| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

            จังหวัดจันทบุรีมีมรดกทางธรรมชาติอันมีค่าอยู่มากมาย เช่น ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร พืชพรรณธรรมชาติ สัตว์ และแร่ธาตุต่าง ๆ ทำให้มีศักยภาพในการนำมรดกทางธรรมชาติมาใช้อย่างมีประสิทธภาพ
ป่าไม้และพืชพันธุ์ไม้

            พื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยป่าสงวนแห่งชาติ วนอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จากข้อมูลปี พ.ศ.๒๕๓๘ มีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดประมาณ ๒,๘๓๐ ตารางกิโลเมตร เป็นป่าสงวนแห่งชาติประมาณ ๒,๗๙๐ ตารางกิโลเมตร ป่าชายเลนประมาณ ๔๐ ตารางกิโลเมตร
            จากการสำรวจข้อมูลป่าไม้ด้วยดาวเทียม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ พบว่าป่าไม้ของจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑,๘๗๐ ตารางกิโลเมตร เป็นป่าสงวนแห่งชาติประมาณ ๑,๘๓๐ ตารางกิโลเมตร ป่าชายเลนประมาณ ๓๙ ตารางกิโลเมตร แสดงว่าพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดจันทบุรีลดลงเป็นอันมาก และลดลงอย่างรวดเร็ว
          อุทยานแห่งชาติ   มีอยู่สองแห่งด้วยกันคือ
               อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว  มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๘๔,๐๐๐ ไร่ ประกาศจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘
               อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ  มีพื้นที่ประมาณ ๕๙ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๗,๐๐๐ ไร่ ประกาศจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  มีอยู่สองแห่งด้วยกันคือ
               เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว  มีพื้นที่ประมาณ ๗๔๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๖๖,๐๐๐ ไร่ ประกาศจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕
               เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน  ครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดจันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราและชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๙๒๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๗๖,๐๐๐ ไร่ ประกาศจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓
          พืชพันธุ์ไม้ จังหวัดจันทบุรีมีพืชพรรณไม้หลายประเภท พันธุ์ไม้ที่มีความสำคัญ และผูกพันกับจังหวัดจันทบุรี จนถือได้ว่าเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี คือ ต้นสำรอง หรอต้นพุงทะลาย

               ต้นสำรอง  ภาษาถิ่นทางภาคอีสานเรียกว่า บักจอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๑๔ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเฉพาะช่วงปลายยอดของต้น เมื่อมีผลที่เก็บเกี่ยวได้ ชาวบ้านมักโค่นต้นเพื่อสะดวกในการเก็บลูก ไม่นิยมให้ผลหล่นตามธรรมชาติ
                ต้นสำรอง เป็นไม้ชอบขึ้นตามป่าดงดิบ มีความชื้นสูง ไม่นิยมปลูกกัน มักขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามภูเขาใหญ่น้อยทั่วไป ชาวจันทบุรีนิยมเรียก สำรองมากกว่าพุงทะลาย ผลของต้นสำรองใช้เป็นสมุนไพรที่เข้าตำรับยาไทย ผลของสำรองเมื่อแช่น้ำจะพองขึ้น สามารถนำมากินได้โดยเพิ่มน้ำตาล ถ้าต้องการให้มีรสชาดมากขึ้น ให้ใส่น้ำแข็งหรือนำเข้าตู้เย็น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้รู้สึกชุ่มชื่น
                โดยเหตุที่เมืองเก่าจันทบุรีครั้งนั้นเคยตั้งอยู่ที่ตำบลพุงทะลาย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต้นสำรองขึ้นอยู่หนาแน่น และมีการซื้อขายกันเมืองเก่าแห่งนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า เมืองพุงทะลาย

               ต้นจันทน์  เป็นต้นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง ๒๐ เมตร ยอดอ่อนมีขนใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือวงรี กว้าง ๒.๕ - ๓.๐ เซนติเมตร ยาว ๗ - ๑๐ เซนติเมตร ดอกแยกเพศ ดอกตัวผู้เป็นช่อ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท สีขาวนวล ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะคล้ายกับดอกตัวผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ผลสดมีสองรูปร่างคือ ทรงกลมแป้นเรียกว่า ลูกจันทน์ และทรงกลมเรียกว่า ลูกอิน เมื่อสุกมีสีเหลือง กลิ่นหอมและกลีบเลี้ยงยังคงติดอยู่ ตำรายาไทยและยาพื้นบ้านใช้แก่นผสมร่วมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดิ่มแก้ไข้

               ต้นสอยดาว  เป็นไม้พุ่มหรือไม้สูงได้ถึง ๒๐ เมตร ยอดอ่อนมีขนสีขาว ลำต้นสีน้ำตาลออกขาว ใบเดี่ยว เรียงแบบบรรไดเรียวห่าง ๆ รูปไข่แกมข้าวหลามตัด หรือสามเหลี่ยม กว้าง ๓ - ๒๒ เซนติเมตร ยาว ๕ - ๒๔ เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมเป็นหางยาว บางทีเป็นแฉกแหลมสามแฉก ขอบใบเรียบหรอืหยักเป็นคลื่นห่าง ๆ โคนใบสอบมน โคนสดมีต่อมใหญ่หนึ่งคู่อยู่ด้านบน ด้านล่างมีขนรูปดาว สับหนาแน่นมาก มีเส้นแขนงใย ๕ - ๘ คู่ เส้นใบย่อยเรียงเป็นเส้นบันได ตามเส้นในและก้านใบมีขนสีน้ำตาลอ่อน ก้านใบยาว ๓ - ๑๘ เซนติเมตร
                ดอกออกเป็นช่อที่ยอดและง่ามใบ ยาว ๗ - ๑๕ เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาลปกคลุม มีทั้งดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียและดอกสมบูรณ์เพศ ผลมีสามพู กว้างประมาณ ๗.๕ มิลลิเมตร ยาวประมาณ ๔.๕ มิลลิเมตร มีขนยาวนุ่มปกคลุมเมล็ด รูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ มิลลิเมตร สีดำ

               ต้นชะมวง  มีชื่อเรียกอื่น ๆ คือ ส้มมวง (ภาคใต้) ชะมวง (ภาคกลาง และภาคตะวันออก) ชะมวงเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดย่อมถึงขนาดกลาง มีอยู่ทั่วไปตามป่าชื้น ใบมีลักษณะแข็งและยาว หน้าคล้ายในมะดัน ถิ่นที่อยู่มักขึ้นตามป่าชื้นทางภาคใต้และภาคตะวันออก ภาคกลางมีอยู่บ้างเล็กน้อย
                ดอกเล็กกลีบดอกจะแข็งมีสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอม ดอกจะดกมาก มีขนาดประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร การขยายพันธุ์ใช้เมล็ด
                สรรพคุณ คือ ใบและดอกใช้เป็นยาระบายท้อง รักษาโรคไข้ กัดฟอกเสมหะ รักษาธาตุพิการ ใบอ่อนและผลใช้ปรงุเป็นอาหาร มีรสเปรี้ยวคล้ายใบมะดัน ถ้ากินมาก ๆ จะทำให้ท้องระบายคล้ายดอกขี้เหล็ก
               ต้นกฤษณา  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ ๒๐ - ๓๐ เมตร ขึ้นอยู่ตามป่าดิบ พบมากที่จังหวัดจันทบุรี ใช้เป็นส่วนผสมยาสมุนไพร มีสรรพคุณรักษาโรคปวดท้อง บำรุงหัวใจ บำรุงปอด เนื้อไม้มีกลิ่นหอมใช้ทำธูปหอม และเครื่องหอมต่าง ๆ
               ต้นกระวาน  เป็นพืชมีลำต้นตรง สูงถึงปลายใบ ๖ - ๑๘ ฟุต ใบจะไม่เรียงตัวอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ใบมีรูปร่างแบบหอก จะเริ่มออกดอกเมื่อลำต้นสูง ๒ - ๔ ฟุต ดอกจะเป็นช่อสีขาวหรือสีเขียวอ่อน ผลมีขนาดเล็กมีรูปร่างแบบรูปไข่ สีน้ำตาลแกมแดง ภายในเมล็ดจะมีน้ำมันระเหยอยู่มาก เป็นเครื่องเทศที่ได้ชื่อว่า ราชินีแห่งเครื่องเทศ เพราะเป็นที่นิยมใช้กันมากในสมัยโบราณ ส่วนมากนำไปใช้แต่งกลิ่นอาหารชนิดต่าง ๆ
แนวปะการัง จันทบุรี

            ในเขตจังหวัดปราจีนบุรีเป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของปริมาณน้ำจืดจากแม่น้ำปปราจีนบุรี และแม่น้ำเวฬุ พื้นที่ตลอดชายฝั่งจันทบุรีประกอบด้วยหาดทราย และหาดทรายปนโคลน และป่าชายเลนประกอบกับอัตราการตกตะกอนบริเวณชายทะเลสูง มีผลต่อสภาพและการพัฒนาแนวปะการัง
            จากการศึกษาโครงสร้างและสภาพแนวปะการังในเขตจังหวัดจันทบุรีพบว่า สภาพแนวปะการังส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี การครอบคลุมพืนที่ของปะการังมีชีวิตประมาณร้อยละ ๑๕ - ๗๐%
               แนวปะการังบริเวณอ้ายลอบ  อยู่ในเขตอำเภอท่าใหม่ มีพื้นที่ประมาณ ๐.๕ ตารางกิโลเมตร มีลักษณะการกระจายตัวเป็นหย่อม ๆ ค่อนข้างหนาแน่นทั่วบริเวณ ครอบคลุมพื้นที่ปะการังมีชีวิตประมาณร้อยละ ๗๐ ส่วนที่เหลือเป็นหินและปะการังตาย
               แนวปะการังบริเวณหาดเจ้าหลาว  อยู่ในอำเภอท่าใหม่ โครงสร้างของแนวปะการังแบ่งเป็นสองลักษณะคือ แนวปะการังที่เป็นที่ราบสูงกว่าระดับน้ำทะเลต่ำสุด และแนวปะการังที่ไม่โผล่พ้นน้ำ การครอบคลุมพื้นที่ของปะการังมีชีวิตประมาณร้อยละ ๑๕
               แนวปะการังบริเวณเกาะสะบ้า  อยู่ในเขตอำเภอท่าใหม่ เป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ กระจายอย่างไม่หนาแน่นรอบ ๆ เกาะ การครอบคุลมพื้นที่ของปะการัง มีชีวิตประมาณร้อยละ ๑๕
               แนวปะการังบริเวณเกาะนมสาว  อยู่ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ การครอบคลุมพื้นที่ของปะการังมีชีวิตประมาณร้อยละ ๓๕
               แนวปะการังบริเวณเกาะจุฬา  อยู่ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ ลักษณะภูมิสัณฐานของเกาะจุฬาเป็นเกาะขนาดเล็ก ล้อมรอบด้วยแนวหิน มีการกระจายของแนวปะการังเบาบางมาก
แร่ธาตุและแร่รัตนชาติ
            จังหวัดจันทบุรี มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุและรัตนชาติหลายชนิด เนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของจังหวัดจันทบุรี เอื้ออำนวยต่อการเกิดแร่ธาตุหลายประเภท
          แร่ธาตุ  แร่ธาตุที่สำคัญ มีดังนี้
               แร่ทรายแก้ว  พบที่ตำบลคลองขุด และตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ และตำบลสนามไชย อำเภอนายายอาม
               หินอ่อน  พบที่ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว
               แร่ควอตซ์  พบที่ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่
               แร่ดินขาว  พบที่ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่

          แร่รัตนธาตุ  จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งแร่รัตนชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งกำเนิดพลอยหลากสีสัน ไม่ว่าจะเป็นพลอยสีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง สีเขียว โดยพบที่ตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง ฯ โดยเฉพาะพลอยสีแดงที่ได้รับการขนานนามว่า ทับทิมสยาม พบที่ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่ และที่ตำบลบ่อเวฬุ ตำบลตกพรม อำเภอขลุง พลอยเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามานานกว่า ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว
               กำเนิดพลอย  ก่อนที่พลอยจะเกิดขึ้นมาอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ต้องผ่านการบ่มเพาะมานานนับร้อยล้านปี เริ่มจากลาวาอันร้อนระอุปะทุขึ้นสู่ผิวโลก เมื่อแข็งตัวก็จะกลายเป็นหินอัคนีเนื้อละเอียดที่เรียกว่า หินบะซอลต์ แต่ในขณะที่ลาวายังอ่อนตัวอยู่ ถ้าได้สัมผัสดูดซับอลูมินาในหินฟิลไลต์ที่อยู่ใกล้เคียง และได้ผสมกับออกซิเจนในบรรยากาศ ก็จะกลายเป็นผลึกอะลูมิเนียมออกไซด์ ปราศจากสี เรียกว่า แร่คอรันดัม หรือ กากะรุน ที่มีคุณสมบัติเป็นแร่รัตนชาติที่มีความแข็งเป็นรองก็แต่เพชรเท่านั้น
                แร่คอรันดัมจะกลายเป็นพลอยหลากสีในสกุลแซฟไฟร์ได้ก็ต่อเมื่อมีแร่ธาตุอื่น ๆ เข้าไปผสมอยู่ในเนื้อ
แม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้พลอยกลายเป็นสีต่าง ๆ ได้คือ
                    - ถ้าเป็นอะลูมิเนียมออกไซด์ล้วน  จะไม่มีสีเลย
                    - ถ้ามีไททาเนียมกับเหล็กปนอยู่  จะให้สีน้ำเงิน
                    - ถ้ามีโครเมียมปนอยู่เล็กน้อย  จะให้สีชมพู
                    - ถ้ามีโครเมียมปนอยู่มากพอ  จะให้สีแดงเข้ม คือทับทิม
                    - ถ้ามีเหล็กปนอยู่  จะให้สีเขียวและสีเหลือง
            ส่วนพลอยสาแหรกเกิดจากโมเลกุลของคอรันดัมเรียงตัวอย่างสม่ำเสมอแนบแน่นคล้ายไม้ระแนงวางก่ายกัน เมื่อมีแสงมากระทบจึงสะท้อนกลับเป็นรูปดาว
               แหล่งพลอย  ในเขตจังหวัดจันทบุรี พบแหล่งพลอยในสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย เช่น ตามภูเขา ไหล่เขา และในพื้นที่ราบกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด แหล่งที่มีพลอยแบ่งออกได้เป็นสองเขตใหญ่ ๆ คือ
               เขตแรก  เป็นแหล่งพลอยที่อยู่ทางซีกตะวันตกของจังหวัด แถบอำเภอท่าใหม่และอำเภอเมือง ฯ  มีอาณาบริเวณตั้งแต่เขาวัว เขาพลอยแหวน เขาสระแก้วและบ้านบางจะกะ  พลอยที่พบส่วนใหญ่เป็นพลอยสีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง พลอยสาแหรก และพลอยจำพวกเพทายและโกเมน
               เขตที่สอง  เป็นแหล่งพลอยที่อยู่ทางซีกตะวันออกของจังหวัด แถบสระบาปในเขตอำเภอขลุง และอำเภอมะขาม บริเวณบ้านบ่อเวฬุ บ้านสีเสียด บ้านตกพรม บ้านบ่อเอ็ด บ้านกลาง บ้านงูปลาไหล บ้านตกชี บ้านสะตอ ห้วยสะพานหิน (บ้านทัพนคร) บ้านแสงแดงและบ้านแสงส้ม  พลอยที่พบส่วนใหญ่เป็นพลอยสีแดงและสีน้ำเงิน
               คุณภาพของพลอย การพิจารณาคุณภาพของพลอยมีวิธีสังเกตหลายประการคือ
                    - ความแข็ง มีค่าวัดเป็นโมส์สเกล ไม่ต่ำกว่า ๖ (เพชร เท่ากับ ๑๐)
                    - ความงามของสี  คือสร้างความลึกให้หินมีค่าด้วย
                    - ความมันวาว คือลักษณะที่สะท้อนแสงที่ส่องตัวเองไปเป็นมุมหักเห
                    - การกระจายแสงออก คือการเปลี่ยนแปลงการหักของแสง
                    - การหักเหของแสงอย่างมาก ขึ้นอยู่กับการเรียงตัวของอะตอมสารนั้น ๆ
                    - ความใส คือลักษณะที่ปล่อยให้แสงผ่านได้
                    - ทนต่อปฏิกิริยาทางเคมี มีความเฉื่อย ทนต่ออากาศและปฏิกิริยาเคมี
                    - เหมาะในการเจียรหินตกแต่ง

               การขุดพลอย  การขุดพลอย นอกจากอาศัยโชคช่วยแล้ว ยังมีวิธีการเฉพาะตัวในการค้นหาด้วย เช่น สังเกตสีของดิน ดูจากขี้พลอยซึ่งก็คือ แร่ไพร็อกซินที่มีสีดำคล้ายนิลตะโก กระจายอยู่บนผิวดิน บางรายสังเกตจากเพื่อนพลอยจำพวกเพทาย หรือพลอยน้ำค้าง นอกจากนั้นยังสังเกตได้จากตัวตุ๊กตุ่น ที่เคยเชื่อกันว่าเป็นอาหารของพลอยซึ่งก็คือแร่ไมก้าชนิดหนึ่ง
                เมื่อพบร่องรอยดังกล่าวข้างต้นจึงเริ่มลงมือขุด โดยขุดหน้าดินทิ้งไปก่อน เพราะเป็นชั้นที่ยังไม่มีพลอย ชาวบ้าน เรียกดินชั้นนี้ว่า อีหลอก แล้วขุดต่อไปจนลึกประมาณ ๒ - ๓ ศอก หากพบชั้นหินกรวดที่เรียกว่า ชั้นกะสะ ซึ่งก็คือ หินบะซอลต์ หรือหินโคบกที่ชาวบ้านเรียกว่า ลูกร่อน จึงจะแน่ใจว่ามีพลอย เพราะพลอยจะอยู่ในชั้นกะสะซึ่งมีความหนา ๑๐ - ๓๐ เซนติเมตร บริเวณใดมีกะสะหนามากอย่างที่เรียกว่า หนาขนาดศอก จะมีพลอยหนาแน่นมาก บริเวณใดพลอยน้อย คนขุดจะเรียกบริเวณนั้นว่า พลอยห่าง
                เมื่อได้ดินในชั้นกะสะขึ้นมาจึงจะนำมาล้างและร่อนในตะแกรงตามลำห้วยที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งพลอย เพื่อแยกพลอยออกจากดินและก้อนกรวด

                การขุดพลอยอีกแบบหนึ่งคือการใช้รถตักดิน โดยตักดินในชั้นที่ไม่มีพลอยออกไป แล้วขุดเอาชั้นกะสะที่มีพลอยมากองไว้ จากนั้นจึงใช้น้ำท่อใหญ่ฉีดไล่ล้างดินออกไป ปล่อยให้ส่วนของกรวดและพลอยไหลตามราง ลงไปที่จิ๊ก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แย็ก ซึ่งก็คือเครื่องแยกพลอยออกจากกรวด จากนั้นจึงใช้แรงงานคัดพลอยด้วยมือ การขุดพลอยแบบนี้เรียกว่า เหมืองฉีด
                พลอยเป็นทรัพยากรที่ทำรายได้ให้แก่จังหวัดจันทบุรีเป็นจำนวนมาก ตลาดขายพลอยขนาดใหญ่อยู่ที่ถนนอัญมณี มีการซื้อขายในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีมูลค่านับหมื่นล้านบาทต่อปี งานฝีมือฝังพลอยและงานเจียระไนพลอยของช่างจังหวัดจันทบุรีมีชื่อเสียงมาก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |