| หน้าแรก | หน้าต่อไป | พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร | พระพุทธชินราช | พระพุทธสิหิงค์ | พระพุทธเทวปฏิมากร |
| พระศรีสากยมุนี | พระพุทธชินสีห์ | พระศาสดา | พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร) | พระสิทธารถ | หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ |
| พระพุทธไตรรัตนนายก | หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร | พระไสยา | พระนอนจักรสีห์ | พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก |
| พระนอนวัดขุนอินทประมูล | พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ | พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) | พระพุทธโสธร |
| หลวงพ่อเพชร | หลวงพ่อบ้านแหลม | หลวงพ่อโตวัดอินทร์ |
พระไสยา
เป็นพระศิลาโบราณปางพระเจ้าเข้านิพพาน ครั้งราชวงศ์พระร่วงสมัยสุโขทัย องค์พระยาวจาก พระบาทถึงพระจุฬา (พระเกศ) ๖ ศอก คืบ ๕ นิ้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญ เชิญมาจากเมืองสุโขทัย ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้ประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในวิหารเดียวกับพระศาสดา

พระนอนจักรสีห์
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้  เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาวที่สุดของประเทศ สร้างมานานเก่าแก่จนไม่ทราบ แน่ชัดว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าในทำนองนิยายปรำปรา ทำนองเดียวกันกับพระ ปฐมเจดีย์  เช่น กล่าวว่าพระเจ้าสิงหพาหุเป็นผู้สร้าง  แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าพระเจ้าพาหุคือผู้ใด ครองเมืองอะไร ในยุคสมัยใด  สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  องค์พระหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว
วัดพระนอนจักรสีห์  เป็นพระอารามหวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร  อยู่ที่ตำบลจักรสีห์  อำเภอเมือง  จังหวัดสิงหบุรี  พื้นที่ของวัดมีขนาดกว้างประมาณ 7 เส้น (280 เมตร) ยาวประมาณ 10 เส้น (400 เมตร) สภาพที่เป็นอยู่เมื่อปี พ.ศ. 2421  จากพระราชนิพนธ์เรื่อง ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา มีว่า " วัดนี้อยู่ ห่างแม่น้ำสามสิบวา เป็นที่ลุ่มน้ำท่วม ต้องทุบถนนและมีสะพานข้าม  รอบวิหารพระนอนมีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ชั้นหนึ่ง  ตัวพระวิหาร ยาว 1 เส้น 7 วา กว้าง 11 วา เสาข้างในเป็นแปดเหลี่ยม อาการที่พระพุทธไสยาสน์บรรทม ไม่เหมือนอย่างกรุงเก่า หรือกรุงเทพ ฯ  พระกรทอดออกไปมากเพราะเขนยหนุนไม่สู้ชันนัก เป็นบรรทมราบ แต่พระบาทซ้อนกันตรงเหมือนอย่างพระนอนทั้งปวง "
หลักฐานที่มีอยู่คือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการ เมื่อปีจอ ฉศก จุลศักราช 1111  ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2297  และได้เสด็จไปอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2299  เพื่อสมโภชฉลอง  ต่อมาสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้เสด็จไปทรงนมัสการ เมื่อปี พ.ศ. 2421  ในครั้งนั้น พระวิหารและพระนอนชำรุดทรุดโทรมมาก เนื่องจากขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์มานาน  พระธรรมไตรโลก (อ้น) วัดสุทัศน  ได้ทูลขอพระราชทานเงินค่านาสำหรับวัดเพื่อทำการปฏิสังขรณ์ พระองค์ก็ได้มอบถวายให้ และโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราศปรปักษ์เป็นที่ปรึกษา การปฏิสังขรณ์ทำเสร็จในปี พ.ศ. 2428 การปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดทำเมื่อปี พ.ศ. 2510

พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก
พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก  ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดป่าโมก  ซึ่งมีชื่อเดิมว่า วัดตลาด  อยู่ที่อำเภอป่าโมก  จังหวัดอ่างทอง  วัดป่าโมก เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา  ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ มีความเก่าแก่คู่กันมากับวัด มีขนาดใหญ่โตและงดงามมาก สร้างก่อนรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จมาประชุมพลก่อนจะเสด็จไปรบกับ พระมหาอุปราชา  ได้เสด็จมาทรงสักการะพระพุทธไสยาสน์ก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2135
เดิมองค์พระพุทธไสยาสน์และพระวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยห่างจากที่ตั้งปัจจุบัน 4 เส้น 4 วา เนื่องจาก ที่ตั้งนั้นเป็นคุ้งน้ำ  น้ำจึงเซาะตลิ่งพังลงไปจนใกล้ถึงองค์พระ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระราชสงครามเป็นนายกองดำเนินการชะลอพระพุทธไสยาสน์ ให้ลึกเข้ามาจากฝั่ง 4 เส้น 4 วา  แล้วสร้าง พระวิหารสำหรับพระพุทธไสยาสน์ เรื่องราวการชะลอพระพุทธไสยาสน์นี้มีปรากฎอยู่ในศิลาจารึก ติดไว้ที่ฝา ผนังพระอุโบสถของวัดป่าโมก มีใจความดังนี้
เมื่อปี พ.ศ. 2271  พระเจ้าปราสาททอง เสด็จพระราชดำเนินมายืนบกชะลอพระพุทธไสยาสน์  ณ  อำเภอ ป่าโมก  ให้พ้นอันตรายจากน้ำเซาะตลิ่งพัง  โดยชะลอให้ห่างฝั่งแม่น้ำ 4 เส้น 4 วา  แล้วให้สร้างพระวิหาร สำหรับองค์พระพุทธไสยาสน์ที่วัดตลาด  เนื่องจากพระวิหารเดิมฝาผนังและหลังคาชำรุดทรุดโทรม
นอกจากนั้นยังมีโคลงพระราชนิพนธ์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เรื่อง การชะลอพระพุทธไสยาสน์  เมื่อครั้งเป็นกรมพระราชวังบวร ฯ นิพนธ์  ถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นจำนวนโคลง 69 บท มีสำนวนตามบทที่ 2 ดังนี้
ตะวันลงตรงทิศทุกัง                      แทงสาย
เซราะฝั่งพงรหุรหาย รอดน้ำ
ขุดเขื่อนเลื่อนทลมทลาย ริมราก
ผนังแยกแตกแตนซ้ำ รูปร้าวปฏิมา
ในโคลงดังกล่าวยังได้บรรยายว่า พระราชสงครามเป็นผู้ที่มีความสามารถ  เคยทำงานสำคัญมาหลายครั้ง การชะลอครั้งนี้ได้จัดการขุดดิน  ทำร่อง  ทำราง  ด้วยความยากลำบากจนเป็นผลสำเร็จ

พระนอนวัดขุนอินทประมูล
พระนอนวัดขุนอินทประมูล ประดิษฐานอยู่ ณ วัดขุนอินทประมูล ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง อยู่ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร องค์พระยาว สองเส้นห้าวา ซึ่งนับเป็นพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
จากตำนานกล่าวว่า ขุนอินทประมูล ได้ยักยอกเงินหลวงมาสร้าง ครั้งถูกสอบถามว่าเอาเงินจากใหนมาสร้างพระ ขุนอินทประมูลก็ไม่ยอมบอกความจริง จึงถูกลงโทษจนตาย คงมีความชื่อที่ว่า ถ้าบอกแหล่งที่มาของเงินแล้ว ตนจะไม่ได้กุศลตามที่ปราถนา
จากการสันนิฐานมีความเห็นว่าได้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระพักตรหันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก  เมื่อมองตลอดทั้งองค์มีความสง่างามมาก  พระพักตรงดงามได้สัดส่วน แสดงออกถึงความมีเมตตาปัจจุบัน องค์พระนอนอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารคลุมเช่นพระนอนองค์อื่น เนื่องจากวิหารเดิมคงหักพังไปนานแล้ว ดังจะเห็นได้จาก เสาพระวิหารที่ยังปรากฎอยู่รอบองค์พระนอน รอบ ๆ องค์พระมีต้นไม้ขนาดใหญ่หลายต้นขึ้นอยู่โดยรอบ ทำให้มีความสงบร่มเย็น เหมาะแก่การไปนมัสการให้เกิดความสุข สงบ ตามธรรมชาติ ซึ่งแปลกออกไปจากบรรยากาศในพระวิหาร
ไม่พบว่ามีการนมัสการประจำปี อาจจะเนื่องจากอยู่ที่วัดร้างกลางทุ่งนา ห่างไกลจากชุมชนมาก

พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์
พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ หรือเรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารวัดพระเชตุพนวิมล
มังคลาราม หรือที่เรียกกันว่าวัดโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระนอนที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสามของประเทศไทย คือยาวถึงสองเส้นสามวา, รองลงมาจากพระนอนวัดขุนอินทประมูล (ยาวสองเส้นห้าวา) และพระนอนจักรสีห์ (ยาวสองศอก หนึ่งคืบ เจ็ดนิ้ว)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพล ฯ ทั้งวัด องค์พระก่อด้วยอิฐคือปูน ลงรักปิดทองทั้งองค์
พระบาทของพระพุทธไสยาสน์แต่ละข้าง กว้าง 1.5 เมตร ยาว 5 เมตร มีภาพมงคล 108 ประการ เป็นลวดลาย
ประดับมุก ภาพมงคลแต่ละอย่างจะอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยภาพกงจักร ซึ่งอยู่ตรงกลางพระบาท ทั้งสองข้างมีภาพเหมือนกัน

พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ)
พระนอนวัดคูหาภิมุข ซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกว่า พระนอนวัดหน้าถ้ำ ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำวัดคูหาภิมุข อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นพระนอนที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย
ตามตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า ในครั้งที่สร้างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองต่าง ๆ ในแถบนั้น ที่ยังอยู่ในอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรศรีวิชัย อันได้แก่ เมืองพัทลุง ปัตตานี กลันตัน ตรังกานู ป่าหัง และเมืองไทรบุรี ได้ทราบข่าวการสร้างพระบรมธาตุดังกล่าว ใคร่จะร่วมการกุศลด้วย จึงได้พากันนำสิ่งของต่าง ๆ บรรทุกเรือสำเภา แล่นใบมายังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อจะร่วมสร้างพระบรมธาตุ แต่เมื่อเดินทางมาถึงก็ปรากฎว่า พระบรมธาตุได้สร้างเสร็จแล้ว บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ดังกล่าวเมื่อไม่ได้มีโอกาสร่วมพระบรมธาตุ ก็เดินทางกลับเมืองตนด้วยความผิดหวัง เมื่อเรือแล่นมาถึงชายทะเลแห่งหนึ่ง เห็นมีภูเขาสูงใหญ่อยู่ริมฝั่งทะเลก็พากันจอดเรือแวะพัก แล้วขึ้นไปสำรวจดูเขาลูกนั้น ก็ได้พบถ้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ภายในถ้ำมีความวิจิตรงดงามยิ่งนัก บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นจึงได้ปรึกษาหารือกันว่า เมื่อไม่ได้มีโอกาสสร้างพระบรมธาตุแล้ว ก็น่าจะมาช่วยกันสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นไว้ในถ้ำแห่งนี้ จึงได้ร่วมกันสร้างพระนอนองค์ใหญ่ ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1300 มีขนาดยาวประมาณ 81 ฟุต รอบองค์พระประมาณ 35 ฟุต พระบาททั้งสองซ้อนกันสูงประมาณ 10 ฟุต
ปัจจุบันเมื่อเวลาผ่านไปประมาณกว่า 1200 ปี ชายฝั่งทะเลได้ถอยห่างจากภูเขาลูกนี้ออกไป ประมาณ 40 กิโลเมตร แต่มีร่องรอยที่แสดงว่าน้ำทะเลเคยท่วมถึงบริเวณนี้ คือมีเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ อยู่ตามผนังถ้ำด้านล่าง
พระนอนองค์นี้มีลักษณะของส่วนประกอบที่แปลกออกไปจากพระนอนองค์อื่น คือมีพญานาคแผ่พังพานอยู่เหนือเศียรพระนอน ทำให้มีผู้สันนิษฐานถึงที่มาของพระนอนองค์นี้ว่า เดิมอาจเป็นเทวรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตามศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนส่วนนี้ จึงได้ดัดแปลงเทวรูปดังกล่าวให้เป็นพระพุทธรูปดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน



| หน้าแรก | หน้าต่อไป | บน | พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร | พระพุทธชินราช | พระพุทธสิหิงค์ | พระพุทธเทวปฏิมากร |
| พระศรีสากยมุนี | พระพุทธชินสีห์ | พระศาสดา | พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร) | พระสิทธารถ | หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ |
| พระพุทธไตรรัตนนายก | หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร | พระไสยา | พระนอนจักรสีห์ | พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก |
| พระนอนวัดขุนอินทประมูล | พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ | พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) | พระพุทธโสธร |
| หลวงพ่อเพชร | หลวงพ่อบ้านแหลม | หลวงพ่อโตวัดอินทร์ |