| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
การใช้น้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
มีโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำขนาดเล็กจากน้ำตกลำปลอก อยู่ในเขตตำบลโพรงจระเข้
อำเภอย่านตาขาว อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพลังงานแห่งชาติ
ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้แก่หมู่บ้านใกล้เคียง โดยต่อเชื่อมเข้ากับสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ที่บ้านลำปลอกเหนือ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ใช้งานได้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ผลิตไฟฟ้าได้
๗.๑๑ ล้านหน่วยต่อปี ประหยัดการใช้น้ำมันผลิตกระแสไฟฟ้า ได้เป็นมูลค่าปีละประมาณ
๕ ล้านบาท
ป่าไม้
ป่าไม้ในเขตจังหวัดตรัง แยกประเภทตามลักษณะป่าได้เป็น ๕ ประเภทคือ
ป่าดงดิบ
เป็นป่าดงดิบชื้น ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือลาดเขาที่มีความชันมากกว่าร้อยละสามสิบ
ส่วนใหญ่อยู่ในแถบทิศตะวันออก ของอำเภอนาโยง อำเภอห้วยยอด และอำเภอรัษฎา บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุก
ป่าชนิดนี้ประกอบด้วยต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีลำต้นสูงใหญ่ และมีพันธุ์ไม้เลื้อยอยู่หนาแน่น
พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง ยุง กะบาก หลุมพอ ตะเคียน ขนุนป่า บุนนาค พิกุลป่า
มะม่วงป่า สีเสียดชอ ตีนเป็ด ตับหนู ตาเสือ บังกาก จำปาป่า มันหมู ทองสุก
อินทนิล ทัง รักเขา พะยอม หรา สมอตีนเป็ด ส้าน เจตปูน กะมด
เฉพาะในป่าเขาช่องได้สำรวจพบพันธุ์ไม้อื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น ไข่เขียว กฤษณา
หวายห้าสกุล รวม ๒๓ ชนิด และมีพืช สมุนไพร ไผ่ พืชวงศ์ปาล์ม พืชวงศ์เฟิร์นและพืชวงศ์กล้วยไม้
ป่าผสมบริเวณภูเขาหิน เป็นป่าโปร่งและไม้พุ่ม ไม้ที่พบได้แก่ สลัดได จันทน์ผา เตยเขา ปรงเขา ปาล์ม รองเท้านารี ฯลฯ ป่าลักษณะนี้มีอยู่ทั่วไป ที่เป็นป่าผืนใหญ่ที่สุด คือ ที่เขาน้ำพราย อำเภอห้วยยอด
ป่าพรุ
เป็นป่าไม้ยืนต้นที่อยู่ในลุ่มน้ำท่วมขังตลอดปี มีต้นไม้จำพวกจิก กระโดน อินทนิลน้ำ
โสกน้ำ หว้า ป่าสาคูก็ถือว่าเป็นป่าพรุ เช่นกัน ป่าพรุที่เป็นดินทรายจะมีต้นเสม็ดขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น
และมีต้นไม้ชนิดอื่นปะปนอยู่บ้าง
ป่าพรุมีกระจายอยู่ทุกอำเภอ เช่น บริเวณทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว และบริเวณรอบนอกของเขตเทศบาลเมืองตรัง
ป่าชายหาด
เป็นป่าโปร่ง มีพื้นที่เล็กน้อยอยู่ตามชายทะเล ต้นไม้ที่สำคัญได้แก่ สนทะเล
หูกวาง โพทะเล กระทิง ตีนเป็ดทะเลมีต้นเตยและหญ้าต่าง ๆ ขึ้นอยู่เป็นไม้พื้นล่าง
ป่าชายหาดที่สมบูรณ์เห็นได้ชัดอยู่ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
หาดหยงหลิงและหาดยาว
ป่าชายเลน
เป็นป่าที่พบบริเวณหาดโคลน หรือหาดเลนริมทะเลที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งได้แก่บริเวณปากแม่น้ำลำคลอง
ที่ไหลลงทะเล อยู่ในเขตอำเภอสิเกา อำเภอกันตัง อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน
และกิ่งอำเภอหาดสำราญ
พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ที่พบในป่าชายเลนได้แก่ แสม ปีปี โกงกาง หรือพังงา ประสัก
ลำพู ลำแพน ถั่วดำ ถั่วขาว รังกะแท้ โปรง ตะบูน ฝาด ตีนเป็ดทะเล ตาตุ่ม หงอนไก่ทะเล
หรือดุหุน หลุมพอทะเล เหงือกปลาหมอ จาก เป้ง ปรงหนู ปรงทะเล หรือปิไห เป็นต้น
การจัดทรัพยากรป่าไม้
มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นเขตต่าง ๆ เช่น เขตป่าสงวนแห่งชาติในจังหวัดตรัง มีอยู่
๖๔ แห่ง พื้นที่ประมาณ ๑,๔๗๖,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณร้อยละ ๔๘ ของพื้นที่จังหวัด
เป็นพื้นที่ป่าบก ๕๑ แห่ง ป่าชายเลน ๑๓ แห่ง
-
อุทยานแห่งชาติ
มีสามแห่งคือ อุทยานแห่งชาติเขาปู่ - ย่า อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และอุทยานแห่งชาติเขาเภตรา
-
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
มีสามแห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ
- บางคราม
-
เขตห้ามล่าสัตว์
มีสามแห่งคือ เขตห้ามล่าสัตว์หมู่เกาะลิบง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าคลองลำขาบ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพราย
-
วนอุทยาน
มีหนึ่งแห่งคือ วนอุทยานน้ำพ่าน
-
พื้นที่สัมปทานป่าชายเลน
ยังมีป่าสัมปทานเก่า ที่เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๗ - ๒๕๒๘ และจะหมดสัมปทานในปี
พ.ศ.๒๕๔๔ - ๒๕๔๕ รวม ๔๔ โครงการ เป็นพื้นที่ประมาณ ๑๗๕,๐๐๐ ไร่ ซึ่งชะลอการดำเนินการต่าง
ๆ เอาไว้
-
พื้นที่ปลูกป่า
เป็นการปลูกป่าตามโครงการรัฐและเอกชน เป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๖๖,๐๐๐ ไร่
-
พื้นที่ป่าเพื่อการวิจัย
มีอยู่สี่หน่วยงาน เป็นพื้นที่ประมาณ ๒๑,๐๐๐ ไร่ ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้เขาช่อง
สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ทุ่งค่าย สถานีวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้กันตัง สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาช่อง
ประชากร
จากเอกสารรายงานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงประชากรในจังหวัดตรัง
เป็นสามกลุ่ม ได้แก่ ไทย จีน และแขก
ไทย
คือกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม อยู่ในบริเวณเขาควน และที่ราบลุ่มแม่น้ำ นับเป็นหมู่เขาและหมู่ทุ่ง
จีน
คือพวกอพยพจากโพ้นทะเล มาตั้งถิ่นฐานตามที่ราบริมฝั่งทะเลและท่าเรือ เพื่อสะดวกในการติดต้อค้าขาย
และกลายเป็นหมู่ตลาด
แขก
ได้แก่ กลุ่มชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อยู่ตามชายฝั่งทะเลและเกาะนับเป็นหมู่เล
กลางป่าทางตอนใต้ของเทือกเขาบรรทัด บริเวณพรมแดนที่เป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดตรัง
พัทลุง และสตูล มีชนอีกกลุ่มหนึ่งเร่ร่อน อาศัยอยู่มาแต่ครั้งบุรพกาลคือ ชน
เผ่าซาไก
ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ชนเผ่าซาไกในแถบเขาบรรทัดมีอยู่ประมาณ ๑๐๐ คน คือที่ตำบลแม่ขรี
จังหวัดพัทลุง ที่อำเภอควนโคน และอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดยะลา ส่วนหนึ่งอยู่ที่บ้านลิพัง
อำเภอปะเหลียน ซึ่งมีมากที่สุดประมาณ ๕๐ - ๖๐ คน
ภาษา
โดยทั่วไปใช้ภาษาถิ่นใต้เป็นหลัก มีใช้ภาษากลางบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในการสื่อสารที่เป็นทางการ
และการเรียนการสอนของสถานศึกษา การใช้ภาษาจีนและภาษามลายูมีน้อยมาก คงเหลือเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นเก่าเท่านั้น
ศาสนา
ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกลุ่มคนไทยดั้งเดิม และคนไทยเชื้อสายจีน
คือในกลุ่ม หมู่เขา หมู่ทุ่ง และหมู่ตลาด รองลงมาเป็นศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่คือ
หมู่เล นอกจากนั้นเป็นคริสศาสนาซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อย สรุปได้คือ นับถือพุทธศาสนาประมาณร้อยละ
๘๓ และนับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ ๑๗
อาชีพ
การประกอบอาชีพด้านการเกษตรถือเป็นอาชีพสำคัญ ตั้งแต่เขตตรังเขาลงมาถึงตรังนา
การทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก นอกจากนั้นมีการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ เช่น ปาลม์น้ำมัน
ข้าว ผลไม้ และพืชผัก
เขตตรังเล ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก มีพื้นที่ทำการประมงประมาณสามล้านไร่
ประชากรประมงในหมู่บ้านประมงชายฝั่ง ๖๕ หมู่บ้าน ประมาณ ๒๘,๐๐๐ คน มีเรือประมงประมาณ
๒,๗๐๐ ลำ แรงงานประมงประมาณ ๗,๘๐๐ คน มูลค่าการผลิตในสาขาประมงเป็นอันดับสองรองจากยางพารา
ในหมู่ตลาดหรือตรังเมืองคือ ศูนย์กลางของธุรกิจ และอุตสาหกรรมในจังหวัดตรัง
ส่วนใหญ่เป็นผลต่อเนื่องจากการเกษตร อันดับแรกคือ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับยางพารา
มีโรงงานยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางรัดของ ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา และแปรรูปทำของเล่นเด็กจากไม้ยางพารา
มีแรงงานประมาณ ๕,๒๐๐ คน อุตสาหกรรมน้ำมันปาลม์ มีแรงงานประมาณ ๓๐๐ คน อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการประมงคือการแปรรูปสัตว์น้ำ
อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และปลาป่น มีแรงงานประมาณ ๓,๓๐๐ คน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจปลีกย่อยอื่น
ๆ เมื่อรวมกับอุตสาหกรรมที่กล่าวมาแล้ว มีคนงานประมาณ ๑๖,๖๐๐ คน
การศึกษา
การศึกษาของจังหวัดตรังมิได้แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ คือ ในยุคแรกที่ใช้วัดวาอารามต่าง
ๆ เป็นสถานศึกษามีพระภิกษุเป็นผู้ให้ความรู้ เน้นในการอ่านออกเขียนได้เป็นสำคัญ
การศึกษาวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ และความเป็นอยู่ถ่ายทอดกันมาในตระกูล
ผู้ชายจะได้บวชเรียน และศึกษาจากพระภิกษุสงฆ์ในวัดอีกทางหนึ่ง ส่วนผู้หญิงต้องเรียนรู้การเรือน
หรืองานอาชีพอยู่กับบ้าน
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาของประเทศไทยได้พัฒนาไปสูสากลมากขึ้น
จังหวัดตรังเริ่มมีโรงเรียน และพัฒนาการศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ยุคแรกเริ่มระบบโรงเรียน
ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ประเทศไทยมีโครงการจัดระบบการศึกษาใหม่ โดยแบ่งออกเป็นสองภาค
คือภาคหนึ่งว่าด้วยการศึกษาในกรุงเทพ ฯ และภาคสองว่าด้วยการศึกษาในหัวเมือง
โดยกำหนดให้มณฑลต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาในมณฑล โดยจัดวัดให้เป็นโรงเรียนตามประเพณีนิยมมาแต่โบราณของไทย
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้แบ่งการศึกษาเป็น ๒ ประเภทคือ สายสามัญกับสายวิสามัญ
(อาชีพ)
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ และ พ.ศ.๒๔๕๒ ได้เน้นการศึกษาทางวิชาชีพมากขึ้น และเพิ่มเติมการศึกษาสำหรับสตรี
ยุคต่อมา
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๓ - ๒๕๐๓ แผนการศึกษาของชาติเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงอีกหลายครั้งคือ
โครงการศึกษา พ.ศ.๒๔๕๖ แผนการศึกษา พ.ศ.๒๔๕๘ โครงการศึกษา พ.ศ.๒๔๖๔
แผนการศึกษา พ.ศ.๒๔๗๕ แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.๒๔๗๙ และแผนการศึกษาชาติ
พ.ศ.๒๔๙๔
ขณะนั้นจังหวัดตรังมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา เกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง มีการเปิด
โรงเรียนราษฎร์บำรุง
ขึ้นในวัดต่าง ๆ ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ มีโรงเรียนวัดหนึ่งแห่ง และ
โรงเรียนประชาบาล
๔๖ แห่ง มีนักเรียน ๑,๓๕๖ คน ครู ๕๐ คน โรงเรียนประชาบาลเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
โรงเรียนราษฎร์บำรุง เพราะทางราชการเรี่ยไรเงินจากชายฉกรรจ์คนละหนึ่งบาทต่อปี
โดยกรมการอำเภอเป็นผู้เก็บเงิน และออกใบเสร็จให้ เงินนี้ใช้สำหรับจ่ายเงินเดือนครู
ส่วนอาคารโรงเรียนนั้น ราษฎรช่วยหาไม้และออกแรงก่อสร้าง
ในช่วงแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.๒๔๖๔ มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นน้อย โรงเรียนเปิดใหม่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่หลังแผนการศึกษาชาติ
พ.ศ.๒๔๗๕ มีโครงการจัดสร้าง
โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด
การศึกษาด้านอาชีพ เริ่มเปิด
โรงเรียนประถมวิสามัญเกษตรกรรม
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
โรงเรียนช่างไม้ตรัง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
โรงเรียนการช่างสตรี
เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๔
ในช่วงนี้มี
โรงเรียนจีนเกิดขึ้น
โดยพ่อค้าหมู่จีนร่วมกันตั้งขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของตน โดยให้เรียนภาษาจีนควบคู่กันไปด้วย
โรงเรียนแห่งแรกเปิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ กิจการดำเนินมาด้วยดี มีการขออนุญาตก่อตั้ง
สมาคมบำรุงการศึกษาตรัง
พร้อมกับที่โรงเรียนจีนก็เปิดขึ้นทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอสิเกา ต่อมาทางรัฐบาลมีนโยบายการเมืองบางประการทำให้ต้อง
ยุบโรงเรียนจีนทั้งหมด
ในปี
พ.ศ.๒๔๘๔ หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงมีโรงเรียนจีนเกิดขึ้นใหม่อีก
พ.ศ.๒๕๐๓ ถึงปัจจุบัน ในช่วงปี
พ.ศ.๒๕๐๓ มีการ
ขยายการศึกษาภาคบังคับ
จาก ๔ ปี เป็น ๗ ปี แบ่งประถมออกเป็นสองระดับ ประถมต้น ๔ ปี (ป.๑ -
๔) ประถมปลาย ๓ ปี (ป.๕ - ๗) โรงเรียนประชาบาลสอนเฉพาะระดับประถมต้น
ส่วนชั้นมัธยมนั้นมีสองระดับคือ มัธยมศึกษาตอนต้น (มศ.๑ - ๓) และมัธยมศึกษาตอนปลาย
(มศ.๔ - ๕) ระยะแรกมีเฉพาะโรงเรียนประจำจังหวัดเท่านั้น โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอเปิดครั้งแรก
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ และได้ขยายไปครบทุกอำเภอในปี พ.ศ.๒๕๑๙ พร้อมกับเริ่มมีโรงเรียนมัธยมประจำตำบล
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕
ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ตรงกับการเริ่มต้น
แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่
๔ (พ.ศ.๒๕๒๐ - ๒๕๒๔) กำหนดให้ปรับปรุงโครงสร้างระดับประถมศึกษาเป็นระดับเดียว
๖ ปี มัธยมศึกษาเป็นสองระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น ๓ ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย
๓ ปี โรงเรียนประถมทุกแห่ง ต้องขยายเป็น ๖ ชั้น และขยายการศึกษาภาคบังคับได้ทุกตำบลในปี
พ.ศ.๒๕๒๖
ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ได้มีการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เปิดการเรียนการสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ในโรงเรียนประถมศึกษาที่มีความพร้อม
-
ด้านอาชีวศึกษา
ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ โรงเรียนการช่างสตรีได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษา ต่อมาในปี
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รวม โรงเรียนอาชีวศึกษา และโรงเรียนการช่างตรัง เป็น
โรงเรียนเทคนิคตรัง
และได้ยกฐานะเป็น
วิทยาลัยเทคนิคตรัง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ส่วนโรงเรียนเกษตรกรรมตรัง ได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัย เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๐ และเปลี่ยนชื่อเป็น
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙
มีการเปิดสถานศึกษาเพิ่มขึ้น ใช้หลักสูตรการสอนคล้าย ๆ กัน ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพตรัง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ วิทยาลัยสารพัดช่างตรัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ และขยายวิทยาลัยการอาชีพไปยังอำเภอรอบนอก
-
สถาบันระดับอุดมศึกษา
ได้แก่
วิทยาลัยพลศึกษาตรัง
เปิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ ต่อมาได้เปิด
วิทยาลัยชุมชนศรีตรัง
ในวิทยาลัย
มีการเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยร่วมมือกับสถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราช
เปิดภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ มีโครงการขยายการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทรวิทยาเขตตรัง
เปิดสอนในระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์การจัดการ ได้เปิดสอนภาคพิเศษระดับปริญญาโท
ในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เปิดสอนในระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |