| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
หลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่ได้แก่ เจดีย์ขนาดใหญ่ ฐานรูปทรงสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์รูปทรงระฆังกลม
มีฐานบัวซ้อนกันหลายชั้น ที่วัดสิงห์ อำเภอนครชัยศรี สันนิษฐานว่า เป็นสมัยอโยธยา
สุพรรณภูมิ (อู่ทอง) ส่วนใบเสมาก็เป็นรุ่นเดียวกัน เป็นศิลปะที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๒๐
สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา
จากหลักฐานบนใบเสมา ในเขตอำเภอนครชัยศรี หลายแห่งเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง เช่น
ที่วัดโบสถ์ วัดไทร วัดสิงห์ และวัดห้วยตะโก เป็นต้น สันนิษฐานว่า ซากโบราณสถานสมัยอู่ทอง
คงหักพังไปหมดแล้ว และมีการสร้างวัดขึ้นใหม่ได้แก่
อุโบสถหลังเก่าวัดบางพระ อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
ภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นสมัยอยุธยาตอนกลาง
ตัวอุโบสถมีประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ข้าง ด้านหลัง ๑ ข้าง ผนังด้านข้างหน้าต่างด้านละ
๓ ช่อง พื้นผนังอุโบสถค่อนข้างสูง และคับแคบ
วิหารวัดพระศรีมหาโพธิ์ อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี มีขนาดค่อนข้างเล็ก ฐานมีลักษณะแอ่นโค้งลงแบบตกท้องช้าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย ด้านหน้าประตูทางเข้าเพียงบานเดียว ตรงสันอกเสาแกะสลักลายไข่ปลา และลายแข้งสิงห์ ด้านหน้ามีหน้าต่างเพียง ๑ บาน ส่วนวิหารไม่มีหน้าต่างทั้ง ๒ ผนัง เพดานวางขื่อลอยแบบสมัยอยุธยา เพดานด้านบนตรงพระประธาน มีลวดลายเขียนด้วยสีรงค์ บนพื้นแดงงดงามมาก คล้ายกับวัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรี ตัวลายกนกเขียนคล้ายลายอ่อนอย่างจีน ส่วนลวดลายดาวเขียนอย่างไทย ลายเชิงและลายประจำยามก้ามปู เขียนได้สมบูรณ์
อุโบสถวัดละมุด อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
บนเพดานอุโบสถมีลวดลายดาวเพดาน แกะสลักประดับตกแต่งไว้อย่างงดงามมาก ประเภทลายดาวดอกจอก
โดยวางกระจายเต็มพื้นที่ ไม่มีรูปแบบ หรือแบบแผนอย่างสกุลช่างหลวงในสมัยอยุธยา
สันนิษฐานว่า เป็นช่างพื้นบ้าน นอกจากนี้ตอนบนสุดของฝาผนัง ได้ทำลายกรุยเชิงห้อยลงมา
ตอนปลายสุดเป็นกระจังรวน ตัวอุโบสถมีหลังคาเตี้ยคลุม ประตูทางเข้าด้านหน้า
๒ ช่อง ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง ผนังด้านหลังไม่มีช่องหน้าต่าง
อุโบสถแบบนี้เรียกว่า โบสถ์มหาอุด
ในสมัยอยุธยานิยมเอาพระเครื่องมาปลุกเสก เพราะมีความเชื่อในเรื่องความคงกระพัน
สามารถอุด หรือกันอาวุธหรืออาคมต่าง ๆ ได้ หน้าบันด้านนอกประดับตกแต่งด้วยชาม
และจาน อย่างความนิยมในสมัยอยุธยา
วิหารเก่าวัดห้วยพลู อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
ตัววิหารมีหลังคาเตี้ยคลุม เป็นเสานางเรียง ล้อมรอบด้านหน้ามีประตูทางเข้าหลายช่อง
ผนังด้านซ้ายมีหน้าต่างด้านละ ๔ ช่อง ส่วนผนังด้านหลังทึกเป็นแบบโบสถ์มหาอุด
หน้าบันด้านหน้ามีภาพเขียนสีค่อนข้างชำรุดเสียหายมาก มีรูปพรหม และเหล่าทวยเทพ
ผีมือช่างสกุลอยุธยา
วัดไทร อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
มีใบเสมาเก่าสมัยอยุธยา ทำด้วยหินทรายสีแดง อุโบสถมีประตูด้านหน้า ๒ ช่อง
ฝาผนังมีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง ด้านหลังมีหน้าต่างหลอกอยู่ในวงกลม เขียนลายมังกร
หน้าผนังด้านหลังก็คล้ายกัน แต่เป็นลายรูปสิงโตจีนอยู่ภายในวงกลมเช่นกัน ผนังด้านหน้ามีหลังคาคลุมลงมา
ด้านข้างประตูทางเข้าทั้งสองด้านเขียนรูปไก่ฟ้าแบบจีน ฐานอุโบสถแบบตกท้องช้าง
สันนิษฐานว่า เดิมเป็นอุโบสถแบบอยุธยา และมาซ่อมแซมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
วัดกลางบางแก้วอุโบสถ (หลังเก่า)
ศิลปะสมัยอยุธยาต่อมาถูกไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังมีมณฑปของวัดเป็นรูปจตุรมุขหลังคาทรงมงกุฎ
ช่องประตูรูปแหลมโค้งอย่างอิทธิพลยุโรปที่เข้ามาในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่า
สร้างในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์
วัดโคกพระเจดีย์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
มีเจดีย์สมัยอยุธยา สร้างทับซากโบราณสถานเก่าแก่
วัดท่าพูด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามพราน
สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมือปี พ.ศ.๒๒๘๑
นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุในสมัยเดียวกัน ปรากฏอยู่หลายอย่างได้แก่ ใบเสมาหินทรายแดง
(ปีกคู่) ตู้พระธรรม หีบใส่พระธรรม และฐานธรรมมาสน์ เป็นต้น
วัดสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามพราน
สร้างสมัยอยุธยา พระอุโบสถหลังเก่าก่ออิฐถือปูน มีฐานแอ่นโค้งศิลปะสมัยอยุธยา
สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
วัดพระปฐมเจดีย์ บูรณะขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อยู่ในอำเภอเมือง ฯ
วัดพระงาม บูรณะขึ้นใหม่ สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดพระประโทนเจดีย์ บูรณะขึ้นใหม่
สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดธรรมศาลา บูรณะขึ้นใหม่ สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดไร่ขิงและวัดดอนหวาย อยู่ในอำเภอสามพราน
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔
ประติมากรรม
ประติมากรรมสมัยทวารวดี ที่สำคัญได้แก่
พระพุทธรูปศิลาขาว
ประทับนั่งห้อยพระบาทในปางวิตรรกะ (แสดงธรรม) ขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณสามเท่า
มีอยู่ ๔ องค์ พบที่วัดพระเมรุ ในเขตอำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
อยู่ในสภาพดีหนึ่งองค์ อีกสามองค์อยู่ในสภาพชำรุด ต้องนำมาซ่อมแซมจนเรียบร้อย
แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑ องค์ ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ๑ องค์ นำมาประดิษฐานไว้ที่ลานชั้นลดด้านใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
๑ องค์ และประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์อีก ๑ องค์
นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้เก็บรักษารวบรวม
และจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ พิพิธภัณฑ์สถานวัดปฐมเจดีย์
และที่วัดกำแพงแสน
ประติมากรรมสมัยลพบุรี ส่วนใหญ่สร้างด้วยศิลาทรายสีแดง
สีขาว และสีเขียว ได้แก่
- พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะเขมรแบบนครวัด และแบบบายน จำนวน ๓
องค์
- พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ๒ องค์
- เศียรพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ๑ องค์
ทั้งหมดดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานวัดพระปฐมเจดีย์
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกที่วัดดินแก้ว ในเขตอำเภอนครชัยศรี เป็นพระพุทธรูปสมัยบายนของเขมร
ส่วนประติมากรรมขนาดเล็กได้ขุดพบพระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดงเรียกว่า พระร่วงนั่งวัดกรุกลาง
ที่วัดร้างในเขตอำเภอเมือง ฯ
ประติมากรรมสมัยเชียงแสน
ได้แก่พระพุทธรูปปางสมาธิ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องพระเจ้า ของพระที่นั่งพิมานปฐม
พระราชวังสนามจันทร์ และพระพุทธรูปปางมารวิชัยอีก ๓ องค์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
วัดทรงคะนอง และวัดกลางบางแก้ว
ประติมากรรมสมัยสุโขทัย ได้แก่
พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพบพระเศียร และพระหัตถ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ที่เมืองศรีสัชนาลัย และได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ช่างปั้นองค์พระขึ้น แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ซุ้มด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์
พระราชทานนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ
นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงามอีกองค์หนึ่งได้แก่ พระบูชาแบบที่เรียกว่า
สามขา ที่พิพิธภัณฑ์วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี
ประติมากรรมสมัยอู่ทอง (อโยธยา - สุพรรณภูมิ)
ได้แก่ พระพุทธรูปศิลาทรายแดง ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ที่วัดละมุด ในเขตอำเภอนครชัยศรี
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๔ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในโบสถ์ร้างมานาน นับว่าเป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดงขนาดใหญ่
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา และมีพุทธลักษณะงดงาม แปลกกว่าที่เคยพบมาก่อน มีพระพักตรมนมีเค้าเป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อย
ลักษณะที่สำคัญคือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง (ทรงเทริด) มีต้มหูและครองศอ
ลวดลายที่ปรากฏบนลายจำหลักศิลาทั้งสองตำแหน่ง เป็นลายแบบตระกูลเดียวกับลายที่พบบนในเสมาสมัยอู่ทองกับอโยธยา
สุพรรณภูมิอย่างชัดเจน แสดงว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยกับใบเสมาหินทรายที่ทางวัดนำมาจากวัดโบสถ์ร้าง
นอกจากนั้นวัดต่าง ๆ ยังได้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลาองค์อื่น ๆ ของวัดโบสถ์ ไปเป็นพระประธานในอุโบสถจนหมด
ปัจจุบันวัดโบสถ์ คงเหลือแต่เนินดินของอุโบสถเท่านั้น
นอกจากพระพุทธรูปศิลา ซึ่งพบตามวัดร้างในเขตอำเภอนครชัยศรี แล้วยังพบใบเสมาสมัยอู่ทองอีกหลายวัดได้แก่
วัดสิงห์ วัดโบสถ์ และวัดห้วยตะโก เป็นต้น
ที่อำเภอสามพราน ได้พบพระพุทธรูปยืนสร้างด้วยศิลาขนาดเกือบเท่าคนจริงอยู่
๒ องค์ พระพุทธรูปนั่งทรงเทริด และประดับเครื่องศิราภรณ์คล้ายที่วัดละมุดอีก
๒ องค์ อยู่ภายในวิหารวัดทรงคะนอง
ประติมากรรมสมัยอยุธยา แบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มคือ
กลุ่มพระพุทธรูป ได้แก่ พระพุทธรูปปางห้ามญาติทรงเครื่องเนื้อสำริด
ที่วัดกลางบางแก้ว และพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรทรงเครื่องใหญ่ของวัดตุ๊กตา
ส่วนพระพุทธรูปปางนาคปรกของวัดสรรเพชญ์ สร้างด้วยศิลาทรายสีแดง และพระพุทธรูปปางมารวิชัยอีก
๒ องค์ ทำด้วยดินเผา
สำหรับพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงามยิ่งที่เหลืออยู่ เป็นฝีมือสกุลช่างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ปัจจุบันพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้ง ๓ องค์ ดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์
กลุ่มใบเสมา ได้แก่ ใบเสมาสมัยอยุธยาตอนกลางทำด้วยหินชนวนของวัดกลางบางแก้ว และใบเสมาสมัยอยุธยาตอนกลาง และตอนปลาย ทำด้วยศิลาทรายแดงของวัดท่าพูด เป็นต้น
กลุ่มไม้จำหลัก ไม้จำหลักสร้างขึ้นเพื่อใช้ตกแต่งสิ่งต่าง
ๆ เช่น ธรรมมาสน์ และหน้าจั่วศาลา ท่าน้ำวัดกลางบางแก้ว ลวดลายดอกจอกตกแต่งภายในอุโบสถวัดละมุด
การตกแต่งที่หน้าบันอุโบสถหลังเก่าวัดสรรเพชญ
นอกจากนี้จำหลักตกแต่งบนพระยานมาศ (คานหาม) ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ได้ทรงถวายไว้ในอดีต เจ้าอาวาสวัดท่าพูดในสมัยกรุงธนบุรี อันเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง
- ปลาย
กลุ่มงานปูนปั้น ได้แก่ ลวดลายปูนปั้น
ประดับตกแต่ที่ฐานชุกชีภายในอุโบสถ หลังวัดกลางบางแก้ว ตัวลายปั้นด้วยปูนโขลกแบบโบราณ
ทาด้วยชาดสีแดง ประดับกระจกเกรี่ยบสีปีกแมลงทับ ตัวลายตรงขาสิงห์ หลังสิงห์
มีความโค้งมนดูสมรูป เส้นฐานแอ่นตกท้องช้างน้อย นอกจากนี้ยังมีลายปูนปั้นที่ฐานชุกชี
ภายในอุโบสถหลังเก่า ที่ซุ่มประตู และหน้าต่างวัดสรรเพชญ์อีกด้วย
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |