| หน้าแรก | พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร | พระพุทธชินราช | พระพุทธสิหิงค์ | พระพุทธเทวปฏิมากร |
| พระศรีสากยมุนี | พระพุทธชินสีห์ | พระศาสดา | พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร) | พระสิทธารถ | หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ |
| พระพุทธไตรรัตนนายก | หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร | พระไสยา | พระนอนจักรสีห์ | พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก |
| พระนอนวัดขุนอินทประมูล | พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ | พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) | พระพุทธโสธร |
| หลวงพ่อเพชร | หลวงพ่อบ้านแหลม | หลวงพ่อโตวัดอินทร์ |
พระพุทธโสธร
พระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา  ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวราราม ราชวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปพอกปูน ลงรักปิดทอง ปางสมาธิแบบล้านช้าง หน้าตักกว้างประมาณสามศอกครึ่ง
ตามประวัติกล่าวว่า มีพระพุทธรูปสามองค์ ลอยน้ำมาจากทิศเหนือ แล้วมาผุดขึ้นที่แม่น้ำปางปะกง ในลักษณะที่ลอยทวนน้ำ ชาวบ้านเห็นเข้าจึงเอาเชือกไปคล้ององค์แล้วช่วยกันดึงเข้าฝั่ง แต่ไม่สำเร็จเชือกขาด และพระพุทธรูปได้จมน้ำไป ชาวบ้านจึงเรียกตำบลนั้นว่า สามพระทวน พระพุทธรูปทั้งสามองค์หลังจากจมลงไปในน้ำแล้ว ก็ได้ไปผุดขึ้นในที่หลายแห่ง แต่ละแห่งชาวบ้านได้พยายามฉุดดึงเข้าฝั่งแต่ไม่สำเร็จ บริเวณที่พบพระพุทธรูปดังกล่าวจึงได้ชื่อต่าง ๆ กันไป ได้แก่ บางพระ  แหลมหัววน และคลองสองพี่น้อง เป็นต้น สำหรับพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้ลอยไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านเป็นจำนวน มากช่วยกันฉุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จ ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่าสามแสน ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็นสามเสนในที่สุดได้มีอาราธนา พระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบ้านแหลม องค์ที่สาม ชาวบางพลีได้อาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนองค์กลางได้ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงวัดหงษ์  ชาวบ้านได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานในอุโบสถวัดหงษ์ และเปลี่ยนมาเป็นวัดโสธร เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่มีรูปหงษ์อยู่บนยอดเสา  จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมา ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่าวัดเสาธง ต่อมาเกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าวัดเสาทอน และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็น วัดโสธร
งานเทศกาลประจำปีของหลวงพ่อโสธร มีปีละ 2 ครั้ง คือในกลางเดือนห้า ซึ่งเป็นวันที่อาราธนาหลวงพ่อโสธรขึ้นจาก แม่น้ำมาประดิษฐานในพระอุโบสถของวัดโสธรจะมีงานฉลอง 3 วัน 3 คืน และในเทศกาลตรุษจีน จะมีงานฉลอง 5 วัน 5 คืน การแก้บนหลวงพ่อโสธรที่นิยมทำกันคือ แก้บนด้วยละครชาตรี

หลวงพ่อเพชร
หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสนรุ่นแรก ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของวัดท่าถนน ตลาดบางโพ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดท่าถนนเดิมชื่อวัดวังเตาหม้อ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2436 หลวงพ่อด้วง เจ้าอาวาสวัดหนองไม้ อำเภอหนองโพ ซึ่งเป็นอำเภอเมืองปัจจุบัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เดินทางผ่านวัดร้างแห่งหนึ่งเป็นวัดโบราณ พบจอมปลวกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งรูปร่างรูปแหลมผิดกลับจอมปลวกทั่วไป จึงได้เอาไม้เคาะปลายแหลมที่เป็นยอดของจอมปลวกนั้นจนดินหลุดออก เห็นเกศพระพุทธรูปโผล่ออกมา หลวงพ่อด้วงจึงสั่งให้พระและลูกศิษย์วัดที่ร่วมเดินทางไปด้วยช่วยกันขุดดินจอมปลวกออก ก็พบพระพุทธรูปขนาดค่อนข้างใหญ่ ฝังอยู่ในจอมปลวกแห่งนั้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นไปไว้ที่วัดหนอนไม้
ต่อมาหลวงพ่อด้วงเห็นว่า วัดหนอนไม้ไม่มีพระอุโบสถที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับมีประชาชนที่ทราบข่าวพระพุทธรูปองค์นี้ ได้มากราบไหว้บูชาสักการะเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังอาจมีปัญหาเรื่องโจรผู้ร้าย จึงพิจารณาเห็นว่า หากเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานที่วัดวังเตาหม้อ (คือวัดท่าถนนในปัจจุบัน) ซึ่งมีหลวงพ่อเพชรเป็นเจ้าอาวาสอยู่ วัดแห่งนี้มีพระอุโบสถ และตั้งอยู่ในที่ชุมนุมชน สะดวกแก่การไปนมัสการของประชาชน ท่านจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อ และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อเพชร
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ได้มีการรวบรวมพระพุทธรูปที่เก่าแก่และสวยงาม ที่อยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ มาประดิษฐานไว้ที่วัดเหล่านี้ พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร มีพุทธลักษณะงาม ก็ได้รับเลือกสรรให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร พร้อมกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ จากทั่วราชอาณาจักร การที่ต้องนำหลวงพ่อเพชรไปจากวัดลังเต้าหม้อทำให้เจ้าอาวาสเสียใจมาก จึงได้ออกจากวัดธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ สุดท้ายได้มรณภาพบนภูเขาในป่า บ้านนาตารอด ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร
กลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อตามคำขอของชาวเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2473 พระครูธรรมกิจจาภิบาล ร่วมกับประชาชนชาวเมืองอุตรดิตถ์ได้ช่วยกันสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ และอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ในพระวิหาร เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะบูชาได้สะดวก
พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก ที่เรียกกันว่าพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง หล่อด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย ชายสังฆาฎิสั้น ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 32 นิ้ว สูง 41 นิ้ว มีพุทธลักษณะงามมาก ชาวอุตรดิตถ์ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง มีงานนมัสการประจำปีในวันกลางเดือนสี่ของทุกปี

หลวงพ่อบ้านแหลม
เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร  หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง  ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือที่เรียกว่าวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวเมืองแม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงคราม
ตามตำนานเล่ากัน มีความสัมพันธ์กับตำนานพระพุทธรูปโสธร แต่มีเพิ่มเติมจำนวนพระพุทธรูปจาก 3 องค์ เป็น 5 องค์ กล่าวคือ มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้แยกย้านกันไป ประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่าง  ๆ รวม 5 จังหวัด
องค์แรกได้ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง และได้ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดโสธร ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร
องค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และได้ไปประดิษฐานที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี ที่เป็นอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ได้ชื่อว่าหลวงพ่อวัดไร่ขิง
องค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ไปประดิษฐานที่วัดบางพลี ณ ปากคลองบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบางพลี
องค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง และได้ไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบ้านแหลม
องค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี และได้ไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่าหลวงพ่อเขาตะเครา
สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2307 ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ซึ่งไปลากอวนหาปลาที่ปากน้ำแม่กลอง อวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่ง ได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่วัดตะเครา เมืองเพชร
วัดศรีจำปานี้ต่อมาได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม แลต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทวรวิหาร
บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายไว้เนื่องจาก บาตรเดิมอาจจมหายอยู่ในน้ำ ก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง

หลวงพ่อโตวัดอินทร์
เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร ก่อด้วยอิฐหรือปูน ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทรวิหาร ซึ่งเป็นวัดโบราณ ชื่อวัดบางขุนพรหมนอก อยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม อำเภอพระนคร กรุงเทพ ฯ
ตามประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต  พรหมรังษี) เป็นผู้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แต่ยังสร้างไม่เสร็จ คงสร้างค้างไว้เพียงถึงพระนาภี สูงประมาณ 9 วาเศษ พระครูจรรยานุกูล (หลวงปู่ภู) เจ้าอาวาสวัดอินทร์จึงดำเนินการสร้างต่อแต่ก็ยังไม่เสร็จ พระครูสังฆบริบาล (แดง) ได้สร้างเพิ่มเติมได้สร้างต่อจบเกือบเสร็จ ขาดเพียงยอดพระเมาลี  ได้องค์พระสูงประมาณ 16 วา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2467 พระครูสังฆรักษ์ (เงิน) เจ้าอาวาสได้ดำเนินการสร้างต่อมา ใช้เวลา 4 ปี จึงสำเร็จเรียบร้อย และได้จัดให้มีงานสมโภช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2471
ปัจจุบันมีงานฉลองเป็นเทศกาลประจำปี ระหว่างวันที่ 1-7 เมษายน ของทุกปี



| หน้าแรก | บน | พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร | พระพุทธชินราช | พระพุทธสิหิงค์ | พระพุทธเทวปฏิมากร |
| พระศรีสากยมุนี | พระพุทธชินสีห์ | พระศาสดา | พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร) | พระสิทธารถ | หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ |
| พระพุทธไตรรัตนนายก | หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร | พระไสยา | พระนอนจักรสีห์ | พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก |
| พระนอนวัดขุนอินทประมูล | พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ | พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) | พระพุทธโสธร |
| หลวงพ่อเพชร | หลวงพ่อบ้านแหลม | หลวงพ่อโตวัดอินทร์ |