| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถาน
            โบราณสถานสำคัญในจังหวัดนครปฐม ระยะแรก ๆ ได้แก่ โบราณสถานสมัยทวารวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ มีดังนี้
    วัดพระเมรุ

            วัดพระเมรุ  ตั้งอยู่ในเขตตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดร้างมีซากเนินขนาดใหญ่อยู่กลางวัด เนินโบราณสถานมีลักษณะทรงกลมสูงประมาณ ๑๐ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐ เมตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ ได้พบพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ จึงได้นำมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ฯ เป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม จัดเป็นพุทธศิลปแบบทวารวดี
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานนามบริเวณวัดพระเมรุว่า สวนนันทนอุทยาน
            ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ - ๒๔๘๒  ได้มีการขุดแต่งทางโบราณคดีที่วัดพระเมรุ พบว่าโบราณสถานวัดพระเมรุเป็นซากเจดีย์ขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมมุม กว้าง - ยาว ด้านละประมาณ ๗๐ เมตร มีองค์เจดีย์อยู่ตรงกลาง ฐานเจดีย์ทำเป็นเหลี่ยมย่อมุม มีทางขึ้นทั้งสี่ดาน สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ ด้านละองค์ รวม ๔ องค์ ปรากฏซากหินสำหรับรองพระพุทธรูปเหลืออยู่ทางด้านทิศตะวันออก และทิศเหนือ ระหว่างมุขทั้งสี่เป็นระเบียงคต มีร่องรอยว่า น่าจะมีมุขหลังคาโดยรอบ

            ในการดำเนินงานทางโบราณคดีครั้งนี้ ได้พบโบราณวัตถุรวม ๖๕๑ ชิ้น เป็นประเภทสำริด ๒ ชิ้น ประเภทเครื่องปั้นดินเผา ๕๓๕ ชิ้น ประเภทศิลา ๒๖ ชิ้น พระพิมพ์ดินเผา ๘๘ องค์
            เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ - ๒๕๒๘ ได้มีการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานวัดพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง ได้พบหน้ายักษ์ปูนปั้น และสถูปดินเผา ๑ องค์ ลักษณะเป็นชั้น ๆ ต่อกัน และพอกปูนรอบนอก นอกจากนี้ยังพบว่า มีการก่อสร้าง และบูรณะรวมสี่ครั้ง คือ
                -  ครั้งที่ ๑  เป็นสมัยแรกสร้างโบราณสถาน
                -  ครั้งที่ ๒  เป็นการสร้างเพื่อขยายฐานพระเจดีย์ ครั้งที่ ๑
                -  ครั้งที่ ๓  เป็นการก่อสร้างเพื่อขยายแนวฐานเจดีย์ ครั้งที่ ๒
                -  ครั้งที่ ๔  เป็นการก่อสร้างเพื่อปิดแนวฐานที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมในครั้งที่ ๑
            ได้มีการกำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้ว่า อยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖  เป็นศิลปแบบทวารวดี
            โบราณสถานวัดพระเมรุขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
   พระประโทนเจดีย์วรวิหาร

            พระประโทนเจดีย์ ฯ  ตั้งอยู่ภายในวัดพระประโทนเจดีย์ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นสามัญ ชนิดวรวิหาร ในเขตตำบลพระประโทน อำเภอเมือง ฯ
            พระประโทนเจดีย์ ฯ  เป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ ๕๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเนินประมาณ ๖๐ เมตร สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเจดีย์ที่มีอายุร่วมสมัยกับจุลประโทนเจดีย์ วัดพระเมรุ และพระปฐมเจดีย์
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอาวาสวัดพระประโทนเจดีย ฯ ได้ถวายพญาครุฑพ่าห์เหยียนาค ทำด้วยสำริด ที่ขุดพบบริเวณพระประโทนเจดีย์ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดประกอบเป็นธงสี่เหลี่ยมคือ ธงกระบี่ครุฑธุชพ่าห์
            ต่อมาพระประโทนเจดีย์ ฯ เกิดชำรุด ได้มีการปฏิสังขรณ์ สร้างบันไดขึ้นบนองค์พระเจดีย์ และสร้างบันไดในส่วนขึ้น ไปยังฐานพระปรางค์ที่อยู่บนยอดเจดีย์พระประโทนรวม ๓๗ ขั้น และทำบันไดขึ้นไปบนซุ้มทวารพระปรางค์อีก ๒๐ ขั้น และได้จำลอง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔  องค์พระประโทนเจดีย์ชำรุดอีก ได้ทำการซ่อมโดยการเทปูนเป็นขั้น ๆ เพื่อป้องกันการพังทลายขององค์เจดีย์ ส่วนฐานที่ก่ออิฐโดยรอบ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อกันผนังพัง บนยอดเนินมีผู้สร้างปรางค์ซ้อนขึ้น ลักษณะปรางค์สูงชะลูดเป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ จากชายเนินมีบันไดขึ้นไปยังองค์ปรางค์ ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐ เมตร องค์พระประโทนเจดีย์ยังไม่มีการดำเนินงานทางโบราณคดี จากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า พระประโทนเจดีย์ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณนครปฐม
            พระประโทนเจดีย์ ฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
    เจดีย์จุลประโทน

             เจดีย์จุลประโทน  ตั้งอยู่ด้านทิศตะออกขององค์พระปฐมเจดีย์ ห่างออกไปประมาณ ๔ - ๕ กิโลเมตร บริเวณใกล้เคียงกับพระปฐมเจดีย์ บริเวณที่ตั้งของเจดีย์จุลประโทน เดิมชาวบ้านเรียกว่า เนินหิน เพราะในอดีตบริเวณดังกล่าวมรวากเนินอิฐ หิน กระจายอยู่ทั่วไป
             เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๓ กรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีที่โบราณสถานเจดีย์จุลประโทน ผลการดำเนินงานสรุปได้ดังนี้
             เจดีย์จุลประโทนมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส วางตัวอยู่ในแนวแกน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กับทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ องค์เจดีย์มีการก่อสร้าง เป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปอีกสี่ชั้น  แต่ละด้านของแต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับฐานชั้นแรกที่ขุดพบ
            ครั้งที่ ๑  เป็นการก่อสร้างองค์เจดีย์ ซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ฐานชั้นบนย่อมุม ยาวด้านละ ๑๗ เมตร แต่ละด้านประดับด้วยซุ้ม พระพุทธรูปยืนปูนปั้น ด้านละ ๕ ซุ้ม ถัดลงมาเป็นฐานสี่เหลี่ยม ยาวด้านละ ๑๙ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาวประมาณ ๒๔ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร กึ่งกลางของแต่ละด้านมีแนวบันไดเป็นรูปครึ่งวงกลม มีราวบันไดยื่นออกมาจากปากสัตว์ สองข้างบันไดเป็นรูปสิงห์ประดับผนังของลานประทักษิณ มีภาพปูนปั้น และดินเผาประดับ อายุก่อสร้างอยู่ประมาณพุทศตวรรษที่ ๑๒
เป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปอีกสี่ชั้น  แต่ละด้านของแต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับฐานชั้นแรกที่ขุดพบ
            ครั้งที่ ๒  เป็นการสร้างเสริมจากชั้นที่ ๑ มีการเปลี่ยนแปลงฐานลานทักษิณได้ถูกยกขึ้นไปสูงกว่าระดับบันได การก่อสร้างครั้งนี้ เมื่อประมาณพุทศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ เป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปอีก ๔ ชั้น  แต่ละด้านของแต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับฐานชั้นแรกที่ขุดพบ
            ครั้งที่ ๓  เป็นการสร้างลานประทักษิณใหม่ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ครอบลานประทักษิณ และบันไดทางขึ้นเดิมไว้ ลานประทักษิณที่สร้างใหม่มี ๒ ชั้น บนมุมทั้งสี่ของลานประทักษิณ ประดับด้วยเจดีย์ทรงกลมมุมละองค์ ไม่มีบันไดขึ้นลานประทักษิณ และเปลี่ยนแปลงพระพุทธรูปใหม่ซุ้มพระพุทธรูปยืนทั้ง ๕ องค์ เปลี่ยนเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ๓ องค์ และพระพุทธรูปปางนาคปรกอีก ๒ องค์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
            จากการขุดแต่งครั้งนี้ได้ข้อสันนิษฐานว่า รูปแบบองค์เจดีย์จุลประโทนว่า ส่วนบนของเจดีย์น่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับรัตนเจดีย์ที่วัดกู่กุด  จังหวัดลำพูนคือ เป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปอีกสี่ชั้น  แต่ละด้านของแต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นเดียวกับฐานชั้นแรกที่ขุดพบ
            ในปี พ.ศ..๒๕๑๑ ได้มีการขุดแต่งเจดีย์จุลประโทนอีกครั้ง ได้ขุดแต่งทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งหมดและบางส่วยของด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และได้บูรณะด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กับตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการบูรณะครั้งที ๓ ออกทั้งหมด เพื่อเก็บภาพปูนปั้นที่ประดับอยู่รอบฐานเจดีย์ โดยลวดลายปูนปั้นทั้งหมด เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
            เจดีย์จุลประโทน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓
    เนินพระ (เนินยายหอม)

            เนินพระ ที่ชาวบ้านเรียกว่า เนินยายหอม ตั้งอยู่ในเขตตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง ฯ
            เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ได้ขุดพบธรรมจักรศิลา เสาศิลาทรงแปดเหลี่ยม และกวางหมอบ อยู่ในสภาพชำรุด ธรรมจักศิลา เมื่อนำมาประดับเข้าด้วยกันมีความสูงประมาณ ๑๙๐ เซนติเมตร กว้าง ๑๓๕ เซนติเมตร ส่วนเสาศิลาแปดเหลี่ยมสูง ๙ ศอก สำหรับกวางหมอบศิลาสลักจากหินสีเขียวเนื้อละเอียดสูง ๙.๕ นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว ที่เนินพระที่มีความสูงประมาณ ๙ เมตร พบว่าเนินพระเป็นซากฐานขององค์เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุมยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน โดยองค์เจดีย์ล้มไปทางด้านทิศตะวันออก มีรูปแบบศิลปกรรมแบบทวารวดี นอกจากนั้นบริเวณวัด และพื้นที่ทั่วไปเคยพบพระพุทธรูปสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี และสมัยอยุธยาตอนต้นอีกด้วย
            เนินพระได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
  วัดพระงาม

             วัดพระงามเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง เดิมเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ พบหลักฐานที่สำคัญคือ พระพุทธรูป และเศียรพระพุทธรูปดินเผา ที่มีลักษณะงดงาม ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อวัดในปัจจุบัน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
  สระน้ำจันทร์
            สระน้ำจันทร์ เดิมชื่อว่า สระบัว  ตั้งอยู่ที่บ้านเนินปราสาท ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒ กิโลเมตร ในอดีตบริเวณบ้านเนินปราสาท มีโคกเนิน และซากโบราณสถานอยู่ทั่วไป สันนิษฐานว่า น่าจะเคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังเก่าของกษัตริย์ ผู้ครองดินแดนบริเวณเมืองนครปฐมโบราณ และสระน้ำจันทร์น่าจะเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เช่นเดียวกับสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกศ จากจังหวัดสุพรรณบุรี หรือน้ำจากทะเลชุบศร ที่จังหวัดลพบุรี สระน้ำจันทร์ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมุมขนาดใหญ่ ในสมัยต่อมามีชาวบ้านมาปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ทำให้โคกเนิน และโบราณสถานถูกทำลายลงจนหมด สระน้ำจันทร์ก็ตื้นเขินอย่างมาก ได้มีการขุดลอก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
            สระน้ำจันทร์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
            นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโบราณสถานสมัยทวารวดีอีกหลายแห่ง ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วได้แก่ พระปฐมเจดีย์ วัดใหญ่ วัดพระปฐมเจดีย์ วัดธรรมศาลา เมืองเก่าที่กำแพงแสน ฯลฯ
            แหล่งโบราณสถานที่สำคัญในจังหวัดนครปฐม ที่ได้สำรวจและขึ้นทะเบียนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นต้นมามีจำนวน ๑๔ แห่ง และได้สำรวจการขึ้นทะเบียนอีก ๗ แห่ง ได้แก่ วัดกลางบางแก้ว วัดบางพระ วัดละมุด วัดศรีมหาโพธิ ในเขตอำเภอนครชัยศรี วัดสรรเพชญ วัดท่าพูด ในเขตอำเภอสามพราน และศาลาตึก ที่อำเภอกำแพงแสน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |