| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

   นครปฐมในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๙

            อาณาจักรทวารวดี  รุ่งเรืองสูงสุดในภาคกลางของประเทศไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ จากนั้นก็เข้าสู่ยุดเสื่อม ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญก็คือ อาณาจักรขอม เริ่มมีอำนาจและแพร่ขยายอิทธิพลมายังภาคกลาง และเข้าทดแทนอาณาจักรมอญ หรือทวารวดี ในระยะต่อมา มีศิลปะวัตถุและโบราณสถานของขอมปรากฏอยู่ เช่น  ลวปะ (ลพบุรี)  ชยปุระ (ราชบุรี)  วัชระปุระ (เพชรบุรี)  สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี)  ศรีชยสิงห์ปุระ (ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี)  เมืองเหล่านี้อยู่ล้อมรอบนครปฐม ดังนั้น อิทธิพลสมัยละบุรี จึงมีอยู่ที่เมืองนครปฐมด้วยได้แก่ พระปฐมเจดีย์องค์เดิม ซึ่งสันนิษฐานว่า ยอดเดิมคงหักพังเสียหาย เมื่อขอมเข้ามามีอำนาจได้สร้างยอดปรางค์ขึ้นแทนส่วนที่ชำรุดหายไป จึงหลายเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ ดังจะเห็นได้จากพระประโทนเจดีย์ ส่วนที่วัดประชานาท (โคกแขก) สันนิษฐานว่า คงได้รับอิทธิพลต่อมาภายหลัง
   นครปฐมสมัยก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย
            ในปลายรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจ และหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๗๖๒ บรรดาเมืองขึ้น และเมืองที่อยู่ในอิทธิพลของขอม ต่างก็แยกตัวเป็นอิสระ และสร้างศูนย์อำนาจแห่งใหม่ขึ้นแทนศูนย์อำนาจของขอม
            ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้มีการประกาศตั้งอาณาจักรสุโขทัย แม้ชื่อนครปฐมจะไม่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก เนื่องจากชื่อนครปฐมเพิ่งตั้งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ดินแดนนครปฐมก็ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของกรุงสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงด้วย
            จากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ได้กล่าวถึง พระเถระผู้เป็นหลานพ่อขุนผาเมืองชื่อ พระศรีศรัทธาราชจุฬามณี ได้จารึกแสวงบุญไปยังลังกาทวีป เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๓ หลังจากนั้นท่านได้ประกอบมหากุศลมากมาย ที่สำคัญคือ การปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ที่เรียกตามขอมว่า พระธม ซึ่งหมายถึง สถูปพระบรมธาตุขนาดมหึมา โดยที่พระมหาเจดีย์องค์นี้ปรักหักพังอยู่กลางป่า ณ เมืองเก่า ที่พระศรีศรัทธา ฯ เรียกว่า นครพระกฤษณ์ ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าคือ เมืองนครปฐมโบราณ ในครั้งได้บูรณะพระบรมธาตุจากองค์เดิมสูง ๙๕ วา เพิ่มเป็น ๑๐๒ วา
   นครปฐมสมัยอยุธยา
            นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒) จนถึงสมัยพระยอดฟ้า (พ.ศ.๒๐๘๙ - ๒๐๙๑) เป็นเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี เมืองนครปฐมยังคงสภาพเหมือนสมัยสุโขทัยคือ ไม่มีฐานะเป็นเมือง จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.๒๐๙๐ - ๒๑๑๑) จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งเมืองใหม่ขึ้นสามเมือง หนึ่งในสามเมืองนั้นคือ เมืองนครชัยศรี ตามชื่อเมืองโบราณ
            เมืองนครชัยศรีที่สร้างใหม่นี้ เป็นเมืองขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในเขตตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี อยู่ห่างจากเมืองเดิมประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีแม่น้ำนครชัยศรี หรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน มีฐานะเป็นเมืองจัตวา เป็นเมืองในเขตปกครองชั้นใน หรือเมืองในวงราชธานี ผู้รั้งเมืองมีราชทินนามว่า ออกพระสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม
            เมืองนครชัยศรีสมัยอยุธยาไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าตั้งอยู่ที่ใด เพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ไม่มีคูน้ำคันดิน หรือกำแพงเมือง เชื่อกันว่าที่ตั้งตัวเมืองน่าจะอยู่ที่บ้านปากน้ำ มีคลองบางแก้วไหลมาบรรจบแม่น้ำนครชัยศรี และวัดกลางบางแก้วน่าจะเป็นวัดประจำเมืองนครชัยศรีในสมัยอยุธยา เพราะมีการพบใบเสมาหินชนวนสีดำปักอยู่รอบอุโบสถ ลักษณะเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางที่วัดนี้
   นครปฐมสมัยกรุงธนบุรี
            ในสมัยกรุงธนบุรีเรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครชัยศรี แสดงว่ามีความสำคัญมากขึ้น ในสมัยกรุงธนบุรีเส้นทางเดินทัพของพม่าทางด้านทิศตะวันตก จะผ่านเมืองนครชัยศรีก่อนจะเข้ากรุงธนบุรี กองทัพพม่าได้ยกเข้ามาทางเส้นทางนี้สองครั้ง (พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๑๗) สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ทรงยกทัพจากกรุงธนบุรี ไปรับศึกสองครั้งโดยได้เสด็จไปทางเรือตามคลองด่าน หรือคลองมหาชัย ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองบางกอกใหญ่ กับแม่น้ำท่าจีน เมืองสมุทรสาคร
   นครปฐมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
            ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบสุข และได้เริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก สินค้าที่ส่งออกมีมูลค่าสูงสุดคือ น้ำตาลทราย ซึ่งมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แขวงเมืองนครชัยศรี ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๕๓ - ๒๓๙๑ ทำให้ชุมชนในย่านนี้ขยายใหญ่โต มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีชาวลาวและชาวเขมร
           ชาวจีน  นอกจากรับจ้างเป็นกรรมกรแล้ว ยังประกอบอาชีพเพราะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ทั่วราชอาณาจักร และสามารถเผยแพร่ได้ดีในหมู่ชาวจีน เมืองนครชัยศรีเป็นเมืองหนึ่งที่เป็นเป้าหมายในการเผยแพร่ ทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งชาวจีนที่นักถือศาสนาคริสต์แหล่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้
           ชาวลาว  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการส่งชาวลาวเข้ามาในเมืองนครชัยศรีเป็นครั้งแรก มีถิ่นเดิมอยู่ที่เมืองภูครั่ง ในการจัดการปกครอง ชาวลาวโดยให้อยู่รวมตามหมู่พวกเดียวกัน และตั้งมูลนายไทยกับมูลนายลาวให้ร่วมกันปกครอง โดยกำหนดภาระหน้าที่ต่อทางราชการ เช่น การเข้าเวรใช้แรงงาน การส่งส่วย การเข้าประจำกองทัพ มีหลักฐานว่า ในเวลาปกติไพร่ลาวที่เมืองนครชัยศรีถูกเกณฑ์แรงงานให้ไปตัดฟืนส่งโรงหีบหลวง ซึ่งแต่เดิมเคยไปตัดที่แขวงเมืองสุพรรณบุรี เมืองราชบุรี ต่อมาพื้นที่ตัดไม้ลดน้อยลง จึงต้องไปตัดถึงแขวงเมืองสวรรค์ เมืองกาญจนบุรี แต่มีอุปสรรค์ในเรื่องเข็นไม้ลงสู่ลำน้ำ เจ้าเมืองนครชัยศรีจึงได้เสาะหาสถานที่แห่งใหม่พบว่าบริเวณคลองบางปลาเป็นคลองเก่า มีพื้นเบญจพรรณตั้งแต่ปลายคลอง ขึ้นไปจนถึงบ้านสุกปลา บ้านยาก แขวงปลอก บ้านพุมกำแพงแสน บ้านพะเนียงแตก ซึ่งอยู่ในเขตแขวงเมืองนครชัยศรีนั่นเอง
        ชาวเขมร  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เขมรก่อการกบฏ ได้มีการส่งชาวเขมรมายังราชอาณาจักรไทย และให้ไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองนครชัยศรี ยังมีชื่อหมู่บ้านที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ อำเภอนครชัยศรีชื่อว่า ท่าเขมร
   นครปฐมสมัยรัตนโกสินทร์ยุคใหม่

           การปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์ ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ โดยให้ช่างทหารทำแบบเจดีย์ขึ้นใหม่แบบลังกา มีรูปทรงกลม ไม่มีฐานทักษิณ สูง ๑๗ วา ๒ ศอก ครอบเจดีย์องค์เดิม มีการก่อเตาเผาอิฐ และรับซื้อิฐจากชาวบ้านที่ไปรื้อจากซากวัดร้างมาขาย
            ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ ได้เกิดเหตุการณ์เจดีย์ที่สร้างสวมทับองค์เดิมได้พังทลายลงมา หลังจากเกิดฝนตกใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้ดำเนินการก่อสร้างใหม่ มีการแก้ปัญหาการพังทลายขององค์เจดีย์ด้วยการใช้ไม้ซุงทั้งต้นปักเรียงกัน แล้วมัดด้วยโซ่ขนาดใหญ่เป็นเปลาะ ๆ เสร็จแล้วจึงก่ออิฐถือปูนหุ้มข้างนอก และเปลี่ยนแปลงรูปเจดีย์ให้มีฐานกว้างขึ้น ส่วนสูงเพิ่มจากเดิม และมีการสร้างวิหารสี่ทิศ และเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงกลมล้อมรอบองค์พระเจดีย์ จากระเบียงออกมาเป็นลาน มีการสร้างหอระฆังไว้เป็นระยะรวม ๒๔ หอ มีการจำลองรูปพระเจดีย์องค์เดิม จำลองพระเจดีย์วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช สร้างภูเขาจำลอง มีหอกลองกับหอระฆัง และมีการปลูกต้นไม้ในพระพุทธศาสนา

            งานก่อสร้างบูรณะพระปฐมเจดีย์สำเร็จลุล่วงในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการประกอบพิธียกยอดพระปฐมเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๓ ยอดพระเจดีย์หล่อด้วยทองเหลือง เป็นรูปยอดนภดล แบบยอดพระปรางค์องค์เดิม ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
            ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระเบื้องประดับองค์พระปฐมเจดีย์หลุดล่อนเสียหายเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนกระเบื้องใหม่ทั้งองค์ โดยใช้นักโทษจากเรือนจำมณฑลนครชัยศรี มาทำวันละ ๓๐ - ๔๐ คน
            ในรัชสมัยพระบทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้มีการซ่อมแซมพระวิหารหลวง และตกแต่งเพิ่มเติมให้สวยงาม และโปรดเกล้า ฯ ให้เขียนภาพพระปฐมเจดีย์ไว้ที่ผนังด้านในพระวิหารหลวง แสดงให้เห็นลักษณะรูปทรงพระเจดีย์ครั้งสมัยเริ่มสร้างจนถึงปัจจุบัน และยังมีภาพวาดประกอบอื่น ๆ ประกอบอีกด้วย นอกจากนี้ยังทรงให้ขยายบันไดด้านทิศเหนือให้กว้างขึ้น และให้สร้างพญานาคเลื้อยลงมาแผ่แม่เบี้ยเชิงบรรไดอย่างงดงาม โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปเก่าจากเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเลือแต่พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท ให้เป็นองค์สมบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ และถวายพระนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ อัฐเชิญมาประดิษฐานที่วิหารทิศเหนือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗
            นอกจากนั้นพระองค์ยังได้พระราชทานชื่อถนนทั้งสี่ด้าน นอกบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์คือ ด้านตะวันออกชื่อถนนหน้าพระ ด้านทิศเหนือชื่อถนนซ้ายพระ ด้านทิศใต้ชื่อถนนขวาพระ และด้านทิศตะวันตกชื่อถนนหลังพระ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างสะพานข้ามคลองเจดีย์บูชา พระราชทานนามว่า สะพานเจริญศรัทธา และตัดถนนจากหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ตรงไปผ่านหน้าวัดพระประโทน พระราชทานชื่อถนนว่า ถนนเทศา

           การสร้างพระราชวังปฐมนคร  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังนครปฐม หรือปฐมนคร อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ติดกับบริเวณพระปฐมเจดีย์ สำหรับเป็นที่ประทับเวลาเสด็จนมัสการพระปฐมเจดีย์ พระราชวังแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไป เมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์ ปัจจุบันได้ถูกรื้อออกไปทำเป็นที่ทำการเทศบาลนครปฐม
           การสร้างพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๐  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่สร้างที่ประทับที่เมืองนครปฐม บริเวณสระน้ำจันทร์ ซึ่งเป็นสระน้ำโบราณอยู่ใกล้กับเนินปราสาท ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกประมาณสองกิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า พระราชวันสนามจันทร์ ประกอบด้วยพระที่นั่งห้าหลัง และพระตำหนักต่าง ๆ สี่หลัง มีศาลาธรรม และเทวาลัยพระคเณศร์ รูปแบบการสร้างมีทั้งแบบศิลปกรรมไทย ศิลปกรรมยุโรป และศิลปกรรมประยุกต์ มีพระที่นั่งต่าง ๆ ดังนี้คือ
            พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมฤดี พระที่นั่งวัชรีรมยา พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชบัลลังก์ พระตำหนักทับแก้ว และพระตำหนักทับขวัญ
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับพระราชวังสนามจันทร์อยู่เสมอ นอกจากจะเป็นที่แปรพระราชฐานแล้ว ยังใช้เป็นที่ว่าราชการ เลี้ยงรับรองพระราชอาคันตุกะอย่างเป็นทางการ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และยังมีพระราชประสงค์ให้เป็นค่ายหลวงในกิจกรรมเสือป่า เช่น ซ้อมรบ หรือประลองยุทธ ที่เริ่มทำครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ที่เมืองนครปฐม
           การจัดตั้งมณฑลนครชัยศรี  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองนครชัยศรีซึ่งเคยอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้มาขึ้นกับกรมท่าด้วย เพื่อสะดวกในการบูรณะพระปฐมและได้มีการเกณฑ์พวกเลข (สักเลข) มาทำการบูรณะ
            ต่อมาได้มีการรวมเมืองนครชัยศรี สุพรรณบุรี และเมืองสมุทรสาคร ตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ มีที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองนครชัยศรี โดยที่เมืองนครชัยศรีแบ่งออกเป็นห้าอำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ  อำเภอพระปฐมเจดีย์  อำเภอตลาดใหม่  อำเภอบางปลา และอำเภอกำแพงแสน
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้ย้ายที่ทำการมณฑลนครชัยศรี จากตำบลท่านาริมแม่น้ำนครชัยศรี มายังอำเภอพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นอำเภอเมือง ฯ ในปัจจุบัน โดยทำการซ่อมแซมพระราชวังปฐมนคร แล้วใช้เป็นที่ตั้งมณฑล
            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกพระราชวังสนามจันทร์ให้กับมณฑลนครชัยศรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ ให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสนครปฐม

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |