| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
จังหวัดนครปฐม ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน
มีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๖๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑,๓๕๕,๐๐๐ ไร่ มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่
๑๓ ของกลาง และเป็นลำดับที่ ๖๒ ของประเทศ
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพ
ฯ
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดกรุงเทพ ฯ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดราชบุรี และงจังหวัดกาญจนบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน
และแม่น้ำแม่กลอง พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ มีความลาดเทประมาณ ๑ - ๒
องศา ระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ ๓ เมตร จากระดับน้ำทะเล ขณะที่น้ำทะเลขึ้นสูง
สามารถหนุนขึ้นมาตามแม่น้ำท่าจีน ทำให้เกิดน้ำท่วมถึงบริเวณอำเภอสามพราน และอำเภอนครชัยศรี
ภูมิประเทศของจังหวัดนครปฐม แบ่งออกเป็นสามลักษณะคือ
บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง
มีคันดินธรรมชาติ เป็นแนวสูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร จากอำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรีไปจนถึงอำเภอบางเลน
เลยคันดินธรรมชาติเข้าไปเป็นที่ลุ่ม มีบริเวณกว้างประมาณ ๒ - ๗ กิโลเมตร มีความสูงประมาณ
๑ - ๒ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่ในเขตอำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน
และบริเวณตอนใต้ของอำเภอเมือง ฯ
บริเวณระดับน้ำชั้นต่ำ ถัดจากที่ลาดต่ำออกไป
เป็นลานตะพักน้ำชั้นต่ำ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒ - ๕ เมตร ได้แก่
พื้นที่ทางแถบตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน
มีความกว้างประมาณ ๕ - ๘ กิโลเมตร แล้วค่อยแคบลงในเขตอำเภอกำแพงแสน อำเภอดอนตูม
และทางตะวันตกของอำเภอบางเลน มีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่จังหวัด
ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย บางแห่งดินตะกอนตกทับถมเป็นดอนสูงประมาณ
๕ เมตร ได้แก่ ดอนตูม และดอนพุทรา ในเขตอำเภอดอนตูม กับตำบลดอนเสาเกียด และตำบลดอนยายหอม
ในเขตอำเภอเมือง ฯ
ลานตะพักน้ำชั้นกลาง อยู่ถัดออกไปจากลานตะพักน้ำชั้นต่ำไปทางด้านทิศตะวันตก
จนถึงเขตจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕ - ๙ เมตร
จุดสูงสุด ๑๕ เมตร ที่บ้านหนองโพธิ ในเขตอำเภอกำแพงแสน มีความกว้างจากตะวันตกไปตะวันออกประมาณ
๑๘ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันตกของอำเภอกำแพงแสน และทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมือง
ฯ
ลักษณะภูมิประเทศโดยรวมของจังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ราบค่อนข้างสูงทางด้านทิศตะวันตก
แล้วลาดเอียงไปทางด้านตะวันออกถึงบริเวณแม่น้ำท่าจีนทางทิศใต้
ป่าไม้
ปัจจุบันจังหวัดนครปฐมไม่มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ เนื่องจากการหักร้างถางพง
เพื่อทำเกษตรกรรม และใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ยังคงมีร่องรอยป่าไม้อยู่ตามพื้นที่ต่าง
ๆ ดังนี้
ป่าเบญจพรรณ โรงเรียนการบินกำแพงแสน และวัดไผ่รื่นรมณ์
อยู่ในเขตตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน มีพื้นที่มากกว่า ๑๐๐ ไร่ มีไม้หลายชนิดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ
โดยเฉพาะไม้ไผ่ สภาพพื้นที่ยังมีความเป็นป่าไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะเป็นเขตป่าสงวน
เพื่อประโยชน์ในการศึกษา มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ชะมด ไก่ป่า และนกชนิดต่าง
ๆ
ป่าตะโกหรือสวนรุกชาติเมืองเก่ากำแพงแสน อยู่ในเขตตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน มีพื้นที่ ๕๒๐ ไร่ เป็นป่าไม้ผลัดใบธรรมชาติที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง ที่เรียกว่า ป่าตะโก ก็เพราะมีต้นตะโกนาที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก นอกจากต้นตะโกแล้วยังมีต้นไม้อื่น ๆ หลายชนิด ทั้งที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ และที่กรมป่าไม้ปลูกเสริมขึ้น ลักษณะเป็นป่าชั้นเดียว มีไม้ชั้นล่างไม่หนาแน่น เพราะถูกถางถูกแต่งอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่เกื้อกูลที่จะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย และแหล่งกิจกรรมของสัตว์ป่า จึงไม่ค่อยมีสัตว์ป่า บางฤดูมีดอกไม้สวยงาม เหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของผู้อนุรักธรรมชาติ
ป่าไม้พื้นเมืองวัดธรรมศาลา อยู่ในเขตตำบลธรรมศาลา
อำเภอเมือง ฯ เป็นร่องรอยป่าธรรมชาติที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่ง ไม้สำคัญได้แก่
ยางนา มีทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ จำนวนมากกว่า ๔๐ ต้น และมีไม้ยืนต้นชนิดอื่น
ๆ อีก เป็นจำนวนมาก เช่น ตะเคียนทอง ตะเคียนหนู ข่อย กร่าง มะดัน และมะพลับ
เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น กระรอก กระแต ลิงป่า และนกชนิดต่าง
ๆ
ป่าเบญจพรรณวัดปลักไม้ลาย อยู่ใยเขตตำบลทุ่งขวาง
อำเภอกำแพงแสน เป็นป่าธรรมชาติไม้ผลัดใบอีกแห่งหนึ่ง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ของวัดประมาณ
๙๒ ไร่ มีต้นไม้ยืนต้นหลายชนิด เช่น พญารากดำ ขี้อ้าย ตาลเสี้ยน และไม้ลาย
เป็นต้น ไม้บางชนิดขึ้นตามธรรมชาติ บางชนิดปลูกซ่อมแซมขึ้นรวมทั้งเถาวัลย์และใบไผ่ป่า
สวนป่า หมายถึงป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ในพื้นที่ต่าง
ๆ หน่วยงานต่าง ๆ ได้กำเนินการปลูกป่าในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ของชาติมากขึ้น
มีไม้หลายชนิด ทั้งไม้พื้นเมืองและไม้ถิ่นอื่น ๆ
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |