| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดยะลา

            จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สุดของไทย เป็นจังหวัดเดียวในสิบสี่จังหวัดภาคใต้ ที่ไม่มีพื้นที่จดทะเล เป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติ และทิวทัศน์ที่งดงาม ประชาชนในท้องถิ่นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ก็อยู่รวมกันอย่างสงบสุข มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในอดีตเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของเผ่าซาไก
            ตัวเมืองยะลาเป็นเมืองที่ได้รับคำยกย่องว่ามีผังเมืองดีเยี่ยม คำว่า"ยะลา"มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมคือ บ้านยะลอ (ตำบลยะลา อำเภอเมือง ฯ ในปัจจุบัน) ที่บ้านยะลอมีภูเขารูปร่างคล้ายแหตั้งอยู่ แต่ต่อมาได้มีการย้ายมาตั้งเมืองใหม่หลายครั้ง ในที่สุดมาตั้งที่บ้านนิบงจนถึงปัจจุบัน

            จังหวัดยะลามีพื้นที่ประมาณ ๔,๕๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒,๘๒๖,๐๐๐ ไร่  ประมาณร้อยละ ๖.๒๙ ของพื้นที่ภาคใต้  มีพื้นที่มากเป็นอันดับหกของภาคใต้  มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
            ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา  อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอแม่ลาน อำเภอยะรัง อำเภอทุ่งยางแดง และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี
            ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
            ทิศใต้ ติดต่อกับรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย
            ทิศตะวันตก ติดต่อกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
สภาพภูมิประเทศ
            สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีเนินเขาและหุบเขาอยู่ทั่วไป ที่ราบมีอยู่เพียงส่วนน้อย จำแนกสภาพภูมิประเทศตามระดับความสูงได้เป็น ๓ ประเภทคือ

            พื้นที่ราบ  เป็นพื้นที่ส่วนน้อยของจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับจังหวัดปัตตานี มีระดับความสูงของพื้นที่ประมาณ ๐ - ๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง ฯ อำเภอรามัน อำเภอยะหา และกิ่งอำเภอกรงปินัง
            พื้นที่ภูเขาเตี้ยและเนินเขา  มีระดับความสูงประมาณ ๑๐๐ - ๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล  ส่วนใหญ่อยู่ตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัด

            พื้นที่ภูเขาสูง  มีความสูงประมาณ ๒๐๐ เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่อยู่ประมาณร้อยละ ๙๕ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนหนาแน่น ทอดยาวจากทางตอนเหนือของจังหวัด บริเวณอำเภอเมือง ฯ อำเภอยะหา กิ่งอำเภอกาบัง ลงไปทางตอนใต้บริเวณอำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง และเลยเข้าไปในเขตประเทศมาเลเซีย ภูเขาที่สำคัญได้แก่ ภูเขาสันกาลาคีรี และภูเขาปิโล ภูเขาสันกาลาคีรีจะทอดตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ - ใต้  นอกจากจะใช้เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างไทยกับมาเลเซียแล้ว เทือกเขานี้ยังเป็นสันปันน้ำที่สำคัญให้กับทั้งประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย  แม่น้ำสายสำคัญของไทยที่มีกำเนิดจากเทือกเขานี้ได้แก่ แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี
ทรัพยากรธรรมชาติ
    ป่าไม้

            จังหวัดยะลามีทรัพยากรป่าไม้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายแดนไทยกับมาเลเซีย พื้นที่ป่าไม้ที่ถูกประกาศตามกฎหมาย มีอยู่ประมาณ ๑,๓๒๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๘๒๙,๐๐๐ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๒๙ ของพื้นที่จังหวัดส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบ และมีป่าชนิดอื่นอีกเล็กน้อย เช่น ป่าละเมาะและป่าพรุ  ไม้ในป่าส่วนใหญ่เป็นไม้กระยาเลย เช่น ไม้ตะเคียนเขา ไม้สยา ไม้หลุมพอ ไม้กระบาก ไม้ยาง ไม้ตะเคียนหวาย ไม้กาลอ และไม้มะค่า เป็นต้น
            ป่าพรุ  เป็นป่าดิบชื้นเขตร้อนประเภทหนี่ง เกิดบนพื้นที่พรุ มีลักษณะคล้ายกับป่าดิบชื้นเขตร้อนทั่วไป ป่าพรุในเขตจังหวัดยะลา

            ป่าพรุ  มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดมีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอรามัน ป่าพรุส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมแทบทั้งสิ้น ป่าพรุที่สำคัญ ๖ แห่ง ของจังหวัดยะลา ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพหลงเหลืออยู่ดังนี้
                - พรุโต๊ะพรานและพรุชะเมา  พันธ์พืชที่พบได้แก่  ชุม  แสง  จิกน้ำ  เสม็ดแดง  หว้า  มะม่วงป่า  ไข่จระเข้  ปราบ  คล้า  แปบ  คำเลาหนู  พืชผักได้แก่  ฝักลิ้น  บัวไหม  บัวเขียด
            สัตว์ที่พบ ที่เป็นสัตว์น้ำได้แก่ ปลาชนิดต่าง ๆ หอย และกุ้ง  สัตว์บกได้แก่  ลิง  ชะนี  กะจง  ค้างคาวแม่ไก่  งูเหลือม  งูจงอาง  หมูป่า และเสือ  จำพวกนกได้แก่  นกเป็ดน้ำ  นกนางแอ่น  นกยาง  นกยางกรอด  นกกระสาใหญ่  นกกระสาแดง  นกแขวก  นกยางควาย  นกยางทะเล  และนกยางดำ เป็นต้น
                - พรุโต๊ะแนแว  สัตว์ที่พบส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำเช่น ปลา และกุ้ง  ปลาที่พบมากได้แก่ ปลาสลาด  พืชพันธ์ที่พบได้แก่ ต้นสาคู ต้นหว้า และต้นสะท้อน
                - พรุแฆ  ในอดีตมีสัตว์ป่าชุกชุมได้แก่ ไก่ป่า กะจง เสือ หมูป่า ลิง นาก  สัตว์เลื้อยคลานมี จระเข้ งู แย้ และตะกวด  นกได้แก่ นกต่าง ๆ มีนกเป็ดน้ำ นกกวัก และนกกาลอ เป็นต้น
                - พรุบึงน้ำใส และพรุหนองบัวหลวง  มีสัตว์น้ำหลายชนิดเช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอ ปลาคูโบ และปลามังกร ซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวที่พรุบึงน้ำใส  สัตว์ป่ามีเสือป่า ค้างคาวแม่ไก่  ส่วนพืชพันธ์ที่พบมากได้แก่ สาคู กูแว หว้าหิน กาบู แปรู ชมพู่น้ำ เตย หวายดารู ปูต๊ะ และจะโน๊ะ เป็นต้น

            ป่าสงวนแห่งชาติ  มีอยู่ทั้งสิ้น ๑๑ ป่า มีพื้นที่ประมาณ ๖๖๘,๐๐๐ ไร่ ดังนี้
                ป่ากาบัง          มีพื้นที่ประมาณ ๑๖๙,๐๐๐ ไร่
                ป่าลาบู            มีพื้นที่ประมาณ ๒๐๙,๐๐๐ ไร่
                ป่าเบตง           มีพื้นที่ประมาณ ๑๗๕,๐๐๐ ไร่
                ป่าลาก๊ะ           มีพื้นที่ประมาณ   ๑๑,๐๐๐ ไร่
                ป่าจะกว๊ะ          มีพื้นที่ประมาณ  ๑๗,๕๐๐ ไร่
                ป่าเทือกเขากาลอ  มีพื้นที่ประมาณ  ๔๒,๐๐๐ ไร่
                ป่าตันหยงกาลอ    มีพื้นที่ประมาณ    ๗,๒๐๐ ไร่
                ป่าเซาใหญ่        มีพื้นที่ประมาณ   ๒๔,๐๐๐ ไร่
                ป่าบูกิ๊ตตำมะซู     มีพื้นที่ประมาณ       ๓๐๐ ไร่
                ป่าสกายอกูวิง      มีพื้นที่ประมาณ     ๘,๑๐๐ ไร่
                ป่ากาโสด          มีพื้นที่ประมาณ     ๖,๓๐๐ ไร่
            มีป่าเตรียมสงวนอีกสองแห่งคือ
                ป่าฝั่งขวาแม่น้ำปัตตานี มีพื้นที่ประมาณ ๒๕๔,๐๐๐ ไร่
                ป่าบาลา - ฮาลา        มีพื้นที่ประมาณ    ๖๕,๐๐๐ ไร่
            อุทยานแห่งชาติ  มีอยู่หนึ่งแห่งคือ อุทยานแห่งชาติบางลาง เป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการเตรียมการประกาศจัดตั้ง มีพืนที่อยู่ในเขตอำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง โดยได้รวมพื้นที่ที่กรมประชาสงเคราะห์ให้กรมป่าไม้ และพืนที่เหนือเขื่อนบางลางทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบอยู่น้อย อุทยาน ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๒๖๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๖๓,๐๐๐ ไร่

| หน้าต่อไป | บน |