| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถานและศาสนวัตถุ

            วัดศรีโดมคำ  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับกว๊านพะเยา เริ่มสร้างพระประธานคือ พระเจ้าตนหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔ สมัยพระยายี่เมืองครองเมืองพะเยา สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๗  ในเวลาต่อมา ล้านนาได้ถูกพม่ารุกราน ต้องอพยพหนีภัยทิ้งเมืองพะเยาเป็นเมืองร้างประมาณ ๕๖ ปี
            ในปี พ.ศ.๒๓๘๗ พระยาประเทศอุดรทิศได้ครองเมืองพะเยา และต่อมาเจ้าน้อยมหายศได้เป็นเจ้าเมืองพะเยา จึงมีการบูรณะองค์พระประธาน เริ่มก่อสร้างวิหารและเสนาสนะ ต่อมาวิหารหลังเดิมทรุดโทรม ผู้ปกครองพะเยาได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัย มาเป็นประธานการบูรณะ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้รื้อวิหารเดิมลง แล้วสร้างขึ้นใหม่
            ต่อมาวัดศรีโดมคำได้รับพระราชทานยกฐานะเป็นอารามหลวงชั้นตรี (ประเภทสามัญ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ และได้มีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น  เมื่อสร้างเสร็จ ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙

                พระเจ้าตนหลวง  เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา หรือในภาคเหนือ หน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร สูง ๑๘.๕๐ เมตร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาแต่สมัยโบราณ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔  ใช้เวลาสร้างนานถึง ๓๓ ปี เป็นพระพุทธรูปที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวพะเยา และประชาชนทั่วไป
                พระพุทธบาทจำลอง  ทำจากหินฐานกว้าง ๙๙ เซนติเมตร ยาว ๑๙๗ เซนติเมตร ส่วนที่เป็นรอยพระพุทธบาท กว้าง ๕๗ เซนติเมตร ยาว ๑๒๙ เซนติเมตร มีลักษณะลวดลายต่าง ๆ เช่น  มหาปุริสลักษณะและอนุพยัญชนะ โดยครบถ้วน สลักเป็นลวดลายสวยงาม จัดเป็นปูชนียวัตถุและโบราณวัตถุมาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในวิหาร รอยพระพุทธบาทนี้พบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ จากการรื้อฐานเจดีย์วัดสวยจันทร์ใน เป็นรอยพระพุทธบาทคู่ ลักษณะพระพุทธบาทคือ เอาปลายนิ้วพระบาทขึ้นข้างบน ส้นพระบาทลงล่าง รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายอยู่ทิศใต้ รอยพระพุทธบาทเบื้องขวาอยู่ทิศเหนือ ตั้งห่างกันประมาณสองศอก
                ข้าหลวงประจำจังหวัดพะเยา ได้มอบรอยพระพุทธบาททั้งสองรอยนี้ให้เจ้าคณะเมือง (จังหวัด) วัดหัวข่วงแก้ว โดยสร้างวิหารหลวงคลุมไว้ ต่อมาวิหารหลวงชำรุดหักพังไป ครูบาศรีวิชัยได้มาสร้างวิหารใหญ่สำหรับพระเจ้าตนหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ต่อมาครูบาศรีวิชัยก็ได้อัญเชิญรอยพระพุทธบาท มาไว้ที่วัดศรีโคมคำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ โดยสร้างเป็นวิหารครอบรอยพระพุทธบาท เรียกว่า วิหารพระพุทธบาท

           วัดป่าแดงบุนนาค  ตั้งอยู่ในตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของเมืองพะเยา พบศิลาจารึกสองหลักในบริเวณวัด จารึกหลักที่ ๑ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๒ เรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดพญาร่วง จารึกหลักที่ ๒ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๘ กล่าวถึงพระเป็นเจ้าอยู่หัว (พระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์เชียงใหม่) มีราชโองการให้เจ้าเมืองพะเยา สร้างมหามณฑปขึ้นในเมืองพะเยา
            จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับลักษณะแบบแผนขององค์เจดีย์แบบสุโขทัย ทำให้พิจารณาได้ว่าวัดนี้ น่าจะสร้างในสมัยพระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองพิษณุโลก เมื่อครั้งที่ท่านอพยพมาอยู่ที่ล้านนา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะเยา เมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑
            ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ
                    - พระเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบสุโขทัย
                    - พระเจดีย์ทรงล้านนา  ที่มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
                    - เนินซากโบราณสถาน  จำนวน ๒๕ แห่ง
                    - ซากแนวกำแพงโบราณสี่แนว

           วัดพระธาตุจอมทอง  ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ อยู่บริเวณกลางเมืองโบราณ เวียงจอมทอง ตามตำนานกล่าวว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงเมืองพะเยา ประทับอยู่ ณ จอมดอย ลูกหนึ่ง ตั้งอยู่ข้างฝั่งหนองเอี้ยงไปทางทิศเหนือ ณ ที่นั้นมีบ้านช่างทองอยู่หลังหนึ่ง ช่างทองได้นำภัตตาหารมาถวายแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทรงเล็งเห็นว่า สถานที่นี้สมควรที่จะตั้งพระพุทธศาสนา จึงประทานพระเกศาธาตุองค์หนึ่ง สำหรับนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำใต้จอมดอย ลึกลงไป ๗๐ วา ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า ดอยจอมทอง
            พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมหนึ่งชั้น ต่อด้วยฐานเขียงย่อมุมสามชั้น ต่อจากนั้นเป็นฐานปัทม์ย่อมุม ต่อด้วยฐานทรงกลมสามชั้น จากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถาทรงกลมสามชั้นรองรับองค์ระฆัง ส่วนบัลลังก์มีย่อมุม ส่วนปล้องไฉนมีปูนปั้นบัวสองชั้นประดับอยู่ที่ฐานและยอดของปล้องไฉน จากนั้นขึ้นไปเป็นปลียอดและฉัตร เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ถือเป็นปูชนียสถานและโบราณสถานที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองพะเยามาแต่โบราณ

           วัดราชคฤห์  ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ มีพระเจดีย์เก่าแก่ของเมืองพะเยา ที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากเจดีย์ล้านนาในจังหวัดพะเยา โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะเชียงแสนตอนต้น
            องค์พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ในชั้นนี้มีเจดีย์รายตั้งอยู่ตรงมุมฐานมุมละองค์ รวมสี่องค์ ต่อด้วยฐานปัทม์ย่อเกล็ดแปดเหลี่ยม มีย่อมุมสองชั้น มีซุ้มจระนำสี่ทิศ ชั้นบนหรือซุ้มเหนือซุ้มจระนำ มีเจดีย์สี่เหลี่ยมรูปทรงปราสาท อยู่อีกสี่ทิศ อยู่บนฐานเดียวกันกับชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยบัลลังก์ย่อมุม ถัดขึ้นไปเป็นคอเจดีย์ ปล้องไฉนและปลียอด
            ในส่วนลานประทักษิณ ที่รอบเจดีย์มีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าสี่ทิศ แต่ละทิศจะมีปูนปั้นรูปสิงห์ เฝ้าทางเข้าประตูละสองตัว

           วัดหลวงราชสัณฐาน  ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๗ เจ้าหลวงวงศ์ ร่วมกับชาวบ้านได้บูรณะปฎิสังขรณ์จนแล้วเสร็จ ชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวง ต่อมาได้มีประชาชนมาประกอบพิธีทางศาสนา และได้ชื่อว่า วัดหลวงราชสัณฐาน
            วิหาร เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนา ที่สวยงามแห่งหนึ่งมีอายุกว่าร้อยปี มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ เขียนลงบนกระดาษสาผ้าแปะอยู่บนผนังไม้ เป็นเรื่องมหาชาติชาดก และพุทธประวัติ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๗ เกิดพายุฝนทำให้วิหารพังทะลายลงมาหมด
            ปัจจุบันทางวัดได้สร้างวิหารขึ้นใหม่ บนฐานวิหารหลังเดิม ตามลักษณะเดิม แล้วนำภาพจิตรกรรมของเดิมมาติดตั้งเป็นบางส่วน

            สำหรับพระเจดีย์ทรงพื้นเมืองล้านนา ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม สามชั้น ต่อด้วยบัวหงาย มีเรือนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นบัวคว่ำบัวหงาย ต่อด้วยฐานเขียงรูปทรงกลมสามชั้น ต่อด้วยมาลัยเถารูปทรงกลม ถัดขึ้นไปเป็นคอระฆังกลม องค์ระฆังรูปแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์แปดเหลี่ยม ปล้องไฉนเป็นปูนปั้นรูปกลีบบัวสองชั้น และปลียอด
           วัดศรีอุโมงค์คำ  ตั้งอยู่ในตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองพะเยา ที่ตั้งของวิหารและพระเจดีย์อยู่บนเนิน ภายในเนินมีอุโมงค์อยู่ข้างใน เดิมเรียกชื่อว่า วัดอุโมงค์ ปัจจุบันเรียกวัดอุโมงค์คำ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสูง ภายในวัดมีวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ โดยสร้างอยู่บนฐานเดิม ประดิษฐานพระเจ้าล้านตื้อ หรือหลวงพ่อวัดเมืองเรืองฤทธิ์ และพระเจ้าแข้งคม
            พระเจดีย์เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยมสามชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุ ซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสูง เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีซุ้มจระนำอยู่สี่ทิศ ต่อด้วยชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยม เป็นฐานบัวทรงกลมซ้อนกันขึ้นไปสามชั้น รองรับองค์ระฆังทรงกลม ต่อด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉน เป็นรูปปั้นรูปกลีบบัวสองชั้น และปลียอด

               พระเจ้าล้านตื้อ  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ เป็นพระประธานในวิหารวัดศรีอุโมงค์คำ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย มีประวัติว่าเจ้าเมืองพะเยาได้อัญเชิญมาจากวัดร้าง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามเวียงแก้ว เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีพุทธลักษณะผสมผสาน ระหว่างศิลปะสุโขทัยและศิลปะพะเยา เป็นฝีมือช่างสกุลพะเยาโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามองค์หนึ่งในล้านนา
               พระเจ้าแข้งคม  เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุโมงค์คำ หน้าตักกว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๑.๙๐ เมตร การสร้างพระพุทธรูปแบบแข้งคม ที่เกิดขึ้นในล้านนาน่าจะมีที่มาจากพระเจ้าแข้งคม ที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้น โดยให้หล่อพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ มีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปแบบลงปุระ (พระแข้งคม)  ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีเกิด จังหวัดเชียงใหม่
           วัดพระธาตุแจ้โว้  ตั้งอยู่ในตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ เป็นวัดโบราณที่อยู่ในเขตเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนเนินเขา เรียกว่า เวียงห้าว ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเมือง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตามตำนานกล่าวว่า ผู้สร้างคือ ปู่แจ ย่าโว ได้บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าไว้ในองค์พระธาตุ
            พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปแปดหลี่ยม ต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุม จากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถา รองรับองค์ระฆังรูปแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด องค์พระธาตุเจดีย์เป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลียอดของพระธาตุเจดีย์มีบัวกลุ่ม อันเป็นลักษณะเฉพาะที่พบมากในเมืองเชียงแสน ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้บูรณะซ่อมแซมพระธาตุ ให้มีสภาพดีขึ้น
           วัดพระธาตุจอมศีล  ตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอกคำใต้ พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขา เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุที่บรรจุพระเกศา และพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่นแถบนี้ เดิมพระธาตุเจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างมานาน ต่อมาพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา ร่วมกับพระยาประเทศอุดรทิศ ได้นำชาวบ้านมาบูรณะซ่อมแซม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ในวันมาฆบูชา และวันสงกรานต์
            ลักษณะองค์พระธาตุเจดีย์ ประกอบด้วยฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยม ต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุมขึ้นไปถึงชั้นมาลัยเถารูปแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังทรงกลมต่อด้วยบัลลังก์ ถัดขึ้นไปมีบัวกลุ่มที่ปล้องไฉน ต่อด้วยปลียอด จะเห็นได้ว่ารูปทรงของพระธาตุเจดีย์คล้ายกับพระเจดีย์วัดลี มีลักษณะเอวคอด และรูปทรงสูง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |