| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ

            อุทยานแห่งชาติลานสาง  อยู่ที่บ้านลานสาง ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๔ ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ ๖๕,๐๐๐ ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
            สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาสลับซับซ้อนติดต่อกันเกือบตลอดพื้นที่ ส่วนที่สูงที่สุดของอุทยาน ฯ อยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ และลาดต่ำลงมาทางด้านทิศตะวันออก มีลำธารไหลผ่านหลายสายเช่น ห้วยลานสาง ห้วยท่าเลย คลองห้วยทราย ห้วยอุมยอม ป่าในเขตอุทยานเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ สลับกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ
            ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒ ได้ทรงหยุดพักกำลังพลที่บ้านสระแหง แขวงเมืองตาก มีชาวมอญเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าได้ติดตามพวกมอญเข้ามา สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ได้เสด็จยกกองทัพออกไปขับไล่ทัพพม่าและเกิดพลัดหลงกับกองทัพ กองทัพไทยจึงหยุดพักในขณะที่พักอยู่นั้นได้เห็นแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และได้ยินเสียงม้าศึกร้อง จึงรับพากันไปยังจุดนั้น ก็พบสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ประทับม้าอยู่กลางลานหิน มีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย มีทหารพม่าคุกเข่าอยู่โดยรอบ ขณะนั้นเป็นเวลาฟ้าสางพอดี จึงเรียกบริเวณนั้นว่า ลานสาง และสถานที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ประทับม้าก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน บริเวณน้ำตกชั้นที่ ๒ บริเวณลานหินจะมีรอยเกือกม้าของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ปรากฎอยู่ด้วย
                สถานที่น่าสนใจ ในอุทยานมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน พอประมวลได้ดังนี้
                    ผาลาด  อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ประมาณ ๑ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแผ่นหิน มีความลาดชันเล็กน้อย กว้างประมาณ ๒๕  เมตร ยาวประมาณ ๔๐ เมตร น้ำจะไหลบ่าไปตามแผ่นหิน แล้วรวมตัวไหลลงแอ่งเล็ก ๆ
                    น้ำตกลานเลี้ยงม้า (น้ำตกชั้นที่สอง)  อยู่ทางตอนต้นของห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกลานเลี้ยงม้าประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นน้ำตกชั้นที่มีผู้นิยมไปเที่ยวชมมากที่สุด มีความสูงประมาณ ๔๐ เมตร สายน้ำตกจะไหลพุ่งออกมาจากซอกเขา แล้วไหลลดหลั่นลงมาสามชั้น รวมตัวลงสู่แอ่งน้ำแล้วไหลลงสู่น้ำตกลานเลี้ยงม้า
                    น้ำตกผาเงิน  เกิดจากห้วยผาเงิน มีความสูงประมาณ ๑๙ เมตร มีน้ำไหลเฉพาะในฤดูฝน และฤดูหนาว
                    น้ำตากผาผึ้ง (น้ำตกชั้นที่สาม)  อยู่ตอนต้นของลำห้วยลานสาง สูงขึ้นไปตามซอกเขา อยู่ห่างจากน้ำตกลานสางประมาณ ๖๐๐ เมตร มีลักษณะเป็นหน้าผาเรียบ ๆ ลาดชันประมาณ ๗๐ องศา สูงประมาณ ๓๐ เมตร
                    น้ำตกผาน้ำย้อย  อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วยลานสาง อยู่ห่างจากน้ำตาผาผึ้งประมาณ ๑๐๐ เมตร มีลักษณะเป็นซอกผาแคบ ๆ จึงบีบให้ห้วยลานสางเล็กลง ทำให้สายน้ำไหลผ่านด้วยความเร็วพุ่งลงแอ่งน้ำเบื้องล่าง มีความสูงประมาณ ๕เมตร
                    น้ำตกผาเท (น้ำตกชั้นที่สี่)  อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วยห่างจากน้ำตกผาผึ้งประมาณ ๑.๔ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นผาดิ่งชันซึ่งเป็นท้องน้ำตก ที่มีการลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว น้ำจะพุ่งพ้นยอดผาเป็นสายลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างด้วยความแรงจนกระจายเป็นฝอย ทำให้เกิดเสียงดังครืน ๆ ได้ยินแต่ไกล
                ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก  (ดอยมูเซอ)  อยู่ในตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า ๘๐๐ ฟุต บริเวณดอยมูเซอ มีพื้นที่ประมาณ ๒๖,๐๐๐ ไร่ ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณดอยมูเซอ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ม้ง และลีซอ
            ชาวเขาที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันล้วนอพยพมาจากมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน และเมืองปัน ในรัฐฉานของพม่า รวมทั้งเขตเมืองเชียงตุงด้วย ภาษาที่พูดจึงมีทั้งภาษาจีน ภาษาธิเบต ภาษาพม่า ผสมกันไม่มีภาษาเขียน มีอาชีพปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าว มีการเลี้ยงสัตว์บ้าง เช่น หมู ไก่
            ทุกปีชาวเขาแต่ละเผ่า จะจัดงานรับวันปีใหม่ ช่วงที่มักจัดงานได้แก่ ช่วงเทศกาลตรุษจีน
                สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ  ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เป็นสถานที่ทดลองวิจัยเมล็ดพันธุ์กาแฟ ชา ผลไม้ ไม้ดอก ผักต่าง ๆ
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม ดอกบัวตองบนเทือกเขาที่ตั้งสถานีทดลองพืชสวน จะบานสะพรั่งเต็มที่สวยงามน่าชมมาก

            อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช  อยู่ในตำบลแม่ท้อ ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด และอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๒๖๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๖๕,๐๐๐ ไร่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน มีภูเขาสลับซับซ้อน ทิวทัศน์สวยงาม จุดเด่นที่สำคัญคือ ต้นกระบากใหญ่ ซึ่งจัดว่าเป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
            พื้นที่ป่าแห่งนี้ในอดีตเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพของไทยและพม่า เช่นในปี พ.ศ.๒๓๐๕ พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างยกทัพกลับได้ประชวรและสิ้นพระชนม์ในป่านี้
            พื้นที่ของอุทยาน ฯ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท้อ ป่าห้วยตากฝั่งขวา และป่าแม่ละเมา สภาพป่าสมบูรณ์อากาศเย็นสบายตลอดปี มีธรรมชาติงดงาม กรมป่าไม้ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นเขตอุทยาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ป่าในเขตอุทยาน ฯ มีหลายชนิด เช่น ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ
                สถานที่น่าสนใจในอุทยาน ฯ  มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน พอประมวลได้ดังนี้
                    ต้นกระบากใหญ่  มีขนาดวัดโดยรอบลำต้นได้ ๑๖.๖๐ เมตร สูงประมาณ ๖๐ เมตร เป็นต้นไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในจำพวกไม้ชนิดเดียวกัน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ประมาณ ๔ กิโลเมตร
                    สะพานหินธรรมชาติ  มีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่เชื่อมหน้าผาสองแห่งเข้าด้วยกัน มีความกว้างและความสูงประมาณ ๒๕ เมตร เบื้องล่างมีลำธารไหลผ่าน ถัดออกไปประมาณ ๕๐ เมตร มีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยสวยงาม
                    น้ำตกแม่ย่ามา  เป็นน้ำตกขนาดกลาง เกิดจากลำห้วยแม่ย่ามา อยู่ในป่าทึบมีน้ำไหลหลั่นกันลงมา เป็นชั้นตามร่องห้วย แล้วไหลลงสู่ลำห้วยแม่ท้อ
                    น้ำตกนางครวญ  เดิมชื่อน้ำตกเพอะพะ ต่อมาเปลี่ยนเป็นน้ำตกพบพระ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นชื่อน้ำนางครวญ เป็นน้ำตกขนาดกลาง ลดหลั่นกันลงไปเป็่นชั้นเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าเลื้องล่าง สายน้ำไหลแรง มีต้นน้ำมาจากคลองเล็ก ๆ ริมท้องนาข้างทาง

                    น้ำตกพาเจริญ  อยู่ในเขตบ้านพากเจริญ ตัวน้ำตกไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ ถึง ๙๗ ชั้น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในละแวกนั้น บริเวณน้ำตกมีลานกว้างขวาง
                    น้ำตกป่าหวาย  ธารน้ำตกเต็มไปด้วยป่าหวายจึงได้ชื่อว่า น้ำตกป่าหวาย การชมน้ำตกต้องเดินจากบริเวณล่างสุด ฝ่ากระแสน้ำขึ้นไปชมน้ำตกชั้นบนเป็นชั้น ๆ บริเวณชั้นบนของน้ำตก ห่างออกไปประมาณ ๓๐ เมตร จะพบปล่องภูเขาขนาดใหญ่มีน้ำไหลลงสู่ปล่องดังกล่าว แล้วหายไปในบริเวณใต้ภูเขา
                    แก่งแม่ตื่น  ลำน้ำแม่ตื่นเป็นลำน้ำสาขาที่มีขนาดใหญ่ของลำน้ำแม่ปิง ไหลมาบรรจบลำน้ำแม่ปิง บริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล การล่องแก่งแม่ตื่น จะเริ่มต้นที่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ป่าแม่ตื่น ล่องไปตามลำน้ำแม่ตื่น ผ่านกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ซึ่งจะได้ชมความงามตามธรรมชาติของป่าไม้ และนกนานาพันธุ์ ได้ผจญภัยกับการล่องเรือยาง ผ่านเกาะแก่งต่าง ๆ ตามลำน้ำ

                    ถ้ำแม่อุสุ  อยู่ในเขตอุทยานถ้ำแม่อุสุ บ้านมีโนะโค๊ะ อำเภอท่าสองยาง เป็นถ้ำที่กว้างใหญ่มีเพดานถ้ำสูง อากาศโปร่งและไม่มืดมากนัก มีลำห้วยแม่อุสุไหลผ่าน เมื่อจะเข้าถ้ำต้องลุยน้ำห้วยแม่อุสุเข้าไป น้ำใสเย็นลึกเสมอเข่า กระแสน้ำไหลแรง ในฤดูฝนระดับน้ำจะสูงมาก ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย สวยงามมาก ทางด้านทิศตะวันตกมีโพรงหินขนาดใหญ่ ในตอนบ่ายจะมีแสงแดดส่องเข้ามาเป็นลำ  ทำให้ในถ้ำดูสวยงามยิ่งขึ้น เมื่อเดินเข้าไปในถ้ำได้ระยะหนึ่ง แล้วมองกลับมาทางเข้า จะเห็นภาพลำห้วยที่ไหลคดเคี้ยว ออกจากถ้ำมืดไปสู่ถ้ำสว่าง มีฉากหลังเป็นทุ่งหญ้าสีเขียวสวยงามมาก
                    ดอยม่อนกระทิง  เป็นสถานที่สวยงามด้วยป่าเขาและสายหมอกในยามเช้า ยังมีสัตว์ป่าต่าง ๆ เช่น กวาง ละมั่ง นก ฯลฯ จุดที่จะชมทะเลหมอกมีหลายจุดเช่น ม่อนครูบาไส ม่อนพุนสุดา และม่อนกิ่วลม

                    น้ำตกทีลอซู  อยู่ที่บ้านโขะทะ  ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง มีความสูงประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร ฤดูกาลที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวคือ เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน
                    น้ำตกทีลอจอ  อยู่ที่บ้านอุ้มผาง มีลักษณะคล้ายมีสายฝนตกตลอดเวลา น้ำตกแบ่งเป็นชั้น ๆ รวมสองชั้น ฤดูกาลที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวคือ หลังฤดูฝนหรือน้ำหลาก ประมาณเดือนธันวาคม - พฤษภาคม
                    น้ำตกเซปละ  อยู่ที่บ้านเซปละ ตำบลแม่ละมุ้ง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง น้ำตกจะตกลงมาเป็นชั้น ๆ มีความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๕๐ เมตร สายน้ำที่ตกลมาจะกระทบโขดหิน แตกกระจายมองดูคล้ายเมฆสีขาวโดยทั่วไป
                    น้ำตกแม่กลองดี  หรือน้ำตกแม่กลองน้อย อยู่ที่บ้านแม่กลองดี ตำบลโมโกร เป็นน้ำตกมีสองชั้น มีความสูงและทางเดินชัน ฤดูฝนน้ำจะสวยงามมาก มีความสูงประมาณ ๒๐ - ๓๐ เมตร
                    ดอยหัวหมด  อยู่ที่บ้านอุ้มผาง ตำบลอุ้มผาง เป็นภูเขาที่เป็นแนวยาวหลายลูกต่อกัน บนภูเขานี้จะไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น แต่จะมีต้นหญ้าเตี้ย ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป รวมทั้งมีโขดหินเป็นระยะ มองจากด้านบนลงมาจะเห็นบ้านอุ้มผาง และทิวเขาสลับซับซ้อนโดยรอบ เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามมาก
                    ถ้ำกะโค๊ะบี๊ อยู่ที่บ้านแม่กลองใหญ่ ตำบลแม่กลอง ลักษณะของถ้ำมีทางเดินลงไปเป็นชั้น ๆ ภายในถ้ำจะมีทางแยกหลายทาง บริเวณกว้างขวาง บางแห่งสามารถมองทะลุบ้านแม่กลองได้ มีความลึกประมาณ ๓ กิโลิมตร มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก
                    ทะเลสาบ ปลากะโต ลากะล่อย และเกลือเปอ  อยู่ในเขตตำบลแม่จัน เป็นหนองใหญ่ สามหนอง อยู่ติด ๆ กัน ในฤดูแล้งจะเห็นแยกจากกันชัดเจน แต่ในฤดูฝนจะมองดูเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่มาก ล้อมรอบด้วยเขาและป่าไม้ทึบ น้ำใสเย็นเขียวสามารถมองเห็นปลาแหวกว่ายไปมาในน้ำ บริเวณรอบ ๆ มีสัตว์ป่าอยู่ชุกชุม และมีช้างป่าอาศัยอยู่หลายตัว

                การล่องแพแม่น้ำแม่กลอง อุ้มผาง - สบแม่ละมุ้ง - ปะหละทร  ความลึกของแม่น้ำแม่กลองประมาณ ๑ - ๒ เมตร บริเวณที่แพผ่านเป็นเกาะแก่ง หน้าผา วังวน (บริเวณวังวนน้ำอาจจะลึกกว่าที่อื่น)  ลำน้ำบางช่วงกว้างประมาณ ๔ เมตร บางช่วงอาจกว้างถึง ๑๕ เมตร
                วิธีการล่องแพจะใช้แพไม้ไผ่ ขนาด ๖ - ๑๖ ลำ แล้วแต่จำนวนคนที่จะโดยสาร การล่องแพจะเริ่มต้นจากห้วยอุ้มผาง - ลงแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้นไป บางครั้งลำน้ำอาจไหลเข้าไปในเวิ้งถ้ำหรือหน้าผา หรือแก่งที่มีหินยื่นออกมาทั้งสองข้าง บางครั้งต้องลงเข็มแพในบริเวณที่น้ำตื่น การล่องแพอาจต้องพักค้างในระหว่างทางอย่างน้อยหนึ่งคืน จะมีหาดทรายที่สวยงามเป็นจุดพักหลายแห่ง ตอนกลางคืนอาจไปส่องดูสัตว์ได้
                เส้นทางล่องแพสองข้างทางจะผ่านหน้าผา น้ำตกสายฝน แก่งมอแกโค้ ป่าที่เขียวขจี พันธุ์ไม้ แปลก ๆ และดอกไม้สวยงาม รวมทั้งฝูงปลาในน้ำ
                ระยะเวลาที่ควรล่องแพ อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เมษายน

            เขื่อนภูมิพล (เขื่อนยันฮี)  อยู่ในเขตสามเงา อำเภอสามเงา เป็นเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย สร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งขนาดใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทย และเอเซียอาคเนย์ และเป็นอันดับแปดของโลก มีความสูงจากฐานถึงสันเขื่อน ๑๕๔ เมตร กั้นแม่น้ำปิงที่เขาแก้ว ตำบลสามเงา อำเภอสามเงา สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง ๗๒๐,๘๐๐ กิโลวัตต์ และให้ประโยชน์ในด้านชลประทานแก่พื้นที่ถึง ๑,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุน้ำได้ประมาณ  ๑๓,๔๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวน้ำประมาณ ๓๐๐ ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากตัวเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็่นะระยะทางประมาณ ๒๐๗ กิโลเมตร

                ล่องแก่งแม่ปิงเหนือเขื่อนภูมิพล  เป็นการล่องแพโดยใช้เรือลากจูง จะได้ชมและสัมผัสกับธรรมชาติและภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยป่าเขา กับอากาศที่บริสุทธิ์ ทิวทัศน์ที่สวยงาม ตลอดเส้นทางจะได้ชมถ้ำหินงอก หินย้อย น้ำตก เกาะแก่งต่าง ๆ และปูชนียสถานที่สำคัญ เช่น พระพุทธบาทเขาหนาม พระธาตุแก่งสร้อย เป็นการเดินทางจากอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนภูมิพลถึงดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทางประมาณ ๒๐๔ กิโลเมตร และพักแรมบนแพ

            เนินพิศวง  มีลักษณะเป็นทางขึ้นเนินอยู่บนถนนสายตาก-แม่สอด ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๖๘ เมื่อนำรถไปจอดไว้ตรงทางขึ้นเนิน รถจะไหลขึ้นเนินไปเอง ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากภาพลวงตา เนื่องจากช่วงที่มองเห็นเป็นที่สูงขึ้นไปนั้น มีระดับต่ำกว่าช่วงที่เห็นเป็นทางขึ้นเนิน
            แม่น้ำเมย  พม่าเรียกแม่น้ำตองยิน อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่สอดไปทางตะวันตก ตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ ประมาณ ๖ กิโลเมตร  เป็นเขตสุดแดนไทย โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้นเขตแดนไทย - พม่า ยาวประมาณ ๓๒๗ กิโลเมตร แม่น้ำเมยไหลขึ้นไปทางเหนือ โดยมีต้นน้ำอยู่ที่บ้านมอเกอ อำเภอพบพระ แล้วไหลผ่านอำเภอแม่ระมาด ท่าสองยาง ตลอดไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน แล้วไหลเข้าในเขตประเทศพม่า ไปออกทะเลที่อ่าวมะตะบัน น้ำในแม้น้ำเมยจะมีน้อยมากในฤดูร้อน
            บ่อน้ำร้อนแม่กาษา และถ้ำแม่กาษา  อยู่ในตำบลแม่กาสา มีอยู่สองบ่อ บ่อหนึ่งกว้างประมาณ ๑ เมตร อีกบ่อหนึ่งกว้างประมาณ ๑ เมตร นอกจากนี้ยังมีธารน้ำร้อนมาพบกับธารน้ำเย็น พื้นที่บริเวณนั้นจะมีกลิ่นกำมะถันกรุ่นอยุ่ทั่วไป และมีไอน้ำจาง ๆ ลอยอยู่เหนือพื้นดินเล็กน้อย ที่ปากบ่อจะเห็นฟองและการเดือดของน้ำได้ชัดเจน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |