| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางธรรมชาติ

พื้นที่ป่า

            จังหวัดตาก มีป่าไม้อยู่เป็นจำนวนมาก และมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติประมาณ ๑๒,๑๑๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗,๕๖๘,๐๐๐ ไร่มีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณร้อยละ ๗๓ ของพื้นที่จังหวัด และมีพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง จังหวัดตากถือได้ว่าเป็นจังหวัดในภาคเหนือที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด
                พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  มีอยู่ ๑๕ แห่ง และกรมป่าไม้ได้ทำการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ในเขตจังหวัดตาก
                พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์   ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดตาก และจังหวัดใกล้เคียงประมาณ ๘,๓๕๙,๐๐๐ ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ๔ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง  อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช อุทยานแห่งชาติลานสาง และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีพื้นที่ประมาณ ๑,๒๗๒,๐๐๐ ไร่
            เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามี ๕ แห่ง มีพื้นที่ประมาณ ๗,๐๘๗,๐๐๐ ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งประกาศจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งประกาศจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับการประกาศเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ส่วนที่เหลืออีกสามแห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย
            พืชพันธุ์ไม้  พื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์ของพื้นที่สูงจังหวัดตาก มีอยู่ประมาณ ๒,๐๑๓,๕๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่เสื่อมโทรมประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ ไร่ สังคมพืชป่าไม้ในเขตพื้นที่สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
                ป่าผลัดใบ  ครอบคลุมพื้นที่ของพื้นที่สูงจังหวัดตากเป็นส่วนใหญ่ คลุมพื้นที่ประมาณ ๙๓๖,๐๐๐ ไร่ ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่บ้างและกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่บ้าง โดยมีระดับความสูงตั้งแต่ ๔๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ถึงระดับความสูงมากกว่า ๙๐๐ เมตร แต่ต่ำกว่า ๑,๒๐๐ เมตร โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับความสูง ๖๐๐-๘๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่พบป่าประเภทนี้มีทั้งบริเวณที่มีความลาดชันมากถึงความลาดชันน้อย ป่าผลัดใบ แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง
                ป่าผลัดใบ  มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๗๗,๕๐๐ ไร่ ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา
สัตว์ป่า
            สัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์พันธุ์ป่าแม่ตื่น  มีพื้นที่กว้างขวางมากพอที่จะเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น ช้าง กระทิง และวัวแดง และพอรองรับสัตว์ป่าทุกชนิดในภาคเหนือของประเทศไทยไว้ได้ทั้งหมด  เป็นแหล่งสำคัญของกวางผาซึ่งเป็นสัตว์สงวนที่มีแหล่งกระจายค่อนข้างแคบ และอยู่ได้ในถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะ นอกจากนั้นยังมีเลียงผา ช้างป่า เสือลายพาดกลอน และนกอีกหลายชนิด

                สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ที่พบแล้วมีอยู่ ๔๑ ชนิด จาก ๓๖ สกุล ใน ๑๘ วงศ์ ด้วยกัน อยู่ในกลุ่มที่กำลังจะสูญพันธุ์อยู่สี่ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า และกวางผา และที่กำลังจะกลายเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์อีก ๑๕ ชนิด ได้แก่ สัตว์จำพวกลิง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว ลิ่มใหญ่  พญากระรอกดำ  หมีควาย หมูหริ่ง นากใหญ่ สัตว์จำพวกแมว กระทิง วัวแดง และเลียงผา

                สัตว์ปีกหรือนก  ที่พบแล้วมีอยู่ ๑๙๒ ชนิดพันธุ์ จาก ๑๓๐ สกุล ใน ๔๘ วงศ์ มีนกที่จะกลายเป็นนกที่กำลังจะสูญพันธุ์ ได้แก่ นกอินทรีดำ ไก่ฟ้าหลังเทา ไก่ฟ้าหลังขาว นกแว่นสีเทา นกลุมพู นกทึดทือพันธุ์เหนือ นกเงือกคู่กรามช้าง และนกกก
                นกหลายชนิด เป็นนกที่มีการโยกย้ายถิ่นตามฤดูกาลคือ ในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ จะย้ายถิ่นลงมาหากินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ พอถึงฤดูร้อนก็ย้ายขึ้นไปทำรังเลี้ยงลูกอ่อน ในแถบอบอุ่นและแถบหนาวของโลก โดยเฉพาะนกเป็ดชนิดต่าง ๆ ที่ย้ายลงมาในฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และอยู่หากินไปจนถึงเดือนพฤษภาคม
                สัตว์เลื้อยคลาน  ที่พบแล้วมีอยู่ ๓๒ ชนิดพันธุ์ จาก ๒๔ สกุล ใน ๑๑ วงศ์ กำลังจะกลายเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์อยู่สองชนิดพันธุ์คือ เต่าหก และตะกวด นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชนิดที่มีสถานภาพเช่นนี้ เช่น เต่าเหลือง งูจงอาง งูกินทาก และเหี้ย เป็นต้น มีอยู่เก้าชนิดพันธุ์ที่จัดไว้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศ ได้แก่ เต่าหก เต่าเหลือง กิ้งก่าจุดดำ กิ้งก่าหัวสีน้ำเงิน และงูเหลือม
                สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก  ที่พบแล้วมี ๑๓ ชนิดพันธุ์ จาก ๖ สกุล ใน ๔ วงศ์ด้วยกัน กำลังจะกลายเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์อยู่หนึ่งชนิดคือ กบทูด หรือกบภูเขา และได้ประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไปแล้ว รวมกับคางคกเล็ก ที่พบเห็นค่อนข้างมากมีอยู่สองชนิดคือ เขียดหนอง และเขียดท้ายทอยดำ

                ปลาน้ำจืด  ที่พบแล้วมีไม่น้อยกว่า ๕๕ ชนิดพันธุ์ จาก ๔๒ สกุล ใน ๑๙ วงศ์ ปลาที่พบส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน ได้แก่ ปลากะมัง ปลากระสูบขีด ปลาแก้มช้ำ ปลากระแห ปลาขี้ยอก ปลากา ส่วนปลาในวงศ์ต่าง ๆ ที่พบได้แก่ ปลากระทิง ปลาแดง ปลาสังกะวาด ปลาคัง และปลาแรด
            สัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย  พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ในส่วนที่อยุ่ในเขตจังหวัดตาก อยู่ในเขตอำเภอสามเงา นอกนั้นอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่
                สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม  ที่พบแล้วมีอยู่ ๔๓ ชนิด จาก ๓๗ สกุล ใน ๒๑ วงศ์ มีสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์อยู่สี่ชนิด ได้แก่ เสือลายพาดกลอน เสือดาว และเสือดำ ช้างและกวางผา หรืออีหม่น สัตว์ที่ถูกคุกคามมีจำนวน ๑๕ ชนิด เช่น ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว เลียงผา กระทิง และวัวแดง เป็นต้น ที่เหลืออีก ๒๔ ชนิด เป็นสัตว์ขนาดเล็กและขนาดกลาง
                สัตว์ปีกหรือนก  ที่พบแล้วมี ๑๘๑ ชนิด จาก ๑๒๕ สกุล ใน ๔๗ วงศ์ ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น ได้แก่ นกกระสานวล นกกระแตแต้เเว็ด เหยี่ยวแดง ซึ่งพบหากินตามแหล่งน้ำใหญ่ตลอดแนวลำน้ำปิง และมีนกป่าขนาดเล็กอีกหลายชนิด เช่น นกภูหงอนพม่า เป็นนกที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ส่วนนกอพยพที่เข้ามาอาศัยในฤดูหนาว มีอยู่น้อยชนิด เช่น นกเป็ดลาย และเป็ดแดง นอกจากนี้ยังพบนกในวงศ์นกเค้าลม นกกระจ้อนวงตาสีทอง นกกระจิ๊ดต่าง ๆ และนกพงปากหนา
                มีนกอยู่เก้าชนิด ที่กำลังกลายเป็นสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ได้แก่ นกอินทรีย์ดำ นกลุมพู นกเงือกกรามช้าง นกกาฮัง ไก่ฟ้าหลังขาว นกแว่นสีเทา และนกยูง
                สัตว์เลื้อยคลาน  เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังประเภทสัตว์เลือดเย็น สามารถครอบครองถิ่นที่อยู่อาศัยหลายแบบ ทั้งในน้ำ บนบก ตั้งแต่บริเวณริมน้ำจนถึงยอดเขา บางชนิดอาศัยอยู่ตามรูดิน บางชนิดอาศัยอยู่บนต้นไม้ หรือโพรงไม้ ที่พบแล้วมี ๓๑ ชนิด จาก ๒๕ สกุล ใน ๑๑ วงศ์ ได้แก่ กิ้งก่าหนามไหล่แถบ แย้ จิ้งเหลนหลากหลาย งูลายสอ งูเขียวพระอินทร์ และงูกะปะ เป็นต้น
                สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก  หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีกระดูกสันหลังขนาดเล้ก เริ่มต้นอาศัยอยู่ในน้ำหายใจด้วยเหงือก เมื่อโตขึ้นจึงมาอาศัยอยู่บนบก การแลกเปลี่ยนออกซิเจนใช้ผิวหนังที่ชุ่มแทนเหงือก ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ชุ่มชื้นหรือแหล่งน้ำ
                สัตว์ที่พบแล้วมีอยู่ ๑๓ ชนิด จาก ๗ สกุล ใน ๔ วงศ์ มีวงศ์กบและเขียด และวงศ์อื่น เช่น  เขียดหนอง หรือกบวัว เขียดท้ายทอยดำ ปาด อึ่งอิ๊ดขาเหลือง อึ่งอิ๊ดหลังลาย คางคกบ้าน และคางคกเล็ก
                ปลาน้ำจืด  ในเขตพื้นที่ประกอบด้วยแหล่งน้ำลำธาร และลำห้วยสาขาของแม่น้ำปิงหลายสาย หลังจากสร้างเขื่อนภูมิพลปิดกั้นแม่น้ำปิง ในตำบลยันฮี อำเภอสามเงา สภาพแหล่งน้ำเหนือเขื่อนเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๕๘ ตารางกิโลเมตร มีความเหมาะสมและรองรับการอยู่อาศัยของปลา และสัตว์น้ำต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |