| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
    ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์

           มีโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหิน ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากเสก็ดหินปูนขนาดใหญ่ และทำจากหินควอตซ์ เครื่องมือหินขัดทั้งขวานหินไม่มีบ่าและมีบ่า โบราณวัตถุประเภทดินเผาทั้งแบบเรียบ และแบบลายเชือกทาบ และโบราณวัตถุประเภทภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ
           แหล่งโบราณคดีที่ปรากฎร่องรอยเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้แก่ เขาเจ้าไหม ตำบลลิบง อำเภอกันตัง  ถ้ำเขาไม้แก้ว ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา  ถ้ำหมูดิน ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด  เขาหญ้าระ ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน  ถ้ำซาไก ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน  ถ้ำเขาปินะ ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด  ถ้ำเขาสามบาตร ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง ฯ  ถ้ำตรา ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด  ถ้ำเขาน้ำพราย ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด  ถ้ำหน้าเขา ตำบลช่อง อำเภอนาโยง
           ขวานหินขัดทั้งประเภทไม่มีบ่าและมีบ่า พบอยู่ทั่วไปในถ้ำตามภูเขาลูกโดด แถบลุ่มแม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน และคลองนางน้อย หรืออาจพบตามริมตลิ่ง ตะพักแม่น้ำ ชาวบ้านใช้ขวานหินเหล่านี้ไปวางไว้บนลอมข้าวในยุ้งฉาง เชื่อว่าป้องกันหนูไม่ให้เข้ามากินข้าว บ้างก็แช่ไว้ในกะละออมน้ำดื่มเพื่อป้องกันโรคอันเกิดจากการดื่มน้ำได้ หมอสวดบ้านพลีเรือนเรียกว่า หินผ่านฟ้า หรือหินขวานฟ้า ใช้ประกอบพิธีสวดบ้านพลีเรือน ขับไล่อุบาท์วฟ้าดินได้
           ที่หน้าผากาแบนะ ในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีภาพเขียนสีเป็นภาพปลากระบอกที่ชาวบ้านเรียกว่า ปลาหล้อปัน และหัวสัตว์ป่าคล้ายเสือ
           แหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก และถ้ำหน้าเขา  เป็นชุมชนเขตป่าเขาอันเป็นต้นน้ำ ถ้ำเขาไม้แก้ว ถ้ำเขาปินะและถ้ำเขาสามมาตร เป็นชุมชนเขตทุ่งราบลุ่มน้ำ ส่วนเขาเจ้าไหมและเขาแบนะเป็นชุมชนเขตชายฝั่งทะเล
           ความเป็นหมู่ตรังเขา  ตรังทุ่ง ตรังเล จึงมีมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งเทียบอายุกับถ้ำซาไกได้ว่าเป็นยุคก่อนยุคหินใหม่ มีอายุอยู่ระหว่าง ๖,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
           การศึกษาถ้ำซาไก  เปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ได้สรุปให้เห็นภาพวิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในเขตจังหวัดตรัง

           เครื่องมือหินกะเทาะ เป็นขวานหินในชั้นวัฒนธรรมที่ ๑ ซึ่งใช้กันในยุคหินเก่าตอนปลาย เครื่องมือ สะเก็ดหิน และสะเก็ดหิน เครื่องมือหินเหล่านี้ใช้ล่าสัตว์ และใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำเครื่องมือล่าสัตว์อื่น ๆ เช่น ไม้ซาง หรือขอเลา - ลูกดอก ตลอดถึงเครื่องดักจับสัตว์ต่าง ๆ อันเป็นเครื่องมือไม้
           นอกจากพบตัวอย่างเมล็ดพืชจำนวนมากในกองไฟที่ถ้ำซาไกแล้ว ยังพบแกลบที่ถ้ำแกลบ เขาปินะ แสดงว่าคนสมัยนั้นบริโภคธัญพืชด้วย
           ถ้ำต่าง ๆ เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว และมีการโยกย้ายเปลี่ยนที่อยู่ใหม่อยู่ตลอดเวลา ตามลักษณะฤดูกาลของแหล่งอาหาร และในกรณีที่มีคนตายในหมู่ของตน หลังจากการฝังศพโดยใส่เครื่องมือเครื่องใช้ของผู้ตายในพิธีกรรมฝังศพแล้วก็จะอพยพโยกย้ายไปทันที
           ภาพเขียนสีเขาแบนะ รูปปลาแสดงโครงร่างภายในลักษณะเดียวกับรูปปลาที่เขาเทียน ตำบลเกาะปันหยี จังหวัดพังงา และรูปปลาแสดงโครงร่างภายนอกตกแต่งด้วยลายเส้น ภายในถ้ำผีหัวโต อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

           เศษภาชนะดินเผาหม้อสามขา จากถ้ำเขาปินะ ถ้ำเขาสามบาตร แสดงอารยธรรมมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ว่ามีการหุงต้มให้สุกก่อนบริโภค
            ถิ่นฐานก่อนประวัติศาสตร์  แบ่งออกได้เป็นสี่ลักษณะ ตามสถานที่ตั้งคือ
                - หมู่เขา  ได้แก่ ถ้ำซาไก ถ้ำหน้าเขา
                - หมู่ทุ่งชายเขา  ได้แก่ ถ้ำเขาน้ำพราย ถ้ำตรา ถ้ำหมู่ดิน และถ้ำเขาหญ้าระ
                - หมู่ทุ่งราบริมแม่น้ำ ได้แก่ ถ้ำเขาปินะ ถ้ำเขาสามบาตร ถ้ำเขาไม้แก้ว
                - หมู่เล  ได้แก่ ถ้ำเขาเจ้าไหม เขาแบนะ และถ้ำเขาโต๊ะแนว
           เมื่อพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดี แหล่งชุมชนทั้งหมดมีทั้งในยุคก่อนหินใหม่ ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ ชนเหล่านั้นอาศัยถ้ำเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว ตามฤดูกาลที่ธรรมชาติให้ผลผลิต
ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์
           ความเป็นชุมชนเหล่านี้เล่าขานโดยตำนานอันเป็นมุขปาฐะ และวรรณกรรมลายลักษณ์ในรูปแบบจดหมายเหตุ รอยจารึกตัวหนังสือที่ผนังถ้ำเช่น ถ้ำเขาสามบาตร ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง ฯ ถ้ำเขาพระ ตำบลคลองปาง อำเภอรัษฎา และพระพิมพ์ดินดิบ วัดคีรีวิหารถ้ำเขาสาย ใกล้วัดหูแกง และถ้ำเขาขาว อำเภอห้วยยอด
           ชุมชนก่อนสมัยศรีวิชัย  จากจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ ของนักภูมิศาสตร์ชาวกรีก เมืองอเล็กซานเดรีย ได้เขียนเรื่องราวของบ้านเมืองทางตะวันออก ตามคำบอกเล่าของพ่อค้าชาวเมืองนั้น จดหมายเหตุดังกล่าวมีอายุประมาณปี พ.ศ.๖๙๓ - ๗๐๙ สรุปว่าแม่น้ำตรังมีอยู่ในจดหมายเหตุนั้น
           เมืองตะโกนา ในจดหมายเหตุ หรือเมืองตักโกละ ในคัมภีร์มิลินทปัญหาของพระปิฎกจุฬาภัยเถระ มีอายุอยู่ประมาณ พ.ศ.๕๐๐ คือเมืองตรังกรุงธานีเก่า ที่บ้านหนาน อำเภอรัษฎา  สมมติฐานดังกล่าวมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับในประเด็นว่า บริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง เป็นแหล่งชุมชนระดับเมืองมาแล้ว ตั้งแต่ยุคต้นพุทธกาล จังหวัดตรังเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย มีความสำคัญด้านการคมนาคมข้ามคาบสมุทรมลายูเส้นทางหนึ่ง
           ชุมชนสมัยศรีวิชัย  อาณาจักรศรีวิชัยมีอายุอยู่ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๕๐ ตรงกับสมัยราชวงศ์ถังและเลยมาถึงสมัยห้าราชวงศ์ของจีน (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๕๐๓)  อาณาจักรศรีวิชัยครอบคลุมแหลมมลายูตลอดถึงหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย ศาสนาพุทธฝ่ายมหายานเป็นศาสนาประจำอาณาจักรนี้
            จังหวัดตรังเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย มีความสำคัญด้านการคมนาคมข้ามคาบสมุทรมลายูเส้นทางหนึ่งมาแต่โบราณ  ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ ดินแดนภาคใต้ของไทยมีชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางแว่นแคว้นอยู่สี่แห่งคือ แคว้นไชยา แคว้นนครศรีธรรมราช แคว้นสทิงพระและแคว้นปัตตานี  สองแคว้นแรก มีการติดต่อกับชุมชนฝั่งทะเลตะวันตก โดยผ่านอำเภอพระแสง แล้วผ่านไปยังอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และเดินทางผ่านช่องเขาหินปูน ไปออกฝั่งทะเลตะวันตก ในเขตจังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ ตามลำดับ
           ตรังจึงเป็นเมืองท่าสำคัญในฐานะที่เป็นประตูสู่ตะวันตกของแว่นแคว้นในคาบสมุทรมลายู
           ชุมชนสมัยนครศรีธรรมราช  เมื่อพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ ได้แพร่หลายเข้ามาแทนที่ฝ่ายมหายาน (วัชรยาน) อย่างศรีวิชัย  ความเป็นชุมชนในจังหวัดตรังได้รับการบันทึกไว้ในรูปตำนานเรื่องเล่านอกเหนือจากหลักฐานเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ
           ตามตำนานชุมชน จะพบว่ามีชุมชนตั้งเรียงรายอยู่ตามลำแม่น้ำตรังสายหนึ่ง และตั้งอยู่ตามแนวเทือกเขาบรรทัดอีกสายหนึ่ง
           สายแรก เล่ากันว่ามีพระภิกษุสงฆ์ และอุบาสกจากลังกานำทรัพย์สมบัติไปบูชาพระบรมธาตุ และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ได้แก่ ตำนานการสร้างวัดย่านเกลื่อน ตำนานการสร้างพระพุทธรูปที่ถ้ำพระองค์กลาง วัดเขาปินะ ตำนานการสร้างวัดหูแกลง ฯลฯ
           สายที่สองเป็นตำนานนางเลือดขาว แบ่งออกเป็นสองสายย่อยคือสายตำนานเมืองพัทลุงและสายตำนานพื้นบ้านเมืองตรัง ชื่อชุมชนที่อ้างถึงในตำนานสายที่สอง มีวัดพระพุทธสิหิงค์ อำเภอนาโยง  ชุมชนรอบ ๆ วัดพระงาม อำเภอเมือง ฯ
           ชุมชนสมัยอยุธยา ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ในสมัยอยุธยามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่อ เนื่องจากชุมชนดั้งเดิมสมัยศรีวิชัย และนครศรีธรรมราชคือ จารึกผนังถ้ำเขาสามบาตร อำเภอเมือง ฯ  จารึกหน้าผา วัดเขาพระ อำเภอรัษฎา  ตรารูปวงกลม ที่ถ้ำตรา เทือกเขาน้ำพราย ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด  ตรารูปวงกลมที่หน้าผา วัดเขาพระ อำเภอรัษฎา  จารึกผนังถ้ำเขาสามบาตร
           มีหลักฐานการสำรวจชุมชนในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๕ ถือได้ว่าเป็นการสำรวจสำมะโนครัวครั้งแรกของเมืองตรัง พบว่าหมู่บ้านชุมชนต่าง ๆ แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ถือแม่น้ำตรังเป็นหลัก คือฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตก มี ๕๒ ตำบล ๗๒๐ ครัวเรือน
           กรมการเมืองมีบรรดาศักดิ์หลวง ขุน หมื่น  ตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้พยาบาลเมืองคือหลวงอุภัยราชธานี  นอกนั้นสังกัดมหาดไทย กรมปืน นครบาล กรมนา กรมสรรพากร กรมช่างเกณฑ์กำปั่น กองตระเวน  ถือศักดินาสูงสุด ๑,๖๐๐  ต่ำสุด ๒๐๐  รวม ๓๒ ตำแหน่ง
           ชุมชนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงปัจจุบัน  แบ่งออกเป็นหมู่เขา (ภูเขา)  หมู่เล (ทะเล)  หมู่ทุ่ง และหมู่หลาด (ตลาด)

                - หมู่เขา  ผู้คนประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ตามชายเขา เชิงควน ทำนาระหว่างช่องควน เรียกว่านายาว  หมู่เขา สามารถย้อนอดีตไปได้ถึงต้นรัตนโกสินทร์ หมู่เขาปลูกบ้านเรือนอยู่ริมลำคลองไปจนเกือบถึงยอดน้ำ มีผลไม้พื้นเมืองทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและปลูกเพิ่มเติม ตามสองฝั่งลำคลอง ตลอดถึงไม้พื้นล่างเป็นพืชผักและสมุนไพร
           หมู่เขามักถูกมองว่าล้าหลังไม่ทันสมัย ในช่วงสมัยสงครามอุดมการณ์ทางลัทธิการเมือง พื้นที่เขตป่าเขาเป็นฐานที่มั่นและสมรภูมิ

                - หมู่เล  ก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๔ มีปลาให้จับกินจับขายได้มากมายไม่รู้จักหมด  ห้วงเวลาต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ - ๒๕๓๔ ป่าชายเลนถูกทำลายถึงขีดสุด และหมดสิ้นสภาพอย่างถาวร โดยสัมปทานตัดไม้เผาถ่าน และกิจกรรมเพาะเลี้ยงชายฝั่งมีกุ้งกุลาดำเป็นสำคัญ การจับสัตว์น้ำโดยเรือประมงผิดกฎหมาย เป็นเหตุทำลายล้างทรัพยากรทางทะเล หาปลาได้น้อย  หลังปี พ.ศ.๒๕๓๑ เริ่มมีการปลูกป่าชายเลนชุมชน ฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การรณรงค์ให้เลิกทำประมงด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย ทำให้ปลาที่เคยสูญหายไปกลับมีมาอีก

                - หมู่ทุ่ง  ตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน และลำน้ำสายต่าง ๆ ที่เรียกกันว่าคลอง มีการทำนาเป็นอาชีพหลัก ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเริ่มด้วยยางพารา ปาล์มน้ำมัน การทำเกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสม
                - หมู่หลาด  เริ่มด้วยหมู่จีนที่ทับเที่ยงก่อน หมู่จีนจากซัวเถาเข้ามาขายแรงงานในเหมืองแร่ สวนพริกไทย สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  เป็นเจ้าเมืองตรัง พวกที่มาทางเรือเข้าปากอ่าวแม่น้ำตรัง บ้างก็หยุดทำประมงที่กันตัง บ้างเลยไปซื้อแร่ดีบุกถึงห้วยยอด แล้วเดินทางเข้าไปในป่าเขาทำสวนยางพารา จนได้ชื่อว่าสวนจีน
           ที่ตลาดย่านตาขาว  ทุ่งยาวและทุ่งข้าม เป็นที่อยู่ของหมู่จีนที่เข้ามาทางปากอ่าวแม่น้ำปะเหลียน ขึ้นบกที่คอกหินควายส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมาขึ้นบกที่ท่าเรือหยงสตาร์ ศาลเจ้าพระร้อยเก้า ซึ่งเป็นศาลเจ้าแห่งแรกในจังหวัดตรัง
           หมู่จีน  เมืองตรังก็เหมือนหมู่จีนเมืองอื่น ในประเทศไทยที่พอถึงชั่วคนที่สามก็เป็นคนไทย
           หมู่หลาด เป็นศูนย์กลางความเจริญ ความทันสมัย หมู่หลาดเมื่อ ๖๐ - ๘๐ ปีมาแล้ว นิยมส่งลูกหลานไปเรียนที่ปีนัง เพิ่งมานิยมเรียนตามระบบการศึกษาไทย ส่งลูกไปเรียนที่กรุงเทพ ฯ หลังจากนั้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |