| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
- หัวเมืองฝั่งตะวันตก หลังสมัยเจ้าพระยานคร
ฯ (น้อย) แล้ว ความสำคัญของเมืองตรังลดน้อยลง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หัวเมืองทางฝั่งตะวันตกได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากเมืองหลวง โดยจัดให้ภูเก็ตเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครอง
บางช่วงก็มาตั้งที่เมืองตรัง
การเข้ามามีบทบาทของข้าหลวงฝั่งตะวันตก เริ่มจากปี พ.ศ.๒๔๑๗ กรรมกรจีนก่อความไม่สงบในหัวเมืองฝั่งตะวันตก
เกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ของกรรมกรจีนในภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เมืองตรังเป็นศูนย์กลางของข้าหลวงพิเศษ
แต่ข้าหลวงคนต่อ ๆ มาจะไปประจำการที่ภูเก็ตมากกว่าเมืองตรัง
จากการตรวจราชการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ได้มีการโอนจากการเป็นเมืองในกำกับของนครศรีธรรมราชมาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ
ฯ มีการกำหนดเขตแดน การแยกเก็บภาษีอากรและบำรุงการค้า โดยให้พระยารัตนเศรษฐี
(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง มารักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการ
เพื่อพัฒนาเมืองตรัง ได้มีการบำรุงการค้าขายด้วยการส่งเสริมการเพาะปลูก นำกุลีจีนเข้ามาทำไร่อ้อย
เพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลทรายแดงส่งขายปีนัง โดยมีเรือใบสามหลักมารับถึงคลองโด๊ะหร้า
ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ พระยารัตนเศรษฐี ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง หลังจากนั้นเมืองตรังก็อยู่ในความปกครองของข้าหลวงฝั่งตะวันตกต่อไปจนถึงปี
พ.ศ.๒๔๓๑ พระตรังภูมาภิบาล
(เอี่ยม) เชื้อสายเจ้าพระยานคร ฯ ได้เป็นเจ้าเมืองตังคนต่อมา สมัยนี้เองที่ราษฎรได้ยื่นฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ว่าถูกเจ้าเมืองกดขี่และขอเจ้าเมืองคนใหม่
ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้
ทรงเห็นว่า เมืองตรังทรุดโทรม จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอัษฎงทิศรักษา
(คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองกระ มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง รับบรรดาศักดิ์ใหม่เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
เมืองตรังที่กันตัง
เมื่อพระยารัษฎา ฯ มารับตำแหน่งในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาความทรุดโทรมของเมืองตรัง
วิธีการแรกคือ การขอผูกขาดภาษีอากรที่เรียกว่า ระบบเหมาเมือง
โดยให้พ่อค้าชาวบจีนรับช่วงแทน ทำให้สามารถแก้ปัญหาชาวจีนสร้างอิทธิพล ไม่ขึ้นต่อบ้านเมืองด้วยการควบคุมผ่านเจ้าภาษี
การแก้โจรผู้ร้ายชุกชุม ใช้วิธีการจัดตั้งกองตำรวจประจำเมืองตรัง จัดให้มีเรือกลไฟลาดตระเวณ
ปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังและติดตามจับกุม กำหนดท่าเรือสำหรับจอดเรือ หกท่าเท่านั้น
มีกันตัง สิเกา กะลาเส ท่าพญา หยงสตาร์
และเกาะสุกร ให้ออกทะเบียนเรือเพื่อป้องกันการปล้นเรือ
พระยารัษฎา ฯ ได้วางแนวทางพัฒนาเมืองตรัง โดยมีนโยบายให้เป็นเมืองเกษตรกรรม
ส่งเสริมให้ราฎรจับจองพื้นที่บุกเบิกทำไร่นา และลดหย่อนการเกณฑ์ให้แก่ผู้ทำนา
ส่งเสริมให้ปลูกพืชหลายชนิด แทนที่จะปลูกพริกไทยเป็นหลัก ดังที่เป็นมาแต่เดิม
พืชที่ปลูกได้แก่ มะพร้าว หมาก จันทน์เทศ กาแฟ เกณฑ์ให้ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ประจำบ้าน
แต่ละบ้านต้องปลูกพืชผลต่าง ๆ และพืชผักสวนครัวอย่างละห้าต้น เลี้ยงไก่ห้าแม่
จากนั้นก็ส่งเสริมการจำหน่ายโดยให้จัดตลาดนัด แล้วชักชวนให้พ่อค้าต่างประเทศเข้ามารับซื้อสินค้า
และตั้งบริษัทการค้าที่กันตัง เพื่อทำการค้ากับปีนังและมลายู
พระยารัษฎา ฯ เห็นว่า เมืองที่ควนธานีไม่เหมาะที่จะขยายให้เป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ
จึงเตรียมการสร้างเมืองใหม่ที่กันตัง และขอพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองตรังไปที่กันตัง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อย้ายเมืองแล้วได้เริ่มส่งเสริมการนำพันธุ์ยางพารามาให้ทดลองปลูก
ปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบกและทางน้ำให้ดีขึ้น สร้างสะพาน ตัดถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน
ตำบล อำเภอ และเมืองใกล้เคียง ถนนสายสำคัญคือถนนสายตรัง - พัทลุง ที่เรียกว่า
ถนนพับผ้า
วางโครงการท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟที่จะมาจอดที่สถานีกันตัง
ซึ่งเป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก
ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้มีข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๕ เมืองตรังแบ่งออกเป็นห้าอำเภอคือ
อำเภอเมือง ฯ (กันตัง) อำเภอบางรัก อำเภอเขาขาว (ห้วยยอด) อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา
มี ๑๐๙ ตำบล
เมืองตรังที่ทับเที่ยง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ เมืองตรังได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ด้วยเหตุผลหลายประการได้แก่
ที่กันตังไม่ปลอดภัย จากศึกสงครามเพราะขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ทั้งยังอยู่ในที่ลุ่ม เกิดอหิวาตกโรคทุกปี พื้นที่แคบขยายตัวเมืองได้ยากและไม่เป็นย่านกลางติดต่อราชการเหมือนที่ตำบลทับเที่ยง
ซึ่งมีผู้คนมากและการค้าเจริญกว่าตำบลอื่น ๆ
เมืองตรัง หลังปี พ.ศ.๒๔๗๕
ผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดตรังคือ นายจัง จริงจิตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ มีนายกเทศมนตรีคนแรกคือ
หลวง วิชิตภักดี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ คณะกรรมการจังหวัดตรังชุดแรกเปิดประชุม
ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
- สมัยสงครามมหาอาเซียบูรพา
จังหวัดตรังนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งในเป้าหมายของกองทัพญี่ปุ่น กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดตรัง
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีการตั้งค่ายที่ควนตำหนักจันทน์ จวนพระยารัษฎา
ฯ และจวนพระสกล ฯ ในเขตอำเภอกันตัง ส่วนที่อำเภอเมือง ฯ นั้น ได้ไปตั้งอยู่ที่บริเวณ
ตำหนักผ่อนกาย อำเภอห้วยยอด ที่เขาห้วยแห้ง อำเภอปะเหลียน ที่บ้านท่าข้าม
และที่บ้านนาโยง ในทะเลและปากแม่น้ำตรัง มีเรือญี่ปุ่นเข้ามาปฏิบัติการ และได้วางทุ่นระเบิดไว้ป้องกันข้าศึก
- สถานการณ์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในจังหวัดตรัง
เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๐ มีกลุ่มนักการเมืองดำเนินการจัดตั้งกลุ่มและสมาคม
มาถึงปี พ.ศ.๒๕๐๑ - ๒๕๐๒ มีการจับกุมและกวาดล้างจนต้องสลายตัว
ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ มีการดำเนินงานขึ้นอีกในกลุ่มสมาชิกเก่า มีสามชิกบางคนที่ผ่านการศึกษาอบรมจากประเทศเวียดนามเหนือ
ได้เข้ามาจัดตั้งและขยายมวลชน โดยในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้จัดตั้งค่ายพักขึ้นเป็นครั้งแรกในเขตตำบลน้ำผุด
อำเภอเมือง ฯ ทางราชการได้ทำการกวาดล้างอย่างจริงจัง ทำให้ญาติพี่น้องหรือผู้ที่เคยสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้หนีเข้าป่า
การดำเนินการของ ผคท. ในเขตจังหวัดตรังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๑๒
มีการประสานงานระหว่าง ผทค.จังหวัดตรังกับ ผคท.จังหวัดพัทลุง มีการเคลื่อนไหวอยู่ทั่วไปแทบทุกพื้นที่
ได้แก่ อำเภอเมือง ฯ อำเภอห้วยยอด อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน และอำเภอสิเกา
ทางราชการจึงจัดให้มีหน่วยเฉพาะกิจ ฯ มาตั้งอยู่ที่อำเภอย่านตาขาว
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีขบวนการนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดตรัง
ร่วมกันทำกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย จนถูกมองว่าเป็นแนวร่วมของ ผคท. เมื่อเกิดเหตุการณ์
๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ขบวนการผู้รักประชาธิปไตยในจังหวัดตรัง ต้องสลายกลุ่มและหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก
หลังปี พ.ศ.๒๕๑๙ การปะทะกันระหว่างทางการกับ ผคท.เป็นไปอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น
มีการจัดตั้งหมู่บ้าน อพป. ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ และมีคำสั่งกองทัพบกจัดตั้งหน่วยกองพันที่
๔ กรมทหราราบที่ ๕ ขึ้นที่บ้านลำภูรา อำเภอห้วยยอด เพื่อปฏิบัติการทางทหารควบคู่กับการรุกทางการเมือง
ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ เน้นการปฏิบัติงานทางการเมืองมากขึ้น
ประกอบกับความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ปฏิบัติการของ
ผคท.ในประเทศไทย ทำให้สมาชิกบางส่วนค่อยทะยอยคืนเมืองอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติการทางทหารของ
พคท.ในจังหวัดตรัง เริ่มลดลงตั้งแต่นั้นมา
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |