| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

สถาปัตยกรรมดีเด่น

            มัสยิดวาติลฮูเซน หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือมัสยิด ๒๐๐ ปี  ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลบูโละสาวอ อำเภอบาเจาะ เป็นมัสยิดที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ไม่ใช้ตะปู หรือสกรูเหล็กยึดไม้เลย แต่ใช้สลักไม้แทน ได้มีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง เริ่มแรกสร้างแต่เสา พื้นฝาขัดแตะ หลังคามุงด้วยใบลาน (ใบกรือแต) มีการเปลี่ยนแปลงหลังคาประมาณสิบครั้ง ต่อมาได้เปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา และเปลี่ยนฝาเป็นฝาปะกนหน้าต่าง และประตูทำด้วยไม้อย่างปัจจุบัน การก่อสร้างในครั้งนั้นไม่มีเลื่อย ไม่มีสิ่วแต่จะใช้เครื่องมือรูปร่างคล้ายขวาน (บือจือตา) ตัดไม้ ใช้ลิ่ม (ปันลีโยง) ผ่าไม้ ใช้ผึ่ง (บายี) รูปร่างคล้ายจอบ ถากไม้ให้เรียบ เสามีอยู่ ๒๖ ต้น เป็นเสาไม้ตะเคียนสี่เหลี่ยม หน้าสิบ (๑๐ x ๑๐)พื้นทำด้วยไม้ตะเคียน หนา  ๒ นิ้ว ฝาปะกบและหน้าต่างทำด้วยไม้ทั้งแผ่นแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ
            ตัวมัสยิดสร้างเป็นอาคารสองหลังติดกัน ขนาด ๑๔.๒๐ x ๖.๓๐ เมตร เฉพาะหลังคาอิหม่าม นั่งละหมาด (มิหรอบ) มีขนาด ๔.๖๐ x ๕.๖๐ เมตร รูปลักษณะของมัสยิดแห่งนี้แตกต่างจากมัสยิดทั่ว ๆ ไป ซึ่งมักสร้างแบบศิลปะอาหรับ ที่มีโดมอยู่บนหลังคา แต่ได้สร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมืองประยุกต์กับศิลปะแบบจีนและแบบมลายู ส่วนเด่นที่สุดแห่งนี้อยู่ที่หลังคา อาคารหลังแรกหลังคามีสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้นที่สามมีโดมเป็นเก๋งจีนอยู่บนหลังคา เป็นศิลปะแบบจีนแท้ เสาแกะสลักเป็นรูปดอกบัวบาน ในสมัยนั้นเก๋งจีนจะใช้เป็นหอป่าวประกาศเวลาละหมาด (หออะซาน)
            อาคารหลังที่สองมีหลังคาสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้นที่สองมีจั่วอยู่บนหลังคาชั้นแรก มีฐานบัวหงายรองรับจั่วหลังคาอีกชั้นหนึ่งมีรูปแบบทรงไทย แบบหลังคาโบสถ์ของวัดในพระพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไป รอบ ๆ ฐานบัวหงาย แกะสลักเป็นลายเครือเถา มุมมหลังคาด้านบนของอาคารทั้งสองหลังใช้ปูนปั้นเป็นลายกนก และลายเครือเถา
            ฝาและหน้าต่างใช้ไม้ทั้งแผ่น ที่ช่องลมฉลุเป็นลวดลายต่าง ๆ มีลายเครือเถาก้านเป็นรูปใบไม้ และดอกไม้ และลวดลายแบบจีน ส่วนคันทวยแกะสลักเป็นรูปดอกบัวทั้งหมด ดอกบัวแต่ละดอกจะไม่เหมือนกันเป็นดอกบัวตูมบ้างดอกบานบ้าง ส่วนภายในตัวอาคารมัสยิดเป็นห้องโถงโล่งใช้เป็นที่ละหมาด มุมด้านหนึ่งใช้เป็นที่วางแท่นที่อิหม่านกล่าวเทศนา (มิมบัง) ใกล้ ๆ กันจะมีบันไดขึ้นไปสู่หอป่าวประกาศ ใต้หอดังกล่าวจะมีตั่งรองรับตัวหอ เป็นตั่งลอยสลักเป็นรูปดอกบัวสี่ดอก
            ประตูมัสยิดทำด้วยไม้ทั้งแผ่นแกะสลักเป็นลายจีน บนประตูสลักเป็นภาษาอาหรับ และแปลเป็นภาษามลายู ตอนท้ายเขียนว่า ปี ร.ศ.๑๒๖๖ (พ.ศ.๒๓๘๘) ซึ่งเป็นปีที่สร้างมัสยิด นับได้ว่าเป็นความสามารถที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ของผู้ก่อสร้างที่สามารถประยุกต์ศิลปะ และลวดลายของศิลปะแบบไทยพื้นเมืองแบบจีนและแบบมลายู เข้าด้วยกันได้อย่างผสมกลมกลืนและสวยงาม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารด้านหน้าของมัสยิดอีกหลังหนึ่ง เป็นอาคารรูปทรงใหม่ อาคารที่ต่อเติมใหม่นี้ ได้ทำลายเอกลักษณ์ของเก่าลงไปอย่างมาก
            จวนเจ้าเมืองเก่า  เป็นจวนของพระยาภูผาภักดี เจ้าเมืองระแงะ ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางนาค ถนนสถิตรายา อำเภอเมือง ปัจจุบันทายาทเจ้าของจวนเดิมได้แบ่งให้ชาวบ้านเช่า
            มัสยิดยุมอียะห์ หรือมัสยิดรายอ  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ตั้งอยู่ใกล้สี่แยกหอนาฬิกา มีพื้นที่สองไร่เศษ มีรูปแบบที่เด่นคือ มีโดมมัสยิดที่แปลก ไม่เหมือนโดมมัสยิดอื่นในบริเวณใกล้เคียง
            มัสยิดแห่งนี้ ยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวไทยอิสลาม ในการประกอบศาสนกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสุสานของเจ้าเมืองเก่า (กูโบว์)
            มัสยิดกลางประจำจังหวัดนราธิวาส  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ สร้างขึ้นโดยอาศัยการประยุกต์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เข้ากับศิลปะนิยมดั้งเดิมได้อย่างกลมกลืน
ศิลปหัตถกรรมและงานช่าง
            ประติมากรรม  ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ สร้างในยุคสมัยต่าง ๆ เช่น หลวงพ่อศิลา หรือหลวงพ่อขาว มีอยู่ห้าองค์ด้วยกัน พระพุทธไสยาสน์ที่สำคัญ มีอยู่ ๔ องค์ด้วยกัน พระพุทธรูปวัดพระพุทธ หรือพ่อท่านพระพุทธ นอกจากนั้นยังมีรอยพระพุทธบาทอีกสี่แห่ง
            จิตรกรรม  ส่วนใหญ่พบอยู่ตามวัดวาอารามในพระพุทธศาสนาเป็นจิตรกรรมฝาผนัง ที่รู้จักกันดีคือ จิตรกรรมฝาผนังวัดชลธาราสิงเห ซึ่งเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ บางส่วนแสดงสภาพสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในอดีต ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย มีพื้นที่เขียนภาพทั้งหมด ๑๘๕ ตารางเมตร
            สถาปัตยกรรม  ส่วนใหญ่เป็นอาคารศาสนสถานในพระพุทธศาสนา เช่น ศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ นอกจากนั้นยังมีหอพระนารายณ์ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างพื้นเมืองของวัดชลธาราสิงเห โดยสร้างมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน มีมุขทรงไทยยื่นออกมาด้านหน้า หลังคามุงกระเบื้องสี่ชั้นซ้อนกัน คล้ายกับยอดมงกุฎ ส่วนยอดหลังคาทำเป็นปล้องไฉน ประดับด้วยบัวกลุ่มจนถึงปลียอด
            เครื่องจักสานและงานหัตถกรรม  ได้แก่ การตีเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากกระจูด ผลิตภัณฑ์จากปาหนัน ผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝก ผลิตภัณฑ์จากกลามะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เรือกอและ บาติก ส้มแขก การทอเส้นกระจูดบนเส้นด้าย (มูลี่) ฯลฯ
                - การตีเหล็กทำพร้า  มีการทำอยู่ในครัวเรือนเป็นจำนวนมาก เป็นการตีเหล็กเพื่อทำพร้า ซึ่งเป็นมีดมีคมด้านเดียวชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในภาคใต้ มีอยู่หลายแบบด้วยกัน คือ พร้ากราย  ใช้สำหรับถือหรือเหน็บเป็นอาวุธประจำตัวเพื่อความโอ่อ่า ปลายพร้าไม่งอ พร้าบ้อง ใช้สำหรับ ตัด สับ ฟัน เหลากิ่งไม้ ต้นไม้เล็ก ๆ หญ้า เถาวัลย์ และวัสดุที่ใช้งานบ้าน มีลักษณะเป็นมีดชนิดหนึ่ง มีใบ มีสัน และมีปลาย ส่วนปลายไม่เรียวแหลมอย่างมีดจึงเรียกว่า หัวพร้า ส่วนโคนจะตีเหล็กให้โค้งเป็นวงกลม มีรูสำหรับสอดด้ามเข้าได้พอดี เรียกส่วนนี้ว่า บ้อง มีอยู่สองชนิดคือ พร้าหัวงอ คือที่ตรงหัวจะมีจะงอยโค้งเป็นขอลงมา จะงอยนี้ใช้สำหรับเกี่ยวหญ้า เถาวัลย์ให้รวมกันก่อน ที่จะใช้คมพร้า หรือเครื่องมือมีคมอื่นตัดให้ขาด พร้าอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า พร้าลบงอ คือ หัวพร้าไม่มีจะงอยโค้งงอลงมา เพียงแต่สันพร้าโค้งลงมาเล็กน้อย จนถึงหัวที่บรรจบกันกับส่วนคมที่ที่เป็นแนวตรงมาจากด้าม มีลักษณะคล้ายมีดโต้ พร้าโอ ตัวพร้ายาวใหญ่ หัวพร้าไม่งอ ตัวพร้ายาว ๑๖ - ๑๘ นิ้ว กว้าง ๓.๐ - ๓.๕ นิ้ว ส่วนที่เป็นคมยาวประมาณ ๑๐ นิ้ว เมื่อรวมด้ามพร้าจะมีความยาวประมาณ ๓๕ - ๔๐ นิ้ว

                - ผลิตภัณฑ์จากกระจูด  ได้แก่ เสื่อ กระบุง กรกะเป๋า ซองใส่เอกสาร มู่ลี่ ตูมู ฯลฯ
                - ผลิตภัณฑ์จากปาหนัน   ได้แก่ เสื่อ กระเป๋าถือ ตูมู จะมีราคาถูกกว่าที่ผลิตด้วยกระจูด
                - ผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝก  ได้แก่ กระเป๋า และเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำนองเดียวกับ กระจูด และปาหนัน
                - ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่    ได้แก่  กระบุง ตะกร้า ฝาชี ฯลฯ
                - เรือกอและ  มีสองขนาดคื เรือกอและจำลองลำเล็ก กับเรือกอและจำลองใหญ่
                - บาติก  ผลิตภัณฑ์เป็นผ้าเช็ดหน้า ผ้าชุดตัดเสื้อกางเกง ฯลฯ
ภาษาและวรรณกรรม
    ภาษา
            จังหวัดนราธิวาสมีประชากรที่มาจากหลายจังหวัดอาศัยอยู่ ภาษาที่ใช้จึงมีหลายภาษาพอประมวลได้ดังนี้
            กลุ่มคนที่พูดภาษาไทยกลาง  ส่วนใหญ่จะพูดอยู่ในแวดวงราชการ และประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนา
            กลุ่มคนที่พูดภาษาถิ่นไทยใต้  เป็นภาษาที่คนไทยส่วนใหญ่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนสุดชายแดนไทยทางใต้ รวม ๑๔ จังหวัด แยกออกได้เป็นสองถิ่นคือ
                - ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก  เป็นภาษาที่ใช้พูดทางชายฝั่งทะเลตะวันออกบริเวณจังหวัด ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส
                - ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันตก  เป็นภาษาที่ใช้พูดกันบริเวณจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎรธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต
            กลุ่มคนที่พูดภาษาถิ่นตากใบ  หรือภาษา เจ๊ะเห  เป็นอีกกลุ่มภาษาหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่ใช้พูดกันในหมู่คน ที่อยู่บริเวณอำเภอตากใบ มีระบบเสียง และระบบคำที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คือมีหน่วยเสียงพยัญชนะ ๒๒ เสียง มีหน่วยเสียงสระเดี่ยว ๑๘ เสียง หน่วยเสียงสระประสม ๓ เสียง และหน่วยเสียงวรรณยุกต์ ๖ เสียง เนื่องมาจากถิ่นตากใบอยู่ใกล้ชิดกับภาษามลายูถิ่น และภาษาไทยใต้ จึงมีคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาทั้งสองพอสมควร ภาษาตากใบเป็นภาษาหลายพยางค์ ส่วนภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาพยางค์เดียว
            ภาษาถิ่นตากใบ  เป็นภาษาที่มีท่วงทำนองไพเราะ นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างเหมือนภาษาไทยถิ่นโดยทั่วไป มีนักภาษาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาษาถิ่นใต้ตากใบน่าจะพัฒนามาจากภาษาไทยที่ใช้ในจังหวัดสุโขทัยในอดีต
           กลุ่มคนที่พูดภาษามลายูท้องถิ่น  ภาษามลายูท้องถิ่นหมายถึงภาษามลายูสำเนียงหนึ่งที่พูกันในแต่ละท้องถิ่น เป็นภาษาย่อยของภาษามลายูมาตรฐานซึ่งเป็นภาษาราชการและภาษาแห่งชาติของประเทศมาเลเซีย อินโดนิเซีย และบรูไน ในปัจจุบัน กล่าวคือภาษาแห่งชาติประเทศมาเลเซียเรียกว่า บาฮาลา มาเลเซีย ภาษาแห่งชาติของประเทศอินโดนิเซียเรียกว่า บาฮาลา อินโดนิเซีย และภาษาแห่งชาติของบรูไนเรียกว่า บาฮาลา บรูไน
           ภาษามลายูท้องถิ่นภาคใต้ของไทย  หมายถึง ภาษามลายูที่พูดกันในท้องถิ่นต่าง ๆ ในบริเวณจังหวัดทางภาคใต้ของไทย โดยจะพูดกันากในพื้นที่บริเวณสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสตูล กับบางอำเภอของจังหวัดสงขลา แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มคือ
                - ภาษามลายูท้องถิ่นสตูล  ปัจจุบันมีคนใช้ไม่มากนัก เพราะชาวสตูลในปัจจุบันนิยมใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันมากกว่าในอดีต มีอยู่เพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่ยังใช้อยู่ เช่น บ้านเจ๊ะบิลัง บ้านควน บ้านฉลุง บ้านกุปังจะมัง และบ้านกุปังปะโหลด
                - ภาษามลายท้องถิ่นปัตตานี  เป็นภาษามลายูที่ใช้พูดกันในพื้นที่บริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยคือจังหวัด
ปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส และรวมไปถึงอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา  มีลักษณะคล้ายภาษามลายูท้องถิ่นกลันตัน ส่วนสำเนียงจะมีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้น ๆ  ผู้คนในบริเวณนี้มักมีการโยกย้าย
ไปมาหาสู่กันเสมอ มีความสัมพันธ์กันด้วยวิธีการแต่งงาน และยังมีการประกอบอาชีพร่วมกันด้วย
           ตำนาน  ในจังหวัดนราธิวาสมีตำนานอยู่มากมาย ซึ่งเป็นที่มาของวัตถุและสถานที่สำคัญของแต่ละท้องถิ่น เช่น
                - ตำนานตำบลเจ๊ะเห  อำเภอตากใบ  เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีเศษมาแล้ว ในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้มีพ่อค้าจีนคนหนึ่งล่องเรือสำเภามาจากประเทศจีน เพื่อไปขายสินค้าในแหลมมลายู ได้บรรทุกสินค้าที่เป็นเครื่องปั้นดินเผามาเต็มลำเรือ เช่น เครื่องลายคราม ชามเบญจรงค์ โอ่ง ไหลายมังกร เป็นต้น  วันหนึ่ง ขณะที่เรือสำเภาแล่นอยู่กลางทะเลใกล้ปากอ่าวทางตอนใต้ของไทย ได้เกิดพายุคลื่นลมแรงจัดมากจนเรือสำเภาอับปางลงในทะเล พ่อค้าจีนและลูกเรือสามารถช่วยตัวเอง ไปขึ้นฝั่งบนเกาะแห่งหนึ่งได้ทุกคน เมื่อคลื่นลมสงบก็ได้พากันไปกู้เรือและนำสินค้าขึ้นฝั่งได้สำเร็จ จึงเอาใบเรือ เสื้อผ้า ไปตากตามกิ่งไม้และต้นไม้
        มีแขกมลายูคนหนึ่งมีอาชีพตัดไม้ไปขาย ได้มาตัดไม้ใกล้บริเวณที่พ่อค้าจีนตากใบเรือและเสื้อผ้าไว้ จึงคิดจะลักของเหล่านั้น จึงไปตัดต้นไม้ที่มีเสื้อผ้าตากอยู่ แต่พ่อค้าจีนและลูกเรือกลับมาเห็นเสียก่อนจึงร้องว่า เจ๊ะ..เฮ้ ๆ ๆ เอาเสื้อผ้าคืนมา แขกมลายูตกใจได้กล่าวขอโทษและรับปากว่าจะไม่ทำเช่นนี้อีก พ่อค้าจีนและลูกเรือจึงยกโทษให้
           วรรณกรรมพื้นบ้าน  มีทั้งวรรณกรรมประเภทมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์
                - วรรณกรรมพื้นบ้านปันตุน  ปันตุนหรือปาตง เป็นคำประพันธ์เก่าแก่ประเภทหนึ่งของชาวมลายูและชาวไทยอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง และไม่ทราบว่าแต่งขึ้นในสมัยใด แต่เป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมกันมาก ปันตุนมีความหมายที่เต็มไปด้วยความเปรียบเทียบ สุภาษิต คำพังเพย สำนวนโวหาร และแม้แต่คาถาอาคมก็ใช้แบบปันตุนอยู่ไม่น้อย ปันตุนแบ่งออกเป็นห้าชนิดด้วยกันตามตัวอย่างดังนี้
                ปันตุนสองวรรค เช่น หนึ่ง สอง สาม สี่  ขยันเรียนได้วิชาเร็ว
                ปันตุนสี่วรรค เช่น ถ้ามีเข็มหัก อย่าเก็บไว้ในหีบ ถ้ามีผิดพลาด อย่าเก็บไว้ในใจ
                ปันตุนหกวรรค เช่น หวังอะไรข้างที่ฝั่งตรงข้าม อาจหล่นหรือไม่หล่น อาจถูกกินโดยนกกระจาบร่อน หวังอะไรคนรักของคนอื่น อาจหย่ากันหรือไม่หย่า อาจเพิ่มรักยิ่งขึ้น
                ปันตุนแปดวรรค เช่น ถ้าแหวนตกลงบนหญ้า ตกบนหญ้าเลยหาย ตั้งใจจะขอหมั้น แต่เงินยังไม่มี ไม่คลาดจากตา กลางวันคิดถึง กลางคืนฝันถึง
                ปันตุนต่อเนื่อง ประกอบด้วยบทปันตุนสองบทเป็นอย่างน้อย แต่ละบทจะมีการสัมผัสกันเหมือนกับปันตุนสี่วรรค
                ปันตุนสามารถแบ่งประเภทเนื้อหาออกได้เป็นสามประเภทด้วยกันคือปันตุนเด็ก ปันตุนคนหนุ่ม และปันตุนคนแก่

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |