| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

            จันทบุรีนับเป็นภูมิภาคส่วนหนึ่งของไทย ที่มีวิวัฒนาการสืบทอดทางสังคมมายาวนาน จากยุคสมัยโบราณถึงปัจจุบัน มีมรดกทางวัฒนธรรม ตกทอดมาถึงคนรุ่นหลังมากมาย
โบราณสถานและโบราณวัตถุ


            โบราณสถานวัดเพนียด  อยู่ในตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง ฯ ประกอบด้วยกำแพงก่อด้วยศิลาแลง กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๖ เมตร (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียน) ส่วนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนได้มีการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ได้ข้อมูลว่า เพนียดเป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๕๗ เมตร และโบราณสถานเพนียดอีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างออกไป ๓๐ เมตร แต่ถูกทำลายเหลืออยู่เพียงมูลดิน
            ตำนานโบราณกล่าวถึงโบราณสถานแห่งนี้ว่าคือ เมืองเพนียด หรือเมืองกาไว หรือเมืองคังคะบุรี มีนางกาไว เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ครองเมืองแทน ท้าวพรหมทัตพระสวามีที่ทิวงคต และได้สร้างวัดเพนียดขึ้นในกลางเมืองนี้ ได้ขุดพบศิลาจารึกอยู่ห่างจากกำแพงเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ ๔๐๐ เมตร เป็นจารึกที่เขียนขึ้นในสมัยพระเจ้ายโสวรมัน ใช้ภาษาสันสกฤตและภาษาขอม มีเนื้อหาเหมือนกับจารึกชิ้นอื่น ๆ อีก ๑๑ หลัก ที่พบในเขมรได้กล่าวถึงศาสนาฮินดู นักบวชและพิธีกรรมในศาสนา ในบริเวณใกล้เคียงยังพบหินแกะสลักศิลปะขอมถาลาบริวัตร (ทับหลังแบบถาลาบริวัตร พบในประเทศไทยสี่ชิ้น พบในจันทบุรี สามชิ้น) ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (พ.ศ.๑๑๕๐ - ๑๒๐๐) ซึ่งนักโบราณคดีบางท่านจัดให้อยู่ในสมัยฟูนันตอนปลาย หรือสมัยเจนละ นอกจากนี้ยังพบหินแกะสลักศิลปะขอมแบบไพรกเมง และนครวัดด้วย

            ค่ายวงเนิน  อยู่ในตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง ฯ  ประกาศเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘  มีพื้นที่ประมาณ ๒๗๐ ไร่ ๓ งาน
            ค่ายเนินวง  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งไทยทำสงครามกับญวน ฝ่ายไทยเกรงว่าญวนจะยึดเมืองจันทบุรีเป็นที่มั่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิส บุนนาค) เป็นแม่กองในการสร้างป้อมค่ายเมืองใหม่ มีกำแพงและคธน้ำล้อมรอบ มีป้อมและประตูทั้งสี่ทิศ เมืองนี้ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี เป็นที่สูงสามารถมองเห็นไปได้ไกล ถึงปากแม่น้ำจันทบุรี และอ่าวใกล้เคียง
            ภายในเมืองสร้างศาลหลักเมือง คลังกระสุนและดินดำ พร้อมกันนั้นได้สร้างวัดโยธานิมิตร ขึ้นไว้เป็นวัดประจำเมือง เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ทางราชการให้ย้ายราษฎรไปอยู่ที่เมืองใหม่ แต่เนื่องจากตัวเมืองใหม่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ราษฎรจึงสมัครใจที่จะอยุ่ที่เมืองเก่าเป็นส่วนมาก คงมีแต่บรรดาข้าราชการเท่านั้นที่ไปอยู่ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองกลับมาอยู่ที่บ้านลุ่มดังเดิม ค่ายเนินวงจึงร้างตั้งแต่นั้นมา
            ค่ายเนินวงเป็นเมืองป้อมค่ายสร้างด้วยดิน โดยขุดคูขึ้นเป็นเทิน รอบเนินดินขนาดใหญ่และก่อกำแพงศิลาแลงมีใบเสมา และช่องปืนใหญ่บนเชิงเทินโดยรอบ ประตูเมืองเป็นช่องอิฐก่อเป็นคันกันดิน ป้อมประตูเมืองเดิมเป็นอาคารไม้มุงกระเบื้องทรงไทยอยู่เหนือประตู ยังเหลือตัวอย่างพอสังเกตได้จากประตูค่ายเนินวง ที่เรียกว่า ประตูต้นไทรด้านทิศเหนือ
            ตัวป้อมหน้าค่ายเนินวงในปัจจุบัน เป็นป้อมคอนกรีตเสริมเหล็กทรงแปดเหลี่ยม ที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖

            อลงกรณ์เจดีย์  เป็นเจดีย์ศิลาแลง ทรงกลมแบบลังกา มีบันไดขึ้นบานประทักษิณทั้งสี่ด้าน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาจันทบุรี สร้างขึ้น ณ เขาสระบาป บริเวณน้ำตกพลิ้ว
            ต่อมาองกรณ์เจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก จังหวัดจันทบุรีร่วมกับกรมศิลปากรได้ร่วมกันบูรณะขึ้นใหม่ตามแบบเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘

            สระแก้ว  อยู่ในตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ มีพื้นที่ประมาณ ๒ งาน ได้ประกาศเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
            ตำนานสระแก้วมีอยู่ว่า ได้มีผู้พบสระน้ำแห่งหนึ่ง อยู่ในป่าทึบใกล้กับเขาสระแก้ว น้ำในสระใสบริสุทธิ์และเต็มเปี่ยม ในสระมีแสงสว่างเป็นวงเขียวคล้ายแก้วเป็นวงรอบสระ ประกอบกับมีเหตุอัศจรรย์อยู่เนือง ๆ ชาวบ้านจึงนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และให้ชื่อว่า สระแก้ว น้ำในสระแก้วแห่งนี้ได้นำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา

            ตึกแดง  อยู่ในตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ มีพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่  ๑ งาน ได้ประกาศเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘
            ตึกแดง   ตั้งอยู่ที่ชายหาดแหลมสิงห์ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ทหารฝรั่งเศสสร้างขึ้นเพื่อเป็นกองบัญชาการและที่พักนายทหารที่รักษาปากน้ำแหลมสิงห์ เมื่อครั้งฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ เป็นตึกก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวทาสีแดง จึงเรียกกันว่า ตึกแดง กว้าง ๗ เมตร ยาว ๓๒ เมตร ภายในแบ่งเป็นห้าห้อง แต่ละห้องมีประตูกลางทะลุถึงกันตลอด
            ตึกแดงได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้เคยใช้เป็นห้องสมุดประชาชน และศูนย์กลางการศึกษานอกโรงเรียน

            คุกขี้ไก่ (คุกฝรั่ง)  อยู่ในตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ สร้างในคราวเดียวกับตึกแดง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ชั้นบนเป็นพื้นไม้ ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ ๔ เมตร มีประตูหนึ่งประตู มีช่องหน้าต่างเรียงทั้งสี่ด้าน ช่องหน้าต่างสูงแคบ ภายนอกกว้าง ภายในแคบ มีช่องสำหรับเล็งปืน เล่ากันว่าเดิมเป็นป้อมปืน ต่อมาฝรั่งเศสใช้เป็นที่ขังนักโทษ และเลี้ยงไก่ไว้ชั้นบน ให้ไก่ขี้รดหัวนักโทษ เดิมเคยมีคูน้ำล้อมรอบสามด้าน แต่น้ำเซาะผนังพังลงมาหนึ่งด้าน ได้มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕
            ป้อมไพรีพินาศ  อยู่ในตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ ได้ประกาศเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
            ป้อมไพรีพินาศ  ตั้งอยู่บนภูเขาแหลมสิงห์ เป็นตึกดินก่ออิฐถือปูน กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕ เมตร ผนังหนา ๖๐ เซนติเมตร มีคลังกระสุนดินดำ แยกอยู่ต่างหาก เป็นตึกก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑ เมตร ยาว ๒.๘ เมตร ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ซาก

            ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี  อยู่ในตำบลวัดใหม่ อำเภอเมือง ฯ ได้ประกาศเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ ใช้เป็นที่ทำการมณฑลจันทบุรี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๖ เมื่อยกเลิกมณฑล จึงใช้เป็นศาลากลางจังหวัดจนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๑
            ศาลากลางเก่าหลังนี้เป็นอาคารชั้นเดียว รูปทรงแบบยุโรป เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ยกใต้ถุนสูงสำหรับเก็บวัสดุ ตัวอาคารยาว ๗๓ เมตร กว้าง ๒๗ เมตร มีระเบียงด้านหน้ายาวตลอด มีมุขยื่นออกไป ซุ้มระเบียงเป็นรูปโค้งสามซุ้ม เหนือซุ้มเป็นหน้าบันรูปจั่ว เครื่องบนและฝ้าเพดานเป็นไม้ หลังคามุงกระเบื้องว่าว  เสาระเบียง กันสาด ช่องลม ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายสวยงามนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |