| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นดินแดนซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนมาแต่โบราณ
มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอย่างต่อเนื่องมาหลายยุคหลายสมัย
พบเครื่องมือเครื่องใช้สมัยหินใหม่ ลักษณะเป็นหินทุบเปลือกไม้ ที่อำเภอทับสะแก
สมัยประวัติศาสตร์
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ เป็นต้นมา ได้มีการเดินเรือติดต่อค้าขายระหว่างอินเดียกับจีนขยายตัวมากขึ้น
ชาวอินเดียเริ่มเดินทางเข้ามาทำการค้ากับชนพื้นเมือง ในดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ชาวจีนก็เช่นเดียวกัน ทำให้คาบสมุทรอินโดจีนและคาบสมุทรมลายูกลายเป็นเส้นทางผ่านและเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาวจีน
อินเดีย ลังกา อาหรับ เปอร์เซีย กรีก และโรมัน เป็นผลให้ชุมชนในบริเวณดังกล่าวมีการรวมกลุ่ม
และพัฒนาขึ้นเป็นรัฐในเวลาต่อมา
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ เส้นทางการค้าระหว่างอินเดียใช้เส้นทางทางทะเลเป็นหลัก
โดยการเดินเรือข้ามคาบสมุทรมลายู แล้วเดินเรือเลียบตามชายฝั่งทะเลอันดามัน
ทางฝั่งด้านตะวันตกและชายฝั่งอ่าวไทย ทางฝั่งด้านตะวันออก
นอกจากเส้นทางดังกล่าวแล้ว เอกสารจีนยังกล่าวถึงเส้นทางคมนาคมระหว่างอินเดีย
และจีนที่สำคัญอีกสองเส้นทางคือ เส้นทางลัดข้ามคาบสมุทรมลายูตอนล่าง ซึ่งจะเริ่มจากตะโกลา
หรือตะกั่วป่า ข้ามมาทางฝั่งตะวันออกที่บริเวณอ่าวบ้านดอน เส้นทางนี้ใช้มาก่อนพุทธศตวรรษที่
๑๐ และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เนื่องจากเกิดโจรสลัดชุกชุมในบริเวณช่องแคบแหลมมะละกา
ทำให้นักเดินเรือต้องเลี่ยงมาใช้เส้นทางนี้แทน เส้นทางนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๓ ส่วนเส้นทางที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่งคือ เส้นทางลัดข้ามคาบสมุทรตอนเหนือ
เริ่มจากแม่น้ำตะนาวศรีแล้วข้ามทิวเขาตะนาวศรีมายังฝั่งอ่าวไทย เส้นทางดังกล่าวนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของชุมชนบริเวณเมืองประจวบ
ฯ ในเวลาต่อมา
เมื่อประจวบ ฯ เป็นเมืองชายทะเลที่เปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างดินแดนปลายแหลมมลายูกับภาคกลางของไทย
ซึ่งแต่เดิมในระยะแรกนั้นการคมนาคมติดต่อระหว่างชุมชนเมือง แถบชายฝั่งทะเลจีนใต้และอ่าวไทย
ใช้วิธีการเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของแหลมมลายู จึงกล่าวได้ว่าการตั้งชุมชนในระยะแรกของเมืองประจวบ
ฯ คงมีลักษณะเป็นชุมชนชายฝั่งทะเลขนาดเล็ก ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรองรับการเดินทาง
เป็นจุดผ่านหรือจุดแวะพักเพื่อเดินเสบียงอาหาร น้ำจืด และรวบรวมสินค้าเท่านั้น
เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การหลบคลื่นลมเป็นอย่างดี เพระประกอบไปด้วยเกาะ
แก่ง อ่าว และเพิงผา
ในอดีตบริเวณเมืองประจวบ ฯ ปรากฎที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเดินเรือต่างชาติ
จากจดหมายเหตุของ วันวลิต (van valiet) ชาวฮอลันดา ซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายกับอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๗๖ - ๒๑๘๕ ได้บันทึกเรื่องราวของ ท้าวอู่ทอง
ที่เกี่ยวข้องกับเมืองกุยว่า
โอรสพระเจ้ากรุงจีน นามว่า เจ้าอุยถูกพระบิดาเนรเทศลงเรือสำเภาพร้อมด้วยบริวารได้แล่นเรือมาถึงบริเวณแหลมลายู
ได้สร้างเมืองขึ้นหลายแห่งเช่น เมืองลังกาสุกะ เมืองนคร (ligor) และเมืองกุย
(Guii) โดยเจ้าอุย อยู่ที่เมืองกุย ต่อมาก็ได้นามว่า ท้าวอู่ทอง
จากแผนที่การเดินเรือของชาวต่างชาติ ปรากฎสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองประจวบ
ฯ เช่น แผนที่เดินเรือของกองเรือจีน ในบังคับบัญชาของเช็งโห หัวหน้าขันทีซึ่งพระเจ้ายุงโล้
แห่งราชวงศ์เหม็ง ให้ออกไปสำรวจดินแดนทางตะวันตก เพื่อหาซื้อสิ่งของที่แปลกและหายากประเภทเพชรพลอย
ไม้หอมและเครื่องเทศ ในระหว่างปี พ.ศ.๑๙๗๔ - ๑๙๗๕ ได้กล่าวถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่แปลว่า
เขาสามยอด สันนิษฐานว่า เป็นตำบลหนึ่งในบริเวณเมืองประจวบ ฯ ซึ่งน่าจะอยู่บริเวณเขาสามร้อยยอด
นอกจากนี้แผนที่เดินเรือของชาวอาหรับยังปรากฎชื่อเมือง Kui หรือ Kuwi เหมือนกับแผนที่ของชาวโปรตุเกส
ที่ปรากฎชื่อเมือง Cure ซึ่งน่าจะหมายถึงเมืองกุยเช่นกัน
สมัยอยุธยา
ในปี พ.ศ.๑๘๙๓ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี บรรดาเมืองต่าง ๆ ในบริเวณเมืองประจวบคีรีขันธ์
ก็ได้รวมอยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยาด้วย จากหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า
กล่าวถึงชื่อของเมืองกุย เมืองปราณ เมืองนารัง เมืองบางตะพาน เมืองสิงคอง
(สิงขร) เมืองคลองวัน (คลองวาฬ) และะเมืองบางตะพานน้อย ว่าอยู่ในลำดับหัวเมืองปักษ์ใต้
ในปี พ.ศ.๒๑๓๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระองค์ได้เสด็จ ฯ พร้อมสมเด็จพระเอกาทศรถ มาประทับที่เมืองเพชรบุรี จากนั้นได้เสด็จ
ฯ ทางชลมารคถึงบริเวณตำบลสามร้อยยอด โปรดให้สร้างพระตำหนักที่ริมทะเล ทั้งสองพระองค์ประทับและเสด็จ
ฯ ประพาสทางทะเลแถบนี้อยู่ ๑๔ วัน
ในปี พ.ศ.๒๑๔๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
เมืองตะนาวศรีมีหนังสือแแจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า กองทัพพม่าและมอญยกมาล้อมเมืองขอพระราชทานกองทัพไปช่วย
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพิชัยสงครามเป็นแม่ทัพยกไปช่วย
แต่เมื่อเดินทางไปถึงด่านสิงขรได้รับใบบอกว่า เมืองตะนาวศรีเสียแก่พม่าแล้ว
พ.ศ.๒๒๔๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ
พระองค์ได้เสด็จ ฯ ประพาสเมืองเพชรบุรี จากนั้นได้เสด็จ ฯ ทางชลมารคมาประทับที่พระตำหนักสามร้อยยอดเป็นเวลา
๑๕ วัน
พ.ศ.๒๒๙๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เจ้าเมืองกุยบุรีได้มีใบบอกมายังกรุงศรีอยุธยาว่า พบทองคำที่ตำบลบางสะพาน
แขวงเมืองกุยบุรี พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไพร่พลไปขุดและร่อนทองคำ ได้ทองคำมา
๙๐ ชั่งเศษ
พ.ศ.๒๓๐๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์
พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่ายกกองทัพมาตีเมืองทวาย
และเมืองมะริด ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ยกกำลังไปต้านข้าศึกสองกองทัพคือ กองทัพของพระยายมราช
ยกไปทางด่านสิงขรไปป้องกันเมืองมะริด ส่วนกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร
ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุยบุรี ในครั้งนี้กองทหารอาทมาต
จากเมืองวิเศษชัยชาญ จำนวน ๔๐๐ นาย โดยการนำของขุนรองปลัดชู
ได้ออกมาคอยตั้งรับข้าศึกอยู่บริเวณตำบลอ่าวหว้าขาว
ปากทางด่านสิงขร กองทหารอาทมาตได้เข้าขับไล่พม่า แต่ฝ่ายพม่ามีกำลังมากกว่า
กองทัพของพระยารัตนาธิเบศรมาช่วยไม่ทัน เมื่อทราบว่ากองทหารอาทมาตพ่ายแพ้แล้ว
จึงได้ถอยกองทัพไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเพชรบุรี
พ.ศ.๒๓๐๗ กองทัพพม่าที่ติดตาม หุยตองจาเจ้าเมืองทวาย ได้ถือโอกาสเข้าตีหัวเมืองปักษ์ใต้หลายเมือง
รวมทั้งเมืองกำเนิดนพคุณ เมืองคลองวาฬ เมืองกุย และเมืองปราณ จนกระทั่งถึงเมืองเพชรบุรี
แต่ถูกกองทัพพระยาพิพัฒนโกษา กับพระยาตากสินเข้าสกัดไว้ จึงถอยกำลังกลับไปเมืองทวายทางด่านสิงขร
พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว เมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้คงจะกลายเป็นเมืองร้างไปชั่วระยะหนึ่ง
เนื่องจากผู้คนพากันหลบหนีกองทัพพม่าที่เข้ามาปล้นสดมภ์ โดยผ่านเข้ามาตามช่องทางที่มีอยู่หลายช่องทาง
โดยเฉพาะช่องด่านสิงขร
สมัยธนบุรี
ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ ได้มีใบบอกจากเมืองคลองวาฬว่า มีกองทัพพม่าจำนวน ๕๐๐
คน ยกกำลังเข้ามาทางด่านสิงขร เข้าปล้นบ้านทับสะแก แขวงเมืองกำเนิดนพคุณ เกรงว่าจะขึ้นมาตีเมืองคลองวาฬขอให้ส่งกำลังไปช่วย
แต่ขณะนั้นทางกรุงธนบุรีกำลังมีศึกติดพันอยู่ที่เมืองราชบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน
ฯ จึงมีรับสั่งให้เมืองกุย และเมืองคลองวาฬ ทำลายแหล่งน้ำกินน้ำใช้ ตามระยะทางที่จะขึ้นมายังเมืองเพชรบุรีทุกแห่ง
ต่อมากองทัพพม่าตีได้บ้านทับสะแก และเผาเมืองกำเนิดนพคุณ จากนั้นได้เข้าตีเมืองปะทิวมาตามลำดับ
สมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะแบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเดิมขึ้นกับกรมท่า
จำนวน ๑๙ หัวเมือง และจากมหาดไทยอีกหนึ่งหัวเมือง รวมเป็น ๒๐ หัวเมือง ให้ไปขึ้นกับกรมพระยากลาโหม
ในบรรดาเมืองดังกล่าวมี เมืองคลองวาฬ เมืองกุย และเมืองปราณ รวมอยู่ด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองบางนางรม
ขึ้นที่บริเวณปากคลองบางนางรม แต่เนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะที่จะทำการเกษตรกรรม
เจ้าเมืองจึงย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งอยู่ที่เมืองกุย ซึ่งเป็นเมืองเก่า มีชุมชนอยู่หนาแน่นกว่า
และพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อย้ายมาแล้วยังคงใช้ชื่อว่า เมืองบางนางรม
เช่นเดิม
ในปี พ.ศ.๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองบางนางรม เมืองกุยบุรี และเมืองคลองวาฬเข้าด้วยกัน
แล้วพระราชทานนามว่า เมืองประจวบคีรีขันธ์
คู่กับเมืองประจันตคีรีเขต
ซึ่งพระราชทานให้เป็นนามของเกาะกง (ปัจจุบันอยู่ในกัมพูชา) พร้อมทั้งพระราชทานนามแก่เจ้าเมืองใหม่ว่า
พระพิไชยชลสินธุ์
ในปี พ.ศ.๒๔๐๗ มีการเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ
เกี่ยวกับเรื่องการปักปันดินแดนระหว่างไทยกับพม่า ซึ่งเริ่มพิจารณาบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ก่อน
ผู้แทนอังกฤษเสนอหลักการปักปันเขตแดนว่า ควรกำหนดให้ทิวเขาเป็นแนวแบ่ง ถ้าตอนใดน้ำไหลลงฟากเขาด้านตะวันออกให้ถือเป็นดินแดนของไทย
ถ้าไหลลงฟากตะวันตกให้ถือว่าเป็นของอังกฤษ ฝ่ายไทยค้านว่าจะถือตามนั้นไม่ได้
เพราะบางตำบลต้นน้ำไหลจากภูเขาฝั่งไทยแล้วไหลลงไปฝั่งพม่าก็มีเช่น แม่น้ำเกลิงทอ
และแม่น้ำกษัตริย์ เป็นต้น แต่ด้วยอุปสรรคเรื่องภาษาฝ่ายไทยจึงได้ยินยอม ให้ถือเอาทิวเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกำหนดเขตแดนอย่างคร่าว
ๆ จากนั้นฝ่ายอังกฤษก็ได้พยายามถกเถียงบีบบังคับกำหนดให้ทิวเขาใกล้มาทางไทยมากที่สุด
เป็นที่ปักปันเขตแดนทำให้ไทยเสียดินแดนที่เคยครอบครองอยู่เดิม ซึ่งในสมัยโบราณจะมีอาณาเขตลึกเข้าไปเมืองสิงขร
(ปัจจุบันคือตำบลเทียนกุลของประเทศพม่า) เป็นผลให้แผนที่ประเทศไทยบริเวณเมืองประจวบคีรีขันธ์
มีลักษณะคอดกิ่วเป็นพื้นที่แคบที่สุดของประเทศ
ในปี พ.ศ.๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงคำนวณได้ว่าวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง สามารถเห็นได้ชัดเจนที่ตำบลหว้ากอ
แขวงเมืองประจวบ ฯ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ ค่ายหลวง ตำบลหว้ากอ
โดยมีนักดาราศาสตร์ชาติต่าง ๆ รวมทั้งคณะฑูตานุฑูตร่วมขบวนเสด็จด้วย
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้จัดการปกครองส่วนภูมิภาคแบบเทศาภิบาลทรงพิจารณาเห็นว่า เมืองประจวบ ฯ เป็นเมืองเล็ก
จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ยุบเมืองลงเป็นอำเภอประจวบ ฯ ขึ้นอยู่กับเมืองเพชรบุรี
แต่ยังคงตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองกุย
พ.ศ.๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากเมืองกุยมาตั้งที่อ่าวเกาะหลัก
คืออ่าวประจวบ ฯ ในปัจจุบัน
พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมอำเภอเมือง
ฯ อำเภอปราณบุรี (ขึ้นอยู่กับเมืองเพชรบุรี) และเมืองกำเนิดนพคุณ (ขึ้นกับเมืองชุมพร)
แล้วตั้งขึ้นเป็นเมืองปราณบุรี เพื่อรักษาชื่อเมืองปราณ โดยให้ขึ้นกับมณฑลราชบุรี
พ.ศ.๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชดำริว่า การมีชือ่เมืองปราณบุรีอยู่สองแห่ง อาจทำให้เกิดความสับสน
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองปราณบุรีที่ตำบลเกาะหลัก เป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ตามเดิม
ส่วนเมืองปราณที่ปากน้ำปราณ ยังคงเรียกว่าเมืองปราณ เช่นเดิม ขณะนั้นเมืองประจวบ
ฯ ประกอบด้วยสามอำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอปราณบุรี และอำเภอกำเนิดนพคุณ
พ.ศ.๒๔๗๖ มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เมืองประจวบ
ฯ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด ประกอบด้วยอำเภอเมือง ฯ อำเภอปราณบุรี อำเภอบางสะพาน
อำเภอหัวหิน อำเภอทับสะแก อำเภอกุยบุรี และกิ่งอำเภอบางสะพานน้อย
พ.ศ.๒๔๘๔ เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่บริเวณอ่าวประจวบ ฯ และอ่าวมะนาว เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม เข้ายึดจังหวัดประจวบ ฯ เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังประเทศพม่าทางด่านสิงขร บรรดาทหารตำรวจข้าราชการพลเรือนประชาชน และยุวชนทหารชาวประจวบ ฯ ได้เข้าขัดขวางอย่างเต็มกำลัง การต่อสู้เริ่มขึ้นที่บริเวณกองบินน้อยที่ ๕ (ปัจจุบันเป็นกองบินที่ ๕๓) เข้าไปถึงในตัวเมืองประจวบ ฯ ทำให้ทหารญี่ปุนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ต่อมารัฐบาลไทยได้มีคำสั่งให้ยุติการต่อสู้ โดยได้ตกลงยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านช่องสิงขรออกสู่ประเทศสภาพพม่า
เหตุการณ์เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ขุนบำรุงรัตนบุรีดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบ
ฯ นายนาวาอากาศโท หม่อมหลวงประวาส ชุมสาย เป็นผู้บัญชาการกองบินน้อยที่ ๕
ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเกาะหลักและอ่าวมะนาว เวลานั้นฝูงบินของกองบินน้อยที่
๕ ต้องไปช่วยราชการที่จังหวัดสงขลาหนึ่งฝูง ไปประจำที่สนามบินต้นสำโรง จังหวัดนครปฐม
หนึ่งฝูง จึงเหลืออยู่ที่กองบิน ๕ เพียงฝูงเดียว ทางหน่วยได้ขุดหลุมรังปืนกลหนักและปืนกลเบา
บริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและด้านอ่าวมะนาว รวมทั้งบนเขาวัวตาเหลือก อีกจุดหนึ่งด้วย
กำลังตำรวจได้แบ่งไปประจำอยู่บริเวณชายแดนไทย - พม่า เพื่อป้องกันอังกฤษที่ยึดครองพม่าอยู่
อาจจะรุกเข้าประเทศไทย เหลือตำรวจรักษาการณ์อยู่ที่ตัวจังหวัดเพียงเล็กน้อย
และทุกหน่วยราชการกำลังเตรียมงานฉลองวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะจัดงานในวันที่ ๑๐
ธันวาคม
ตอนเช้าของวันที่ ๘ ธันวาคม นายร้อยตรี ศรีศักดิ์ สุจริตธรรม และเพื่อนทหารอีกประมาณ
๑๐ คน ได้ออกไปลากอวนอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งอ่าวมะนาวมากนัก ได้สังเกตเห็นเรือลำเลียงท้องแบนหลายลำ
กำลังแล่นมุ่งหน้าเข้าสู่ฝั่ง จึงได้รีบมาแจ้งเหตุแก่ทหารกองบินน้อยที่ ๕
อ้านอ่าวมะนาว ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การสู้รบกับทหารญี่ปุ่นในที่สุด
กำลังทหารญี่ปุ่นได้ยกกำลังเข้ามาพร้อมกันทั้งอ่าวเกาะหลัก
และอ่าวเกาะมะนาว
ทางด้านอ่าวเกาะหลัก กำลังทหารญี่ปุ่นสามารถยกพลขึ้นบก แล้วเข้ายึดที่ทำการไปรณีย์
กองกำกับการตำรวจและสถานีรถไฟ
การต่อสู้ดำเนินไปจนสาย ทหารญี่ปุ่นได้กระจายกำลังกันขุดสนามเพลาะตลอดแนวสนามบิน
จนจดฝั่งทะเลทั้งสองด้าน ฝ่ายทหารได้ยิงต่อสู้จนกระสุนหมดต้องใช้กระสุนซ้อมยิงเข้ายิงต่อสู้
นายนาวาอากาศโท หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย เห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ต่อไป จึงได้ตัดสินใจสั่งทำลายคลังเก็บของตลอดจนทรัพย์สินอื่น
ๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก
การต่อสู้ได้ดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ทหารญี่ปุ่นยังไม่สามารถยึดกองบินน้อยที่
๕ ได้สำเร็จ จึงได้เสริมกำลังสนับสนุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายไทยเห็นเหลือกำลังจึงได้ถอยกำลังส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นที่เชิงเขาล้อมหมวก
พร้อมทั้งอพยพครอบครัวทหารขึ้นไปอยู่บนเขาล้อมหมวกด้วย และเมื่อตกค่ำก็ได้ระเบิดคลังน้ำมันที่มีอยู่ประมาณ
๑๐๐ ถัง การต่อสู้คงดำเนินต่อไป
เช้าวันที่ ๙ ธันวาคม การรบคงยืดเยื้อต่อไป ฝ่ายราษฎรเตรียมอพยพไปรวมกันที่หน้าบ้านขุนประจวบสมบูรณ์
คหบดีของจังหวัด ส่วนทางเรือนจำได้ปล่อยตัวนักโทษทั้งหมดของเรือนจำ
เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. รัฐบาลได้ประกาศอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย
ไปยังประเทศพม่า การสู้รบจึงยุติลง รวมเวลาการสู้รบทั้งหมด ๓๓ ชั่วโมง
เพื่อเป็นการระลึกถึงความกล้าหาญเสียสละของทหารกองบินน้อยที่ ๕ ในครั้งนั้นจึงได้สร้างอนุสาวรีย์วีรกรรม
๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เพื่อจารึกนามวีรชนผู้พลีชีพไว้เป็นที่ระลึกถึงความเสียสละชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง
ในวันที่ ๘ ธันวาคม ของทุกปี หน่วยราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน จะประกอบพิธีวางพวงมาลาเพื่อน้อมระลึกถึงดวงวิญญาณของผู้อุทิศเลือดเนื้อ
และชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ชั่วกาลนาน
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |