| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

แหล่งโบราณคดี

         พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์  ตั้งอยู่ในถ้ำพระยานคร บนไหล่เขาลูกหนึ่งในทิวเขาสามร้อยยอด ในเขตอุทยาน ฯ เขาสามร้อยยอด ตำบลสามร้อยยอด กิ่งอำเภอสามร้อยยอด การที่ได้ชื่อว่าถ้ำพระยานคร เนื่องจากพระยานคร เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชท่านหนึ่งเป็นผู้ค้นพบ

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างศาลาจตุรมุข กว้าง ๒.๕๕ เมตร ยาว ๘ เมตร ไว้ ณ ถ้ำพระยานคร พระราชทานนามว่าพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ และโปรดเกล้า ฯ ให้จารึกพระปรมาธิไธย ย่อ จ.ป.ร.  ไว้ที่บริเวณผนังด้านเหนือของพลับพลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓
            ในปี พ.ศ.๒๔๖๙  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานคร และได้โปรดเกล้า ฯ ให้จารึกพระปรมาธิไธยย่อ ป.ป.ร. ไว้บริเวณผนังถ้ำด้านตะวันตกของพลับพลา
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานคร เป็นการส่วนพระองค์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
            กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕

           บ้านหว้ากอ  อยู่ในเขตตำบลคลองวาฬ  อำเภอเมือง ฯ ในอดีตเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเลเล็ก ๆ มีสภาพเป็นป่ารกทึบชุกชุมด้วยไข้ป่า
           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันอังคาร เดือนสิบ ขึ้นค่ำ ปีมะโรง จ.ศ.๑๒๓๐ ตรงกับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ที่บ้านหว้ากอ เมืองประจวบ ฯ  จะเห็นดวงจันทร์จับดวงอาทิตย์ จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือแล้วออกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเวลานาน ๖ นาที ๔๕ วินาที ต่อมาได้เกิดปรากฎการณ์ดังที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ
            ต่อมาสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทราบว่าที่บ้านหว้ากอยังมีฐานก่ออิฐถือปูน จากเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นเหลืออยู่จึงโปรดให้รักษาไว้เป็นหลักฐานสืบต่อไป ปัจจุบันฐานก่ออิฐถือปูนดักงล่าวได้ถูกทำลาย จนเหลือเพียงแนวอิฐที่วางเป็นแนวระนาบ สันนิษฐานว่าสร้างไว้สำหรับเป็นที่ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และตั้งเครื่องวัดที่สำคัญ เช่น เครื่องวัดความเข้มของสนามแม่เหล็กโลก  เครื่องวัดความชื้นของบรรยากาศและอุณหภูมิของอากาศ เครื่องตั้งเวลา ฯลฯ ซากฐานอิฐดังกล่าวที่พบมีอยู่ห้าแห่งด้วยกันคือ

                - แห่งที่ ๑  อยู่หน้าบริเวณสำนักงานของอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ฯ ณ หว้ากอ เป็นเสาหินสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๑ ฟุต ตั้งอยู่บนฐานอิฐถือปูน เป็นฐานสำหรับตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์
                - แห่งที่ ๒  อยู่ใกล้บริเวณรั้วของสำนักงานอุทยานวิทยาสาสตร์ ฯ มีความกว้าง ยาวประมาณ ๒ x ๒ ฟุต
                - แห่งที่ ๓  อยู่ใกล้บริเวณลำห้วยของคลองหว้าโทน จุดนี้ได้มีการเคลื่อนย้ายแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากผู้พบในช่วงแรกเข้าใจว่าเป็นวัดร้าง
                - แห่งที่ ๔  อยู่ใกล้กับแห่งที่ ๓ ห่างไปทางเหนือเล็กน้อย
                - แห่งที่ ๕  อยู่ทางด้านเหนือของสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ ฯ ประมาณ ๙๐๐ เมตร จุดนี้มีแท่นอิฐถือปูนจำนวนมาก
            โบราณสถานรวม ๕ แห่งนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓

           ถ้ำคีรีวงศ์  ตั้งอยู่บนเขาหินปูน อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่ที่บ้านถ้ำคีรีวงศ์ ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน
            ภายในถ้ำแบ่งออกเป็นสองคูหา คูหาแรกค่อนข้างยาวในแนวเหนือ - ใต้ ยาวประมาณ ๒๔ เมตร กว้างประมาณ ๗ เมตร บริเวณติดกับผนังถ้ำทางด้านทิศตะวันตก มีพระพุทธรูปปูนปั้น ปางไสยาสน์ยาวประมาณ ๓.๕ เมตร ประดิษฐานอยู่ ผนังถ้ำโดยรอบมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย และปางสมาธิประดิษฐานอยู่ ๑๙ องค์ และมีพระพุทธบาทจำลองทำจากดินเผา และไม้อีกอย่างละหนึ่งองค์ บริเวณผนังถ้ำทางด้านทิศตะวันตก เหนือองค์พระพุทธไสยาสน์ สูงจากพื้นประมาณ ๒ เมตรเศษ ตามความโค้งของผนังถ้ำ มีพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ปรากฎอยู่
            คูหาที่สอง  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ ด้านข้างทั้งสองด้านของพระประธานมีเจดีย์ทรงกลมขนาดเล็ก เดิมภายในถ้ำมีพระพุทธรูปสำริดอยู่เป็นจำนวนมากประดิษฐานอยู่ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ปางห้ามสมุทร สมัยอยุธยา บนเพดานถ้ำในคูหาที่สอง มีร่องรอยการสกัดผนังถ้ำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง และบริเวณเหนือพระเศียรพระประธานมีร่องรอยของการสกัดหินเป็นหลุมกลม ๆ  หลายหลุม

           ป้อมยันทัพพม่า  อยู่ที่บ้านจวนบน ตำบลกุยบุรี อยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดกุยบุรี  มีลักษณะก่อด้วยอิฐและหินก้อนใหญ่ ขนาดกว้าง ๑๖ เมตร สูงประมาณ ๕ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นป้อมที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เพื่อใช้เป็นที่ตั้งสกัดทัพของพม่า ที่เดินทางมาทางเมืองกุยบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กับด่านสิงขรและเป็นช่องทางข้ามเทือกเขาต่อแดนไทยกับพม่า เมืองกุยบุรีจึงเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางเดินทัพในการสงครามระหว่างไทยกับพม่า มาแต่สมัยอยุธยา
            ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงนำทัพหัวเมืองปักษ์ใต้รวม หกเมืองได้แก่ เมืองไชยา เมืองชุมพร เมืองคลองวาฬ เมืองกุยบุรี เมืองปราณบุรี และเมืองเพชรบุรี โดยได้ชุมนุมทัพที่ตำบลบางสะพาน เพื่อเดินทัพผ่านด่านสิงขรไปปราบปรามเมืองตะนาวศรีที่เป็นกบฎ
            ในปี พ.ศ.๒๓๐๒ พม่าใช้เส้นทางด่านสิงขรจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา โดยตีเมืองทวายแล้วจะยกเข้ามาตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี เมื่อฝ่ายไทยทราบข่าวจึงยกทัพออกไปตั้งรับที่ตำบลแก่งตุ่มแตก และตั้งค่ายอีกแห่งหนึ่งที่ตำบลหว้าขาว แต่ต้านทานพม่าไม่ได้ ทัพพม่าได้ยกเข้ามาทางเมืองกุยบุรี เมืองปราณบุรี เมืองชะอำ เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี และเมืองสุพรรณบุรี แต่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ
            ในปี พ.ศ.๒๓๐๗ พม่ายกทัพมาตีเมืองทวาย เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี เจ้าเมืองทวายหนีเข้ามาที่เมืองชุมพร พม่าได้ตามมาตีเมืองชุมพร แล้วยกมาตีเมืองปะทิว เมืองกุยบุรี และเมืองปราณบุรี แตกทั้งสามเมือง

            เขาถ้ำม้าร้อง  ตั้งอยู่ที่บ้านม้าร้อง ตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน เขาถ้ำม้าร้อง เป็นที่พักคนเดินทางระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ในสมัยโบราณ
            ภายในเขาถ้ำม้าร้อง มีถ้ำสำคัญคือถ้ำบ่อน้ำทิพย์ ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำในบ่อเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีน้ำขังอยู่ตลอดปีใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในสมัยก่อน ได้มีการอัญเชิญมาจากถ้ำนี้ ร่วมในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๕ รอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
            ถ้ำแกลบ  อยู่ที่บ้านดอนจวง ตำบลปากแพรก อำเภอบางสะพานน้อย เป็นถ้ำหินปูนเป็นสถานที่หลบซ่อนหนีภัยระหว่างสงครามไทยกับพม่า ตั้งครั้วสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
            บ้านหนองตลาด  อยู่ในเขตตำบลกุยบุรี อำเภอกุยบุรี เดิมเป็นเนินดินมีพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่เศษ เป็นเนินดินที่อยู่กลางทุ่งนาและป่าละเมาะ สูงจากพื้นที่โดยรอยประมาณ ๒ เมตร ทางทิศใต้ห่างออกไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีคลองกุยที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำกุยบุรี ทางด้านทิศตะวันออกของเนิน มีหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อ หนองตลาด เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว พบเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการตัดคลองผ่านเนินดินทางด้านทิศตะวันออก ภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผา เนื้อไม่แกร่ง มีทั้งแบบผิวเรียบ และแบบที่มีการตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบและลายขูดขีด นอกจากนี้ยังพบหินขัดและเปลือกหอยนางรมจำนวนหนึ่ง
            บริเวณห่างจากแหล่งโบราณคดีไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๖๐๐ เมตร ที่บ้านหนองเตาปูน มีเนินดินทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า เนินมะค่า บนเนินดินพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่งจำนวนหนึ่ง ทั้งสองแห่ง
            ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบจากแหล่งโบราณคดีดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน น่าจะเป็นแหล่งชุมชนในสมัยอยุธยา

            บ้านปรือน้อย  ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาบ้านปรือน้อย ตำบลปากน้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี  จากการปรับพื้นที่ได้พบโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น เศษภาชนะดินเผา  ส่วนใหญ่เป็นเครื่องลายครามของจีน อยู่ในสภาพสมบูรณ์เรียงซ้อนกันเป็นแถว เหมือนตั้งใจนำมาฝังไว้ นอกจากนั้นยังพบเศษเงินพดด้วง เครื่องใช้โลหะจำพวกตะเกียง กระโถน เครื่องประดับสัตว์ประเภท ตาบโค ตาบม้า กระดึง ฯลฯ  สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งโบราณสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดเขาน้อย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนในแถบนี้ การที่ชุมชนแห่งนี้ร้างไปอาจมีสาเหตุจากสงคราม เนื่องจากเมืองปราณบุรีอยู่ในเส้นทางเดินทัพ

            บ้านหนองกา  อยู่ในเขตตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๓ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากอยู่ลึกลงไปประมาณ ๕๐ เซนติเมตร โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ประเภทเครื่องเคลือบ เครื่องลายคราม และเครื่องเคลือบสี นอกจากนี้ยังพบภาชนะที่ทำจากโลหะผสม เช่น ขันน้ำ เป็นต้น
            จากโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะภาชนะจากดินเผา สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีนี้เป็นแหล่งชุมชนในสมัยอยุธยา และน่าจะเกี่ยวข้องกับการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่า เพราะตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับบ้านหนองก่า ยังมีชื่อสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามอยู่หลายแห่งเช่น ช่องขุนด่าน หนองล้างเลือด บ้านหน้าป้อม เป็นต้น โดยเฉพาะช่องเขาล้างเลือดนั้น เป็นช่องเขาที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านของเกวียนมาแต่โบราณ
            เมืองปราณหรือเมืองปราณบุรี   เป็นเมืองเก่า ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ปรากฎชื่อคู่กับเมืองกุยซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๔  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองปราณไปขึ้นกับแขวงเมืองเพชรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมอำเภอเมือง ฯ อำเภอปราณบุรี และอำเภอกำเนิดนพคุณ ตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่พระราชทานนามว่า เมืองปราณบุรี มีฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นอยู่กับมณฑลราชบุรี มีที่ว่าการเมืองอยู่ที่เกาะหลัก อำเภอประจวบคีรีขันธ์ เมืองปราณเดิมที่บริเวณปากน้ำปราณบุรี ให้มาขึ้นกับเมืองปราณบุรีใหม่
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรี ที่เกาะหลักเป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๙  เมื่อทางราชการสร้างทางรถไฟสายใต้ แต่ไม่ได้เข้าไปถึงตำบลปากน้ำปราณบุรี จึงได้ย้ายที่ทำการอำเภอไปอยู่บริเวณจุดที่ทางรถไฟผ่าน ซึ่งอยู่ในเขตตำบลบ้านเมืองเก่า
            พ.ศ.๒๕๒๑  ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่ตำบลเขาน้อย ริมถนนเพชรเกษมที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
         บ้านป่าร่อน  จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ พบว่าบ้านป่าร่อน ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพาน มีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินดินสูงต่ำสลับกัน พบโบราณวัตถุจำนวนมากกระจายอยู่บนเนินดิน มีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเนื้อแกร่ง และเนื้อไม่แกร่ง และเครื่องเคลือบลายคราม มีทั้ง หม้อ โอ่ง ไห และถ้วยชามขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังพบเศษหินกะเทาะจำนวนมาก ซึ่งคงนำมาใช้ในกระบวนการทำเหมืองแร่ สันนิษฐานว่า เป็นแหล่งชุมชนซึ่งอาจมีกิจกรรมเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองคำ
         บ้านหลักเมือง  อยู่ในเขตตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน พบหลักหินแท่งสี่เหลี่ยม กว้าง ๓๘ เซนติเมตร สูง ๗๒ เซนติเมตร หนา ๒๗ เซนติเมตร ชาวบ้านเล่าว่าหลักหินนี้ในสมัยโบราณใช้เป็นหลักผูกช้าง และเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นเมืองเก่า ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่ท่ามะนาว บนฝั่งขวาของแม่น้ำรำพึง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ท่ากาหลอ บริเวณริมฝั่งขวาของลำน้ำบางสะพานใหญ่ ปัจจุบันคือ บ้านหลักเมือง โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ระฆังหิน ซึ่งตั้งอยู่ในศาลคู่กับหลักหิน พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อไม่เแกร่ง จำนวนเล็กน้อย
            ห่างออกไปจากหลักหินไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๒๐๐ เมตร พบเศษอิฐและถ้วยชามจำนวนหนึ่ง จากโบราณวัตถุที่พบสันนิษฐานว่า บริเวณบ้านหลักเมือง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนในสมัยอยุธยา

         ด่านสิงขร  ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาตะนาวศรีตอนใต้ ในเขตตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง ฯ ด่านสิงขรมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ช่องสันพราน หรือช่องสันพร้าว  มีลักษณะเป็นช่องทางลัดมาแต่สมัยโบราณ และเป็นช่องทางเดินทัพของไทยและพม่าหลายครั้ง
            ปัจจุบันมีจุดตรวจด่านสิงขร เมื่อผ่านจุดตรวจเข้าไปประมาณ ๖ กิโลเมตร จะถึงหินกอง ซึ่งเป็นจุดปักปันดินแดนระหว่างไทยกับพม่า โดยใช้กองหินเป็นเครื่องหมาย เล่าสืบต่อมาว่าสมัยโบราณผู้เดินทางผ่านเส้นทางนี้ มีธรรมเนียมนำก้อนหินมาวางไว้คนละก้อน แทนเครื่องบูชาเทวดาอารักษ์ เพื่อคุ้มครองให้การเดินทางปลอดภัย ต่อมาได้มีผู้สร้างศาลขึ้นที่บริเวณนี้เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อหินกอง เป็นศาลไม้เก่า เดิมมีสองหลัง หันหลังชนกัน คือหันไปทางพม่ากับไทย ต่อมาได้มีผู้สร้างศาลในเขตไทยอีกหนึ่งหลัง
            กล่าวกันว่าเดิมที่ตั้งด่านสิงขรอยู่ลึกเข้าไปในพรมเดนพม่าอีกมาก ยังปรากฎชื่อของหมู่บ้านด่านสิงขร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประเทศพม่า เหตุที่กำหนดให้บริเวณด่านสิงขร เข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทย จนกลายเป็นจุดเขตแดนในปัจจุบัน เนื่องมาจากการทำสนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับมณฑลตะนาวศรี ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๑๐

         เมืองกุย หรือเมืองกุยบุรี  เป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จากกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นหลักฐานที่รวบรวมพระราชกำหนดเก่ามาแต่โบราณ ระบุชื่อเมืองกุยอยู่ในกลุ่มหัวเมืองจัตวา
            เมืองกุยเป็นเมืองหน้าด่านเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า ที่เข้ามาทางด่านสิงขร จึงมีคำกล่าวขานกันมาว่า ชาวเมืองกุย เป็นนักรบที่เก่งกล้า และชำนาญการรบแบบกองโจร นอกจากนี้เมืองกุยยังมีความสำคัญในการแจ้งข่าวการเดินทัพของพม่า ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ  เพื่อให้เตรียมตัวรับศึกสงคราม
            เมืองกุยมีความอุดมสมบูรณ์ มีชุมชนหนาแน่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการย้ายเมืองบางนางรม มาตั้งอยู่ที่เมืองกุย ต่อมาเมื่อเมืองบางนางรมได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า เมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่ยังคงตั้งที่ว่าการเมืองอยู่ที่เมืองกุยบุรี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๑ จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมือง ฯ ไปอยู่ที่เกาะหลักจนถึงปัจจุบัน เวลานั้นเมืองกุยมีฐานะเป็นตำบลกุยบุรี ขึ้นกับอำเภอเมือง ฯ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๓  จึงได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอกุยบุรี และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอกุยบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |