| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

พระพิมพ์ดินดิบ

           ที่วัดถ้ำคีรีวิหาร อำเภอห้วยยอด มีพระพิมพ์ดินดิบ ในท้องที่ห้า มีพระพิมพิ์ดินดิบวางซ้อนทับไว้บนพื้นอยู่มาก ที่พบมีอยู่สามอย่างด้วยกันเป็นรูปลูกไข่อย่างหนึ่ง มีรูปพระสี่กรอยู่กลาง มีเทวดาล้อมแปดตน เป็นรูปกลีบบัวอย่างหนึ่ง มีรูปพระสี่กรองค์เดียวใหญ่ รูปแผ่นอิฐอย่างหนึ่ง มีรูปพระสองกรอยู่กลาง มีสาวกหรือเทวดาสองข้าง
           ที่วัดถ้ำเขาสายใกล้กับวัดคูหาแกง มีรูปพระโพธิสัตว์สองกรนั่งห้อยพระบาท รูปพระโพธิสัตว์ยืน รูปพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ
           รูปภาพพิมพ์ดินดิบดังกล่าวทั้งสองแห่งคือ พระพุทธรูปปางเทศนา ประทับนั่งตรงกลาง ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ อีกแปดองค์ และรูปพระโพธิสัตว์นั่ง
           ยังมีพระพิมพ์ดินดิบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรได้มาจากถ้ำเขาขาว อำเภอห้วยยอด
           ส่วนตราหนังสือแบบพิมพ์พระคาถาเย ธมมา ที่ใช้พิมพ์คู่กับพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ศรีวิชัย ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปะศรีวิชัยประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี
           ตราหนังหสือมีแบบพิมพ์ต่างกันแต่ตัวหนังสือนั้นคือ
           เย ธรมา เห ตุปฺรภวา เห ตุ  เตษา ตถาคโต หฺยวทต เตษำ จโย นิโรธ วาที มหา ศฺรมณ
           แปลได้ความว่า "ธรรมทั้งหลายใดมีเหตุเป็นแดนเกิดก่อน พระตถาคตเจ้าได้ตรัสแล้ว ซึ่งเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับใดแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้โดยปรกติ "
           พุทธศาสนิกชนถือกันว่า พระคาถา เย ธมมา ฯ  เป็นธรรมวิเศษ สำหรับจะเปลี่ยนแปลงความนับถือของบุคคลผู้ยังไม่เคยสดับ เป็นธรรมอันประเสริฐสำหรับ การประกาศพระพุทธศาสนา
วัดพระงามและพระงาม

           วัดพระงาม อยู่ในเขตตำบลบ้านโพธิ อำเภอเมือง ฯ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๔ มีตำนานกล่าวว่านางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัดพระงาม และสร้างพระพุทธรูปไว้ในคราวเดียวกันกับที่สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์พุทธสิหิงค์
           พระงามเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประจำวัดพระงาม ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญ พระงามมีลักษณะพิเศษคือ นิ้วพระหัตถ์ซ้ายมีหกนิ้ว มีพระพักตร์งามคล้ายหน้าผู้หญิง เรียกว่า พระพุทธรูปแบบหน้านาง แสดงถึงฝีมือช่างพื้นเมืองที่จัดได้ว่างดงามมาก จึงได้ชื่อว่าพระงาม
วัดสาริการามและพระพุทธรูปวัดสาริการาม
           วัดสาริการาม ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกหล่อ อำเภอเมือง ฯ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๐
           พระพุทธรูปวัดสาริการาม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีประวัติว่า พระภิกษุแก้ว - การามจากเมืองพัทลุงมาปักกลดอยู่ในบริเวณที่ว่างกลางทุ่ง คืนหนึ่งมีเสียงประหลาดดังขึ้น จึงพากันไปดู พบว่ามีพระพุทธรูปไม้แกะสลักผุดขึ้นมาจากดิน จึงนำมาบูชาและจัดสถานที่ให้เป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ต่อมามีพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งถูกพายุพัดเรือล่ม ขณะว่ายน้ำอยู่เกิดนิมิตรว่า มีพระมาช่วยไว้เมื่อรอดชีวิตมาได้ก็ออกสืบหาพระจนในที่สุด ก็มาพบที่วัดแห่งนี้ จึงได้สร้างพระพุทธรูปปูนปั้นครอบพระพุทธรูปไม้นั้น แล้วประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในอุโบสถ รูปลักษณะคล้ายคลึงพระพุทธสิหิงค์จำลอง เป็นที่เคารพสักการะ และเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านในละแวกนั้นมาตลอด
วัดภูเขาทองและพระนอนวัดภูเขาทอง

           วัดภูเขาทอง อยู่ในเขตตำบลน้ำผุดเหนือ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔  ภูเขาทองแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานว่า ภูเขาชุมทอง
           ในวัดภูเขาทองมีโบราณวัตถุสำคัญคือ พระพุทธรูปปูนปั้นปางปรินิพพาน ประดิษฐานอยู่ที่เพิงผา องค์พระมีความยาว ๙ เมตร ฝ่าพระบาทมีลวดลายนูนคล้ายดอกบัว ประวัติการสร้างพระพุทธรูปไม่แน่ชัด มีเรื่องเล่าสืบกันมากล่าวว่า เมื่อครั้งบูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช หมู่พุทธบริษัทที่ไปไม่ทัน ได้ฝังทรัพย์สมบัติไว้ใต้เพิงผา และสร้างพระพุทธรูปปิดทับ แต่มีบางกลุ่มกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่นางเลือดขาวมาสร้างไว้
           ลักษณะพิเศษขององค์พระคือ พระเศียรสวมเทริดมโนราห์ นับเป็นงานพุทธศิลป์ที่ผสมผสานกับศิลปะพื้นบ้านโดยฝีมือและแนวคิดสร้างสรรค์ของช่างพื้นบ้าน และนับเป็นพระนอนสวมเทริดมโนห์ราหนึ่งเดียวในเมืองตรัง
พระนอนวัดถ้ำพระพุทธและพระบริวาร

           วัดถ้ำกพระพุทธ อยู่ในเขตตำบลหนองบัว อำเภอรัษฏา ตามประวัติกล่าวว่า สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๗๔  มีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระนอนซึ่งมีความยาว ๑๔ เมตร ที่ฐานองค์พระมีช้างแบกเรียงเป็นระยะอยู่เก้าตัว องค์พระนอนมีมาก่อนสร้างวัด
           ตรงปลายบาทพระนอนจะมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยซึ่งมีขนาดแตกต่างกันอยู่หลายองค์ และด้านนอกสุดมีเจดีย์องค์เล็ก ๆ รูปทรงคล้ายกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ถัดออกมามีพระปูนปั้นลักษณะพิเศษคือ สวมเทริดและมีเครื่องประดับตกแต่งเหมือนมโนห์รา เชื่อกันว่ารูปปั้นสวมเทริดมโนห์ราองค์ใหญ่ที่เด่นที่สุดคือ รูปนางเลือดขาวผู้สร้างพระพุทธรูปทั้งหมด รูปปั้นเหล่านี้ก่อด้วยปูนเพชรคือ ปูนขาวผสมน้ำตาล
พระพุทธรูปไม้แกะสลักวัดเขาพระวิเศษ
           วัดเขาพระวิเศษ อยู่ในเขตอำเภอวังวิเศษ มีพระพุทธรูปไม้แกะสลักเป็นจำนวนมาก แต่มีอยู่สององค์ที่มีลักษณะพิเศษคือ เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร มีความสูงประมาณ ๑๓๐ เซนติเมตร ทาสีไว้สวยงาม
           พระพุทธรูปไม้แกะสลักฝีมือช่างพื้นเมือง จะมีอยู่ตามวัดต่าง ๆ หลายวัดในเมืองตรัง บางแห่งเรียกพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปประทับยืน ฝีมือช่างพื้นบ้านมักใช้ในประเพณีลากพระ นอกจากนี้การสร้างพระพุทธรูปไม้ยังมีขึ้นตามคติความเชื่อว่า ใช้สำหรับสะเดาะเคราะห์ พระพุทธรูปนี้มีทั้งอิริยาบทยืน และนั่งขนาดเล็กสูงตั้งแต่ ๒ - ๓ นิ้ว จนถึงประมาณหนึ่งคืบ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เจ้าของจะนำไปไว้ตามหลืบซอกถ้ำ หรือที่ลับตาของวัดต่าง ๆ
พระปู่ - พระย่า

           พระปู่ - พระย่า ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดประสิทธิชัย (วัดท่าจีน) อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยเงินแท้ มีประวัติเกี่ยวพันกับบุคคลในประวัตศาสตร์เมืองตรัง
           พระปู่ เป็นพระพุทธรูปยืนสูง ๑.๖๓ เมตร ใช้ชันบุด้วยเงินแท้ มีข้อความจารึกที่ฐานว่า วันเสาร์ เดือนสี่ แรมสิบเอ็ดค่ำ จุลศักราชหนึ่งพันสองร้อยสี่สิบห้า ปีกุน เบญจศก ข้าพเจ้าพระยาตรังวิษยานุรักษ์พิทักษ์รัฐสีมา ผู้สำเร็จราชการ บุตรพระสิทธิสงครามรามณรงค์ ปลัดเมืองไทรบุรี ได้สร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ในพระศาสนา
           พระย่า  เป็นพระพุทธรูปยืนสูง ๑.๑๔  เมตร สร้างด้วยชันบุด้วยเงินแท้เช่นเดียวกันมีข้อความจารึกที่ฐานว่า วันเสาร์ เดือนสี่ แรมสิบเอ็ดค่ำ จุลศักราช หนึ่งพันสองร้องสี่สิบห้า ปีกุน เบญจศก ข้าพเจ้าแม่กิม ภรรยาท้าวพระยาตรัง ได้สร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา
           บรรดาลูกหลานในตระกูลของพระยาตรัง จะเรียกพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ว่า พระปู่ - พระย่า ด้วยถือเอาว่าเป็นเสมือนตัวแทนของผู้สร้าง
วัดพระพุทธรูปหินอ่อนวัดตรังคภูมิพุทธาวาส

           พระพุทธรูปหินอ่อนในจังหวัดตรังมีอยู่มากมายหลายขนาด อยู่ตามวัดต่าง ๆ แต่องค์ที่ใหญ่ที่สุดคือ พระพุทธรูปหินอ่อน พระประธานในอุโบสถ วัดตรังคภูมิพุทธาวาส
           เมื่อพระยารัษฎา ฯ สร้างเมืองใหม่ที่กันตัง ต่อมาได้สร้างวัดแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปหินอ่อนจากพม่า มาเป็นพระประจำวัด พร้อมทั้งพระอัครสาวก ช้าง สิงห์ อย่างละหนึ่งคู่
           พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมาวิชัย เดิมพระเศียรไม่มีพระเกตุมาลาอันเป็นลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปหินอ่อน ทั่วไปในเมืองตรัง ชาวบ้านเรียกว่า พระขาว หรือหลวงพ่อขาว ทางวัดตรังคภูมิ ฯ ได้ต่อเติมพระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง และทาสีทองทั่วทั้งองค์พระ ทำให้ชื่อหลวงพ่อขาวเลือนไป
พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง

           มีข้อมูลอยู่ในมรดกทางวัฒนธรรม

| ย้อนกลับ | บน |