| คำปฏิญาณของลูกเสือไทย | ข้อเตือนใจจากที่อื่นๆ |วรรณคดีไทยร้อยกรอง | โคลงพระราชพงศาวดาร | |
ข้อเตือนใจจากบทดอกสร้อย
เด็กน้อย
ค เด็กเอ๋ยเด็กน้อย | ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา |
เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา | เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน |
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน | จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล |
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน | เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย ฯ |
ร้องลำฝรั่งรำเท้า |
แมวเหมียว
ค แมวเอ๋ยแมวเหมียว | รูปร่างประเปรียวเป็นนักหนา |
ร้องเรียกเหมียวเหมียวเดี๋ยวก็มา | เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู |
รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง | ค่ำค่ำซ้ำนั่งระวังหนู |
ควรนับว่ามันกตัญญู | พอดูอย่างไว้ใส่ใจเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องรำแขกบริเทศ |
ตั้งไข่
ค ตั้งเอ๋ยตั้งไข่ | จะตั้งใยไข่กลมก็ล้มสิ้น |
ถึงว่าไข่ล้มจะต้มกิน | ถ้าตกดินเสียก็อดหมดฝีมือ |
ตั้งใจเรานี้จะดีกว่า | อุตส่าห์อ่านเขียนเรียนหนังสือ |
ทั้งวิชาสารพัดเพียรหัดปรือ | อย่าดึงดื้อตั้งไข่ร่ำไรเอย ฯ |
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ ร้องรำลมพัดชายเขา |
ซักส้าว
ค ซักเอ๋ยซักส้าว | ผลมะนาวทิ้งทานในงานศพ |
เข้าแย่งชิงเหมือนสิ่งไม่เคยพบ | ไม่น่าคบเลยหนอพวกขอทาน |
ดูประหนึ่งขัดสนจนปัญญา | มีทางหากินได้หลายสถาน |
ประหลาดใจเหตุไฉนไม่ทำงาน | ประกอบการอาชีพที่ดีเอย ฯ |
ร้องรำสารถีชักรถ |
ตุ๊ดตู่
ค ตุ๊ดเอ๋ยตุ๊ดตู่ | ในเรี่ยวในรูช่างอยู่ได้ |
ขี้เกียจนักหนาระอาใจ | มาเรียกให้กินหมากไม่อยากคบ |
ชาติขี้เกียจเบียดเบียนแต่เพื่อนบ้าน | การงานแต่สักนิดก็คิดหลบ |
ตื่นเช้าเราควรหมั่นประชันพลบ | ไม่ขอคบขี้เกียจเกลียดนักเอย ฯ |
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ ร้องลำวิลันตาโอด |
นกกิ้งโครง
ค นกเอ๋ยนกกิ้งโครง | หลงเข้าโพรงนกเอี้ยงเถียงเจ้าของ |
อ้อยอี๋เอียงอ้อยอี๋เอียงส่งเสียงร้อง | เจ้าของเขาว่าหน้าไม่อาย |
แต่นกยังรู้ผิดรัง | นักปราชญ์รู้พลั้งไม่แม่นหมาย |
แต่ผิดรับผิดพอผ่อนร้าย | ภายหลังจงระวังอย่าพลั้งเอย ฯ |
พระยาพินิจสารา (ทิม) แต่ง ร้องลำนกกระจอกทอง |
เรือเล่น
ค เรือเอ๋ยเรือเล่น | สามเส้นเศษวาไม่น่าล่ม |
ฝีพายลงเต็มลำจ้ำตะบม | ไปขวางน้ำคล่ำจมลงกลางวน |
ทำขวาง ๆ รีรีไม่ดีหนอ | เที่ยวขัดคอขัดใจไม่เป็นผล |
จะก่อเรื่องเคืองข้องหมองกมล | เกิดร้อนรนร้าวฉานรำคาญเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำตวงพระธาตุ |
นกเอี้ยง
ค นกเอ๋ยนกเอี้ยง | คนเข้าใจว่าเจ้าเลี้ยงซึ่งควายเฒ่า |
แต่นกเอี้ยงนั้นเลี่ยงทำงานเบา | แม้อาหารก็ไปเอาบนหลังควาย |
เปรียบเหมือนคนทำตนเป็นกาฝาก | รู้มากเอาเปรียบคนทั้งหลาย |
หนีงานหนักคอยสมัครงานสบาย | จึงน่าอายเพราะเอาเยี่ยงนกเอี้ยงเอย ฯ |
ร้องลำแขกไซ |
ไก่แจ้
ค ไก่เอ๋ยไก่แจ้ | ถึงยามขันขันแซ่กระชั้นเสียง |
โก่งคอเรื่อยร้องซ้องสำเนียง | ฟังเพียงบรรเลงวังเวงดัง |
ถ้าตัวเราเหล่านี้หมั่นนึก | ถึงคุณครูผู้ฝึกสอนสั่ง |
ไม่มากนักสักวันละสองครั้ง | คงตั้งแต่สุขทุกวันเอย ฯ |
หม่อมเจ้าประภากร ทรงแต่ง ร้องลำนางนาค |
จ้ำจี้
ค จ้ำเอ๋ยจ้ำจี้ | เพ้อเจ้อเต็มทีไม่มีผล |
ดอกเข็มดอกมะเขือเจือระคน | สับสนเรื่องราวยาวสุดใจ |
เขาจ้ำแจวจ้ำพายเที่ยวขายของ | เร่ร้องตามลำแม่น้ำไหล |
ชอบรีบแจวรีบจ้ำหากำไร | จ้ำทำไมจ้ำจี้ไม่ดีเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำลิ้นลากระทุ่ม |
กาดำ
ค กาเอ๋ยกาดำ | รู้จำรู้จักรักเพื่อน |
ได้เหยื่อเผื่อแผ่ไม่แชเชือน | รีบเตือนพวกพ้องร้องเรียกมา |
ต่างกลุ้มรุมล้อมพร้อมพรัก | น่ารักน้ำใจกระไรหนา |
การเผื่อแผ่แน่ะพ่อหนูจงดูกา | มันโอบอารีรักดีนักเอย ฯ |
นายแก้ว แต่ง ร้องลำขิมเล็ก |
แมงมุม
ค แมงเอ๋ยแมงมุม | ขยุ้มหลังคาที่อาศัย |
สั่งสอนลูกรักให้ชักใย | ลูกไกลไม่ทำต้องจำตี |
ได้ความเจ็บแค้นแสนสาหัส | เพราะขืนขัดถ้อยคำแล้วซ้ำหนี |
เด็กเอ๋ยเจ้าอย่าเป็นดังเช่นนี้ | สิ่งไม่ดีครูว่าอย่าทำเอย ฯ |
หลวงประชุมบรรณสาร (พิณ) แต่ง ร้องลำบทร้องไห้ |
กะเกย
ค กะเอ๋ยกะเกย | อย่าละเลยกุ้งไม้ไว้จนเหม็น |
มากินข้าวเถิดนะเจ้าข้าวจะเย็น | ไปมัวเล่นอยู่ทำไมใช่เวลา |
ถ้าถึงยามกินนอนผ่อนผัดนัก | ก็ขี้มักเจ็บไข้ไม่แกล้งว่า |
จะท้องขึ้นท้องพองร้องระอา | ต้องกินยาน้ำสมอขื่นคอเอย ฯ |
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ ร้องลำตะนาว |
มดแดง
ค มดเอ๋ยมดแดง | เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน |
ใครกล้ำกลายมาทำร้ายถึงรังมัน | ก็วิ่งพรูกรูกันมาทันที |
สู้ได้หรือมิได้ใจสาหัส | ปากกัดก้นต่อยไม่ถอยหนี |
ถ้ารังเราใครกล้ามาราวี | ต้องต่อตีทรหดเหมือนมดเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง รำลำพัดชา |
ตุ๊กแก
ค ตุ๊กเอ๋ยตุ๊กแก | ตับแก่แซ่ร้องกึกก้องบ้าน |
เหมือนเตือนให้งูรู้อาการ | น่ารำคาญเสียแท้ ๆ แส่จริงจริง |
อันความลับเหมือนกับตับที่ลับแน่ | อย่าตีแผ่ให้กระจายทั้งชายหญิง |
ที่ควรปิดปิดไว้อย่าไหวติง | ที่ควรนิ่งนิ่งไว้ในใจเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำสะสม |
กระต่าย
ค กระเอ๋ยกระต่าย | มุ่งหมายเสาะหาแต่อาหาร |
เผลอนิดติดแร้วดักดาน | ลนลานเชือกรัดมัดต้นคอ |
จะทำการสิ่งไรให้พินิจ | อย่าคิดแต่ละโมภโลภลาภหนอ |
เห็นแต่ได้ไขว่คว้าไม่รารอ | จะยื่นคอเข้าแร้วยายแก้วเอย ฯ |
พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์นิภาธร ทรงนิพนธ์ ร้องลำตะลุ่มโปง |
โพงพาง
ค โพงเอ๋ยโพงพาง | ทอดขวางตามลำแม่น้ำไหล |
มัจฉาตาบอดลอดเข้าไป | ติดอยู่ในข่ายขึงตรึงตรา |
ตาบอดอยู่ประสาตัวตาบอด | อย่าทำสอดตาเห็นเช่นว่า |
ควรเสงี่ยมเจียมพักตร์รักกายา | อวดฉลาดพลาดท่าพาจนเอย ฯ |
เจ้าการะเกด
ค เจ้าเอ๋ยเจ้าการะเกด | ขี่ม้าเทศถือกฤชจิตเจ้ากล้า |
คอยระวังไพรีจะมีมา | การรักษาหน้าที่ดีสุดใจ |
อันถิ่นฐานบ้านช่องต้องรักษา | หมั่นตรวจตราเย็นเช้าเอาใจใส่ |
อย่าเลินเล่อเผลอพลั้งระวังภัย | ถ้าหากใครมัวประมาทมักพลาดเอย ฯ |
นายทัต เปรียญ แต่ง ร้องลำม้าย่อง |
โมเย
ค โมเอ๋ยโมเย | ไปทะเลเมาคลื่นฝืนไม่ไหว |
ให้อ่อนจิตอาเจียนวิงเวียนไป | พักอาศัยจอดนอนก็ผ่อนคลาย |
อันเมาเหล้าเมายามักพาผิด | และพาติดตนอยู่ไม่รู้หาย |
จะเลื่องลือชื่อชั่วจนตัวตาย | อย่าเมามายป่นปี้ไม่ดีเอย ฯ |
นายแก้ว แต่ง ร้องลำจีนดาวดวงเดียว |
เท้งเต้ง
ค เท้งเอ๋ยเท้งเต้ง | คว้างเคว้งอยู่ในลำแม่น้ำไหล |
ไม่มีเจ้าของปกครองไป | ต้องลอยตามน้ำไปโคลงเคลง |
เหมือนใครลอยโลเลไม่ยุดหลัก | คนขี้มักกลุ่มรุมกันคุมเหง |
ต่อความดีป้องตนคนจึงเกรง | อย่าเท้งเต้งมดตะนอยจะต่อยเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำล่องเรือ |
นกเขา
ค นกเอ๋ยนกเขา | ขันแต่เช้าหลายหนไปจนเที่ยง |
สามเส้ากุกแกมแซมสำเนียง | เสนาะเสียงเพียงจะรีบงีบระงับ |
อันมารดารักษาบุตรสุดถนอม | สู้ขับกล่อมไกวเปลเห่ให้หลับ |
พระคุณท่านซาบซึมอย่าลืมลับ | หมั่นคำนับค่ำเช้านะเจ้าเอย ฯ |
พระยาพินิจสารา (ทิม) แต่ง ร้องลำเทพชาตรี |
จันทร์เจ้า
ค จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า | ใครขอข้าวขอแกงท้องแห้งหนอ |
ร้องจนเสียงแห้งแหบถึงแสบคอ | จันทร์จะขอให้เราก็เปล่าดาย |
ยืมจมูกท่านหายใจเห็นไม่คล่อง | จงหาช่องเลี้ยงตนเร่งขวนขวาย |
แม้นเป็นคนเกียจคร้านพานกรีดกราย | ไปมัวหมายจันทร์เจ้าอดข้าวเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำพราหมณ์ดีดน้ำเต้า |
ช้างพลาย
ค ช้างเอ๋ยช้างพลาย | ร่างกายกำยำล่ำสัน |
กินไผ่ใบดกตกมัน | ดุดันโดยหมายว่ากายโต |
มนุษย์น้อยนักหนายังสามารถ | เอาเชือกบาศคล้องติดด้วยฤทธิ์โง่ |
อย่าถือดีดังช้างทำวางโต | จะยืนโซติดปลอกไม่ออกเอย ฯ |
นายแก้ว แต่ง ร้องลำชมดงนอกสามชั้น |
จุ๊บแจง
ค จุ๊บเอ๋ยจุ๊บแจง | เจ้ามีแรงควักข้าวเปียกให้ยายหรือ |
เห็นจะเป็นแต่เขาเล่าลือ | จะยึดถือเอาเป็นจริงยังกริ่งใจ |
ความเลื่องลือต่อต่อก่อให้วุ่น | อย่าเพ่อฉุนเชื่อนักมักเหลวไหล |
ควรฟังหูไว้หูดูดูไป | พกหินไว้มีคุณกว่านุ่นเอย ฯ |
หลวงประสิทธิ์อักษรสาร (เทศ) แต่ง ร้องลำลองเรือ พระนคร |
ดุเหว่า
ค ดุเอ่ยดุเหว่า | ฝีปากเจ้าเหลือเอกวิเวกหวาน |
ผู้ใดฟังวังเวงบรรเลงลาญ | น่าสงสารน้ำเสียงเจ้าเกลี้ยงกลม |
เป็นมนุษย์สุดดีก็ที่ปาก | ถึงจนยากพูดจริงทุกสิ่งสม |
ไม่หลอนหลอกปลอกปลิ้นด้วยลิ้นลม | คนคงชมว่าเพราะเสนาะเอย ฯ |
นายแก้ว แต่ง ร้องลำเขมรใหญ่ |
นกกระจาบ
ค นกเอ๋ยนกกระจาบ | เห็นใบพงลงคาบค่อยเพียรขน |
มาสอดสอยด้วยจงอยปากของตน | ราวกับคนช่างพินิจคิดทำรัง |
ช่างละเอียดเสียดสลับออกซับซ้อน | อยู่พักร้อนนอนร่มได้สมหวัง |
แม้นทำการหมั่นพินิจคิดระวัง | ให้ได้ดังนกกระจาบไม่หยาบเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำตะลุ่มโปง |
หนูหริ่ง
ค หนูเอ๋ยหนูหริ่ง | ไววิ่งซ่อนซุกกุกกัก |
ค้อนทับกับแจ้แย่ตารัก | เพราะชั่วนักไม่น่าจะปราณี |
จะกินได้หรือมิได้ก็ไม่ว่า | ชั้นผ่อนผ้ากัดค้นจนป่นปี้ |
ทำสิ่งใดใช่ประโยชน์แม้นโทษมี | เป็นไม่ดีอย่าทำจงจำเอย ฯ |
นายแก้ว แต่ง ร้องลำจีนขวัญอ่อน |
โอละเห่
ค โอเอ๋ยโอละเห่ | คิดถ่ายเทตื่นนอนแต่ก่อนไก่ |
ทำขนมแชงม้าหากำไร | เกิดขัดใจกันในครัวทั้งผัวเมีย |
ผัวตีเมียเมียด่าท้าขรม | ลืมขนมทิ้งไว้ไม่คนเขี่ย |
ก้นหม้อเกรียมไหม้ไฟลวกเลีย | ขนมเสียเพราะวิวาทขาดทุนเอย ฯ |
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ ร้องลำจีนต่อยหม้อ |
ลิงลม
ค ลิงเอยลิงลม | ไฉนอมข้าวพองตรองไม่เห็น |
ลิงก็มีฟันเขี้ยวเคี้ยวก็เป็น | มาอมนิ่งเล่นเล่นไม่เห็นควร |
แม้ทำการสิ่งใดไม่ตลอด | มาท้อทอดกลางคันคิดหันหวน |
ทำโอ้โอ้เอ้เอ้ลงเรรวน | คนจะสรวลบัดสีไม่ดีเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำสมิงทองมอญ |
อิ่มก่อน
ค อิ่มเอ๋ยอิ่มก่อน | รีบจะไปดูละครโขนหนัง |
ทิ้งสำรับคับค้อนไว้รุงรัง | เหมาคนอิ่มทีหลังให้ล้างชาม |
การเฝ้าเอาเปรียบกันอย่างนี้ | มิดีหนอเจ้าฟังเราห้าม |
คบเพื่อนฝูงจงอุตส่าห์พยายาม | รักษาความสามัคคีจะดีเอย ฯ |
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ ร้องลำสระบุหร่งนอก |
ซุ่มมรดี
ค ซุ่มเอ๋ยซุมมรดี | จะเสียทีก็เพราะเพลินจนเลินเล่อ |
ระวังตนอย่าเป็นคนเผลอเรอ | ระวังพูดอย่าให้เพ้อถึงความใน |
แม้นใครไม่ระวังตั้งเป็นหลัก | เดินก็มักพลาดพื้นลื่นไถล |
พูดก็มักพร่ำเผลอเพ้อเจ้อไป | ระวังไว้เป็นทุนแม่คุณเอย ฯ |
นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำช้างประสานงา |
คำปฏิญาณของลูกเสือไทย
ในวันถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่สวนลุมพินีเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน
บรรดาลูกเสือจากโรงเรียนต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ จะเดินขบวนไปถวายบังคมเป็นประจำทุกปี
ถ้าโรงเรียนอยู่ไม่ไกลนัก ก็จะจัดกระบวนแถวลูกเสือจากโรงเรียนของตน
มีกองดุริยางค์ที่บรรเลงโดยลูกเสือโรงเรียนนั้น ๆ นำขบวน
มีผู้กำกับลูกเสือจากครูอาจารย์ของโรงเรียนนั้น ๆ
กำกับไปด้วยอย่างมีระเบียบและสง่างาม
ลูกเสือทุกคนมีไม้พลองสีขาวถือพลองอยู่ในท่าถืออาวุธของทหารคือ
เมื่ออยู่ในแถวจะอยู่ในท่าเรียบอาวุธ เมื่อเคลื่อนที่จะอยู่ในท่าคอนอาวุธ
เมื่อเดินขบวนจะอยูในท่าแบกอาวุธ
และเมื่อพักแถวจะรวมพลองไว้ด้วยกันตามแบบรวมอาวุธ
เมื่อไปถึงพร้อมกันที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์แล้ว ก็จะมีพิธีปฏิญาณตน
โดยที่ลูกเสือทุกคนนั่งคุกเข่าถือหมวกไว้ในมือ
โดยคุกเข่าขวาลงบนพื้นเข่าซ้ายตั้งฉาก วางมือซ้ายบนเข่าซ้าย
ฝ่ามือหงายขึ้นแล้วใช้มือขวาหยิบหมวกบนศีรษะมาวางไว้บนฝ่ามือซ้าย
แล้วทิ้งแขนขวาลงข้างตัว
แล้วเริ่มกล่าวคำปฏิญาณพร้อมกันดังนี้
ข้าลูกเสือ เชื้อไทย ใจเคารพ | ขอนอบนบ บาทบงส์ พระทรงศรี |
พระบาท มงกุฏเกล้า จอมเมาฬี | ทรงปราณี กอบเกื้อ ลูกเสือมา |
ทรงอุตส่าห์ อบรม บ่มนิสัย | ให้มีใจ รักชาติ ศาสนา |
ทรงสั่งสอน สรรพกิจ วิทยา | เป็นอาภา ผ่องผุด วุฒิไกร |
ดังดวงจัน ทราทิตย์ ประสิทธิ์แสง | กระจ่างแจ้ง แจ่มภพ สบสมัย |
พระคุณนี้ จะสถิต สนิทใน | ดวงหทัย ทวยราษฎร์ ไม่คลาดเอย |
ข้อเตือนใจจากที่อื่นๆ
วิชาเหมือนสินค้า
วิชาเหมือนสินค้า | อันมีค่าอยู่เมืองไกล |
สู้ยากลำบากไป | จึงจะได้สินค้ามา |
จงตั้งเอากายเจ้า | เป็นสำเภาอันโสภา |
ความเพียรเป็นโยธา | แขนซ้ายขวาต่างเสาใบ |
นิ้วมือเป็นสายระยาง | สองเท้าอย่างสมอใหญ่ |
ปากเป็นนายงานไป | อัธยาศัยเป็นเสบียง |
สติเป็นหางเสือ | ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง |
ถือไว้อย่าให้เอียง | ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา |
ปัญญาเป็นกล้องแก้ว | ส่องดูแถวแนวหินผา |
เจ้าจงเอาหูตา | เป็นล้าต้าฝ่าคลื่นลม |
ขี้เกียจคือปลาร้าย | จะทำลายให้เรือจม |
เอาใจเป็นปืนคม | ยิงระดมให้จมไป |
จึงจะได้สินค้ามา | คือวิชาอันพิสมัย |
จงหมั่นมั่นหมายใจ | อย่าได้คร้านการวิชา |
ปากเป็นเอกเลขเป็นโท
ปากเป็นเอกเหมือนเสกมนต์ใช้คนเชื่อ | ฉลาดเหลือวาจาปรีชาฉาน |
จะกล่าวถ้อยร้อยคำไม่รำคาญ | เป็นรากฐานเทิดตนพ้นรำเค็ญ |
เลขเป็นโทโบราณท่านสั่งสอน | เร่งสังวรเวี่ยไว้ใช้ว่าเล่น |
การคำนวณควรชำนาญคูณหารเป็น | ช่วยให้เด่นดีนักหนารู้ค่าคน |
หนังสือเป็นตรีวิชาปัญญาเลิศ | เรียนไปเถิดรู้ไว้ไม่ไร้ผล |
ยามยากแค้นแสนคับไม่อับจน | ได้เลี้ยงตนด้วยวิชาหาทรัพย์ทวี |
ชั่วดีเป็นตราประทับไว้กับโลก | ยามวิโยคชีพยับ ลับร่างหนี |
ที่สูญแท้ก็แต่ตัวก็แต่ตัวส่วนชั่วดี | คงที่เป็นลือทั่วชั่วฟ้าดิน |
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
เราเกิดมาทั้งทีชีวิตหนึ่ง | อย่าหมายพึ่งผู้ใดให้เขาหยัน |
ควรคะนึงพึ่งตนทนกัดฟัน | คิดบากบั่นตั้งหน้ามานะนำ |
กสิกิจพณิชยการงามมีเกียรติ | อย่าหยามเหยียดพาลหาว่างานต่ำ |
หรือจะชอบวิชาอุตสาหกรรม | เชิญเลือกทำตามถนัดอย่าผลัดวัน |
เอาดวงใจเป็นทุนหนุนนำหน้า | เอาปัญญาเป็นแรงมุ่งแข่งขัน |
เอาความเพียรเป็นยานประสานกัน | ผลจะบรรลุสู่ประตูชัย |
เงินและทองกองอยู่ประตูหน้า | คอยเปิดอ้ายิ้มรับไม่ขับไส |
ทรัพย์ในดินสินในน้ำออกคล่ำไป | แหลมทองไทยพร้อมจะช่วย อำนวยเอย ฯ |
รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง
อันนกกาอาศัยซึ่งปีกหาง ไปสู่ทางที่ประสงค์จำนงหมาย |
รู้หลบหลีกปีกป้องประคองกาย อันตรายมิได้ใกล้ให้อาวรณ์ |
แม้นจะมีพรานไพรใจฉกาจ คอยพิฆาตฆ่าด้วยธนูศร |
ใช้ปีกหลบหางหลีกปลีกทางจร ไม่ม้วยมรณ์ร่อนลงระหว่างทาง |
ฉันใดคนควรมีคติวิเศษ คือรู้เลศ หลบหลีก เหมือนปีกหาง |
เอาปัญญาเป็นปีกคอยกันกาง สติเป็นหางอีกด้วยช่วยเชิดชู |
อันเชิงหนีทีไล่ต้องให้พร้อม อย่าเพิ่งยอมจนปัญญาน่าอดสู |
ถึงเสียหลักต้องหลบให้น่าดู ทั้งต้องรู้เชิงหลีกปลีกคนดี |
เมื่อเราลงนาวาฝ่าลมคลื่น ให้ราบรื่นเร่งรุดถึงจุดหมาย |
ต้องร่วมแรงแข็งขันช่วยกันพาย ทั้งหญิงชายอย่าเกี่ยงเลี่ยงมารยา |
มือไม่พายอย่าเอาเท้ามาราน้ำ ถึงแม้เรือไม่ล่มก็ช้าล่า |
เรือลำอื่นเขาไปไกลลิบตา แต่นาวาเรายังฝืนโต้คลื่นลม |
เปรียบจะสร้างชาติไทยให้ใหญ่ยิ่ง ต้องร่วมกันจริงจริงจึงเสร็จสม |
ช่วยกันคิดเหลียวแลแก้เงื่อนปม ที่ยังด้อยค่อยระดมโดยจริงจัง |
อย่าดูเบาเอาแต่ติดำริว่า จะเหมือนดังนาวาไม่ถึงฝั่ง |
จงร่วมรักสามัคคีมีพลัง เกิดพลาดพลั้งเรือจมล่มชาติเอย |
| คำปฏิญาณของลูกเสือไทย | ข้อเตือนใจจากที่อื่นๆ | วรรณคดีไทยร้อยกรอง | โคลงพระราชพงศาวดาร | |