| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสิน
อยู่ที่บ้านเกาะเสม็ดงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง อยู่ริมแม่น้ำ ห่างจากปากแม่น้ำจันทบุรีประมาณ
๖ กิโลเมตร มีหลักฐานซากเรือสำเภาและร่องรอยของการเป็นอู่ต่อเรือคือเป็นแอ่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่หลายแห่ง
ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่ง ในบริเวณดังกล่าวพบท่อนไม้ขนาดใหญ่ และตะกรับโลหะจำนวนมาก
ชาวบ้านเล่ากันว่า บริเวณนี้เคยเป็นอู่ต่อเรือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เมื่อครั้งเตรียมการยกกองทัพไปกู้กรุงศรีอยุธยา
กรมศิลปากรได้สำรวจและขุดตรวจสอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ และ พ.ศ.๒๕๓๒ พบหลักฐานทางวิชาการจำนวนมาก
เช่น ซากเรือสำเภาจีนขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ตัวเรือทำด้วยไม้สนเมืองหนาว
ตามร่องกระดานมีหมันยาชันที่ใช้อุดมีร่องรอยฐานรอบเสากระโดง ใช้ตะปูเหล็กในการตอกยึด
น่าจะเป็นเรือสำเภาจีนสามเสาขนาดเล็ก ใช้หางเสือกลางท้าย จอดขึ้นคานรอซ่อมอยู่ในอู่
พบไม้ค้ำกราบเรือสำหรับใช้ในอู่เรือ เครื่องมือช่างไม้ เช่น ขวาน เลื่อย
มีเศษภาชนะดินเผาทั้งของไทย และเครื่องลายครามจีนเป็นจำนวนมาก มีอายุทางประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๒ - ๒๓
กำแพงเมืองจันทบูร ค่ายตากสิน
เมืองเก่าจันทบุรีอยู่บนเนินดินสูงริมแม่น้ำจันทบุรี ฝั่งขวามีคลองท่าช้างซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำจันทบุรี
ไหลผ่านทางด้านเหนือ มีบางส่วนของตัวเมืองเก่าอยู่ภายในค่ายตากสิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารนาวิกโยธิน
และกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรี - ตราด
ในค่ายตากสินทางทิศตะวันตกยังปรากฏร่องรอยของคูน้ำคันดินอยู่หลายแห่งที่ใช้วิธีพูนดินขึ้นเป็นคันกำแพง
คูน้ำ บางส่วนขุดลงไปในพื้นศิลาแลง ส่วนที่อยู่นอกค่ายตากสินยังพอมีร่องรอยแนวคูน้ำคันดิน
พบอยู่ในบริเวณศาลากลางจังหวัด และที่ทำการไปรษณีย์ ขนาดของตัวเมืองจันทบุรีควรมีขนาดกว้าง
๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๒,๐๐๐ เมตร
วังสวนบ้านแก้ว
อยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏรำไพพรรณี วังสวนบ้านแก้วมีประวัติความเป็นมาคือ
เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กลับมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้ทรงหาที่พักผ่อนพระอิริยาบถ ในปี
พ.ศ.๒๔๙๓ เมื่อเสด็จ ฯ มาจันทบุรี ได้เสด็จมาพบสถานที่ที่ต้องพระราชหฤทัย
ที่ทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี และทางไปยังจังหวัดตราด จึงทรงตัดสินพระทัยกู้เงินจากธนาคาร
เพื่อทรงซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวจากเจ้าของที่ดินหลายรายรวมกันได้เกือบ ๗๐๐
ไร่ เป็นที่ดินอยู่สองฝั่งคลองบ้านแก้ว และพระราชทานนามที่ดินตามชื่อตำบลว่า
สวนบ้านแก้ว
พระตำหนัก
พระตำหนักหลังแรกเป็นเรือนไม้หลังคามุงจากแบบเรือนชาวบ้านในชนบททั่ว ๆ ไป
ทรงปลูกเป็นเรือนแถว เป็นเรือนไม้ไผ่ หลังคาจากล้อมรอบที่ประทับ อีก ๔ - ๕
หลัง ผู้ที่ตามเสด็จมีอยู่หลายท่านด้วยกัน
หลังจากที่ประทับอยู่เรือนหลังคามุงจากได้ไม่นาน ก็ได้มีรับสั่งให้สร้างเรือนไม้เล็ก
ๆ ขึ้นสองหลัง เรียกว่า เรือนเทา เรือนแดง และได้สร้างเรือนแบบบังกาโล
ขนาดของบ้านชาวบ้านธรรมดาขึ้นอีกหลังหนึ่งเรียกว่า เรือนเขียว
เรือนเทาที่อยู่ตรงกลางเป็นที่ประทับของพระองค์ เรือนเขียวเป็นของราชเลขา
และใช้เป็นที่รับแขกด้วย ส่วนเรือนแดงเป็นที่พักของผู้ติดตาม อาคารสามหลังนี้นับว่าเป็นอาคารถาวรชุดแรก
พระตำหนักใหญ่หรือตำหนักเทา
เป็นคฤหาสน์ขนาดใหญ่ สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังแบบชั้นครึ่ง ชั้นบนเป็นห้องบรรทม
ถัดจากห้องบรรทม เป็นห้องโถงสามห้องขนาดใหญ่ เป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถและรับแขก
อีกสองห้องใช้เป็นห้องเครื่องฝรั่ง และห้องเตรียมเครื่องเสวย
จากตำหนักเทาจะมีทางเดินต่อมาทางห้องเครื่องซึ่งเป็นอาคารอีกสองหลัง ด้านหลังของตำหนักเทาจะปูอิฐเป็นลาดลดหลั่นกันไป
มีการปลูกต้นไม้ดอกประดับสวยงาม และทำเป็นธารน้ำตกไหลลดหลั่นลงไปสู่ลำห้วย
ตำหนักเทาใช้เวลาสร้างเกือบสามปีจึงแล้วเสร็จ และใช้เป็นที่ประทับตลอดมา
พระตำหนักดอนแด (ตำหนักแดง) เป็นอาคารทรงยุโรปสองชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดงคล้ำ ใช้เป็นบ้านของ ราชเลขานุการ และรองราชเลขานุการในพระองค์ พระองค์ได้เคยเสด็จมาประทับ ณ ตำหนักแดงในบางโอกาส
วัดพระแม่ปฏิสนธินิรมล (โบสถ์วัดคาทอลิก)
สร้างขึ้นสมัยที่ชาวญวนประมาณ ๓๐ คน อพยพมาอยู่ที่เมืองจันทบุรีครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ในช่วงปี พ.ศ.๒๒๑๕ - ๒๒๗๕ ได้สร้างวัดคาทอลิกขึ้นที่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำจันทบุรี
เมื่อก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองเล็กน้อย วัดคาทอลิกแห่งนี้ได้เป็นแหล่งอพยพที่สำคัญของผู้นับถือศาสนาคริสต์
ในปี พ.ศ.๒๓๐๘ มีกลุ่มบาทหลวงชาวฝรั่งเศสอพยพมาอยู่ที่เมืองจันทบุรี และในปี
พ.ศ.๒๓๑๐ อธิการสามเณรลัยชาวตะวันตก และชาวญวนได้อพยพมาอยู่ที่เมืองจันทบุรี
มีบันทึกไว้ว่าเมืองจันทบุรีเป็นหนทางเหมาะสำหรับหนีไปที่อื่นได้ง่าย
ตัวโบสถ์ปัจจุบันนับเป็นหลังที่ห้า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ เป็นศิลปะโกธิค
กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร เคยมียอดแหลมที่หอสองข้าง ต่อมาได้เอาออก เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๓ เนื่องจากเป็นจุดเด่นเมื่อมีการโจมตีทางอากาศในสมัยกรณีพิพาทอินโดจีน
ตัวอาคารมีการประดับกระจกสีแบบสเตนกลาสเป็นภาพนักบุญ มีความสวยงามและมีคุณค่าทางศิลปะ
อาคารประวัติศาสตร์กรณีพิพาท ร.ศ.๑๑๒
อาคารส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองเมืองจันทบุรี ตามอนุสัญญาข้อ
๖ ต่อท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยาม และกรุงฝรั่งเศส วันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๙๓
(ร.ศ.๑๑๒)
ปัจจุบันอาคารดังกล่าวอยู่ในบริเวณค่ายตากสิน เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูนเรียบ
เป็นสถาปัตยกรรมตามแบบของยุโรปทั้งรูปทรง และลวดลายของอาคาร
อาคารคลังกระสุนของทหารฝรั่งเศส ปัจจุบันอยู่ในค่ายตากสิน เป็นอาคารสี่เหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูน ยกพื้นสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบยุโรป
บ้านพระยาวิสูตรโกษา (ฟัก สาณะเสน)
พระยาวิสูตรโกษา ให้ชื่อบ้านหลังนี้ว่า ทับสาณะเสน อยู่ในตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง
ฯ มีพื้นที่ ๑๖ ไร่ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสำนักสงฆ์พระยาวิสูตรโกษา
ทับสาณะเสนเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ขนาดกว้างประมาณ ๑๓ เมตร ยาวประมาณ
๑๗ เมตร สูงประมาณ ๑๔ เมตร พื้นเป็นไม้ตะเคียน หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ตัวอาคารก่อสร้างแบบใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก ช่วงหน้าต่างโค้ง
ประตูโค้งมองทะลุในแนวเดียวกันตลอด ลายฉลุช่องลมเหนือบานประตูและหน้าต่างมีรูปทรงเป็นลายเครือเถาที่ประดิษฐ์เป็นลายไม้
ผูกพันสอดเกี่ยวกันอย่างสวยงามเป็นชั้นเชิงแปลกตา ลายปูนปั้นของตัวอาคารสะท้อนอดีตในสมัยมณฑลจันทบุรียังรุ่งเรือง
จากหลักฐานกรรมสิทธิที่ดินแสดงถึงการซื้อที่ดิน ๑๖ ไร่ รวมสี่แปลงในปี พ.ศ.๒๔๕๖
- ๒๔๕๙ ดังนั้นบ้านหลังนี้น่าจะมีอายุเกือบร้อยปีมาแล้ว
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |