| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศิลปกรรมและงานช่าง
    สถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัย

            ชุมชนเรือนไทยในเมืองกำแพงเพชร เป็นลักษณะหมู่บ้านริมน้ำ ตามรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ บ้านที่ปลูกสร้างเป็นเรือนไม้ หันหลังให้แม่น้ำ หันหน้าเข้าหาทางเกวียน เป็นแถวยาวเลียบแม่น้ำปิง
            ลักษณะชุมชนส่วนใหญ่เป็นเรือนพักอาศัยและเรือนค้าขายซึ่งตั้งตามแนวทางเกวียนที่ขนานกันสองสาย ถนนสายนี้ได้รับการตั้งชื่อภายหลังว่า ถนนราชดำเนินและถนนเทศา
            ลักษณะการก่อสร้างบ้านเรือนในอดีตมีรูปแบบที่ได้ปรับปรุงและดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และช่างฝีมือของผู้คนในสมัยนั้น ลักษณะของอาคารแบ่งได้ดังนี้
            เรือนทรงไทย  ได้แแบบมาจากเรือนทรงไทยภาคกลาง แต่มีส่วนประกอบของเรือนหลายอย่างที่ดัดแปลง ไปตามสภาพความจำเป็น หรือความพร้อมในเรื่องของวัสดุ แรงงานและฝีมือช่าง เช่น
                - ฝาบ้าน   เป็นฝาไม้กระดาน หนา ๐.๗๕ นิ้ว ตีตามตั้ง บังใบตลอดแนวเพื่อกันน้ำ แต่กรอบฝาทั้งแผงยังทำเป็นลักษณะสอบเข้าหากันเหมือนของภาคกลางเรียกว่า ฝาสายบัว และเป็นฝาสำเร็จรูปไม่ได้เป็นฝาลูกฟัก หรือฝาปะกน มีกรอบวัดโดยรอบด้วยไม้ขนาด ๑.๕ x ๕ นิ้ว เข้าเดือยกรอบไม้แน่นหนาเหมือนฝาปะกน มีหน้าต่างข้างสองบาน ฝังเดือยบนล่างเปิดเข้าด้านในเป็นบานคู่ไม้แผ่นเดียวตั้งบนธรณี มีกรอบเช็ดหน้าสวยงาม มีลูกกรงเหล็กกันขโมย โดยฝังลงในกรอบแน่นหนา และมีกลอนกบป้องกันไม่ให้บานหน้าต่างเปิดเข้าได้
                - โครงเรือน  เป็นลักษณะโครงเสากับคาน ซึ่งแบ่งผังเสาและสัดส่วนของบ้านเป็นสามช่วง กว้างช่วงละ ๓ เมตร ส่วนพาไลอยู่ด้านหน้าเรือนกว้าง ๓ เมตร ยาวสามช่วงเสา โดยทำช่วงเสาละ ๒ - ๓ เมตร มีบานเฟี้ยม ตามแนวยาว ด้านหน้าเรือน เพราะลักษณะเป็นเรือนค้าขายตามอาชีพเดิมของเจ้าของบ้าน ระดับพื้นพาไลกับพื้นตัวเรือนเสมอกัน ไม่ได้แบ่งระดับ หลังบ้านมีนอกชานขนาด ๓ x ๖ เมตร  ยาวกว่าตัวเรือน โดยเลียบข้างเรือนไปออกประตูด้านหน้าได้ ส่วนนี้อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะของเรือนไทยในจังหวัดกำแพงเพชร หลังเรือนหันลงแม่น้ำมีบันไดลงท่าน้ำเรือนเป็นแบบใต้ถุนสูง

                - โครงหลังคา  มีสัดส่วนคือ กว้างห้าส่วน ใบตั้งสูงสี่ส่วน ใกล้เคียงกับโครงหลังคาเรือนภาคกลางมีสภาพโค้งลาดสมสัดส่วน หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเกาะบนไม้ระแนงขนาด ๑ x ๒ นิ้ว วางทับบนกลอนขนาด ๑ x ๕ นิ้ว โค้งไปตามระดับแปลาน ขนาด ๒x๔ นิ้ว และแปหัวเสา ตัวเรือนไม่ฝ้าเพดานมาแต่เดิม จึงมีการแต่งจันทันในช่วงกลางให้มีลวดลาย โดยใช้ไม้ขนาด ๒ x ๑๒ นิ้ว แนส่วนล่างและส่วนปลายเล็กลง ที่ปลายสุด ๒ x ๘ นิ้ว  วางทับบนขื่อที่วางเจาะนอนเข้าเดือย หัวเทียนเป็นเสากลมที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๘ นิ้ว และเรียวที่ปลาย ๑๒ นิ้ว
                - ปั้นลม  วางบนปลายแปหัวเสา และแปลานยอดเหลี่ยม

                - อุดหน้าจั่ว  เป็นแบบลูกฟัก ยังคงสัดส่วนเดิม คือแบ่งเป็นแนวตั้ง ห้าส่วน และนอนสี่ส่วน
                - เสาดั้ง  ยังคงเป็นแบบเดิมคือ ตั้งคร่อมอยู่บนรอด และตรงขึ้นไปรับอกไก่ เจาะลอดทะลุขื่อตัวริมขึ้นไป ส่วนเหนือหลังขื่อแบบเรียบ ขนาด ๒ x ๘ นิ้ว เรียวขึ้นไปรับจันทันเอก
                - ประตูห้องนอน  เป็นประตูบานไม้คู่เปิดเข้าด้านใน ตั้งอยู่บนธรณีประตูสูง ๑๕ เซนติเมตร การแบ่งส่วนห้องนอนยังคงอยู่ในมาตรฐานของบ้านไทยคือ สัดส่วน ๑:๓ ของพื้นที่เรือนใหญ่
                - ฝาประจัน  ตีตั้งเหมือนฝาภายนอก แต่ลดสัดส่วนให้มีช่องลมใต้ขื่อขนาด ๒๐ เซนติเมตร ยึดติดกับคอสองเพื่อความแข็งแรง
                - พรึง  เป็นแผ่นไมที่มีไว้รองรับฝาผนังทั้งแผง โดยยึดติดกับเสาและราวอยู่บนรอด บางทีเรียก รัดเอว เป็นการวางระดับผนังไปในตัว เวลายกฝาผนังขึ้นติดตั้ง การที่ทำเสาสอบเข้าหากันนั้น นอกจากจะทำให้โครงสร้างอาคารมั่นคงแล้ว ยังทำให้การพิงฝาผนังทำได้ง่าย พรึงมีระดับเท่ากันโดยกรอบตัวเรือนสามด้าน ที่มุมยึดติดกันโดยการเข้าเดือยหางเหยี่ยว แล้วตอกตะปูติดกับเสา
                - เต้าราย  ใช้ไม้สักขนาด ๒ x ๖ นิ้ว ทำหน้าที่ยึดเชิงชายตามแนวราบ โดยเจาะเชิงชายสอดเดือยจากปลายเต้า เต้ารายนี้ถ้าอยู่ที่มุมเรือนจะเรียกว่า เต้ารุม ซึ่งมองเห็นปลายอีกข้างหนึ่งในเรือน โดยสอดทะลุออกนอกเสา และร้อยด้วยสลักไม้ด้านข้าง เพื่อยึดให้แน่นอีกครั้ง
                - กันสาด  กันสาดด้านข้างที่ยื่นยาวออกจากตัวเรือน มีคันทวยหรือท้าวแขน ที่ยื่นออกไปรับท้องจันทันช่วงกลาง เพื่อช่วยรับน้ำหนักจากกันสาดลงที่เสา โดยทำพุกรองรับปลายคันทวย ตอกด้วยตะปู
                - พื้นเรือน  นิยมใช้ไม้ตะแบก หนา ๑.๒๕ นิ้ว หรือนิ้วสองหุน หน้ากว้าง ๑๐ - ๑๕ นิ้ว ไม้ตะแบกเป็นไม้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อไม้สูง มีผิวเป็นเงามัน มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ไม่ดูดฝุ่น ทำความสะอาดง่าย ใช้ปูพื้นตามแนวยาวของตัวเรือนโดยวางบนรอด ไม่มีตงรับ เหมือนเรือนไทยภาคกลาง การปูพื้นไม้ใช้วางเรียบตีชน ไม่มีการบังใบเข้าลิ้น
                - เสาเรือน  ถากด้วยขวานให้กลมเรียวขึ้น ด้านบนเจาะรูด้วยสิ่ว และเหลาหัวเทียนที่ปลายเสา ยาว ๖ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว
                - การวางตัวผังเรือน  เรือนชาวกำแพงเพชรได้รับลมเย็นสบายทั้งทางระเบียงหลังบ้าน และลมหนาวที่พัดเข้ามาทางหน้าบ้าน ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำปิง
    ศิลปหัตถกรรมงานช่างฝีมือ

            ผลิตภัณฑ์หินอ่อนอำเภอพรานกระต่าย  เขาสว่างอารมณ์เป็นภูเขาหินปูน มีอายุประมาณ ๔๓๕ - ๓๔๕ ล้านปี เป็นหินอ่อนผลึกใหม่ หรือเรียกว่า หินอ่อนในแง่การค้า โดยทั่วไปมีชั้นหนา สีขาว เทาอ่อน เทาแก่ปานกลาง ชั้นหินหนาประมาณ ๑๕๐ เมตร ใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างอาคารและใช้ประดิษฐ์เป็นหัตถกรรมหินอ่อน
            งานหัตถกรรมหินอ่อน ได้นำเศษหินจากโรงงานหินอ่อนมาคัดเลือกและออกแบบทำเป็นวัสดุเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เหมาะสม เช่น แจกัน เสาโชว์ โต๊ะ เก้าอี้ นาฬิกา และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามที่ต้องการ

            ผ้ามัดหมี่ อำเภอลานกระบือ  การทอผ้ามัดหมี่เป็นการทอผ้าของชาวบ้านตำบลประชาสุขสันต์ ซึ่งส่วนมากอพยพมาจาก จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม ได้มาประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เมื่อมีเวลาว่างจึงทอผ้าใช้กันเอง เมื่อมีผู้สนใจมาซื้อจึงได้ทอขายเป็นรายได้เสริม มีทั้งผ้าพื้นและผ้าลาย  ลวดลายที่นิยมมีหลายลาย เช่น ดาวพระศุกร์ บายศรี ดอกไม้ แมงมุม โคมผ้าล้อม ดอกแก้ว และนาคสน เป็นต้น  การทอเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงไหมโดยใช้ใบหม่อน ได้รังไหมมาแล้วก็ดำเนินกรรมวิธีจนเป็นเส้นไหม ต่อมาได้ใช้วิธีซื้อเส้นไหมจากจังหวัดขอนแก่นมาใช้แทนการผลิตเอง

            เบญจรงค์ ที่อำเภอทรายทองวัฒนา  เครื่องถ้วยเบญจรงค์เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย ที่มีความงามและทรงคุณค่ามาแต่อดีต ได้ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ความนิยมเริ่มมาแพร่หลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากมีความต้องการใช้เครื่องถ้วยชามเคลือบเป็นจำนวนมาก
            เครื่องถ้วยเบญจรงค์ใช้แม่สีหลักในการลงลวดลายห้าสีคือ สีดำ สีขาว สีเหลือง สีแดง และสีเขียว (คราม)  ในระยะแรกให้ช่างชาวจีนลงสีโดยเขียนลายลงไปให้ ต่อมาเมื่อความนิยมเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องมาตั้งเตาและทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์เอง แต่ระยะหลังความนิยมเริ่มลดน้อยลงเพราะราคาแพงและหายาก
            เครื่องเงิน อำเภอคลองลาน  หมู่บ้านชาวเขาในเขตอำเภอคลองลาน เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงมากทั้งด้าน คุณภาพและฝีมือที่ประณีตสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ
            วิธีทำเครื่องเงิน ชาวเขาจะผลิตในสถานที่จำหน่าย ให้ผู้ซื้อได้เห็นวิธีการผลิตอย่างชัดเจน โดยผลิตเครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำจากเงินทุกชนิด มีรูปแบบและลวดลายต่าง ๆ เช่น กระเป๋า เข็มขัด สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล ต่างหู

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |