| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
           เมืองตรังเป็นถิ่นที่มีความหลากหลายของผู้คนมีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยอิสลามและชาวไทยเชื้อสายจีน จึงมีวัฒนธรรมพื้นบ้าน และขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ซึมซับรับเอาความต่างของวัฒนธรรม เข้ามาผสมผสานกลมกลืนกับวิถีชีวิตในเรื่องการแต่งกาย การกินอยู่ ประเพณีท้องถิ่น รูปแบบทางสังคม

           การแต่งกาย  ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ชาวบ้านแต่เดิมโดยทั่วไปนุ่งผ้าโจงกระเบน ผู้ชายมักนุ่งแบบไว้ชายเรียกว่านุ่งเสื้อชายหรือนุ่งลอยชาย คือใช้ผ้าทอผืนยาวนุ่งขมวดพกรัดเอวแบบเกี่ยวคอไก่และใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือรัดเอวพับ ไม่ค่อยจะสวมเสื้อ แต่ในงานที่เป็นพิธีการต่าง ๆ เช่นงานแต่งงานไปวัดทำบุญ นิยมใช้ผ้าผืนโจงกระเบนสวมเสื้อมีผ้าพาดเฉียง ส่วนผู้หญิงก็นุ่งโจงกระเบนเช่นเดียวกัน หากไม่สวมเสื้อก็มีผ้าคาดอกหรือผ้าสไบ ในช่วงต่อมาเป็นนุ่งผ้าถุง มีทั้งผ้าซิ่นเชิง ผ้าปาเต๊ะ และผ้าลายต่าง ๆ เช่นผ้าลายหางกะรอก ผ้าลายช่อหมาก เป็นต้น
           สมัยก่อนผู้หญิงไทยเชื้อสายจีน นิยมนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ คาดเข็มขัดทอง เงิน หรือนาก ตามฐานะ สวมเสื้อลูกไม้บาง ๆ หรือลูกไม้โปร่ง พอให้เห็นเข็มขัดกำไร ถ้าไปงานศพจะใช้เสื้อลูกไม้สีขาว ผ้าโสร่งปาเต๊ะสีค่อนไปทางดำหรือน้ำเงิน การแต่งกายแบบนี้ยังมีอยู่บ้างในผู้หญิงรุ่นก่อน ๆ
           ในปัจจุบันยังมีผู้ชายไม่น้อยที่แต่งกายอยู่กับบ้านตามแบบเดิมคือใช้ผ้าโสร่ง แต่เมื่อออกนอกบ้านส่วนใหญ่จะสวมเสื้อกางเกงตามสมัยนิยม ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงซึ่งมีทั้งผ้าลายไทย ผ้าปาเต๊ะ ผ้าซิ่น สวมเสื้อตามสมัยนิยม
           ชายไทยอิสลามจะนิยมนุ่งผ้าถุงประเภทผ้าโสร่งตาหมากรุก สวมเสื้อยาว และสวมหมวก ผู้หญิงนุ่งผ้าปาเต๊ะ เสื้อเข้ารูปแขนยาวที่เรียกว่า เสื้อยอหยาหรือย่าหยา และใช้ฮิญาปคือ ผ้าคลุมศีรษะ ปัจจุบันไทยอิสลามรุ่นใหม่อาจแต่งกายตามสมัยนิยมบ้าง แต่เมื่อทำพิธีละหมาดหรือมีงานพิธีต่าง ๆ จะแต่งตามแบบเดิม
           การแต่งกายในงานศพ เจ้าภาพเท่านั้นที่จะแต่งดำล้วน ผู้ไปร่วมงานส่วนใหญ่จะใช้สีดำขาวหรือสีอื่น ๆ ที่ไม่ฉูดฉาด

           การกินอยู่  อาหารของเมืองตรังที่ขึ้นชื่อมีอยู่หลายชนิด ในงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพงานแต่งงานหรืองานอื่น ๆ จะมีการจัดเลี้ยงอาหารกันอย่างเต็มที่เสมอ
           ชาวตรังโดยทั่วไป จะกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักและมีแกงต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นประเภทรสจัด เครื่องแกงมักมีส่วนประกอบประเภทกะปิ พริกไทย ขมิ้น ตะไคร้ ฯลฯ กับข้าวแต่ละมื้อโดยมากจะมีแกงเผ็ดเป็นหลักเช่นแกงส้ม แกงกะทิ แกงไตปลา แกงคั่วพริกหรือน้ำพริก ที่ขาดไม่ได้คือ ผักเหมาะประเภทผักสด เป็นเครื่องแก้ม
           ในชนบท พวกสวนยางพาราต้องออกไปกรีดยางก่อนรุ่ง มักจะกินข้าวที่เหลือจากมื้อเย็นรองท้องไปก่อน เรียกว่า กินข้าวสอ
           พวกหมู่เล ประกอบอาชีพประมง ก่อนออกทะเลจะกินโกปี้ - เหนียวปิ้ง ในชุมชนหมู่บ้านที่มีร้านค้าก็จะมีร้านกาแฟและขนมต่าง ๆ แต่เดิมมักจะมีอาหารประเภทข้าวเหนียวเป็นหลักคือข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวต้ม ใบกะพ้อ ข้าวต้มมัด และข้าวเหนียวหน้าต่าง ๆ เช่นหน้ามะพร้าว หน้าสังขยา หน้ากุ้ง เป่าล้าง (ข้าวเหนียวไส้กุ้งห่อใบตองปิ้ง)

           ร้านอาหารเช้าอีกชนิดหนึ่งคือร้านขนมจีนซึ่งหาได้ทั่วไป มีทั้งตามเพิง ตั้งโต๊ะ ในร้านกาแฟหรือเปิดเป็นร้านโดยเฉพาะ น้ำยาขนมจีนเมืองตรังในแถบทับเที่ยง จะมีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่นคือ นิยมผสมกุ้งแห้งป่น ผักเหนาะต้องมีเคียงคู่กับขนมจีนมีทั้งผักสดผักดอง ผักลวก ผักสดมีแตง ถั่วฝักยาว ถั่วงอก และยอดผักต่าง ๆ ผักดองมีแตงดองน้ำส้มสายชูโรยหอมแดงเล็กน้อย บางทีอาจจะมีหัวผักกาดดอง (หัวไชโป๊) ผสมลงไปด้วย ผักลวกมักเป็นผักบุ้ง หน่อไม้ จะลวกแบบธรรมดาหรือลวกกะทิก็ได้
           อาหารพื้นเมืองหลายชนิดเดิมเป็นที่นิยมทั่วไปในเมืองตรัง กะปิดีต้องเป็นกะปิเคี่ยม อำเภอกันตัง กะปิท่าข้าม อำเภอปะเหลียน ปลาเค็มและกุ้งแห้ง เดิมมีที่หาดทรายขาว อำเภอกันตัง ต่อมามีที่กิ่งอำเภอหาดสำราญ
           ประเพณีท้องถิ่น  เมืองตรังมีประเพณีตามพื้นฐานของผู้คน มีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาล เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ประเพณีในรอบปี ประเพณีที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ในส่วนที่เป็นไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนเป็นประเพณีท้องถิ่น เช่นตักบาตรปีใหม่ สงกรานต์เดือนห้า ลากพระเดือนห้า และเดือนสิบเอ็ด ถวายเทียนพรรษาเดือนแปด  วันสารทเดือนสิบ ลอยกระทงเดือนสิบสอง และมีพิธีอื่น ๆ ตามท้องถิ่น เช่น ลาซัง ทำขวัญข้าว เป็นต้น พิธีดังกล่าวคงเป็นเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วมีที่เด่นชัดกว่าที่อื่นดังนี้

           วันสารทเดือนสิบ หรือวันทำบุญเดือนสิบ  เป็นวันสำคัญที่ชาวตรังได้ปฎิบัติสืบต่อกันมาแต่เดิมเช่นเดียวกับชาวใต้ทั่วไป โดยเชื่อว่าในปลายเดือนสิบ ปู่ย่าตายาย และญาติที่ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะผู้ที่มีบาปตกนรกเป็นเปรต พญายมจะปล่อยให้ขึ้นมาพบลูกหลานในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรมค่ำเดือนสิบ และให้นำหลับไปอยู่เมืองนรกตามเดิม ในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการทำบุญสองครั้งเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
           ในวันแรมค่ำเดือนสิบ เรียกว่า วันรับเปรต - ตายาย ชาวบ้านจะจัดสิ่งของต่าง ๆ ไปทำบุญที่วัดเช่น ข้าวสาร กระเทียม เกลือ กะปิ น้ำตาล และบรรดาเครื่องปรุงรสอาหารที่จำเป็นจนครบ อาหารแห้งประเภทปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักผลไม้สำหรับประกอบอาหารคาวหวานที่เก็บไว้ได้นานเช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วย อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และพืชผักอื่น ๆ บรรดาที่มีในเวลานั้น นอกจากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไต้ ไม่ขีดไฟ หม้อ กระทะ  ถ้วยชาม เข็ม ด้าย เครื่องเชี่ยนหมาก ได้แก่ หมาก พลู ปูน การบูน พิมเสน สีเสียด ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูป เทียน ขนมพอง ขนมมา ขนมดีซำ ขนมม้า อันเป็นขนมสำหรับงานบุญสารทเดือนสิบ เพื่อจัดส่งให้ผู้ตายและญาติผู้ล่วงลับ
           ก่อนวันทำบุญมีการจัดเตรียมขนมออกเป็นส่วน ๆ คือ ส่วนหนึ่งนำไปตั้งบูชาตายายที่จัดหิ้งเอาไว้ ส่วนหนึ่งนำไปให้กับญาติมิตรที่รู้จักมักคุ้น ส่วนหนึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับใส่พุ่มจาด อีกส่วนหนึ่งจัดเตรียมไปสำหรับเปรต
           ในวันแรมสิบห้าค่ำ เดือนสิบ ถือเป็นวันทำบุญใหญ่ บางทีเรียกว่า วันส่งตายาย หรือวันชิงเปรต มีการทำขนม และจัดหาข้าวของสำหรับทำบุญ เช่นเดียวกับวันรับตายาย แต่จะเพิ่มการจัดพุ่มจาด นำแห่กันไปที่วัด บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะนำขนมและข้าวของต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับจัดพุ่มจาดมาขาย ทำให้ตลาดมีความครึกครื้นเป็นพิเศษ

           การจัดพุ่มจาด บางแห่งจัดกันเฉพาะครอบครัวหรือในหมู่ญาติพี่น้อง บางแห่งจัดเป็นกลุ่มเป็นพวก บางทีในละแวกบ้านหนึ่ง จะร่วมกันเรี่ยไรเงิน เป็นค่าใช้จ่ายในการแต่งพุ่มจาด และนำขนมพอง ลา และขนมอื่น ๆ ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ใส่ในพุ่มจาด แล้วร่วมกันจัดพุ่มจาด ผู้ที่ไม่ได้จัดพุ่มจาดของตน ก็นำสิ่งของและเงินทำบุญไปร่วมกับพุ่มจาดของผู้อื่น เรียกว่า ทอนจาด ผุ้ร่วมทำบุญจะมาช่วยกันตกแต่งพุ่มจาดและจัดฉลองกันเป็นที่สนุกสนาน
           ประเพณีอย่างหนึ่งที่วัดที่บ้านทำพุ่มจาดคือ การคุมจาด มีการตีกลอง ร้องโห่กันครึกครื้นช่วยไม่ให้งานเงียบเหงา คล้ายกับเป็นการบอกกล่าวว่า มีการจัดทำพุ่มจาดแล้ว และยังมีประเพณีลักคุมจาด  เกิดจากกกลุ่มผู้รักสนุก เมื่อรู้ว่าบ้านใดมีการทำพุ่มจาด หรือประกวดจาด ก็จะรวมกันแบกหามกลองยาว ไปที่บ้านนั้นโดยไม่ให้รู้ตัว เมื่อไปถึงก็ตีกลองโห่ร้องขึ้นพร้อมกันเป็นที่สนุกสนานให้รู้ว่าจาดได้ถูกเข้าบาดูแล้ว เจ้าของบ้านก็จะยกขนมมาต้อนรับตั้งวงกัน การลักคุมจาดแต่เดิมถือเป็นเรื่องสนุกสนาน ปัจจุบันมีน้อยลงแต่การทำพุ่มจาดและตีกลองคุมจาดที่บ้านทำพุ่มจาดยังคงมีอยู่โดยเฉพาะที่บ้านท่าพญา อำเภอปะเหลียนยังสืบทอดกันมาไม่ขาดสาย
           ตอนเช้าของวันแรมสิบห้าค่ำ ชาวบ้านก็จะจัดขบวนนำพุ่มจาดไปวัด มีการตีกลองโห่ร้องแห่กันไปเรียกว่า แห่จาด เมื่อไปถึงวัดจะแห่เวียนรอบสถานที่สำคัญ หรืออุโบสถ แล้วนำเข้าไปวางในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ บางชุมชนมีการจัดประกวด จึงมีการตกแต่งพุ่มจาดกันอย่างสวยงาม ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญบริจาคเงิน ติดยอดจาด เงินที่ได้จะนำไปถวายวัดเพื่อบำรุงวัดต่อไป

           กิจกรรมสำคัญในวันเดือนสิบคือ การตั้งเปรต หลังถวายภัตตาหารเพล ชาวบ้านจะนำอาหารและข้าวของ ขนมไปวางไว้ตามสนามนอกวัดเป็นกลุ่ม ๆ เพราะเชื่อว่ามีเปรตส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้ามาถึงในวัดได้ จึงได้มีการตั้งเปรตไว้ที่นอกวัด และเชิญวิญญาณตายายที่เป็นเปรตให้มารับขนมที่ตั้งนั้น กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เปรตและส่งเปรตกลับ จากนั้นชาวบ้านและเด็ก ๆ ก็จะแย่งกันชิงเอาสิ่งของจากวงเปรตกันเป็นที่สนุกสนานเรียกว่า ชิงเปรต ชาวบ้านบางคนก็จะจัดเก็บข้าวของบางส่วนนำกลับไปบ้านด้วยเรียกว่า ข้าวคู่เปรต เชื่อกันว่าการกินข้าวเปรตนั้นเป็นมงคล
           ในวันทำบุญเดือนสิบ บรรดาชาวตรังที่ไปอยู่ต่างถิ่น จะกลับมาบ้านเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตลอดจนญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
          ตรุษจีน  เทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ประมาณเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ของทุกปี เตรียมงานกันประมาณหนึ่งปักษ์ จะช่วยกันปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนและเตรียมเสื้อผ้าใหม่
           ในวันสิ้นปีคือ วันที่ ๒๙ หรือ ๓๑ ค่ำเดือนสิบสอง ทางจันทรคติของจีน ในตอนเช้าจะมีการไหว้ พระภูมิเจ้าที่ต่าง ๆ หลังจากนั้นจะมีการไหว้สิ่งที่นับถือ บรรพบุรุษโดยทำกันในตอนเช้าถึงเที่ยง ตามชั้นเจ้าคือ ไหว้พระอิศวรและเทวดาจร ไหว้เจ้าที่นับถือ ไหว้บรรพบุรษ และในตอนเย็นก็จะไหว้อีกครั้งหนึ่ง เป็นการไหว้ญาติพี่น้องที่ดีต่อกัน หรือพวกที่เข้าบ้านไม่ได้โดยนำเครื่องไหว้มาไว้ที่ลานหรือพื้นดินหลังบ้าน
           เครื่องเซ่นไหว้จะแยกเป็นไหว้ประเภทดิน ประเภทฟ้า บรรพบุรุษซึ่งต่างกัน เครื่องไหว้เจ้านั้นมีน้ำชาและขนมแห้งเก้าอย่าง ที่ขาดไม่ได้คือขนมเข่ง ส่วนเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษมีอาหารคาวที่เป็นหลักได้แก่ ข้าวสวย หมี่ผัด ผักผัด แกงจืด และอาหารหวานเหมือนกับที่ไหว้เจ้า รายละเอียดของอาหาร อาจแตกต่างกันบ้างตามความเชื่อของแต่ละกลุ่ม
           กิจกรรมในเทศกาลตรุษจีน เริ่มแต่การตื่นแต่เช้า อาบน้ำ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดสดใส และไหว้พระโดยทั่วไปจะหยุดงาน นั่งจิบน้ำชา คุยเรื่องที่เป็นมงคล ไม่กวาดขยะ ไม่ทำให้สิ่งของเครื่องใช้แตกเสียหายแจกซองแดง (อั้งเปา)  แก่ลูกหลานไปเยี่ยมผู้อาวุโสในบ้าน บางครอบครัวบุตรหลานไปเที่ยวพักผ่อนอย่างรื่นเริงสนุกสนาน
          เชงเม้ง  ปักษ์ฤดูกาลเชงเม้งหมายถึงก่อนปลายฤดูใบไม้ผลิหรือเริ่มฤดูร้อน เป็นช่วงเดือนห้า ตามปฎิทินจีน ตรงกับประมาณต้นเดือนเมษายน  บรรดาชาวจีนจะไปตกแต่งทำความสะอาดเรียบร้อยฮวงซุ้ยของบรรพบุรษไว้ก่อนเพื่อเตรียมเซ่นไหว้
           ของเซ่นไหว้แยกเป็นไหว้พระภูมิเจ้าที่ประจำสุสานก่อน แล้วเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ของที่ใช้เซ่นไหว้พระภูมิเจ้าที่ประกอบด้วยซาแซ และผลไม้ ส่วนที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษ มีซาแซ น้ำชา แหละเหล้า หมี่ผัด ขนมแห้ง ขนมสด ผลไม้ กระดาษเงินกระดาษทอง เป็นต้น
           หลังจากเสร็จพิธีแล้วก็นำอาหารที่เซ่นไหว้มารับประทานร่วมกัน ทำความสะอาดบริเวณมีการพบปะชุมนุมบรรดาบุตรหลานแสดงความปลื้มปิติร่วมกัน โดยมีวิญญาณบรรพบุรุษเป็นจุดรวมของจิตใจ
          ไหว้พระจันทร์  ในเดือนแปดขึ้นสิบห้าค่ำ ตามจันทรคติของจีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นคืนที่พระจันทร์เต็มดวงที่สุดในรอบปี ชาวไทยเชื้อสายจีน จะประกอบพิธีตามบ้านเรือน ระลึกถึงและบูชาบรรพบุรุษโดยจัดของเซ่นไหว้ มาวางบนโต๊ะบริเวณลานบ้านบนดาดฟ้า หรือที่สามารถมองเห็นพระจันทร์ที่ชัดเจนที่สุด เมื่อพระจันทร์เต็มดวง
           ของเซ่นไหว้มีเครื่องสำอาง ส้มโอ กล้วยหอม อ้อย ทับทิม ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมโก๋ ขนมถั่ว น้ำชา ดอกไม้ ธูป เทียน โคมไฟ กระดาษเงิน กระดาษทอง แท่งทองทำด้วยกระดาษ ฯลฯ เมื่อพระจันทร์ขึ้นเต็มดวง ผู้หญิงในครอบครัวจะจุดธูปสามดอกหรือห้าดอกไหว้หน้าแท่นบูชา อธิษฐานในสิ่งที่คนปรารถนาแล้วปักธูปในกระถางเป็นอันเสร็จพิธี

          กินเจ  การกินเจเป็นการบูชา เทพนพเคราะห์ บำเพ็ญศีล สมาทาน ทำกายวาจา และใจให้บริสุทธิ์ งดเว้นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิด เว้นจากการทำบาป สลัดตนให้พ้นจากกิเลศทั้งปวงโดยการถือศีล ผู้ที่ปฎิบัติต่างมีจิตใจเบิกกบาน นุ่งขาวห่มขาว อันเป็นปัจจัยเตือนตัวเองให้สำนึกว่าตนกำลังตนให้บริสุทธิ์
           ชาวจีนเชื่อกันว่าเมื่อถึงวันขึ้นค่ำ ถึง เก้าค่ำ ตามจันทรคติของจีน เทพเจ้าประจำดาวนพเคราะห์ (กิ้วอ๋องไต้เต้)  จะผลัดเปลี่ยนกันลงมาตรวจโลกมนุษย์ ทั้งกลางวันและกลางคืน จึงได้จัดพิธีถือศีลกินเจในเดือนเก้า เริ่มตั้งแต่วันขึ้นค่ำ รวมเก้าวันเก้าคืน แต่ศาลเจ้าบางแห่งจะกำหนดวันจัดตามความเหมาะสมและความพร้อม
           การกินเจในเมืองตรัง เกิดจากกลุ่มคนจีนในเมืองตรังที่มีศรัทธาจัดให้มีขึ้น และได้กระจายออกไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี้ย ได้จัดประเพณีถือศีลกินเจมานาน จากประวัติกล่าวว่าเมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา ได้มีชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองตรัง ตามลำน้ำตรังตั้งแต่ปากน้ำกันตัง ท่าจีน ไปจนถึงห้วยยอด ได้ตกลงจัดงานถือศีลกินเจขึ้น โดยได้ไปเชิญกระถางธูปของเทพเจ้าเก้าองค์มาจากเมืองจีน เริ่มจัดงานครั้งแรกที่บ้านท่าจีน ต่อมาย้ายไปจัดที่วัดสะตอหรือวัดตันตยาภิรม เป็นการชั่วคราว ในช่วงหลังสงครามมหาอาเซียบูรพา เมื่อจัดสร้างศาลเจ้ากิวอ่องเอี้ยขึ้น ก็ใช้โรงงศาลเจ้าเป็นสถานที่จัดงาน ซึ่งต่อมามีศาลเจ้าอื่น ๆ เกิดขึ้น ทำให้การกินเจขยายวงกว้างออกไป โรงศาลเจ้าแต่ละโรง ก็จัดกิจกรรมกินเจ หรือเข้าร่วมกับโรงศาลเจ้า ที่เป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรม
           งานถือศีลกินเจของศาลเจ้ากิวอ่องเอี้ย ซึ่งมีผู้คนเข้าไปร่วมงานเป็นจำนวนมากขึ้น จะเริ่มเตรียมงาน ตั้งแต่วันขึ้น ๒๗ ค่ำ เดือนแปดจีน โดยจะหาฤกษ์เพื่อตั้งโต๊ะบวงสรวงเชิญเทพเจ้าต่าง ๆ อันพึงจะมาในวันกินเจ เมื่อตั้งโต๊ะบวงสรวงแล้วก็จะทำความสะอาดภายในตัวศาลเจ้า ตั้งแท่นบูชา เชิงเทียน ตะเกียงน้ำมัน กระถางธูปทุกแท่นบูชา ตบแต่งบริเวณ เตรียมสถานที่ บุคคล เครื่องใช้ต่าง ๆ อาหาร รมกำยานให้หอม เผากระดาษเงิน กระดาษทอง
           ในวันขึ้น ๓๐ ค่ำ เดือนแปดจีน ตอนเช้าจะมีการยกเสาเต็งโก ไว้หน้าศาลเจ้า สำหรับเชิญดวงวิญญาณของเจ้า เมื่อถึงเที่ยงคืนก็ประกอบพิธีเชิญยกอ๋องฮ่องเต้ (พระอิศวร) และกิ่วอ๋องไต้เต้ (ผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) มาเป็นประธานในพิธี ชาวบ้านเรียกว่าพิธีรับพระ ซึ่งเป็นพิธีสำคัญในการกินเจ โดยเชิญไฟพระฤกษ์เข้ามาภายในศาลเจ้า ณ ที่แท่นบูชา และเริ่มจุดตะเกียงน้ำมันมะพร้าวที่แท่นบูชา ขอเทพเจ้าต่าง ๆ ตามที่ไฟพระฤกษ์ผ่านทั้งหมด จากนั้นก็จะแขวนตะเกียงหรือโคมไฟเก้าดวง อันเป็นสัญลักษณ์ของดวงวิญญาณกิวอ่องไต้เต้ ไว้บนเสาเต็งโก แสดงถึงการเริ่มพิธีกินเจ คนที่เข้าร่วมพิธีกินเจ จะแต่งกายนุ่งขาวห่มขาวกินอาหารเฉพาะผักและผลไม้ งดเว้นเนื้อสัตว์ งดเว้นการกระทำกิจใด ๆ ที่เป็นการเบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนแก่สัตว์ทั้งปวง
           หลังจากนั้นจะมีพิธีหลายอย่างไปจนเสร็จสิ้นการกินเจ ในระหว่างงานพิธีในวัน ๓,๖,๙ ค่ำ จะมีพิธีบวงสรวงเลี้ยงเหล่าทหารเทพ กลางคืนจะมีการสวดมนต์ทุกคืน มีพิธีโกยห่านสะเดาะเคราะห์ กำหนดวันออกโปรดสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาเรียกว่าพระออกเที่ยว มีการแสดงอภินิหารทำร้ายร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ ของพระกับม้าทรง สำหรับในวันพระออกเที่ยวนี้ ตามบ้านเรือนจะตั้งโต๊ะบูชาและจุดประทัดต้อนรับ
           พิธีสำคัญในวันกินเจคือพิธีลุยไฟ โดยเชื่อว่ากองไฟเป็นกองไฟศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงอิทธิฤทธิ์ที่บังคับไฟไม่ให้ร้อน หรืออีกนัยหนึ่งเชื่อว่าเป็นไฟทิพย์ ใช้ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์ การลุยไฟกระทำโดยการก่อกองไฟด้วยถ่านไม้ จนกระทั่งถ่านลุกแดง แล้วเกลี่ยให้กว้าง พระจะทำพิธีลุยไฟก่อน ต่อจากนั้นผู้กินเจและมั่นใจว่าตนเองสะอาดบริสุทธิ์ ก็จะลุยไฟโดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เด็กผู้หญิงและคนแก่เฒ่าห้ามลุยไฟ และผู้ที่ไม่บริสุทธิ์ห้ามลุยไฟ เพราะอาจได้รับอันตราย
           การลุยไฟส่วนหนึ่งมีการนำเอาสิ่งของต่าง ๆ ที่นำออกไปจากศาลเจ้านำกลับเข้าประจำที่เดิมในศาลเจ้าโดยต้องผ่านกองไฟ เพื่อให้บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเป็นภัยทั้งปวง และเป็นการประกอบพิธีส่งพระด้วย ในวันเก้าค่ำ เมื่อทำพิธีส่งพระเสร็จสิ่งของต่าง ๆ ผ่านกองไฟกลับไว้ในศาลเจ้าแล้ว พอถึงวันสิบค่ำก็มีพิธีเชิญตะเกียงและเสาธงลง เป็นอันสิ้นสุดพิธีในเทศกาลกินเจ

          วัฒนธรรมชนเผ่าซาไก  ชนเผ่าซาไก ชาวบ้านมักเรียกว่า พวกชาวป่าหรือเงาะ แต่คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า มันนิ อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบเทือกเขาบรรทัด มีส่วนหนึ่งอยู่ที่บ้านลิพัง อำเภอปะเหลียน การรวมตัวของซาไก ปกติแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยสองครอบครัวขึ้นไป แต่ละกลุ่มมีประมาณ ๑๕ - ๓๐ คน เพื่อความสะดวกในการทำมาหากิน มีหัวหน้าปกครองกลุ่ม เมื่อหัวหน้าตายจะมีการเลือกกันใหม่ ไม่มีการสืบตำแหน่งตามสายเลือด

           ครอบครัวที่รวมกันเป็นกลุ่มจะมีทับหรือฮะหยะเป็นที่อาศัย ซึ่งจะอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยหันหน้าเข้าหากันเกือบเป็นรูปวงกลม รูปร่างของทับมีโครงสร้างง่าย ๆ เป็นรูปเพิงหมาแหงน หลังคามุงด้วยใบไม้ ข้างในมีแคร่หันหัวออกด้านหน้า ด้านหัวนอนสูงกว่าปลายเท้า การเลือกที่ตั้งทับจะต้องเป็นที่ใกล้แหล่งน้ำแต่ไม่ใช่ที่ลุ่มน้ำขัง มีต้นไม้เพื่อความร่มรื่นอยู่ใกล้แหล่งอาหารถ้ามีคนตายต้องย้ายทับทันที
              - อาหารของพวกซาไก แต่เดิมเป็นของป่าทั้งพืชและสัตว์ อาหารหลักคือพวกแป้งได้จากพวกมันต่าง ๆ ในป่า มีการแบ่งหน้าที่ระหว่างชายกับหญิงในการหาอาหาร ผู้หญิงเก็บพืชผักผลไม้หรือจับสัตว์ด้วยวิธีง่าย ๆ คือหใช้มือเปล่าจับสัตว์น้ำพวกหอย ปู ส่วนผู้ชายทุกคนจะมีกระบอกตุด หรือบอเลา เป็นเครื่องมือประจำตัวสำหรับใช้ล่าสัตว์ ซาไกไม่กินอาหารดิบวิธีทำให้สุกคือการเผา ปกติแล้วจะไม่สะสมหรือกักตุนอาหาร เมื่อหาได้จะแบ่งปันกันกินในคราวเดียว ปัจจุบันเมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวบ้านมากขึ้น ก็รู้จักวิธีปรุงอาหารเช่น หุง ต้ม และกินอาหารสำเร็จรูป
              - การแต่งกายของซาไกตามธรรมชาติดั้งเดิมคือประดิษฐ์จากสิ่งที่หามาได้ตามธรรมชาติเช่น ใบไม้หรือเอาเปลือกโสนมาทำเป็นผ้านุ่ง ผู้หญิงอาจเปลือยอก หรือใช้ผ้าคาดอก ส่วนเด็กมักเปลือยกาย ผู้ชายนุ่งโสร่ง ปาเต๊ะ หรือผ้าขาวม้า ผู้หญิงนุ่งโสร่งปาเต๊ะสวมเสื้อ
              - การแต่งงาน จะแต่งงานเมื่ออายุ  ๑๔ - ๑๕ ซึ่งทั้งคู่ต้องรักใคร่ชอบพอกันก่อน และต้องต่างสายเลือดกัน ผู้ชายเป็นฝ่ายไปสู่ขอฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายหญิงไม่ตกลง ก็แต่งงานไม่ได้ ถ้าตกลงฝ่ายหญิงไม่เรียกสินสอด ฝ่ายชายต้องออกป่าล่าสัตว์มาเลี้ยงเพื่อนฝูง ฝ่ายชายต้องสร้างทับที่อยู่อาศัย เมื่อสร้างเสร็จกินเลี้ยงเสร็จ เจ้าบ่าวเจ้าสาวไปอยู่ด้วยกัน และอยู่แบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต เว้นแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตไปก่อน  ฝ่ายที่ยังอยู่อาจหาคู่ครองใหม่ได้ บางคนไปแต่งกับคนต่างกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่มักแต่งงานกับกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทุกกลุ่มจึงมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติอย่างเหนียวแน่น การแต่งงานระหว่างพวกซาไกกับชาวบ้านแทบไม่มีเลย
              - การเกิด เด็กที่เกิดจากครรภ์ของแม่ ต้องอาศัยฝีมือของหญิงสูงอายุในกลุ่มเป็นหมอตำแยเรียกว่า โต๊ะดัน หรือโต๊ะบิดัน ในระยะใกล้คลอดสามีจะหาสมุนไพรที่ชื่อว่า ตัวโตก มาให้ภรรยากินเพื่อจะได้คลอดง่ายๆ  เมื่อเจ็บท้องจะมีการนวดท้องและเสกคากถาไปที่ท้องของผู้เป็นแม่เพื่อช่วยให้คลอดง่าย เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว โต๊ะบิดันจะตัดสายสะดือเด็กด้วยไม้ไผ่บาง ๆ ล้างตัว เช็ดตัวให้แห้ง สามีจะขุดหลุมใกล้ ๆ แคร่ที่ภรรยาคลอดลึกประมาณหนึ่งศอก สำหรับฝังรก ส่วนแม่ต้องอยู่ไฟ ประคบก้อนเส้า พร้อมทั้งกินยาสมุนไพรที่ให้ความร้อนสูง เมื่ออยู่ไฟครบเจ็ดวันแล้ว แม่จะแข็งแรงสามารถเดินทางได้ พวกเขาจะอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ เพราะเชื่อว่าเลือดที่ออกมาตอนคลอดนั้น หากทิ้งไว้หลาย ๆ วัน เลือดนั้นจะตายเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยได้
           เมื่อพวกซาไกตาย กลุ่มที่อยู่ในเขตอำเภอปะเหลียนจะไม่มีการฝังศพ พวกเขาจะสร้างทับขึ้น บางครั้งก็ใช้ทับเดิมที่ผู้ตายอาศัยอยู่ ใช้ใบไม้ปิดปากทับเป็นรูปกระโจม ให้ผู้ตายนอนในทับ แล้วก่อกองไฟขึ้นกองหนึ่งเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นก็อพยพไปหาที่อยู่ใหม่ทันที เพราะเชื่อว่าคนตายไปแล้วจะเป็นผีอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ และอาจทำอันตรายได้ ดังนั้นจะไม่มีการกลับมาอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีคนตายเป็นอันขาด

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |