| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
หมู่บ้านไทลื้อ อำเภอเชียงคำ
ในอำเภอเชียงคำ มีชาวไทลื้อมาตั้งถิ่นฐาน ยังคงสภาพวัฒนธรรมแบบไทยลื้อไว้
ค่อนข้างสมบูรณ์ นับตั้งแต่ประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย บ้านเรือน และจริยธรรมแบบไทลื้อ
แหล่งอุตสาหกรรม
จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เวียงบัว ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองพะเยา ที่บ้านบัว
ตำบลแม่กา อำเภอเมือง ฯ พบเศษภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่เป็นภาชนะทรงชาม ปากขอบมีสันเนื้อดินดำ
ชุบน้ำดินสีขาว รองพื้นและเคลือบสีเขียว บางชิ้นมีการตกแต่งด้วยการเซาะร่องที่ผนังด้านใน
สันนิษฐานว่า ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ของเตาพะเยา เขาม่อนออม ตั้งอยู่ห่างจากเวียงบัว
ไปทางทิศใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร บริเวณแหล่งเตาเผาอยู่บริเวณเชิงเขาม่อนออม
แหล่งผลิตเครื่องถ้วยดินเผาเขาม่อนออม
หลักฐานที่พบบริเวณแหล่งเตาคือ เศษภาชนะดินเผากระจายอยู่เต็มพื้นที่ แต่ไม่พบร่องรอยของเตาเผา
สันนิษฐานว่า อาจเป็นเตาหลุม หรือขุดโพรงเข้าไปในเชิงเขา ปัจจุบันพบร่องรอยแหล่งเตาเผาแล้วสามแห่ง
คือ ที่บ้านโทกหวาน ตำบลจำปาหวาย บ้านหนองแก้ว ตำบลแม่กา และที่เขาม่อนออม
ทั้งสามแหล่งมีเตาเผาตั้งอยู่ใกล้ลำห้วยแม่ต๋ำ
รูปปั้น
และอนุสาวรีย์
อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง
เป็นพระรูปยืน หล่อด้วยสำริด พระหัตถ์ถือดาบอาญาสิทธิ์ ความสูงเท่าครึ่งขององค์จริง
หรือประมาณ ๒ เมตร ประดิษฐานบนพระแท่นสูง ๑.๕๐ เมตร พระพักตร์หันสู่กว๊านพะเยา
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
อนุสาวรีย์ขุนเจืองธรรมิกราช
หล่อด้วยสำริด ตั้งอยู่ในค่ายขุนเจืองธรรมิกราช ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง
อนุสาวรีย์กัปตัน เจนเซ่น
ร้อยตำรวจเอก แฮนส์ เจนเซ่น เป็นผู้นำกำลังตำรวจเข้าปะทะกับพวกเงี้ยวที่เข้าปล้นเมืองพะเยาเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๔๕ สร้างไว้ ณ หลักกิโลเมตรที่ ๔๑ ถนนงาว - พะเยา
อนุสาวรีย์ผู้เสียสละ พตท ๒๓๒๔
มีลักษณะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม ตั้งอยู่ที่ถนนสายพะเยา - เชียงคำ บริเวณหน้าค่ายขุนจอมธรรม
อำเภอเชียงคำ เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เสียสละชีวิตจากการต่อสู้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดเชียงรายและพะเยา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอนุสาวรีย์ผู้เสียสละแห่งนี้
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕
ศิลปะหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
ประติมากรรม
ช้างประดิษฐานพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา
คติการสร้างเจดีย์ที่มีช้างล้อมรอบฐานมักนิยมเรียกว่าเจดีย์ช้างล้อม ช้างรอบ
หรือช้างค้ำ เป็นต้น ในศิลปะล้านนาสกุลช่างพะเยาพบว่าได้มีประติมากรรมที่เป็นรูปช้างอยู่เป็นจำนวนมาก
และมีหลายรูปแบบ เช่น ช้าง ที่เป็นประติมากรรมลอยตัว และที่เป็นประติมากรรมนูนสูงประดับส่วนฐานพระพุทธรูป
ประติมากรรมช้างหินทรายประดับ ส่วนฐานพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่
ๆ คือ
ช้างที่เป็นประติมากรรมลอยตัว
พบทั้งที่อยู่ในท่ายืนและท่าหมอบ บางครั้งเป็นช้างประดับเครื่องทรง นอกจากนี้
หลังของช้างบางเชือกยังเจาะเป็นรูหรือเป็นร่อง สันนิษฐานว่า ใช้สำหรับสวมเดือยหรือรองรับส่วนฐานพระพุทธรูปฐานธรรมาสน์
หรือมักใช้ปักเครื่องสูงและเครื่องบูชาอื่น ๆ
ช้างที่เป็นประติมากรรมนูนสูง ประดับส่วนฐานพระพุทธรูป
แบ่งเป็นสองลักษณะคือ
- ประติมากรรมกึ่งลอยตัว
คือ ทำเป็นช้างสามหรือสี่เชือกหันหลังชนกันรอบแท่ง หรือแกนหิน ยืนอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม หรือฐานหน้ากระดานเกลี้ยงรองรับส่วนฐานพระพุทธรูป
ช้างจะยื่นออกมาครึ่งตัว ประกอบด้วยส่วนหัวและขาหน้า
- ช้างสามเศียร
พบทั้งช้างสามเศียรสามเชือกและเชือกเดียว ประติมากรรมประดับฐานพระพุทธรูปส่วนใหญ่จะมีภาพบุคคล
หรือภาพเทวดาประกอบ ที่พบมากได้แก่ช้างประดับด้วยเทพบุตร เทพธิดา หรือภาพบุคคลเหนือหลังช้างรองรับส่วนฐานพระพุทธรูปอีกชั้นหนึ่ง
นอกจากนั้นยังมีการใช้สิงห์ ม้า มาประดับด้วย บางครั้งพบร่วมกันระหว่างช้างกับสิงห์หรือม้า
อาจกล่าวได้ว่าประติมากรรมช้างประดับส่วนฐานพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา
คือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑
พระเครื่องเมืองพะเยา
พระพุทธรูปในเมืองพะเยามีสองแบบคือ สมัยเชียงแสนและสมัยสุโขทัย พระกรุออกที่ฝางก็เรียกว่า
ศิลปะฝาง ออกที่น่านก็เรียกศิลปะน่าน ออกที่กรุพะเยาก็เรียกศิลปะพะเยา หรือสกุลช่างพะเยา
นอกจากนั้นยังแยกเป็นสกุลช่างหลวง และช่างราษฎร์
พระพุทธรูปที่พบในกรุเมืองพะเยาส่วนใหญ่จะเป็นสิงห์สาม
มีทั้งช่างเชียงแสนฝากกร และช่างพะเยา พระพุทธรูปที่พบมีเนื้อหินทรายจำนวนมาก
ส่วนพระเครื่องนั้นจะมีทั้งช่างพะเยาและเชียงแสน
ช่วงที่มีการสร้างวัดวาอารามมากที่สุดของเมืองพะเยามีอยู่สองช่วงคือพุทธศตวรรษที่
๑๗ - ๑๘ และพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
การสร้างพระเครื่องในอดีตจะสร้างพร้อมกับพระพุทธรูปหรือพร้อมกับพระธาตุเจดีย์
โดยจะนำเอาพระเครื่องติดในองค์พระใต้ฐานพระพุทธรูป พระประธาน หรือบรรจุในพระเจดีย์ที่สร้างพร้อมกับการสร้างวัด
และสร้างพระธาตุเจดีย์
ศิลปะพระเครื่องที่พบในองค์พระเจ้าตนหลวงได้รับอิทธิพลจากช่างปั้นดินชาวเชลียง
และช่างชาวกำแพงเพชร ศิลปะจึงผสมผสานทั้งเชียงแสนและสุโขทัย เรียกว่าช่างพะเยา
เช่น พระซุ้มกอพะเยามีลักษณะคล้ายคลึงกับพระซุ้มกอพิมพ์เล็กกำแพงเพชรมาก
พระยอดขุนพลพะเยา
ถือได้ว่าเป็นพระเจ้าตนหลวงจำลอง พระยอดขุนพลพะเยาพบในเศษปูนที่กระเทาะออกมาจากองค์พระเจ้าตนหลวงครั้งบูรณะ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้มาประมาณ ๒๐ องค์
พระยอดขุนพลพิมพ์เดียวกันต่างกรุ อาจมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น หน้าตาหรือเส้นสังฆาฏิไม่เหมือนกันหรือตื้น
สันนิษฐานว่า สร้างในยุคเดียวกันแต่อ่อนปีกว่า ถูกสร้างเพิ่มเติมโดยการถอดพิมพ์
และแต่งแม่พิมพ์ใหญ่เล็กกว่า
พระยอดขุนพลพะเยานิยมใช้เป็นแบบแม่พิมพ์ และถ้าจะเรียกชื่อให้ถูกต้องน่าจะเรียกใหม่ว่า
พระเจ้าตนหลวงปรกโพธิ หรือพระเจ้าตนหลวงซุ้มเสมา
พระซุ้มกอเมืองพะเยา
เป็นพระเครื่องเนื้อดินละเอียด มีหลายสี เช่น สีแดง สีเหลืองพิกุล สีดำ พิมพ์มีลักษณะคล้ายกับพระซุ้มกอกำแพงเพชร
ด้านหลังมีทั้งหลังเรียบ และหลังนูน กรุพระที่พบมีอยู่หลายกรุ เช่น กรุม้าขาว
กรุบริเวณธาตุนกแซว กรุวัดหลวงใน หรือกรุวัดหลวงราชสัณฐาน และกรุอื่น ๆ
ช่างฝีมือชาวบ้าน
งานแกะสลักพระพุทธรูปหินทราย
วิชาแกะสลักหินทรายเป็นพระพุทธรูป ปัจจุบันมีอยู่เพียงครอบครัวเดียวในบ้านตุ่นใต้
ตำบลตุ่น
โดยได้รับถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ
คือ สล่าจ่อย (สล่า แปลว่า ช่าง) ซึ่งเป็นผู้มีฝีมือในการแกะสลักหินทรายในหมู่บ้าน
มีผลงานคือการปั้นพระประธาน ให้โบสถ์กลางทุ่งนาริมหมู่บ้าน หินทรายที่นำมาแกะสลักได้มาจากดอยด้วน
หรือดอยหัวโล้น บริเวณที่มีมากที่สุดอยู่ใกล้ดอยผาเกี๋ยง ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง
ฯ
งานสกัดครกหิน
ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านตุ่น ตำบลบ้านตุ่น เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อในการสกัดครก
ชื่อบ้านงิ้ว ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง ฯ ผู้ที่ริเริ่มคือสล่าจ่อย คนเดียวกันกับผู้ที่มีผลงานแกะสลักพระพุทธรูปจากหินทราย
รูปทรงของครกสมัยแรก ไม่เหมือนปัจจุบัน ตัวครกจะมีฐานและมีหูจับคล้ายถ้วยรางวัล
ปัจจุบันหินทรายที่ใช้ทำครกหมดไป ชาวบ้านจึงได้สัมปทานหินเขียวจากตำบลแม่กา
อำเภอเมือง ฯ โดยขุดหินเขียวจากหลุมออกมาเป็นก้อน ๆ ตามขนาดที่ต้องการ
เฉลี่ยแล้วก้อนหนึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘ นิ้ว แล้วจึงนำหินแต่ละก้อนมาสกัดเป็นครก
งานตีเหล็ก
ที่บ้านร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง ฯ เป็นบ้านที่มีชื่อเสียงในการตีมีดื
ขวาน พร้ากด ปัจจุบันในหมู่บ้านมีเตาเผาเหล็กห้าเตา อาชีพตีเหล็กนี้ทำกันมานานกว่าร้อยปี
เหล็กที่นำมาตีเป็นมีดสมัยก่อนจะใช้เหล็กมัดคือเหล็กหล่อแล้วขายกันเป็นมัด
ปัจจุบันใช้เหล็กแหนบของรถยนต์ทุกชนิด การตีเหล็กจะทำกันตลอดปี เว้นช่วงฤดูทำนา
นอกจากที่บ้านร่องไฮแล้ว ยังมีการตีเหล็กที่บ้านเจน ตำบลดงเจน กิ่งอำเภอภูกามยาว
การทำกระดาษสาบ้านสันปาวิ้ว ตำบลแม่อิง
ต้นปอสา เป็นพืชเส้นใยชนิดหนึ่งที่ให้เส้นใยจากเปลือกของลำต้น อยู่ในตระกูลเดียวกับหม่อน
มีขึ้นทั่วไปในเขตชุ่มชื้นตามหุบเขา ริมห้วย เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นกลมเป็นไม้โตเร็ว
เก็บเกี่ยวผลได้เมื่ออายุ หนึ่งปี เริ่มตัดปีละครั้ง โดยจะเลือกตัดปอสาสูงจากพื้น
๔๐ - ๕๐ เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ๓ - ๕ เซนติเมตร สามารถลอกเปลือกออกจากกิ่งสดได้ทันที
ใช้มีดขูดผิวนอกทิ้ง หรือจะใช้วิธีนึ่งด้วยไอน้ำ ลอกเปลือกสาออกจากเนื้อไม้ได้เส้นใยขาวสะอาด
มีการนำเปลือกสามาทำกระดาษ ตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะภาคเหนือนำเปลือกสามาทำสมุดข่อย
(ปั๊บสา) เพื่อใช้บันทึก (จาร) เรื่องราวต่าง ๆ
ในอดีตการทำกระดาษสา บ้านป่างิ้ว ถือว่าเป็นสินค้าออกของหมู่บ้าน กระดาษสาที่ทำด้วยมือเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน
ใช้กรรมวิธีในการผลิตที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ สำหรับทำร่ม ตุง กระดาษ พลุไฟ
บ้องไฟ ปัจจุบันค่านิยมการใช้กระดาษสาเปลี่ยนไป มีการใช้น้อยลง ประกอบกับต้นสา
ก็หายากกว่าแต่ก่อน
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |