำเภอแม่สอด ลาดลงมาทางแม่น้ำเมย จะพบพวกหินทราย หินดินดาน หินน้ำมัน ลิกไนต์ หินปูน และหินกรวดมน ที่อายุยังน้อย ส่วนบริเวณตอนเหนือของเขื่อนภูมิพลพบหินปูน
                    หินแปร  ส่วนใหญ่พบบริเวณแนวกลางของพื้นที่ได้แก่ หินไนส์ ชัสต์ ฟิลไลต์ หินอ่อน ควอซไซต์ เป็นต้น
ซึ่งเกิดจากการแปรสภาพของหินอัคคี และหินตะกอน
                    ตะกอนลำน้ำทับถม  เป็นพวกอนุภาคทราย ดินเหนียว และกรวด ซึ่งทับถมบริเวณที่ราบลุ่ม ริมลำน้ำเมย ลาดตะพักลำน้ำ และหุบเขา
                ธรณีสัณฐานและต้นกำเนิดดิน  พื้นที่จังหวัดตาก อาจแบ่งลักษณะทางธรณีสัณฐานออกได้เป็นสี่ประเภทด้วยกัน
แต่ละประเภทจะประกอบด้วยวัตถุต้นกำเนิดดินหลายชนิด ซึ่งจะพัฒนาเกิดเป็นดิน ที่มีลักษณะและคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปคือ
                    บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง  เป็นบริเวณที่ราบต่ำเกิดเป็นแนวแคบ ๆ ขนานกับแนวฝั่งของแม่น้ำ และลำห้วยบางสาย เช่น ลำน้ำเมยบริเวณดังกล่าว อาจมีน้ำท่วมทุกปีหรือเป็นบางปี วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นพวกตะกอนลำน้ำใหม่ ดินบริเวณสันดินริมน้ำ มีเนื้อดินปานกลาง ส่วนบริเวณที่ลุ่มต่ำค่อนข้างเป็นดินเหนียว หรือเหนียวจัด
                    บริเวณลานตะพักลำน้ำ หรือผิวพื้นค่อนข้างใหม่  จะพบอยู่สูงกว่าบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงเล็กน้อย บางแห่งมีลักษณะคล้ายเนินตะกอนรูปพัด โดยเฉพาะในหุบแม่สอด ปกติน้ำท่วมไม่ถึง วัตถุต้นกำเนิดดินบริเวณนี้เป็นพวกตะกอนลำน้ำค่อนข้างใหม่ ที่ลำน้ำพัดพามาทับถมไว้เป็นเวลานานพอสมควร เนื้อดินเป็นพวกดินเหนียวบริเวณที่ต่ำในฤดูฝน อาจมีน้ำแช่ขังใช้ทำนาข้าว ส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ
                    บริเวณลาดตะพักลำน้ำเก่า  เป็นบริเวณที่อยู่สูงกว่าพื้นที่ลาดพะพักลำน้ำค่อนข้างใหม่ เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่ม ต่อมาลำน้ำได้กัดเซาะลึกในทางดิ่งมากขึ้น และได้เคลื่อนแนวทางไป ประกอบกับมีการกัดกร่อนดินเป็นร่อง ทำให้เกิดมีลักษณะของสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกันไป วัตถุต้นกำเนิดเป็นพวกตะกอนลำน้ำเก่า มีทั้งที่เป็นเนื้อละเอียด เนื้อหยาบ และที่เป็นก้อนกรวดกลมซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่มากับกระแสน้ำ ดินบริเวณนี้จึงเป็นดินแตกต่างกันไป
เป็นดินที่มีการระบายน้ำดี ผ่านขบวนการสร้างดินมาเป็นเวลานาน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ อยู่ในระดับปานกลาง
                    บริเวณผิวที่เหลือค้างจากการกัดกร่อน  และบริเวณภูเขาสูงชัน พบครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด
วัตถุต้นกำเนิดดินอาจเกิดจากการผุพังสลายตัวของหินบริเวณนั้น  หรืออาจจะเกิดจากหินที่เคลื่อนจากที่สูงมาสู่ที่ต่ำ โดยแรงโน้มถ่วงของโลก แล้วผุพังสลายตัว เนื่องจากบริเวณพื้นที่จังหวัดตากมีหินอยู่หลายชนิด ลักษณะและคุณสมบัติของดิน จึงแตกต่างกันออกไป เช่น หินทรายก็จะให้เนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย และมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หินดินดานจะสลายตัวให้ดินมีเนื้อละเอียด เป็นต้น
                อุทกวิทยา  พื้นที่ภูเขาต่าง ๆ มีปริมาณน้ำอยู่ค่อนข้างจำกัด โดยกักเก็บน้ำอยู่ตามรอยแตกรอยแยก ช่องว่าง แนวชั้นหินแนวที่เกิดการผุพัง หรือรอยต่อระหว่างหินข้างเดียวเป็นหลัก ในพื้นที่ศึกษานี้หินร่วนมีอยู่เป็นบริเวณแคบ ๆ และชั้นหินให้น้ำที่สำคัญบริเวณหินตะกอนร่วนในชั้นหินที่ทับถมอยู่ตามริมแม่น้ำลำธาร
พบบ่อบาดาลและบ่อขุดอยู่ตามบริเวณที่ราบริมแม่น้ำ และตะพักลำน้ำทั่ว ๆ ไป โดยมีความหนาของตะกอนร่วมประมาณ ๓๐ - ๕๐ เมตร และมีอัตราการให้น้ำ ๕ - ๑๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
                พื้นที่ศึกษาบางส่วนในลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มแอ่งน้ำบาดาลอาจจำแนกตามหน่วยอุทกวิทยา ที่ครอบคลุมหน่วยชั้นน้ำใหญ่ ๆ หรือหลาย ๆ ชั้นน้ำต่อเนื่องกัน ลุ่มน้ำแหล่งนี้อาจมีการทับซ้อนกันได้ดี หรือไม่อาจทับซ้อนกันกับหน่วยทางภูมิศาสตร์กายภาพก็ได้ ในบริเวณหุบเขาระหว่างหุบเขา แอ่งน้ำใต้ดิน อาจมีค่าแตกต่างกันออกไป
                ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำสาละวิน ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน โดยมีเขาสูงที่เป็นสันแบ่งลุ่มน้ำออกจากกัน ลุ่มน้ำนี้ประกอบด้วยหินชนิดต่าง ๆ กันทั้งอายุและประวัติโครงสร้าง ชนิดของชั้นหินให้น้ำ และลักษณะการให้น้ำของชั้นหิน ในลุ่มน้ำที่ศึกษาในพื้นที่จังหวัดตาก มีดังนี้
                    ชั้นน้ำแม่สอด  ปรากฎอยู่เป็นแนวแคบ ๆ ตามแนวชายแดนในแนวเหนือใต้ ระหว่างอำเภอแม่สอดขึ้นไปทางเหนือ สู่อำเภอแม่ระมาด ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแอ่งชั้นน้ำ ประกอบด้วยหินกึ่งแข็งตัวที่เกิดในแอ่งน้ำ และตะกอนน้ำพาในช่วงชั้นบน ในส่วนล่างประกอบด้วยหินปูนน้ำจืด มารัล หินพวกบอเนต จนถึงดินดานที่มีน้ำมัน หินโคลน หินลิกไนต์ และหินทราย ชั้นหินให้น้ำมีการให้น้ำในอัตราที่ต่ำ
                    ชั้นน้ำโคราช  เกิดในยุคจูแรสซิก ปรากฎอยู่เป็นบริเวณแคบ ๆ ในบริเวณลุ่มน้ำประกอบด้วย หินดินดานสีแดง สีน้ำตาลแดง หรือสีหลากหลาย และหินทราย หมวดหินภูกระดึง ที่มีเนื้อนุ่มถูกอัดแน่น มีการเรียงตัวของแผ่นแร่พวกไมก้า น้ำบาดาลในโครงสร้างที่ซับซ้อนตามแนวแตกในหินดินดานที่ผุพัง และหินทรายที่มีลักษณะแบนที่ความลึกไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร
                    ชั้นน้ำหินปูน  ประกอบด้วยหินปูนของกลุ่มหินราชบุรี และหินกลุ่มหินทุ่งสง พบบริเวณแนวสันในเกือบทุกส่วนในลุ่มน้ำ น้ำบาดาลที่พบส่วนใหญ่อยู่ในช่องว่าง แนวหินสัมผัสระหว่างหินปูน และหินดินดานที่แทรกอยู่และในบางครั้งในแนวรอยเลื่อน
                    ชั้นหินให้น้ำของหินที่แปรมาจากหินตะกอน  ปรากฎทางด้านเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกของลุ่มน้ำสาละวิน หินเหล่านี้ประกอบด้วย ชั้นน้ำในหินตะกอนของกลุ่มหินราชบุรี และแก่งกระจานที่มีหินทรายควอร์ต หินทราย เฟลด์สปาร์ หินชนวน หินดินดาน และเกรย์แวก เป็นส่วนใหญ่ ชั้นหินเถ้าภูเขาไฟ และหินตะกอนที่เกาะแข็งตัว เกิดการสลับพบอยู่เป็นบางบริเวณ น้ำบาดาลพบได้ตามรอยแตกรอยแยกเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปมีโครงสร้างซับซ้อน แต่ไม่ค่อยมีความต่อเนื่องกัน
                    ชั้นน้ำในหินแปร  ประกอบด้วยหินแกรนิต หินแกรโมไดโอไรต์ หินไรโอไรต์ และหินผสมของหินที่เย็นตัวใต้ผิวโลก และหินไนส์ น้ำบาดาลส่วนใหญ่ได้จากระบบรอยแยก แนวที่มีการผุพัง
                สภาพแหล่งน้ำบาดาล  แหล่งน้ำบาดาลในลุ่มแม่น้ำปิงที่สำคัญ แบ่งออกได้เป็นสองแหล่งคือ แหล่งน้ำบาดาลในแอ่งเชียงใหม่ และแหล่งน้ำบาดาลในที่ราบลุ่มน้ำปิงตอนล่าง จากจังหวัดกำแพงเพชรถึงจังหวัดนครสวรรค์ คลุมบริเวณตั้งแต่ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำปิงจากจังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชรและบางบริเวณของจังหวัดนครสวรรค์ แบ่งออกได้เป็นสามชนิดใหญ่ ๆ คือ ชั้นน้ำในกรวดทรายลุ่มน้ำ (ชั้นน้ำเจ้าพระยา) ชั้นบริเวณของตะพักใหญ่ (ชั้นน้ำเชียงราย) และชั้นน้ำในบริเวณตะพักเก่า (ชั้นน้ำเชียงใหม่)
            ชั้นน้ำในกรวดทรายลุ่มน้ำนับเป็นชั้นน้ำบาดาลที่มีศักยภาพสูง
ทรัพยากรธรรมชาติ
            ทรัพยากรลุ่มน้ำ และแหล่งน้ำ  มีทางน้ำธรรมชาติที่สำคัญอยู่หลายสายด้วยกันคือ
                แม่น้ำเมย  เป็นลำน้ำใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดปี โดยมีแนวการไหลของน้ำจากทิศใต้ขึ้นสู่ทิศเหนือ แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน โดยมีห้วยวาเลย์ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเมย ทางตอนใต้ของอำเภอพบพระ ลำน้ำน้ำทั้งสองเป็นแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ทางทิศตะวันตกอันเป็นแนวสุดเขต จังหวัดตาก ทางด้านตะวันตก และบางส่วนในด้านทิศใต้ ต้นน้ำอยู่ในประเทศพม่า ไหลผ่านอำเภอพบพระ อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง มีความยาวประมาณ ๘๕๐ กิโลเมตร
                ในฤดูแล้งน้ำจะน้อยและอยู่ต่ำกว่าฝั่งแม่น้ำมาก ส่วนในฤดูฝนจะเกิดน้ำท่วมในบางแห่ง ลำน้ำนี้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ระหว่างสองประเทศ มีลำน้ำสาขาย่อยไหลมาบรรจบเป็นจำนวนมาก ทำให้มีน้ำไหลตลอดปี
                ห้วยวาเลย์  อยู่ทางตอนใต้ของอำเภอพบพระ การไหลของห้วยวาเลย์อยู่ในแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้ววกขึ้นเหนือมาบรรจบกับแม่น้ำเมย
                แม่น้ำยวม  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบริเวณอำเภอขุนยวม มีแนวการไหลจากทิศเหนือไปทิศใต้ แล้ววกไปทางทิศตะวันตก
ไปบรรจบกับแม่น้ำเมย แม่น้ำยวมเป็นแนวเขตระหว่างอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
                แม่น้ำละเมา  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูง ทางด้านทิศตะวันออก ช่วงตอนใต้ของจังหวัดตาก ไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ
และไปบรรจบกับแม่น้ำยวม ช่วงระหว่างอำเภอแม่ระมาด และอำเภอแม่สอด มีลำห้วยต่าง ๆไหลมาบรรจบเป็นจำนวนมาก
                แม่น้ำเงา  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงชันทางด้านทิศตะวันออกในช่วงด้านเหนือของจังหวัดตาก และเป็นแนวเขตจังหวัดตากทางด้านเหนือ มีน้ำไหลตลอดปีไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือ แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำยวม ก่อนที่จะไหลไปบรรจบแม่น้ำเมยต่อไป มีลำห้วยสาขาไหลมาบรรจบเป็นจำนวนมาก
                แม่น้ำตื่น  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงชันบริเวณอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเทือกเขาฝั่งตะวันออกบริเวณตอนกลางของพื้นที่ มีน้ำไหลตลอดปี ในช่วงแรกไหลจากทิศเหนือไปทิศใต้ จากนั้นไหลวกขึ้นสู่ทิศเหนือ แล้วไหลไปบรรจบแม้น้ำปิงตอนเหนือเขื่อนภูมิพล มีลำน้ำสาขาไหลมาบรรจบเป็นจำนวนมาก
                ห้วยแม่ท้อ  มีต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดตาก ทางด้านทิศตะวันออกตอนกลางของพื้นที่จังหวัด มีน้ำไหลตลอดปี ไหลจากทิศเหนือไปทิศใต้ แล้ววกไปทางทิศตะวันออก ไปบรรจบแม่น้ำปิงในเขตอำเภอเมือง ฯ
                คลองแม่ยะมา  ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดตาก ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีน้ำไหลตลอดปี ไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก แล้วไปบรรจบแม่น้ำปิง
                แม่น้ำปิง  ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านอำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก และอำเภอเมือง ฯ เป็นแม่น้ำสายใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี ไหลผ่านที่ราบทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่จังหวัด
                แม่น้ำวัง  ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดลำปาง ไหลผ่านอำเภอสามเงา และอำเภอบ้านตาก ไหลไปบรรจบแม่น้ำปิง ที่บ้านปากวัง อำเภอบ้านตาก ทำให้เกิดที่ราบดินตะกอนค่อนข้างกว้าง
                แม่น้ำแม่กลอง  ต้นน้ำคือ ขุนห้วยแม่กองดี อำเภออุ้มผาง ไหลไปทางทิศใต้ไปยังจังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำไหลตลอดปี ไหลผ่านหุบเขาสูงชันเป็นส่วนใหญ่
                คลองวังเจ้า  ต้นน้ำเกิดจากน้ำตกแม่ย่า ไหลไปบรรจบแม่น้ำปิงที่บ้านวังเจ้า กิ่งอำเภอวังเจ้า เป็นลำน้ำสายสั้น ๆ มีน้ำตลอดปี ไหลผ่านหุบเขาสูงชันเป็นส่วนใหญ่
                ห้วยแม่ท้อ  เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ได้เฉพาะในฤดูฝนและฤดูหนาว ในฤดูแล้งก็จะแห้งขอดเป็นช่วง ๆ
ประชากรและการปกครอง
            จังหวัดตาก เป็นเมืองชุมทางและเป็นเมืองปราการชายแดนพระราชอาณาเขตด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมาแต่โบราณ จึงเป็นที่รวมของประชากรหลากหลายเผ่าพันธุ์ มีชาวไทยภูเขาหลายเผ่าได้แก่ ม้ง เย้า ลีซอ มูเซอ อีก้อ และกะเหรี่ยง เป็นต้น
            เนื่องจากจังหวัดตากเป็นที่รวมของชุมชนหลายเผ่าและหลายเชื้อชาติ จึงมีศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกัน ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาประมาณร้อยละ ๙๑ นับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ ๕ และนับถือศาสนาคริสต์ประมาณร้อยละ ๔ และนับถือผีหรือความเชื่ออื่น ๆ อีกเล็กน้อย
            วัดในพระพุทธศาสนามี ๑๑๑ วัด มัสยิดในศาสนาอิสลามมี ๒ แห่ง โบสถ์ในศาสนาคริสต์มี ๑๕ แห่ง เป็นของนิกายคาธอลิก ๕ แห่ง นิกายโปรเตสแตนท์ ๑๐ แห่ง และมีศาลเจ้าของคนไทยเชื้อสายจีนในอำเภอแม่สอด และอำเภอเมือง ฯ ๓ แห่ง
            ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัด  มีรายนามผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่ ๙ ท่าน คือ  พระยาสุจริตรักษา (อ่วม)  พระยาสุจริตรักษา (ทองคำ)  พระยาสุจริตรักษา (เชื้อ)  พระยาเทพาธิบดี  พระยาวิชิตรักษาตักศิลาบุรินทร พระยาประสาทวิริยกิจ (พ.ศ.๒๔๖๓ - ๒๔๖๗)  พระยาพิชัยสมุทร (พ.ศ.๒๔๖๘)  พระยาวิเศษฤาชัย (พ.ศ.๒๔๖๙)  พระยาผดุงภูมิพัฒน์ (พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๕)
            รายนามผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลงมี ๕ ท่านคือ  พระสมัครสโมสร (พ.ศ.๒๔๗๖ - ๒๔๗๙)  หลวงทรงประศาสน์ (พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๘๑)  หลวงวิมลประชาภัย (พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๔)  หลวงสกลผดุงเขตต์  (พ.ศ.๒๔๘๕ - ๒๔๘๗)  หลวงนครคณูปถัมภ์ (พ.ศ.๒๔๘๘)

| หน้าต่อไป | บน |