| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            นครปฐม เป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เชื่อมต่อกับสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการตั้งถิ่นฐานทางพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรกในสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา จากหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่ามีกลุ่มชนเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคโลหะ ภายหลังสังคมเกษตรกรรม อายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ในสมัยทวารวดี และได้พัฒนาการตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน
            เมืองโบราณในสมัยทวารวดี จะมีความสัมพันธ์กับแนวชายฝั่งทะเลเดิมของอ่าวไทย มีความสูง ๓ - ๕ เมตร เมืองโบราณเหล่านี้ตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่สูงกว่าแนวชายฝั่งขึ้นไป แนวชายฝั่งดังกล่าวเป็นอ่าวลึกเว้าเข้าไปในแผ่นดิน ด้านเหนือจรดลพบุรี และสิงห์บุรี ด้านตะวันออกจรดนครนายก พนมสาคาม พนัสนิคม และชลบุรี ด้านตะวันตกจรดสุพรรณบุรี อู่ทอง กำแพงแสน และนครชัยศร (เมืองพระประโทน)
            อำเภอกำแพงแสน เป็นดินแดนที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาแต่สมัยโบราณ เป็นเมืองสมัยทวารวดี ร่วมสมัยกับเมืองโบราณสมัยทวารวดีแห่งอื่น ๆ เช่น เมืองโบราณนครปฐม เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) และเมืองคูบัว (ราชบุรี) นอกจากนี้ยังเป็นดินแดนที่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เคยอยู่อาศัยมาก่อน
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จะกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ  ที่มีแหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อมาได้พัฒนาเป็นชุมชนเมือง ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ในช่วงเริ่มแรกในจังหวัดนครปฐม จะมีการดัดแปลงพื้นที่ โดยการขุดเป็นร่องน้ำล้อมรอบ และกันด้วยคันดินทั้งสี่ด้าน สภาพชุมชนเมืองโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ ในเขตจังหวัดนครปฐมมีอยู่สองแห่ง คือ
    เมืองนครปฐมโบราณ
            จากภาพถ่ายทางอากาศที่ได้มีการตรวจสอบกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ เห็นร่องรอยฝังเมืองโบราณอยู่ที่บริเวณพระประโทนเจดีย์ ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
    กว้างประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๓,๖๐๐ เมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๓,๘๐๐ ไร่ ที่เมืองเปรียบเทียบกับเมืองโบราณอื่น แล้วเมืองนี้มีขนาดใหญ่กว่าบรรดาเมืองโบราณที่พบในประเทศไทย ก่อนสมัยอยุธยา  มีคลองขุดเป็นเส้นตรงเชื่อมคูเมืองด้านใต้ และด้านเหนือ ปัจจุบันคือ คลองพระประโทน คลองนี้ตัดผ่านถนนเพชรเกษม และวัดพระประโทนไปบรรจบคูเมืองด้านเหนือ คลองนี้น่าจะขุดขึ้นเพื่อความสะดวกในการคมนาคม ของประชาชนทั้งที่ยู่อาศัยในเมือง และนอกเมือง เช่นเดียวกับเมืองโบราณศรีมโหสถ ในจังหวัดปราจีนบุรี นอกจากนี้ยังมีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ และเล็กเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังปรากฏอยู่ ๖ แห่ง สระที่สำคัญอยู่กลางใจเมืองทางด้านทิศตะวันตกของพระประโทนเจดีย์ มีร่องรอยการขุดคลองเข้ามาหล่อเลี้ยงสระอยู่หลายแห่ง
            ปัจจุบันคูเมืองดังกล่าวตื้นเขิน ใช้ประโยชน์ได้เพียงบางช่วง ยกเว้นคูเมืองทางด้านทิศใต้ จะมีน้ำตลอดสายทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำบางแก้วไหลแยกจากลำน้ำพะเนียง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านเข้าตัวเมือง โดยไหลตัดคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปออกคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ใกล้กับวัดธรรมศาลา ปัจจุบันแม่น้ำบางแก้วส่วนที่ไหลผ่านตัวเมืองตื้นเขิน จนแทบไม่เห็นร่องรอยว่าเคยเป็นแม่น้ำมาก่อน ส่วนที่ผ่านวัดธรรมศาลาไปแล้ว แปรสภาพเป็นคลองบางแก้ว ไหลไปออกแม่น้ำท่าจีน ที่วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี
            ทางด้านทิศตะวันตกมีคลองวังตะกู อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำทัพหลวง มีต้นกำเนิดจากแม่น้ำแม่กลอง ไหลผ่านวัดวังตะกู ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ วัดใหม่ปีนเกลียว เข้าสู่ตัวเมืองนครปฐม ปัจจุบันผ่านวัดห้วยจระเข้ และไปบรรจบกับคูเมืองด้านทิศตะวันตก
            ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำบางแขม ซึ่งไหลแยกจากแม่น้ำแม่กลอง เมื่อถึงเมืองนครปฐมโบราณ จะไหลขนานไปกับคูเมืองด้านทิศใต้ มีร่องรอยการขุดคลองเชื่อมระหว่างคูเมืองด้านหัวมุมทิศใต้เรียกว่า คลองบ่อโตนด และยังขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำบางแก้ว และแม่น้ำบางแขม
            ศาสนสถาน  เท่าที่พบในบริเวณเมืองโบราณแบ่งออกได้ดังนี้

            ศาสนสถานในเมือง คือ เจดีย์จุลประโทน และที่อยู่กลางเมืองคือ วัดพระประโทน
            ศาสนสถานนอกเมืองที่เป็นศาสนสถานสมัยทวารวดีคือ วัดพระเมรุ เนินพระ และวัดพระปฐมเจดีย์
            ศาสนสถานซึ่งพบเพียงเนินอิฐคือ ศาสนสถานที่วัดธรรมศาลา วัดพระงาม และวัดหลวงประชาบูรณะ
    เมืองเก่ากำแพงแสน

            เมืองเก่ากำแพงเป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมมุมมน ยังปรากฏร่องรอยคันดินและคู่น้ำล้อมอยู่ในเขตตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน มีขนาดกว้างประมาณ ๗๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๔๐๐ ไร่ ประตูเมืองยังคงเห็นได้ชัดเจนทั้งสี่ประตู คือ ประตูด้านทิศเหนือเรียกว่า ประตูท่านางสรง ประตูด้านทิศตะวันออกเรียกกันว่า ประตูท่าพระ ประตูด้านทิศใต้เรียกกันว่า ประตูท่าช้าง ประตูด้านทิศตะวันตกเรียกกันว่า ประตูท่าตลาด
            ภายในตัวเมืองอยู่เกือบกลางเมืองอีกสองแห่ง ภายนอกเมืองทางด้านทิศตะวันออกมีคลองรางพิกุล ที่มุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีช่องมาในเมืองเรียกว่า ช่องปากเมือง หรือปากกลาง พบเศษอิฐจมอยู่ทางด้านใต้ของเมือง พบซากเจดีย์ที่ขุดแล้วหลายองค์ นอกบริเวณเมืองพบพระพุทธรูปปูนปั้นรูปสิงโต และซากเจดีย์สมัยทวารวดีอีกหลายองค์ มีลักษณะของฐานแบบเดียวกับที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี หลักฐานทางโบราณคดีที่พบได้แก่ หินบตยา ทำด้วยหินทรายสีแดง ซึ่งพบเป็นครั้งแรก (ส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวหรือสีดำเท่านั้น) นอกจากนี้ยังพบจารึกบนฐานธรรมจักรศิลา อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓
    นครปฐมในพุทธศตวรรษที่ ๓ - ๑๐

            จากการสำรวจทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และบริเวณใกล้เคียง ได้พบลูกปัดโบราณฝังรวมกับสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ในหลุมฝังศพ ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ลูกปัดที่พบในหลุมฝังศพ และบริเวณใกล้เคียงมีมากกว่า ๓,๐๐๐ เม็ด และมีอยู่จำนวนหนึ่ง มีลักษณะคล้ายลูกปัดที่พบในอินเดียตอนเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลูกปัด มีอายุร่วมสมัยกับลูกปัดที่พบที่บ้านดอนตาเพชร
            นอกจากลูกปัดแล้วยังพบ ภาชนะสำริดที่มีส่วนผสมดีบุกซึ่งใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และใช้ในชีวิตประจำวัน ภาชนะดังกล่าวมีลวดลายแบบอินเดีย แต่ส่วนผสมของวัสดุที่ใช้ผลิตน่าจะเป็นของชาวเมืองผลิตขึ้นใช้เอง และส่งไปขายยังที่อื่น เนื่องจากสำรวจพบว่า ภาชนะลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ในประเทศอินเดียด้วย
            นอกจากนี้ยังพบขวานหิน กำไล ตะเกียงโรมัน โครงกระดูก หลุมฝังศพ ฯลฯ ล้วนสอดคล้องเชื่อมโยงกันได้ว่า แหล่งที่พบสิ่งของดังกล่าว และบริเวณใกล้เคียง เคยเป็นแหล่งอาศัยของชุมชนพื้นเมือง ที่มีขนาดต่าง ๆ กันกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณเมืองโบราณ ชุมชนแต่ละแห่งมีการแลกเปลี่ยนติดต่อสัมพันธ์กัน และติดต่อค้าขายกับผู้ที่เดินทางมาจากที่อื่นด้วย โดยเฉพาะชาวอินเดีย มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดีย และวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างอินเดีย กับพื้นเมืองปรากฏอยู่ทั่วไป โดยมีศาสนาและภาษามีความสำคัญในอันดับต้น ๆ
            จากสภาพทางภูมิศาสตร์ และหลักฐานโบราณคดี ในจังหวัดนครปฐม สรุปได้ว่าดินแดนแถบนี้ประกอบด้วยหลายชนชาติ มีอารยธรรมของตนเอง รับอารยธรรมพุทธศาสนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ มีศาสนสถานขนาดใหญ่ ที่ยังปรากฏร่องรอยถึงปัจจุบัน เช่น ศาสนสถานที่พระปฐมเจดีย์ วัดพระประโทน วัดพระเมรุ วัดพระงาม วัดธรรมศาลา และที่เนินพระ ตำบลดอนยายหอม เป็นต้น

            เมืองโบราณและศาสนสถานดังกล่าว มีมาแล้วก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา โบราณวัตถุที่พบในเมืองโบราณดังกล่าว มีอายุถึงศตวรรษที่ ๑๑ เช่น พระปฐมเจดีย์ เมื่อแรกสร้างมีลักษณะคล้ายกับสถูปที่สาญจี ประเทศอินเดีย ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ - ๔ ลวดลายส่วนประกอบของพระพุทธรูป เครื่องประดับ เข็มขัด เครื่องแต่กายบางชิ้นมีลวดลายเป็นอิทธิพลจากศิลปะแบบอมรวดี และแบบคุปตะของอินเดีย ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ - ๑๓ ฐานเจดีย์ที่วัดพระงาม วัดพระประโทน และวัดพระเมรุ มีร่องรอยว่ามีการสร้างเสริมหลายครั้ง ลวดลายปูนปั้นที่ประดับฐานเจดีย์มีอิทธิพลลวดลายแบบอินเดีย สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ ภาพปูนปั้นรอบฐานเจดีย์จุลประโทน (ใกล้วัดพระประโทน) เป็นเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ใช้ภาษาสันสฤตรูปแบบโครงสร้างของเจดีย์วัดพระเมรุ คล้ายกับอานันทเจดีย์ในอาณาจักรพุกามของพม่า สันนิษฐานว่า อานันทเจดีย์อาจได้แบบอย่างจากวัดพระเมรุ นี้

            นอกจากนี้ ยังปรากฏโบราณสถานโบราณวัตถุอื่น ๆ เช่น ซากสิ่งก่อสร้าง เสาศิลา ธรรมจักรศิลา ระฆังหิน และกวางหมอบศิลา ตุ๊กตาปูนปั้นหน้าตาแบบแขก พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ  ศิลาจำหลักรูปนรสิงห์นั่งชันเข่า และโบราณวัตถุอื่น ๆ พบอยู่ทั่วไปในเขตเมืองโบราณ พบเหรียญเงิน ที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ทำด้วยเงิน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๙ มิลลิเมตร ด้านหน้าเป็นรูปหม้อกลศ (หม้อน้ำที่น้ำเต็ม) ด้านหลังจารึกข้อความด้วยภาษาสันกฤตโบราณว่า ศรีทวารติปุณยุ และการพบเหรียญอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ถือเป็นหลักฐานสรุปได้ว่า ในภาคกลางของไทย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ อยู่รวมกันเป็นปึกแผ่น ซึ่งคนสมัยหลังเรียกอาณาจักรนี้ว่า ทวารวดี มีการติดต่อค้าขายกันระหว่างเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักร ต่อมาได้มีผู้พบเหรียญเงินในลักษณะคล้ายคลึงกัน ในเขตเมืองโบราณอื่น ๆ เช่น ที่เมืองอู่ทอง (ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี) ที่บ้านเมือง (ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี) และที่เมืองดงคอน (ในเขตจังหวัดชันนาท) โบราณสถาน และโบราณวัตถุที่พบนี้ จัดเป็นศิลปแบบทวารวดีที่มีต้นเค้ามาจากศิลปะอินเดีย ผสมผสานกับศิลปะพื้นเมืองเดิม
    นครปฐมในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖

            ในหนังสือบันทึกการเดินทางของภิกษุ เหี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ที่เดินทางทางบกไปสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๗๒ - ๑๒๘๐ และบันทึกการเดินทางของภิกษุอี้จิง ซึ่งเดินทางทางทะเล ในช่วงเวลาต่อมา ได้กล่าวถึงอาณาจักรหลายแห่งในขณะนั้น บันทึกทั้งสองฉบับนี้ ได้ระบุชื่ออาณาจักรแห่งหนึ่งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (อาณาจักรโบราณในพม่า) และอาณาจักรอิศานถปุระ (อาณาจักรเขมร) อาณาจักรดังกล่าวน่าจะเป็นอาณาจักรทวารวดี ภิกษุจีนทั้งสองไม่ได้มาถึงอาณาจักรทวารวดีด้วยตนเอง แต่เขียนจากที่ได้รับฟังจากชนพื้นเมืองในอินเดีย ในพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวว่า สามารถเดินทางด้วยเรือ จากเมืองกวางตุ้งไปอาณาจักรทวารวดีได้ในห้าเดือน
            นอกจากหลักฐานของจีน แล้วยังมีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และนิทานพื้นเมืองอีกหลายฉบับ เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ คัมภีร์มหาวงศ์ (พงศาวดารลังกาทวีป) มิลินทปัญหา และกถาสริดสาคร เล่าถึงการเดินทางมาติดต่อกับผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งมีอาณาจักรทวารวดีตั้งอยู่ และที่สำคัญพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งสมณฑูตในพระพุทธศาสนา คือ พระโสณเถระ กับพระอุตรเถระ มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ ซึ่งเรียกว่า สุวรรณภูมิ

            จารึกพบในอาณาจักรทวารวดี ที่นครปฐมซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุด อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ได้แก่ จารึก เยธมฺมา เหตุปปภวา... ซึ่งจารึกด้วยอักษรปัลลวะ (อินเดียใต้) เป็นภาษาบาลี พบจำนวนหลายชิ้น นอกจากนี้ยังมีจารึกรุ่นเก่าอีกชิ้นหนึ่งที่วัดโพธิร้าง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระประปฐมเจดีย์ จารึกอักษรปัลลวะ เป็นภาษามอญ นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับอารยธรรมมอญโบราณ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ได้เป็นอย่างดี
            จากหลักฐานจารึกดังกล่าวพอสรุปได้ว่า จังหวัดนครปฐม ในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นเหล่งอาศัยของชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ถาวร มีอารยธรรมของตนเอง และต่อมาได้รับอารยธรรมจากภายนอกมาประสมกลุ่มชนอาจมีหลายเชื่อชาติ ให้ภาษาต่างกัน แต่บางกลุ่มที่อาศัยในแถบนครปฐม และเมืองใกล้เคียงใช้ภาษามอญในการบันทึก นอกเหนือจากใช้ภาษาบาลี สันสกฤตซึ่งเป็นภาษาทางศาสนา อาจสรุปได้ว่า กลุ่มชนที่มีจำนวนอยู่ในนครปฐม และในอาณาจักรทวารวดี เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษามอญเป็นภาษาพื้นเมือง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |