| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น

            ประติมากรรม  งานประติมากรรมชิ้นสำคัญของชาวอุทัยธานี ส่วนใหญ่เป็นงานประติมากรรมประเภทปูนปั้น ช่างปั้นส่วนใหญ่เป็นช่างพื้นบ้าน ที่ทำงานตามแบบอย่างที่เคยพบเห็น แล้วฝึกหัดจนเกิดความชำนาญ ผลงานที่ปรากฎคือ การปั้นหน้าบันพระอุโบสถ และช่อฟ้า ได้แก่ หน้าบันอุโบสถ และซุ้มหน้าต่างวัดอมฤตวารี เป็นต้น
            นอกจากประติมากรรมประเภทงานปูนปั้นแล้ว ยังมีงานประติมากรรมประเภทงานแกะสลักอีกด้วย ดังปรากฎฝีมืองานแกะสลักที่ประณีตงดงาม จากส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ของวัดสังกัสรัตนคีรี

            จิตรกรรม  ส่วนใหญ่เป็นงานจิตรกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมักเขียนเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ เขียนบนผนังอุโบสถและวิหารของวัดต่าง ๆ เช่น
                วัดอุโปสถาราม  ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน เป็นเรื่องพุทธประวัติ เรื่องพระมาลัย พระอสีติมหาสาวก และเรื่องพระอสุภกรรมฐาน ๑๐
                ส่วนภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้านเช่นกัน เป็นเรื่องพุทธประวัติยาวติดต่อกัน โดยดำเนินเรื่องตามที่ปรากฎในปฐมโพธิกถา
                วัดอมฤตวารี  ภาพจิตรกรรมสันนิษฐานว่า เป็นฝีมือช่างเขียนพื้นบ้าน ประมาณในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สีพื้นฉากหลังเป็นสีอ่อน การจัดองค์ประกอบค่อนข้างเป็นระเบียบเขียนเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตอนมารผจญ และตอนเสด็จลงมาจากดาวดึงส์

            สถาปัตยกรรม  งานก่อสร้างอยู่ในรูปของงานที่ถวายเป็นพุทธบูชา เช่น อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ มณฑป ปรางค์ เจดีย์ หอไตร ฯลฯ งานฝีมือที่เป็นศิลปกรรมภายนอกมีตั้งแต่ส่วนประกอบหลังคา ได้แก่ ปั้นลม ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน คันทวย ผนัง เชิงชาย เสา ประตู หน้าต่าง

            สถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกทางศิลปกรรม มีอยู่หลายแห่งที่สำคัญได้แก่ อุโบสถไม้ วัดวังสาริกา ที่อำเภอทัพทัน วัดถ้ำเขาวง อำเภอบ้านไร่ อุโบสถ และมณฑปวัดอุโบสถาราม และวิหารวัดพิชัยปุรณาราม อำเภอเมือง ฯ เป็นต้น

            งานทอผ้า  ชาวอุทัยธานีทอผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น ตีนซิ่น เสื่อ ผ้าเช็ดหน้า หมอนชนิดต่าง ๆ ผ้าห่ม ผ้าม่าน ผ้าหน้ามุ้ง ผ้าโสร่ง ผ้าสไบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะทอด้วยมือโดยใช้ฝ้ายแท้แล้วย้อมสีโดยใช้วัตถุดิบ ที่มีตามธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ใช้เปลือกไม้ ผล และใบ มาทำเป็นสีย้อม เช่น เปลือกต้นมหากาฬให้สีครีม ใบต้นครามให้สีคราม ฝางให้สีแดง ใบถั่วแปปให้สีเขียว ลูกมะเกลือให้สีดำ แง่งขมิ้นให้สีเหลือง เป็นต้น หรือใช้สารเคมีที่หาได้ตามละแวกบ้านเช่น กรดได้จากมะขามเปียกหรือมะกรูด ด่างได้จากขี้เถ้า น้ำปูนแดง น้ำปูนขาว
            เมื่อนำฝ้ายมาย้อมสีแล้วก็นำมาทอด้วยกี่ธรรมดา ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายจก ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายทอ ลายรูปสัตว์ ได้แก่ หงส์ ครุฑ นาค ช้าง ม้า ลายพรรณพฤกษา เครือซ้อน เครือเถา กนก ก้านแย่ง
            งานทอผ้าดังกล่าวปัจจุบันยังมีทำอยู่ที่บ้านกะเหรี่ยงเจ้าวัด บ้านกะเหรี่ยงแม่ดี บ้านทัพคล้าย บ้านทัพหมัน อำเภอบ้านไร่ และบ้านโคกหม้อ อำเภอทัพทัน
                ลายผ้าที่เป็นลายหลัก  ได้แก่ ลายขอซ้อนดอกกาบ ลายกาบสาม ลายขอกำนัน ลายเอี้ยวลัดซ้อนตัวกนก ลายดอกกร่าง ลายตาเหลว ลายตาดหัวโล้น ลายดอกขอซ้อนขอระฆัง
                ลายผ้าที่เป็นลายประกอบ  ได้แก่ ลายสร้อยสา ลายดอกเจียว ลายซองสามคิ้ว ลายตัวกนก ลายตัวหงส์ ลายบัวเครือ ลายเอี้ยวสี และลายอ้อแอ้
                การนุ่งซิ่น จะแตกต่างกันตามโอกาสและวัย ผู้มีอายุเมื่ออยู่กับบ้าน ทำงานบ้าน จะนุ่งซิ่นที่เรียกว่าซิ่นแล่ เมื่อออกงานสตรีวัยสาวจะนุ่งซิ่นตายาม เมื่อไปงานบุญงานพิธีจะนุ่งซิ่นตีนจก
ภาษาและวรรณกรรม
            ภาษา  ภาษาที่ใช้กันโดยทั่วไปคือภาษาไทยภาคกลาง แต่เนื่องจากในเขตจังหวัดอุทัยธานีมีคนหลายเชื้อชาติอยู่อาศัย เช่นไทย จีน มอญ กะเหรี่ยง จึงทำให้ภาษาที่ใช้แตกต่างกันไปบ้าง บางคำก็เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด
            จารึก  บริเวณเมืองโบราณบึงคอกช้าง ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ พบจารึกอักษรโบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่า บริเววณนี้มีความเจริญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ศิลาจารึกที่พบมีสามหลัก ดังนี้

                หลักที่ ๑  จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันสกฤต มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นศิลาจารึกชิ้นแรกที่ค้นพบ มีตัวอักษรหนึ่งบรรทัดแถว ยาววประมาณ ๕ นิ้ว สูง ๓ นิ้ว เพียงด้านเดียว บนศิลาแลง มีคำจารึกดังนี้
                คำจารึก วรปรชญาวาระ  คำแปล สมัยที่ปรัญชาเป็นเลิศ

                หลักที่ ๒  จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษามอญ มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ มีตัวอักษรหนึ่งบรรทัด แถวยาว ๘ นิ้ว สูง ๕ นิ้ว จารึกเพียงด้านเดียว บนแผ่นหินหน้าเรียบ มีคำจารึกดังนี้
                คำจารึก ปุญญสิธเคลา  คำแปล บุญย่อมส่งเสริมนักพรต

                หลักที่ ๓  จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษามอญ มีอายุอย่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔  มีอักษรหนึ่งบรรทัด แถวยาว ๔ นิ้ว สูง ๔ นิ้ว จารึกเพียงด้านเดียว บนแผ่นหินหน้าเรียบ มีคำจารึกดังนี้
                คำจารึก  ปสิณาวุ  คำแปล จงเลือกไปทางนี้
            ตำนาน  ตำนานพื้นเมืองของจังหวัดอุทัยธานี มีอยู่หลายเรื่องด้วยกันดังนี้
                ตำนานยอำเภอหนองขาหย่าง  เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอหนองขาหย่างเป็นที่ลุ่ม เมื่อถึงเวลาหน้าทำนา ชาวนาจะวิดน้ำเข้านา โดยการใช้กระโซ้วิดน้ำ ลักษณะของกระโซ้นั้น จะต้องมีขาหยั่งสามอันเป็นไม้คอยรับน้ำหนักของน้ำในกระโซ้  เมื่อหยุดหน้าทำนา ชาวนาจะเป็นแต่กระโซ้ไว้ใช้ในครั้งต่อไป คงทิ้งไว้แต่ขาหยั่ง เมื่อคนผ่านไปมาก็จะเห็นแต่ขาหยั่งอยู่เต็มท้องนาเลย พากันเรียกว่าหนองขาหยั่ง ต่อมาคำว่า "หยั่ง" กลายเป็น "หย่าง"  จึงเรียกกันว่าหนองขาหย่าง
                ตำนานเขานาค  ตำบลเขาขี้ฝอย เป็นนิทานพื้นบ้านของหมู่บ้านหนองเตา อำเภอเมือง ฯ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ที่บริเวณเขานาค เดิมเป็นที่อยู่ของพวกพญานาค และห่างเขาออกไปทางด้านทิศตะวันออกมีหนองน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่อาศัยของเต่าทอง พญานาคพยายามที่จะจับเต่าทองไปเป็นอาหาร ส่วนเต่าทองก็พยายามหลบหนีและไปคบหาอยู่กับพวกเทวดา ขอให้พวกเทววดาช่วยสาปแช่งให้พยานาคตายแข็งเป็นหิน พญานาคจึงพากันหนีไป เหลือแต่พญานาคที่ดื้อมากเลยถูกสาปเป็นหินอยู่ที่ภูเขา เขาลูกนี้จึงได้ชื่อว่า เขานาค ส่วนหนองน้ำใหญ่นั้นได้ชื่อว่า หนองเต่า เป็นหมู่บ้านใหญ่มาจนถึงปัจจุบันนี้
                อีกสำนวนหนึ่งเล่าว่า พญานาคตนหนึ่งไปชอบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อนาง เป็นคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับเจ้าหลวง ซึ่งชอบพอหญิงสาวคนนี้อยู่เช่นกัน เธอตัดสินใจไม่ถูกว่าจะร่วมเรียงเคียงหมอนกับใครดี ในที่สุดพญานาคกับเจ้าหลวงก็ตกลงพบกัน และได้ต่อสู้กันชนิดที่ต้องใช้วิชาความสามารถพิเศษ จนพวกเทวดาต้องออกมาดู ในการต่อสู้ครั้งหนึ่ง คมขวานได้จามไปถูกแผ่นดิน ถึงกับแยกเป็นลำน้ำตากแดด พวกเทวดาเห็นว่าจะไม่เป็นการ จึงสาบให้เจ้าหลวงกลายเป็นหินอยู่ที่เขาหลวงในปัจจุบัน ส่วนพญานาคให้ตากแดดไว้จนตายกลายเป็นเขานาค สำหรับนางถูกตัดหน้าอกไปให้เจ้าหลวงข้างหนึ่ง กลายเป็นเขานมนาง อยู่คนละฝั่งกับลำน้ำตากแดด ในเขตอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครวสวรรค์ อีกข้างหนึ่งขว้างไปไกลกลายเป็นเขาแหลม อยู่ในเขตอำเภอทัพทัน ส่วนสถานที่ต่อสู้กันเรียกว่า วังรอ จนถึงทุกวันนี้
                ตำนานเมืองอุทัย  ตามตำนานเล่าว่า ท้าวมหาพรหมได้มาตั้งเมืองที่บ้านอุไทย ในสมัยสุโขทัยเชื่อกันว่าเป็นแหล่งที่อยู่ของคนไทยจึงเรียกว่า เมืองอู่ไทย ต่อมาแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินทำให้เมืองเกิดกันดารน้ำ เมืองอู่ไทยจึงถูกทิ้งร้างจนถึงสมัยอยุธยา จนกระทั่งสมิงพะตะเบิด ชาวมอญได้เข้ามาปรับปรุงพัฒนาเมืองอู่ไทย โดยขุดทะเลสาบกักเก็บน้ำไว้ใกล้เมืองและตั้งตนเป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทย ชาวอุทัยธานีจึงนับถือว่า พะตะเบิด เป็นเจ้าเมืองคนแรก

                ตำนานเสาหลักเมืองอุไทย  เรื่องมีอยู่ว่าในสมัยก่อนไม่มีผู้ใดสนใจเรื่องเสาหลักเมือง จนกระทั่งมีคนกรุงเทพ ฯ จำนวนหนึ่งเดินทางมาที่วัดหัวเมือง แล้วเล่าให้ฟังว่ามีผู้ไปเข้าฝันว่าเสาหลักเมืองอุไทยเก่าอยู่ตรงไหน ให้มาจัดการตั้งเสาให้เรียบร้อย แล้วคนกรุงเทพ ฯ กลุ่มนั้นได้เดินทางมาที่วัดหัวเมือง อำเภอหนองฉาง แล้วตรงไปชี้จุดที่อยู่ของเสาที่รู้จากความฝัน ซึ่งอยู่บริเวณข้างวัดหัวเมืองทางทิศตะวันออก พบว่าเป็นเสาไม้แก่นไม้แต้ ซึ่งเดิมไม่มีผู้ใดสนใจมีคนเอาไม้แก่นไปทำฟืนเหลืออยู่เพียงซีกเดียว จึงได้ทำพิธีย้ายเสาหลักเมืองมาไว้ข้างวัดหัวเมือง แล้วสร้างศาลาคลุมเสาหลักเมืองไว้

                ตำนานถ้ำเขาพระยาพายเรือ  เป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มีอยู่หลายสำนวน
                ตำนานหนึ่งเล่าว่า สมัยก่อนบริเวณด้านหน้าของภูเขาพระยาพายเรือมีแอ่งน้ำ และถ้ำขนาดใหญ่ เจ้าพระยาคนหนึ่งหนีความผิด เรื่องการลักลอบได้เสียกับนางสนมในวัง มาหลบซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ วันดีคืนดีจะออกมาพายเรือเล่นในแอ่งน้ำบริเวณหน้าปากถ้ำ ชาวบ้านได้เห็นเป็นประจำ ต่อมาเจ้าพระยาคนนี้ได้หายสาบสูญไป ชาวบ้านจึงเรียกถ้ำนั้นว่า ถ้ำพระยาพายเรือ
                อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ในสมัยก่อนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีสาวสวยคนหนึ่งเป็นลูกเศรษฐี และมีชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นลูกเจ้าพระยาอาศัยอยู่ ปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า บ้านพุหล่ม ชายหนุ่มอยากเห็นหน้าหญิงสาวจึงแปลงตนเป็นกระรอกไปดูหน้าหญิงสาว ในขณะที่แอบดูอยู่ได้ถูกนายพรานของบ้านหญิงสาวยิงตาย และนำไปแกงเป็นอาหารกินกันทั้งหมู่บ้าน ยกเว้นบ้านแม่หม้ายเท่านั้นที่ไม่ได้กินแกงดังกล่าว หญิงสาวจึงนำแกงไปให้แม่หม้ายกิน แต่แม่หม้ายไม่กินและเทแกงกระรอกทิ้ง เกิดปาฎิหารย์น้ำท่วมบ้านของชายหนุ่ม คนในบ้านจึงได้อพยพพายเรือหนีกันไปอยู่บนภูเขาบ้างในถ้ำบ้าง นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงเรียกกันว่า เขาพระยาพายเรือ
                อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ภูเขาลูกนี้ถ้าไปยืนมองทางทิศตะวันตก จะเห็นเขาลูกนี้มีลักษณะคล้ายเรือขุด ในภูเขาลูกนี้มีถ้ำที่สวยงาม ลักษณะเป็นรูปร่างของถ้ำ จะแปลกแตกต่างกันออกไป จึงเรียกถ้ำนี้ว่า ถ้ำเขาพระยาพายเรือ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |