| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถานและศาสนวัตถุ

            วัดพระบรมธาตุ และพระบรมธาตุ  อยู่ในตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว ได้เสด็จจาริกไปแสดงธรรมในที่ต่าง ๆ เมื่อเสด็จมาถึงดอยมหิยกะ ซึ่งเป็นสถานที่สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ทรงเห็นว่าเป็นที่ร่มรื่นจึงได้ตรัสกับพระอรหันต์ ซึ่งตามเสด็จครั้งนั้นว่า หากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ให้นำเอาพระบรมอัฐิ (พระบรมธาตุ) บางส่วน กับพระเกศาสี่เส้น มาบรรจุไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้ประชาชนสักการบูชา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์จึงได้นำพระบรมอัฐิ และพระเกศามาบรรจุไว้ในพระบรมธาตุเจดีย์ โดยมีสุรกวัตถิเศรษฐี แห่งดอยมหิยกะ เป็นผู้สร้างพระเจดีย์ เมื่อ พ.ศ.๔๐
            วัดนี้ตามคำบอกเล่าของนักค้นคว้า เรื่องโบราณสถานโบราณวัตถุว่า สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘
            เจดีย์พระบรมธาตุที่เห็นอยู่ปัจจุบัน ได้สร้างเลียนแบบมาจากเจดีย์ชะเวดากองในพม่า ได้มีการต่อเติมเสริมองค์เจดีย์ให้สูงใหญ่ มีเจดีย์องค์เล็ก ๆ รายรอบ
            วัดพระบรมธาตุ  เป็นวัดเก่าแก่ และสวยงามที่สุดในจังหวัดตาก ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์มาหลายครั้ง ตัวอุโบสถมีประตูเป็นไม้แกะสลักสวยงาม หน้าบันและจั่วเป็นไม้ หน้าต่างแกะเป็นภาพพุทธประวัติปิดทอง หัวบันไดเป็นนาค
            วิหาร  เป็นวิหารเก่ามีเพดานสูงสองชั้น มีช่องลมอยู่โดยรอบทำให้อากาศภายในเย็น ภายในบริเวณประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีวิหารไม้เก่าแก่ ที่มีลายแกะสลัก นับเป็นวัดที่มีคุณค่าทางโบราณคดีมาก

            วัดดอยข่อยเขาแก้ว หรือวัดพระเจ้าตากสิน  ตั้งอยู่บนเนินดินในตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงประมาณ ๒๕๐ เมตร มีโบสถ์ที่มีใบเสมาคู่ วิหาร เจดีย์ และมีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ในโบสถ์
            วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยา ปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ ได้เสด็จไปหาสมภารวัดนี้ ตรัสถามเรื่องลูกแก้วที่พระองค์ทรงเสี่ยงงทายเมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากอยู่
            สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งพระอาราม เมื่อคราวเสด็จกลับจากเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ ฝีมือในการก่อสร้างเป็นแบบสมัยธนบุรีทั้งสิ้น

            วัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ตั้งอยู่บนเนินเขาแก้ว ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง ฯ ใต้วัดข่อยเขาแก้วไปประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร มีซากพระอุโบสถซึ่งผูกพัทสีมาสองชั้น ทำให้เข้าใจว่าเป็นวัดหลวงมาแต่เดิม มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ กำแพงด้านในทำเป็นช่องเล็ก ๆ เต็มไปหมดทั้งสี่ด้าน ช่องเหล่านี้คล้ายกับช่องสำหรับตามประทีปที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
            สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช น่าจะโปรดให้สร้างเฉลิมพระเกียรติที่ทรงตีเมืองเชียงใหม่ได้ หลังจากเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๒๐๕ รูปทรงลักษณะของพระอุโบสถ และกำแพงแก้วที่ยังเหลืออยู่เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา

              เจดีย์คู่  ในบริเวณวัดสมเด็จพระนารายณ์ มีวิหารน้อยอยู่อีกแห่งหนึ่งสร้างในสมัยอยุธยา ต่อจากวิหารน้อยออกไปมีเจดีย์ฝีมือช่างสมัยอยุธยาสร้างคู่กันสององค์ ที่ฐานเจดีย์มีช่องสำหรับตามประทีปโดยรอบ แสดงว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สร้างหรือปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทำเป็นเจดีย์คู่กันนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะมีเจดีย์คู่สร้างไว้แต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อคราวตีได้เมืองเชียงใหม่กลับคืนมาเป็นของไทย ของเดิมคงชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จพระนารายณ์ จึงโปรดให้บูรณะใหม่ แล้วทำช่องตามประทีปไว้ที่ฐานเจดีย์ ตามแบบที่พระองค์โปรดก็ได้
            ต่อจากเจดีย์คู่มีเจดีย์ใหญ่ฐานสี่เหลี่ยมอีกองค์หนึ่ง องค์เจดีย์หักพังหมด สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเข้าพระทัยว่า น่าจะเป็นของสมเด็จพระชัยราชาธิราชทรงสร้างไว้ แต่ครั้งตีเมืองเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ.๒๐๘๘ และต่อมาพระมหากษัตริย์ไทยจึงทรงถือเป็นเยี่ยงอย่างสร้างกันในสมัยต่อ ๆ มา ปรากฎว่ามีเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงตีได้เมืองเชียงใหม่กลับคืนมาเป็นของไทยครบทุกรัชสมัย

            วัดเขาถ้ำ  อยู่ในตำบลไม้งาม อำเภอเมือง ฯ ภูมิประเทศตรงที่ตั้งวัดสวยงามมาก โดยเฉพาะภูเขามีศิลาน้อยใหญ่ ตั้งเป็นระเบียบคล้ายกับมีคนมาจับวางซ้อนกัน ขึ้นไว้เป็นกองใหญ่ ภายในเขามีถ้ำกว้างขวาง และเย็นสบาย มีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ และรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็นของสร้างใหม่
            ในเทศกาลวันเพ็ญ เดือนห้า ประชาชนในเขตจังหวัดตาก จะพากันไปนมัสการพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาท เป็นประจำปี

            วัดพระธาตุลอย  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ใต้แก่งส้มป่อย ซึ่งเป็นแก่งสุดท้ายข้างฝ่ายใต้ ในตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา มีพระเจดีย์ซึ่งสร้างตามแบบเจดีย์ทางล้านนาไทยอยู่องค์หนึ่ง บุด้วยทองแดงปิดทอง เมื่อล่องไปตามลำน้ำจะมองเห็นยอดเจดีย์ได้แต่ไกล
            ในบริเวณวัดมีวิหารหลังหนึ่ง มีศาลาอาศัยหลายหลัง และมีกำแพงวัดล้อมอยู่โดยรอบ
            พระเจดีย์ธาตุลอยนี้ ชาวเมืองตากนับถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาก ถึงแม้วัดจะร้างไปนานแล้วก็ตาม แต่ชาวเมืองตากยังพากันไปนมัสการพระธาตุลอยทุกปีมิได้ขาด

            พระธาตุดอยดินจี่หรือพระธาตุดอยหินกิ่ว  อยู่ที่บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด อยู่บนภูเขาสูง มีทางเดินเป็นบันไดปูนซีเมนต์ประมาณ ๘๐๐ ขั้น พระสถูปเจดีย์ที่ประดิษฐานพระธาตุตั้งอยู่บนหินก้อนใหญ่เป็นชะง่อนผา มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ด้านซ้ายมือ มองลงมาด้านล่างเห็นทิวทัศน์ในเขตพม่าได้ชัดเจน หินที่อยู่บนดอยเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้ จึงเรียกว่าดินจี่คือดินที่ไหม้ไฟ
            เจดีดอยดินจี่ (ดอยหินกิ่ว) นี้ชาวบ้านเรียกว่า พญาอ่อง เป็นเจดีย์ทรงมอญขนาดเล็ก ในวันมาฆบูชาชาวไทยใหญ่ในอำเภอแม่สอดและเมืองเมียวดีในพม่า จะมานมัสการพระธาตุดอยหินจี่อย่างเนืองแน่น
            เจดีย์แม่กุหลวง เจดีย์แม่ปะ (พญาหน่อกวิ้น) และเจดีย์เมียวดี  เป็นเจดีย์แบบมอญ เจดีย์แม่กุหลวงตั้งอยู่บนเนินสูง ที่หมู่บ้านแม่กุหลวง ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเมย เจดีย์แม่ปะ ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด เจดีย์เมียวดีอยู่ในเมืองเมียวดี ทางฝั่งขวา (ตะวันตก) ของแม่น้ำเมย มีประวัติการสร้างว่า มีพี่น้องชาวกะเหรี่ยงสามคน มีอาชีพค้าไม้สักอยู่ในพม่า ร่ำรวยมาก นับถือพระพุทธศาสนา จึงคิดสร้างเจดีย์เป็นอนุสรณ์และเป็นที่สักกการคนละองค์ เจดีย์แม่กุหลวง ผู้สร้างคือพระหน่อเข่ ผู้สร้างเจดีย์แม่ชะคือพะดีพอ และเจดีย์เมียวดี ผู้สร้างคือมะส่วยจ่าพอ เจดีย์แต่ละองค์มีมูลค่าเท่ากับช้างหนึ่งเชือก ภายในองค์เจดีย์บรรจุพระพุทธรูปทองคำหนักองค์ละ ๓๐ บาท สันนิษฐานว่า สร้างมานานกว่าสองร้อยปีมาแล้ว
            เจดีย์พระธาตุผาแดง  ตั้งอยู่บนเนินเขา ในตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด ตั้งอยู่ในจุดที่เด่นมาก ไม่ว่าจะมองจากทิศใดของอำเภอแม่สอด จะสามารถมองเห็นเจดีย์องค์นี้ได้ชัดเจน แต่เดิมเป็นเจดีย์ทรงมอญ ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นในบริเวณเหมือนสังกะสี ของบริษัทผาแดงในปัจจุบัน ต่อมาบริษัทผาแดง ฯ ได้รับสัมปทานทำเหมืองสักกะสีซึ่งอยู่บริเวณที่ตั้งเจดีย์จึงได้ย้ายเจดีย์มาสร้างใหม่ในบริเวณปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิมประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นเจดีย์ทรงเชียงแสนบรรจุพระพุทธรูปเป็นที่สักการบูชา มีประเพณีขึ้นนมัสการพระธาตุในเทศกาลวันมาฆบูชาขึ้น  ๑๓ - ๑๕ ค่ำ เดือนสาม ของทุกปี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |