| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น
บ้านเรือนเมืองพะเยา
เรือนล้านนาคล้ายกับเรือนไทยภาคอื่นคือเป็นเรือนใต้ถุนสูงเพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย
และจากน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก นอกจากนั้นเนื่องจากภาคเหนือมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น
บ้านเรือนเมืองพะเยาจึงนิยมเอาด้านยาวของเรือนหันไปทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก
ส่วนจั่วหรือด้านสกัดมักหันไปยังทิศเหนือ - ใต้ เป็นการวางเรือนขวางตะวัน
ทำให้ตัวเรือนได้รับแสงแดดมากขึ้น ไม่ต้องรับลมจากทิศเหนือในฤดูหนาวที่หนาวเย็น
เรือนชาวเขามักมีเตาไฟไว้ในตัวเรือนเพื่อหุงหาอาหารและให้ความอบอุ่น ประตูหน้าต่างมีแต่น้อยเท่าที่จำเป็น
โดยเฉพาะเรือนชาวเขาเผ่าอีก้อเกือบไม่มีหน้าต่างเลย คือมีพื้นเรือนกับหลังคาคลุมลงมาจาดพื้น
ภายในเรือนจึงมือสนิท
แต่เดิมชาวล้านนาเคยมีครัวไฟอยู่ในเรือนเช่นกัน ต่อมาเมื่ออพยพลงมาทางใต้
อากาศอบอุ่นขึ้น เรือนล้านนาจึงแยกครัวไฟออกไปไว้ด้านนอกเป็นสัดส่วน เหมือนเช่นเรือนภาคกลาง
ชานเรือนนอกห้องนอน ที่เรียกว่า เติ๋น
มีประโยชน์อย่างยิ่งในฤดูร้อน เพราะอากาศถ่ายเทได้ดี ช่วยให้เย็นสบาย และยังมีส่วนของผนังเรือนที่เรียกว่า
ฝาไหล
เป็นฝาที่มีสองส่วนประกอบอยู่ด้วยกัน ส่วนหนึ่งติดตาย อีกส่วนหนึ่งเลื่อนได้
ทำให้สามารถเป็นฝาทึบ และฝาโปร่งได้ เป็นฝากั้นระหว่างภายในกับภายนอกเรือน
ที่ชานเรือนจะมีร้านน้ำ ทำเป็นเพิงคล้ายศาลาแต่มีขนาดเล็ก สำหรับตั้งหม้อดินเผาสองสามใบ
น้ำในหม้อดินจะเย็นชวนดื่ม ร้านน้ำมักตั้งอยู่หน้าบ้านใกล้บันได มีกระบวยตักน้ำวางไว้พร้อมเพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้อาศัยดื่มน้ำ
ตำแหน่งเรือนนอนมักอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรือตะวันออกของตัวบ้านเช่นเดียวกับทิศของหัวนอนเพราะเป็นทิศมงคล
เหนือประตูเข้าห้องนอนจะมีท่อนไม้คล้ายทับหลังแกะสลัก หรือฉลุเป็นลวดลายต่าง
ๆ สวยงาม เรียกว่า หำยนต์
ตามประเพณีผู้ที่ตั้งใจย่างเข้าไปในเรือนนอน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเรือนแล้วถือเป็นการผิดผี
ผู้บุกรุกต้องประกอบพิธีกรรมเป็นการชำระความผิด ถ้าไม่ปฏิบัติจะถือว่าเป็นอัปมงคลของผู้บุกรุก
เท่ากับเดินลอดหว่างขาเจ้าของเรือน ทำให้ไม่เจริญ
รอบ ๆ บ้านก็เช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ คือมีการปลูกต้นไม้ไว้ทำประโยชน์ต่าง ๆ
มักเป็นต้นไม้ที่มีชื่อให้ความหมายในทางที่ดี เช่น ขนุน มะขาม มะพร้าว และไผ่
เป็นต้น ต้นไม้มงคลที่นิยมปลูกได้แก่ต้นส้มป่อย เพราะใช้ประกอบพิธีกรรมอยู่เสมอในวัฒนธรรมล้านนา
วัฒนธรรมการกินอาหาร
ขันโตก เป็นพิธีต้อนรับของชาวพะเยา ที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาช้านาน
การเลี้ยงแขกโดยการกินข้าวขันโตก อาจมีหลายชื่อ บางทีก็เรียกว่า กิ๋นข้าวแลงขันโตก
หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ประเพณีขันโตก หรือสะโตก ซึ่งเป็นภาชนะที่ทำด้วยไม้ แกะจากท่อนไม้นำมากลึงให้เป็นรูปถาด
มีความสูงกว่าถาดธรรมดา มีเชิงหรือตีน ทาด้วยรักหรือชาดเป็นสีแดง หรือสีเปลือกมังคุด
ชาวล้านนานิยมใช้สะโตกใส่อาหารหลาย ๆ ชนิด รับประทานร่วมกันในครอบครัวมาแต่โบราณ
การเลี้ยงแขกแบบกินข้าวแลงขันโตก เป็นการเลี้ยงแขกที่ค่อนข้างหรูหรา มีการตกแต่งสวยงาม
มีอาหารหลายชนิด ในชีวิตประจำวันก็มีการกินข้าวขันโตกกันในครอบครัว หรืออาจกินกันในโอกาสทำบุญ
ทำทาน
การกินข้าวขันโตกของชาวเหนือ จะต้องกินข้านึ่ง (ข้าวเหนียว) เป็นหลัก เมื่อนึ่งข้าวเสร็จแล้ว
นำเอาข้าวไปใส่ในกระติ๊บข้าว หรือทางเหนือเรียก แอ้บข้าว หรือก่องข้าว นิยมสานด้วยไม้ไผ่หรือใบลาน
มีสีสันลวดลายงดงาม ยังมีกระติ๊บข้าวนึ่งขนาดใหญ่เรียกว่า กระติ๊บหลวง
มีขนาดใหญ่มาก อาจต้องใช้คนหามเข้าขบวนแห่นำขบวนขันโตก มีขบวนสาวงาม ช่างฟ้อนมาฟ้อนนำขันโตก
ผสมผสานกับเสียงดนตรี และเสียงโห่ร้องแสดงความชื่นชมยินดี เมื่อช่างฟ้อนมาถึงงานเลี้ยงแล้ว
จะนำกระติ๊บหลวงไปวางไว้กลางงาน แล้วนำข้าวนึ่งในกระติ๊บหลวง แบ่งใส่กระติ๊บเล็ก
เอาไปแจกจ่ายตามโตกต่าง ๆ จนทั่วงาน
การนั่งกินอาหารในงานขันโตกนิยมนั่งกับพื้นปูเสื่อที่สานด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า
สาดเติ้ม การแต่งกายของผู้มาร่วมงานข้าวขันโตก นิยมแต่งกายพื้นเมือง สตรีนิยมไว้ทรงผมมวยเกล้าไว้บนศีรษะ
แซมผมด้วยดอกเอื้อง หรือดอกไม้อื่น ๆ ที่สีสวยและมีกลิ่นหอมกรุ่น ขณะที่กำลังกินข้าวขันโตก
นิยมให้แสดงฟ้อนเทียน ซึ่งดัดแปลงมาจากการฟ้อนเล็บ
อาหารที่นิยมเลี้ยงในงานขันโตก เป็นอาหารพื้นเมือง นอกจากข้าวนึ่งแล้วยังมีอาหารที่เป็นกับข้าวแบบชาวเหนือ
เช่น แกงฮังเล แกงอ่อม แกงแค แกงกระด้าง ไส้อั่ว (ไส้กรอก) จิ้นปิ้ง
(เนื้อย่าง) ลาบ น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ผักสด ผักนึ่ง และยังมีของหวานต่าง
ๆ เช่น ขนมปาด ข้าวแตน ข้าวควบ มีน้ำต้นคนโท ขันน้ำสำหรับล้างมือก่อนหยิบข้าวนึ่ง
มีเมี่ยง และบุหรี่ไว้สำหรับแขกด้วย
ขนบธรรมเนียมประเพณี
วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ มีพื้นฐานมาจากความเชื่อในพระพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์
และความเชื่อต่าง ๆ ผูกพันกับธรรมชาติโดยตลอด
แปดเป็งนมัสการพระเจ้าตนหลวง
พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา มีอายุกว่า ๕๐๐
ปี เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง
ในระหว่างเดือนแปด หรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่เหนือ ตรงกับวันวิสาขบูชา ผู้คนจากทุกสารทิศ ต่างพากันมานมัสการพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ คณะศรัทธาจากชุมชนหมู่บ้านต่าง ๆ จะจัดขบวนแห่ครัวทาน ฟ้อนรำ มีการละเล่น การแสดงของชุมชน มีการทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ รักษาศีล ฟังเทศน์ ปฎิบัติธรรมกันทั่วไป
พิธีบวงสรวงพ่อขุนงำเมือง
ในวันที่ ๕ มีนาคม ของทุกปี ริมกว๊านพะเยา จะเต็มไปด้วยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ
มาร่วมทำพิธีบวงสรวงพ่อขุนงำเมือง มีการทำพิธีทำบุญเมือง บวงสรวงดวงพระวิญญาณกษัตริย์เมืองพะเยา
และบวงสรวงศาลหลักเมือง
การจัดสถานที่ จะต้องอยู่หน้าสิ่งที่จะบวงสรวง โดยทำริ้วเรียกว่า ราชวัติ
ล้อมรอบ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สำหรับวางเครื่องบวงสรวง
เครื่องประกอบในการตกแต่งราชวัติ จะตกแต่งด้วยช่อ (ธงกระดาษ ลายฉลุ) สีต่าง
ๆ และตุงทั้งห้ามุม ประดับด้วยฉัตรเงิน ฉัตรทอง เก้าชั้น มุมละหนึ่งองค์ มีหน่อกล้วย
หน่ออ้อย ต้นกุ๊ก ประดับทุกด้าน มุมโต๊ะด้านใดด้านหนึ่งกั้นสัปทนไว้หนึ่งคัน
เครื่องบวงสรวงที่เป็นอาหารจัดใส่ขันโตก รวมห้าโตก สำหรับเครื่องบวงสรวงหนึ่งชุด
ทุกโตกประดับด้วยดาวดอกเรือง โรยด้วยกลีบกุหลาบ
เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ประธานจะจุดเทียน ปู่อาจารย์ หรือพราหมณาจารย์ จะอ่านโองการบวงสรวง
โดยเริ่มจากการไหว้ครู และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ไหว้เทวดาประจำทิศ อัญเชิญมารับเครื่องบวงสรวง
และกล่าวคำบวงสรวงเป็นภาษาบาลี
งานสืบสานตำนานไทลื้อ
ชาวไทลื้อ เดิมอาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ เจ้าผู้ครองนครน่านได้กวาดต้อนชาวไทลื้อ มาอยู่ที่อำเภอเชียงคำ และเชียงม่วน
ทุกวันนี้ชาวไทลื้อดังกล่าว ยังคงสภาพวัฒนธรรมแบบไทลื้อไว้เป็นอย่างดี นับแต่ประเพณีความเชื่อ
การแต่งกาย การปลูกสร้างบ้านเรือน จริยธรรม สภาพแวดล้อมบริเวณบ้านเรือนจะสะอาดร่มรื่น
มีสวนครัว มีแปลงดอกไม้รอบ ๆ บ้าน ทุกบ้านมีกี่ทอผ้าไว้ในครัวเรือน และทำเป็นอาชีพเสริม
มีความสามัคคีเอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือกันในการงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี
งานสืบสานตำนานไทลื้อ เป็นงานประจำปีของอำเภอเชียงคำ จัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
มีกิจกรรมที่นำมาสาธิตหลายประเภท นับตั้งแต่การละเล่นพื้นบ้าน สินค้าพื้นบ้าน
เช่น ผ้าทอไทลื้อ และอาหาร เป็นต้น
งานปูจาพญาลอ
เวียงลอ เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า ๙๐๐ ปี มาแล้ว
อยู่ในเขตอำเภอจุน ห่างจากที่ว่าการอำเภอจุนประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จากซากโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่
แสดงว่าเวียงลอน่าจะเป็นเมืองใหญ่มาก่อน พงศาวดารกล่าวแต่เพียงว่า ในสมัยพญาเจือง
หรือขุนเจิง (ประมาณปี พ.ศ.๑๖๒๕ - ๑๗๐๕) ได้เกณฑ์คนจากเวียงลอ เวียงเทิง
ไปต้านพวกแกวที่มาเมืองเชียงแสน บ้างก็สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองลอ ในลิลิตพระลอ
ในเดือนเมษายนของทุกปี ชาวอำเภอจุน จะจัดพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ที่ครองเวียงลอทุกองค์
เรียกงานนี้ว่า งานปูจาพญาลอ มีอยู่สิบสองขบวนด้วยกัน เริ่มจากขบวนอัญเชิญดวงวิญญาณ
และปราสาทนฤมิต หมายถึง ดวงวิญญาณของกษัตริย์ผู้ครองเวียงลอในอดีต ขบวนสุดท้ายเป็นขบวนทวยราษฎร
แสดงถึงการอพยพไพร่พลของขุนคงคำแถน เข้าสู่ดินแดนหุบผาดอยจิ และกิ่วแก้ว ดอยยาว
จำนวน ๓๖ ครัวเรือน เพื่อรำลึกถึงครอบครัวของผู้เสียสละ เพื่อรักษาอาณาเขตเมืองลอ
และพระเจดีย์ศรีปิงเมือง
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |