| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์และดนตรี
            การละเล่นของเด็ก  สามารถเล่นได้ทั้งกลางแจ้งและในที่ร่ม อันก่อให้เกิดนันทนาการและทักษะ มีอยู่มากมายทั้งที่รับมาจากท้องถิ่นอื่น และที่เป็นของพื้นบ้านตนเอง เช่น ขบลูกยาง ขบจิ้งหรีด แฆและปูรง (กาและ)  โจรลักวัว ฉับโผง ช้างชิงเมือง ตี่จับ เต้นเชือก เตย ไถนา ปัตตีโรส ผีเข้าขวด ม้าถีบ ไม้อี้ เรือบิน ลากเตาะ ลูกข่าง วิ่งเปี้ยว หมากขุม อีติ้งฟัดราว ฯลฯ
            การละเล่นของผู้ใหญ่  มีทั้งมหรสพ ดนตรี การแสดงพื้นบ้านและกีฬาต่าง ๆ  ไม่สามารถบ่งได้ว่าสิ่งใดเป็นเอกลักษณ์ของ
จังหวัดด้านการละเล่น การละเล่นของผู้ใหญ่พอประมวลได้คือ
                - ลิเกฮูลู  เป็นการเล่นประเภทกลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ บางท่านกล่าวว่าลิเกฮูลู เอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไปด้วย บางท่านเล่าว่าสมัยพระยาปกครองเจ็ดหัวเมือง ถ้ามีงานพิธีต่าง ๆ เช่น เข้าสุหนัด มาแกบูโละพระยาเมืองต่าง ๆ มาร่วมพิธีและชมการแสดง เช่น มะโย่ง โนรา และละไป (คือลิเกฮูลูในปัจจุบัน)  การแสดงฮูลูนั้นคือ การร้องเพลงลำตัดภาษาอาหรับ แต่คนฟังไม่เข้าใจจึงนำเอาเนื้อเพลงภาษาพื้นเมืองร้องให้เข้ากับจังหวะรำมะนา กลายเป็นลิเกฮูลู
            วิธีการเล่นคล้ายลำตัดของภาคกลาง โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายจะร้องเป็นคำกลอนโต้ตอบกันเป็นที่
สนุกสนาน เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่กลองใหญ่ กลองเล็ก ฆ้อง ฉิ่ง ลูกแซ็ก และปรบมือ ผู้เล่นประมาณ ๑๐ - ๑๕ คน มีนักว่ากลอนสดหนึ่งคน มักเล่นเวลากลางคืนไปงานแต่งงาน งานประจำปีและงานรื่นเริงต่าง ๆ
                - มะโย่ง หรือหมาโย่ง มีลีลาการเล่นคล้ายคลึงกับโนรามาก แสดงเพื่อความบันเทิงและเพื่อแก้บนหรือสะเดาะเคราะห์
            มะโย่งคงจะได้รับการถ่ายทอด วิธีการเล่นมาจากแหล่งเดียวกันกับละครรำของไทย ตามพจนานุกรมมลายูได้ให้ความหมายไว้ว่า "มะโย่งเป็นมหรสพแบบละคร นิยมแสดงอยู่ทางภาคเหนือของมลายู (กลันตัน และปัตตานี)  ตัวแสดงมีพระเอกชื่อ ปะโย่ง ตัวตลกเรียกว่า พราน นางเอกเรียก มะโย่ง พี่เลี้ยงและสาวใช้เรียก เมาะอีนัง และแหมะสนิ บางเตาะขาวเป็นผู้นำาการเล่นชนิดนี้เข้ามาสู่ภาคเหนือของมลายู" พจนานุกรมอินโดนิเซียให้ความหมายว่า "มะโย่งเป็นละครเก่าแก่ชนิดหนึ่ง ที่มีเล่นในรัฐมะละกาโย (โบราณ)  ผู้ชายเป็นตัวพระเรียกว่า ปะโย่ง ตัวตลกเรียกว่า พราน ผู้หญิงเป็นตัวนาง และพี่เลี้ยงเรียกมะโย่ง และเมาะอีนังมายัง
            มะโย่งเข้าไปเล่นอยู่ในกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชอบเรื่องอิเหนาใหญ่
                - กรือโต๊ะ  นิยมเล่นกันมากในแถบอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโก - ลก  เป็นการเล่นที่มีมาแต่สมัยโบราณ เดิมนิยมเล่นในหมู่เด็กเลี้ยงวัวควาย แล้วขยายความนิยมมาเล่นในหมู่ผู้ใหญ่ด้วย ได้พัฒนาการเล่นอย่างมีระบบ มีกตืกาการเล่น มีกรรมการตัดสินในการแข่งขัน และมีรางวัลสำหรับผู้ชนะ
            กรือโต๊ะ  คณะหนึ่ง ๆ จะมีผู้เล่นอย่างน้อยเจ็ดคน คือหัวหน้าคณะ เป็นคนตีกรือโต๊ะ ลูกเอก เป็นผู้ตีบอกการเริ่มต้นและหยุด มีมือสองและมือสามอีกสองคน จะเป็นผู้ตีให้จังหวะเร็ว รัว หรือช้า และอีกสี่คนจะเป็นผู้ตีให้เข้ากับจังหวะที่มือสอง และมือสามตีบอกสัญญาณ
            กรือโต๊ะนิยมเล่นกันมากในฤดูเก็บเกี่ยวงานฉลองในเทศกาล และในวันสำคัญอื่น ๆ  .....
                - สิละ หรือซีละ  เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่งของไทยอิสลาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าดีกา หรือปือดีกา เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวอย่างสง่างาม
            ความหมายเดิมของสิละหมายถึงการต่อสู้ด้วยน้ำใจนักกีฬา ผู้เรียนวิชานี้ต้องมีศิลปะ มีวินัย ที่จะนำไปใช้ในการป้องกันตัว ไม่ใช่ไปทำร้ายผู้อื่น
            การแต่งกายมุ่งที่ความสวยงามเป็นสำคัญ เช่นมีผ้าโพกศีรษะ สาวเสื้อคอกลมหรือคอตั้ง นุ่งกางเกงขายาว มีผ้าโสร่งเรียกผ้าซอเกด ลายสดสวยสวมทับ มีผ้าลือปักคาดเอว เหหน็บกริชแบบนักสู้ไทยอิสลาม
            เครื่องดนตรีประกอบด้วยกลองยาวหนึ่งใบ กลองเล็กหนึ่งใบ ฆ้องหนึ่งคู่ ปี่ยาวหนึ่งเลา เมื่อนักสีละขึ้นบนสังเวียนแล้ว ดนตรีประโคมเรียกความสนใจคนดู โดยเฉพาะเสียงปี่ คล้ายมวยไทย
            ก่อนนักสิละจะลงมือต่อสู้กัน  ทั้งคู่จะทำความเคารพซึ่งกันและกันเรียกว่า สาลาบัด คือต่างสัมผัสมือแล้วมาแตะหน้าผาก จากนั้นจึงเริ่มวาดลวดลายร่ายรำตามศิลปะสิละ บางครั้งต่างกกระทืบเท้าให้เกิดเสียงหรือเอาฝ่าเท้าตีต้นขาตัวเอง เพื่อให้เกิดเสียงข่มขวัญคู่ต่อสู้ เมื่อร่ายรำไปมาเป็นการลองเชิงแล้วต่างหาทางพิชิตคู่ต่อสู้ คือหาจังหวะใช้มือฟาด หรือใช้เท้าดันร่างกายคู่ต่อสู้ จังหวะการประชิดตัวนั้น ดนตรีก็โหมจังหวะกระชั้น ทำให้คนดูระทึกใจ ถ้าฝ่ายใดทำให้คู่ต่อสู้ล้มลง หรืออาศัยการตัดสินจากผู้ดูรอบสนามว่าเป็นเสียงปรบมือให้ฝ่ายใดดังกว่า ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ
            กติกาที่ต้องละเว้นคือ ห้ามใช้นิ้วแทงเข้าตาคู่ต่อสู้ ห้ามบีบคอ ห้ามใช้ศอกและเข่าแบบมวยไทย
            สิละแบ่งออกเป็นสามประเภทด้วยกันคือ
            สิละยาโต๊ะ  เมื่อฝ่ายหนึ่งรุกอีกฝ่ายต้องรับ ถ้ารับไม่ได้ก็จะตกไป ส่วนมากใช้ในการแข่งขันประชันฝีมือ
            สิละตอรี  (รำ)  แข่งขันกันด้วยจังหวะลีลา ส่วนมากใช้แสดงเฉพาะหน้าเจ้าเมืองหรือเจ้านายชั้นสูง
            สิละกายอ (กริช)  ใช้กริชประกอบการร่ายรำ ไม่ใช่การต่อสู้จริง ๆ ส่วนมากใช้แสดงกลางคืน
                - บานอ  เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลองชนิดหนึ่งที่ใช้ตีให้จังหวะ นิยมใช้ตีแข่งขันกัน บานอมีลักษณะคล้ายรำมะนา แต่ส่วนที่เป็นลำตัว มีลักษณะยาวเรียวไปทางด้านหลังมากกว่ารำมะนา ด้านหน้าหุ้มหนัง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ ฟุต ด้านหลังมีขอบทำด้วยหวายเส้นโต เพื่อใช้ตรึงกับเชือก หรือหวาย ซึ่งโซ่ตรึงหุ้มหนังมีลิ่มใหญ่และยาว ๑๓ อัน ตอกเพื่อทำให้หนังที่หุ้มตึง มีลิ่มเล็ก ๆ ตอกตรึงลิ่มใหญ่ไว้ด้วย ลิ่มใหญ่และยาวนี้ใช้เป็นขาตั้งในการตีด้วย เมื่อจะตีต้องวางให้ขนานกับพื้นใช้ไม้พันปลายด้วยเชือกหรือยางให้เป็นปมเหมือนไม้ตีฆ้อง ด้ามที่ใช้จับเชือกทำเป็นบ่วง เพื่อคล้องกับมือไม่ให้หลุดจากมือในขณะที่ใช้ตี
           บานอจะต้องทำด้วยไม้เนื้อแข็งซึ่งมีน้ำหนักมาก แล้วใช้หนังควายซึ่งพอกและตกแต่งให้เหมาะสมหุ้ม ทาสีให้สวยงามด้วยสีที่ฉูดฉาด เขียนลวดลายเป็นรูปดอกไม้ตามแต่จะดูสวยงาม เนื่องจากบานอมีน้ำหนักมาก จึงต้องใช้ห่วงเหล็กติดที่ด้ามบน เพื่อใช้สำหรับสอดไม้ในการหามเมื่อเคลื่อนย้าย
            การแข่งขันจัดเป็นทีมคือจัดลองทีม ๆ ละหกใบ ใช้คนตีทีมละสิบสองคน กลองใบหนึ่งมีผู้ตีสองคนสับเปลี่ยนกันดี จังหวะการตีมีสองแบบ แบบแรกเป็นการตีต่อเนื่องมีหกจังหวะ ผู้ตีจะต้องตีไปตามจังหวะที่หนึ่งสอง และสามจนถึงจังหวะที่หกตามลำดับ กรรมการจะฟังเสียงของแต่ละทีม โดยสังเกตจากความพร้อมเพรียง จังหวะเสียงกังวาน เมื่อตีถึงจังหวะที่หกยังไม่สามารถตัดสินแพ้ชนะได้ ก็จะตัดสินในแบบที่สองต่อไป แบบที่สองเป็นการตีแบบประสานเสียงหรือเรียกว่า ซีมง คณะกรรมการจะฟังเสียงจากการตีประสานเสียง จากการตีประสานเสียงที่ตีได้ไพเราะ มีจังหวะสอดรับกันและกังวานกว่าทีมนั้นเป็นฝ่ายชนะ
           นาฎศิลป์ เป็นศิลปะแห่งละครหรือการฟ้อนรำที่เป็นแบบแผนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จังวัดนราธิวาสมีนาฎศิลป์อยู่ในท้องถิ่นคือ มโนราห์ รองเง็ง และซัมเปง ใช้แสดงในงานต่าง ๆ เพื่อความรื่นเริงในท้องถิ่น เครื่องดนตรีส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีตะวันตก เช่น ไวโอลิน ไม่มีเครื่องดนตรีของท้องถิ่นหมือนจังหวัดอื่น ๆ
                - มโนราห์  เป็นการละเล่นพื้นเมืองสืบทอดกันมานาน และนิยมอย่างแพร่หลายในภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่องบทละคร แฝงด้วยคติความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ
            จำนวนผู้เล่นแบ่งออกเป็นผู้ร่ยรำและขับบทกลอนมีประมาณ ๘-๙ คน ผู้ร่วมเล่นคือคณะผู้ทำหน้าที่บรรเลงดนตรีประเภทต่าง ๆ อีกประมาณ ๕ - ๗ คน
            อุปกรณ์การเล่นประกอบด้วยเครื่องดนตรีมีกลอง ทับ ปี่ โหม่ง ฉาบ ฉิ่ง และกรับ แต่ปัจจุบันมักเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ประกอบในการร้องเพลงด้วย
            ในแต่ละเรื่องของบทละครใช้เวลาเล่นประมาณ ๒ - ๓ ชั่งโมง จึงจะจบเรื่อง
                - รองเง็ง  ศิลปะการเต้นรองเง็ง น่าจะได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตก อาจเป็นสเปนหรือโปรตุเกสเพราะการเต้นรองเง็งใช้ลีลาเท้าเป็นหลัก ซึ่งเป็นลักษณะของชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเซีย ศิลปะการเต้นรองเง็งเดิมนิยมเต้นกันเฉพาะในวัง ต่อมาได้แพร่หลายออกไป โดยการแสดง มะโย่ง จะมีการพักครั้งละ ๑๐ - ๑๕ นาที ในระหว่างพักจะมีการเต้นรองเง็งสลับฉาก โดยดนตรีจะบรรเลงเพลงรองเง็ง ฝ่ายหญิงที่แสดงมะโย่ง จะออกมาเต้นและร้องเพลงเชิญชวนผู้ดูเข้าร่วมเต้นด้วย และต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เธอ
            รองเง็ง ประกอบด้วยผู้เต้นรองเง็ง การแต่งกายเครื่องดนตรี เพลง และเนื้อเพลงรองเง็ง โน๊ตดนตรี ท่าเต้น นิยมจัดเป็นการแสดงหมู่ ประกอบด้วยผู้เต้นชาย - หญิง เป็นคู่กัน นิยมเต้นกันไม่น้อยกว่าห้าคู่ เข้าแถวแยกกันเป็นแถวตอน ชายหนึ่งแถวหญิงหนึ่งแถว ยืนห่างกันพอสมควร เพื่อความงดงามของการแสดงหมู่ ผู้แสดงมีความสูงไล่เลี่ยกัน ผ่ายชายควรสูงกว่าฝ่ายหญิงเล็กน้อย
            การแต่งกาย ฝ่ายชายจะแต่งกายแบบพื้นเมืองคือ นุ่งกางเกงขายาวแบบจีน (ซลูวาแอแบ) สวมเสื้อคอกลม แขนยาวผ่าครึ่งอก (คือโละบลางอ) สีเพียวกับกางเกงและนุ่งผ้าทับข้างนอก (ซลี - แน)  ยาวเหนือเข่าเล็กน้อย สวมหมวกแขกสีดำ (ซอเกาะ) หรือหมวกที่ใช้ผ้าพับเป็นหมวก (สตาแง อิซิห์) ส่วนหญิงมักจะแต่งเป็นชุดทั้งโสร่ง และเสื้อเป็นสีเดียวกัน มักจะเป็นสีสด เช่น แดง เขียว แบบเสื้ออาจเป็นแบบบานงลือแปะ หรือบานงแมแดก็ได้ เป็นเสื้อเข้ารูปคอวี แขนยาวผ่าอกตลอด ยาวถึงสะโพก นุ่งผ้ากรอมเท้า มีผ้าคลุมไหล่ปักดิ้นหรือลูกไม้ ทรงผมนิยมเกล้ามวยที่ท้ายทอย แล้วใช้ดอกไม้เสียบประดับมวยผม
            เครื่องดนตรีใช้รำมะนาและฆ้อง อาจใช้ไดโอลิน แมนโดลินในปัจจุบัน

                - ซัมเปง  เป็นนาฎศิลป์ที่มีลีลาการเต้นคล้ายรองเง็ง ในระยะแรกน่าจะเกิดขึ้นในราชสำนักของสุลต่าน หรือบ้านขุนนางก่อน ต่อมาค่อย ๆ แพร่หลายไปสู่ชาวบ้าน
            เครื่องดนตรีที่ใช้มีอยู่สามชนิดคือ รำมะนาขนาดเล็ก (มอรูวัส)  คาบุสคล้ายซอสมสายแต่ยาวกว่า และฆ้อง
            ในการเต้นซัมเปงนิยมแต่งกายแบบผู้ดีพื้นเมือง คือชายจะสวมหมวกซอเก๊าะสีดำ (หมวกแขก)  หรือโพกผ้าตามแบบพื้นเมือง สวมเสื้อคอกลมแขนยาวสีเดียวกับกางเกงแบบคล้ายกางเกงจีน แล้วใช้ผ้าโสร่งเนื้อดีแคบ ๆ ยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกงอีกชั้นหนึ่ง ส่วนผู้หญิงจะทำผมมีเครื่องประดับผม ตกแต่งหน้าสวยงาม สวมเสื้อแขนกระบอกเรียกว่า เสื้อบันดง นุ่งผ้าปาเต๊ะยาวกรอมเท้า และยังมีผ้าคลุมไหล่บาง ๆ สีตัดกับสีเสื้อ
            การเต้นซำแปง  ผู้แสดงจะเป็นใครและใช้สถานที่ใดก็ได้ เว้นแต่ศาสนสถานและในบ้านของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทางศาสนา เช่น ดะโต๊ะยุติธรรม โต๊ะอิหม่าม เป็นต้น เพราะตาามวัฒนธรรมของชาวไทยอิสลามถือว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งเช่นนี้ ไม่ควรสดงความรื่นเริงอย่างออกหน้าออกตา และไม่ควรเป็นเจ้าภาพเกี่ยวกับงานรื่นเริง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |