| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถานและศาสนวัตถุ

            วัดอุโบสถาราม  อยู่ที่บ้านน้ำตก ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง มีพื้นที่ประมาณ ๒๓ ไร่เศษ เดิมชื่อวัดโบสถ์มโนรมย์ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๕
            สิ่งก่อสร้างสำคัญของวัดมีอุโบสถ และวิหารเก่า ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน หอประชุมอุทัยธรรมสภา เป็นอาคารไม้สักทั้งหลัง และแพโบสถ์น้ำที่สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
            ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ มณฑปแปดเหลี่ยม และเจดีย์สามองค์สามสมัย องค์เหนือเป็นเจดีย์หกเหลี่ยมแบบอยุธยา องค์กลางเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบรัตนโกสินทร์ องค์ใต้เป็นเจดีย์ลอมฟางแบบสุโขทัย
                วิหาร  ตั้งอยู่บนฐานไพทียกพื้นสูง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารขนาดสี่ห้อง ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีหน้าต่างด้านละสามช่อง ส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นแบบปฎิมาฆระ คือ เป็นห้องทึบไม่มีช่องประตูและหน้าต่าง  ด้านหน้ามีประตูเข้าสองช่อง ซุ้มประตูและหน้าต่างทำโค้งแบบยุโรป
                พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ บนฐานชุกชีมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้าย และขวาของพระประธาน อีกสององค์ทำด้วยไม้แก่นจันทร์ พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีฉัตรห้าชั้นประดับอยู่เหนือพระเศียร นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์อีกหลายองค์

                อุโบสถ  เป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่และงดงามมาก สร้างอยู่บนฐานไพทีคู่กับวิหาร แต่มีขนาดต่ำกว่าวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารเครื่องก่อขนาดสี่ห้อง ตอนหน้ามีมุข
            ภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยห้าองค์ อยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน
            ตัวอาคารอุโบสถได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์หลายครั้ง ทำให้ลักษณะดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเช่น เปลี่ยนเครื่องบนจากไม้เป็นคอนกรีต เครื่องลำยองซึ่งประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสดุ้ง ของเดิมเป็นไม้ถูกเปลี่ยนเป็นปูนซิเมนต์หล่อถอดพิมพ์ ตอนล่างของอุโบสถด้านในมีการบุผนังด้วยกระเบื้องเคลือบ ช่องหน้าต่างถูกขยายให้ใหญ่กว่าเดิม

                เจดีย์สามสมัย  เป็นเจดีย์รูปแบบต่างกัน สร้างอยู่บนฐานไพทีเดียวกันกับวิหาร และอุโบสถ ตั้งเรียงเป็นแนวเดียวกัน อยู่หลังวิหารและอุโบสถ
                    เจดีย์องค์ที่อยู่หลังวิหาร  เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีความสูงประมาณเท่าความสูงของวิหาร ส่วนฐานของเจดีย์ประกอบด้วยฐานเขียง ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัว ตรงบัวหงายทำลวดลายปูนปั้นเป็นรูปกลีบบัวประดับอยู่โดยรอบ ส่วนกลางเจดีย์เป็นฐานเขียงซ้อนกันสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นรูปบัวคว่ำ ท้องไม้ บัวปากระฆัง และองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดของเจดีย์ประกอบด้วยบัลลังก์ เสาหาน บัวฝาละมี ปล้องไฉน กลุ่มบัวเถา ปลีลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง
                    เจดีย์องค์กลาง  อยู่ระหว่างวิหารและอุโบสถ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนฐานประกอบด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ท้องไม้ ฐานเขียงรองรับฐานสิงห์อีกชั้นหนึ่ง ส่วนเรือนธาตุทำเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ คือ ทิศเหนือและทิศตะวันออก เป็นพระพุทะรูปปางมารวิชัย ทิศตะวันตกเป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร ทิศใต้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เหนือซุ้มจระนำมียอดเจดีย์ประดับอยู่ ต่อจากเรือนธาตุเป็นบัลลังก์รองรับบัวกลุ่ม ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังย่อไม้สิบสอง ส่วนยอดของเจดีย์เป็นบัวกลุ่ม เถาปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง
                    เจดีย์องค์ที่อยู่ด้านหลังอุโบสถ  เป็นเจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยม ส่วนฐานประกอบด้วยฐานบับแปดเหลี่ยม ซ้อนกันสามชั้น ส่วนกลางของเจดีย์เป็นทรงระฆังแปดเหลี่ยมฉาบปูนเรียบ ส่วนยอดของเจดีย์ประกอบด้วยบัลลังก์ ก้านฉัตร บัวฝาละมี ปล้องไฉน บัวกลุ่ม ปลียอด

               มณฑปแปดเหลี่ยม  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง หลวงพิทักษ์ภาษา (บุญเรือง พิทักษ์อรรณพ)  สร้างถวายให้พระสุนทรมุนี (จัน)  เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานีจำพรรษา สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒  แต่ท่านมรณภาพพอดีจึงใช้เป็นที่ทำศพ และไว้อัฐิพร้อมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของท่าน
                มณฑปแปดเหลี่ยมมีลักษณะเป็นอาคารแปดเหลี่ยมสองชั้นทรงยุโรป แต่ดูคล้ายสุเหร่าแขก มีบันไดขึ้นชั้นบนด้านนอกเป็นสองทาง ซุ้มหน้าตึกทำเป็นมุขยื่นออกมาเหนือกรอบหน้าต่าง ตกแต่งลวดลายด้วยปูนปั้น มุมตึกด้านทิศใต้ทำห้องยื่นคล้ายมุขบันได ด้านหน้าแต่งเป็นห้องเก็บของ ผนังด้านนอกมีลายปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรอยู่ตรงกลาง ประกอบด้วยลวดลายนกหงส์ฟ้า นกกระสา ฝีมือช่างชาวจีนสวยงามมาก

            วัดอมฤตวารี  อยู่ที่บ้านหนองน้ำคัน ตำบลอุไทยใหม่ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๕ เดิมชื่อ วัดหนองน้ำคัน เพราะตั้งอยู่ใกล้หนองน้ำใหญ่ ซึ่งใครลงไปอาบแล้วจะรู้สึกคัน จนกว่าน้ำที่เปียกตัวแห้งจึงหายคัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒  พระสุนทรมุนี (พุฒ สุทัตตเรว) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี และสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)  เจ้าคณะมณฑลนครสวรรค์สมัยนั้นเห็นว่าชื่อวัดเดิมไม่เป็นมงคลนาม จึงเปลี่ยนใหม่เป็น วัดอฤตวารี
            อุโบสถหลังเก่า สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดไม่ใหญ่นัก มีประตูเข้าทางเดียว ผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละสามบาน ประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยมไม่มีซุ้ม ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พระพุทธประวัติตอนพระเวสสันดรชาดก สันนิษฐานว่า เคยซ่อมมาแล้ว เพราะเป็นลักษณะฝีมือช่าง ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

            วัดพิชัยปุรณาราม  อยู่ในตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง ฯ เดิมชื่อ วัดกร่าง สร้างสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ แต่ยังคงรักษารูปเดิมไว้อย่างครบถ้วน
            วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำ ด้านหน้ามีประตูทางเข้าสองช่อง ด้านข้างไม่มีช่องหน้าต่างแต่เจาะเป็นช่องแสงแคบ ๆ อันเป็นลักษณะเดิมในสมัยอยุธยาตอนต้น  ด้านข้างมีเสารับชายคาปีกนก หลังคาลดระดับซ้อนกันสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อชัยสิทธิ์ มีพุทธลักษณะสวยงาม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอู่ทองตอนปลาย มีเรือนแก้วประดับด้านหลัง เป็นวิหารเก่าแก่  แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าแก่การศึกษา และอนุรักษ์ไว้

            วัดหนองพลวง  อยู่ที่บ้านหนองพลวง ตำบลหนองขาหย่าง อำเภอหนองขาหย่าง
            อุโบสถ จัดว่าเป็นอุโบสถเก่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น น่าจะเป็นฝีมมือชาวบ้าน เพราะไม่มีลวดลายวิจิตรพิสดารอะไร ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ไม่มีซุ้มประตู หน้าต่าง มีประตูทางเข้าข้างหน้าโบสถ์เพียงด้านเดียว ไม่มีช่องหน้าต่าง มีเพียงช่องระบายอากาศและให้แสงเข้าได้ หน้าบันด้านหน้าโบสถ์ มีลายปูนปั้นเป็นรูปยักษ์ถืออาวุธอยู่หกตน ประดับด้วยชามสังคโลก ด้านหลังโบสถ์ฉาบปูนเรียบ ไม่มีลวดลาย

            วัดจันทาราม  อยู่ที่บ้านท่าซุง ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง ฯ อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำสะแกรัง มีพื้นที่ประมาณ ๒๙๐ ไร่ มีถนนผ่ากลางวัด พื้นที่แบ่งออกเป็นสองส่วน
            พื้นที่ส่วนแรกเป็นวัดท่าซุงเก่า มีพื้นที่ประมาณ ๗ ไร่เศษ สร้างในสมัยอยุธยา ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมเหลือศาลาอยู่หนึ่งหลัง และโบสถ์เก่าอีกหนึ่งหลัง ในอุโบสถมีภาพเขียนพุทธประวัติฝีมือปราณีตมาก
            พื้นที่ส่วนที่สอง เป็นส่วนที่ขยายต่อจากวัดท่าซุงเดิมอยู่ทางด้านตะวันตกของถนนสายอุทัย - มโนรมย์
            ในอดีตเมื่อมีการล่องแพซุงผ่านแม่น้ำสะแกกรัง แพซุงมักจะแวะพักที่หน้าวัดเป็นประจำก่อนที่จะล่องออกไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกวัดท่าซุง ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดจันทาราม
            สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นมากที่สุดในปัจจุบันคือศาลา ๑๒ ไร่ มหาวิหารร้อยเมตร และพระสมเด็จองค์ปฐม (พระพุทธรูปโลหะผสมทองนคำ หน้าตักสี่ศอก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ) มณฑปที่ประดิษฐานพระสมเด็จองค์ปฐมทั้งหมดบุแก้วข้างนอกข้างใน

            มหาวิหารร้อยเมตร หรือปราสาททองคำเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น หลังคาเป็นจตุรมุขซ้อนนกันสามชั้นทั้งด้านนอกและด้านใน ปิดกระจกถึงยอดหลังคา ภายในมีพระประธานแบบพระพุทธชินราช มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายขององค์พระ นอกจกนี้ยังมีรูปปั้นพระอรหันต์เจ็ดองค์เช่นพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร อยู่หน้าพระพุทธรูป เพดานวิหารมีช่อไฟระย้าทั้งช่อใหญ่และช่อเล็ก สวยงามมาก
ศาสนบุคคล

            สมเด็จพระวันรัต (เขมจารีมหาเถระ) ไม่ปรากฎว่าท่านเกิดเมื่อใด ทราบเพียงแต่ว่า เมื่ออายุได้สามขวบ ยายเป็นผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดู ต่อมาได้ย้ายไปอยู่บ้านยายทวด ที่บ้านท่าซุง เมื่ออายุย่างแปดขวบ ยายทวดถึงแก่กรรม ยายก็พากลับไปอยู่บ้านสะแกกรัง ที่แพหน้าวัดโบสถ์ และได้ไปเรียนหนังสือ ที่สำนักพระอาจารย์ชัง วัดขวิด มีความรู้อ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุย่างเข้าสิบเอ็ดปีได้ออกจากสำนักพระอาจารย์ชัง ไปอยู่สำนักพระปลัดใจ วัดทุ่งแก้ว ได้ศึกษาภาษาบาลีและอักษรขอม
            ปี พ.ศ.๒๔๔๐ ท่านได้เรียนมูลยนะธรรมบทจบ อายุ ๒๒ ปี ได้ทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุ สมเด็จพระวันรัต (ฑิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.๒๔๔๕ เข้าสอบพระปริยัติธรรมได้อีกสองประโยค พ.ศ.๒๔๔๗ สอบได้อีกหนึ่งประโยค เป็นเปรียญเก้าประโยค ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
            พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ท่านได้พัฒนาปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญเป็นอันมาก มีการชำระพระอภิธรรมปิฎกได้สำเร็จ  ได้รับเกียรติให้เป็นภาคีสมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสถาน เป็นผู้เชี่ยวชาญอักษรศาสตร์ สามารถชำระพระศาสนาด้วยปรีชาญาณ ท่านถึงแก่มรณะภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖

            พระสุนทรมุนีวินัยวาทีสังฆปาโมกข์ (ใจ คังคสโร)  เป็นบุตรขุนศรีราชบุตร (อินท์) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘
            เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ พระอาจารย์ทอง วัดทุ่งแก้ว พร้อมด้วยชาวบ้านสะแกกรัง ได้ไปนิมนต์ให้มาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดทุ่งแก้ว อำเภอเมือง ฯ
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระปลัด และในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ได้เลื่อนเป็นพระครูอุทานธรรมนิเทศ และเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสุนทรมุนี เจ้าคณะใหญ่จังหวัดอุทัยธานี และในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เลื่อนเป็นพระสุนทรมุนีวินัยวาทีอุทัยสังฆปาโมกข์ พระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่จังหวัดอุทัยธานี
            พระสุนทรมุนี เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดทุ่งแก้ว และเป็นพระราชาคณะองค์แรกของจังหวัดอุทัยธานี เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางภาษาบาลี ชำนาญในคัมภีร์มูลกัจจายนะ คัมภีร์สัทนาวิเศษ เป็นผู้สร้างวัดเขา (วัดสังกัสรัตนคีรี) บนยอดเขาสะแกกรัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ สร้างระฆังใบใหญ่ ร่วมกับชาวพุทธ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ และสร้างมณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง ริเริ่มประเพณีตักบาตรเทโวที่ให้พระภิกษุสงฆ์เดินลงมาจากยอดเขาสะแกกรัง และประชาชนรอตักบาตรที่ลานวัดด้านล่าง เพื่อให้สอดคล้องกับพุทธประวัติและชื่อของวัด

| ย้อนกลับ | บน |