| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

วัดพระปฐมเจดีย์

            วัดพระปฐมเจดีย์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง ฯ มีองค์พระปฐมเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีรูปลักษณะสัณฐานเป็นเจดีย์ทรงลังกา มีขนาดที่สำคัญดังนี้
                -  ความสูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ    ๑๒๐  เมตร
                -  ฐานโดยรอบยาว    ๒๓๕  เมตร
                -  คต (ระเบียง) โดยรอบยาว    ๕๖๒  เมตร
                -  กำแพงแก้วชั้นในโดยรอบยาว    ๙๑๒  เมตร
            ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส  มีชั้นลดขึ้นไปเป็นเจดีย์ มีระเบียงคตล้อมรอบเป็นวงกลม ที่ระเบียงคตตรงทิศทั้งสี่ มีวิหารประจำทิศ ถัดเข้าไปเป็นลานประทักษิณ แล้วเป็นฐานเป็นชั้นขึ้นไปจนถึงฐาน ต่อจากนั้นเป็นองค์ระฆัง ซึ่งมีรูปลักษณะเป็นรูประฆังปากผายคว่ำ มีช่องบัวใบเทศอยู่ระหว่างกึ่งกลางองค์ระฆังทั้งสี่ทิศ ถัดจากองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังค์ เสาหานบัวถลาหน้ากระดาน ปล้องไฉนจำนวน ๒๗ ปล้อง ปลียอด เม็ดน้ำค้าง นพศุลและมงกุฎ
    ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์
            ตามหลักฐานในคัมภัร์มหาวงศ์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ให้พระโสณเถระกับพระอุตรเถระ ไปยังสุวรรณภูมิ" สุวรรณภูมิในที่นี้น่าจะเป็นดินแดนที่เมืองนครปฐมตั้งอยู่ และสุวรรณภูมิน่าจะเป็นเมือง ตามความนิยมของการเรียกอาณาจักรในสมัยนั้น
            การสร้างพระปฐมสันนิษฐานว่า มีการสร้างและปฏิสังขรณ์มาแล้วอย่างน้อยสามครั้ง คือ
                -  สมัยสุวรรณภูมิ  เป็นการสร้างครั้งแรก เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓๐๐ - ๑๐๐๐
                -  สมัยทวารวดี  มีการสร้างเพิ่มเติม เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐๐๐ - ๑๖๐๐
                -  สมัยรัตนโกสินทร์  หลังจากถูกทิ้งร้างมานาน
            จากหลักฐานทางธรณีวิทยา บริเวณพรปฐมเจดีย์ในสมัยทวารวดี อยู่ห่างจากฝั่งทะเลประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มีซากเจดีย์ที่ถูกรื้อออกไปเพื่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพ ฯ  ถึงนครปฐมเป็นจำนวนมาก เหลือองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งสูง ๑๙ วา ๒ ศอก นอกจากนั้นยังพบพุทธอาสน์ รอยพระพุทธบาทธรรมจักรศิลา รูปปั้น รวมถึงซากกุฏิพระสงฆ์ วิหารอยู่โดยรอบ แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งเมืองใหญ่
            องค์พระปฐมเจดีย์ถูกทิ้งร้างมานาน สันนิษฐานว่า ประมาณปี พ.ศ.๑๕๐๐ เป็นต้นมา อาจจะเนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่เมืองพุกาม มีลักษณะเดียวกันกับที่พบที่เมืองนครปฐม เช่น พระพิมพ์ในเงินเหรียญ รูปสังข์ รูปปราสาท ทั้งอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม ซึ่งสร้างหลังสมัยพระเจ้าอนุรุทธที่ ๑ ก็มีแบบเช่นเจดีย์พระเมรุ ซึ่งอยู่ห่างจาดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณไม่เกิน ๑ กิโลเมตร
    พระปฐมเจดีย์กระทำปาฎิหารย์
            ได้มีผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหารย์ที่เกิดจากพระปฐมเจดีย์มีความว่า พระปฐมเจดีย์ก่อนที่จะสร้างขึ้นมานั้น ได้มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเสด็จมาอยู่ที่นี้ ชาวบ้านเคยเห็นฉันพรรณรังสี ปรากฏขึ้นในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา สถานที่ชาวบ้านเห็นได้แก่ องค์พระปฐมเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ ที่พระโสณเถระ และพระอุตรเถระได้สร้างขึ้นไว้
            ในการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ครั้งที่สองครอบองค์เดิม มีเรื่องที่กล่าถึงคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.๕๖๘ พระยาพานได้ทำปิตุฆาต ฆ่าบิดาของตนโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นบิดา จึงปรึกษากับพระอริยสงฆ์ในตรั้งนั้น ได้รับคำแนะนำให้สร้างเจดีย์ใหญ่เท่านกเขาเหิน เพื่ออุทิศกุศลให้พระบิดา ต่อมาพระองค์ได้สมาทานศีล และอธิฐานจิตอยู่หนึ่งวัน เมื่อเวลาผ่านไปชั่วยามได้เกิดฉันพรรณรังสีปรากฏมีแสงสว่างไปทั่ว เห็นกันอยู่ทั่วกันทุกคน พระองค์จึงปรึกษาหารือกับเหล่าปุโรหิต ข้าราชการ ตลอดจนสมณพราหมณ์ และหาฤกษ์มหามงคลสร้างพระเจดีย์ และมีมติให้เริ่มสร้างในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปี พ.ศ.๕๖๙ ได้สร้างพระปฐมเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิม เป็นเจดีย์ทรงปรางค์สูง ๔๒ วา ๒ ศอก (สูงเท่านกเขาเหิน) พระปฐมเจดีย์ได้แสดงปาฏิหาริย์เป็นระยะตลอดมา
            ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อครั้งผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ได้เสด็จธุดงพร้อมด้วยคณะสงฆ์มายังเมืองนครปฐม ทรงสังเกตุลักษณะและขนาดองค์พระปฐมเจดีย์ แล้วเห็นว่าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ และน่าจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ จึงทรงอธิฐานว่า ถ้ามีพระบรมสารีริกธาตุ ขอเทพยดารักษาจงได้แบ่งให้สักสององค์ เพื่อนำไปบรรจุพระพุทธรูปที่สร้างใหม่
            หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับมาประมาณเดือนเศษ คืนหนึ่งขณะที่พระสงฆ์สวดมนต์ที่หอวัดมหาธาตุ ได้เกิดควันสีแดง กลิ่นหอมเหมือนควันธูป จนพระพุทธรูปแลดูเหมือนสีนาก วันรุ่งขึ้นจึงไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์จึงเสด็ไปทอดพระเนตรพระพุทธรูปเนาวรัตน์ที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้ พบพระบรมสารีริกธาตุเพิ่มขึ้นจากเดิมสององค์ จึงโปรดให้บรรจุไว้ในพระสัมพุทธพรรณีองค์หนึ่ง ในเจดีย์สุวรรณผลึกอีกองค์หนึ่ง และเกิดแรงศรัทธามุ่งมั่นที่จะบูรณองค์พระปฐมเจดีย์ให้จงได้
            เมื่อพระองค์ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สองพรรษา จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เริ่มลงมือก่อสร้างปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ โดยโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เป็นแม่กอง เมื่อสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ถึงแก่พิราลัย ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นแม่กองต่อไป
            เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระปฐมเจดีย์ เพื่อก่อพระเจดีย์เป็นปฐมฤกษ์โดยทางเรือ ๒๕ มีนาคม ๒๔๐๐ ทรงก่อพระปฐมเจดีย์เป็นปฐมฤกษ์ โปรดเกล้าให้ชายฉกรรจ์ที่อาศัยอยู่ปริเวณใกล้เคียงกับองค์พระปฐมเจดีย์ ถวายเป็นข้าพระ ๑๒๖ คน และทรงตั้งผู้ดูแลรักษา พระราชทานนามว่า ขุนพุทธเกษตรานุรักษ์ และมีผู้ช่วยพระราชทานนามว่า ขุนพุทธจักรรักษาสมุหบัญชี พระราชทานนามว่า หมื่นฐานาภิบาล ทรงยกค่านาและสมพัสสร ที่ใกล้วัดขึ้นเป็นกัลปนาขึ้นวัด ทรงถวายนิตยภัตแล้วเสด็จกลับพระนคร
            การปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นการสร้างพระเจดีย์ใหญ่ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ภายใน เปลี่ยนจากรูปทรงบาตรคว่ำ มีพุทธบัลลังค์เป็นฐานสี่เหลี่ยม มียอดนพศูลและมหามงกุฎไว้บนยอด องค์พระเจดีย์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง
            พระปฐมเจดีย์ได้มีปรากฏการณอันให้เห็นถึงป่ฏิหาริย์ปรากฎแก่สายตาผู้พบเห็นเป็นจำนวนมาก เท่าที่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน พอประมวลได้ดังนี้คือ
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นปาฏิหาริย์ที่ยอดปรางค์ที่พระยาพานสร้างไว้รวม ๖ ครั้ง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นปาฏิหาริย์ที่องค์ระฆังคว่ำปัจจุบันรวม ๓ ครั้ง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นปาฏิหาริย์ที่องค์พระปฐมเจดีย์รวม ๒ ครั้ง
สถาปัตยกรรมและสิ่งสำคัญ
            เริ่มจากประตูด้านทิศเหนือ ได้แก่ บันไดนาคตรงกลางพื้นปูหินอ่อน ๒ ข้าง เป็นราวบันไดนาคเลื้อยแผ่พังพานแบบศิลปะขอม สร้างไว้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขึ้นไปถึงชั้นลด จะมีศาลาพักอยู่ทั้งสองข้าง นอกจากนั้นยังมีบันไดทางขึ้นอีกสองบันไดออกไปทั้งสองข้าง ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีระฆังใหญ่ ถัดจากชั้นลดขึ้นไปเป็นบันไดนาคเช่นกัน ต่อขึ้นไปเป็นลานเจดีย์ ซึ่งมีหอระฆังอยู่โดยรอบจำนวน ๒๔ หอ
            บนลานชั้นนี้มีวิหารทิศสี่วิหาร มีพระระเบียงเชื่อมต่อกันเป็นลักษณะวงกลม ที่ผนังระเบียงคตด้านในมีคาถาพระธรรมบท เป็นภาษาขอมทำด้วยปูนปั้น หน้าต่างมีช่องรูปวงรี ตัวหน้าต่างด้านในปิดทอง บนพื้นชาดเป็นรูปต้นไม้ในพุทธประวัติ ถัดจากระเบียงคตเข้าไปเป็นลานชั้นในแล้วเป็นฐานองค์พระเจดีย์ และมีบันไดขึ้นไปลานประทักษิณได้


            วิหารทิศเหนือหรือวิหารพระร่วง   วิหารพระร่วงเป็นที่ประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ แบ่งออกเป็นสามห้องคือ วิหารพระร่วง ถัดเข้าไปเป็นห้องพระประสูติ และห้องในสุดเป็นพระปางปาลิไลยกะ
            พระร่วงโรจนฤทธิ์  เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ สูง ๑๒ ศอก ๔ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช ได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ที่เมืองศรีสัชนาลัย - สุโขทัย เมือปี พ.ศ.๒๔๕๑ อยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย จึงโปรดให้อัญเชิญมากรุงเทพ ฯ เมื่อพระองค์ขึ้นเสวยราชย์แล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการพระราชพิธีสถาปนาพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นที่วัดพระเชตุพน ฯ   เมื่อปี พ.ษ.๒๔๕๖ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่พระวิหารด้านทิศเหนือขององคืพระปฐมเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ เสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ.๒๔๕๘ และถวายพระนามเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรมว่า ให้นำพระราชบรมราชสรีรังคารส่วนหนึ่ง มาบรรจุไว้ที่หลังองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์


            ต้นศรีมหาโพธิจากพุทธคยา    ต้นศรีมหาโพธิอยู่ทางด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ เป็นต้นศรีมหาโพธิที่ ดอกเตอร์ ยอห์น สไคว์ นำเมล็ดจากต้นโพธิที่พุทธคยามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้เพาะแล้วพระราชทานไปยังพระอารามที่สำคัญในประเทศไทยแห่งละต้น สำหรับองค์พระปฐมเจดีย์พระราชทานมาห้าต้น ปลูกไว้ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันตกเฉียงเหนือ มุมละหนึ่งต้น และบนลานหน้าวิหารพระนอนอีกหนึ่งต้น
            นอกจากนี้ยังมีรางน้ำมนต์ อันเป็นโบราวัตถุสมัยทวารวดีอยู่สามราง ตั้งอยู่ตรงบันไดจะลงไปที่ต้นตะกร้อหนึ่งราง และอยู่ใกล้ทางลงไปยังชั้นลดด้านทิศตะวันออกอีก ๒ ราง แสดงว่าในบริเวรนี้เคยมีศาสนาพราหมณ์มาก่อน
    วิหารด้านทิศตะวันออกหรือวิหารหลวง
            วิหารด้านทิศตะวันออกมีอยู่ ๒ ห้อง  ห้องนอกมีพระพุทธรูปปางตรัสรู้อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ที่ผนังด้านหลังพระพุทธรูปเหนือขึ้น ไปเป็นจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมัน รูปต้นพระศรีมหาโพธิเหมือนจริง ห้องในด้านทิศตะวันออกเป็นภาพจิตรกรรมองค์พระปฐมเจดีย์องค์เดิม และองค์ปัจจุบันตัดขวางซ้อนกัน แสดงให้เห็นลักษณะการสร้างแต่สมัยแรกจนถึงปัจจุบัน เหนือขึ้นไปเป็นจิตรกรรมรูปเทวดา ถัดมาที่ผนังทั้งสองด้านคือ ด้านทิศเหนือ และด้านทิศใต้เป็นภาพคนธรรท์ นักสิทธิ์ ฤาษี ครุฑ นาค พนมมือบูชาไปยังองค์พระปฐมเจดีย์ ด้านละสองแถวเรียงซ้อนกันเป็นสองชั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เขียนภาพเหล่านี้ขึ้น
           แท่นบูชา  ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของห้อง เป็นพระแท่นสำหรับวางเครื่องนมัสการบูชาองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่สำหรับประกอบพระราชพิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ปูด้วยหินอ่อน ด้านซ้ายและขวาประดับด้วยปูนปั้นรูปหัวกวาง มีเขากวางจริงประดับ ส่วนฐานที่มุมบนมีปูนปั้นรูปหัวสิงห์ประดับ ที่มุมส่วนฐานประดับด้วยปูนปั้นรูปเท้าสิงห์

            พระพุทธสิหิงค์  จากแท่นบูชา มองสูงขึ้นไปทางองค์พระปฐมเจดีย์จะเห็นพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มรูปทรงแบบไทย ลายเป็นฝรั่งผสมจีน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จำลองจากพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษบานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ในพระบวรสถานมงคล (วังหน้า) แต่ขยายให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม หล่อด้วยโลหะขนาดหน้าตักกว้างสองศอกสิบนิ้ว
            เกย  อยู่ตรงกับประตูกำแพงชั้นในด้านทิศตะวันออก เกยอยู่ตรงกลางยื่นออกมาจากฐานแคบ ๆ  ด้านข้างของชานเป็นบันไดขึ้นบนเกย จากชานมีซุ้มบันไดขึ้นไปบนชั้นลด พ้นบันไดขึ้นไปหน้าซุ้มประตูมีทวารบาล เกยนี้เป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์เสด็จมาโดยเสลี่ยงจากวังปฐมนคร (พระที่นั่งปฐมนคร) เสด็จมาขึ้นเกยที่ตรงนี้ แล้วเสด็จขึ้นบันไดไปยังพลับพลาเปลื้องเครื่อง เพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นชุดขาว จากนั้นจึงเสด็จไปนมัสการที่แท่นบูชาในพระวิหารหลวง ที่เชิงบันไดระหว่างชั้นลด ทับลานเจดีย์ชั้นบนจะมีช้างหมอบ และราวบันไดเป็นรุปตัวนาค ที่ซุ้มประตูและพลับพลาเปลื้องเครื่องมีตรามหาพิชัยมงกุฎประดับ
            ทวารบาล  เป็นรูปคนนุ่งโจงกระเบนสีน้ำเงิน ผิวกายสีน้ำตาล เฝ้าประตูช่องบันไดด้านละสองตน ซุ้มช่องบันไดขึ้นนี้ ส่วนบนเป็นรูปรีเหนือขึ้นไปเป็นตรามหาพิชัยมงกุฎ

          พลับพลาเปลื้องเครื่อง  วางตัวอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ หน้าพลับพลาหันเข้าหาองค์เจดีย์ หน้าบันไดด้านทิศเหนือ และใต้ มีตรามหาพิชัยมงกุฎประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนองค์พลับพลาทรงไทย ประดับด้วยศิลปะผสมระหว่างไทย จีน และตะวันตก
          พระอุโบสถ  อยู่บนลานขึ้นลด หน้าพระอุโบสถหนันไปทางทิศหนือ ในพระอุโบสถมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สลักด้วยศิลาขาวสมัยทวารวดี ซึ่งนำมาจากวัดพระเมรุ พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทบนฐานกลีบบัวเรียกว่า ภัทรอาสน์ พระหัตถ์วางหงายอยู่พระเพลา พระหัตถ์ขวาหงายอยู่บนลำตัว พระพุทธรูปองค์นี้เรียกชื่อทั่วไปว่า พระพุทธรูปศิลาขาว ที่มุมพระอุโบสถทั้งสี่มุม เป็นใบเสมาหินอ่อนจากเมืองคาราราร์ ในประเทศอิตาลี สลักเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลติดกับตัวพระอุโบสถ เป็นผลงานของสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ศิลปสกุลช่างหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้สร้างผลงานศิลปกรรมไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์หลายชิ้น
    วิหารด้านทิศใต้

            วิหารด้านทิศใต้  วิหารด้านทิศใต้ มีอยู่สองห้องเช่นกัน ห้องนอกมีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา พร้อมปัจวัคคีย์ ห้องในมีพระพุทธรปปางนาคปรก
            เสาประทีป  เป็นเสาสำหรับตามไฟให้สว่าง ตั้งอยู่บนลานหน้าวิหาร
            เจดีย์จำลองที่ชั้นลด  ที่ชั้นลอด้านทิศใต้ มีสิ่งสำคัญอยู่สามสิ่งคือ ลานด้านทิศตะวันออก จะเป็นองค์พระปฐมเจดีย์องค์เดิมจำลอง ถัดมาตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท สมัยทวารวดี เรียกกันว่า  พระพุทธรูปศิลาขาว ขนาดและรูปลักษณะคล้ายกับพระประธานในพระอุโบสถ ได้รับการถวายพระนามว่า พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศวมัยมุนี ศรีทวารวดี ปูชนียบพิตร ถัดมาทางด้านทิศตะวันตกจะเป็นพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจำลอง
    วิหารด้านทิตะวันตก

            วิหารด้านทิศตะวันตกมีสองห้ง ห้องแรกเป็นวิหารพระนอน ห้องนอกเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ห้องในเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน
            ต้อนศรีมหาโพธิ  อยู่หน้าวิหารพระนอน มีต้นโพธิเพาะจากเมล็ดต้นศรีมหาโพธิจากอินเดีย ปลูกอยู่ในกะเปาะ มีขนาดไม่ใหญ่นัก
            ต้นไม้สำคัญในพุทธประวัติ  ที่ชั้นลดด้านทิศตะวันตก มีต้นศรีมหาโพธิ ซึ่งนำเมล็ดจากพุทธคยามาปลูกไว้ที่หน้าพระวิหารพระนอน นอกจากนั้นยังมีต้นไม้สำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ปลูกไว้คือ
                -  ไม้ราชายตน (ไม้เกต)  เป็นต้นไม้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้รับสตูก้อนผงของปุสสะ และภัลสิกะ หลังจากตรัสรู้ได้ ๔๘ วัน
                -  ไม้นิโครธ หรือ อชปาลนิโครธ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ร่มเป็นเวลาเจ็ดวันหลังจากที่ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ
                -  ไม้พหูปุตตนิโครธ (ต้นกร่าง) เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับ แล้วได้พบพระมหากัสสป
                -  ไม้มุจลินท์ (ต้นจิก)  เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับแล้วเกิดฝนตกหนัก พญานาคจึงทำกายขดวงให้ล้อมพระพุทธเจ้าไว้ แล้วแผ่พังพานบังฝนไม่ให้ตกมาต้องพระองค์
                -  ไม้สาละ  เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าได้ประสูติ และปรินิพพาน และเป็นต้นไม้ที่ประทับใต้ร่ม ก่อนตรัสรู้
                -  ไม้ชมพู หรือไม้หว้า  เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับ เมื่อตามพระราชบิดาไปแรกมาขวัญ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
                -  ไม้อัมพวา หรือมะม่วง  เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าแสดงยมกปฏิหาริย์
            ลายปูนปั้น  ที่ผนังชั้นลดด้านตะวันตก จะมีรูปเทพในรูปลักษณะต่าง ๆ
            องค์พระปฐมเจดีย์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ เป็นสำดับที่หนึ่งของจังหวัดนครปฐม
    พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม

            พระพุทธรูปศิลาขาว  เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีปางปฐมเทศนา ประทับนั่งห้วยพระบาท มีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาสามเท่า ขุดพบสี่องค์ที่วัดพระเมรุ ซึ่งเป็นวัดเก่าสมัยทวารวดี มีอายมากว่าหนึ่งพันปี ตั้งอยู่ที่สวนนันทอุทยาน ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมือง ฯ ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนัก
องค์ที่สมบูรณ์ได้อัญเชิญมาประดิษบานไว้เป็นพระประทานในอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
            พระพุทธรูปศิลาขาว  เป็นที่เคารพนักถือของชาวไทยสืบมานานนับพันปี

            พระร่วงโรจนฤทธิ์  เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบพระเศียรและพระหัตถ์ของพระพุทธรูปที่เมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ช่างปั้นองคืพระขึ้นใหม่ แล้วโปรดให้นำมาประดิษฐานไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ด้านซุ้มทิศเหนือ พระราชทานนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ ที่ใต้ฐานชุกชึที่ประดิษบานพระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

            หลวงพ่อวัดไร่ขิง  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒ นิ้ว ตามตำนานหล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมา ชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ทีวัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อครั้งสร้างวัดไร่ขิง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ สมเด็จุฒาจารย์ (พุก ป.ธ.๓) ผู้สร้างวัดเป็นชาวนครชัยศรี และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ครองวัดศาลาปูน เมื่อครั้งเป็นพระธรรมราชานุวัตร เป็นเจ้าคณะใหญ่มณฑลกรุงเก่า ได้กลับมาสร้างวัดไร่ขิง และได้อัฐเชิญพระพุทธรูปองค์หนึ่งจากวัดศาลาปูน นำล่องแพไม่ไผ่มาตามลำน้ำ และอัฐเชิญไปประดิษฐานที่อุโบสถวัดไร่ขิง

            พระศรีศากยทศพลญาฌ ฯ  โดยทั่วไปนิยมเรียกกันว่า พระใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ที่มีความงามด้วยพุทธศิลปแบบสุโขทัย สูง ๒,๕๐๐ (๑๕.๘๗๕ เมตร) หล่อด้วยโลหะรมดำ ประดิษฐานเป็นพระประฐา ฯ พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓  แล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ศาสตราจารน์ ศิลป์ พีระศรี  เป็นผู้อกกแบบสร้างขึ้นในโอกาสที่เฉลิมฉลองพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

            พระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดนครปฐม  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปรัตนโกสินทร์ หน้ากว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูง ๔๐ เซนติเมตร มีฐานบัวหงายรองรับ มีพุทธลักษณะที่งดงามอย่างยิ่ง ผู้ที่ออกแบบปั้นคือ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ จากกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ช่างเททองหล่อพระพุทธรูปขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ และพระราชทานนามว่า พระพุทธนวราชบพิตร ที่ฐานบัวหงายขององคืพระ ได้บรรจุพระพิมพ์เล็กไว้หนึ่งองค์ คือ  สมเด็จจิตรลา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง ประกอบด้วยเส้นพระเกษา ชันยาเรือในพระองค์ และผงศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัด
    มรดกทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ
            มรดกทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ วัดพระเมรุ พระประโทนเจดีย์วรวิหาร  เจดีย์ประโทน  เนินพระ วัดพระงาม  อุโบสถหลังเก่าวัดบางพระ วิหารวัดพระศรีมหาโพธิ์ อุโบสถวัดละมุด วิหารเก่าวัดห้วยพลู วัดไทร วัดกลางบางแก้ว วัดโคกพระเจดีย์ วัดท่าพูด วัดสรรเพชญ์  วัดพระประโทนเจดีย์ วัดธรรมศาลา วักไร่ขิง วัดดอนหวาย จารึกทวารวดี (จารึก เยมฺมา ฯ จารึกธรรมจักร จารึกวัดโพธร้าง)  จารึกสมัยสุโขทัย (จารึกพ่อขุนรามพล จารึกบนเสาศิลาห้าเหลี่ยม)  จารึกสมัยอยุธยา (จารึกบนแผ่นอิฐมอญที่ฝาผนังวัดท่าพูด)  จารึกสมัยรัตนโกสินทร์ (จารึกที่ฝาผนังระเบียงคตทั้งสี่ด้านขององค์พระปฐมเจดีย์ เป็นจารึกกถาธรรม จารึกที่หอระฆังขององค์พระปฐมเจดีย์ ฯลฯ รายละเอียดมีอยู่ในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม

| ย้อนกลับ | บน |