|
| คำปฏิญาณของลูกเสือไทย | ข้อเตือนใจจากที่อื่นๆ | วรรณคดีไทยร้อยกรอง | โคลงพระราชพงศาวดาร | |
โคลงพระราชพงศาวดาร
โคลงพระราชพงศาวดาร เดิมมีจำนวน ๒๗๖ บท มีภาพประกอบเรื่องพงศาวดาร ๙๒ แผ่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ช่างเขียนตามเรื่องในพระราชพงศาวดารทรงคัดเลือกเป็นตอน ๆรูปขนาดใหญ่มีจำนวนโคลงประกอบรูปละ ๖ บท รูปขนาดกลาง และขนาดเล็กมีโคลงประกอบ รูปละ ๔ บท ทรงพระราชนิพนธ์บ้าง โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการซึ่งสันทัดบทกลอนแต่ถวายบ้าง ได้สร้างสำเร็จและได้โปรดให้นำไปประดับพระเมรุท้องสนามหลวง ให้ประชาชนชม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ทั้งยังได้พิมพ์บทโคลงเป็นเล่ม พระราชทานเป็นของแจกในงานพระเมรุคราวนั้นด้วย ครั้นเสร็จงานพระเมรุแล้ว จึงโปรดให้แบ่งรูปภาพและเรื่องพระราชพงศาวดาร ไปประดับไว้ณ พระที่นั่งอัมพรวินิจฉัยบ้าง ส่งไปประดับพระที่นั่งวโรภาสพิมาน ณ พระราชวังบางปะอินบ้าง
แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี
ที่ ๑
สร้างกรุงศรีอยุธยา
(พ.ศ. ๑๘๙๓)
แถลงปางพระเจ้าอู่ | ทองปรา รภเฮย |
จักประดิษฐนครา | ใหม่ยั้ง |
ชีพ่อหมู่พฤฒา | จารย์จัด การแฮ |
กลบบัตรสุมเพลิงตั้ง | สวดพร้องพุทธมนต์ |
ชนงานขุดภาคพื้น | ภูมิมณ ฑลเฮย |
สบพระสังข์เศวตกล | กษิรแผ้ว |
เป็นทักษิณวรรตดล | แสดงศุภ อรรถเอย |
เสร็จกิจพิธีแล้ว | สืบสร้างการผอง |
หนองโสนแนะถิ่นด้าว | เดิมมี ชื่อนา |
ขนานเปลี่ยนนามธานี | เทพไท้ |
ทวาราวดีศรี | อยุธยา เฮย |
กรุงกษัตริย์สถิตได้ | สี่ร้อยปีปลาย |
บรรยายพระยศไท้ | ธเรศตรี ศวรเฮย |
เฉลิมนิเวศน์ธานี | ภิเษกซ้ำ |
รามาธิบดี | นามเพิ่ม พระแฮ |
ปฐมกษัตริย์ขัตติยเลิศล้ำ | ผ่านหล้าแหล่งสยาม |
(พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่๕ ) |
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองโปรดให้สร้างพระนครใหม่ขึ้น ณ ตำบลหนองโสน
(ปัจจุบันเรียกว่าบึงพระราม) ครั้น ณ วัน ศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๕ ปีขาล โทศก
จุลศักราช ๗๑๒ ชีพ่อพราหมณ์จึงให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลบบัตรสุมเพลิง คนงานขุดได้สังข์ทักษิณาวรรตขอนหนึ่ง
ใต้ต้นหมันในบริเวณพิธีนั้น
ครั้นแล้วจึงสร้างพระที่นั่ง และสถาปนาพระนครนั้นขึ้นเป็นราชธานีขนานนามว่าพระนครศรีอยุธยา
สมเด็จพระเจ้าอู่ทองเสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร
พระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์
พระเจ้าอู่ทองคือ เจ้าเมืองอู่ทอง เป็นบุตรเขยพระเจ้าอู่ทองคนเก่า เมืองอู่ทองอยู่ริมแม่น้ำจรเข้สามพัน
ในระหว่างเมืองสุพรรณบุรีกับเมืองกาญจนบุรี เมืองอู่ทองอยู่ในแคว้นสุวรรณภูมิ
เดิมเป็นเมืองพระยามหานครขึ้นอาณาจักรสุโขทัย และสมัยก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น
ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีอาณาจักรใหญ่ตั้งอยู่ ตั้งเป็นอิสระอยู่สองอาณาจักรคือ
อาณาจักรสุโขทัย
ตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี และอาณาจักรลานนาไทย
ตั้งเมืองใหม่เป็นราชธานี เมืองอู่ทองสมัยที่เป็นเมืองขึ้นอาณาจักรสุโขทัยนั้น
ใครเป็นเจ้าครองเมืองก็เรียกว่า พระเจ้าอู่ทอง
ต่อมากรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงในแผ่นดิน พระเจ้าฤไทยชัยเชษฐ์ พวกประเทศราชต่างคิดตั้งตัวเป็นอิสระ
ฝ่ายพระเจ้าอู่ทองเห็นว่ามีกำลังเข้มแข็งพอก็คิดตั้งแข็งเมืองบ้าง ครั้นเมืองอู่ทองประสบเหตุ
คือลำน้ำจรเข้สามพันตื้นเขิน เพราะสายน้ำเปลี่ยนทางเดิน ต้องกันดารน้ำเข้าทุกปี
เป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บจนถึงเป็นโรคระบาด จึงต้องย้ายนครลงมาตั้งอยู่ที่เมืองอโยธยา
ที่ตำบลเวียงเหล็กก่อน
(ตรงวัดพุทไธศวรรย์ปัจจุบัน) อยู่ที่นั่นได้สามปี เมื่อเห็นถึงเวลาจะประกาศเป็นอิสระภาพอย่างเปิดเผยได้แล้ว
จึงสร้างราชธานี และราชวังขึ้นใหม่ที่ตำบลหนองโสน
และทำพิธีราชาภิเษกเป็น สมเด็จพระรามาธิบดีประกาศอิสระภาพโดยสมบูรณ์ เมื่อปีขาล
จุลศักราช ๗๑๒ (พ.ศ. ๑๘๙๓) และเพราะพระเจ้าอู่ทองมีหลายองค์ องค์ที่สร้างพระนครศรีอยุธยา
และประกาศอิสระภาพนี้ จึงกันว่าพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี
ชื่อราชธานีใหม่ที่ว่า ทวาราวดีศรีอยุธยานั้น คำว่าทวาราวดีเป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ
ดังปรากฏในเรื่องอนิรุทธ์คำฉันท์ เนื่องจากราชธานีใหม่นี้ตั้งอยู่บนเกาะในแม่น้ำมีน้ำล้อมรอบ
ลักษณะคล้ายเมืองทวาราวดีโบราณของพระกฤษณะ ชื่อหลังว่า อยุธยา คือชื่อเมืองอโยธยาที่มาพักอยู่ชั่วคราวนั้น
และตรงกับชื่อเมืองของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นมงคลนามที่แปลว่าไม่มีใครรบได้คำกลางศรีเป็นคำยกย่องซึ่งนิยมใช้นำหน้าชื่อ
แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
พระสุริโยทัยขาดคอช้าง
(พ.ศ. ๒๐๙๑)
บุเรงนองนามราชเจ้า | จอมรา มัญเฮย |
ยกพยุหแสนยา | ยิ่งแกล้ว |
มอญม่านประมวลมา | สามสิบ หมื่นแฮ |
ถึงอยุธเยศแล้ว | หยุดใกล้นครา |
พระมหาจักรพรรดิ์เผ้า | ภูวดล สยามเฮย |
วางค่ายรายรี้พล | เพียบหล้า |
ดำริจักใคร่ยล | แรงศึก |
ยกนิกรทัพกล้า | ออกตั้งกลางสมร |
บังอรอัคเรศผู้ | พิสมัย ท่านนา |
นามพระสุริโยทัย | ออกอ้าง |
ทรงเครื่องยุทธพิชัย | เช่นอุป ราชแฮ |
เถลิงคชาธารคว้าง | ควบเข้าขบวนไคล |
พลไกรกองหน้าเร้า | โรมรัน กันเฮย |
ช้างพระเจ้าแปรประจัญ | คชไท้ |
สารทรงซวดเซผัน | หลังแล่น เตลิดแฮ |
ตะเลงขับคชไล่ใกล้ | หวิดท้ายคชาธาร |
นงคราญองค์เอกแก้ว | กษัตรี |
มานมนัสกัตเวที | ยิ่งล้ำ |
เกรงพระราชสามี | มลายพระ ชนม์เฮย |
ขับคเชนทร์เข่นค้ำ | สะอึกสู้ดัสกร |
ขุนมอญร่อนง้าวฟาด | ฉาดฉะ |
ขาดแล่งตราบอุระ | หรุบดิ้น |
โอรสรีบกันพระ | ศพสู่นครแฮ |
ศูนย์ชีพไป่ศูนย์สิ้น | พจน์ผู้สร้างเสริญ |
(พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่๕ ) |
พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบข่าวว่า กรุงศรีอยุธยาเกิดแย่งชิงราชสมบัติกัน ก็เข้าพระทัยว่าเกิดจลาจล
ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่ราชอาณาจักร จึงเสด็จกรีธาทัพหลวงเข้ามาประเทศไทย
หมายจะตีเอากรุงศรีอยุธยาให้ได้
เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงทราบว่ากองทัพข้าศึกยกเข้ามาใกล้จะถึงกรุง
จึงเสด็จยกกองทัพหลวงออกไป หวังจะดูกำลังข้าศึก ฝ่ายสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสีทรงเครื่องเป็นชายอย่างพระมหาอุปราช
ทรงพระคชาธารตามเสด็จพร้อมด้วยพระราเมศวร และพระมหินทร ราชโอรสทั้งสองพระองค์กองทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ยกออกไปปะทะกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี
ไพร่พลทั้งสองฝ่ายก็เข้ารบพุ่งกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์กับพระเจ้าแปรต่างทรงไสช้างเข้าชนกัน
ช้างทรงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสียที แล่นหนีช้างข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรก็ขับช้างไล่ตาม
สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระราชสามีจะเป็นอันตราย จึงขับช้างออกรับช้างข้าศึกไว้พระเจ้าแปรได้ทีจึงจ้วงฟันสมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ซบอยู่กับคอช้าง พระราเมศวรกับ
พระมหิทรถลันจะเข้าแก้แต่ไม่ทันท่วงที จึงได้แต่กันเอาพระศพกลับเข้าพระนคร
แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
ช้างชนะงาของไทยไม่ยอมอยู่กับพม่า
(พ.ศ. ๒๐๙๑)
ปางมอญมวลม่านกลุ้ม | รุมตี |
กรุงทวาราวดี | รบเร้า |
ทัพไทยบ่ได้มี | ชัย ณ สนามเฮย |
จำล่าทัพกลับเข้า | มั่นไว้ในนคร |
พลมอญอ่อนสิ้นสะ | เบียงอา หารนา |
ถอยจากศรีอยุธยา | ยาตรเต้า |
ทางเหนือเพื่อจักหา | โภชน์ภักษ์ |
ราเมศวรมหินทรเจ้า | จู่จ้วงโจมตี |
เสียทีศึกจับได้ | ทั้งสอง องค์เอย |
ปิ่นตะเลงปรองดอง | เปลี่ยนช้าง |
มลคลทวีปของ | จอมจักร พรรดิ์พ่อ |
อีกหนึ่งพลายศรีอ้าง | ชื่อท้ายมงคล |
บัดดลสองช้างแปลก | เสียงหมอ ควาญเอย |
อาละวาดฤาหวั่นขอ | เข่นสู้ |
เหลือมือตะเลงรอ | ราส่ง คืนแฮ |
ดูแต่ช้างยังรู้ | รักด้าวแดนตน |
(สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ) |
พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ทรงเห็นว่า จะตีเอากรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้มิได้แน่แล้ว ทั้งเสบียงอาหารสำหรับกองทัพก็ร่อยหรอลงทุกที จึงให้ถอยทัพไปทางเหนือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ตรัสให้พระราเมศวรกับพระมหินทร์คุมทัพตามตีข้าศึกที่ถอยไป พระเจ้าลูกเธอทั้งสองไม่รู้เท่าทันอุบายของบุเรงนองแม่ทัพพม่า ซึ่งได้ซุ่มทัพไว้ได้รบไล่ข้าศึกถลันเข้าไปในที่ซุ่มถูกข้าศึกล้อมจับเอาไปได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงจำต้องหย่าทัพ และถวายช้างพลายศรีมงคล พลายมงคลทวีป แก่พระเจ้าหงสาวดี เพื่อแลกเอาพระรามเมศวรกับพระมหินทร์กลับคืนมา เมื่อกรมช้างนำช้างทั้งสองขึ้นไปถวายพระเจ้าหงสาวดี ณ เมืองชัยนาท พลายศรีมงคล พลายมงคลทวีป เห็นหมอควาญผิดเสียงก็อาละวาด ไล่แทงช้างแทงคนวุ่นวาย พระเจ้าหงสาวดีเห็นเหลือมือมอญพม่าที่จะเลี้ยงไว้ได้จึงรับสั่งให้กรมช้างส่งกลับคืนมายังกรุงศรีอยุธยา
แผ่นดินพระมหินทราธิราช
ครั้งที่ ๒
พระมหาธรรมราชาอาสาเจรจาความเมือง
(พ.ศ. ๒๑๑๒)
ปัจามิตรร้อยหมื่นห้อม | ปราการ |
แปดมาสมุ่งหักหาญ | ห่อนได้ |
ในกรุงเกิดกันดาร | เสบียงบอบ บางแฮ |
แจ้งเหตุรามัญให้ | สื่อถ้อยกลความ |
แม้นสยามยอมออกเฝ้า | ขุนทัพ |
จักเลิกพลคืนกลับ | สู่ด้าว |
ไทยเกรงตะเลงจับ | เททอด ครัวแฮ |
มอญทราบสั่งพลห้าว | หักปล้นนครา |
พระมหาธรรมราชเจ้า | ขันอา สาเฮย |
จักสู่เมืองเจรจา | จุ่งแผ้ว |
ตะเลงราชอนุญาตมา | โดยราช ยานแฮ |
สู่ค่ายตรงเกาะแก้ว | เกริ่นแจ้งใจความ |
ชาวสยามยลพักตร์ผู้ | เผด็จชาติ ตนเฮย |
ต่าง ๆ ต่างวางสินาด | เกลื่อนกลุ้ม |
ธรรมราชโดดจากราช | ยานแล่น ถลาแฮ |
อินทรเดชแบกอุ้ม | ออกพ้นปืนประหาร |
(พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่๕ ) |
พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ยกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ถึงแปดเดือนก็ยังหักเอามิได้ก็เริ่มมีความวิตกกลัวเกรงจะถึงฤดูฝน จึงคิดจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้เสียโดยเร็ว พระมหาธรรมราชารับอาสามีหนังสือลับไปถึงพระวิสุทธิ์กษัตรีพระชายาของพระองค์(ซึ่งพระมหาจักรพรรดิ์พระราชบิดาขึ้นไปรับเอาลงมาจากพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๒) เพื่อเกลี้ยกล่อมสมเด็จพระมหินทร์ว่า ถ้าส่งตัวพระยารามผู้บัญชาการรักษาพระนครออกไปให้พระเจ้าบุเรงนอง ก็จะยอมเป็นไมตรีด้วย ครั้นพระเจ้าบุเรงนองได้ตัวพระยารามสมความประสงค์ตามอุบายของพระมหาธรรมราชาแล้ว ก็หายอมรับเป็นไมตรีกับไทยไม่ กลับเรียกร้องให้ไทยยอมแพ้เป็นเชลยอย่างราบคาบ จึงจะเลิกทัพกลับไป ฝ่ายไทยเมื่อรู้แน่ว่าพระเจ้าบุเรงนองมุ่งหมายจะกวาดต้อนคนไทยไปเป็นเชลย และทรัพย์สมบัติจะถูกริบหมดสิ้น จึงบังเกิดความปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตั้งหน้าต่อสู้ข้าศึกด้วยความเข้มแข็ง พม่ายกเข้าตีพระนครหลายครั้งถูกตีถอยกลับไปทุกครั้ง จนถึงแปดเดือนก็ยังเอาชนะไม่ได้ พระมหาธรรมราชาหวังจะหาความชอบ จึงคิดจะเกลี้ยกล่อมพระมหินทราธิราช และขุนนางทั้งปวงยอมแพ้โดยดี และพระมหาธรรมราชาก็ทรงพระเสลี่ยงมายืน อยู่ตรงหน้าค่ายบึงเกาะแก้วร้องบอกพระมหาเทพ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาค่ายด้านนั้นว่า จะเข้าไประงับการแผ่นดิน พระมหาเทพมิไว้ใจยิงปืนกระสุนกราดออกไป พระมหาธรรมราชาต้องลงจากพระเสลี่ยง และขุนอินทรเดชะก็เข้าแบกพระองค์วิ่งกลับไปเฝ้าพระเจ้าหงสาวดี
แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
สมเด็จพระนเรศวรตามจับพระยาจีนจันตุ
(พ.ศ. ๒๑๑๙)
พระยาจันจันตุข้า | ขอบขุน |
มาสู่กรุงมุ่งบุญ | ปกเผ้า |
ปิ่นภพกอบการุญ | รับปลูก เลี้ยงแฮ |
ยกโทษโปรดเกศเกล้า | ห่อนพ้องจองภัย |
กลับใจจักสู่เจ้า | ปฐพี ตน แฮ |
สืบทราบการธานี | ใหญ่น้อย |
หวังสบายถ่ายทอดมี | มาแต่หลังนา |
สู่สะเภาค่ำคล้อย | ลอบโล้ครรไล |
พระดนัยนเรศวร์แจ้ง | เหตุรหัส |
ทรงพระชลยานรัด | รีบร้น |
พร้อมเรือนิกรถนัด | ขนาบไล่สะเภาแฮ |
ทรงพระแสงปืนต้น | ลั่นต้องจีนตาย |
ตัวนายกัมพุชจ้อง | วางปืน นานา |
ต้องพระแสงทรงราง | ลั่นร้าว |
รบพลางรีบหนีพลาง | เรือตก ลึกเฮย |
จบเกิดกางใบด้าว | ล่องลี้หายลำ |
(พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่๕ ) |
ในปี พ.ศ. ๒๑๑๙ พระยาละแวกให้พระยาอุเทศราช และพระยาจีนจันตุ ขุนนางจีนเมืองเขมร ยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรี ครั้นชิงเอาเมืองมิได้แล้ว พระยาจีนจันตุกลัวว่าพระยาละแวกจะลงโทษ จึงอพยพครอบครัวหนีเข้ามายังพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชก็ทรงชุบเลี้ยงไว้ครั้นอยู่มาเมื่อพระยาจีนจันตุได้ทราบข่าวว่าพระยาละแวกไม่เอาโทษ และตนเองสืบทราบเหตุการณ์ในพระนครแล้ว ก็กลับเอาใจออกห่าง ลอบแต่งสำเภาพาครอบครัวหนีล่องลงไป สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จยกกองเรือตามไปทันที่ปากน้ำ เข้ารบกันเป็นสามารถ สมเด็จพระนเรศวรทรงเรือพระที่นั่งเข้าไปชิดสำเภา และทรงปืนนกสับมาต้องรางปืนที่สมเด็จพระนเรศวรทรงอยู่นั้นแตก พอเรือสำเภาได้ลมก็แล่นออกทะเลหนีพ้นปากน้ำรอดไปได้
แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
สมเด็จพระนเรศวรปีนค่ายพม่า
(พ.ศ. ๒๑๒๙)
บิ่นมอญมาตั้งค่าย | บางปะหัน |
พระนเรศวร์นำพลขันธ์ | ทัพม้า |
สามกองนับรวมกัน | ร้อยยี่สิบแฮ |
เศษอีกหกหาญกล้า | ตามคล้องควายทวน |
สวนฟันมอญแตกเข้า | ค่ายแฝง ตนนา |
พระเสด็จโดยกำแหง | เหิ่มกล้า |
ปีนค่ายข้าศึกแทง | ถูกท่าน ตกแฮ |
กลับป่ายใหม่ใช่ช้า | เช่นนั้นหลายคราว |
หนาวจิตอมิตรร้อง | เอออะไร นเรศวร์ฤา |
องอาจปลอมไพร่ใน | เศิกสู้ |
พิมเสนแลกเกลือไกล | กับนัก นาพ่อ |
ชะรอยมิตรห่อนรู้ | เร่งให้จับเป็น |
ควรเห็นพิริยห้าว | หนณรงค์ท่านเฮย |
สยามหย่อนอิสริย์ลง | ราบแล้ว |
เอกราชกลับคืนคง | โดยเดช พระแล |
ซ้ำขาดอริแผ้ว | นับร้อยปีปลาย |
(สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา ภานุพันธุวงศ์วรเดช) |
ในปี พ.ศ. ๒๑๒๙ พระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง เสด็จยกทัพเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา
แล้วตั้งค่ายหลวงอยู่ตำบลบางปะหัน คืนวันหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรนำทหารทวนสามกองเข้าปล้นค่ายทัพหน้าข้าศึก
ไล่แทงฟันไปถึงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรทรงคาบพระแสงดาบ นำทหารขึ้นปีนค่ายถูกข้าศึกเอาอาวุธแทงพลัดตกลงมาหลายครั้งก็ขึ้นไม่ได้ครั้นทรงเห็นข้าศึกกรูกันมามากนักจึงเสด็จกลับเข้าพระนคร เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทรงทราบจึงตรัสว่า
สมเด็จพระนเรศวรทรงออกทำการรบอย่างพลทหารดังนี้ เหมือนหนึ่งเอาพิมเสนมาแลกเกลือ
ทำศึกอาจหาญนัก แล้วมีรับสั่งกำชับทหารมอญพม่าว่า ถ้าสมเด็จพระนเรศวรออกรบอีกให้คิดอ่านจับเป็นให้จงได้แต่ก็ไม่สมประสงค์ พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมกรุงอยู่นานก็ตีไม่ได้ และเมื่อเห็นไพร่พลป่วยเจ็บล้มตายร่อยหรอลงทุกทีก็ท้อพระทัย
จึงโปรดให้เลิกทัพกลับไป
พระแสงดาบซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงวันนั้นปรากฏนามว่า พระแสงดาบคาบค่าย
มาจนบัดนี้
แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ
พันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต
(พ.ศ. ๒๒๔๙)
สรรเพชรที่แปดเจ้า | อยุธยา |
เสด็จประพาสชมปลา | ปากน้ำ |
ล่องเรือเอกชัยมา | ถึงโคก ขามพ่อ |
คลองคด โขน เรือค้ำ | ขัดไม้หักสลาย |
พันท้ายตกประหม่าสิ้น | สติคิด |
โดดจากเรือทูลอุทิศ | โทษร้อง |
พันท้ายนรสิงห์ผิด | บทฆ่า เสียเทอญ |
หัวกับโขนเรือต้อง | คู่เส้นทำศาล |
ภูบาลบำเหน็จให้ | โทษถนอม ใจนอ |
พันไม่ย่อมอยู่ยอม | มอดม้วย |
พระเปลี่ยนโทษปลอม | ฟันรูป แทนพ่อ |
พันกราบทูลทัดด้วย | ท่านทิ้งประเพณี |
ภูมีปลอบกลับตั้ง | ขอบรร สัยพ่อ |
จำสั่งเพชรฆาตฟัน | ฟาดเกล้า |
โขนเรือกับหัวฟัน | เซ่นที่ศาลแล |
ศาลสืบกฤติคุณเค้า | คติไว้ในสยาม |
(สมเด็จกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) |
ในปี พ.ศ. ๒๒๔๙ สมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จประทับเรือพระที่นั่งเอกชัยไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสมุทรสาคร ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงคลองโคกขามซึ่งคดเคี้ยว พันท้ายนรสิงห์ เจ้าพนักงานถือท้ายเรือพระที่นั่งคิดแก้ไขมิทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบเข้ากับกิ่งไม้ใหญ่ก็หักตกลงน้ำ พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็ตกใจโดดจากเรือขึ้นบนฝั่ง ร้องกราบทูลให้ตัดศีรษะของตนตามกฎหมาย และขอพระกรุณาโปรดให้ทำศาลเพียงตาขึ้น ณ ที่นั้น เอาศีรษะกับโขนเรือพระที่นั่งที่หักลงบวงสรวงไว้ด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าเสือทรงพระกรุณาอภัยโทษ พันท้ายนรสิงห์ไม่ยอมรับพระกรุณาเป็นอย่างอื่น กลับว่าให้ตัดศีรษะตนเอง จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ฝีพายปั้นดินเป็นรูปแทนตัวพันท้ายนรสิงห์ขึ้น และให้ตัดรูปหัวดินนั้นเสีย แล้วรับสั่งเรียกพันท้ายนรสิงห์ให้กลับลงเรือ พันท้ายนรสิงห์ก็คงยืนกรานกราบทูลให้ตัดศีรษะตน สมเด็จพระเจ้าเสือตรัสวิงวอนเป็นหลายครั้ง พันท้ายนรสิงห์มิยอมอยู่ จึงทรงทำตามกฎหมาย ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา และให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับโขนเรือพระที่นั่งที่หักขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกัน
แผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์
พระยาวชิรปราการกับทหาร
๕ ม้า รบพม่า ๕๐ ม้า (พ.ศ. ๒๓๐๙)
ปางสมัยปวงม่านปล้น | อยุธยา |
เห็นพินาศนัครา | ห่อนแคล้ว |
พระยาวชิรปรา | การกาจ หาญแฮ |
คุมพวกพื้นกลั่นแกล้ว | คิดพร้อมใจกัน |
ฟันฝ่าข้าศึกห้อม | แตกฉาน |
รบรับรายทางราน | รอดได้ |
พักแรม ณ บ้านพราน | นกนอก กรุงนา |
ปล่อยพรรคพลหาญให้ | ลาดค้นธัญญา |
มาปะปรปักษ์ต้อน | ตามติด |
ตนหนึ่งกับทหารสนิท | นับห้า |
ขับแสะเสริดประชิด | ชะล่าไล่ทะลวงแฮ |
หมู่ม่านสามสิบม้า | หมดห้าวเฮหนี |
กรุงศรีอยุธยายศแพ้ | ไพรี |
มาก บ มีสามัคคี | คิดสู้ |
เพียงห้าแต่หากมี | ใจร่วม หาญแฮ |
อาจชนะแก้กู้ | ก่อตั้งกรุงธน |
(พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่๕ ) |
เมื่อพม่ายกกองทัพตีหัวเมืองรายทางเรื่อยเข้ามาจนได้ ล้อมกรุงศรีอยุธยาแล้วนั้น
พระยาวชิรปราการเห็นว่าจะอยู่รักษากรุงไว้ไม่รอด จึงรวบรวมไพร่พลยกตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก
แล้วไปตั้งพักแรมอยู่ที่บ้านพรานนก
ให้พวกทหารออกหาเสบียงอาหาร พบกองทัพพม่าจำนวนพลขี่ม้าราวสามสิบม้า พลเดินเท้าประมาณสองพันยกตามมา
พระยาวชิรปราการจึงให้ทหารเดินเท้าขยายแถวปีกกา เข้าตีโอบพวกพม่าทั้งสองข้าง
ส่วนพระยาวชิรปราการ และทหารอีกสี่คนก็ขึ้นม้าตรงเข้าไล่ฟันพม่าที่ขี่ม้ามาข้างหน้า
พม่าไม่ทันรู้ตัวก็ถอยหนีกลับไปปะทะพวกเดินเท้าพากันแตกพ่ายไป
(พระยาวชิรปราการนี้ คือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยายังเป็นพระยาตาก
และได้ถูกเกณฑ์ลงมาช่วยรักษาพระนคร ทำการรบพุ่งเข้มแข็งมีความชอบได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร
ซึ่งโดยตำแหน่งมีฐานันดรเป็นพระยาวชิรปราการ)
(บ้านพรานนก เป็นหมู่บ้านในจังหวัดปราจีนบุรี อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านโพสาวหาร
ประมาณสี่กิโลเมตร บัดนี้เรียกว่าบ้านพานนกบ้าง สะพานนกบ้าง)
แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี
เสด็จตีเมืองพุทไธมาศ
(พ.ศ. ๒๓๑๔)
พระมหานายกเจ้า | กรุงธน บุเรศเฮย |
เทียบทัพบกเรือพล | ไพร่พร้อม |
กำหนดเที่ยงคืนดล | ราชฤกษ์ณรงค์แฮ |
รุดเร่งนิกรล้อม | ตรัสให้อุบายรอน |
กรมอาจารย์ป่ายปล้น | ปีนกำ แพงเฮย |
พลไพร่จีนอนัม | ต่อต้าน |
ซัดสาดสินาดชำ | นาญถนัด นักนา |
หนุนบ่ได้นายด้าน | ต่างตั้งตอบยิง |
บันดาลพระเดชให้ | ไทยคิด |
ว่าทัพหลวงหนุนประชิด | ช่วยแล้ว |
ต่างฮึกต่างเหิมจิต | โจมจู่ผจญนา |
หนุนเนื่องกันกลั่นแกล้ว | เกริกก้องกลางรณ |
พลพุทไธมาศสู้ | เศิกสยาม |
ไทยบ่เบื่อสงคราม | รุกเร้า |
บันไดพะองตาม | กันพาด เวียงแฮ |
พอรุ่งเร่งปีนเข้า | บุรได้ญวนหนี |
(พระยาราชสัมภารากร เลื่อน) |
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพจากกรุงธนบุรี ไปยังเมืองพุทไธมาศ (เมืองบันทายมาศ) เพื่อเกลี่ยกล่อมพระยาราชาเศรษฐี พระยาราชาเศรษฐีไม่ยอมสวามิภักดิ์กลับแต่งเมืองป้องกันอย่างแข็งแรง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงดำรัสสั่งให้ยกเข้าตั้งค่ายล้อมเมือง และดำรัสสั่งกรมอาจารย์ให้จัดสรรคนที่มีวิชาดีแกล้วกล้า เข้าปล้นเอาเมืองในเวลากลางคืน แล้วพระราชทานฤกษ์และอุบายให้ ครั้นถึงเวลา พวกกรมอาจารย์นำไพร่พลขึ้นปีนกำแพงจะปล้นเมือง พระยาราชาเศรษฐีเกณฑ์ทหารรักษาเมืองไว้เป็นสามารถ พวกจีนญวนชาวเมือง ยิงปืนสู้รบอยู่อย่างเข้มแข็ง ไพร่พลกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินก็อิดโรย บรรดานายทัพนายกอง และไพร่พลทั้งปวงที่ตั้งค่ายล้อมอยู่นั้นจะบุกรุกเข้าไปช่วยก็ไม่ได้แต่หากด้วยเดชะพระบารมี ไพร่พลทั้งปวงสำคัญว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกพลหนุนเข้าไป ก็มีน้ำใจองอาจกล้าหาญมากขึ้น ตีหนุนเนื่องเข้าไปทั้งทัพบกทัพเรือ พวกญวนจีนซึ่งรักษาหน้าที่ต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายหนีไป พอรุ่งเช้าก็เข้าเมืองได้พร้อมกัน แต่พระยาราชาเศรษฐี หนีไปเมืองพนมเปญได้
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ยิงปืนลูกไม้พังค่ายพม่า
(พ.ศ. ๒๓๒๘)
พระมหาอุปราชอ้าง | ออกนาม |
สุรสีห์คนขาม | ทั่วหน้า |
ยกพยุหสงคราม | ไปต่อ ยุทธ์นา |
เพื่อพม่ายกพลกล้า | ล่วงเข้ากาญจนบุรี |
โยธีสองฝ่ายเฝ้า | ราญรอน |
พม่าสาดอัคนีศร | ไปยั้ง |
กรมพระราชวังบวร | ให้ลาก |
ปืนลูกไม้มาตั้ง | สั่งให้ทหารมา |
จังกาปืนลูกไม้ | เล็งเหมาะ |
ดินกระสุนยัดเผลาะ | เสือกแส้ |
เหล็กจับชนวน เจาะ | ดินกรอก ชนวนเฮย |
มือจับชุดแกว่งแต้ | จุดเปรี้ยงเสียงดัง |
ค่ายพังถูกพม่าล้ม | ตายกลาด |
พวกพม่าฤาอาจ | ออกสู้ |
ซ้ำพอสบเสบียงขาด | การศึก ถอยนา |
สุดฤทธิ์สุดแรงรู้ | เข็ดคร้ามขามไทย |
(กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) |
ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปะดุง เจ้ากรุงอังวะเสด็จกรีฑาทัพใหญ่ยกเข้ามาหลายทาง หมายจะตีประเทศไทยให้จงได้ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลมหาราช ทรงทราบ ก็โปรดให้จัดกองทัพเป็นสี่ทัพแยกย้ายกันไปรบข้าศึก ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกไปตั้งรับทางทุ่งลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กองทัพพระเจ้าปะดุงที่จะยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์พอพม่าตั้งค่ายลงที่เชิงเขาบรรทัด กรมพระราชวังบวรก็ให้ตีค่าย พม่าตั้งสู้รบแข็งแรงติดพันอยู่ และปลูกหอรบ เอาปืนใหญ่ขึ้นยิงค่ายไทย กรมพระราชวังบวรจึงโปรดให้เอาปืนใหญ่ และปืนยิงด้วยลูกไม้ที่เคยใช้ยิงพม่า ได้ผลดีเมื่อคราวอะแซหวุ่นกี้ตีพิษณุโลกนั้น มาตั้งราย ยิงค่ายหอรบพม่าหักพังลง ผู้คนล้มตายจนพม่าไม่กล้าออกตีค่ายไทย กรมพระราชวังบวร ฯ แต่งทหารออกตีปล้นเสบียง พวกพม่าขาดแคลนอาหารอดอยาก อิดโรย ไทยก็ตีได้ค่ายพม่าทุกด่าน ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก พม่าก็เลิกทัพกลับไป
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ท้าวเทพสตรีรักษาเมืองถลาง
(พ.ศ. ๒๓๒๘)
ยี่หวุ่นแม่ทัพข้าง | พุกาม |
คุมทัพเรือรอนสยาม | ฝ่ายใต้ |
ตะกั่วทุ่งก็แตกตาม | ตะกั่วป่า เล่านา |
เข้าประชิดติดใกล้ | รอบล้อมเมืองถลาง |
บุรินทร์สิ้นชีพแล้ว | ไป่ทัน แทนนอ |
ยังขนิษฐ์หนึ่งอีกภรร | เยศผู้ |
ไป่คิดแก่ชีวัน | ตรายเยี่ยง หญิงแฮ |
คุมไพร่ชายหญิงสู้ | เกี่ยงแก้กันนคร |
รักษาเมืองอยู่ได้ | เดือนปลาย |
สุดคิดพม่าหมาย | รบเร้า |
ขัดสนเสบียงวาย | จำเลิก ทัพแฮ |
กลางรอดจากมือข้า | ศึกด้วยสองหญิง |
หลายบุรีบุเรศทั้ง | กรมการ มีนอ |
บ่ อาจจะรับราญ | ศึกได้ |
กลางมีแต่หญิงหาญ | หากรัก เมืองนา |
สู้ศึกกันเมืองไว้ | ชอบชี้ควรชม |
ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปะดุงเสด็จกรีฑาทัพใหญ่ยกเข้ามาหลายทาง ทางใต้ให้ยี่หวุ่นเป็นนายทัพ
ยกกองเรือมาตีได้เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง
แล้วก็เลยไปถึงเมืองถลาง
ยกรี่พลขึ้นตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ เวลานั้น พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว
ตำแหน่งเจ้าเมืองว่างอยู่ คุณหญิงจันทร์ภรรยาเจ้าเมืองถลางที่ถึงแก่กรรม
และนางมุกด์น้องสาว
จึงคิดอ่านกับกรรมการทั้งปวง เกณฑ์ไพร่พลป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ หญิงทั้งสองนั้นองอาจกล้าหาญมิได้ย่อท้อต่อข้าศึก
กรรมการและเจ้าเมืองถลางทั้งชายและหญิง ก็มีใจรบพุ่งต่อสู้ข้าศึกเป็นสามารถ
พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษก็ตีเอาเมืองมิได้ หมดเสบียงอาหารก็ต้องเลิกทัพกลับไป
(ภายหลังวีรสตรีทั้งสองนี้ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์คือ คุณหญิงจันทร์เป็นท้าวเทพสตรี
มุกด์น้องสาวเป็นท้าวศรีสุนทร)
| คำปฏิญาณของลูกเสือไทย | ข้อเตือนใจจากที่อื่นๆ | วรรณคดีไทยร้อยกรอง | โคลงพระราชพงศาวดาร | |
|