| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
ประเพณีการบวช
ทางเหนือเรียก ปอยหลวง
เด็กชายที่จะบวชต้องมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีขึ้นไป จนถึงยี่สิบปี เรียกว่า บวชพระ
เพราะนิยมเรียกสามเณรว่า พระ สามเณรที่อายุน้อยเรียกว่า พระน้อย ผู้ที่จะบวชต้องมีอายุเจ็ดปีขึ้นไปจนถึง
๒๐ ปี เรียกว่า บวชพระ เพราะนิยมเรียกสามเณรว่า พระ เณรที่มีอายุน้อย เรียกว่า
พระน้อย ถ้าสามเณรอายุมาก เรียกว่า พระโคร่ง
หรือสามเณรโคร่ง หากลาสิกขาออกไปจะถูกเรียกว่า น้อย
ส่วนการเป็กข์ นิยมทำกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไป เรียกว่า
อุปสมบท หรือเป็กข์ เมื่อเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว จะเรียกขานว่า ตุ๊
เวลาสึกออกไปเป็นคฤหัสถ์ ชาวบ้านจะเรียกว่า หนาน
งานบวชนาคจะมีวัน ดาปอย เป็นการเตรียมงานเมื่อกุลบุตร จะบรรพชาหรือจะอุปสมบท
พ่อแม่ผู้ปกครองจะไปตกลงกับเจ้าอาวาส เพื่อขออนุญาตให้มี พระอุปัชฌาย์สำหรับการบรรพชาครั้งนี้
จากนั้นจะมีการแผ่นาบุญ โดยให้คนใกล้ชิดสองสามคน นำผ้าสบงจีวรใส่พานขึ้นไปตามบ้านญาติมิตร
เพื่อบอกนาบุญ ผู้ที่ได้รับการบอกนาบุญ จะยกพานขึ้นจรดหน้าผาก พร้อมกล่าวคำอนุโมทนาสาธุ
วันดาปอย คือ วันก่อนที่จะทำการอุปสมบทหรือบรรพชาหนึ่งวัน เจ้าภาพจะเตรียมการเกี่ยวกับเครื่องบวช
เช่น ผ้าไตร บาตร หรือเครื่องอัฐบริขาร ให้พร้อม และต้องเตรียมอาหารไว้รับแขกที่จะมาร่วมอนุโมทนา
มีดอกไม้ ธูป เทียน จตุปัจจัยในพานนาคเรียกว่า ฮอยปอย
นาคจะรับและให้พรตอบแทน บางแห่งจัดทำพิธี รับขวัญนาคโดยจัดทำต้นผึ้ง
เชิญอาจารย์ที่เป็นมัคนายก หรือหนาน เป็นผู้ประกอบพิธี ทำขวัญนาค
เพื่ออบรมกล่อมเกลาจิตใจให้ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระคุณของมารดา
บิดาที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนมาจนเติบใหญ่
ทางเหนือเรียกผู้ที่จะบรรพชาอุปสมบท หรือนาคว่า ลูกแก้ว
โดยจะไปโกนผมที่วัด ญาติพี่น้องจะพาลูกแก้วไปแต่งตัวด้วยผ้านุ่งสีขาว นุ่งห่มโจงกระเบน
สวมชฎา แต่งหน้า ทาปาก ทาคิ้ว ประดับแหวน ประดับสร้อย ของมีค่าจำนวนมาก ในขบวนแห่นาคจะใช้รถบ้าง
ม้าบ้าง หรือขึ้นขี่คอคน บางแห่งให้นั่งบนหลังช้างไปตามบ้านญาติ เพื่อผูกข้อมือรับขวัญ
งานปอย ถือกันว่าเป็นงานมงคลที่ยิ่งใหญ่ เจ้าภาพจัดเลี้ยงเพื่อบำเพ็ญทานตามฐานะ
บางรายอาจจัดมหรสพให้มีวอ รำวง ดนตรี ลิเก หรือภาพยนต์ เป็นการเฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น
ผู้ที่ไปร่วมทำบุญจะได้ร่วมกินอาหารและได้ชมมหรสพต่าง ๆ
วันรุ่งขึ้นก็จะพานาคไปทำพิธีบวชในอุโบสถ บวชเสร็จแล้วต้องอยู่กรรม ประมาณ
สาม - สี่วัน เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่พ่อ โดยการใช้ลูกประคำตกหมากนับ
ประเพณีปีใหม่
หมายถึง ประเพณีสงกรานต์ ไม่ได้ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันสำคัญ แต่ถือเอาวันพระยาวัน
คือ วันเถลิงศกเป็นวันสำคัญ วันนี้ต่อจากวันเนา ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน
วันสงกรานต์ สำเนียงล้านนาออกเสียงว่า สังขานต์
หรือวันสังขานต์ล่อง ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ยังไม่ถือว่าเป็นวันปีใหม่ เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน
ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า จะหยุดการทำงานทั้งหมด ในตอนเช้าตรู่ของวันนี้จะได้ยินเสียงปืนยิงขึ้นฟ้า
เสียงพลุ ดังมาจากบ้านต่าง ๆ ถือกันว่า ขับไล่ตัวสังขานต์ ตอนสายจะนำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่นอนหมอนมุ้งไปทำความสะอาด
จากนั้นจะดำหัว
หรือสระผม โดยใช้ส้มป่อย ถือว่าเป็นการแก้เสนียดจัญไร และอาถรรพณ์
เมื่อดำหัวเสร็จแล้ว จะทัดดอกไม้หรือใบไม้ ที่เป็นนามปี ในตำราบอกว่า บางปีก็ดำหัวก่อนสังขานต์ล่อง
บางปีก็ดำหัวพร้อมสังขานต์ล่อง บางปีก็ดำหัวหลังจากสังขานต์ล่องแล้ว คนส่วนมากจึงดำหัวในวันสงกรานต์เท่านั้น
ส่วนเวลาก็ตามสะดวก
การทำพิธีดำหัวเพื่อขอขมา และขอพรในวันพระยาวัน
การดำหัวในวันนี้ไม่เหมือนการดำหัวในวันสังขานต์ล่อง ซึ่งเราดำหัวให้แก่ตนเอง
สำหรับวันนี้เราไปดำหัวผู้อื่น คือไปดำหัวผู้ที่มีพระคุณ หรือที่เคารพนับถือ
เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที
และขออโหสิกรรมจากท่าน ท่านจะให้พรแก่เรา
วันเนา
ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน ดวงอาทิตย์สถิตอยู่ที่สองราศี จึงได้ชื่อว่าวันเนา
ถือว่าเป็นวันที่ไม่เป็นมงคล วันนี้ทั้งวันจะเป็นวันห่อธรรมดา (วันสุกดิบ)
ทุกครอบครัวจะประกอบอาหารทั้งคาวหวาน พยายามทำอย่างดีเพราะเป็นของที่จะไปถวายพระ
และเลี้ยงญาติพี่น้อง ตกตอนบ่ายคนทั้งหลายจะถือขันคนละใบ พากันไปยังเกาะทรายตามแม่น้ำ
เพื่อนำทรายมาก่อเจดีย์ทรายในวัด วันสุดท้ายต้องเป็นวัดประจำหมู่บ้านของตน
ในวันนี้ตามประเพณียังไม่มีการสาดน้ำกัน หลังจากก่อเจดีย์ทรายแล้ว มีเทศน์ธรรมอานิสงส์ปีใหม่
เมื่อฟังเทศน์จบ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หลังจากนั้นอาจารย์วัดก็กล่าวคำเวนทาน
พระสงฆ์ให้พร นำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปประพรมนก หรือสัตว์ที่เตรียมปล่อย แล้วจึงปล่อยไป
จากนั้นเอาด้ายสายสิญ์จ ที่ล้อมรอบเจดีย์ทรายของตนกลับบ้าน นำไปผูกข้อมือให้ลูกหลานต่อไป
ก่อนจะกลับก็สรงน้ำพระพุทธรูป ดำหัวเจ้าอาวาส แล้วเตรียมสิ่งของไปดำหัวพ่อแม่
หรือผู้ที่เคารพนับถือต่อไป
วันพระยาวัน
ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน ถือเป็นวันสำคัญยิ่งกว่าวันทั้งหลาย เป็นวันเถลิงศกจุลศักราช
เรียกว่า เริ่มวันปีใหม่ของปี เป็นวันศกใหม่ ใครจะทำงานมงคลใด ๆ ได้ทั้งสิ้น
ชาวบ้านจะนำสำรับกับข้าว คาวหวานไปถวายพระที่วัดแต่เช้า และนำไปให้บิดามารดา
หรือผู้ที่เคารพนับถือต่าง ๆ
ในวันนี้ผู้คนจะไปตักบาตรที่วัดกันทุกคน ทางวัดจะมีพานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน
ขันใส่ข้าวสุกและขนม หรืออาหารอื่น ๆ เมื่อไปถึงวัดแล้วก็จุดธูปเทียน ถือข้าวตอกดอกไม้บูชาพระพุทธรูป
แล้วนำดอกไม้ธูปเทียนมาใส่ขันแก้วทั้งสาม ซึ่งมักจะตั้งไว้กลางวิหาร เป็นพานใหญ่สูงประมาณศอกครึ่ง
ทำเป็นมุมสามมุม แต่ละมุมมีความหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เมื่อพระสงฆ์ลงมาสู่วิหาร อาจารย์วัดจะนำไหว้พระและสมาทานศีลห้า อาจารย์วัดจะกล่าวคำ
เวนทาน พระสงฆ์ให้พร
แล้วศรัทธาหยาด (กรวด) น้ำ เป็นเสร็จพิธี
วันปากปี
เป็นวันถัดจากวันพระยาวัน ตรงกับวันปากของปี ในตอนเช้าชาวบ้านจะพากันไปวัด
พร้อมกับนำสะตวงใส่เครื่องบูชาพระเคราะห์ทั้งเก้าคือ นพเคราะห์ หรือเรียกว่า
เข้าเก้าพุ้น เครื่องบูชาเคราะห์เหล่านี้จะไปวางไว้ต่อหน้าพระประธาน เจ้าอาวาส
และอาจารย์วัดทำพิธีกรรม เชื่อกันว่าเมื่อได้ทำพิธีแล้ว ครอบครัวจะปราศจากเคราะห์ตลอดปี
ตอนบ่ายจะไปทำพิธีรดน้ำดำหัวพ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ที่เคารพนับถือ
ประเพณีทานข้าวสลาก
หรือการกิ๋นก่วยสลาก หมายถึง ประเพณีทานสลากภัต จะเริ่มประมาณวันเพ็ญ เดือนสิบสองเหนือ
(คือเดือนสิบใต้) และสิ้นสุดในเดือนสิบเอ็ดใต้
การทานข้าวสลาก ในจังหวัดพะเยาจะเริ่มที่วัดป่าแดงบุนนาค ซึ่งถือว่าเป็นปฐมอารามในจังหวัดพะเยา
ก่อนแล้ววัดอื่น ๆ จึงจะจัดได้
ประเพณีสืบชะตา
ตามตำนานในคัมภีร์สืบชะตากล่าวว่า พระสารีบุตร มีสามเณรรูปหนึ่งชื่อ
ดิสสะ อายุเจ็ดปี มาบวชเพื่อศึกษากับท่านเป็นเวลาหนึ่งปี วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นลักษณะของสามเณรเห็นว่า
จะมีชีวิตอยู่ได้อีกเจ็ดวันก็จะมรณภาพ พระสารีบุตรจึงเรียกสามเณรมาบอกความจริงให้ทราบ
ดังนั้นจึงให้สามเณรกลับไปร่ำลาโยมพ่อ แม่ และญาติ สามเณรก็ได้เดินทางกลับบ้านด้วยความเศร้าหมอง
ระหว่างทางที่สามเณรเดินทางผ่านไปนั้น ได้พบปลาน้อยใหญ่ในสระน้ำ ซึ่งกำลังแห้งเขิน
กำลังดิ้นรนเพราะน้ำไม่เพียงพอ สามเณรเห็นว่าเราจะตายแล้ว ก็ควรโปรดสัตว์คือ
ปลาเหล่านั้นให้พ้นจากความตาย แล้วสามเณรจึงช้อนปลาน้อยใหญ่ทั้งหมดไว้ในภาชนะคือ
บาตรของตน แล้วนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ ระหว่างทางพบเก้ง ติดแร้วของนายพรานสามเณรก็ได้ปลดปล่อยเก้งตัวนั้น
เมื่อเดินทางไปถึงบ้านได้บอกเรื่องที่ตนจะตายให้ญาติ มีบิดามารดาเป็นต้น ทุกคนต่างก็ร่ำไห้สงสารสามเณรยิ่งนัก
แต่เมื่อเลยกำหนดหนึ่งวันสองวันตามลำดับ จนล่วงกำหนดไปเจ็ดวัน สามเณรก็ยังไม่ตาย
กลับมีผิวพรรณผ่องใสยิ่งขึ้น ญาติจึงบอกให้สามเณรกลับไปหาพระสารีบุตร สามเณรได้กราบเรียนให้ทราบ
ถึงเรื่องการนำปลาไปปล่อยในน้ำ และปล้อยเก้ง จากแร้วของนายพราน การกระทำเพื่อยืดชีวิตสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้
ได้เป็นพลังให้พ้นจากความตายได้
ด้วยตำนานนี้ ทำให้ชาวล้านนาไทย นิยมการสืบชะตาเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีสืบชะตาแบ่งออกเป็นสามประเภทคือ ประเพณีสืบชะตาคน ประเพณีสืบชะตาบ้าน
และประเพณีสืบชะตาเมือง
ประเพณีสืบชะตาคน
นับเป็นประเพณีสำคัญ ที่ชาวล้านนาไทยนิยมทำกันในหลายโอกาส เช่น เนื่องในวัดเกิด
วันได้รับยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่ วันขึ้นบ้านใหม่ หรือย้ายที่อยู่ใหม่
การสืบชะตาคน จะมีเครื่องพิธีคล้ายคลึงกัน สถานที่จะทำในห้องโถง หากเป็นวัดจะจัดในวิหาร
หรือที่หน้าวาง คือ ห้องรับแขกของเจ้าอาวาส ถ้าเป็นบ้านก็จะจัดทำบนเติ๋น คือ
ห้องรับแขก หากเป็นวัดก็จะมีพระภิกษุ สามเณรรวมทั้งอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย
ถ้าเป็นบ้านก็ต้อนรับญาติมิตรแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน
ประเพณีสืบชะตาบ้าน
มีความเชื่อว่าบ้านที่ตั้งมาตามฤกษ์ยาม วันดีวันเสียนั้น มีเวลาที่ราหูมฤตยู
เข้ามาทับเบียดเบียนทำให้ชะตาบ้านขาดลง เป็นเหตุให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านประสบความเดือดร้อน
ชาวบ้านถือว่าอุบาทว์ตกลงสู่บ้าน หรือชาวบ้านถือเป็นเรื่องขีดบ้านขีดเรือน
โดยจะร่วมพิธีขจัดปัดเป่า เรียกว่าสืบชะตาบ้าน
ในแต่ละหมู่บ้านจะมีศาลเทพารักษ์ประจำบ้านที่สิงสถิตของอารักษ์ (อาฮัก) บางแห่งเรียกเจ้านายบ้าง
หอเสื้อบ้านบ้างนับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากวัด
หอเสื้อบ้านมักจะอยู่กลางบ้าน ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม
ประเพณีสืบชะตาเมือง
การทำพิธีสืบชะตาเมืองของชาวล้านนาไทยมีมาแต่สมัยโบราณ ถือว่าการตั้งเมืองมีดวงชะตาที่เรียกกันว่า
ดวงชะตาเมือง บางครั้งดาวพระเคราะห์ที่เป็นบาปเคราะห์เข้ามาทับดวงเมือง
ทำให้เมืองนั้นชะตาตก ชาวเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นจะได้รับความเดือดร้อนและเคราะห์ร้ายต่าง
ๆ นานา ดังนั้น ผู้ใหญ่ในเมืองนั้นจะร่วมทำพิธีสืบชะตาเมืองขึ้นเพื่อสืบอายุเมืองต่อไปไม่ให้ขาดลง
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |