| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม
            ศาสนา  พุทธศาสนาได้ประดิษฐานในบริเวณจังหวัดอุทัยธานี มาตั้งแต่สมัยทวารวดี เช่น ที่เมืองดบรารบึงคอกช้าง อำเภอสว่างอารมณ์ บ้านคูเมือง อำเภอหนองขาหย่าง
            โบราณวัตถุสำคัญคือ หลักศิลาจารึก อักษรปัลลวะ พระพุทธรูปและประติมากรรมรูปกวางหมอบ นอกจากนั้นยังพบหลักฐานพระพุทธรูปตรีกาย หรือพระพุทธไตรรัตนมหายาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรี
            ปัจจุบันชาวอุทัยธานี ส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาพุทธ มีผู้นับถือศาสนาอื่นอยู่เพียงเล็กน้อย
            พระพุทธรูปตรีกาย  เป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริด ศิลปะลพบุรี สูง ๓๒ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๘ เซนติเมตร พบที่ตำบลดอนขวาง อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปสามองค์นั่งเรียงบนฐานเดียวกัน ตามคติฝ่ายมหายานที่ถือว่าพระพุทธเจ้ามีสามกายคือ พระธรรมกาย พระสัมโภคีกาย และพระนิรมานกาย หรือจะเรียกว่า พระธยานิพุทธ พระอาทิพุทธ และพระมานุษีพุทธ ตามคัมภีร์ฝ่ายธิเบตก็ได้
            พระพุทธตรีกายเป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ทรงรัดเกล้าที่เรียกว่า เทริดขนนก กุณฑลแบบเปลว ครองจีวรห่มเฉียง มีขอบจีวรต่อจากชายขอบสี่เหลี่ยม ที่พาดอยู่บนพระอุระ ด้านซ้ายลงมาคลุมพระหัตถ์ซ้าย และโสณี แผ่นหลังติดอยู่กับเรือนแก้ว ที่ส่วนบนทำเป็นรูปลายใบไม้หมายถึง พระศรีมหาโพธิ
            นอกจากนี้ยังพบว่า พระพุทธรูปศิลาศิลปะลพบุรีที่วัดหนองพังค่า และที่อื่นอีกหลายแห่ง ทำให้เชื่อว่าพระพุทธศาสนาในจังหวัดอุทัยธานีได้เติบโตและเผยแผ่ไปยังชุมชนโบราณหลายแห่ง ทำให้มีการสร้างพุทธสถานแบบศิลปะขอมมาตั้งแต่สมัยลพบุรี
            ความเชื่อ  พิธีไหว้เจ้าเข้าทรงเจ้าพ่อละว้า เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านห้วยรอบ ตำบลห้วยรอบ อำเภอหนองขาหย่าง ทำสืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน
            เมื่อประมาณ ๗๐ ปีมาแล้ว ชาวบ้านได้ตั้งศาลเจ้าพ่อละว้า ขึ้นที่ชายคลองห่างจากบริเวณที่ตั้งศาลปัจจุบันประมาณ ๖๐ วา ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อถึงวันจันทร์ เดือนเจ็ด ของทุกปี ชาวบ้านจะพากันนำเครื่องไหว้โดยแต่ละบ้านจะนำหัวหมู ไก่ สุรา และขนมต่าง ๆ มาไหว้ และจะนำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปแทนคนในบ้านทุกคน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงนำมาวางไว้บริเวณใกล้ศาล เพื่อบอกกล่าวเจ้าพ่อละว้าให้คุ้มครอง ผู้ใดบนไว้ก็จะมาแก้บนในวันนี้
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น

            ประเพณีเกิด  เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วจะอาบน้ำทำความสะอาด ให้นอนบนเบาะแล้วยังมีกระด้งรอง ถ้าเป็นชายก็จัดสมุดดินสอไว้ข้างตัว ถ้าเป็นหญิงก็จัดเข็มด้ายไว้ หมอผู้ทำพิธีจะยกกระด้งขึ้นร่อนและพูดว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร มารับเอาเน้อ"  แล้วก็ทิ้งกระด้งลงกับพื้นเบา ๆ พอให้ทารกรู้สึกตัวก็จะตกใจร้อง พ่อของทารกหรือญาติผู้ใหญ่ก็จะออกปากรับว่า "ลูกข้าเอง" ทำดังนี้สามครั้ง แล้วหมอผู้ทำพิธีก็จะส่งทารกให้ทั้งกระด้ง
            เพื่อเป็นการป้องกันเภทภัยต่าง ๆ กระด้งที่ใส่ทารกจะต้องอยู่ภายใต้วงสายสิญน์ ติดผ้ายันต์สี่ทิศ บางแห่งก็ใช้แห ทำเป็นกระโจมกางคลุมกระด้ง
            ส่วนแม่นั้นพอคลอดแล้วให้รับดื่มน้ำส้มมะขามเปียกกับเกลือ เพื่อให้ถ่าย ก่อนนอนไฟ ด้วยเตาเชิงกรานเป็นเวลาสามวัน ในระหว่างนั้นทางฝ่ายพ่อ และญาติจะช่วยกันทอดเตาไฟใหญ่ เพื่อการอยู่ไฟ หาหมอเลือกวันดีให้ทำน้ำมนต์ธรณีสาร ประพรมเตาไฟ เคี่ยวข้าวสารกับเกลือพ่นท้องพ่นหลังแม่ เรียกว่า ดับพิษไฟ จะต้องมีธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ หมากพลู กุ้งพล่า ปลายำ ใส่กระทงเล็ก ๆ วางไว้ทั้งสี่มุมเตา ก่อนที่จะขึ้นกระดานไฟจะต้องกราบไหว้เตาไฟ ระลึกถึงคุณพระเพลิง พระพาย แม่พระธรณี แม่พระคงคา และกินยาแก่โลหิตเช้าเย็น ใช้เวลาอยู่ไฟประมาณหนึ่งเดือน
            ส่วนทารกให้นอนอยู่ในกระด้งสามวัน จึงทำพิธีขึ้นอู่ คือนอนเปล มีบายศรีปากชามทำขวัญ พอครบเดือนก็จะทำพิธีโกนผมไฟ มีบายศรีผูกขวัญ ให้เงินทองสิ่งของทำขวัญให้ศีลให้พร
           ประเพณีการบวช  เป็นประเพณีการบำเพ็ญกุศลของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ผู้ชายที่มีอายุครยยี่สิบปีขึ้นไปจึงบวชเป็นพระภิกษุได้ ถือเป็นประเพณีแห่งการดำเนินชีวิตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เพื่อการศึกษาอบรมให้รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษตามหลักพระพุทธศาสนา ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นยังถือเป็นการตอบแทนบุญคุณบิดามารดาอีกด้วย
            ก่อนบวชผู้ที่จะบวช หรือพ่อแม่จะต้องเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ เพื่อแสดงความจำนงว่าจะบวชรับข้อปฎิบัติต่าง ๆ ให้เข้าใจไว้ก่อน ก่อนบวชหนึ่งวันมักมีการทำขวัญ ผู้บวชต้องโกนผมโกนคิ้ว นุ่งขาวห่มขาว เตรียมพร้อมที่จะบวชที่เรียกว่า นาค หมอทำขวัญจะต้องประกอบพิธีตามตำราสวดคาถา ให้โอวาทสอนนาค ให้รำลึกถึงคุณบิดามารดา ให้อดทนขยันหมั่นเพียรในกิจพระศาสนา ตลอดถึงอันตรายเบื้องต้นที่จะทำให้พระภิกษุถึงศีลวิบัติ จบแล้วก็เบิกบายศรี ญาติผู้ใหญ่ร่วมเวียนเทียนสามรอบ หมอเจิมขวัญให้นาคเป็นเสร็จพิธีทำขวัญ
            ก่อนนาคเข้าอุโบสถ จะต้องเดินประทักษิณอุโบสถสามรอบ เมื่อเข้าโบสถ์แล้วไปนั่งรอพระอุปัชฌาย์ บิดามารดาจะมอบผ้าไตรและเครื่องสักการะพระอุปัชฌาย์อาจารย์ให้แก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นเป็่นหน้าที่ของคณะสงฆ์ที่จะทำพิธีบรรพชาอุปสมบทให้ต่อไป
            ผู้ที่บวชแล้วจะเป็นผู้สมบูรณ์เต็มตัว เมื่อสึกออกมาแล้วจะมีเหย้ามีเรือนก็เหมาะสม นับว่าเป็นผู้ใหญ่พอที่จะปกครองตัวเองได้
            ประเพณีในเทศกาลตรุษสงกรานต์  ตรุษตรงกับวันแรมสิบห้าค่ำ เดือนสี่ ตามปฎิทินทางจันทรคติถือว่าเป็นวันสิ้นปี ส่วนสงกรานต์ตรงกับวันที่สิบสาม เมษายน ตามปฎิทินทางสุริยคติ ถือว่าดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ
            ในเทศกาลนี้มีการทำบุญตักบาตรและการละเล่นต่าง ๆ เทศกาลตรุษเริ่มตั้งแต่วันแรมสิบสี่ค่ำ เป็นการรับวันตรุษ วันแรมสิบห้าค่ำเป็นวันตรุษ วันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า เป็นวันส่งท้าย
            การทำบุญในเวลาเช้าจัดอาหารไปถวายพระ อาหารที่ขาดไม่ได้คือ ขนมจีนน้ำพริก หรือน้ำยา เป็นของคาว ข้าวเหนียวแดง กะละแม เป็นของหวาน จัดให้มีการบังสกุลอัฐิญาติผู้ใหญ่ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย กลางวันไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ส่วนหนุ่มสาวก็จะมีการละเล่นเช่น ทอดสะบ้า ระบำ รำวง ช่วงชัย ไม้หึ่ง มอญซ่อนผ้า ฯลฯ
            วันมหาสงกราต์ตรงกับวันที่สิบสาม เมษายน วันที่สิบสี่ เป็นวันเนา วันที่สิบห้า เป็นวันเถลิงศกขึ้นจุลศักราชใหม่ มีการำบุญให้เกิดศิริมงคล มีการทำบุญตักบาตรเหมือนวันตรุษ มีการก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เล่นน้ำ ปล่อยนกปล่อยปลา
            นอกจากนี้จะมีการแห่ธงสงกรานต์ โดยชาวบ้านจะเดินถือธง เดินขบวนไปตามหมู่บ้าน มีขบวนกลองยาว นำหน้า การแห่ธงสงกรานต์เพื่อขอบริจาคเงินตามศรัทธา แล้วนำเงินมาถวายวัดถือเป็นการทำบุญ

            ประเพณีตักบาตรเทโว  จัดให้มีในวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ด อันเป็นวันหลังวันออกพรรษา ณ บริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรี งานประเพณีจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ทั้งในจังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดใกล้เคียง พระภิกษุในเขตจังหวัดอุทัยธานีจะได้นิมนต์มารับบิณฑบาต โดยสมมติยอดเขาสะแกกรัง เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา เทศน์โปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ ที่มีอยู่หลายบันไดคือ บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว โดยเสด็จลงมาที่สังกัสนคร
            วันนี้ถือเป็นวันที่แดนทั้งสามคือ สวรรค์ มนุษย์ และบาดาล (นรก) สามารถมองเห็นกันได้ เรียกกันว่า วันเทโวโรหณะ หรือวันเปิดโลก
            การตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานี เป็นสถานที่มีความเหมาะสมทั้งด้านสถานที่ และชื่อตามตำนาน ดังนั้นการตักบาตเทโวของจังหวัดอุทัยธานี จึงเป็นประเพณีที่ชาวอุทัยธานีให้ความสำคัญมาก มีภิกษุสามเณรประมาณสามร้อยรูป นำด้วยพระพุทธรูปปางเสด็จกลับจากดาวดึงส์ เดินอุ้มบาตรลงจากยอดเขาตามบันไดจำนวน ๔๖๐ ขั้น ลงมารับบิณฑบาตด้วยข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด ข้าวสารอาหารแห้ง ณ วัดสังกัสรัตนคีรี

            ประเพณีจัดโต๊ะหมู่บูชาประดับงาช้าง  ในสมัยอยุธยา จังหวัดอุทัยธานีเป็นเมืองที่จะต้องจับช้าง ส่งไปกรุงศรีอยุธยาเป็นประจำ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองทำไม้ซึ่งจะต้องใช้ช้างช่วยในการชักลากซุง จึงมีช้างมากพอสมควร เมื่อช้างล้มก็เก็บงาเอาไว้ บ้านคหบดีส่วนใหญ่จึงมีงาช้างบ้านละหลาย ๆ คู่ เป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลาน เจ้าของงาช้างจะเก็บรักษางาช้างโดยนำไปเก็บรักษาประดับคู่กับโต๊ะหมู่บูชาประจำบ้าน
            เมื่อมีการแห่เจ้าประจำปีของศาลเจ้าต่าง ๆ ชาวบ้านในตลาดอุทัยธานีจะนำโต๊ะหมู่บูชามาตั้งหน้าบ้าน และนำงาช้างมาประดับโต๊ะหมู่บูชาด้วย เพื่อแสดงฐานะของแต่ละบ้านว่าใครจะมีงางามกว่ากัน
            ต่อมาเมื่อมีการแห่ขบวนรถพุทธประวัติในวันตักบาตรเทโว จังหวัดอุทัยธานีจึงเชิญชวนบ้านต่าง ๆ ที่มีงาช้าง จัดโต๊ะหมู่บูชาประดับงาช้างออกมาประกวดเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานตักบาตรเทโว และประกวดโต๊ะหมู่บูชาประดับงาช้าง ซึ่งหาดูได้ที่จังหวัดอุทัยธานีแห่งเดียว
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
            ศาลาตีเกวียน  เป็นที่พักรวมเกวียนที่ชาวบ้านบรรทุกข้าวเปลือกมาขาย และเป็นที่พักรวมของพ่อค้าซื้อข้าว เพื่อตีราคา และตกลงราคาซื้อขายข้าวเปลือก ที่บรรทุกเกวียนมาขายในอดีต
            ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ชาวนาจะนำข้าวเปลือกไปขายท่า (ตลาดสะแกกรัง อำเภอเมือง ฯ) แต่ละหมู่บ้านจะนัดวันไปขายพร้อม ๆ กันประมาณ ๕-๑๐ ครอบครัว โดยบรรทุกข้าวเปลือกใส่เกวียนไปขายครอบครัวละหนึ่งเล่มเกวียน (๕๐ ลัด หรือ ๕๐ ถัง) ควายที่เทียมเกวียนจะมีการประกวดประชันกันว่า ควายของผู้ใดจะสวยงามกว่ากัน โดยจะล้างตัวควายให้สะอาด เอาน้ำมันทาเขาควายให้เป็นมันขลับ คอควายผูกกระดึงไว้ไห้มีเสียงดังกระหึ่มเวลาเคลื่อนที่ ควายจะวิ่งหน้าเชิดเป็นขบวน ฝุ่นตลบไปตามทางเกวียนติด ๆ กันเป็นกองคาราวาน ในเกวียนยังมีกระบุงข้าวสาร หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม สำหรับไปหุงหาอาหารกิน ท้ายเกวียนบรรทุกฟางข้าวให้ควายกิน และบรรทุกฟืนที่เก็บได้ระหว่างทาง
            แต่ละหมู่บ้านจะรู้ระยะทางของตนว่าควรจะออกเดินทางเวลาใด จึงจะไปถึงศาลาตีเกวียนก่อนค่ำ กองคาราวานเกวียนจากอำเภอหนองฉาง และอำเภอหนองขาหย่าง จะพักที่ศาลาเกวียนหนองขี้ควาย ส่วนกองคาราวานเกวียนจากอำเภอทัพทันและอำเภอชั้นนอกจะเข้าพักที่ศาลาตีเกวียน ศาลาตาขาว
            ที่บริเวณศาลาตีเกวียนดังกล่าวจะมีลานกว้าง เป็นที่สาธารณะประมาณสิบไร่ เข้าพักนอนได้ประมาณร้อยเล่มเกวียน เกวียนจะจอดพักเป็นวงกลม แล้วปลดควายผูกไว้ด้านในวงล้อมของเกวียน นำฟางข้าวให้ควายกิน แล้วไปตักน้ำจากบ่อหรือสระที่อยู่ใกล้ ๆ มาใช้และให้ควายกิน จากนั้นก็เตรียมหุงหาอาหารทำเตาไฟ โดยใช้ดินสามก้อนเป็นก้อนเสาหรือใช้หลักไม้สด ๆ สามอันตอกลงไปในดินให้ปลายเอียงเข้าหากันหรือขุดดินเป็นราง เมื่อหุงหาอาหารเสร็จแล้วจะมาตั้งวงร่วมกินอาหารกัน ตรงกลางวงล้อมของเกวียน พอได้เวลานอนก็เข้านอนใต้เกวียน โดยผลัดเปลี่ยนกันอยู่ยามเฝ้าควายตลอดคืน
            รุ่งเช้าบรรดาพ่อค้าตีข้าวจากท่าต่าง ๆ จะถือไม้เท้าและกระด้งผัดข้างเล็ก ๆ แล้วมารวมกัน คุยกันเรื่องราคากลางจากบางกอก (ฮั้งเซ้ง) แล้วแยกย้ายกันไปตีข้าว ถามเจ้าของเกวียนว่ามาจากบ้านไหน เพราะบางบ้านมีข้าวที่มีคุณภาพดีกว่าที่อื่น แล้วจะเอามือล้วงลงไปกำข้าวเปลือกในเกวียนใส่กระด้ง สอง - สาม กำมือ บดและฝัดดูว่าเป็นข้าวชนิดกี่เปอร์เซ็นต์คือ มีข้าสารหักมากน้อยเท่าใด ถ้ามีข้าวหักน้อยก็ตีราคาให้สูง ผู้ซื้อเป็นผู้ตีราคา ผู้ขายมีโอกาสต่อรองราคาให้สูงขึ้นเท่านั้น จนมีคำกล่าวว่า "ข้าวถึงท่าราคาเท่าไรก็ต้องขาย"
            เมื่อตกลงราคากันแล้ว ผู้ซื้อจะมอบตั๋วราคาข้าวของท่าเทข้าวให้ ผู้ขายก็จะนำเกวียนไปยังท่าเทข้าวนั้น ท่าเทข้าวมีอยู่ถึง ๑๘ ท่า เป็นท่าเทข้าวอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง ๑๓ ท่า และเป็นท่าเทข้าวที่อยู่ห่างแม่น้ำสะแกกรังอีก ๕ ท่า ท่าเทข้าแต่ละท่าจะมีคนงานอยู่สามประเภทคือ
                - คนงานตวงข้าวที่ซื้อ  มีทักษะในการตวงข้าวให้ขาดจำนวนคือมือหนัก มีวิธีการในการรับกระบุงข้าวมาเทใส่ถังอย่างแรงและให้ถูกปากถังเล็กน้อยทำให้เมล็ดข้าววอัดแน่นในถัง มีวิธีปาดถังให้เมล็ดข้าวพูนถัง แต่เห็นขอบถังและงวงถึง
                - คนงานตวงข้าวสำหรับบรรทุกลงเรือของพ่อค้าที่มาจากบางกอก  มีความสามารถพิเศษตรงข้ามกับคนงานตวงข้าวที่ซื้อคือ ต้องทำให้ข้าวออกหรือข้าวมากถัง
                - คนงานหาบข้าวแบกขึ้นฉาง  คนงานชุดนี้ต้องรู้ที่กองข้าวตามเกรดของข้าวที่ผู้ซื้อต้องการ  การนับจำนวนข้าวว่าซื้อขายได้กี่ถังผู้ตวงจะใช้ติ้ว (ทำด้วยไม้ไผ่คล้ายตะเกียบ) ปักในถังข้าวที่ตวงถังละอัน ผู้ยกถังข้าวใส่หาบจะหยิบติ้วให้ผู้ขายถือไว้ หรือใส่กระบุงไว้หน้าผู้ขายที่เฝ้าดูอยู่ เมื่อตวงข้าวหมดเล่มเกวียนแล้ว ก็จะนับติ้วว่าได้กี่อันแล้วเขียนจำนวนใส่ตั๋วให้ผู้ขายนำไปรับเงินจากผู้จัดการ
                เมื่อผู้ขายรับเงินแล้วก็จะพากันไปซื้อข้าวของที่ต้องการในตลาด การไปซื้อของในตลาดนี้แต่ละหมู่บ้านจะไปพร้อมกันเป็นกลุ่ม ๆ เมื่อซื้อเสร็จแล้วก็นำกองคาราวานเกวียนเดินทางกลับบ้าน โดยมากจะถึงบ้านตอนเย็นหรือค่ำ
                หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๙ มีผู้นำรถจี๊บ และรถบรรทุกของทหารสหประชาชาติที่เลิกใช้ในสงครามมาขาย และมีผู้ซื้อมาใช้รับจ้างบรรทุกข้าวไปขายเป็นจำนวนมาก รถคันหนึ่ง ๆ บรรทุกข้าวได้หลายเกวียนทำได้รวดเร็ว การไปขายข้าวไม่ต้องค้างคืนเช่นแต่ก่อน ดังนั้นการใช้เกวียนบรรทุกข้าวไปขายจึงลดลงเรื่อย ๆ จนหมดไป เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๔ และศาลาตีเกวียนก็เลิกร้างไป

            ตลาดนัดโค - กระบือ  ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอทัพทัน เป็นสถานที่ที่พ่อค้าประชาชนที่มีโคกระบือจะนัดพบกัน เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนโค - กระบือ ซึ่งจะเป็นวันโกน - วันพระ
            ในวันนัด พ่อค้าจะนำโค - กระบือ บรรทุกรถมาที่ตลาดประมาณ ช่วงบ่ายของวันโกน (ก่อนวันพระ) แล้วนำโค - กระบือ ไปผูกตามหลักหรือคอก เพื่อให้ผู้ซื้อได้เลือก มีโค - กระบือ ที่ถูกนำมาขายในแต่ละนัดประมาณ สี่ - ห้าพันตัว มาจากหลายจังหวัด แม้แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มาซื้อขายกัน
            ตลาดนัดโค - กระบือ ที่จังหวัดอุทัยธานี เริ่มจากการนัดวัวควายมาประกวดกันในวันพระ ซึ่งเป็นวันที่ชาวจังหวัดอุทัยธานีงดใช้งานวัวควาย ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นตลาดนัดแลกเปลี่ยนโค - กระบือ ในที่สุด ปัจจุบันนับว่าเป็นตลาดนัดซื้อขายโค - กระบือ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม  มีประเพณีอยู่หลายประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดคือ
                ประเพณีตักบาตรเทโว  รายละเอียดได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น

                ประเพณีหาบสำรับคาวหวาน  ชาวอุทัยธานีมักจะมีสำรับกับข้าวประจำทุกบ้าน และยังนิยมใช้สำรับในการเลี้ยงอาหารต้อนรับแขก
                หาบสำรับคาวหวานที่ชาวบ้านจัดทำกันในวันสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนาหรือในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันเทโวโรหณะ วันสลากภัต วันสงกรานต์ หรือในโอกาสที่มีแขกผู้ใหญ่มาเยือน แต่ละบ้านจะจัดสำรับคาวหวานใส่หาบไปทำบุญ หรือต้อนรับแขก
                สำรับ ประกอบด้วยถาดทรงกลมหรือสี่เหลี่ยม ทำจากไม้หรือโลหะใช้ใส่ถ้วยอาหารประมาณหกถ้วย อาหารในถ้วยจะเป็นอาหารที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน การนำอาหารใส่สำรับก็เพื่อความสะดวกในการยกหรือนำไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้การยกไปหรือใส่หาบไป
                    - เครื่องหาบ  ประกอบด้วยสาแหรกและไม้คาน ไม้คานทำจากไม้ไผ่สีสุกไผ่ป่า หรือไผ่เลี้ยง โดยจะเลือกไม้ไผ่ที่มีข้อประมาณแปดข้อ ถือเคล็ดในการนับข้อให้ครบแปดข้อตามความหมายแปดประการคือ คาน แคน ยาก แค้น มั่ง มี ศรี สุข ถ้าได้ไม้ไผ่ที่มีข้อแปดข้อครบแปดประการดังกล่าวมาทำไม้คาน จะทำให้ผู้ใช้ทำมาหากินได้ดี อยู่เย็นเป็นสุข ไม้คานอาจทำจากไม้โมกมัน หรือไม้อื่นที่หาได้ในท้องถิ่นก็ได้ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือ ไม้ไผ่ดังกล่าวแล้ว เมื่อเอามาผ่าซีก และเหลาให้เรียวงาม ช่วงกลางจะแบนใหญ่ ทำให้เวลาหาบจะไม่กดบ่ามาก ส่วนปลายเรียว และมีข้อไม้ไผ่แต่งไว้ให้นูนพองาม สำหรับแขวนหูสาแหรกไม่ให้หลุด ไปจากปลายคานทั้งสองข้าง เวลาหาบจะให้ด้านผิวไม้ไผ่อยู่ข้างล่าง ดังนั้นส่วนที่เป็นข้อไม้ไผ่ที่ปลายคานทั้งสองจะหงายขึ้นบนไว้ สำหรับกันไม่ให้หูสาแหรกหลุดไปจากปลายคาน ขณะหาบไม้คานจะอ่อนโค้งลงเล็กน้อย และเวลาเดินไม้คานจะเคลื่อนไหวขึ้นลงที่ปลายทั้งสองตามจังหวะการเดิน สำหรับสาแหรกนั้นทำจากหวายอย่างดี สานอย่างประณีตสวยงาม ส่วนมากจะใช้สาแหรกหกมุม ส่วนบนของสาแหรกจะรวบเป็นหู สำหรับสอดใส่ไม้คาน ส่วนล่างของสาเแหรกโดยทั่วไปมักใส่กระจาด ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่อย่างประณีตสวยงามและแข็งแรง ใช้ใส่ของที่ต้องการนำไปด้วยการหาบได้ปริมาณมาก

                    - ภาชนะสำหรับรองถ้วยชามใส่อาหารคาวหวาน มีหลายอย่างด้วยกันคือ โตก เป็นถาดทรงสูง มีหลายขนาด ทำด้วยไม้หรือหวายมีเชิงและขอบส่วนบน มีลวดลายสวยงาม ถาดทองเหลือง มีรูปทรงกลมใต้ถาดจะมีปุ่มสำหรับรองถาดอยู่สี่ปุ่ม มีลวดลายโปร่ง ตรงกลางถาดจะมีลวดลายสวยงาม ถาดกี๋ มีรูปทรงกลมทำด้วยอลูมิเนียมชุบโครเมียม พื้นถาดทำเป็นภาพดอกไม้ขนาดใหญ่สวยงาม มีขอบโปร่ง มีหูจับสองข้าง และมีปุ่มรองถาดสี่ปุ่ม ภาชนะใส่อาหารคาวหวาน เป็นเครื่องถ้วยธรรมดา แบบมีฝาปิด และเครื่องถ้วยเบญจรงค์แบบมีฝาปิด สำหรับถ้วยขนมหวานจะเป็นถ้วยแก้วรูปทรงต่าง ๆ มีฝาปิดเพื่อจะได้เห็นสีสันต่าง ๆ ของขนมหวานที่สวยงาม  ขันหรือโถข้าว เป็นองค์ประกอบสำคัญของสำรับคาวหวานจะขาดเสียไม่ได้
บุคคลสำคัญ

            สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก  พระนามเดิมว่า ทองดี เกิดที่บ้านสะแกกรัง เมืองอุไทยธานี ต่อมาได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ท่านได้แต่งงานกับหญิงสาวในตระกูลเศรษฐีชื่อ ดาวเรือง ณ บ้านจีน ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระอักษรสุนทร เสมียนตรามหาดไทย มีหน้าที่ราชการทำท้องตราไปมากับหัวเมืองฝ่ายเหนือ
            สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก มีพระโอรสธิดารวมห้าพระองค์คือ
                ๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาสุดาวดี พระนามเดิมว่า ส
                ๒. พระเจ้ารามณรงค์ ไม่ปรากฎพระนามเดิม
                ๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระนามเดิมว่า แก้ว
                ๔. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ  พระนามเดิมว่า ด้วง
                ๕. สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิมว่า บุญมา

            พระยาประธานนคโรไทย (รอด)  เป็นบุตรชายนายจันทร์ มหาดเล็กหุ้มแพร เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๖ ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๑ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๓ ได้เป็นปลัดเวรมหาดเล็กและนายเวรมหาดเล็ก พ.ศ.๒๓๗๐  รับตำแหน่งที่เมืองอุไทยธานี จนถึงปี พ.ศ.๒๓๗๖ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)  ได้ขอตัวมาอยู่กรมมหาดไทย ได้รับราชการต่อมาอีกหลายแห่ง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๘ ได้รับแต่งตังเป็น พระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองอุไทยธานี และได้เป็นพระยาประธานนคโรไทย จางวางกำกับเมืองอุทัยธานีในเวลาต่อมา
            ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ รวมอายุได้ ๙๔ ปี

            พระยาวิฑูรธรรมพิเนต  นามเดิมชื่อ โต๊ะ อัมระนันท์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ที่บ้านสะแกกรัง เป็นบุตรของหลวงศรีทิพบาล (ดู่)  ได้ศึกษาที่โรงเรียนวัดอุโสถาราม จนสำเร็จการชั้นประโยคประถม ต่อมาได้ถวายตัวไว้กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒน์วิศิษฐ์
            พ.ศ.๒๔๕๕  ได้เข้ารับราชการตำแหน่งผู้พิพากษาที่ ๖ ทำการพนักงานอัยการ ต่อมาได้เป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ ได้ไปศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จวิชากฎหมายสูงสุดจากสหรัฐอเมริกา และเดินทางกลับเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้เป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษาคดีต่างประเทศ เจ้ากรมกองฎีกา กรมราชเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ แผนกกฤษฎีกา อธิบดีกรมกฤษฎีกา และองคมนตรี ตามลำดับ ออกจากราชการเมื่ออายุ ๓๙ ปี และสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี และเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
            ท่านถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ รวมอายุได้ ๗๘ ปี

            พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ  นามเดิมชื่อกิมเหลียง วัฒนปฤดา  เกิดที่แพในลำน้ำสะแกกรัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดขวิด แล้วศึกษาต่อทางบาลีที่วัดมหาธาตุ ฯ กรุงเทพ ฯ โดยได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ได้ที่หนึ่งของประเทศไทย ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรหมายเลข ๑ จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
            เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียน กระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อได้ไปปฎิบัติราชการที่กรุงปารีส ก็ได้ศึกษารัฐศาสตร์ และศึกษากฎหมายที่กรุงปารีส แต่ไม่ทันได้รับปริญญาก็ต้องย้ายไปประจำสถานฑูตไทยที่กรุงลอนดอน ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมปกาสิต และอธิบดีกรมศิลปากร
            เมื่อรับราชการอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชฑูตหลายประเทศคือ ญี่ปุ่น อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และยูโกสลาเวีย  สำหรับตำแหน่งทางการเมืองท่านได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเศรษฐการ
            ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ดีทางอักษรศาสตร์ทั้งในภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาบาลี เป็นนักพูดและนักประพันธ์ผู้มีผลงานมากกว่าพันเรื่อง จากความรู้ความสามารถดังกล่าวทำให้ท่านได้รับปรัญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ทางการทูตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางเศรษฐศาสตร์และสหกรณ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ และปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
            หลวงวิจิตรวาทการ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ รวมอายุได้ ๖๔ ปี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |