| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถานและโบราณวัตถุ
            ในเขตจังหวัดอุทัยธานี เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงปัจจุบัน ได้พบโบราณวัตถุที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย โบราณวัตถุที่พบทำจากอิฐ หิน ดินเผา โลหะ ฯลฯ ได้แก่ เครื่องมือหินต่าง ๆ เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา อาวุธที่ทำจากโลหะเป็นต้น
            สำหรับโบราณสถานมีทั้งสมัยก่อนประวติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ พอประมวลได้ดังนี้
            แหล่งโบราณคดี  มีอยู่สองแหล่งด้วยกันคือ
                แหล่งโบราณคดีราปลาร้าหรือเขาปลาร้า  อยู่ที่บ้านชายเขา ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ภาพเขียนสีที่เพิงผาภูปลาร้า แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในชุมชนบริเวณนี้ว่าเป็นชุมชนสังคมเกษตรกรรม ที่มีแบบแผนและพิธีกรรม ภาพที่พบได้แก่ภาพสัตว์เลี้ยง ภาพคนจูงวัว และภาพขบวนแห่เป็นต้น

                แหล่งโบราณคดีบ้านลาดหลุมเข้า  อยู่ที่บ้านลาดหลุมเข้า อำเภอหนองขาหย่าง มีลักษณะเป็นเนินรูปยาว ตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีแนวลำห้วยหลุมเข้าเป็นขอบเขตด้านเหนือ
                จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า แหล่งโบราณคดีแหล่งนี้มีมนุษย์อาศัยอย่างน้อยสองสมัยคือ
                    สมัยก่อนประวัติศาสตร์  พบภาชนะดินเผาแบบต่าง ๆ เช่นลายเชือกทาบ ขัดมัน ปั้นดินมาต่อเติม เครื่องประดับ ลูกปัดแก้ว และลูกปัดหินสีต่าง ๆ เครื่องมือเหล็ก ขวานหินขัด ขวดดินเผา โครงกระดูก มนุษย์จำนวนมาก เครื่องมือจากกระดูกสัตว์ ลูกกระสุนดินเผา รูปปั้นตุ๊กตาดินเผา กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า แหวน ลูกกระพรวนสำริด และตะกรัมจากการถลุงโลหะ
                    สมัยประวัติศาสตร์  พบภาชนะดินเผาลายกดประทับ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงและสมัยราชวงศ์ชิง
            โบราณสถานสมัยประวัติศาสตร์  พบเมืองโบราณอยู่หลายเมืองด้วยกันคือ

                เมืองโบราณการุ้ง  อยู่ในตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ พื้นที่เป็นที่ราบ ตัวเมืองเป็นรูปวงรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐๐ เมตร คูเมืองชั้นเดียว กว้างประมาณ ๒๐ เมตร ลึกประมาณ ๓ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๖ เมตร สูงจากระดับพื้นดินภายในเมืองประมาณ ๑ เมตร

                หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ได้แก่ ระฆังหิน สระน้ำโบราณ พระพุทธรูป เทวรูป ขวานหิน เครื่องประดับ เรือขุดโบราณทำจากไม้ทั้งต้น เศษภาชนะดินเผา และซากเจดีย์ อยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองห่างออกไปประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่
                เมืองโบราณบึงคอกช้าง  อยู่ในตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ ตัวเมืองโบราณตั้งอยู่ในป่า คูเมืองกว้างประมาณ ๒๐ เมตร เนินดินสูงประมาณ ๗ เมตร มีกำแพงดินล้อมรอบประตูเข้าเมืองทั้งสี่ทิศ ริมประตูเมืองมีสระน้ำ เฉพาะด้านทิศตะวันออกมีคูน้ำอีกชั้นหนึ่ง สันนิษฐานว่าขุดเพื่อเชื่อมโยงกับลำห้วยทางด้านตะวันออก เพื่อให้น้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงในคูเมืองและกักเก็บน้ำไว้ใช้

                หลักฐานทางโบราณคดีที่พบได้แก่ อิฐขนาดใหญ่ขนาด ๑๘ x ๔๑ x ๙ เซนติเมตร เครื่องปั้นดินเผาประเภทหม้อ ไหสีดำและสีน้ำตาล ทั้งหนาและบาง เครื่องมือโลหะประเภทใบมีด ใบหอก ทำด้วยเหล็ก เครื่องประดับ ลูกปัดสีต่าง ๆ ห่วงดีบุก และศิลาจารึกเป็นภาษาปัลลวะสมัยทวารวดี
                เมืองโบราณบ้านคูเมือง   อยู่ในตำบลดงขวาง อำเภอหนองขาหย่าง ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐๐ เมตร มีคูน้ำคันดินสองชั้น คันดินครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๒๐ เมตร ขอบคันดินลาดเอียงเป็นท้องกะทะ คูน้ำตื้นเขิน

                หลักฐานทางโบราณคดีที่พบได้แก่ ระฆังหินจำนวนหลายใบ หินบดยา พระพิมพ์ดินเผา พระพิมพ์เนื้อสำริด แจกันดินเผา ขวานหินขัด เศษเครื่องปั้นดินเผา ตุ๊กตาดินเผา รูปกวางหมอบเหลียวหลัง และซากเจดีย์
                เมืองโบราณบ้านด้าย  อยู่ในตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอเมือง ฯ ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปวงรี มีแม่น้ำล้อม กว้างประมาณ ๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร พื้นที่ภายในคูเมืองประมาณ ๘๐ ไร่ มีคูน้ำคันดินเป็นขอบเขตเมืองโดยรอบ มีสระน้ำโบราณพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ตารางวา อยู่ในสภาพใช้การได้
            ย่านประวัติศาสตร์  มีอยู่แห่งเดียวคือชุมชนชาวจีนบ้านสะแกกรัง
                ชุมชนชาวจีนบ้านสะแกกรัง  ชาวอุทัยธานีใช้บ้านสะแกกรังเป็นบ้านท่าสำหรับติดต่อทางน้ำกับเมืองอื่น ๆ เช่น เมืองนครสวรรค์ และเมืองชัยนาท บ้านสะแกกรังเป็นชุมชนสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
                ในรัชสมัยพระบาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการอพยพถ่ายเทประชาชนชาวแม่กลอง หนองหลวง (หมู่บ้านเก่าในเขตอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) ไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่บ้านแม่กลอง และบ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
                สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ชาวจีนได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในเขตเมืองชัยนาท เมืองนครสวรรค์ และบ้านสะแกกรัง ทำการเพาะปลูกและแลกเปลี่ยนสินค้า
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงการดูแลชาวจีน โดยให้มีการแต่งตั้งนายอำเภอจีน และจางวาง อำเภอจีน ขึ้นมาดูแลชาวจีนที่อาศัยอยู่ตามเมืองต่าง ๆ แทนที่จะตั้งตำแหน่งนายอำเภอจีน ให้เป็นขุนนางอยู่ในพระนครอย่างสมัยอยุธยา
                หน้าที่นายอำเภอจีนและจางวางจีน ทางราชการแต่งตั้งขึ้น เพื่อช่วยเจ้าเมืองควบคุมดูแลชาวจีน เดิมชาวจีนที่บ้านสะแกกรัง ขึ้นอยู่กับนายอำเภอจีนเมืองชัยนาท
                บ้านสะแกกรัง ถูกตัดเป็นเขตเมืองอุทัยธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๑ และถูกยกขึ้นเป็นตัวเมืองอุไทยธานีแทนเมืองอุไทยธานีเก่า และด้วยเหตุที่มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่มาก จึงมีการแต่งตั้งปลัดจีนขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อเป็นกลไกควบคุมชาวจีนที่อยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่มีนายอำเภอจีนหลายคน โดยให้มีปลัดจีนเพื่อเป็นหัวหน้าพวกนายอำเภอจีน โดยปลัดจีนจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าเมือง ปลัดจีนมักได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นหลวง ศักดินา ๖๐๐ - ๘๐๐ ไร่ บางเมืองมีปลัดจีนชั้นพระ ศักดินา ๖๐๐ - ๑,๐๐๐ ไร่ ตำแหน่งปลัดจีนและนายอำเภอจีนนี้เรียกรวมกันว่า กรมการจีน
            แหล่งอุตสาหกรรม  มีอยู่แห่งหนึ่งคือ บ้านท่าซุง
                บ้านท่าซุง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวจีนได้อพยพเข้ามาเป็นแรงงานโรงงานถลุงเหล็กที่บ้านท่าซุง และเมืองสรรคบุรี สังฆราชปาลเลกัวได้เล่าเรื่องชาวจีนที่บ้านท่าซุง มีความว่า บ้านท่าซุงเป็นเมืองคนจีนล้วน พวกจีนได้ตั้งโรงต้มกลั่นสุราขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง กับมีเตาหล่อราว ๑๒ เตา สำหรับหล่อเหล็กซึ่งมีอยู่เป็นอันมากในแถบนั้น เหล็กหล่อที่ได้จากเตาเหล่านี้ไม่เพียงแต่พอใช้ในราชอาณาจักรเท่านั้น ยังเหลือเป็นสินค้าออกสำคัญอีกด้วย
                ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหล็กเป็นสินค้าออกที่มีมูลค่าอยู่ในอันดับ ๙ ทำรายได้ให้ประเทศสยามประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาทต่อปี ส่วนใหญ่ส่งไปจำหน่ายบริเวณหมู่เกาะมลายู กัมพูชา และญวน การผลิตอาศัยแรงงานชาวจีนเป็นหลัก ราคาสินค้าอยู่ในเกณฑ์ย่อมเยา ราคาเหล็กต่อหาบประมาณไม่เกิน ๔ รูปี โรงงานถลุงเหล็กของจีนทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน มีคนงานตั้งแต่ ๕๐๐ - ๖๐๐ คน


            รูปปั้น อนุสาวรีย์  ได้แก่ อนุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ประดิษฐานอยู่ในพลับพลาจตุรมุขยอดเขาสะแกกรัง เป็นรูปเหมือนขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยทองเหลือง ฉลองพระองค์ในชุดมหาเสนาบดีเต็มยศ พระหัตถ์ซ้ายถือพระแสงดาบข้างพระองค์ ด้านขวามีพระมาลาเส้าสูง ปีกกว้าง วางอยู่บนพาน ประทับนั่งบนพระแท่นสี่เหลี่ยม
            สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เสด็จเป็นประธานในพิธีประดิษฐาน และสมโภชพระบรมรูป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

            มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง  ชาวเมืองอุทัยธานีสมัยโบราณมีความเชื่อว่า เขาสะแกกรังมีลักษณะเหมือนมังกรนอนหมอบเฝ้าเมืองอุทัยธานีอยู่ เมื่อมังกรพิโรธจะพ่นไฟเผาบ้านเมือง การสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาตรงหัวมังกรนั้น เพื่อเป็นการสะกดมิให้มังกรลุกขึ้นมาพ่นไฟได้ จึงได้สร้างมณฑปขึ้นบนยอดเขาแห่งนั้น ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาที่ชาวอุทัยธานีเคารพบูชา

            ศาลหลักเมือง  ที่ตั้งตัวจังหวัดอุทัยธานีในปัจจุบันเดิมไม่มีหลักเมือง ต่อมาจึงได้มีการสร้างศาลหลักเมือง ขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัด หลักเมืองเก่าแก่อยู่ที่อำเภอหนองฉาง

            พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์  มีประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้นำพระพุทธรูปขนาดย่อมและชำรุด ซึ่งรวมพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ด้วยไปไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วิหารวัดขวิด เป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริด ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก
            ต่อมาเมื่อย้ายวัดขวิดไปรวมกับวัดทุ่งแก้ว จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ ไปประดิษฐานที่วัดสังกัสรัตนคีรี และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เบื้องพระเศียร พร้อมกับถวายพระนามว่า พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ มีการจัดงานสมโภชเป็นประจำทุกปี

            พระแสงราชศัสตรา  จังหวัดอุทัยธานีได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ลักษณธพระแสงราชศัสตราเป็นดาบแบบไทย ด้ามทำด้วยทอง ยาว ๑๐๘ เซนติเมตร ด้ามยาว ๓๓ เซนติเมตร ฝักยาว ๗๕ เซนติเมตร ใบพระแสงยาว ๖๗ เซนติเมตร กว้าง ๔ เซนติเมตร ใบพระแสงด้านซ้ายจารึกว่า พระะแสงสำหรับเมืองอุไทยธานี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |