| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถานและโบราณวัตถุ
   โบราณสถานที่สำคัญ
                เมืองตากเก่า  ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำปิง เหนือที่ว่าการอำเภอบ้านตากไปประมาณ ๓ กิโลเมตร ตัวเมืองตั้งอยู่บนยอดดอยเล็ก ๆ ลึกจากฝั่งแม่น้ำปิงเข้าไปประมาณ ๔๐๐ เมตร ดอยเหล่านี้คล้ายปราการตามธรรมชาติที่ล้อมเมืองอยู่โดยรอบ เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำเท่านั้นที่ต้องเสริมคันดิน เพื่อให้เป็นกำแพงเชื่อมกับเชิงดอยเป็นวงรอบ ซากกำแพงดินยังเหลือพอสังเกตเห็นแนวได้จนถึงปัจจุบัน
                เมืองตากเก่านี้ มีนักโบราณคดีบางท่านเห็นว่าเป็นเมืองที่พวกมอญมาตั้งอยู่ก่อน เพราะตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง เป็นการเอาแม่น้ำปิงเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันออก และทางด้านเหนือมีแม่น้ำวังเป็นคูเมือง

                เจดีย์ยุทธหัตถี  อยู่ในตำบลตะเภา อำเภอบ้านตาก องค์เจดีย์มีรูปลักษณะทรงดอกบัวตูม ซึ่งพบมากในสมัยสุโขทัย และมีลักษณะเหมือนพระเจดีย์องค์กลางของวัดเจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงสุโขทัย ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เคยปกครองมาก่อนขึ้นครองราชย์ที่กรุงสุโขทัยทุกประการ จึงสันนิษฐานว่า พระเจดีย์ยุทธหัตถีที่เมืองตากนี้เป็นพระเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึง ชัยชนะที่พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด
                พระเจดีย์ยุทธหัตถี ตั้งอยู่บนเนินเขา ใกล้จุดเริ่มต้นของทางหลวงหมายเลข ๑๑๗๕ สายเจดีย์ยุทธหัตถีกับแม่ระมาด มีฐานกว้าง ๑๒ เมตร สูง ๑๖.๗๐ เมตร กรมศิลปากรได้บูรณขุดแต่งใหม่แล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔

                ผาสามเงา  อยู่ในเขตอำเภอสามเงา ทางทิศตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำปิง ตั้งอยู่บนหน้าผา มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ช่องละองค์
                ตามตำนานเล่าว่า เมื่อกว่าพันปีมาแล้วมีฤาษีสองตน ผู้สร้างเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน เมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๐ ได้ส่งคนมาทูลเชิญราชวงศ์กษัตริย์จากเมืองละโว้ หรือลพบุรี ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งก็คือ พระนางจามเทวี  พระนางได้เสด็จด้วยเรือขึ้นไปทางเหนือ เมื่อมาถึงหน้าผาแห่งหนึ่งก็เกิดมีพายุใหญ่พัดกระหน่ำ จนเรือไม่สามารถแล่นทวนกระแสน้ำขึ้นไปได้ พระนางและคณะต้องแวะพักอยู่ริมฝั่งแห่งนั้น เป็นเวลาถึงสามวัน สามคืน ฝนและพายุก็ยังไม่ซาลง พระนางจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าพระนางจะได้ขึ้นครองเมืองหริภุญชัยแล้ว ก็ขอให้พายุฝนนั้นสงบ เมื่อสิ้นคำอธิษฐานพายุฝนก็สงบลง และปรากฎเงาพระพุทธรูปสามองค์ ที่หน้าผาริมฝั่งแม่น้ำปิงแห่งนั้น นับเป็นศุภนิมิตรอันดียิ่ง แล้วพระนางก็เสด็จต่อไปจนถึงเมืองหริภุญชัย
                ด้วยเหตุดังกล่าว ณ หน้าผาริมแม่น้ำปิงแห่งนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า ผาสามเงา มาแต่ครั้งนั้นต่อมาเมื่อมีชุมชนเกิดขึ้น จึงมีชื่อเรียกว่า บ้านสามเงา  มาจนถึงปัจจุบัน
                ค่ายไทยและค่ายพม่า  ที่เนินเขาแก้วมีรอยขุดดินพูนขึ้นเป็นแนว คล้ายกับเป็นคูสนามเพลาะ หรือค่ายถาวรเป็นแนวตั้งแต่วัดหัวหิน วัดสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ไปจนถึงวัดทุ่งนา เป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร คูสนามเพละนี้ชาวเมืองตากเชื่อกันว่าเป็นค่ายพม่า แต่ไม่ทราบว่าพม่าเข้ามาตั้งค่ายอยู่แต่เมื่อใด สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า คงเป็นครั้งสงครามลาดหญ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
                ส่วนอีกค่ายหนึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออก เป็นแนวไปตามลำน้ำปิงจากวัดดอยเชียงทอง ไปจนถึงวัดท่าชัยชนะสงคราม ในตำบลเชียงเงิน เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ชาวเมืองตากเล่าว่าเป็นค่ายไทยซึ่งน่าจะเป็นค่ายที่มาตั้งขัดตาทัพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

                ดอยเจ้าหลวงทุ่งจ๊ะ  เป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงชันตั้งอยู่ที่สุดเทือกเขาระหว่างแก่ง ทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวา) ของลำน้ำปิงใกล้กับวัดพระธาตุลอย มองเห็นได้แต่ไกลคือ จะมองเห็นดอยหลวงทุ่งจ๊ะ ตั้งสูงเด่นกว่าภูเขาลูกอื่น ๆ บนยอดเขามีแต่แท่งหินมหึมาปราศจากต้นไม้ เมื่อเข้าไปใกล้จะเห็นหน้าผาบุ๋มเข้าไป คล้ายเป็นถ้ำใหญ่ทั้งสามด้าน ถ้ำที่อยู่บนหน้าผามีชื่อเรียกกันมาแต่โบราณคือ ปากถ้ำทางแง่เขาด้านเหนือเรียกว่า ประตูเชียงใหม่ ปากถ้ำทางแง่เขาด้านใต้เรียกว่า ประตูสยาม และปากถ้ำทางแง่เขาด้านตะวันตก เรียกว่า ประตูอังวะ

                คอกช้างเผือก  คอกช้างเผือก (เพนียด)  ตั้งอยู่ในตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมย ห่างจากตัวอำเภอแม่สอดไปทางตะวันตกประมาณ ๖ กิโลเมตร
                คอกช้างเผือก มีลักษณะเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน ปากคอกกว้างประมาณ ๑๕ เมตร เป็นรูปสอบขนานกันไป ยาวประมาณ ๕๐ เมตร ขนาดของอิฐกว้างประมาณ ๖ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว และหนาประมาณ ๒.๕ นิ้ว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย
                ตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขมัย มะกะโท หนุ่มชาวมอญได้มารับราชการเป็นขุนวัง เมื่อครั้งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช มะกะโทได้ลักลอบพาพระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หนีไปตั้งตัวอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ และมีหนังสือกราบทูลแก่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ถึงเรื่องราวทั้งหมด ต่อมามะกะโท ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ที่เมืองเมาะตะมะ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงพระราชทานนามให้ว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว ต่อมามีช้างเผือกตัวหนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเสี่ยงสัตยาธิษฐานว่า หากช้างเผือกนี้เป็นช้างคู่บารมีของกษัตริย์นครใด ก็ขอให้ช้างบ่ายหน้าไปทางนครนั้น ปรากฎว่าช้างเผือกบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตก พระองค์จึงแน่พระทัยว่าเป็นช้างเผือกคู่บารมีพระเจ้าฟ้ารั่ว  จึงแจ้งให้พระเจ้าฟ้ารั่วมาคอยรับช้างเผือก ครั้นถึงเชิงเขาแห่งหนึ่งมีแม่น้ำขวางกั้น ทหารที่ติดตามช้างมาจึงได้ทำเพนียดล้อมช้างเผือกนั้นไว้ พระเจ้าฟ้ารั่วได้เสด็จมาทำพิธีรับมอบช้างเผือก ณ ที่นี่
            ปัจจุบันคงเหลือซากเพนียดให้เห็นร่องรอยว่า สร้างด้วยอิฐโบราณขนาดใหญ่ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑
            แหล่งโบราณคดี  บนเส้นทางตาก - แม่สอด และแอ่งที่ราบแม่สอด ได้มีการขุดพบโบราณวัตถุในแหล่งโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
                แหล่งโบราณคดีดอยมณฑา  อยู่ที่บ้านห้วยปลาหลด ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด สภาพโดยทั่วไปเป็นเทือกเขา ที่วางตัวกันอย่างสลับซับซ้อนในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก รอบ ๆ ดอยเป็นเทือกเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกันช่องหุบเขาแคบ ๆ มีความสูงประมาณ ๔๑๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่บนดอยค่อนข้างโล่งเตียน เป็นป่าไม้และพุ่มไม้ขนาดกลาง
                โบราณวัตถุที่สำรวจพบได้แก่ เศษภาชนะดินเผาไม่เคลือบผิว เนื้อหยาบมาก เผาสุกไม่ทั่วกัน เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องหิน ประเภทไหเนื้อไม่แกร่ง เศษภาชนะดินเผาแบบเคลือบผิว ได้แก่ ชามก้นแบบเคลือบเซลาดอน จากเตาเผาในเขตสุโขทัย เศษไหเคลือบน้ำตาลแบบสุโขทัย และเศษเครื่องลายคราม แหวนสำริดชำรุดเหลือเพียงครึ่งวง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๙๐ เซนติเมตร ปลอกสำริดทรงเรียว ตรงโคนและปลายมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๑๐ เซนติเมตร และ ๑.๖๐ เซนติเมตร ความหนาประมาณ ๐.๑๐ เซนติเมตร และก้อนแร่ตะกั่วรูปสี่เหลี่ยม ผิวด้านหนึ่งมีรอยฝนลับจนเลียบ
                สภาพทั่ว ๆ ไป ไม่มีลักษณะของชั้นดินที่อยู่อาศัย หรือชั้นดินแหล่งชุมชนโบราณ แต่อาจเป็นแหล่งฝังศพ เพราะเคยขุดพบไหบรรจุกระดูกเผาไฟอยู่ในบริเวณนี้
                แหล่งโบราณคดีดอยส้มป่อย  อยู่ที่บ้านมูเซอส้มป่อย อำเภอแม่สอด เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ - ประวัติศาสตร์
                สภาพทั่ว ๆ ไป เป็นเทือกเขาที่วางตัวกันอย่างสลับซับซ้อน ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือกับทิศตะวันตกเฉียงใต้ สันดอยเป็นที่ลาดก้างปกคลุมด้วยป่าไม้เบญจพรรณและป่าไผ่
                โบราณวัตถุที่สำรวจพบได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบเคลือบและไม่เคลือบ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนของไหแบบเคลือบ ในหอกเล็กแบบมีปลอกและไม่มีปลอก เคียวเหล็กขนาดใหญ่ สิ่ว กำไลสำริดเป็นห่วงกลมและเป็นแท่ง ลูกกระพรวนและเศษลูกกระพรวนมีเม็ดสำริด อยู่ภายในมีทั้งขาดเล็กและขนาดใหญ่ ลูกปัดและเศษลูกปัดสำริด ทรงกลมเจาะรูตรงกลาง มีเศษผ้าฝ้ายติดอยู่ด้วย ลูกปัดแก้วมีหลายสี มีทั้งชนิดตกแต่งลวดลาย และผิวเรียบมัน เครื่องมือสกัดหินแบบเครื่องขุด ทำจากหินกรวดแม่น้ำ
                ในการสำรวจไม่พบลักษณะการทับถมของชั้นดิน ที่มีกิจกรรมโดยสมบูรณ์ มีผู้เคยพบกระดูกมนุษย์ที่เผาไฟแล้ว บรรจุอยู่ในไหขนาดต่าง ๆ ฝังอยู่ในหลุมซึ่งมีเครื่องมือเหล็ก ถ้วยชามและเครื่องประดับต่าง ๆ ฝังรวมอยู่ด้วยแทบทุกหลุม เศษภาชนะดินเผาแบบเคลือบที่พบมีทั้งเซลาดอนสีฟ้าอ่อน และไหเคลือบสีน้ำตาล ลักษณะเช่นเดียวกับที่พบในซากเรือสำเภาโบราณที่พัทยา ดังนั้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้จึงน่าจะใช้เป็นสถานที่สำหรับฝังอัฐิในประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๒
                แหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม ๑  อยู่ในเขตอุทายแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ ที่บ้านห้วยปลาหลด ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ - ประวัติศาสตร์
                สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงที่วางตัวตามทิศตะวันออก - ตะวันตก มีห้วยปลาหลดและห้วยยะอุ ไหลผ่านสันดอนกว้าง และลาดไปทางด้านทิศตะวันออก ติดต่อกับแหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม ๒ มีความสูงประมาณ ๗๖๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลประมาณ ๗๖๐ เมตร ชั้นดินบนส่วนใหญ่สีแดงคล้ำ ปนเศษถ่าน และมีก้อนหินขนาดต่าง ๆ ปนอยู่ทั่วไป ลึกลงไปเป็นดินสีน้ำตาลแดงปนดินลูกรัง
                โบราณวัตถุ ที่สำรวจพบได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ลายเชือกทาบประเภทหม้อก้นกลม เนื้อดินหยาบมีสีเทาเข้ม เครื่องมือหินรูปขวานทำไม่เสร็จ หินลับ เครื่องมือขุดรูปกลมแบบขวานหินขัดไม่มีบ่า เศษภาชนะดินเผาแบบไม่เคลือบผิว เศษไห เศษภาชนะดินเผาเคลือบเซลาดอน มีหลายลักษณะ เศษเครื่องเคลือบต่างประเทศ เศษเซลาดอนจีน เวียดนาม ลูกกระพรวนมีเม็ดสำริดอยู่ภายในมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เครื่องมือเหล็กชนิดต่าง ๆ เช่น มีดปลายแหลมปลายตัด มีดคล้ายดาบมีกั่น เคียว ขวาน สิ่ว ปลอกมีด และใบหอก
                สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัย หรือกระทำกิจกรรมบางอย่างของมนุษย์ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ และน่าจะเป็นแหล่งที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินทัพ ระหว่างพม่า - ไทย ในสมัยอยุธยา เพราะพบอาวุธเหล็กใบหอกและมีดดาบ ช่องแคบนี้อยู่ในแนวเดียวกับช่องแม่ละเมา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพระหว่างเมืองตาก กับเมืองเมาะตะมะ
                แหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม ๒  อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ ที่บ้านห้วยปลาหลด ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ - ประวัติศาสตร์
                สภาพทั่วไป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของดอยมะขามป้อม ๑ ห่างกันประมาณ ๑๐๐ เมตร ลักษณะดินชั้นบนมีสีน้ำตาลเทา ลึกลงไปมีสีน้ำตาลแดง และสีน้ำตาลเทาปนดินลูกรัง
                โบราณวัตถุที่สำรวจพบได้แก่ ภาชนะดินเผา เนื้อเครื่องดินอุณหภูมิต่ำเนื้อหยาบ เศษภาชนะดินเผาแบบเคลือบและไม่เคลือบ เนื้อเครื่องดินและหิน เศษภาชนะเครื่องเคลือบต่างประเทศ เครื่องเคลือบเซลาดอนของจีน เศษภาชนะเครื่องเคลือบไทย เป็นเครื่องเคลือบประเภทชามลังกำแพง มีดปลายแหลมขนาดเล็ก ใบมีดโค้ง ดาบ สิ่ว ขวาน ลิ่ม เสี่ยม หอก หรือแหลน
                สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อาจเป็นที่อยู่อาศัย หรือทำกิจกรรมของสมัย สมัยก่อนประวัติศาสตร์ - ประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่ เป็นแหล่งที่ฝังศพและอัฐิ มีการนำเครื่องประดับหรือเครื่องถ้วยฝังลงไปด้วย และอาจเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเดินทัพระหว่างไทย - พม่า ในสมัยอยุธยา โดยผ่านทางด่านแม่ละเมา เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒
                แหล่งโบราณคดีดอยสระกุลี  อยู่ในตำบลแม่ท้อ อำเภอแม่สอด เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ - ประวัติศาสตร์
                สภาพทั่วไปเป็นดอยที่ตั้งอยู่ในกลุ่มเทือกเขาขนาดใหญ่สลับซับซ้อน วางตัวในแนวเหนือ - ใต้ ทางทิศใต้ของแหล่งโบราณคดีมีห้วยสระกุลีไหลผ่าน สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๙๐๐ เมตร ลักษณะของดินเป็นดินปนทรายสำน้ำตาลแดง มีเศษหินปน
                โบราณวัตถุที่สำรวจพบได้แก่ เศษภาชนะดินเผา เนื้อเครื่องดิน เนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวอย่างหยาบ และขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผาแบบไม่เคลือบผิวมีทั้งลายขูดขีดและผิวเรียบมัน เนื้อเครื่องดินและเนื้อเครื่องหิน เศษภาชนะแบบเคลือบผิว ดำ แดง เขียว ผิวเรียบ เศษชายเคลือบไทยจากเตาเผาต่าง ๆ และเศษเครื่องเซลาคอนจีน เวียดนาม เศษภาชนะสำริดประเภทขัน เศษชำรุดของเต้าปูน เครื่องมือเหล็กสภาพผุกร่อน มีสนิมจับ
                สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เคยมีมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่อาศัยอยู่ โดยมีการใช้ขวานหินขัด และภาชนะดินเผาและอาจเป็นแหล่งฝังศพ และอัฐิในสมัยประวัติศาสตร์ มีการฝังถ้วยชาม และเครื่องเหล็กไว้ด้วย แหล่งโบราณคดีนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินทัพระหว่างพม่า - ไทย ในสมัยอยุธยา โดยผ่านทางด่านแม่ละเมา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒

                เมืองระแหงแขวงเมืองตาก  จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจภาคพื้นดินในเขตเมืองตาก พบร่องรอยของชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดิน ล้อมรอบอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มทางทิศใต้ของเมืองตากอีกแห่งหนึ่ง อยู่ห่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นชุมชนรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างมีขนาด ๙๐๐ ๕๐๐ เมตร อยู่ในตำบลบ้านตะเภา แนวคูน้ำและคันดินยังพอสังเกตุเห็นได้ ที่ยังพอเห็นเป็นโคกเนินวัด อยู่บริเวณใกล้เคียงกับคูเมืองทางงด้านทิศใต้ พบซากวิหารและฐานพระสถูป ชาวบ้านเรียกวัดสิงห์ เคยมีผู้ขุดพบพระเครื่องและพระพุทธรูป พบไหเคลือบลายครามของจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง ภายในมีกระดูกคนบรรจุอยู่ทางตะวันตกของเมือง มีวัดเก่าตั้งอยู่คือ วัดโบสถ์ ภายในบริเวณวัดมีโคกเนินที่ซากวิหาร โบสถ์ และพระเจดีย์เก่า พบเศษภาชนะดินเผาเคลือบแบบสุโขทัย และแบบไหหินอยู่ทั่วไป ในไหนหินมีกระดูกคนตาย ท้ายวัดมีกู่เล็ก ๆ ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่และใช้สอดินอยู่แห่งหนึ่ง อยู่ในสภาพทรุดโทรม มีรูปแบบทางศิลปสถาปัตยกรรมและขนาดของอิฐ อาจนับเนื่องว่าอยู่ในสมัยสุโขทัย
                ถ้าพิจารณาตามลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม เหมือนกับมองเมืองในภาคเหนือแล้ว ทั้งสองแห่งนี้อาจเป็นเมืองที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน คือตัวเมืองที่อยู่บนที่ราบคือเมืองที่อยู่อาศัย ส่วนที่อยู่บนเนินเขามีลักษณะเป็นเวียงพระธาตุ อันเป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่สำคัญของเมือง แต่ในยามศึกสงครามเวียงนี้ก็มีหน้าที่เป็นป้อมปราการรับศึก และอพยพผู้คนจากบริเวณพื้นที่ราบเข้ามาไว้ภายในบริเวณเมือง
                บริเวณเมืองตากที่อำเภอบ้านตาก ลำน้ำปิงไหลลงมาทางใต้มายังตัวเมืองตากปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวได้ก่อตัวเป็นเมืองและผ่านที่อยู่อาศัยมาแต่สมัยอยุธยา เพราะพบบริเวณที่เป็นวัดเก่าหลายแห่ง แต่เดิมบริเวณนี้เรียกว่า บ้านระแหง ตัวเมืองปัจจุบันอยู่บนฝั่งตะวันออก (ฝั่งซ้าย) ของแม่น้ำปิง แต่แหล่งสำคัญในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำปิงใกล้กับบริเวณวัดเขาแก้ว ซึ่งมีซากเจดีย์และโบสถ์แบบอยุธยาตอนปลาย
                เหตุที่บริเวณบ้านระแหงหรือเมืองตากปัจจุบันเจริญขึ้น เนื่องจากเป็นชุมชนในการคมนาคม การเดินทางจากสุโขทัยหรือกำแพงเพชรหรือจากเชียงใหม่ ลำปาง ไปทางตะวันตกข้ามไปยังอำเภอแม่สอดเพื่อติดต่อกับเมืองพม่า - มอญ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน จะต้องมาเริ่มต้นจากบ้านระแหงนี้ก่อน แม้แต่การเดินทัพในสมัยอยุธยาที่มาทางด่านแม่ละเมา ก็ต้องมายังบ้านระแหงนี้ แต่เนื่องจากบริเวณนี้ไม่ปรากฎพบร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุแบบสุโขทัย อีกทั้งไม่มีกล่าวถึงในศิลาจารึกด้วย จึงน่าจะเป็นย่านชุมชนที่พัฒนาขึ้นในสมัยอยุธยา
                อย่างไรก็ตามได้มีการขุดพบโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นในบริเวณใกล้เมืองตากพบพวกมีดดาบ ลูกกระพรวนโลหะผสมแก้วใส ลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ ขนาดต่าง ๆ กำไลหินสีเขียวคล้ายหยก ตุ้มหู แก้วผลึก และเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก พวกลูกปัดและกำไลหินรวมทั้งตุ้มหูที่ทำด้วยแก้วผลึก เป็นแบบเดียวกันกับที่พบตามแหล่งโบราณคดีที่มีอยู่เก่าแก่สมัยต้นประวัติศาสตร์ อาจพิจารณาได้ว่าบริเวณเมืองตากเคยเป็นแหล่งชุมชนในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นในสมัยทวารวดี พบเนินดินแห่งหนึ่งใกล้ธารน้ำทางฝั่งตะวันออก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำปิง มีเศษภาชนะดินเผา ลายเชือกทาบและลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ อยู่ตามผิวดิน
                หลักฐานดังกล่าวนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวของพระนางจามเทวี
            ย่านประวัติศาสตร์  แม่สอดเป็นอำเภอที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี จึงมีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง แต่ก็ยังแสดงถึงศิลป วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวแม่สอดไว้ได้ ยังมีบ้านเก่าแก่ที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ โดยเฉพาะหัวพระเจ้า หรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูป โดยจะทำเป็นห้องเล็ก ๆ ยื่นออกมาจากตัวบ้านมีหลังคาสองชั้น ชายคาฉลุเป็นลวดลายต่าง ๆ นับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ทรงคุณค่าในทางศิลปวัฒนธรรมสืบมาจนเป็นเอกลักษณ์


                ชุมชนบ้านจีน  สมัยหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา บริเวณตรอกระแหง จะมีชาวจีนมาตั้งรกรากอยู่ มีอาชีพค้าขาย การติดต่อกับต่างจังหวัดสมัยนั้นใช้ทางเรือ มีเรือถ่อ เรือยนต์ มีท่าจอดเรืออยู่สองแห่งคือ ท่าปากคลองน้อย และท่าหลวง ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป
                ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น มีการคมนาคมทางบกมากขึ้น ทางน้ำใช้น้อยลง การค้าขายก็ขยายขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งเป็นย่านค้าในปัจจุบัน ทำให้การค้าทางบ้านจีนซบเซาลง จนกลายเป็นบ้านอยู่อาศัยในปัจจุบัน
   รูปปั้นและอนุสาวรีย์

               อนุสาวรีย์ผู้เสียสละ จังหวัดตาก  ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยหินฝน ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด ลักษณะฐานเป็นรูปหกเหลี่ยม ตรงกลางเป็นรูประฆังคว่ำคล้ายเจดีย์ ยอดเป็นรูปดอกบัวตูม มีแผ่นจารึกรายชื่อและประวัติการก่อสร้าง สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ผู้เสียสละชีวิตอย่างกล้าหาญ ในการต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในเขตพื้นที่อำเภอแม่สอด พบพระ และอุ้มผาง และเป็นอนุสาวรีย์เตือนใจแก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป ได้ทำพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
   สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

                พระบรมรูปและศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เดิมเป็นศาลเล็ก ๆ อยู่บนดอยวัดเขาแก้ว ทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับตัวเมืองตากในปัจจุบัน ต่อมาชาวเมืองตากเห็นว่าศาลเดิมนั้นไม่สมพระเกียรติ์ จึงได้ดำเนินการสร้างศาลหลังใหม่ ทางฝั่งตะวันออก (ฝั่งซ้าย) ของแม่น้ำปิง และได้ให้กรมศิลปากรหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในพระอิริยาบถประทับบนพระราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดบนพระเพลา ได้ทำพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒
                ต่อมาเนื่องจากคณะกรรมการจัดงานมหาราชนุสาวรีย์ เห็นควรให้สร้างขยายใหม่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้สร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นใหม่ ดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน และทุกปีจะมีงานสมโภชที่ยิ่งใหญ่ ในประมาณปลายเดือนธันวาคม
                ศาลเจ้าพ่อพะวอ  เดิมเป็นศาลเล็ก ๆ ต่อมาได้สร้างศาลขึ้นใหม่อยู่บนเนินเขาพระวอ ทางด้านขวาของถนนสายตาก - แม่สอด (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕) บริเวณกิโลเมตรที่ ๖๒ - ๖๓  ในศาลมีรูปหล่อเจ้าพ่อพะวอ  หล่อสำริดขนาดเท่าคนจริง ยืนถือง้าว เป็นที่สักการะบูชาของชาวจังหวัดตาก อำเภอแม่สอด และอำเภอใกล้เคียง มีประวัติว่าท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง เป็นนายด่านแม่ละเมา ได้ต่อสู้กับพม่าที่รุกรานเข้ามาทางด่านนี้จนตัวตาย

                ศาลเจ้าพ่อขุนสามชน  อยู่ทางขวามือริมถนนสายตาก - แม่สอด (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕) บริเวณกิโลเมตรที่ ๗๑ - ๗๒ มีลักษณะเดียวกับศาลเจ้าพ่อพะวอ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓
                เมืองเก่าห้วยลึก  เป็นซากเมืองโบราณ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของบ้านแม่ต้าน ริมฝั่งเหนือ (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำเมย บริเวณห้วยลึก ห้วยธาตุ มีเนินดิน คูเมือง ปรากฎอยู่ ไม่มีหลักฐานว่าชื่อเมืองอะไร พบโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก สรุปได้ว่าเมืองนี้ได้มีการบูรณะมาแล้ว สามสมัยคือ สมัยเชียงแสน  สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา
                    กำแพงคูเมือง  อยู่บริเวณหน้าศาลเจ้าโมกขละ ลักษณะเป็นกำแพงดิน และมีคูเมือง ขนาดกว้างประมาณ ๓ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร ขนานกันไปจนจดแม่น้ำเมย
                    ฐานโบสถ์โบราณ  พบบริเวณเนินเขาข้างศาลเจ้าพ่อโมกขละ พบบ่อน้ำ ไหโบราณ เศษถ้วยชามสังคโลก กล้องยาดิน และโอ่งแตก อยู่ทั่วไปจนจดแม่น้ำเมย
                    พระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก เป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนเขาอยู่สององค์ เดิมเป็นเจดีย์ หรือสถูปทรงใดไม่ปรากฎ องค์แรกได้มีการบูรณะรวมสามครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๑๒ , ๒๔๗๐ และ ๒๕๐๓  เนื่องจากได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ทำให้เจดีย์ที่บูรณะไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ พังทะลายลงมา
                    เจดีย์องค์ที่สองตั้งอยู่ห่างจากเจดีย์องค์แรกประมาณ ๖๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงมอญ สภาพยังคงสมบูรณ์พอสมควร ข้าง ๆ เจดีย์มีการก่ออิฐถือลักษณะเป็นแท่นพระพุทธรูป กว้างประมาณ ๒ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตรเศษ ด้านหน้าแท่นเป็นลาน มีบันไดหินเป็นขั้น ๆ ลงมา กว้างประมาณ ๑ เมตรเศษ ลงมายังเชิงเขา บริเวณเชิงเขามีกองอิฐ ลักษณะก่อเป็นรูปนูนขึ้นมา
                    ซุ้มพระพุทธรูป  อยู่ทางฝั่งห้วยพระธาตุทางทิศตะวันออก เป็นซุ้มก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหลังมีผนังก่อปิด คงเหลืออยู่ครึ่งหนึ่งทั้งสี่ด้าน
                    ที่ฝังศพเจ้าเมืองโบราณ อยู่บนเขาทางด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเอาก้อนหินเป็นก้อน ๆ มาวางเรียงเป็นวงกลม กว้างประมาณ ๓ เมตร ตรงกลางมีลักษณะเป็นบ่อตื้น
                    เจดีย์และฐานชุกชี  มีลักษณะเป็นแท่นพระตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระธาตุห้วยลึก ทางฝั่งขวาของห้วยธาตุมาทางทิศใต้ กรมศิลปากรให้ชื่อว่า วัดห้วยธาตุ กำแพงก่อด้วยอิฐมองเห็นเป็นคันแนวกำแพง และมีฐานตั้งอยู่ในที่นี้หลายจุด
                    วัดปากห้วยลึก  อยู่บริเวณปากห้วยลึก ปากห้วยพระธาตุ ซึ่งไหลไปบรรจบแม่น้ำเมย มีเจดีย์ โบสถ์ กำแพงตั้งอยู่บนเนินดิน
                    วัดริมเมย  ตั้งอยู่เหนือปากห้วยลึก ไปทางทิศเหนือของแม่น้ำเมย มีเจดีย์ โบสถ์ วิหาร ซุ้มประตู ฐานชุกชี กำแพง
                    วัดวังต้อน  อยู่ห่างจากวัดริมเมยขึ้นไป ประมาณ ๕๐๐ เมตร มีสิ่งก่อสร้างอยู่ในกำแพง มีเจดีย์ โบสถ์ บ่อน้ำ
ศิลปหัตถกรรม และงานช่างท้องถิ่น
            มีงานสถาปัตยกรรมของวัดในพระพุทธศาสนา เช่น วัดศรีตลาราม วัดไทยวัฒนาราม และวัดแม่ซอดหน้าด่าน เป็นต้น และงานประติมากรรม เช่น พระพุทธรูปหินอ่อน วัดดอนแก้ว เป็นต้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |