| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

แหล่งน้ำ
           จากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก และการกระทำของน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดพื้นที่ที่เรียกว่า หลุมยุบและหลุมจม  กลายเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ บางส่วนเคยเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึง บางแห่งมีแร่ธาตุใต้ดิน ทำให้เกิดเป็นน้ำร้อน น้ำพราย สภาพดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดตรัง มีทั้งรูปของห้วย หนอง คลอง วัง สระ และบ่อ ดังนี้

           ทะเลสองห้อง  อยู่ในเขตอำเภอห้วยยอด เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่คล้ายทะเลสาบคู่ อยู่กลางวงล้อมของภูเขาและป่า คือป่าเขารางสาด ในเขตตำบลบางดี น้ำในทะเลสองห้องใส เวลาลมสงบน้ำจะนิ่งแลเห็นเงาเขาและต้นไม้แจ่มชัดราวกับอยู่ในกระจกเงา เหนือผิวน้ำจะมีฝูงนกเป็ดน้ำบินให้เห็นอยู่เสมอ เป็นแหล่งปลาที่ชาวบ้านจับได้ตลอดปี แต่ปัจจุบันทางการได้ประกาศห้ามจับสัตว์น้ำทุกชนิด

           สระกระพังสุรินทร์  เป็นหนองน้ำธรรมชาติในเขตเมือง มีพื้นที่ประมาณ ๕๐ ไร่ เป็นแหล่งปลาน้ำจืด และนกเป็ดน้ำเช่นเดียวกับแหล่งน้ำอื่น ๆ เดิมชื่อ หนองตะเคียนคู่ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามของชาวเมืองตรัง ได้มีการพัฒนาครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔
           บ่อน้ำร้อน  ในเมืองตรังมีอยู่สองแห่ง อยู่ที่อำเภอกันตัง และที่อำเภอปะเหลียน

                 - บ่อน้ำร้อนที่บ้านควนแดง  ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง ลักษณะเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ในป่าพรุ อุณหภูมิของน้ำสูงประมาณ ๗๐ องศาเซลเซียส บางครั้งมีฟองพรายผุดพลุ่งขึ้นมาพร้อมกับมีกลิ่นกำมะถันจาง ๆ ทางราชการเคยเข้าไปพัฒนา ทำเป็นคันขอบคอนกรีตในบางตอน แต่ส่วนใหญ่ยังคงสภาพเดิม บ่อน้ำร้อนแห่งนี้จัดเป็นบ่อน้ำแร่ที่เชื่อกันว่าสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคผิวหนัง โรคปวดเมื่อย
                 - บ่อน้ำร้อนที่บ้านควนสระ  อยู่ในเขตตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน บริเวณที่เป็นบ่อน้ำร้อนอยู่ตอนปลายของคลองสุโสะ ซึ่งน้ำเค็มขึ้นถึง เวลาน้ำคลองจะแห้งตามบริเวณริมคลอง และท้องคลองหลายแห่งมีแอ่งน้ำร้อนที่มีฟองผุดพลุ่งกระจายอยู่ บางครั้งน้ำในบ่อร้อนมากขนาดต้มไข่สุก และมีกลิ่นกำมะถันด้วย
           ห้วยน้ำพราย  อยู่ที่บ้านน้ำพราย ตำบลปากคม อำเภอห้วยยอด เป็นลำห้วยที่มีลักษณะพิเศษคือ จะมีพรายน้ำผุดพลุ่งขึ้นมาทุกครั้งที่มีเสียงรบกวน จึงได้ชื่อว่าห้วยน้ำพราย
ถ้ำ
            ในเขตพื้นที่ลอนลูกฟูกมีเขาหินปูนกระจายอยู่ในเขตเขา จนมาถึงกลางทุ่งของตัวเมืองตรัง ภูเขาบางลูกถูกน้ำกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นโพรงถ้ำมีหินงอกหินย้อยงดงาม บางแห่งมีสายน้ำไหลคดเคี้ยวไปตามโพรง บางแห่งเป็นแหล่งโบราณคดี บางแห่งได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

           ถ้ำเขาช้างหาย  เขาช้างหายเป็นภูเขาขนาดย่อมตั้งอยู่กกลางทุ่งนากว้าง อยู่ในเขตตำบลหมื่นศรีอำเภอนาโยง มีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่งในเขาลูกนี้ได้ชื่อมาจากตำนานสมัย เมื่อบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชกล่าวถึง ขบวนผู้คนที่เดินทางไปร่วมพิธี และลูกช้างในขบวนหายเข้าไปในถ้ำจนหาไม่พบ
            ภายในถ้ำประกอบด้วย ถ้ำเล็กถ้ำน้อยติดต่อถึงกัน บางตอนมีแอ่งน้ำใสเย็นขังอยู่กลางถ้ำ แต่ละถ้ำมีการตั้งชื่อไว้ตามลักษณะของถ้ำ เช่น ถ้ำเพกา ถ้ำพรายทอง ถ้ำโอ่ง ถ้ำลบ เป็นต้น ทางด้านทิศตะวันตก มีห้วยน้ำใสลอดออกมาจากใต้ถ้ำ มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
           ถ้ำเขาพระวิเศษ  อยู่ในเขตตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ ตัวถ้ำอยู่ในเขาพระวิเศษ ตามตำนานเกี่ยวกับพระพุทธรูป และทรัพย์สมบัติตามลายแทง ต่อมาเรียกสั้นลงเป็นเขาวิเศษ และต่อมาเหลือชื่อเพียงเขาเศษ
             เขาพระวิเศษ  เป็นเขาที่ตั้งอยู่สูงเด่นในกลุ่มเขาและควนย่อม ๆ ที่รายล้อมอยู่ได้แก่ เขานุ้ย เขาเสือ ควนกลาง และควนลุงเขียว มีวังนกน้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันออก บริเวณเขาพระวิเศษมีพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ ภายในมีถ้าซับซ้อนอยู่หลายแห่ง ถ้ำที่รู้จักกันแต่เดิมคือ ถ้ำบนยอดเขา ชาวบ้านเคยพบพระพิมพ์ดินดิบ พระพุทธรูปไม้และเคยมีผู้พบเศษภาชนะดินเผาด้วย
           ถ้ำทะเลเขากอบ  อยู่ในเขตตำบลเขากอบ ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำเล เขากอบเป็นภูเขาหินปูนโดด มีลำคลองโอบล้อม และไหลทะเลลอดภายในคือถ้ำเขากอบ ลำคลองรอบถ้ำเชื่อมต่อกับทางเข้าถ้ำซึ่งมีอยู่ถึงเจ็ดช่องทาง บางช่องเรือเข้าได้ บางช่องเป็นเพียงทางเดินเท้า ในเส้นทางที่เรือเข้าได้จะวกวนไปมา มีความยาวไม่น้อยกว่า ๔ กิโลเมตร นักล่องเรือลอดถ้ำ มีจุดแวะขึ้นชมความงามของถ้ำน้อยใหญ่ได้หลายจุด เช่น ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำรากไทร ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำเจ้าบ่าว ถ้ำเจ้าสาว เป็นต้น
             ความสวยงามตามธรรมชาติที่โดดเด่นคือ หลอดหินย้อยนับแสนนับล้านแท่งประดับประดาอยู่ตามผนังถ้ำ บางตอนมีแสงแวววาวจากหยดน้ำตรงปลายแท่งเล็ก ๆ
             เขากอบมีพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ ส่วนที่เป็นถ้ำมีพื้นที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ ภายในถ้ำมีน้ำขังตลอดปี บริเวณเขากอบทั้งภายในและภายนอก เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด มีทั้งปลาน้ำจืด กุ้ง หอย และมีปลาตูหนา หรือปลาไหลหูดำ ที่มีอยู่มากจนได้ชื่อว่า ถ้ำปลาตูหนา นอกจากนั้นภายในถ้ำยังมีค้างคาวอยู่เป็นจำนวนมาก
หาดทราย
            จัหวัดตรัง มีหาดทรายที่สวยงามอยู่หลายแห่ง จนมีคำขวัญส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองตรังอยู่ตอนหนึ่งว่า เสน่ห์หาดทรายงาม
           หาดปากเม็ง  เป็นหาดทรายที่มีชื่อเสียงรู้จักกันมานาน เป็นหาดรูปโค้งจันทร์เสี้ยว มีเขาเม็งทอดตัวเป็นแนวยาวเหมือนปราการกำบังคลื่นลม อยู่ในเขตตำบลไม่ฝาด อำเภอสิเกา
           หาดหัวหิน  อยู่ที่บ้านหัวหิน อำเภอปากเม็ง มีหมู่หินเหนือหาดทรายจนได้ชื่อว่า หาดหัวหิน หาดนี้จะเกิดจากแผ่นดินงอก และแผ่นดินหายสลับกันทุกช่วง ๖ - ๗ ปี
           หาดฉางหลาง  อยู่ในเขตอำเภอสิเกา เป็นที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาเจ้าไหม ตามแนวชายหาดยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร เต็มไปด้วยดงลำเจียก หรือปาหนันที่ส่งกลิ่นหอมกรุ่นในยามเย็น และที่ปลายโค้งของชายหาดเป็นที่ตั้งของเขาลูกเล็ก ๆ ชื่อ เขาแบนะ มีภาพเขียนสีก่อนประะวัติศาสตร์อยู่ในหน้าผา
           หาดหยงหลิง หาดสั้นและหาดยาว  เป็นหาดทรายในหมู่บ้านเจ้าไหม ตำบลเกาะลิบง ส่วนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่
             สัญลักษณ์ของเจ้าไหมคือ เขาเจ้าไหม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นโขดเขารูปกระโดงฉลาม ที่โดดเด่นทาบกับท้องฟ้าสีคราม
                 - หาดหยงหลิง  เป็นหาดรูปโค้งที่มีโขดเขาคั่นริมทะเล ตอนน้ำลงมีช่องให้ลอดออกไปหน้าผา และชายหาดระหว่างโขดเขา จากชายหาดด้านนี้ มีถ้ำเดินทะเลออกไปยังป่าโปร่งริมทาง และยังมีหาดดอนในชื่อ หาดสั้น จากหาดหยงหลิงมีหาดทรายยาวไปจดเขาเจ้าไหม มีความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร จึงเรียกว่า หาดยาว ตรงมุมโค้งของโขดเขามีอ่าวเล็ก ๆ ชื่อ อ่าวปอ อีกกด้านหนึ่งของฟากเขาต่อจากปลายสุดของหาดยาวใกล้เชิงเขาเป็นหาดทรายอีกตอนหนึ่ง หันออกสู่เกาะลิบงชื่อ หาดเจ้าไหม
             ต่อจากหมู่บ้านมีคลองเจ้าไหม ลึกเข้าไปมีเขาย่อมชื่อ เขาโต๊ะแนะ  และเขาอื่น ๆ อีกหลายลูก ภายในมีถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย ในถ้ำเขาโต๊ะแนะเคยมีผู้พบลูกปัดโบราณ เศษเครื่องกระเบื้องดินเผา และโครงกระดูกมนุษย์อีกเป็นจำนวนมาก
             ทางใต้ของปากน้ำปะเหลียน  มีชายทะเลที่สวยงามได้แก่ หาดสำราญ แหลมตะเสะ และนาทะเลที่กิ่งอำเภอสำราญ และสุดแดนชายทะเลเมืองตรังคือ แหลมหยงสตาร์ ในเขตตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน
กาะ

            น่านน้ำเมืองตรังมีเกาะน้อยใหญ่อยู่ ๔๖ เกาะ แต่ละเกาะมีลักษณะของธรรมชาติแตกต่างกัน บางเกาะเป็นที่อยู่อาศัย บางเกาะเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งทรัพยากรสำคัญ
           เกาะลิบง  เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง ปัจจุบันมีชุมชนหลักอยู่สามหมู่บ้านคือ บ้านบาตูปูเต๊ะ หรือหน้าบ้าน มีสะพานท่าเรือโดยสารติดต่อกับกันตังได้ บ้านหลังเขา เป็นแหล่งหาดทราย ปะการังน้ำตื้นและหอยร้อยรู หรือหอยเป๋าฮื้อ บ้านพร้าว เป็นท่าเรืออีกแห่งหนึ่งและเป็นแหล่งประวีติศาสตร์
             จากปากคลองบ้านพร้าวไปตามชายหาดด้านตะวันตกเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าหลังเขา มีน้ำตกเล็ก ๆ เรียกกันว่า น้ำตกทุ่งหญ้าคา ผู้ที่มาเล่นน้ำทะเล จะมาอาบน้ำล้างน้ำเค็มกันที่นี่ ด้านตะวันออกของปากคลองบ้านพร้าว มีที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า แหลมจุโหย เดิมเป็นที่ตั้งด่านภาษีปัจจุบันเป็นแหล่งชุมนุมนกหายาก ทั้งที่อพยพมาจากต่างถิ่น และนกประจำถิ่น และยังเป็นแหล่งอาศัยของหอยชักตีนอีกด้วย
             เขตภูเขาและผืนป่าของเกาะลิบง เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้มีค่า และสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น กวาง เก้ง กระจง ในลำห้วยบ้านหลังเขามีปลาตูหนาชุกชุม รอบเกาะมีแนวหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารของพะยูน
           เกาะมุก  อยู่ในเขตปกครองของตำบลเกาะลิบง ชุมชนหมู่บ้านของเกาะมุกอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ระหว่างหาดหัวแหลมกับอ่าวพังงา ชายฝั่งของเกาะมุกรายรอบด้วยหญ้าทะเล และแนวปะการัง บริเวณแหลมหินด้านทิศเหนือของเกาะ เป็นแหล่งปะการังอ่อนที่หนาแน่นและสวยงาม
            ด้านทิศตะวันตกของเกาะมุก ส่วนหนึ่งคือผืดผาหินเป็นแนวยาว ใต้ผืดผาแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ ถ้ำมรกต ที่สวยงามเป็นเสมือนอัญมณีแห่งท้องทะเลอันดามัน ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำน้ำ ปากถ้ำเป็นโพรงเล็ก ๆ พอเรือลอดเข้าได้ในช่วงน้ำลง โพรงแคบ ๆ มีช่วงยาวประมาณ ๘๐ เมตร เมื่อถึงปากถ้ำจะเห็นน้ำทะเลสีใสมรกต มีหาดทรายขาวสะอาด โอบด้วยหน้าผาสูงชัน แลเห็นท้องฟ้าสีครามอยู่เบื้องบน ผนังผามีต้นไม้ใบเขียวแซมอยู่โดยตลอด
           เกาะกระดาน  อยู่ในเขตตำบลเกาะลิบง  เมื่อมองจากฝั่งหาดยาว แลดูเหมือนภูเขาห้าลูกตั้งอยู่เป็นพืชติดต่อกัน ด้านหน้าเกาะเป็นหาดทรายขาวสะอาด ที่ปลายหาดด้านหนึ่ง มีแนวปะการังทอดยาวมาถึงชายฝั่งที่มีน้ำตื้น ๆ เห็นปลาสีสวย ๆ แหวกว่ายไปมาในดงปะการัง เมื่อน้ำลดปะการังเหล่านี้จะโผล่พ้นน้ำ ปะการังส่วนใหญ่เป็นปะการังสมอง และปะการังเขากวาง
           เกาะเชือก เกาะแหวน  อยู่ไม่ไกลจากเกาะกระดาน มีแหล่งปะการังน้ำลึก ที่เกาะเชือกกระแสน้ำเชี่ยวแรงมาก ห่างจากเกาะเชือกไม่มากเป็นเกาะไหนและเกาะม้า ซึ่งมีแหล่งปะการังที่สวยงามสมบูรณ์ที่สุดในทะเลแถบนี้ เกาะไหและเกาะม้า อยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ แต่เดินทางไปจากจังหวัดตรังได้สะดวกกว่า
           เกาะสุกร  อยู่ในเขตอำเภอปะเหลียน ชาวบ้านเรียกว่า เกาะหนู เป็นแหล่งปลูกแตงไม่ได้รสดี และอร่อยที่สุดในเมืองตรัง หาดทรายชายทะเลของเกาะนี้มีความสวยงามไม่แพ้เกาะอื่น
           เกาะเภตรา แหละเกาะเหลาเหลียง  อยู่ในเขตอำเภอปะเหลียน ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งครอบครุมพื้นที่ไปถึงจังหวัดสตูลด้วย ไม่ไกลจากเกาะเภตรา มีเกาะอีกคู่หนึ่งคือ เกาะเหลาเหลียงเหนือ และเกาะเหลาเหลียงใต้ บริเวณนี้เป็นทั้งแหล่งดำน้ำชมปะการัง นอกจากนั้นบนหน้าผาที่สูงชัน ยังมีรังนกนางแอ่นอยู่ด้วย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |