| หน้าแรก | หน้าต่อไป | พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร | พระพุทธชินราช | พระพุทธสิหิงค์ | พระพุทธเทวปฏิมากร |
| พระศรีสากยมุนี | พระพุทธชินสีห์ | พระศาสดา | พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร) | พระสิทธารถ | หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ |
| พระพุทธไตรรัตนนายก | หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร | พระไสยา | พระนอนจักรสีห์ | พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก |
| พระนอนวัดขุนอินทประมูล | พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ | พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) | พระพุทธโสธร |
| หลวงพ่อเพชร | หลวงพ่อบ้านแหลม | หลวงพ่อโตวัดอินทร์ |
พระศาสดา
สร้างคราวเดียวกับพระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์ ได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารชำรุดไม่มีผู้ปฏิสังขรณ์ จึงได้อัญเชิญพระศาสดามาไว้ ที่วัดบางอ้อช้าง ทางแม่น้ำอ้อม จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ต้นสมัยกรุง รัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติปฏิสังขรณ์วัดประดู่ คลองบางหลวง จึงได้ขออัญเชิญพระศาสดาไปเป็นพระประธาน
ล่วงมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระราชดำริว่า พระศาสดาเป็นพระพุทธรูปอยู่ที่พระอารามหลวงมา แต่โบราณ ไม่สมควรอยู่ที่วัดอื่น จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมา ประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ต่อมาได้ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดาและพระพุทธชินสีห์ เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นใน วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญพระศาสดาจากวัดสุทัศน์ ฯ ไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖

พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร)
เป็นพระประธานองค์ใหญ่ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปโบราณ หน้าตักกว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดสะพาน เมืองเพชรบุรี ชาวบ้าน เรียกกันว่า พระโต  สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ โปรดให้อัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร  เข้าใจว่าน่าจะมีการซ่อมใหม่ในโอกาส นี้ เพราะมีลักษณะที่เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ปรากฎ อยู่มาก ลักษณะเดิมขององค์พระมีเค้าว่าเดิมน่าจะเป็นพระขอม

พระสิทธารถ
เป็นพระประธานวัดพิชัยญาติ  มีประวัติว่าได้อัญเชิญมาจากเมืองพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูป ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า เดิมน่าจะประดิษฐานอยู่วัดที่สำคัญของเมืองพิษณุโลกคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  วัดวิหารทอง  วัดราชประดิษฐาน และวัดจุฬามณี ไม่วัดใดก็วัดหนึ่ง พระสิทธารถ และพระทศพลญาณ เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่อัญเชิญมาจาก เมืองเหนือในชั้นหลัง

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์
หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์  เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณมาแต่โบราณกาล  ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า  พระเจ้ากาแลโปรดให้บูรณะวัดป่าเลไลยก์  เมื่อ พ.ศ. 1724 แสดงว่าแสดงว่าวัดนี้ได้สร้างมาแล้วก่อนหน้านั้น
องค์พระประดิษฐานอยู่ในวิหารที่สูงใหญ่  มองเห็นเด่นแต่ไกล  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปาง ป่าเลไลยก์ขนาดใหญ่สูง 23 เมตรเศษ  สร้างตามแบบศิลปอู่ทองรุ่นที่สอง  ซึ่งเป็นศิลปะฝีมือสกุลช่างอู่ทองแท้ ๆ เดิมทีองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง พระหัตถ์ขวาหัก ช่างได้สร้างวิหารครอบ โดยให้ผนังวิหารชิดกับพระ หัตถ์ขวา ส่วนทางพระหัตถ์ซ้ายให้มีที่ว่าง  ด้านหลังองค์พระสร้างชิดกับผนังวิหารทำให้แข็งแรง  นับเป็นความ ชาญฉลาดของช่างเป็นอย่างยิ่ง
มีผู้สันนิษฐานว่า  เดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง พระกรทั้งสองข้างหักหายไป ผู้ที่มาบูรณใหม่ได้ทำเป็นปางป่าเลไลยก์ตามที่นิยมกันในสมัยหลัง  ลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท  พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุข้างขวาในท่าทรงรับของถวาย  พระวิหารที่สร้างครอบองค์พระ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ  จะเห็นว่าที่หน้าบันของพระวิหาร มีพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือเป็นรูปพระมหามงกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ปรากฎอยู่
วัดป่าเลไลยก์ เป็นที่คุ้นของคนทั่วไป  เนื่องจากปรากฎอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน  ขุนแผนเมื่อเยาวัยได้มาบวชดเรียนที่วัดนี้ในชื่อว่าเณรแก้ว  ความสำคัญของวัดป่าเลไลยก์ตามที่พรรณาไว้ใน เสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนหนึ่งมีดังนี้
ทีนี้จะกล่าวเรื่องเมืองสุพรรณ                      ยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้า
จะทำบุญให้ทานการศรัทธา ต่างมาที่วัดป่าเลไลยก์
หญิงชายน้อยใหญ่ไปแออัด ขนทรายเข้าวัดอยู่ขวักไขว่
ก่อพระเจดีย์ทรายเรียงรายไป จะเลี้ยงพระกะไว้วันพรุ่งนี้......
งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ มีปีละสองครั้ง  คือในวันขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12

พระพุทธไตรรัตนนายก
พระพุทธไตรรัตนายก เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดพนัญเชิง ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก  ตรงข้ามกับมุมตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตามพระศาวดารกล่าวว่า  พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1867  ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี 26 ปี  ตอนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้บูรณะซ่อมแซมให้อยู่ใน สภาพดีมาโดยตลอด กล่าวกันว่าเมื่อคราวจะเสียกรุงศรีอยุธยาได้ปรากฎมีน้ำพระเนตรไหลออกมาจากพระเนตรทั้งสองข้างเป็นที่อัศจรรย์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงบูรณะองค์พระพุทธรูปใหม่ทั้งองค์และถวายพระนามว่า พระพุทธไตรรัตนายก
ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงสร้างขึ้น ณ บริเวณที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก ส่วนที่มาของคำว่าพนัญเชิงนั้น ตามตำนานมูลศาสนากล่าวว่าเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า พะแนงเชิง ซึ่งแปลว่า การนั่งพับเพียบ ซึ่งเป็นอาการที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมากใช้ในวาระสุดท้ายของเรื่อง นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ศัพท์ที่ใกล้เคียงพบว่า คำว่าพะแนงเชิง ทางภาษาปักษ์ใต้หมายถึงอาการนั่งแบบขัดสมาธิ
หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 20 เมตร สูง 19 เมตร เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีน ซึ่งขนานนามหลวงพ่อโต องค์นี้ว่าซำปอกง

หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร
พระมงคลบพิตร  ไม่ปรากฎหลักฐานชัดว่าสร้างในรัชกาลใดแห่งกรุงศรีอยุธยา  สันนิษฐานว่าสร้างใน สมัยอยุธยาตอนต้น  เพราะพระพักตร์แม้จะมีลักษณะค่อนข้างเป็นวงรีแล้ว แต่ก็ยังคงเห็นเค้าพระพักตร์เป็น เหลี่ยมอยู่ ซึ่งเป็นพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนต้น  เมื่อพิจารณาถึงเส้นพระขนงที่โค้ง ก็จะพบว่าเป็นศิลปที่ ผสมผสานกับศิลปะสุโขทัยอีกด้วย  องค์พระก่อด้วยอิฐแล้วหุ้มสำริดแผ่น  นับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดองค์ หนึ่งของไทย
จากหลักฐานมีอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2146  พระเจ้าทรงธรรมได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชะลอหลวงพ่อวัดมลคลบพิตร จากด้านตะวันออกของวังหลวงมาไว้ทางด้านตะวันตก  ณ  ที่ประดิษฐานปัจจุบัน  และยังได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมณฑปที่มีลักษณะเช่นเดียวกับมณฑปพระพุทธบาทสระบุรีสวมไว้ด้วย
ในสมัยพระพุทธเจ้าเสือ เกิดอสุนีบาตต้องยอดพระมณฑป เกิดไฟไหม้พังลงมาต้องพระศอของพระมงคล บพิตรหัก  พระองค์จึงโปรดเกล้า ฯ ให้รื้อเครื่องบนออกแล้วสร้างใหม่เป็นพระวิหาร แต่คงทำเครื่องยอดอย่าง มณฑปของเดิม  ต่อมาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศน์เป็นแม่กองบูรณะปฏิสังขรณ  และได้รื้อยอดมณฑปเดิมเปลี่ยนเป็นพระวิหาร
วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟเผาผลาญ ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2310  จนเครื่องบนของพระวิหารพังลงมา ถูกพระเมาฬีและพระกรขวาขององค์พระชำรุด พระยาโบราณราชธานินทรเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้บูรณะซ่อมแซมให้คืนดี  สำหรับพระวิหารที่ชำรุดหักพังเกือบจะโดยสิ้นเชิงนั้น ได้บูรณะขึ้นใหม่อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2499  โดย นายอูนุ  นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าในขณะนั้น ได้บริจาคเงินจำนวนสองแสนบาท ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลไทยอีกสองแสนห้าหมื่นบาท



| หน้าแรก | หน้าต่อไป | บน | พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร | พระพุทธชินราช | พระพุทธสิหิงค์ | พระพุทธเทวปฏิมากร |
| พระศรีสากยมุนี | พระพุทธชินสีห์ | พระศาสดา | พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร) | พระสิทธารถ | หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ |
| พระพุทธไตรรัตนนายก | หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร | พระไสยา | พระนอนจักรสีห์ | พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก |
| พระนอนวัดขุนอินทประมูล | พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ | พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) | พระพุทธโสธร |
| หลวงพ่อเพชร | หลวงพ่อบ้านแหลม | หลวงพ่อโตวัดอินทร์ |