| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

พื้นป่า

           ป่าต้นน้ำ  ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ มีพื้นที่ป่าต้นน้ำอยู่ ๘ ป่าสุดท้ายอยู่ดังนี้
               - ป่าเทือกเขาบรรทัด แปลงที ๑ ตอนที่ ๑  อยู่ในเขตอำเภอนาโยงและอำเภอเมือง ฯ เป็นป่าต้นน้ำของน้ำตกเขาข่อง คลองช่อง และคลองละมอ รวมกันเป็นคลองนางน้อยก่อนไหลไปบรรจบแม่น้ำตรัง ในเขตอำเภอเมือง ฯ
               - ป่าเทือกเขาบรรทัด แปลงที่ ๑ ตอนที่ ๒  อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า ในเขตอำเภอห้วยยอด เป็นต้นน้ำของน้ำตกปากแจ่ม คลองลำภูรา คลองท่างิ้ว ในเขตตำบลในเต่า คลองหินแท่น ในเขตตำบลปากแจ่ม ไปบรรจบกับคลองยางหยวน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำตรัง ในเขตตำบลเขากอบ
               - ป่าเทือกเขาบรรทัด แปลงที่ ๑ ตอนที่ ๓  พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า ในเขตอำเภอรัษฎา เป็นต้นกำเนิดคลองสำคัญคือ คลองมวน คลองกะปาง และคลองน่าประดู่
               - ป่าเทือกเขาบรรทัดแปลงที่ ๒ ตอนที่ ๑  อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ในเขตอำเภอปะเหลียน เป็นต้นกำเนิดของน้ำตก และคลองหลายสาย ที่ไหลผ่านอำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน ได้แก่ คลองลำแคลง คลองปะเหลียน คลองลำปลอก คลองไหนุ้ย คลองสอ คลองลำพิกุล คลองลำข่า คลองลำขนุน มารวมกันเป็นแม่น้ำปะเหลียน และยังมีคลองที่ไหลลงสู่ทะเลอันดามันโดยตรง ได้แก่ คลองลิพัง คลองวังอ่างทอง คลองหลักขันและคลองแร่
           ในเขตนี้ยังมีพื้นที่รอยต่อของเขตจังหวัดตรัง สตูลและพัทลุง คือ บ้านตระ เป็นพื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้นหนึ่ง ที่ยังคงผืนป่าสมบูรณ์ และเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารนับร้อยสาย ไหลลงไปหล่อเลี้ยงพื้นที่โดยรอบทั้งสามจังหวัด ส่วนที่เป็นของจังหวัดตรังได้แก่ คลองปะเหลียนและลำห้วยต่าง ๆ อำนวยประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ ๓๗๐,๐๐๐ ไร่ ในเขตอำเภอปะเหลียน และอำเภอย่านตาขาว
           บ้านตระเคยเป็นเส้นทางผ่านจากพัทลุงเพื่อออกสู่ทะเล มีหลักฐานการตั้งรกรากของกลุ่มชนในสมัยโบราณ พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และเศษเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องปั้นดินเผาในถ้ำ
           เหนือบ้านตระ มีภูเขาสูงคือ เขาเจ็ดยอด สามารถเดินทางขึ้นไปจากสามจังหวัดคือตรัง พัทลุงและสตูล เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่นิยมของนักเดินป่า ผู้รักธรรมชาติ
                - ป่าไส - ป่าแก่  พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ - บางคราม ในเขตอำเภอวังวิเศษ เป็นต้นกำเนิดคลองลำลุง คลองช่องงาย คลองทรายขาว คลองส้านแดงและคลองชี คลองเหล่านี้ไหลมาบรรจบกับคลองชี แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำตรัง ในเขตตำบลหนองตรุด อำเภอเมือง ฯ  นอกจากนี้ยังมีคลองกะลาเสใหญ่ ไหลผ่านอำเภอสิเกา ลงสู่ทะเลอันดามัน  ป่าแห่งนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกร้อยชั้นพันวัง อีกด้วย
                - ป่าสายคลองร่มเมือง ป่าสายควนและป่าเขาอายักลิ้ง  อยู่ในเขตอำเภอสิเกา เป็นต้นกำเนิดคลองสำคัญคือ คลองสิเกาไหลลงสู่ทะเลอันดามัน
                - ป่าสายควนหลาและป่าเขาหวาง  อยู่ในเขตอำเภอสิเกา เป็นต้นน้ำของคลองอ่างทอง น้ำตกอ่างทอง คลองผมเด็น จากตำบลไม้ฝาด ไหลผ่านตำบลนาเมืองเพชร รวมกันเป็นคลองสว่าง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำตรัง ในเขตตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง ฯ  อีกสายหนึ่งคือ คลองหละ เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับทำน้ำประปาในอำเภอสิเกา ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ระหว่างหาดปากเมงกับหาดฉางหลวง
                - ป่าเขาหวาง ป่าควนแดงและป่าน้ำราบ  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสิเกา และอำเภอกันตัง เป็นต้นกำเนิดคลองนกยูง คลองไม้แดง คลองห้วยไทร คลองน้ำเค็ม ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ส่วนคลองน้ำราบ คลองสิเหร่ และคลองทะลุ ไหลไปบรรจบแม่น้ำตรังในเขตอำเภอกันตัง
           ป่าชายเลน  บริเวณช่องรอยต่อระหว่างน้ำจืดน้ำเค็มไปจนถึงปากแม่น้ำ เป็นผืนป่ากว้างใหญ่ เรียกว่า ป่าชายเลน ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าป่าบก จากการตกตะกอนของดินเลนเป็นปัจจัยให้เกิดพรรณไม้หนาแน่น มีแนวเขตเป็นชั้น ๆ คือตามริมฝั่งจะมีปีปี แสม โกงกางหรือพังกา ลำพู ลำแพน ประสักโปร่ง  ถัดเข้าไปจะมีไม้อื่น ๆ เช่น ตะบูน ฝาด ตีนเป็ด ตาตุ่ม เป็นต้น  แนวเขตสุดท้าย จะมีไม้เสม็ดซึ่งเริ่มเป็นป่าพรุ แนวนี้ถือเป็นเขตติดต่อระหว่างป่าชายเลนกับป่าบก
            ป่าชายเลนมีระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการวางไข่ และเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน ป่าชายเลนจึงเป็นแหล่งต้นชีวิตของสรรพสัตว์ในทะเล
            พรรณไม้ป่าชายเลนหลายชนิด มีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรรักษาโรค จากการสำรวจเบื้องต้นในเขตหมู่บ้านบางแห่ง ในเขตตำบลตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ และในเขตตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา มีพืชสมุนไพรถึง ๕๗ ชนิด
            ในอดีต จังหวัดตรังมีป่าชายเลน เป็นแหล่งผลิตถ่านไม้โกงกางแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของภาคใต้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระยารัษฎา ฯ (คอซิมบี้  ณ ระนอง) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง มีรายงานการส่งออกไม้โปรงไปยังมลายูและปีนัง
            ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มีการให้สัมปทานแก่เอกชน ทำไม้ในป่าชายเลนเพื่อเผาถ่าน จากนั้นถ่านไม้ก็เป็นสินค้าสำคัญของเมืองตรัง ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ อำเภอปะเหลียน อำเภอกันตังและอำเภอสิเกา มีเตาเผาถ่านไม้โกงกาง จำนวน ๔๖ ราย ผลิตถ่านได้เดือนละประมาณ ๑๓,๘๐๐ ลูกบาศก์เมตร ส่งออกไปขายถึงสหพันธรัฐมลายูในสมัยนั้นด้วย
น้ำตก
            บรรดาสายธารที่ไหลมาหล่อเลี้ยงชาวตรังก่อนไหลลงสู่ที่ราบลุ่ม ได้ไหลผ่านโขดเขา ผาสูงและแนวป่า เกิดเป็นน้ำตกจำนวน
มากมาย มีทั้งโตนคือ น้ำตกที่กระโจนจากหน้าผาสูง และหนานคือน้ำตกที่ไหลเลาะผ่านชั้นหินเตี้ย ๆ  น้ำตกที่สำคัญมีชื่อเสียงรู้จักกันดี พอประมวลได้ดังนี้

           น้ำตกเขาช่อง  เป็นน้ำตกที่มีชื่อของจังหวัดตรัง อยู่ในเขตตำบล อำเภอนาโยง น้ำตกชั้นบนที่ไหลลงมาจากผาสูงเรียกโตนน้ำปลิว ตอนล่างชื่อโตนใหญ่ และโตนน้อย ไหลหลั่นลงมาเป็นลำธาร ต้องประสบความเสียหายครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ด้วยน้ำป่า อันเป็นผลจากการทำลายป่าในตอนบนของเขาช่อง

           น้ำตกสายรุ้ง  อยู่ในเขตตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว  เป็นน้ำตกสูงมองเห็นประกายรุ้งในละอองน้ำ เมื่อสะท้อนแสงแดดในยามบ่าย เป็นต้น น้ำที่ไหลลงสู่คลองลำพิกุล

           น้ำตกไพรสวรรค์  อยู่ในเขตตำบลโพรงจรเข้ ทางเดินของสายน้ำจากน้ำตกไพรสวรรค์คือ คลองสอ ซึ่งไหลไปบรรจบคลองปะเหลียน
           น้ำตกลำปลอก  เป็นน้ำตกบนเขาสูง อยู่ในเขตตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน บริเวณน้ำตกแห่งนี้ เป็นที่ตั้งโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ และยังมีฝายทดน้ำคลองลำปลอก ก่อนที่จะไหลไปบรรจบคลองปะเหลียน
           น้ำตกน้ำพ่าน  อยู่ในเขตตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน ในบริเวณป่าโปร่ง เป็นพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ มีน้ำตกเล็ก ๆ นับจำนวนไม่ถ้วนกระจายกันอยู่ทั่วบริเวณ แล้วไหลลงสู่ลำน้ำแคลง หากขึ้นไปทางต้นน้ำจะพบน้ำตกลักษณะเดียวกัน กระจายอยู่ทั่วป่าคลองช่องเขา น้ำตกพ่านได้ชื่อตามลักษณะของน้ำตกเพราะคำว่า พ่าน ภาษาถิ่นใต้แปลว่ากระจาย
           น้ำตกโตนเต๊ะ  อยู่ในเขตตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน เป็นน้ำตกสูงใหญ่ มีความสูงประมาณ ๓๒๐ เมตร จนอาจเรียกได้ว่าเป็นราชาแห่งน้ำตก สามารถมองเห็นสายน้ำตกและเสียงน้ำตกแต่ไกล น้ำตกแห่งนี้ อาจมีน้ำน้อยลงบ้างในฤดูแล้ง แต่ไม่เคยเห็นเหือดแห้ง

           น้ำตกโตนตก  อยู่ในเขตตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน ลักษณะเด่นคือ น้ำตกชั้นแรกมีหน้าผากว้าง สายน้ำไหลผ่านแท่นหินขนาดใหญ่ที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้น เหนือขึ้นไปมีทางเดินสู่น้ำตก ซึ่งมีอยู่หลายชั้น ที่สวยงามมากคือ ชั้นที่สาม สายน้ำจากโตนไหลตกลงมารวมกับสายน้ำจากกน้ำตกโตนเต๊ะเป็นคลองปะเหลียน
           น้ำตกเจ้าพะ  อยู่ที่บ้านเจ้าพะ ตำบลแหลมสอม ตอนสูงสุดของน้ำตกชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกคลองดง ตามชื่อคลองต้นน้ำ เป็นน้ำตกที่สายน้ำไหลลดหลั่นเป็นชั้นเชิงลงตามแนวหินปูนมีวังน้ำใสกระจายอยู่ทั่วไป บริเวณใกล้น้ำตกเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเงาะป่าหรือชนเผ่าซาไก
           น้ำตกเขาหลัก  มีต้นกำเนิดจากเขาหลักแล้วไหลลงมาเป็นสายห้วยไปบรรจบกับคลองลำภูรา
           น้ำตกปากแจ่ม  อยู่ในเขตตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด ชาวบ้านเรียกน้ำตกนี้ว่าโตนอ้ายเล มีอยู่หลายชั้น สายน้ำไหลไปลงคลองลำภูรา ก่อนที่จะไหลไปบรรจบแม่น้ำตรัง
           น้ำตกอ่างทอง  มีต้นกำเนิดจากป่าสายควนหละ เขาวาง สายน้ำมีสีค่อนข้างเหลือง จึงเป็นที่มาของชื่ออ่างทอง
           น้ำตกโตนคลาน  เป็นน้ำตกเล็ก ๆ อยู่ในเขตตำบลห้วยยอด มีต้นกำเนิดจากควนในเหยา แล้วไหลลงสู่คลองห้วยยอดก่อนไหลไปบรรจบแม่น้ำตรัง
           น้ำตกร้อยชั้นพันวัง  อยู่ในเขตตำบลคลองชี อำเภอวังวิเศษ บริเวณแนวตะเข็บระหว่างจังหวัดตรัง กับจังหวัดกระบี่ เป็นน้ำตกหินปูนในบริเวณพื้นที่กว้าง ประกอบด้วยน้ำตกน้อยใหญ่นับร้อยนับพัน เป็นที่อยู่ของนกแต้วแร้วท้องดำ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |