| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
จารึก
จังหวัดพะเยามีการค้นพบจารึกทั้งหมด ๑๑๒ หลัก จารึกไว้บนแผ่นหินทราย รูปสี่เหลี่ยมบ้าง
รูปเสมาบ้าง หรือบนแท่งสี่เหลี่ยมด้านเท่ายอดมนบ้าง บางชิ้นจารึกบนแผ่นดิน
และฐานพระพุทธรูป
ศิลาจารึกจังหวัดพะเยา ปัจจุบันได้กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น
วัดศิริโคมคำ มี ๕๓ หลัก วัดลี่ ๒๘ หลัก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพ ฯ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติลำพูน เชียงใหม่ และเชียงแสน อยู่ที่วัดต่าง ๆ ในจังหวัดพะเยา
เช่น วัดอาราม ป่าน้อย อำเภอเมือง ฯ วัดพระแก้ว อำเภอเชียงคำ เป็นต้น
ศิลาจารึกทั้งหมดนี้ มีผู้อ่าน และปริวรรตเรียบร้อยสมบูรณ์ จัดพิมพ์เป็นเล่ม
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ส่วนใหญ่จะจารึกเป็นอักษรฝักขาม ตั้งแต่สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน
พระบิดาของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.๑๙๔๕ - ๑๙๘๕) ในเนื้อหาของจารึกจะกล่าวถึงเจ้าเมืองพะเยาในสมัยต่าง
ๆ การสร้างวัดมีการผูกฝังสีมา การอุทิศส่วนกุศล การอุทิศที่นา และคนเป็นข้าพระพร้อมห้ามผู้ใดละเมิด
เป็นต้น บางหลักได้กล่าวถึงการสืบทอดอำนาจของกษัตริย์
ตำนาน
มีตำนานตั้งแต่การสร้างเมืองภูกามยาว หรือเมืองพะเยา โดยปรากฎชื่ออยู่ในตำนานรุ่นแรก
เช่น ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน (ตำนานเมืองพะเยา) ตำนานสิงหนวัด ตำนานเจื๋อง
เป็นต้น
ตำนานเหล่านี้ได้กล่าวถึงลวะจักราชเทพบุตร ลงมาสร้างเมืองบนที่ราบเชียงแสนมีลูกหลานสืบต่อกันมาจนถึงขุนจอมธรรม
แยกออกไปตั้งเมืองพะเยา มีลูกคือขุนเจื๋อง ผู้สามารถรวบรวมผู้คนในละแวกฝั่งแม่น้ำโขงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสืบต่อมาจนนถึงพญางำเมือง
หลังจากนั้นเป็นลูกหลานพญางำเมืองอีกสองคนคือ พญาคำแดง และพญาคำลือ
ส่วนตำนานที่กระจัดกระจายอยู่ตามวัดต่าง ๆ ของจังหวัดพะเยา จะเป็นตำนานพะธาตุที่ประดิษฐานตามวัดตามเนินเขา
เช่น ตำนานพระธาตุจอมทอง ตำนานพระธาตุดอยน้อย ตำนานพระธาตุป่าแดงบุญนาค ตำนานพระธาตุจอมก๊อ
ตำนานพระธาตุจำม่วง ตำนานพระธาตุจอมไคร้ ตำนานพระธาตุจอมศีล ตำนานพระธาตุแจ้โห้ว
ตำนานพระธาตุดอยคำ ตำนานพระธาตุภูซาว ตำนานพระธาตุขุนบว ตำนานพระธาตุปูปอ
ตำนานพระธาตุภูขวาง ตำนานพระธาตุดอยจก ตำนานพระธาตุกู่กิว และตำนานพระธาตุดอยหยวก
เนื้อหาของตำนานเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ โดยเริ่มต้นจากเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังมัชฌิมประเทศ
และจันตประเทศ โดยพระพุทธเจ้า และพระสาวกได้เสด็จไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้พบเทวดา
พญานาค และผู้คนได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พร้อมที่จะช่วยกันสืบต่อคำสอนให้ยืนยาววถึง
๕,๐๐๐ พระวสา ก่อนจะเสด็จกลับ พระพุทธองค์ทรงมอบพระเกศาธาตุให้กับผู้เลื่อมใสเพื่อสร้างเป็นพระธาตุไว้สักการะต่อไปในภายหน้า
ตัวอย่างเช่นตำนานพระธาตุสบแวน อำเภอเชียงคำ
ตำนานพระธาตุสบแวน
พระพุทธองค์เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงรำพึงว่า พระองค์มีพระชนมายุได้
๖๐ พรรษาแล้ว เมื่อายุได้ ๘๐ พรรษาก็จะเข้าสู่ปรินิพพาน ควรอธิฐานพระธาตุให้ย่อยเป็นสามส่วน
ให้คนและเทวดาได้ไว้เป็นที่สักการะบูชา ทรงรำพึงว่าควรเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
แล้วตั้งศาสนาไว้ในมัชฌิมประเทศและจันตรประเทศ เมื่อออกพรรษาแล้วทรงพาพระโสณเถระ
พระอตรเถระ และพระอานนท์ เสด็จไปยังเมืองกุสินารา เจ้าเมืองคนหนึ่งชื่อพระยาโศกเห็นพระพุทธองค์เสด็จมา
ก็ได้ถือรองเท้าทิพย์กับไม้เท้าทิพย์ตามพระพุทธองค์ไปเพื่ออุปัฎฐาก พระองค์เสด็จไปถึงเมืองสาวัตถี
ไปริมฝั่งแม่น้ำมิงค์ (แม่ปิง) มาถึงเมืองหริภุญชัย แล้วเสด็จไปพระธาตุดอยสุเทพ
ไปบุปผาราม เสด็จนถึงกังคะเชียงดาว เสด็จไปตับเต่า ไปสบยาง ไปฉันข้าวริมฝั่งแม่น้ำคงคา
แล้วขึ้นไปแสนหวีถึงเมืองหนึ่งชื่อว่าวิเทหราชสุทินราช และนาระทะไชย ทรงจำพรรษา
ณ เมืองนั้น
ครั้นออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็เสด็จมาเมืองลื้อ
ให้เกศาไว้ที่พระธาตุเมืองสิงห์มาเมืองยองให้พระเกศาไว้ที่พระธาตุเมืองพะยาก
มาเมืองเชียงแสนไปดอยตุง ไปภูเข้าไปกู่แก้ว ไปจอมกิตติ ไปสบจันแล้วไปผาเรือ
ทรงประทับบรอยพระบาท ณ ที่นั้น พระพุทธองค์ไปประทับยืนบนดอยแห่งนั้น ทรงตรวจดูสัตว์โลกทั้งหลาย
แล้วเสด็จไปดอยทราย ทรงประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จไปเมืองคง เมืองงาย
ประทับรอยพระบาทไว้ แล้วเสด็จไปดอยด้วนประทับรอยพระบาทไว้ เพื่อให้ยักษ์อุปัฎฐาก
แล้วไปจอมแว่ ไปบ่อค้าง ไปภูเฒ่า แล้วไปเมืองพะเยา
ในเมืองพะเยามียักษ์ตนหนึ่ง เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาก็ไล่ตาม แต่ไล่ไม่ทัน
พระพุทธองค์จึงเหยียบหินก้อนหนึ่งไว้ ยักษ์เห็นรอยพระบาทแล้วกล่าวว่า ท่านผู้นี้มีแรงมากเหยียบหินเป็นรอยได้
เราคงกินไม่ได้ แล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงยกมปาฎิหารย์ ให้ยักษ์เห็น ยักษ์จึงรู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าเกิดความกลัวยิ่งนัก
พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้รักษาศีลห้า และตรัสกับพระอานนท์ว่า ภายหน้าเชิงเขาตะวันตกนี้จะมีพวกโจรตั้งบ้านเรือนอยู่
จะได้ชื่อว่าเมืองสันบูเลย แล้วเสด็จไปตามไหล่เขาไปพบสามีกล่าวกับภรรยา และถามภรรยาว่า
พลูเราพอมีถวายพระพุทธองค์หรือไม่ ภรรยาตอบว่าพอมี จากนั้นสองสามีภรรยาก็ได้นำเอาหมากพลู
และครกหินตำหมากมาถวาย พระพุทธองค์จึงตรัสกับอานนท์ว่า สองสามีภรรยาคู่นี้นำพลูมาถวายเรา
ภายหน้าสถานที่นี้จะได้ชื่อว่า ปูก่อ (พลูก่อ) และภายหลังจะได้ชื่อว่า
ปูบ่อ และสองสามีภรรยาถวายครกหินแก่พระพุทธเจ้า ภายหน้าเมืองนี้จะทำอะไรก็สมบูรณ์ด้วยหิน
ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ก็เสด็จไปบนเขาแห่งหนึ่ง พบช่างทองคนหนึ่ง เขาได้ถวายข้าวและปัจจัยอันควร
พระพุทธองค์ทรงรับแล้วทรงฉันบนเขาแห่งนั้น เมื่อฉันเสร็จแล้วตรัสกับพระอานนท์ว่า
สถานที่นี้ดีมากควรตั้งศาสนสถานไว้ พระอานนท์จึงทูลขอพระเกศาธาตุจากพระพุทธองค์
แล้วนำไปให้แก่พญาอโศก ๆ ยื่นให้ช่างทอง ๆ นำเอากระบอกไม้รวกมารับไว้ แล้วพระพุทธองค์จึงตรัสให้เอาพระเกศาของพระองค์ไปใส่ไว้ในดอยนั้น
พญาอโศกและพญาอินทร จึงเอาไปใส่ไว้ในผอบแก้ว แล้วใส่ลงในผอบทองคำ ใส่ในผอบเงิน
แล้วใส่ลงไปในถ้ำลึก ๗๐ วา พญาอินทรจึงจุดประทีบส่องไว้ ตั้งยันต์ทิพย์ไว้ป้องกันจน
๕,๐๐๐ พรรษา พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งไว้ว่า เมื่อใดพระตถาคตนิพพานไปแล้ว ให้เอาพระธาตุแขนเบื้องซ้ายแห่งตถาคต
มาไว้ในถ้ำนี้ ภายหน้าจุลลเถระจะมาเข้านิพพานที่นี้ ไม่นานเท่าใด จักมีเทวดามาจุดประทีปทิพย์สี่ดวง
ใส่พานทิพย์ตั้งไว้สี่มุมแท่นบูชา จุดส่องไว้จน ๕,๐๐๐ พรรษา ทรงตรัสต่อไปว่า
เราพบช่างทองบนเขานี้ ภายหลังจักได้ชื่อว่า เมืองจอมทอง
แล้วตรัสว่า เรามาฉันข้าวที่นี่ ช่างทองไม่ให้น้ำแก่เรา อานนท์จงลงไปขอน้ำกับพญานาคที่เชิงเขาเถิด
ฯลฯ
พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ว่า พระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์คือ พระกกุสันธะ
พระโกนาคมนะ และกัสสปะ ได้มาฉันข้าวที่นี่เมื่อจวบจะสิ้นอายุแล้ว พระองค์ก็เช่นเดียวกัน
ฯลฯ
สองสามีภรรยาที่เอาพลูมาถวาย จักได้มาตั้งศาสนาในสระนี่.......... สองสามีภรรยาจักมาสร้างให้เป็นอารามใหญ่
และจักได้ปรากฎชื่อ วัดศรีโคมคำ.....
พระองค์ทรงเหยียบหินก้อนหนึ่งให้เป็นรอยพระบาท....... พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เรามาฉันข้าวที่บ้านช่างทอง ที่บนเขานั้นไม่ได้ฉันน้ำ เพราะพญานาคไม่ให้น้ำแก่เรา
ภายหน้าเมืองนี้จักหาแม่น้ำใหญ่ไม่มี จักเป็นเมืองขาดแคลนน้ำ พระพุทธองค์ทรงทำนายดังนั้นแล้ว
ก็เสด็จมายังเขาน้อยเขาใหญ่ ไปแช่ไห้ว จอมศีล กู่ขวาง จอมไคล้ จอมแจ้ง ขิงแกง
ต่อจากนั้นได้เสด็จมาถึงป่าแห่งหนึ่ง ประทับบนอาสนะใต้ต้นมะม่วง มีอุบาสกคนหนึ่งเป็นพรานป่าชื่อ
เชียงบาน มาพบแต่ตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ได้นำมะม่วงคำสามผลมาถวายพระพุทธเจ้า
เมื่อทรงรับแล้วได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า สถานที่นี้เป็นที่น่าอภิรมย์ ควรตั้งศาสนาไว้เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย
พระพุทธองค์จึงทรงมอบพระเกศาเส้นหนึ่งแก่พระอานนท์ พญาอินทรก็เนรมิตผอบคำใหญ่เจ็ดกำ
มาบรรจุพระเกศา เนรมิตอุโมงค์คำลึก ๗๐ วา พญาอินทรเนรมิตสำเภาคำลำหนึ่ง ใหญ่สามวา
เนรมิตอาสนคำใส่ลงในสำเภา แล้วเอาลอยไว้ในอุโมงค์คำ อัญเชิญพระเกศาของพระพุทธองค์ ไปประดิษฐานเหนืออาสนะคำ
แล้วเนรมิตแผ่นหินหนาสามศอกปิดเสีย แล้วเนรมิตดินปิดลาดเหนือแผ่นดินสูงสี่ศอก
หล่อด้วยทรายขาวอันบริสุทธิ์ แล้วตั้งยันต์พันไว้สิบสองแห่ง แล้วก่อเป็นเจดีย์สูงเจ็ดศอก
พระพุทธองค์ตรัสว่า หากตถาคตนิพพานแล้ว จงเอาพระธาตุ (กระดูก) ริมฝีปาก (สบ)
ข้างล่างมาประดิษฐานไว้กับพระเกศานี้ ต่อไปภายหน้า พระเจดีย์องค์นี้จะได้ชื่อว่า
ธาตุสบแวน
ตามที่ตถาคตได้ตรัสกับอุบาสกคนนั้นให้มาแวนใกล้ ภายหน้าเมืองนี้จะได้ชื่อตาม
อุบาสกคนนั้นชื่อว่า เชียงบาน ได้นำมะม่วงคำมาถวาย ต่อไปเมืองนี้จะได้ชื่อว่า
เมืองเชียงคำ
ฯลฯ
หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไป แช่แห้ง ช่อแฮ ขวยปุ จุทับ ร่องอ้อ ลำปาง
จอมทอง เมืองฮอด ดอยเปิง เมืองคม เมืองเมย เมืองยอง เมืองกลาง สะโพ่ง เมืองแสลบ
เมืองทะโค่ง เมืองกสินารา โปรดสัตว์ทั้งหลายโดยลำดับ แล้วเสด็จเข้าสู่พระเชตวัน
วรรณกรรม
วรรณกรรมค่าวซอ
ค่าว หรือค่าวซอ เป็นคำประพันธ์ หนึ่งในห้าประเภทของวรรณกรรมร้อยกรองของล้านนาไทย
ซึ่งแบ่งเป็นค่าวซอ กาพย์ ซอหรือเพลงซอ โคลง และร่าย
ค่าว เป็นคำร้อยกรอง
ที่กวีชาวพะเยานิยมแต่งกัน ลักษณะคำประพันธ์คล้ายกลอนแปด มีคำสัมผัส แต่บางครั้งไม่แน่นอน
กฎการแต่งค่าวของกวีสมัยก่อน มีไว้ว่า
" สามตัวเหลี่ยว เจ็ดตัวเที่ยว บาทหลังบาทหน้า "
ลักษณะการประพันธ์ของค่าว เป็นการเรียบเรียงถ้อยคำ ให้เป็นระเบียบเหมือนลูกโซ่คือ
มีสัมผัสคล้องจองกันไป ค่าวแบ่งออกได้เป็นสองชนิด คือ ค่าวซอ และค่าวธรรม
ค่าวซอ
แต่งค่อนข้างง่าย และอ่านเข้าใจง่าย อ่านด้วยทำนองเสนาะ โดยไม่ต้องมีดนตรีประกอบ
ค่าวธรรม
มักเน้นเรื่องชาดก หรือนิยายธรรม ที่แต่งเป็นเรื่องยาว ๆ สำหรับใช้เทศน์ให้ชาวบ้านฟังที่วัด
วรรณกรรมคำร่ำ
เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งของล้านนา มีลักษณะการแต่งคล้ายร่ายคือ ส่งสัมผัสสอดคล้องกันโดยตลอด
ปกติวรรคหนึ่ง ๆ จะมีสี่คำ วรรณกรรมคำร่ำ หาต้นฉบับยาก เป็นคำประพันธ์ที่ชาวบ้าถ่ายทอดกัน
โดยทางมุขปาฐะ ทำนองเดียวกับค่าว และซอ
ซอ
คือ ทำนองที่ขับร้องด้วยทำนองไพเราะ โดยมีเครื่องดนตรีพื้นบ้านคอยให้ทำนอง
เช่น สะล้อ ซึง ขลุ่ย ปี่ ซอจะต้องขับร้องด้วยถ้อยคำที่สัมผัสคล้องจองกัน
ตามท่วงทำนองของเพลงซอนั้น ๆ ซอแต่ทำนองจะส่งคำสัมผัส และรับคำสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน
ทำนองซอ มีอยู่ด้วยกันหลายทำนอง และไม่มีประวัติที่แน่ชัด ทำนองซออาจจะตั้งตามชื่อสถานที่
อันเป็นที่ตั้งของทำนองซอ เช่น ทำนองเชียงใหม่ เชียงแสน ล่องลำปาง ล่องน่าน
ปั่นป้าย ซอพม่า ซอเงี้ยว ซออือ ซอจะปุ ซอละม้าย และซอพระลอ เป็นต้น ผู้ที่ขับร้องซอ
เรียกว่า จ่างซอ
ซอของจังหวัดพะเยา ได้รับอิทธิพลการซอสองแบบคือ ซอเชียงใหม่ ที่ใช้เครื่องดนตรี
ประเภทปี่ และซอจากเมืองน่าน ที่ใช้สะล้อ และซึง
การละเล่นพื้นบ้านและนาฎศิลป์
การละเล่นของเด็ก
มีอยู่มากมายหลายอย่าง เริ่มจากง่ายไปหายาก มีกฎกติกาการเล่น ส่วนใหญ่มีลักษณะการเล่น
ที่คล้ายคลึงกันกับในภาคอื่น ๆ ของไทย เพียงแต่วิธีการเล่นและการเรียกชื่อ
อาจจะแตกต่างกันไป
การละเล่นของเด็กพะเยา พอเป็นตัวอย่างการเล่นที่คล้ายกันกับภาคอื่น ๆ เช่น
หมากเล่นเต๋าโตงเตง
พัฒนามาจากการวิ่งไล่จับกันธรรมดา มาเป็นกระโดดหรือวิ่งขาเดียว ใครจับใครได้ก็เปลี่ยนเป็นผู้ให้จับบ้าง
จำนวนผู้เล่น ๕ - ๖ คน
เล่นม้าจ๊กคอก (ลาวกระทบไม้)
ผู้เล่นจะใช้เท้าแหย่เข้าไประหว่างไม้สองลำที่มีคนถือปลายลำไม้ทั้งสองหันหน้าเข้าหากัน
จับไม้เคาะกับขอนสองครั้ง แล้วนำมากระทบกันตรงกึ่งกลางขอน เรียกหนีบกระทบ
เป็นจังหวะ การแหย่เท้าไประหว่างไม้ ถ้าผิดจังหวะโดนไม้แตะเท้า ถือว่าแพ้
ต้องออกมาทำหน้าที่จับไม้กระทบแทน นิยมเล่นเวลากลางคืนเดือนหงาย
ปืนก้านกล้วย
ใช้ก้านกล้วยท่อนโตยาวประมาณ ๑ เมตร ใช้มีดเฉือนด้านเรียบทั้งสองด้าน ให้พับขึ้นได้เมื่อกระทบกับก้านกล้วย
เมื่อใช้มือลูบไปอย่างแรงและเร็วจะเกิดเสียงดังตามจำนวนที่ก้านกล้วยถูกเฉือนแล้วพับตั้งขึ้น
สมมติว่าเป็นเสียงปืน ใช้ต่อสู้กันในรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่จะกำหนด
ตีวงล้อ
ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก เฉือนให้บางเหลือแต่เปลือก มาขดให้เป็นวงกลม มัดด้วยตอกหรือเชือกปอทำเป็นล้อ
มีไม้สำหรับใช้ตีให้ล้อกลิ้งไปข้างหน้า ใช้ตีแข่งขันว่าใครจะตีวงล้อให้ถึงเส้นชัยได้ก่อน
หมากเก็บ
มีวิวัฒนาการมาจากการเล่นไม้แก้ง (ไม้หมากเก็บ) เพราะการเล่นไม้แก้งต้องใช้ไม้
ขั้นตอนการเล่นมีน้อย และง่ายกว่าหมากเก็บ หมากเก็บสมัยก่อนใช้หม่าแซะ (พืชชนิดหนึ่งมีเม็ดในคล้ายเมล็ดกระท้อน)
ปัจจุบันใช้มะค่า หรือก้อนหินเป็นหมากเก็บแทน โดยใช้จำนวนห้าก้อนขนาดพอเหมาะ
ที่จะสามารถเก็บรวมไว้ในกำมือทั้งห้าก้อนเวลาเล่นได้
การเล่นหมากที่หนึ่ง จะโยนหมากขึ้นหนึ่งลูก วางลูกที่เหลืออีกสี่ลูกแผ่ไปบนพื้น
แล้วโยนหมากหนึ่งลูกขึ้นเก็บหมากที่วางอยู่ทีละลูก แล้วรับลูกที่โยนขึ้นไปให้ได้
ทำเช่นนี้จนหมดหมากที่พื้น
หมากที่สอง โยนหมากขึ้นหนึ่งลูกแล้วเก็บหมากบนพื้นทีละสองลูก แล้วรับหมากที่โยนขึ้นไปให้ได้จนลูกหมด
หมากที่สาม ทำทำนองเดียวกัน แต่เก็บหมากสี่ลูกที่พื้นครั้งละสามและครั้งละหนึ่งลูก
หมากที่สี่ ทำทำนองเดียวกัน แต่ต้องเก็บหมากทั้งสี่ลูกในคราวเดียวกัน
ขั้นต่อไปเป็นการเล่นที่ยากขึ้น เรียกว่า หมากเข้าบ้อง หมากเก็บคาย หมากชน
หมากเขต หมายสาย ๑ - ๕
งูกินหาง
ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น ผู้เล่นมาก งูจะตัวยาวขึ้นตามจำนวนผู้เล่น
การเล่นให้ผู้เล่นยืนเกาะกันเองให้แน่น อย่าให้หลุดจากกัน ให้คนหัวแถวเป็นหัวงู
คนสุดท้ายของแถวเป็นหางงู ต้องระวังอย่าให้คนเป็นหัวจับคนที่เป็นหางได้ ถ้าจับได้ถือว่าคนที่เป็นหางแพ้
ถ้าจับไม่ได้ การไปสามมาที่คนที่เป็นหัวแพ้
นาฏศิลป์พื้นบ้าน
การฟ้อน ในอดีตมีการแข่งขันท่าฟ้อนจากความสวยงามและช่างฟ้อนและเครื่องแต่งกายของช่างฟ้อนแต่ละคนของหัววัดต่าง
ๆ เมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณี งานฉลองต่าง ๆ จะมีการเชิญหัววัดต่าง
ๆ มาร่วมทำบุญ แห่เครื่องไทยทาน แต่ละหัววัดจะมีช่างฟ้อนนำเครื่องไทยทานแห่เป็นขบวน
ๆ แต่ละคณะจะมีการแต่งกายและท่าฟ้อนแตกต่างกันออกไป
การฟ้อนของชาวไทยล้านนาแบ่งออกได้เป็นห้าประเภทคือ
- ฟ้อนเมือง
เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีลีลาแสดงลักษณะเป็นแบบฉบับของคนเมืองหรือชาวไทยยวน การฟ้อนที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่
ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ ฟ้อนสาวไหมและการตีกลองสะบัดไชย
-
ฟ้อนม่าน
เป็นศิลปะการฟ้อนของคนเมือง ผสมผสานกับศิลปะการฟ้อนรำของพม่า ได้แก่ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา
- ฟ้อนเงี้ยว
เป็นศิลปะการฟ้อนของคนเมือง ผสมผสานกับการฟ้อนของชาวไทยใหญ่ในรัฐฉาน ได้แก่
ฟ้อนโต ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนกิ่งกะหล่า (กินรา) ฟ้อนกำเบ้อ (ผีเสื้อ)
มองเชิง
- ฟ้อนที่ปรากฏในบทละคร
เป็นฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรค์ขึ้นในการแสดงละครพันทาง ได้แก่ ฟ้อนน้อยใจยาแว่นแก้ว
ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล
- ฟ้อนที่สืบเนื่องจากการนับถือผี
เป็นฟ้อนที่เกิดจากความเชื่อและพิธีกรรม ได้แก่ฟ้อนผีมดผีเม็ง ฟ้อนผีบ้านผีเมือง
และฟ้อนผีนางด้ง
นอกจากนั้นยังมีแยกย่อยไปตามกลุ่มชนที่คิดประดิษฐ์การฟ้อนที่เน้นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนนั้น
ๆ เป็นศิลปะการฟ้อนประจำถิ่นของตน ในกิ่งอำเภอภูซาง มีชาวไทยพื้นเมือง ชาวไทลื้อและชาวไทม้ง
ต่างก็มีศิลปะการฟ้อนของท้องถิ่นตนคือ ฟ้อนคณะเมือง ได้แก่ฟ้องเวิง ฟ้อนสาวไหม
ฟ้อนชาวไทลื้อได้แก่ฟ้อนทอผ้าไทลื้อ และฟ้อนของชาวไทยภูเขาได้แก่ระบำชาวเขา
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |